เป็นคนทำงานเอนจีโอมาตลอด มีประสบการณ์ร่วมกับชาวบ้านในชนบทภาคเหนือ กลุ่มชาติพันธ์ คนสลัมในกทม.และผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นคนที่อึดอัดกับนโยบายของรัฐบาลหลายเรื่อง ชอบตรวจสอบสภาวะของชุมชน และคิดให้มากขึ้นในการทำให้ชุมชนน่าอยู่ จึงพร้อมนำเสนอความคิดเพื่อแลกเปลี่ยน ผ่านคอลัมน์ <strong>&quot;สุขภาพชุมชน&quot;</strong>

บล็อกของ sureerat

ชิคุณกุนย่า ถึง ไข้หวัดใหญ่

ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุณกุนย่า (Chikungunya) เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มียุงลายสวนเป็นพาหะ ที่เน้นว่ายุงลายสวน เพราะจะเห็นระบาดมากในบริเวณจังหวัดภาคใต้ที่มีสวนยางจำนวนมากและวิถีชีวิตคือออกไปกรีดยางในสวนแต่เช้ามืดจึงโดนยุงกัดได้ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยไปในทุกภาคของประเทศ ๕๕ จังหวัด

บำนาญประชาชน สิทธิของประชาชนเมื่อชราภาพ

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะว่างงาน ตกงาน การไม่ได้รับการประกันรายได้ที่แน่นอนจากรัฐ ทำให้คนจน คนไม่มีงานทำ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนไม่มีนายจ้าง และอยู่นอกระบบประกันสังคม คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่เป็นเหยื่อของภาวะปัญหาที่รุมเร้า หรือคนเหล่านี้ต้องโทษที่เกิดมาจน และถูกทำโทษต่อไปอีกว่าหากอยากมีบำนาญชราภาพ ก็ต้องมาจากการ ออมเงิน ด้วยตนเอง โดยรัฐจะร่วมจ่ายสมทบในอัตราจำกัด โดยอ้างตลอดเวลาว่าไม่มีเงินเพียงพอ ทั้งที่ยังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูประบบภาษีที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม  การดำเนินการจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพื่อลดช่องว่างทางรายได้ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนมีมากกับคนมีน้อยหรือไม่มีเลย

ซานติกาผับ กับบัตรทอง

เมื่อราวกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้สถานบันเทิง “ซานติกาผับ” ได้สองสัปดาห์ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีวาระพิจารณาพิเศษว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีสิทธิบัตรทอง (ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ประกันสังคม) จำนวน ๓๑ คนจากผู้บาดเจ็บทั้งหมด ๑๙๖ คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๙ ม.ค.๕๒) เป็นจำนวนเงินประมาณ ๓.๔ ล้านบาท

รัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ : ตรวจสอบระบบหลักประกันสุขภาพ

ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการพื้นฐานด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนมาเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว บัตรทอง รักษาโดยไม่ต้องจ่าย ณ จุดบริการ สามารถครอบคลุมคนกว่า ๔๗ ล้านคน เมื่อนับรวมกับสวัสดิการข้าราชการ ๖ ล้านคน ประกันสังคม ๑๐ ล้านคน จนถึงวันนี้มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาใดใด ซึ่งคือคนไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง คนไทยพลัดถิ่น คนไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนเร่ร่อนที่ไม่มีใครรับรองสถานภาพได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ฉีดไม่ฉีด

อวัยวะที่แสดงเพศหญิงและส่งผลต่อความสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์คืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์  ทำให้ต้องมีการพูดถึงการอนามัย [1] เจริญพันธุ์ คือการไม่มีโรค มีสุขภาพดีของอวัยวะสืบพันธุ์  



