Skip to main content

 

นับตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสิ้นสุดลงเมื่อปี 2475 ได้เกิดการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จกว่า 12 ครั้ง จนกล่าวได้ว่าการปกครองโดยเผด็จการทหารมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย

รัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เกิดขึ้นโดยอ้างข้ออ้างเก่าๆ เช่นการออกมาเพื่อยุติความวุ่นวายทางการเมือง หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

ในฐานะนักข่าว ข้าพเจ้ายุ่งอยู่กับการให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ อาทิเช่น บีบีซี อัลจาซีร่า เอบีซีออสเตรเลีย ฯลฯ ในวันหลังวันรัฐประหาร หรือวันที่ 23 พฤษภาคม ข้าพเจ้าย้ำกับผู้รับสื่อนานาชาติว่า พลเอก ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่มีรัฐประหาร แต่แล้วก็ทำรัฐประหารเสียเอง ซึ่งแสดงว่าถ้าประยุทธ์มิได้โกหกก็คงเปลี่ยนใจ และมิว่าจะเป็นเช่นไร ก็คงเป็นคนที่มิน่าเชื่อถือนัก

ในวันถัดไป คณะรัฐประหารออกประกาศ คสช. ที่ 6/2557 ทางสถานีทีวีวิทยุเพื่อเรียกให้ข้าพเจ้ามารายงานตัวในวันรุ่งขึ้นเวลา 10 นาฬิกา ซึ่งนำไปสู่การกักตัวข้าพเจ้าในค่ายทหารไม่ห่างจากกรุงเทพฯ นักเป็นเวลา 7 วัน เพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’

แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้เข้าไปรายงานตัว ข้าพเจ้าเอาเทปปิดปากและเอามือปิดหูปิดตาเพื่อประท้วงการละเมิดสิทธิข้าพเจ้าต่อหน้าสื่อ ซึ่งรวมถึงนักข่าวของบีบีซีด้วย

ภาพจาก http://popcornfor2.com

ข้าพเจ้าจำต้องเซ็นสัญญาแบบจำยอมก่อนถูกปล่อยตัว ซึ่งในข้อตกลงรวมถึงการยืนยันว่าจะไม่ร่วม สนับสนุน หรือนำขบวนการต้านคณะเผด็จการทหาร มิเช่นนั้นทาง คสช.จะอายัดบัญชีเงินธนาคารของข้าพเจ้าและจับกุมพร้อมทั้งดำเนินคดีทางกฎหมายซึ่งมีโทษต้องจำคุก รวมถึงตกลงว่าข้าพเจ้าจะต้องขออนุมัติ คสช. ก่อนจะออกเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้ง ซึ่งรวมถึงการมาพูดที่กรุงออสโลว์ ณ วันนี้

การผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจว่าคุณจะเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ เป็นวิธีควบคุมสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของคุณ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าแสดงหนังสือเดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าออกเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะถามข้าพเจ้าว่ามีใบอนุมัติให้เดินทางจาก คสช. หรือไม่ และข้าพเจ้าก็ต้องตอบเหมือนกันทุกครั้งว่าไม่มี เพราะ คสช.ไม่เคยออกใบอนุมัติให้เป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่เจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ที่แจ้งข้าพเจ้าทางโทรศัพท์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเท่ากับว่าพวกเขาบังคับให้ข้าพเจ้าต้องเชื่อใจพวกเขา หรือแม้กระทั่งรู้สึกเป็น ‘เป็นหนี้บุญคุณ’ ที่หัวหน้าคณะเผด็จการทหารอนุมัติ ทั้งๆ ที่สิทธิเสรีภาพในการเดินทางไปยังต่างแดนย่อมควรเป็นของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าถูกละเมิดสิทธินั้นโดยการต้องขออนุมัติ

