โอ้ยยย...กฎหมาย ง่ายๆหน่อยได้ไหมนะ 19: ทำวิจัยกฎหมายไม่ง่ายเลยนะ

ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ผมได้ใช้เวลาวนเวียนอยู่กับการทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโท
มาทำงานที่นิติ ม.ช. ก็ทำวิจัยแบบทำคนเดียวบ้าง ทำโครงการวิจัยร่วมกับอาจารย์ท่านอื่น หน่วยงานของรัฐ บางทีก็ไปร่วมงานกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ หรือไปทำข้อมูลให้กับคนทำสื่อและองค์กรพัฒนาเอกชนเอาไปใช้ต่อ

ปีสองปีหลังนี่ก็มาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอีก  นับรวมๆ ก็ปาเข้าไปสัก 14 เล่มได้แล้วน่ะครับ

ก็ต้องขอขอบคุณนักกฎหมายในสถาบันการศึกษาอื่นที่ไม่รับงานวิจัยจำนวนนึง งานเหล่านั้นมาถึงมือผมหรือทีมพวกผม ก็คือ พวกงานวิจัยกึ่งผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนที่สู้กับรัฐหรือทุนใหญ่ หรือเรียกกันในวงการว่า "วิจัยเผือกร้อน" น่ะครับ เช่น


- โครงการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากนิคมมาบตาพุดที่ผลสุดท้ายมีการฟ้องร้องสู้คดีกันในศาลปกครอง ตีความรัฐธรรมนูญ จนมีการปรับนโยบายพัฒนาระดับชาติ (หลังรัฐประหารนี่ย้อนศรกลับไปแบบเดิมอีก)   ได้เห็นคนเล็กๆที่กล้ายืนหยัด และก็เห็นว่าบรรษัทใหญ่ๆตั้งข้าราชการและนายทหารเป็นกรรมการบริษัทกันพรึ่บพรั่บ

- โครงการพัฒนาหลักการ "สิทธิเกษตรกร" เพื่อเป็นหลักให้พี่น้องเกษตรกรใช้อ้างสิทธิ เมื่อมีการจัดตั้ง "สภาเกษตรกร" ขึ้นมา ตอนนี้มีสภาแล้ว ก็รอว่าจะมี "สิทธิเกษตรกร" เป็นฐานยืนแน่นๆ เมื่อไหร่  นี่ก็ต่อยอดจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "ลู่ทางในการเยียวยาสิทธิด้านอาหารของประชาชน" ตอนปริญญาโท

- โครงการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ออกข้อบัญญัติเอง เพื่อแก้ปัญหา "การใช้ประโยชน์ที่ดิน" โดยเฉพาะกรณีที่กระทบกระทั่ง หรือมีคดีความ จนมีนโยบายของรัฐเกี่ยวกับ "สิทธิชุมชน" หรือ โฉนดชุมชน และมี อบต.บางแห่ง ออกข้อบัญญัติมาจัดรูปแบบการใช้ที่ดิน ก็ดีใจด้วย

- โครงการส่งเสริมเกษตรกรในระบบพันธสัญญาที่ประสบปัญญาความไม่เป็นธรรม อันนี้ก็ มหากาพย์เลยครั่บ ตอนเข้ามานึกว่าง่ายๆ สบายๆ แค่ดู "สัญญา" ว่าโกงกันไหม  ที่ไหนได้ มีสารพัดกลวิธีทุกรูปแบบ ทำให้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการพัฒนาชนบทไทยถูกหมักหมมไว้ใต้ภาพการ "พัฒนา" ที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนไม่มีอะไร

- โครงการพัฒนาระบบประกันสังคม สวัสดิการ หรือการคิดค้นระบบดูแลชีวิตแรงงานข้ามชาติ ก็เห็นเลยว่าตอนนี้ แรงงานขาดความมั่นคง อยู่กับความเสี่ยงมาก

- ยังมีโครงการลับๆ ที่เจ้าของเงินไม่ให้บอกอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องเข้าไปกึ่งๆเช็ดเลือด ซับคราบน้ำตา ตามประสานักสิทธิมนุษยชนที่ต้องเข้าไปเก็บกวาดหลังความบาดหมาง   เรื่องก็ใหญ่ระดับชาติจนนักกฎหมายส่วนใหญ่ไม่อยากแปดเปื้อนนี่ล่ะครับ เลยต้องรับไปเป็น "มือมืด" ไม่ออกนาม