ในเพศหญิงมีมากกว่าหนึ่งอวัยวะ นั่นคือตั้งแต่ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ปีกรังไข่ เต้านม  รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนเพศ การมีประจำเดือน การเจริญพันธุ์จะเกิดได้ก็เมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่เพศสัมพันธ์ไม่ได้มีไว้เพื่อการเจริญพันธุ์ล้วนๆ  มีเพศสัมพันธุ์เพื่อความรัก เพื่อครอบครัว เพื่อความรื่นรมย์ เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อแสดงอำนาจ เพื่อการควบคุม และอื่นๆ  การมีเพศสัมพันธุ์จึงเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์รวมถึงเมื่ออยู่ในวัยรุ่น จนเลยวัยเจริญพันธุ์ได้  สำหรับเพศหญิง การดูแลอวัยวะสืบพันธุ์เป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากมีหลายอวัยวะ และการไม่สามารถควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ของตนได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ ได้ตลอดเวลา เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ ปีกรังไข่ การได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิด เอดส์  หูด หนองใน ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์  การแท้ง การทำแท้ง เหล่านี้เป็นต้น  

โดยการติดเชื้อโรคนั้นมาจากการมีคู่เพศสัมพันธ์ที่ติดเชื้อด้วย เช่น มะเร็งปากมดลูก มาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV:Human Papillomaviruses) ซึ่งเป็นไวรัสที่ผู้ชายมีหรือได้รับมาจากการมีเพศสัมพันธ์เช่นกัน แต่ไม่ทำอันตรายให้เพศชาย ความเสี่ยงของเพศหญิงคือ การมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่ที่หลากหลายมากมายมาก่อน การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน  การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย เนื่องจากปากมดลูกในระยะนี้ไวต่อการติดเชื้อ เอชพีวี  การสูบบุหรี่หรือการขาดสารอาหารบางอย่างทำให้ร่างกายมีความบกพร่องของกลไกป้องกันไวรัสเอชพีวี ( pooyingnaka.com.htm )  และโอกาสรับเชื้อก็สูงมากนั่นคือมีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวก็มีโอกาสได้รับเชื้อ  

20080301 ภาพประกอบมะเร็งปากมดลูก

อนุมัติงบ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.51 ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติอนุมัติงบประมาณร้อยล้านบาทกว่า เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประชากรสูงอายุจำนวนกว่าสามแสนเก้าหมื่นคน ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง (อายุ 65 ปีขึ้นไปและป่วยด้วยโรคเช่น หอบหืด ปอดอุดกลั้นเรื้อรัง ไตวาย หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด) เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อน และเพื่อลดอัตราเสี่ยงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับไข้หวัดนกที่ยังพบการระบาดอยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากโอกาสข้ามสายพันธุ์ระหว่างเชื้อไข้หวัดนกกับเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความเป็นไปได้สูง

ที่ผ่านมา เมื่อพบการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทย ได้มีการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขและผู้ทำหน้าที่กำจัดสัตว์ปีกปีละประมาณ 3-4 แสนโดส งบประมาณราว 70 ถึง100 ล้านบาท เหตุผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ของบุคลากรเหล่านี้ ซึ่งต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนทั่วๆไป และลดการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่จากการปฏิบัติงานด้วย

นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นในปี พ.ศ.2551 นี้เท่านั้น  เพราะไม่มีงบประมาณที่ตั้งไว้ อาศัยงบที่เหลือจากการจัดซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี (เอดส์) ที่เหลืออยู่เนื่องจากราคายาต้านไวรัสเอชไอวีลดลง การสามารถทำให้ได้ยาราคาถูกลงจากการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ของกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้สามารถนำเงินร้อยกว่าล้านบาทนั้นมาจัดซื้อวัคซีนสำหรับคนสูงอายุในปีแรกนี้ได้ จากนั้นต้องมีการจัดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายการใช้วัคซีนนี้ไปยังคนสูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไปและป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นนอกเหนือจากกลุ่มแรก และในปีที่สามใช้สำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทุกคน เหตุผลอีกประการหนึ่งคือรัฐได้มีนโยบายที่ให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยสามารถผลิตได้ในปี 2553 จำนวนสองล้านโดสต่อปี

