Skip to main content

ผมจำได้ว่า

ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งเป็นเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ตามหลักของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรม ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสัจธรรมของชีวิต แล้วมีผู้แย้งมาในทำนองที่ว่า ไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นกฎอันเฉียบขาดของโลกและชีวิตมนุษย์ เพราะบ่อยครั้งที่เขาทำดี...แล้วไม่เห็นได้ดี จนเขานึกท้อที่จะทำความดี

แต่ผมก็ยืนยันกับเขาในทำนองที่ว่า ถ้าคุณทำดีจริงๆ ไม่เลิกที่จะทำ วันหนึ่งความดีอย่างใดอย่างหนึ่งที่คุณทำ จะต้องปรากฏผลดีแก่ตัวคุณแน่ๆ และถึงแม้จะไม่มีการถกเถียงกันต่อ ผมก็ยังรู้สึกว่า คำตอบที่ผมให้ไปยังไม่มีน้ำหนักพอ ที่จะทำให้เขาพอใจ เพราะผมไม่มีสติปัญญาพอที่จะพูดอะไรได้มากไปกว่านั้น และในชีวิตจริงตัวเอง ผมก็แทบไม่ได้ทำสิ่งที่เรียกกันว่า “ความดี” สักเท่าไหร่ ส่วนมากมักจะใช้พลังชีวิต ไปคอยระมัดระวังหักห้าม มิให้ตัวเองทำความชั่วเสียแหละมากกว่า (ฮา) ก็ด้วยเหตุผลที่น่าเบื่อ...ที่ผมเคยเขียนไว้ในบทกวีให้คุณอ่านกันมานานไว้ว่า

 

โอ้ ชีวิดคิดไปไร้สาระ

เห็นสัจจะรูปรอยการคล้อยเคลื่อน

แห่งชีวิตแห่งวิถีแห่งปีเดือน

มันไหลเลื่อนเป็นวงวัฏสัมพัทธ์กัน

 

อยู่ในโลกทำความดีมีคุณค่า

บางเวลาก็ขืนขัดอึดอัดอั้น

กับความดีที่น่าเบื่อ...บางวารวัน

ต้องอดกลั้น ต้องอดอยาก ต้องตรากตรำ

 

อยากจะทำความชั่วก็กลัวบาป

กลัวถูกสาปถูกเสียบถูกเหยียบย่ำ

แต่ความชั่วหลายอย่างช่างงามล้ำ

จึงต้องทำ...บ้างด้วยรักสมัครใจ

 

ความเป็นคนของเราก็เท่านี้

ทำดีมั่งชั่วมั่งสั่งสมไว้

เมื่อถึงคราวบุญบาปมาคาบไป

ต้องชดใช้ตามราคาค่ากรรมเวร...

 

สรุปแล้ว

คนที่รู้ดีรู้ชั่วประมาณผมนี่ ว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็คงมีค่าของความเป็นคนได้เพียงแค่ คอยแต่ระมัดระวังไม่ให้ตัวเองทำความชั่ว (เพราะกลัวบาป บุญ คุณ โทษ กฎหมาย ศีลธรรม และสังคมจะลงโทษ) แต่กลับขี้เกียจและเบื่อ...ที่จะทำความดีนั่นเอง

 

เพื่อนนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่ง บอกผมว่า ผมเป็นคนที่เขียนบทกวีดี น่าจะตั้งหน้าตั้งตาทุ่มเทเขียนแต่บทกวีให้ได้รางวัลที่ยิ่งใหญ่ในประเทศของเรา ให้ได้สักรางวัลหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้มีหลายกันอยู่รางวัล ที่ถูกตั้งขึ้นมาแจกกันทุกปี (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการคานอำนาจรางวัลที่เคยถือกันว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ ที่เคยมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย และทำให้นักเขียนที่ได้รับรางวัลและคำยกย่องแทบจะกลายเป็นศาสดา แต่มีเงินรางวัลให้นิดเดียว เมื่อเทียบกับฟอร์มที่หรูหราใหญ่โต) แทนที่จะมัวมาเขียนอะไรเลอะเทอะ อย่างที่ผมเขียนในทุกวันนี้ (ตามทัศนะของเขา) แต่ผมก็ไม่เชื่อและไม่เขียน...อย่างที่เขาคิดแทนผม เพราะผมเบื่อแล้วโว้ย...ที่จะทำความดีอย่างเอาเป็นเอาตายในเรื่องนี้ (และเรื่องอื่นๆอีกสองสามเรื่องอื่นๆ) ดังที่ผมเขียนเอาไว้...ในบทกวีข้างบนนั่นแหละครับท่าน (อ่ะจ๊าก!)