ส่วนเรื่องที่ทำเอง จนประทับใจและเปลี่ยนมุมมองไปตลอดกาลก็คือ การหาคำตอบว่าคนธรรมดาเจอปัญหากฎหมายอะไรในชีวิตประจำวันบ้าง แล้วเขาแก้ปัญหากันอย่างไร  ซึ่งได้คำตอบในภายหลังว่าบางเรื่องแม้มีความรู้ทางกฎหมายเขาก็อาจไม่แก้ตามที่กฎหมายให้สิทธิเพราะอาจมีภัยหลายอย่างรออยู่ สู้ใช้ต้นทุนอื่นในชีวิต เช่น เส้นสาย หรือยอมจ่าย จะจบเรื่องง่ายเสียกว่า งานนี้อ่านปัญหากว่า 2,000 เรื่อง แล้วตามไปสัมภาษณ์คนต้นเรื่องอีกเป็นร้อยคน

 

ก็โครงการที่ว่าไปนี่ล่ะครับที่เขย่าโลกของ "นักกฎหมาย" คนหนึ่งให้เปลี่ยนไป เพราะเมื่อมาย้อนดูการทำวิจัยตามที่นักกฎหมายทั่วไปทำ เช่น ตอนที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโท แล้วก็อีกทีตอนปริญญาเอก นี่ไม่ค่อยคุ้นกันนัก ...อ้อ แล้วก็ไม่ใช่แค่นักกฎหมายไทยที่ไม่คุ้นนะครับ นักกฎหมายทั่วโลกก็ไม่ค่อยคุ้นกับแนวทางนี้สักเท่าไหร่

แนวทางที่ว่าคือ การหาคำตอบให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมว่า กฎหมายเข้าไปสร้างปัญหา เพิ่มปัญหา หรือกฎหมายที่มีอยู่ไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างไร หากจะแก้ปัญหาต้องไปดู "กฎ" กติกา ระเบียบ แบบแผน หรือจารีติ ขนบ หรือเรียกรวมๆว่า "วัฒนธรรม" ในเรื่องนั้นๆ เป็นอยู่อย่างไร   เช่น นายจ้างกับลูกจางไทยอยู่กันอย่างไร   เกษตรกรในชนบทเมื่อเจอกับโบรกเกอร์ของบริษัทเขาชิงไหวชิงพริบกันแบบไหน  หรือ หน่วยงานรัฐ ฝ่ายความมั่นคง มีกลวิธีแบบไหนในการควบคุม ประชาชนให้อยู่ใต้อาณัติ แล้วประชาชนสู้ด้วยวิธีใดบ้าง

แนวทางนี้ขอเรียกว่าการศึกษาแนวกฎหมายกับสังคม (Socio-Legal Study) ก็แล้วกันครับ

สิ่งที่ต่างอย่างชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็นเรื่อง "ข้อมูล" หรือ "หลักฐาน" ที่เรานำมาใช้เป็นพยานยืนยันคำตอบ ให้กับคำถามวิจัย นี่ล่ะครับ

นักกฎหมายทั่วไปมักคุ้นเคยกับการอ่านกองเอกสารที่เป็น รายงาน ตัวบทกฎหมาย หรือเอกสารทางการ อะไรพวกนี้เป็นหลัก หรือแทบจะทั้งหมด  และไม่ได้ถูกฝึกให้เก็บ "ข้อมูล" หรือ "หลักฐาน" แบบอื่นมากนัก    จะมีก็แค่เพียงเพิ่มเรื่อง การทำแบบสอบถาม เก็บสถิติ ตัวเลข หรือสัมภาษณ์อะไรบ้างประปราย  แต่ถ้าเทียบกับทาง มานุษยวิทยาสังคมวิทยา หรือ ประวัติศาสตร์ ก็ต้องบอกตรงๆว่า ยังห่างหลายขุม