นับเป็นเรื่องที่ดีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่คณะกรรมการที่มีตัวแทนจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข ผู้ให้บริการ บุคคลากรทางสาธารณสุข และประชาชนรวมถึงตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันดำเนินงานทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนที่ควรได้มีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันรักษา ต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบาย  ซึ่งควรมีการให้วัคซีนนี้ก่อนฤดูการระบาดของทุกปีคือก่อนเดือนมิถุนายนของทุกปี  ดังนั้น ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปควรได้รับข้อมูลข่าวสาร  และการจัดการให้ได้รับวัคซีนก่อนการระบาดในทุกๆ ปี  การให้วัคซีนนี้ต้องให้ทุกปีๆ ละครั้ง เราเองคงต้องช่วยกันสื่อสารแจ้งข่าวต่อๆกันไปยังครอบครัว เครือญาติ ที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ในข่ายต้องได้รับวัคซีนให้สามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่สะดวกและได้มาตรฐาน นั่นคือ สถานบริการที่เราขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ  หรือสถานบริการที่ไปใช้บริการประจำ ต้องให้ข้อมูลและดำเนินการให้วัคซีนกับคนเหล่านี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ปีนี้อากาศหนาวเย็นยาวนานขึ้น การระบาดของไข้หวัดนกก็ปรากฎขึ้นในประเทศแล้ว โอกาสที่สายพันธุ์ไข้หวัดนกจะข้ามมายังคนและทำให้เกิดความรุนแรงแก่ไข้หวัดใหญ่ในคนเกิดขึ้นได้  

สิ่งสำคัญคือเราทุกคนต้องตระหนักว่าไข้หวัดนกไม่ได้หายไปไหน เพราะได้กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นไปแล้ว และไม่จำเป็นต้องมาจากนกที่เคลื่อนย้ายหนีหนาวมาเท่านั้น เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดนกน่าจะอยู่ในสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่นของเราแล้ว หากอากาศเหมาะสมก็ระบาดได้เสมอ การดูแลสุขอนามัย การล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย การหลีกเลี่ยงสัมผัสเป็ดไก่ที่ตาย การกินเป็ดไก่ที่ตาย หรือแม้แต่การเชือดสดๆ โดยคนงานในตลาดหรือในฟาร์มต่างๆ ก็ต้องมีการป้องกันคนทำงานเหล่านี้ การเฝ้าระวัง การให้ข้อมูลเป็นประจำก็จะช่วยให้คนที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเหล่านี้ได้มีการป้องกันตนเองตลอดเวลา อย่าคิดว่าคนงานต้องรู้จักป้องกันตนเองเท่านั้น นายจ้างจำเป็นและมีหน้าที่ต้องตักเตือนหรือหาทางลดอันตรายจากความเสี่ยงนี้ด้วย เป็นหน้าที่โดยตรงของนายจ้างที่จะต้องหาทางป้องกันให้กับคนทำงานรับจ้างเหล่านี้ ทั้งการให้ความรู้ การให้อุปกรณ์ป้องกัน หน้ากาก ถุงมือ การจัดสถานที่ทำงานให้สะอาด เพราะคนทำงานก็มีสิทธิได้รับการคุ้มครองสิทธิให้มีสุขภาพดีเหมือนกัน

ประกันสังคม ประกันคุณภาพชีวิต

คำว่าประกันสังคม เมื่อได้ยินแล้วน่าจะมีความหมายว่า การประกันให้คนมีสวัสดิการทางสังคมทุกคนอย่างทั่วถึง เช่น ประกันว่าได้รับการศึกษาแน่นอน ประกันว่าได้รับการรักษาแน่นอนเมื่อป่วย  ประกันว่ามีที่อยู่อาศัยแน่นอน  ประกันว่ามีค่าใช้จ่ายเพื่อยังชีพกรณีไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่รายได้น้อย รวมถึงประกันว่าได้รับการช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรกรณีมีรายได้ต่ำหรือต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพังโดยไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากพ่อหรือแม่ที่หย่าร้างกัน ทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนฐานว่า “รัฐ” คือผู้จัดการให้เกิดระบบประกันสังคมสำหรับประชาชนทุกคน

