Skip to main content

จากบทความที่แล้วในหัวข้อ การจัดระเบียบโลกใหม่ การเมืองไทย และICT ข้าพเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่า เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT ในปัจจุบัน ทำให้ความสามารถของมนุษย์ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากอาศัยเพียงประสาทสัมผัสของมนุษย์ จะไม่สามารถเข้าถึงและจัดการได้ และความด้วยความก้าวหน้านี้ ทำให้มนุษย์สามารถเห็นและรับรู้ ในข้อมูลที่เคยยากที่จะเห็นและรับรู้ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจในสิ่งที่เคยยากต่อการวิเคราะห์

\\/--break--\>
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ICT ยังทำให้เกิดอีกผลกระทบหนึ่ง ที่เราทุกคนควรให้ความสนใจ นั่นคือ ICT ได้ทำลายข้อจำกัด ด้านเวลาและสถานที่ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ข้าพเจ้า อาจไม่ได้พูดถึงอย่างชัดเจนในบทความที่แล้ว หากแต่สามารถรับรู้ได้ ผ่านตัวอย่างที่ได้ยกให้เห็นเกี่ยวกับ เทคโนโลยีกล้องวงจรปิด เทคโนโลยี Google Earth บาง features บน เทคโนโลยี Google Maps และตัวอย่างการใช้ video link ของอดีตนายกฯไทยคนหนึ่ง

ความสามารถในการทำลายข้อจำกัด ด้านเวลาและสถานที่ ของเทคโนโลยี ICT มีผลกระทบสำคัญต่อสังคม เนื่องจากมันได้ทำให้ การเข้าถึงข้อมูลหนึ่งๆ การรับรู้ข้อมูลหนึ่งๆ การมีประสบการณ์หนึ่งๆร่วมกัน ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เฉพาะ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง สถานการณ์จริง หรือในตอนที่ ข้อมูลหรือเหตุการณ์หนึ่งๆนั้น กำลังเกิดขึ้นจริง

เมื่อรวมสองผลลัพธ์ข้างต้น เข้ากับความตระหนักในสิ่งที่เรียกว่า ข้อมูลความเป็นส่วนตัว แล้ว ทำให้เกิดประเด็นสำคัญ ซึ่งบทความในวันนี้ต้องการพูดถึง นั่นคือ ชวนให้ทุกท่าน ลองคิดและไตร่ตรองดูว่า ทุกวันนี้ ท่านรู้ตัวรึเปล่า ว่าท่านกำลังหมดความสามารถในการควบคุม ความเป็นส่วนตัว ของตัวท่านเองลงไป อีกทั้งอีกหลายๆท่าน กำลังขายข้อมูลความเป็นส่วนตัว ของตัวท่านอยู่ และในราคาที่ต่ำจนหน้าตกใจ

ข้อมูลความเป็นส่วนตัว คือ ข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นตัวตน ของแต่ละปัจเจกบุคคล ซึ่งโดยปกติแล้ว เป็นสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นการยากที่จะถูกเข้าใจ รับรู้ และตีแผ่ออกสู่วงกว้าง เพราะเนื่องจาก หากไม่ใช่เจ้าตัว หรือบุคคลที่มีความใกล้ชิดมากๆแล้ว เป็นการยากสำหรับบุคคลอื่นๆ ที่จะรับรู้ถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวนี้ได้

แต่เนื่องด้วยการใช้ชีวิต ของเราๆท่านๆในวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราใช้ชีวิตผ่านทางเทคโนโลยีมากขึ้นๆทุกวัน ทั้งด้วยความตั้งใจของตนเอง และถูกบังคับจากระบบของสังคม ทำให้ยิ่งนับวัน เราๆท่าน จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง กับระบบข้อมูลต่างๆมากขึ้น และมิหนำซ้ำ ก็ดูเหมือนว่า ทุกระบบต่างก็พร้อมใจกัน ตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้อมูลในทุกๆด้านของผู้ใช้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารระบบ เช่นในเรื่องของการพัฒนาให้ระบบของตน สามารถตอบสนองความต้องการ ของลูกค้าแต่ละราย ในลักษณะเฉพาะตัว ได้เพิ่มขึ้น (Personalisation)

ตัวอย่างต่างๆต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างการสูญเสีย ในประเด็นข้างต้น ที่ข้าพเจ้าเชื่อว่า มีความใกล้ตัวกับใครหลายๆคน ในปัจจุบันได้แก่ การเป็นสมาชิกบัตรเครดิต การใช้บริการต่างๆผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ และการใช้ระบบต่างๆบนอินเตอร์เนต