หนึ่งวันหลังจากข้าพเจ้าได้รับการปล่อยตัว ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากพันเอกนายหนึ่งซึ่งขอให้ข้าพเจ้าหยุดทวีต ทางนั้นคงทราบว่านี่คือหนึ่งในช่องทางที่ข้าพเจ้าใช้สื่อกับสาธารณะ และตอนข้าพเจ้าถูกกักตัว แม้ไม่ได้ทวีตเพราะนำโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เข้าไปไม่ได้ แต่กลับกลายว่ามีคนมาติดตามทวีตเพิ่มถึงประมาณ 6,000 คนในช่วงระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์

ข้าพเจ้าบอกพันเอกคนนั้นว่าจะทวีตให้ถี่น้อยและแรงน้อยลง แล้วเราก็พบกันครึ่งทาง

ข้าพเจ้าเชื่อว่าเผด็จการทหารพยายามรักษาอำนาจการปกครองระบอบเผด็จการโดยใช้ทั้งอำนาจแบบโจ่งแจ้ง (hard power) และอำนาจทางอ้อม (soft power) หรือใช้ทั้งพระเดชพระคุณ

อำนาจแบบโจ่งแจ้งนั้นน่าจะเป็นที่คุ้นเคยกับผู้คนในสังคมเผด็จการ ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุม 5 คนหรือมากกว่านั้นจะกระทำมิได้ (ที่น่าแปลกคือถ้าคุณชุมนุมเกิน 5 คน เพื่อไปให้กำลังใจประยุทธ์ นั่นมิถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง) สื่อและเสรีภาพการแสดงออกถูกจำกัด รวมถึงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญทหารฉบับชั่วคราวซึ่งให้ประยุทธ์มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

ม.44 นั้นให้อำนาจผู้นำ คสช.ทำอะไรก็ได้ รวมทั้งสั่งประหารชีวิต ตัวประยุทธ์ได้กลายเป็นตัวบทกฎหมาย มิหนำซ้ำ ประยุทธ์เองยังได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อรักษาอำนาจตนเอง

ในขณะเดียวกัน เผด็จการทหารพยายามเพิ่มอำนาจทางอ้อมเพื่อชนะใจประชาชน หรืออย่างน้อยสุดก็เพื่อสร้างภาพว่าประเทศไทยเป็นสุข โดยการเพิ่มวันหยุดยาวให้ยาวขึ้นเป็นระยะๆ จัดฟรีคอนเสิร์ตเป็นครั้งคราว สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงการสร้างสวนสาธารณะในฝรั่งเศสที่เริ่มจากการที่ผู้ปกครองต้องการให้ประชาชนคิดถึงเรื่องอื่นนอกจากการเมืองเพื่อจะได้ปกครองง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายหลักที่ระบอบเผด็จการทหารปัจจุบันอ้าง อันได้แก่ ‘การคืนความสุข’ ให้กับประชาชน ถ้ามันไม่ชัดเจนพอ ประยุทธ์ก็ยังแต่งเพลงคืนความสุขให้กับประชาชน ซึ่งเปิดแบบปูพรมผ่านทีวีวิทยุเกือบทุกช่องทุกสถานีเป็นเวลาหลายครั้งต่อวันทุกวันมาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว

ประยุทธ์ยังจ้อออกทีวีทุกวันศุกร์ และถ้ายังมิหนำใจ รัฐบาลทหารก็ออกสิ่งพิมพ์ของตนเองฟีเชอริ่งประยุทธ์อีก

มิหนำซ้ำ รัฐบาลทหารยังมีการรายการผลงานครบ 6 เดือน ปฏิบัติตนเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกับจะขอเสียงประชาชนสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้า แถมยังสัญญาว่าจะทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแม้มันจะฟังดูย้อนแย้งเต็มทนก็ตาม

ณ วันนี้ ประชาชนที่ไม่เอาเผด็จการทหารเลิกคาดหวังแล้วว่าจะเกิดการลุกฮือขับไล่เผด็จการทหารจะเกิดในเร็ววัน บางคนคิดว่ามันมิมีวันเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำไป

การต่อสู้กับเผด็จการทหารนั้นต้องอาศัยความกล้าหาญและเสียสละ เพราะราคาค่างวดที่ต้องจ่ายรวมถึงการจองจำกักขัง ขึ้นศาลทหาร การถูกอายัดเงิน หรือแม้กระทั่งต้องลี้ภัยไปต่างแดน

แต่กรุณาอย่าเข้าใจผิด ข้าพเจ้ามิได้เกลียดประยุทธ์หรือเผด็จการทหาร ทุกคนเป็นมนุษย์ และตอนที่ข้าพเจ้าถูกจองจำในค่ายทหาร ข้าพเจ้าก็ได้บอกทหารชั้นอาวุโสว่าข้าพเจ้ามิได้เกลียดชังพวกเขาเลย แต่ที่ข้าพเจ้าต่อต้านเผด็จการและต้องมาถูกกักตัวก็เพียงเพราะข้าพเจ้ารักเสรีภาพและประชาธิปไตยโดยหลักการ

เผด็จการทหารที่เราเห็นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ภายใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งคือประชาชนเป็นล้านที่สนับสนุนค้ำชูระบอบเผด็จการทหาร พวกเขาอ้อนวอน หรือแม้กระทั่งเรียกร้องกวักมือให้ทหารก่อรัฐประหาร และในวันนี้ พวกเขาต้องการให้เผด็จการทหารอยู่ต่อไป ยาวกว่าโรดแมปที่ คสช.เคยวางไว้เองว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนในปีหน้า เช่นนี้แล้วการต่อสู้จึงมิใช่แค่สู้กับเผด็จการทหาร หากจักต้องชนะใจคนเป็นล้านที่สนับสนุนเผด็จการทหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คนเป็นล้านเหล่านี้ต้องการความสงบสันติแบบจอมปลอมภายใต้กระบอกปืน พวกเขาสับสนระหว่างการปกครองโดยกฎหมายอันชอบธรรมและอย่างชอบธรรม หรือนิติธรรม กับการปกครองโดยกฎหมายโดยมิสนใจว่ามีที่มาและการใช้อย่างชอบธรรมหรือไม่ และนี่มิใช่ครั้งแรก ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม หรือแม้กระทั่งครั้งที่สี่ที่พวกเขาสนับสนุนเผด็จการ

ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ หนึ่งในนักศึกษาที่โดนจับหลังไปร่วมกิจกรรมสันติต้านรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่ผ่านมาได้เขียนบันทึกลงประชาไทว่าตอนถูกจับ มีประชาชนที่สนับสนุนเผด็จการทหารคนหนึ่งตะโกนว่า: ‘เจ้าหน้าที่มีปืน ทำไมไม่ใช้ ยิงพวกมันเลย’

นานหลังจากประยุทธ์พ้นจากอำนาจ คนพวกนี้ยังคงจะเรียกร้องให้เผด็จการทหารกลับมา พวกเขาเลือกเผด็จการเหนือรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย คนเหล่านี้มีขันติน้อยนิด และไม่ยอมอดทนให้กลไกประชาธิปไตยคลี่คลายสถานการณ์ พวกเขาสิ้นศรัทธาในกระบวนการประชาธิปไตย และมองว่าคนส่วนใหญ่ที่มีการศึกษาน้อยพวกเขานั้นโง่ ถูกหลอก หรือไม่ก็เลว

เส้นทางประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่การกำจัดคนที่นิยมเผด็จการหากอยู่ที่การพยายามโต้เถียง แลกเปลี่ยนความเห็นด้วยเหตุผล โดยหวังว่าพวกเขาจะมีใจเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยขึ้นในที่สุด