สำหรับประเทศไทย ไม่ได้เป็นเช่นนั้น คำว่า  “ประกันสังคม”  มีความหมายเพียงสำหรับคนกลุ่มเดียวเท่านั้นคือ ลูกจ้างที่ทำงานโดยมีนายจ้างชัดเจน ไม่ได้หมายความว่าเป็นระบบประกันสังคมสำหรับทุกคน ดังนั้น จึงมีคนที่อยู่ในประกันสังคมเพียง 10 ล้านคน  มีเพียงคนจำนวนนี้ที่ได้รับการประกันทางสังคม 7 ประการคือ 1) การได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย 2) การได้รับค่าคลอดบุตร  3) การได้รับเงินช่วยเหลือบุตรรายเดือนสำหรับบุตรจำนวนไม่เกินสองคนได้รับคนละ 350 บาทตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ  4) การได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อทุพพลภาพ  5) การได้รับเงินบางส่วนกรณีว่างงาน  6) การได้รับเบี้ยชราภาพเมื่อจ่ายเงินครบเงื่อนไขและอายุเกิน 55 ปี  7) การได้รับค่าทำศพและเงินสมทบกรณีเสียชีวิต  ทั้งนี้  ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนจำนวนร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน ร่วมกับนายจ้างต้องจ่ายเท่ากับที่ลูกจ้างจ่าย  และส่วนที่สามรัฐร่วมจ่ายให้ลูกจ้างด้วย  ระบบประกันสังคมนี้จึงเป็นระบบที่คนมีรายได้ประจำ มีเงินเดือนประจำ ร่วมจ่ายเข้ากองทุนแล้วได้รับการประกันทางสังคมประเภทต่างๆ ดังได้กล่าวมา

สังคมไทยเข้าใจว่า ประกันสังคม จึงเป็นระบบเฉพาะสำหรับบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ประกอบกับการออกกฎหมายประกันสังคม พ..2533  จึงทำให้มีการใช้ชื่อประกันสังคมอย่างกว้างขวางตลอดมา จนทำให้กลบความหมายของประกันสังคมโดยรวมไป  บางครั้งทำให้เกิดความสับสนด้วยว่า ประกันสังคม ต้องเป็นระบบที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายด้วยเท่านั้น  อันเป็นแนวทางให้สังคมเชื่อว่า รัฐ ไม่อาจจัดระบบประกันสังคมให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้ เพราะรัฐไม่มีเงินมากพอ  และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550  ได้ระบุชัดเจนว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีการศึกษา มีการคุ้มครองเมื่อเป็นเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ และคนชรา มีการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยระบุชัดเจนว่าเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  ที่รัฐ ต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดขึ้น แต่ไม่มีบทกำหนดโทษหากรัฐไม่ทำตาม เช่นกรณีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยังไม่มีรัฐใดทำให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ยังไม่มีการจัดที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ให้พอเพียงกับความต้องการ  ตลอดจนการดูแลคนชรา มีเพียงหนึ่งเดียวที่ทำได้คือการจัดการรักษาฟรีให้ทุกคน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ..2544 เป็นต้นมา จนปัจจุบันมีเพียงประชากรไทยที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานภาพ คือชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับการรักษา เพราะรัฐ เชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทยทั้งที่คนเหล่านี้อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาตลอดครั้นบรรพชน นี่คือสิ่งที่รัฐไทยยังทำไม่ได้

เมื่อรัฐไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ไม่ทำก็มีข้ออ้างต่างๆ และไม่ถูกลงโทษ ดังนั้น ระบบประกันสังคมที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันจึงไม่ได้มาด้วยการกระทำหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นการขับเคลื่อนและผลักดันโดยภาคประชาสังคม กรณีประกันสังคมของลูกจ้าง ก็ใช้เวลาผลักดันกฎหมายกว่า 30 ปีโดยสหภาพแรงงาน นักวิชาการ ที่ผนึกกำลังต่อสู้รณรงค์กันมาอย่างยาวนาน  ขณะเดียวกันกับระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้มาด้วยการขับเคลื่อนของหมอ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเจตจำนงของรัฐบาล ร่วมกันทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในสมัยเดียวของรัฐบาล ซึ่งพิสูจน์ว่าหากมีแรงหนุนจากประชาชน งานวิชาการที่หนักแน่น ความมุ่งมั่นของบุคคลากร ตลอดจนนโยบายของพรรคการเมือง ย่อมนำมาซึ่งระบบประกันสังคมให้กับสังคมไทยได้ และพิสูจน์ได้ว่ามีระบบประกันสังคมที่หลายรูปแบบ ทั้งการร่วมจ่ายทางตรงแบบประกันสังคมของลูกจ้าง การร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ  การร่วมสมทบของผู้มีรายได้ หรือองค์กรชุมชน เช่นกรณีการจัดทำระบบประกันชราภาพในชุมชนก็ได้