แต่แท้ที่จริงแล้ว การประกอบวิชาชีพหรือทำวิจัยปัญหาทางกฎหมายในโลกแห่งความจริง(นอกตำราเรียนและตัวบทกฎหมาย) ก็ได้ให้อะไรที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนเช่นกัน เพราะ "โรงเรียนสอนกฎหมาย" ไม่ได้ฝึกให้นัก นั่นคือ การสร้างวิจารณญาณในการวินิจฉัย  "ข้อเท็จจริง"   หรือถ้าเกี่ยวกับการทำงานหน่อย ก็คือ ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม  ตั้งแต่ การสืบสวนสอบสวน การเขียนสำนวนอ้างอิงพยานหลักฐานวัตถุ ปากคำพยานบุคคล ไปจนถึงการหักล้างน้ำหนักพยานกัน และการใช้ "ดุลยพินิจ" ของผู้พิพากษา ว่าฟังแล้ว  ข้อเท็จจริงเป็นอัน "ยุติ" ว่าอย่างไร

ครับ ....พูดให้ตรงกว่านั้น คือ บางทีอาจไม่เคยปฏิบัติหรือเรียนรู้จากการลงมือทำจริงๆ เลยก็ว่าได้   เพราะส่วนใหญ่หมดเวลาไปกับการอ่าน "ตัวบทกฎหมาย" และตอบคำถามจากโจทย์ที่วาง "ข้อเท็จจริงสำเร็จรูป" มาให้แล้วต่างหาก

แก่นของเรื่องที่จะพูดคือ เรื่องการแสวงหา "หลักฐาน" กับ "ความคิดรวบยอด"(Concept) ที่ใช้คัดกรองข้อมูล นี่ล่ะครับ

ผมขอเล่าผ่านประสบการณ์ที่ได้รับคำชี้แนะจาก "ครู" ทั้งหลายที่ช่วยขยายความสามารถในการทำวิจัยดังนี้

ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ให้หาสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่า กฎหมายที่เขียนอยู่ในกระดาษ ถูกรับรองให้มีผลปฏิบัติจริงในโลก เช่น คำพิพากษา คำสั่งของหน่วยงานที่มีอำนาจ หรือมติรายงานขององค์กรที่มีอำนาจบังคับให้ คู่พิพาท ทำตามคำสั่ง  ทักษะจึงเกิดจากการ "อ่านเอกสาร" แล้วจัดลำดับน้ำหนักว่า เอกสารชิ้นนี้ขององค์กรนี้มีน้ำหนักมากกว่า ต้องอ้างก่อน รับฟังได้มากกว่า ชิ้นอื่นอย่างไร   และงานจะดีขึ้นหากได้สัมภาษณ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคนที่งานนั้นในสนามมานาน

บทสนทนาของ ศาตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี  เกี่ยวกับเรื่องงานวิจัยที่ดี นอกจากบอกว่า "แว่น" เก่าที่ใช้มองปัญหาสังคมนั้นไม่ดีพอ ล้าสมัย หรือส่องไม่เห็นที่มาปัญหาแล้ว  จะต้องลองสร้าง "แว่นใหม่" จากการศึกษาเรื่องใหม่ๆนั้นด้วย เช่น  แต่เดิมมีการใช้ "แว่น" แบบแข็งๆ เข้าไปอธิบายว่าคนกลุ่มนั้นมีความสัมพันธ์กันหรืออยู่ในโครงสร้างแบบนั้นแบบนี้เป็นระบบตายตัว มีลำดับขั้นเรียงต่อๆมา   แต่พอลงพื้นที่ไปศึกษาจริงๆพบว่า เฮ้ยยย...ในสังคมนั้นมันมีความขัดแย้ง ลักลั่น ทะเลาะกันในกลุ่ม มีการดึงคนภายนอกเข้ามา จนไม่ได้มีชีวิตตามลำดับขึั้นที่กำหนดเอาไว้ตามจารีตนี่หว่า   เลยเกิดแว่นในการมองปัญหาใหม่ที่ว่า เมื่อมองสังคมใดให้เห็นความ "ขัดแย้ง" และความ "หลากหลาย" ของคนในกลุ่มนั้น   แล้วไอ้แว่นนี้ก็ดันเอาไปใช้มองปัญหาอื่นๆแล้วเห็นอะไรสนุกสนานอีกเยอะเลย

ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ให้ทิ้ง "กรอบทฤษฎี" ที่สร้างขึ้นจากการวิจัยเรื่องอื่นจนได้ "แว่น" อันหนึ่งขึ้นมาอธิบายเรื่องนั้นทิ้งเสีย  อย่าเอามาเป็นรั้วกั้นขวาง ในการหาความจริงจากหลักฐานในเรื่องที่กำลังศึกษาค้นคว้า   วิธีการทำวิจัยแบบ เอาทฤษฎีตั้ง แล้วพยายามควานหาหลักฐานมายืนยันทฤษฎีแบบ "จับยัด"  เป็นสิ่งที่ไม่พัฒนาปัญญา เป็นเพียงการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง  แต่ไม่เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจปัญหานั้น ในมุมอื่น มิติอื่น  ปัญหานั้นก็จะไม่ถูกแก้ด้วยวิธีการใหม่ ที่ดีขึ้น ปัญหาก็จะคาราคาซังต่อไป   ก็คือ มองหาข้อมูลและข้อเท็จจริงให้กว้างขวางลึกซึ้งที่สุด แล้วให้ "หลักฐาน" นำทางไป

ศาสตราจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ให้ความเข้าใจในงานวิจัยเกี่ยวกับ ปฏิบัติการของทุนและบรรษัทผ่านเครือข่ายอำนาจที่เชื่อมโยงกับกลุ่มชนชั้นนำในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น ข้าราชการ ทหาร นักการเมือง ไปจนถึงสื่อมวลชนเสมอ  โดยมักให้โอวาทว่า "การสู้กับทุนต้องรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมการพลิกพริ้วของมัน นักวิชาการเป็นคนซื่อสัตย์ คิดดี แต่อาจไม่ทันวิธีคิดแบบฉ้อฉล ต้องรู้ทันคนที่มีเหลี่ยมกลด้วย"  จึงจะเห็นการปรับกลยุทธของรัฐของทุนในแต่ละสถานการณ์  เพื่อจะได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ทันกับปัญหา มิใช่หน่อมแน้มไร้เดียงสา มีปัญญาเขียนวิจัยได้เป็นเล่มๆ แต่เอาไปแก้ไขปัญหาไม่ได้

Professor Milagros Alvarez อาจารย์ที่ปรึกษา ณ บาร์เซโลน่า บอกว่าเรื่องความสัมพันธ์ของ "รัฐกับทุน" มีแน่อยู่แล้ว เพียงแต่หาหลักฐานมายืนยันว่าในกรณีนี้ รัฐหนุนบรรษัท หรือกลุ่มทุนไปลอบบี้รัฐ จนนโยบาย/กฎหมายเรื่องนี้มันออกมาหน้าตาอย่างนี้   และให้ตระหนักถึงเรื่องภาวะ "รัฐซ้อนรัฐ" (มีฝ่ายราชการ/ความมั่นคง คุมนโยบายอยู่หลังรัฐบาลเลือกตั้ง อีกที)  กฎหมายจึงเป็นผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ มิใช่ สิ่งจีรัง มีเปลี่ยนแปลงไปตาม ดุลย์อำนาจที่เปลี่ยนไป   ดังนั้นข้อเสนอของงานวิจัยจึงไม่ควรไปเน้นที่การหาวิธีเยียวยาสิ่งที่เกิดแล้ว แต่ให้เน้นไปที่การออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้น   (ใช่ครับ อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ มาเยียวยามันไม่ทันการณ์ ต้องป้องกันก่อนหายนะ)  วิทยานิพนธ์ผมก็ต้องสร้างมาตรการป้องกัน Google กับ NSA ไม่ให้ทำอย่างที่ปรากฏใน Snowden Revelations อีก เพราะเรื่องนี้เกิดแล้วทำลาย "ความไว้วางใจ" Trust ระหว่างรัฐ และคนทั่วโลกมาก

สรุปว่า หลักฐานต้องมี แต่คอนเซ็ปที่ใช้เป็นแว่นตามองปัญหามันก็ต้องได้ด้วย   ปัญหาที่ผมทำวิจัยหรือเป็นวิทยานิพนธ์ทั้งหมดที่ทำมา ว่าด้วยเรื่อง "รัฐกับทุน" เสมอ จึงไม่แปลกที่ต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า "รัฐกับทุนอาจร่วมมือกัน"  เพียงแต่สิ่งสำคัญคือ การหา "หลักฐาน" มายืนยันให้ได้

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า กว่าหลักฐานจะโผล่ออกมายืนยัน "สมมติฐาน" ที่เราสงสัยอาจต้องรอให้มี "คนในออกมาแฉ" แบบที่เรียกว่า Whistleblows หรือมีการปล่อยข้อมูล "ลับ" ออกมาสู่สาธารณชนแบบ Wikileaks  หรือถ้ารอตามกฎหมายก็ต้องรอให้พ้น 50 ปีจึงจะได้รู้ข้อมูลในเอกสาร "ลับ" ของราชการ(ต่างประเทศที่เกี่ยวกับไทย ส่วนของราชการไทยอาจจะลับตลอดกาล) 