 

 

เอาล่ะ

เลิกสนใจเรื่องส่วนตัวที่น่าเบื่อของผม กลับมาหาประเด็นเรื่อง “ทำดีแล้ว...ไม่ได้ดี” ต่อกันดีกว่า คือ เมื่อสองสามวันก่อน ผมไปอ่านพบข้อเขียนของคุณหมอ (จิตแพทย์) วิทยา นาควัชระ จากหนังสือของคุณหมอเล่มที่ชื่อว่า “มองชีวิตกับจิตแพทย์ วิทยา นาควัชระ” ชุดสอง อ่านไปพบเรื่อง “จะทำอย่างไรดี ถ้าคุณทำดีแล้ว...ไม่ได้ดี” ตรงกับเรื่องที่ผมเคยเขียน และพยายามจะตอบ คุณคนที่มีท่าทีไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริงชนิดที่เรียกว่าเป็นกฎแห่งกรรม

 

ผมอ่านแล้วผมก็พบว่า คุณหมอวิทยาท่านได้ตอบคำถามในเรื่องนี้ได้กว้างและลึกซึ้ง น่าเชื่อถือ และเหมาะกับปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ทำอะไรที่เราคิดและเชื่อกันว่าเป็นความดีนิดๆหน่อยๆ แล้วก็มักจะคิดกันอีกจนติดเป็นนิสัยโดยอัตโนมัติว่า ตัวเองจะต้องได้ผลตอบแทนเป็นสิ่งที่ดี ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งกลับมา (ทั้งๆที่ทำความดีมันก็ดีอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว แต่เรากลับโลภอยากจะได้ผลของมันอีกชั้นหนึ่งยิ่งกว่า) มากกว่าที่ผมพยายามตอบมากมายหลายร้อยเท่า ผมจึงขอนำข้อเขียนที่มีคุณค่านี้ มานำเสนอ เพราะผมเชื่อว่า มีคนอีกมากมายหลายคน ที่หมดศรัทธากับการทำความดี เพราะคิดว่าตัวเอง “ทำดีแล้ว...ไม่ได้ดี” ดังต่อไปนี้ (และกราบเรียนขออนุญาตคุณหมอวิทยาเพื่อเป็นวิทยาทาน ณ ที่นี้ด้วยนะครับ)

 

จะทำอย่างไรดี ถ้าคุณดีแล้ว...ไม่ได้ดี

โดย จิตแพทย์วิทยา นาควัชระ

 

 

เมื่อเสาร์ - อาทิตย์ที่แล้ว

ผม ได้มีโอกาสไปร่วมเข้าชั้นการฝึกอบรมสำหรับคนที่สนใจศิลปะ ซึ่งจัดอบรมโดยสถาบันทางศิลปะแห่งหนึ่ง ด้วยความกรุณาของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนในสถาบันนั้น ที่ทราบว่าผมสนใจทางศิลปะ (แต่ไม่เคยเรียนหรือมีความรู้มาก่อน) ก็เลยมาชักชวนว่า ผมว่างเวลาไหน ก็ไปเข้าชั้นเรียนได้เลย การสอนมีทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติ

 