ภาคประชาสังคม  เครือข่ายประชาชนต่างๆ  ควรให้ความสนใจต่อการประกันคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ เช่น การประกันการศึกษา ที่ประชาชนไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาฟรีมากกว่า 12 ปี เพื่อให้สามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองต่อไปได้  การมีระบบดูแลยามชราภาพที่ดี มีเบี้ยชราภาพที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งภาคประชาสังคมต้องช่วยกันคิดว่ารูปแบบใดที่จะเหมาะสมที่สุดในการสร้างหลักประกันเมื่อชราภาพสำหรับทุกคน ทั้งคนชราที่จน และรวย ก็ควรได้รับมาตรฐานพื้นฐานเดียวกัน

บนเส้นทางชีวิต ที่ร่วมเดินกับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์

 

หลังจากนัดคุยกันระหว่างตัวแทนองค์กรเอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.51 เราต่างแยกย้ายกันราวๆ บ่ายสามโมงกว่า ขณะที่แต่ละคนกำลังเดินทางยังไม่ถึงที่หมายต่างก็ได้รับแจ้งเรื่องการจากไปอย่างสงบของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรกของประเทศไทย

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือคุณหมอใจดีในสายตาภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับบริการสาธารณสุขเพราะหมอสละเวลาบ่อยมากที่จะรับฟังความทุกข์ ความคับข้องใจ และความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจากความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทย ตลอดจนหมอคือคนที่รับปากเริ่มต้นว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยได้ใช้ยารักษาโรคต่างๆ ในราคาที่ถูกลง ทำให้ทุกคนสามารถได้รับการรักษาได้โดยไม่ต้องพะวงว่าไม่มีเงินเพียงพอรักษา นั่นคือรับปากว่าจะหาทางทำให้การทำซีแอล* เป็นจริงในประเทศไทย

ดิฉันหยิบหนังสือที่คุณหมอมอบให้เมื่อต้นปี 48 มาพลิกดูอีกครั้ง หนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ปกหน้าด้านใน มีลายมือของหมอเขียนว่า "ขอให้กำลังใจการทำความดี เป็นเครือข่ายเป็นสายใยแห่งความงดงามในสังคมเสมอ" ดิฉันตระหนักเสมอว่าคุณหมอคือสายใยแห่งความงดงามเสมอเช่นกัน

การพบกันครั้งแรกระหว่างดิฉันกับคุณหมอ เกิดขึ้นเมื่อสักปี 42 เมื่อดิฉันต้องทำหน้าที่เชื่อมประสานเครือข่ายประชาชนให้มาช่วยกันร่างกฎหมายว่าด้วยระบบหลักประกันสุขภาพ การต้องเริ่มต้นเขียนกฎหมายทั้งที่ไม่เคยเรียนกฎหมายและไม่เคยอ่านกฎหมายอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อนหน้านั้นนับเป็นเรื่องยากมาก วันนั้นคุณหมอเดินเข้ามาในห้องที่เรากำลังประชุมกันเรื่องเนื้อหากฎหมาย พร้อมด้วยเอกสารร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอเคยจัดทำและผลักดันให้เกิดการดำเนินการในกระทรวงสาธารณสุข แต่เนื่องจากคงเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าเกินไปกฎหมายฉบับนั้นไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่คุณหมอก็ไม่ท้อถอยและหยุดการขับเคลื่อน

จากหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" และหนังสืออื่นๆทั้งในงานด้านวิชาการ และการเขียนสรุปมุมมอง ความเห็น หลักการความเชื่อ ที่คุณหมอผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้รู้ว่าคุณหมอทำงานอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทุกขณะ ทั้งการทดลองปฏิบัติการปฏิวัติระบบสุขภาพในพื้นที่ การทำงานวิจัย การสร้างพันธมิตรทางวิชาการและกลุ่มบุคคลากรทางการสาธารณสุข การดำเนินนโยบายประกันสุขภาพในกระทรวงสาธารณสุข บัตรสุขภาพ บัตรสปร.สำหรับคนยากไร้ในการรักษาฟรี ตลอดจนการร่วมกับเครือข่ายประชาชนในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 42 เป็นต้นมา

ดิฉันเองเริ่มเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพจากการร่วมในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับประสบการณ์อันเลวร้ายจากประกันสังคมที่ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เมื่อดิฉันตัดสินใจยุติการทำงานในองค์กรออกมาเป็นคนทำงานรับจ้างทั่วไป ดิฉันต้องหาเงินประจำทุกเดือนให้ได้เพื่อจ่ายเป็นค่าประกันสังคมให้ตนเอง เนื่องจากวิตกว่าหากตนเองเจ็บป่วยเป็นอะไรไปจะเป็นภาระต่อญาติพี่น้องในการดูแล ซึ่งเป็นการจ่ายที่ดิฉันต้องจ่ายแทนนายจ้าง (ที่ไม่มีแล้ว) ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการเสียเปรียบอย่างมากของคนทำงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างดีมาโดยตลอด เมื่อไม่มีงานประจำทำก็แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากกองทุนประกันสังคมเลย ดังนั้นเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้น ดิฉันจึงเลิกจ่ายเงินให้ประกันสังคมและเข้าเป็นผู้ใช้สิทธิในปีแรกๆ ของระบบหลักประกันสุขภาพที่กฎหมายมีผลดำเนินการในปลายปี 45 และมีโอกาสเป็นตัวแทนองค์กรเอกชนในการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น

นั่นคือทำให้ได้ร่วมงานและเห็นการทุ่มเทการทำงานอย่างสุดจิตสุดใจของคุณหมอสงวนมาโดยตลอด ยิ่งในช่วงแรกที่ระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้เพราะอำนาจทางการเมือง การเริ่มต้นอย่างรวดเร็วและดำเนินการทั้งประเทศโดยที่บุคลากร และกระทรวงสาธารณสุขยังตั้งตัวไม่ทัน ทำให้คุณหมอถูกคาดคั้น บีบคั้น และคาดหวังจากทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มหมอที่ออกมาต่อต้านการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาลที่ประท้วงเนื่องจากบอกว่าเงินไม่พอใช้ในการรักษา กลุ่มประชาชนที่ได้รับสิทธิและต้องการบริการที่มีคุณภาพ ตลอดจนอำนาจทางการเมืองในการบริหารคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ การผลักดันให้ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลก่อกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จำกัดงบประมาณที่จะทำให้เกิดบริการที่มีคุณภาพ แม้มีกฎหมายรองรับแต่ก็ยังไม่มั่นคงในเชิงนโยบายของการบริหาร

คุณหมอคะ การดับสิ้นในโลกนี้มิอาจทำให้การกระทำและเจตจำนงของคุณหมอดับไปด้วย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบแห่งชาติที่มีคุณภาพ และทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ว่าจะเป็นคนไหน ชนชั้นใด หรือยากไร้เพียงใด มีอีกหลายเรื่องที่ดิฉันและเครือข่ายและสังคมต้องดำเนินการต่อไปนั่นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพต้องไม่กีดกันคนที่ยังไม่มีสถานภาพบุคคล (ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย คนยังไม่ได้บัตรประชาชน) ออกไป ต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานพื้นฐานเดียวกันของคนในสังคม ไม่แบ่งแยกว่าคนจน คนในประกันสังคม หรือคนในระบบราชการ การเชื่อมประสานกันระหว่างกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ กับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพและระบบรักษาข้าราชการ การคุ้มครองการเสียหายในระบบบริการ การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพทุกระดับ ดังที่เป็นปณิธานของคุณหมอตลอดมา

เส้นทางชีวิตร่วมกันแม้ไม่ยาวนานนัก แต่คุณหมอทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตแห่งการเข้าใจคนอื่น การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยท้อถอย และใส่ใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะชีวิตหมอเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นได้ในสังคมไทย