หากรอเพียง "หลักฐาน" ให้แน่ชัดโดยไม่มีมาตรการป้องกันก่อน (Pre-Caution) ก็อาจเกิดความเสียหายไปแล้ว จะตามมาเยียวยาก็ยากแสนยาก เพราะนักกฎหมายต่างรู้ว่า ปัญหามากมายเจ้าทุกข์ตัดสินใจไม่ฟ้องไม่ร้องทุกข์ เพราะเกรงจะมีปัญหาตามมามากมาย แถมกระบวนการยุติธรรมก็มิได้ง่ายสำหรับทุกคน หรือบางเรื่องเมื่อเกิดความเสียกายก็เยียวยาไม่ได้ เช่น คนตายแล้วจะทำให้ฟื้นได้อย่างไร   นโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของประชาชน (Human Security) จึงเน้นเรื่อง "ป้องกันก่อน"

แต่วิธีคิดแบบ "สงสัยไว้ก่อน" ป้องกันไว้ก่อนนี้ มิได้ให้นำไปใช้กับ การตัดสิน "วินิจฉัย" ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ใครผิดใครถูก แบบคำพิพากษาของศาล เพราะนั่นเป็นปราการด่านสุดท้าย หลังจากสู้คดีเอา "หลักฐาน" ทั้งหลายทั้งปวงมาวัดกัน จนตัดสิน  ยิ่งคดีอาญาหากมีข้อสงสัยแม้เพียงนิดก็ต้องยกประโยชน์ให้กับจำเลย

เช่นเดียวกับวิธีคิดของฝ่ายปกครอง หน่วยงานความมั่นคง (National Security) แบบกลัวไว้ก่อนด้วยการห้ามโน่นห้ามนี่ ลิดรอนสิทธิประชาชน เป็นการอ้างแบบเข้าข้างตัวเองรักษาความมั่นคงของฝ่ายตน  เพราะหลักประกันความปลอดภัยมีไว้สำหรับคนด้อยอำนาจที่ด้อยกำลัง เสี่ยงภัยจากอำนาจของรัฐ ยุทธการและเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหลาย


อันเป็นที่มาว่า กฎหมายให้หลักประกันสิทธิกับประชาชนว่าเป็น "ผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าผิดจริง"   แต่ให้สร้างกลไกมาตรวจสอบอำนาจรัฐเพราะสงสัยล่วงหน้าว่า "ผู้มีอำนาจมักใช้อำนาจไปทางมิชอบ" (Power corrupts; absolute power corrupts absolutely)


จึงไม่แปลกที่การวิจัยเพื่อสร้างนโยบายอาจมีหลักฐานเก่าในระดับหนึ่ง แต่ต้องสร้างมาตรการมาป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ แบบ "ป้องกันก่อน"    
ต่างจากงานวิจัยชนิดแก้ปัญหาความเดือดร้อน ที่ต้องใช้ "หลักฐาน" จากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำเอาไปฟ้องเรียกร้องสิทธิในศาลได้ แบบ "เยียวยาทีหลัง"

การวางแผนและปฏิบัติการจึงต้องปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายเสมอ และต้องเชื่อมโยงกับบริบททางเศรษฐกิจการเมืองระดับรัฐและโลกเสมอ

#การทำวิจัยกฎหมายกับสังคมก็เช่นกัน



*หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ด้วยความอ่อนด้อยของผู้เขียนเองในการถอดความบอกเล่า ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงแม้แต่น้อย

การเมืองของกฎหมาย 100: พัฒนาชีวิตแรงงานอิสระด้วยการประกันรายได้พื้นฐาน

การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ

กฎหมายกับเทคโนโลยี 26: มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากการเก็บและประมวลผลของบรรษัทเอกชนโดยมิชอบ

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั

การเมืองของกฎหมาย 99: ความเสี่ยงจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้านอาหารและสุขภาพ

บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข

การเมืองของกฎหมาย 98: พลเมืองเน็ตกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม

กฎหมายกับเทคโนโลยี 25: รู้ทันพิศวาสอาชญากรรม

เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”