ผมก็ได้มีโอกาส

หาประสบการณ์ทางศิลปะมากขึ้น นับว่าเป็นการเข้าชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่งในตอนโตๆแล้ว ก็เลยอยากบอกคนที่เวลาคิดจะเรียนแล้ว บอกว่าโตหรือแก่แล้วว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียนหรอกครับ ลองคุณสนใจจริงๆคุณคงหาโอกาสเรียนหรือศึกษาในวิชาที่คุณสนใจได้ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการเปิดคอร์สอบรมในวิชาต่างๆเหล่านี้มากมาย ในประเทศไทยก็หวังว่าจะมีมากขึ้น

 

แล้วคุณจะแปลกใจว่า คุณจะได้พบคนในวัยต่างๆกัน แก่กว่าคุณก็มี เผลอๆคุณอาจจะได้พบผมในคอร์สบางคอร์สก็ได้ เพราะบ่อยๆครั้งในชีวิต ผมชอบเป็นนักศึกษามากกว่าอาจารย์

 

ผมได้พบอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่สอนอยูในคอร์สอบรมนั้น ท่านบอกว่า ท่านเคยฟังผมแสดงปาฐกถาในที่แห่งหนึ่ง และจำบางตอนที่ผมพูดได้ว่า

ไม่จำเป็นที่เราคิดว่า เราทำความดีแล้ว จะต้องได้ผลตอบแทน มีหลายๆคนที่ทำดีแล้วไม่ได้รับผลดีตอบแทน บ่อยครั้งไปที่เราคิดว่า เรากำลังทำความดี แต่จริงๆแล้ว มันคือหน้าที่ตามปกติธรรมดาเท่านั้น”

ท่านก็เลยเอามาประยุกต์กับชีวิตของท่านเอง รับความจริงเหล่านี้ได้บ้าง ชีวิตที่กำลัง ‘เซ็ง’ เต็มที่จากการที่คิดว่า ‘กำลังทำความดี แล้วไม่ได้ดีตอบแทน’ ก็เลย ‘เซ็งน้อยลง’

 

ขณะนี้

ท่านก็มีความรู้สึกปกติและหา ‘ความดี’ ในส่วนอื่นๆของชีวิตทำต่อไปอีก และมีกำลังใจทำ โดยไม่ได้มัวมานั่งคอย ‘ผลตอบแทนที่ดี’ จากการ (ที่คิดว่า) ทำความดีครั้งแรกอันนั้น

 

ผมก็เลยคิดว่า

ผมน่าจะได้มาคุยต่อให้คุณๆที่รักของผมทั้งหลาย ได้มีโอกาสเข้าใจกระบวนการของการทำความดี...แล้วไม่ได้ดี เผื่อท่านที่กำลังเซ็งๆกับชีวิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะได้เซ็งน้อยลงบ้าง

 

ท่านที่กำลังคิดว่า ทำความดีแล้วไม่ได้ดีทั้งหลาย ลองๆพิจารณาข้อความ หรือคำถามข้างล่างนี้เป็นข้อๆดูซิครับ

1. ความดีที่ท่านคิดว่ากำลังทำอยู่นั้น ท่านทำด้วยความตั้งใจ หรือทำไปด้วยความบังเอิญหรือเปล่า

- ถ้าท่านกำลังทำความดีโดยบังเอิญท่านจะไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่หรอกครับ กับการจะได้รับผลดีตอบแทนหรือไม่ เพราะบางทีท่านก็ไม่ทราบว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นดีหรือไม่ จนกว่าจะมีคนมาบอก หรือผลของความดีนั้นปรากฏออกมา