 

* ซีแอล มาจาก CL : Compulsory Licensing ; การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ เพื่อดำเนินการในกรณีที่ยามีราคาแพง อันเนื่องจากการมีสิทธิผูกขาดในระบบสิทธิบัตร ทำให้มีผลต่อระบบสาธารณสุข ทำให้รัฐไม่มีงบเพียงพอรักษาประชาชนในประเทศ เมื่อประกาศแล้วก็สามารถให้บริษัท หน่วยงานรัฐ ผลิต หรือนำเข้าจากประเทศอื่น

กรณีหลักประกันสุขภาพ เป็นประชานิยม: ประเมินต่ำไปไหม

เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 หลายคนไม่ไปเลือกตั้งแน่นอนเพราะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะได้ยินเสียงประกาศนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตั้งใจหาเสียงกันอย่างเข้มข้น โดยนโยบายที่มาแรงสุดๆ เป็นนโยบายเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชน ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม โดยมีน้ำเสียงดูแคลนและปรามาสว่าทำไม่ได้แน่นอนเพราะจำต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โดยยกตัวอย่างว่านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดก่อนนำมาใช้และต้องใส่เงินลงไปจำนวนมากเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ใช้งบไปมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท การพักหนี้เกษตรกร บ้านเอื้ออาทร แท็กซี่เอื้ออาทร หลักประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งต่างใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้ระบบการคลังต้องทำหน้าที่จัดหาเงินให้เพียงพอ การเก็บภาษีที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินมาใช้กับนโยบายซื้อใจประชาชน

อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมนั้นมีความต่างกันอยู่พอสมควร ดังที่ดิฉันได้มีข้อมูลและพินิจพิเคราะห์ดู นั่นคือขอเปรียบเทียบระหว่างกองทุนหมู่บ้านกับระบบหลักประกันสุขภาพ  นโยบาย 30 บาท เป็นนโยบายที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมสุดสุด คือรักษาฟรีสำหรับทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการกับแรงงานในประกันสังคม  นั่นคือประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้มีจำนวนกว่า 45 ล้านคน อีก 20 ล้านคนไม่ได้ใช้ระบบนี้เพราะรัฐจ่ายให้ในรูปแบบอื่นคือสวัสดิการข้าราชการที่รัฐจ่ายต่างหาก และรัฐร่วมจ่ายบางส่วนให้คนงานในประกันสังคมด้วย

กรณีนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เป็นนโยบายที่สร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนได้รับการรักษาฟรีเมื่อเจ็บป่วย โดยใช้งบประมาณเริ่มแรกเมื่อปี 45 ปีละประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาท ปีนี้ ปีงบประมาณ 51 ใช้งบรวมประมาณแสนล้านบาท งบที่กล่าวมานี้เป็นงบทั้งเงินเดือนหมอในกระทรวง  หมอในโรงพยาบาลเอกชน ค่าบุคลากร ค่ายา ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าซ่อมแซม ที่โรงพยาบาล สถานพยาบาล หน่วยบริการ ต้องใช้ในการดูแลรักษาคนป่วยทั้งแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ ฉุกเฉินต่างๆ โดยรัฐใช้วิธีเหมาจ่ายตามจำนวนรายหัวประชากรให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบประกันคือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  คำนวณค่าใช้จ่ายให้ประชากรทุกคน แต่คนป่วยเท่านั้นที่ไปใช้บริการ คนไม่ป่วยก็ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายใดๆ  งบประมาณทั้งหมดจึงถัวเฉลี่ยทำให้โรงพยาบาลต่างๆ อยู่ได้  