ในขณะเดียวกัน ประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยพึงต้องสำเหนียกว่ามิควรอหังการ์เชื่อว่าเพียงเพราะฝ่ายตนชนะเลือกตั้ง ตนและรัฐบาลที่ตนเลือกก็มิจำเป็นต้องฟังเสียงส่วนน้อย

ในสภาพการณ์เช่นนี้ การเพียงแค่พยายามรีบขับไล่เผด็จการทหารจึงมิใช่ทางออกยั่งยืนระยะยาว การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมิใช่การวิ่งร้อยเมตร หากเป็นการวิ่งผลัดแบบมาราธอน จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้หยั่งราก เพื่อเปลี่ยนใจคนเป็นล้านที่พร้อมเรียกร้องทหารให้มาแทรกแซง และเพื่อให้คนที่เชื่อว่าตนสนับสนุนประชาธิปไตยเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเสียงส่วนน้อย กับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง โดยไม่ละเมิดสิทธิเขา และรับฟังพวกเขาอย่างแท้จริง

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นมิได้หากปราศจากความขันติและศรัทธาในตัวคนว่าประชาชนจะสามารถตระหนักได้ในที่สุดว่าเผด็จการ ไม่ว่าจะอ้างว่าหวังดีต่อสังคมเพียงไร ที่สุดย่อมสร้างปัญหาให้สังคมมากกว่าแก้ปัญหาในระยะยาว

ข้าพเจ้าหวังว่าสักวันหนึ่ง ประชาชนคนไทยจักเป็นนายของตนเอง ปลดโซ่ตรวนแห่งระบอบเผด็จการที่พวกเขาเลือกสวมใส่ให้กับตนเองและยัดเยียดให้แก่ผู้อื่น

พลังแห่งความกล้า ความเสียสละและวีรกรรมของผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตยนั้นมีขอบเขตจำกัด ประชาธิปไตยมิสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากปราศจากการมีส่วนร่วมรับผิดชอบจากประชาชนคนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยคงอยู่ไม่ได้หากคนส่วนใหญ่เลือกที่จะลดตนเป็นเพียงผู้เสพสถานการณ์ทางการเมืองและพูดเพียงว่าคอยดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยคงอยู่ลำบากหากคนเป็นล้านพร้อมเรียกหาเผด็จการทหาร

ความกล้าหาญและเสียสละเพื่อท้าทายเผด็จการทหารของคนจำนวนหนึ่งมีที่ทางของมัน แต่ประชาธิปไตยไปไม่รอดหากคนส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะไม่ยอมมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ขาดซึ่งขันติต่อผู้ที่มีความคิดแตกต่างซึ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย และนี่คือเส้นทางที่เราควรมุ่งเดินไป

ขอบคุณ

 

 

(ปล. ถอดความจากสุนทรพจน์หัวข้อ ‘Freedom’ under a Military Junta ที่แสดง ณ. Oslo Freedom Forum กรุงออสโลว์ นอร์เวย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 โดยการเชิญของคณะผู้จัด)

 

 

บล็อกของ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์
 ลึกๆในจิตใต้สำนึกของบรรดาผู้นำเผด็จการทหาร พวกเขาคงตระหนักว่าเขาปราศจากความชอบธรรมใดๆ พวกเขาจึงออกอาการวิตกจริตและปราบปรามการขัดขืนทุกรูปแบบ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตหรือในโลกแห่งความเป็นจริงประจำวัน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การปรับทัศนคติ: คําสวยหรูที่ใช้โดยเผด็จการทหาร คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในการจัดการกับผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับรัฐประหาร หรือตั้งคําถามถึงความชอบธรรม หรือความไร้ความชอบธรรมของการก่อรัฐประหารยึดอํานาจฉีกรัฐธรรมนูญ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ข่าวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเมืองไทยในหมู่ผู้สื่อข่าวต่างชาติในไทยในปัจจุบันได้แก่การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการขอวีซ่าทำงานในฐานะนักข่าวในไทยนั้นยากมากขึ้นตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557