- ถ้าท่านกำลังทำความดีด้วยความตั้งใจ ก็ต้องมีคำถามตามมาอีกว่า

2. ทำไมท่านจึง ‘ตั้งใจ’ ทำความดี คำตอบก็อาจจะออกมาได้หลายๆอย่าง เช่น

. ตั้งใจทำความดีโดยความเคยชิน เพราะถูกอบรมมาให้อยู่ในกรอบของความดี มีคุณพ่อคุณแม่ หรือหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต กำหนดกฎเกณฑ์ให้คุณทำความดีอยู่ตลอดเวลา เช่น ต้องรับผิดชอบมากๆ ตรงต่อเวลา ซื่อตรง เคารพบุคคลอื่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะติดตัวจนติดเป็นนิสัย หรือเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ บุคคล ที่ทำดีจนเป็นนิสัย เหล่านี้ ก็ยังพอหาได้ครับ แต่นับวันจะหาได้ยากเข้าๆ พวกนี้มักจะไม่ค่อยเดือดร้อนมากมาย กับการทำความดี แล้วได้ผลดีตอบแทนหรือไม่ นั่นคือถึงแม้ทำแล้วไม่ได้ เขาก็ยังจะก้มหน้าก้มตาทำความดีต่อไป ก็นับว่าเป็นส่วนดีของโลกที่ยังมีคนเหล่านี้อยู่ (บ้าง)

. ตั้งใจทำความดีเพราะอยากให้คนอื่นเห็น ว่ากำลังทำความดี พวกนี้แหละครับที่เดือดร้อนเวลาใครเขาไม่เห็นความดีที่เขากำลังทำอยู่

 

ผมจะลองๆแยกพวกเหล่านี้ลงไปอีกนะครับ น่าจะได้แก่

 

มีแรงผลักดันให้ทำความดีในช่วงนั้น

เช่น อาจจะกำลังรู้สึกว่ามีปมด้อย อยากทำส่วนที่คิดว่าดี เพื่อให้คนเห็นว่าดี จะได้ลืมดูปมด้อยของตัวเอง หรือบางคนต้องทำความดี เพื่อลบล้างความไม่ดีที่เคยทำมาแล้ว หรือเพิ่งทำผิดไป เป็นการแก้หน้า หรือแก้สถานการณ์ในขณะนั้น พวกนี้จะรอคอยผลของความดีด้วยใจจดใจจ่อ ถ้าผลของความดีไม่ออกมา เขาจะผิดหวัง และอาจจะโกรธ ไม่ทำความดีอีกต่อไปก็ได้ แต่บางคนก็พยายามทำอีก ซึ่งพวกนี้มักจะประสบความสำเร็จในบั้นปลาย

 

มีความหวังพิเศษว่า จะต้องมีใครดีตอบแทนเรา หลังจากเราทำความดีแล้ว

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาเรากำลังรักใครสักคน แล้วเราก็พยายามทำความดี เพื่อจะให้เขาเห็นความดีของเราเป็นการตอบแทน เราก็จะคอยนึกว่า เขาน่าจะเห็นความดีสักที จนแล้วจนรอด เขาก็ไม่เห็นความดีสักที จนเราอาจโกรธ...เลิกทำความดี แถมต่อต้านโดยการทำไม่ดีไปเลยก็ได้ แบบนี้เราก็พบกันบ่อยๆนะครับ หรืออีกแบบ ก็ได้แก่พวกที่ตั้งใจทำความดี เพื่อจะได้เลื่อนขั้น หรือได้เงินเดือนมากๆเป็นต้น

 

ตกลงพวกที่จะเดือดร้อนมากหน่อย ก็ได้แก่พวกที่ตั้งใจทำความดี โดยที่อยากให้คนอื่นเห็นความดี ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากปมด้อยหรือการกลัวเสียหน้า หรือมีความหวัง ‘พิเศษ’ที่อยากจะให้คนอื่นเขาเห็นความดี หรือต้องการได้ผลของความดีอันนั้น

 

จริงๆแล้ว

ถ้าคุณอ่านละเอียดและติดตามมาตลอด คุณจะเห็นว่า สิ่งที่คุณเรียกว่า ‘กำลังทำความดี’ นั้นก็เปรียบเสมือน ‘เหยื่อ’ ที่คุณเกี่ยวเบ็ดลงไป แล้วคุณทิ้งสายลงไปในน้ำ แล้วหวังว่าจะได้ปลาตัวโตๆมากินเหยื่อ และติดเบ็ดของคุณนั่นเอง

 