การใช้งานระบบต่างๆ ในตัวอย่างที่ข้าพเจ้าหยิบยกมานี้ ทำให้ข้อมูลการดำรงชีวิต ของคนๆหนึ่ง ถูกจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งหากนำข้อมูลทั้งหมด มาประกอบกัน เราจสามารถสร้างเป็น แผนที่การดำเนินชีวิต หรือสามารถตรวจสอบ การดำเนินของบุคคลนั้น ในแต่ละวันได้เลย

เช่น เราสามารถรู้เวลาและสถานที่ ที่คนๆหนึ่งอยู่ ได้จากการเข้าใช้อินเตอร์เนต หรือจากโทรศัพท์มือถือ ที่พกพาอยู่ เราสามารถรู้ถึง เรื่องต่างๆที่อยู่ในความสนใจ ของคนๆหนึ่ง ได้จากการประวัติและข้อมูล การเข้าใช้งานเว็บไซท์ต่างๆ ของคนๆนั้น

เราสามารถรู้ได้ว่า คนๆหนึ่งทำอะไร ที่ไหน ชอบไปทานข้าวที่ไหน ชอบเสื้อผ้ายี่ห้ออะไร ชอบไปดูหนังวันไหน ชอบทำอะไรหลังเลิกงาน ชอบไปเที่ยวที่ไหนในวันหยุด จากการจับจ่ายใช้สอย ผ่านบัตรเครดิต

นี่ยังไม่รวมถึงระบบอื่นๆ ซึ่งประชาชนในต่างประเทศ ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงใหญ่ๆของโลก เช่นลอนดอน สามารถถูกติดตามได้ละเอียด ถึงขั้นที่ว่า สามารถรู้ได้ว่า เดินทางจากไหนไปไหน ตอนเวลากีโมง ด้วยพาหนะอะไร ไปกับใคร ผ่านข้อมูลในระบบบัตรโดยสาร (Oyster card) ของระบบขนส่ง และระบบกล้องวงจรปิด ซึ่งวางไว้ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง

ข้อมูลความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ เป็นการยากที่จะจัดเก็บอย่างครบถ้วนในอดีต จึงส่งผลให้ตลอดมา การเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ ทำได้ยาก

แต่ในปัจจุบัน ด้วยปรากฏการณ์ทั้งหมดข้างต้น ทำให้ข้อมูลความเป็นส่วนตัว ของแต่ละปัจเจกบุคคล ถูกเปิดเผยได้อย่างง่ายดาย และทำให้เป็นการยากมากขึ้น สำหรับเราทุกคน ที่จะควบคุม การที่ผู้อื่นจะเข้าถึง ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตัวเอง

เนื่องจาก ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า เราๆท่านๆ จะมีความรู้ความเข้าใจ ในเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ได้อย่างลึกซึ่ง จนถึงขั้นที่รู้แน่นอนว่า ผลดีผลเสีย มีอะไรบ้าง และไตร่ตรองและเปรียบเทียบดู อย่างดีแล้ว จึงใช้งานระบบนั้นๆ

หากแต่โดยปกติแล้ว เราๆท่านๆในทุกวันนี้ ตัดสินใจใช้เทคโนโลยี เพราะไม่ต้องการตกกระแส จึงตัดสินใจกระโจนเข้าใส่ เทคโนโลยีใหม่ๆอย่างไม่ลังเล แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจดี ถึงผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ผนวกเข้ากับความเป็นจริงที่ว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ในระดับที่ยากที่จะตามทัน ยิ่งทำให้เป็นการยากยิ่งขึ้น ที่จะศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างถี่ถ้วน ก่อนใช้งาน

ข้าพเจ้า อย่างให้ท่าน ลองนึกกันดูคร่าวๆว่า จนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้ให้ข้อมูลส่วนตัวของท่าน ไปกับระบบรอบตัวท่านมากมายขนาดไหน แล้วท่านรู้ได้อย่างไรว่า แต่ละระบบจะดูแลข้อมูลส่วนตัวของท่าน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่ากับความสำคัญของข้อมูลความเป็นส่วนตัวของท่าน อย่างไร

ที่สำคัญ ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครบ้างสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของท่าน

อีกทั้ง หลังจากท่านได้ให้ข้อมูลส่วนตัว กับระบบเหล่านี้ไปแล้ว ระบบเหล่านี้ส่วนใหญ่ ไม่อนุญาตให้ท่าน ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว เข้าไปลบข้อมูลออกจากระบบ หากท่านไม่ต้องการให้ระบบ เก็บข้อมูลต่างๆของท่าน อีกต่อไป

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ในหลายๆครั้ง เรียกได้ว่าเป็นความจำเป็น ที่เราๆท่านๆ ต้องให้ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของเรา กับระบบหนึ่งๆเพื่อแลกมากับประโยชน์ที่ได้จากการใช้งานระบบ เช่น การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพ ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล

แต่ในอีกหลายๆครั้ง เราๆท่านๆในปัจจุบันยังขาดความระมัดระวัง ในการเปิดเผยข้อมูลความเป็นส่วนตัว เพื่อแลกมาซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือเพื่อแลกกับความสามารถในการใช้งานระบบ ซึ่งไม่มีความคุ้มค่ากับข้อมูลส่วนตัวที่นำไปแลก เช่น การให้ข้อมูลความเป็นส่วนตัว อย่างเกินความจำเป็น เพื่อแลกมาซึ่งส่วนลดอันน้อยนิด จากการสมัครเป็นสมาชิกระบบต่างๆ

ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็น หรือด้วยการขาดความระมัดระวัง ข้าพเจ้าอยากให้ทุกท่านตระหนัก และรู้จักที่จะปฏิเสธการให้ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตัวท่านเอง หากไม่จำเป็น หรือให้ตระหนักว่า ท่านกำลังนำข้อมูลส่วนตัวที่มีค่า ไปแลกกับผลประโยชน์อันน้อยนิดและไม่คุ้มค่า หรือให้ข้อมูลส่วนตัวของท่าน กับระบบที่ท่านไม่สามารถไว้วางใจ ในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในการบริหารจัดการข้อมูลของท่าน อยู่รึเปล่า

นี่คือแนวคิดที่อยากให้ทุกท่านได้ตระหนักถึง เพื่อปกป้องตัวท่านเอง ก่อนที่ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของท่าน จะหาได้ง่ายทั่วไป และจะกลายเป็นอันตรายกับตัวท่านเอง และรวมถึงคนใกล้ตัวที่ท่านรัก และคนรอบข้าง

ไม่เพียงเท่านั้น ข้าพเจ้าอยากให้ภาครัฐและทุกภาคส่วน ได้ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญ ของประเด็นในวันนี้ เพื่อปรับปรุงกลไกต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระบบกฏหมาย แนวนโยบาย และแนวทางปฏิบัติ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการข้อมูล และการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี ICT ของทุกภาคส่วน อย่างสอดคล้อง และเข้าใจ เพื่อมุ่งเอื้อประโยชน์ต่อความปลอดภัย แก่ข้อมูลความเป็นส่วนตัว ของผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ไปพร้อมกัน

ปัจฉิมลิขิต

ต้องกล่าวคำขออภัย ทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความ บนพื้นที่ทางความคิดแห่งนี้ ที่ข้าพเจ้าไม่ได้เพิ่มเติมบทความได้สักระยะหนึ่ง เนื่องจากภาระอื่นๆ เข้ามาเบียดเบียนเวลาไป หวังว่าหลังจากบทความนี้ ข้าพเจ้าจะกลับมาผลิตบทความ ให้ทุกท่านได้อ่าน ได้ตามกำหนดเวลาเดิม


(
ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่
www.thesensemaker.org หรือติดต่อข้าพเจ้าได้ที่ sensemaking.writer at gmail dot com)

 

 

 