ทั้งนี้ ในการจัดการงบประมาณ เป็นการจัดการใหม่คือใช้งบเดิมที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปีก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว มาบริหารใหม่โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลได้รับงบเหมือนเดิม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี แต่ไม่มีการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม สร้างตึกเพิ่ม หากต้องสร้างเพิ่มจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขในการตั้งงบประมาณในฐานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลของรัฐ  ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพใช้งบกระจายให้หน่วยบริการทั้งที่เป็นของเอกชนและของหน่วยงานรัฐอื่นเข้ามาร่วมให้บริการประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวก ง่าย และทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้มีการเพิ่มงบบางส่วนขึ้นในการรักษา การส่งเสริมป้องกันโรค และการบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ซึ่งต่างจากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่เดิมไม่ได้มีงบใดๆ อยู่เลย การดำเนินการคือต้องจัดงบขึ้นมาใหม่หมด จำนวนเท่ากับหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่อยู่ในประเทศ  ตัวเลขประมาณคือเจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน นโยบายให้เงินหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาทต้องจัดหางบประมาณมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท และต้องพัฒนาระบบการจัดตั้งกองทุน การเตรียมการ การติดตามประเมินผลด้วยงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง โดยการได้รับประโยชน์ของประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ หากให้กู้ได้รายละไม่เกินสองหมื่นบาท มีคนได้กู้ปีละ 50 คน หากหมู่บ้านนั้นมีประชากร 500 คนได้กู้โดยไม่ซ้ำหน้ากันต้องใช้เวลา 10 ปี หรือน้อยกว่านั้นนิดหน่อยกรณีมีดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้รอบแรกๆ ซึ่งก็ไม่มากนัก ในระยะยาวต้องเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนอีกสักเท่าไรจึงจะทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องการเงินทุนจริงๆ ได้เข้าถึงและนำเงินกู้ไปเสริมสร้างความเข้มแข็งของตนเองและครอบครัวได้

ทั้งสองโครงการคือหลักประกันสุขภาพและกองทุนหมู่บ้าน ต่างถูกมองว่าเป็นโครงการประชานิยม แต่ความยั่งยืนจะอยู่ที่โครงการใดมากกว่ากัน และโครงการใดแสดงให้เห็นถึงการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมากกว่ากัน

การประเมินว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นประชานิยมล้วนๆ เทียบเท่ากับโครงการอื่นๆ จึงเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป  เช่นเดียวกับที่มีข้อท้าทายทุกพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเรียนฟรีจริงๆด้วยว่าคิดทำกันอย่างไร เพียงแค่หาเสียงหรือตั้งใจทำกันจริง เพราะเงินที่ให้กระทรวงศึกษาธิการปีๆ หนึ่งไม่น้อยกว่าสองแสนล้านอยู่แล้ว จะมีพรรคไหนกล้านำเงินก้อนนั้นออกมาจากมือกระทรวงศึกษาธิการ แล้วให้มีการจัดสรรการใช้เงินกันใหม่เพื่อสร้างระบบหลักประกันให้ประชาชนได้เรียนฟรีกันจริงๆ เพราะหากยังอยู่ในการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการก็มองไม่เห็นว่าจะทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้เพราะงบกว่าสองแสนแปดหมื่นล้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นงบเงินเดือนครูและบุคลากรต่างๆ และเป็นไปไม่ได้ว่ารัฐบาลจะหางบเพิ่มเติมมาเพื่อจัดการศึกษาฟรีได้อีกเพราะระบบการคลังก็มีเงินจำนวนไม่มากพอ สำหรับทุกโครงการทุกนโยบายของรัฐอยู่แล้ว

ดิฉันเองต้องการให้ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพไม่ถูกบิดเบือนข้อมูลว่าเป็นนโยบายประชานิยมล้วนๆ เพราะนี่เป็นสิทธิของประชาชนและสามารถได้มาด้วยการจัดการบริหารอย่างมีคุณภาพ  มากกว่าการโยนเงินเข้าสู่หมู่บ้านแบบเห็นๆ แต่ไม่สร้างความมั่นคงในการได้รับสิทธิในการมีงานทำ มีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัย หรือได้รับการดูแลเมื่อยามชรา พรรคการเมืองที่บอกว่าจะให้มีระบบหลักประกันการศึกษา ทุกคนได้เรียนฟรีต้องอธิบายเรื่องการบริหารจัดการเงินของกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วยจึงจะรอดพ้นจากนโยบายประชานิยมล้วนๆ มาเป็นนโยบายเพื่อสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และทำได้จริง พิสูจน์ได้จริงในแง่การใช้เงินงบประมาณและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ sureerat