ผมว่าถ้าคุณไปตกปลาจริงๆ โอกาสที่คุณจะได้ปลามาติดเหยื่อของคุณนั้น ยังน่าจะง่ายกว่า และเป็นไปได้มากกว่า และปลาที่ติดเบ็ดคุณขึ้นมา ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ก็ยังมีค่ากว่าเหยื่อของคุณที่เกี่ยวเบ็ดลงไป (แต่นักตกปลาจริงๆ ก็ยังผิดหวังกับขนาดของปลา ที่เขาได้อยู่ดีนะครับ ไม่เชื่อลองถามดูสิ)

 

แต่ในชีวิตจริงๆ ขณะนี้

คุณกำลัง ตกคน ด้วยเหยื่อคุณ ที่คุณเรียกว่า ‘การทำความดี’ นั่นแหละครับ แล้วคุณคิดไหมว่า คนอื่นๆ เขากำลัง ตกคน อยู่เหมือนกัน เผลอๆคุณอาจเป็นคนที่กำลังตกอยู่ด้วย

 

สมองคนไม่ใช่สมองปลา ความคิด ความรู้สึกของคน ก็ยังสลับซับซ้อนกว่าปลามากมาย ถ้าคนกินเหยื่อของคุณง่ายๆ คุณก็จะหาว่าเขาฉลาดน้อยเหมือนปลาอีกนั่นแหละ แล้วคุณก็คงไม่อยากตกเขาอีกต่อไป ถ้าคุณคิดจะตกคน คุณก็ต้องเข้าธรรมชาติของคนด้วยกัน ไม่ใช่เข้าใจธรรมชาติของตัวเองอย่างเดียว (เช่นจะเอาแต่ได้อย่างเดียว)

 

ไม่เป็นการแปลก และไม่เป็นการผิดเลย ที่เราหวังว่า เราจะได้ปลาตัวโตจากการตกปลา แต่ในช่วงที่เราตกปลา ถ้าเรามัวแต่กังวลและหวังมากไป เราอาจจะท้อถอยเสียก่อนก็ได้ ทำไมไม่ลองจิบเหล้า (อะไรก็ได้) หรือร้องเพลง (เบาๆ) คลอไปด้วยเล่าครับ คุณจะไม่ได้รู้สึกว่าคุณกำลังคอยอะไรอยู่ (โธ่! การคอยอะไรสักอย่างมันทรมานแค่ไหน ใครๆที่เคยคอยมาแล้วคงจะทราบดี)

 

เพราะบางที

จนตายคุณก็ไม่อาจได้ปลาตัวใหญ่อย่างที่หวังเอาไว้ (ไม่ว่าคุณจะทำความดีเพื่ออะไรก็แล้วแต่) คุณน่าจะหากิจกรรมชีวิตอย่างอื่นๆ ควบคู่ไปหลายๆอย่างด้วย อย่าไปใจจดใจจ่ออยู่แห่งเดียว

 

หรืออาจจะลองทำความดีหลายๆแบบ กับหลายๆคน หลายๆสถานที่ ก็ได้ (เปรียบเหมือนตกปลาหลายๆเบ็ด โอกาสจะได้ปลา ‘น่าจะ’ มีมากกว่าเบ็ดเดียว)

 

บางคน ยังไม่ทันหาเบ็ดหาเหยื่อมาตกปลาเลย ก็ท้อใจเสียแล้ว เพราะคิดว่ายังไม่ได้ปลาตัวโต เหมือนกับคนที่ถูกกรอกหูบ่อยๆ ว่าทำดี...แล้วไม่ได้ดี เลยไม่อยากทำดีเลยนั่นแหละครับ

 

แล้วคุณเล่าครับ

คุณรู้วิธีทำเบ็ดหรือหาเหยื่อหรือยัง ก่อนที่คุณจะตกปลา

หรือคุณอยากได้ปลาฟรีๆ

แต่ผมว่าของ ‘ฟรี’ ไม่มีในโลกนี้นะครับ

นอกจากในโลกของคุณเอง ที่คิดเอง ตอบเอง ฝันไปเองคนเดียว.