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
น้ำมาถึงไหนแล้วหว่า...บ้านฉันน้ำจะท่วมมั้ยเนี่ย...จะหาข้อมูลที่จำเป็นได้จากที่ไหนบ้างหว่า...เวลาเดือดร้อนจะต้องแจ้งใคร...ทำไมโทรไป 1111 กด 5 แล้วถามอะไรไปก็ตอบไม่ได้... ........ใครก็ได้ช่วยบอกทีเหอะว่าฉันกับครอบครัวต้องทำยังไงบ้าง.......ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอะไรๆก็ไม่มี ที่มีก็ไม่รู้จะเชื่อได้มากขนาดไหน เชื่อได้รึเปล่า.........
SenseMaker
ขอสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงอวยพรให้ทุกท่าน สุขกาย สบายใจมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ และมีสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
SenseMaker
  จากที่สัญญาว่าในบทความนี้ ข้าพเจ้าจะมาต่อยอดบทความจากครั้งที่แล้วในหัวข้อ “ความร่ำรวยข้อมูล” ด้วยการวิเคราะห์ความจำเป็น ที่เราจักต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้ทุกท่านเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
SenseMaker
เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถส่งบทความเข้ามาได้ตามกำหนด โดยคราวนี้ทิ้งระยะไปนานมาก จนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อผู้อ่านและผู้บริหาร blogazine เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
SenseMaker
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วในหัวข้อ ความเป็นส่วนตัวของคุณราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าอยากชวนท่านผู้อ่านคิดต่อไปอีกนิดว่า ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านเปิดเผยไว้บนพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network sites) ต่างๆ เช่น Facebook และ MySpace จะไม่ทำให้ท่านสูญเสียอะไร หรือเสียใจในอนาคต
SenseMaker
จากบทความที่แล้วในหัวข้อ การจัดระเบียบโลกใหม่ การเมืองไทย และICT ข้าพเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่า เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT ในปัจจุบัน ทำให้ความสามารถของมนุษย์ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากอาศัยเพียงประสาทสัมผัสของมนุษย์ จะไม่สามารถเข้าถึงและจัดการได้ และความด้วยความก้าวหน้านี้ ทำให้มนุษย์สามารถเห็นและรับรู้ ในข้อมูลที่เคยยากที่จะเห็นและรับรู้ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจในสิ่งที่เคยยากต่อการวิเคราะห์
SenseMaker
ความก้าวหน้าทาง ICT ในปัจจุบัน ช่วยให้เราๆท่านๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงในอดีต ได้ง่ายขึ้น เช่น ข้อมูลของบุคคลหรือข้อมูลขององค์กรที่เราสนใจ ข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เป็นต้น
SenseMaker
หลังจากบทความที่เรียกได้ว่า บทบรรณาธิการแรก ได้ชี้แจงเป้าหมายการดำรงอยู่ ของพื้นที่ทางความคิดแห่งนี้ บัดนี้เวลาล่วงเลยมาครึ่งปี โอกาสแห่งการพูดคุย กับท่านผู้อ่านอีกครั้ง ก็มาถึงทุกๆ12 บทความ ที่ได้ทำหน้าที่ของมันผ่านพ้นไป ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ผู้เขียนกับผู้อ่านจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นประโยชน์กับทุกๆคน อย่างแท้จริงในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว ICT เข้ามามีบทบาท ต่อชีวิตของเราทุกคน ในทุกวันนี้มากขึ้นทุกที แต่ละคนได้รับประโยชน์ ผลกระทบ และผลลัพธ์ ที่แตกต่างกันไป จากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ซึ่งมี ICT เป็นปัจจัยต้นเหตุ
SenseMaker
Peer Review อาจไม่ใช่คำในภาษาอังกฤษ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมคุ้นเคย แต่เป็นคำคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสังคมนักวิชาการ อาจารย์ หรือ นักวิจัย เนื่องจากสังคมดังกล่าว มีวัฒนธรรมและกิจกรรมหลัก ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ด้วยการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม ผ่านการพัฒนาผลงานวิจัยใหม่ ซึ่งการยอมรับจากสมาชิกในสังคมเดียวกัน มีความสำคัญกับผลงานวิจัยแต่ละชิ้นมาก เนื่องจากไม่ว่าผลงานดังกล่าว จะมีคุณภาพในสายตาผู้พัฒนาเพียงใด แต่หากไม่ได้รับการตอบรับจากสมาชิกในสังคม ผลงานนั้นก็ถือได้ว่า ไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมมากนัก
SenseMaker
ในอดีต การเกิดขึ้นของสังคม มักจะถูกจำกัดด้วยเส้นขอบเขตของเวลาและสถานที่ การเป็นส่วนหนึ่งในสังคม เกิดจากการมีส่วนร่วมอยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกัน เช่น การอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน การไปโรงเรียนหรือสถานศึกษาเดียวกัน การทำงานในบริษัทหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน หรือ การอยู่ในกลุ่มทำกิจกรรมเดียวกัน เป็นต้นแต่ด้วยความก้าวหน้าของ ICT และการขยายตัวของอินเตอร์เนต ทำให้ในปัจจุบัน การมีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ของเราแต่ละคน ไม่ถูกจำกัดโดยสองข้อจำกัดข้างต้น อีกต่อไป และทำให้ในปัจจุบันนั้น เราแต่ละคน มีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นบนอินเตอร์เนต เพิ่มมากขึ้นๆทุกที
SenseMaker
  หลังจากหลายบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่นับวันดูเหมือนว่า "เป็นการยากสำหรับประชาชน ที่จะทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเท่าทัน" บทความวันนี้ จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับกลไกทางสังคม ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือถูกกระทำ จากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ โดยไม่อาจป้องกันตนเองได้อย่างเท่าทัน หากขาดไปซึ่งกลไกทางสังคมที่จะขอกล่าวถึงในวันนี้เรามาเริ่มทบทวนกันก่อนว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถูกกล่าวถึงในคอลัมน์แห่งนี้…
SenseMaker
สุขสันต์ปีใหม่แด่ทุกท่าน ผู้ซึ่งให้เกียรติแวะเวียนเข้ามาอ่านบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ทั้งขาประจำและขาจร ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงอำนวยอวยพรให้ทุกท่านมีความสุขกาย สบายใจ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีสติ (และมีสตางค์ใช้อย่างพอเพียง) ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นปีใหม่ ด้วยอีกหนึ่งงานเขียนที่มุ่งสื่อสารให้ผู้คนในวงกว้าง ตระหนักถึงผลกระทบที่ ICT มีต่อการดำเนินชีวิตในทุกระดับ เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเท่าทัน อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้มันอย่างมีประโยชน์