 

ครับ นี่คือคำตอบที่ดีที่ดีที่สุด สำหรับคนที่คิดว่า ทำดีแล้ว...ไม่ได้ดี และนึกท้อที่จะทำความดี ที่ผมได้ค้นพบจากคุณหมอวิทยา นาควัชระ.

 

หมายเหตุ ; ภาพประกอบเรื่อง 2 ภาพ ที่เข้ากับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดีในพฤหัสนี้ เป็นภาพ “การทำดีแล้วได้ดี” ของตัวผมเองครับ (ฮา) ที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับกับการทำความดีจากการเขียนบทกวี หลังจากได้รับมาแล้ว 3 ครั้ง และเบื่อ...ที่จะเขียนบทกวีแล้ว แต่สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ก็ยังอุตส่าห์เล็งเห็นความดี ที่ไม่ค่อยจะมีเหลืออยู่แล้วในการทำงานเขียนบทกวีของผม มามอบรางวัลนักกลอนตัวอย่างภาคเหนือประจำปี 2552 ให้ ร่วมกับ อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ณ โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เนื่องในวันนักกลอน 10 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา

 

ภาพแรกเป็นภาพที่ผมกำลังรับโล่รางวัลจากคุณยุทธ โตอดิเทพย์ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ภาพที่สองเป็นภาพที่ถ่ายร่วมกับผู้ที่มาแสดงความยินดี ก่อนจะไปรับรางวัล หลังจากเฮฮาปาร์ตี้กันเรียบร้อยแล้ว ที่ร้านสติคเกอร์ หลังสหกรณ์กรุงเทพ ถนนอรุณอมรินทร์

 

ขอบคุณ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ที่ให้เกียรติแก่นักเขียนเล็กๆคนหนึ่งจากภาคเหนือ และเพื่อนๆ

ขอบคุณ คุณยุทธ โตอดิเทพ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการสมาคมฯ ทุกท่าน

ขอบคุณ มหาสุราริน น้องชายที่น่ารักจากบล็อกเกอร์ O.K. เนชั่น ที่คอยวิ่งเต้นเป็นธุระจัดการให้เราสะดวกสบายทุกเรื่อง ตั้งแต่วันแรกที่ลงจากรถไฟ จนถึงวันสุดท้ายที่เดินทางออกจากกรุงเทพ

ขอบคุณ พี่สุจิต วงษ์เทศ จาก ศิลปวัฒนธรรม ที่เอื้อเฟื้อ “เรือนอินทร์คอร์ด” ที่มีห้องพักหรูแบบคลาสสิกให้เราพักฟรีถึงสองคืน

ขอบคุณ คุณทองแถม นาถจำนงค์ (โชติช่วง นาดอน) บก.สยามรัฐรายวัน ที่มาต้อนรับ และคอยดูแลเลี้ยงข้าวยาปลาปิ้ง และควักเงิน (ที่ผมเข้าใจว่าเป็นเงินส่วนตัว) ช่วยค่ารถพวกเราตอนขากลับมา 2,000 บาท รวมทั้งหนังสือจากออฟฟิศของคุณ ที่บอกให้พวกเราเลือกหยิบเอากลับบ้านไปอ่านได้ตามใจชอบ และผมโลภเอามากกว่าเพื่อน เพราะผมเป็นโรคแพ้หนังสือมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา ซึ่งเดี๋ยวนี้ผมหันมาสนใจยิ่งกว่างานวรรณกรรม

 

ขอบคุณและขอบคุณ

ความดี

ที่ยังหลงเหลืออยู่ในงานเขียนบทกวีที่ผ่านๆมา

ที่ช่วยยืนยันอีกครั้งว่า “ทำดีได้ดี” นั้นเป็นความจริง

ถึงแม้การทำความดี

มักจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ...

แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่ดีที่สุด - ที่มนุษย์พึงกระทำ

ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น (อ่ะจ๊ากกก !)

 

9 กุมภาพันธ์ 2553

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว