ซีเวิงสูญเสียม้า ใครจะรู้ว่าไม่ใช่โชคดี แด่ จีรนุช เปรมชัยพร

22 February, 2011 - 12:42 -- thanorm
ที่ชายแดนภาคเหนือ
ของประเทศจีนในสมัยโบราณ มีชายผู้หนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการเลี้ยงม้า คนที่รู้จักเขาเรียกเขาว่า ซีเวิง ซึ่งหมายถึงผู้เฒ่าที่อยู่ตามชายแดน
 
วันหนึ่ง
โดยเหตุใดไม่ทราบ ม้าของเขาตัวหนึ่งได้หนีเข้าไปในดินแดนของชาวหู ซึ่งอยู่นอกกำแพงยักษ์ เนื่องจากชาวหูเป็นปรปักษ์กับชาวจีน ดังนั้น ทุกคนจึงคิดว่า คงจะไม่ได้ม้ากลับคืนมาแน่ๆ
 
ม้าเป็นสิ่งมีค่ามาก สำหรับคนที่อยู่ชายแดน ดังนั้นพวกจึงถือว่าการสูญเสียม้าเปรียบเสมือนหุ้นตกครั้งใหญ่ ชาวบ้านได้พากันมาเยี่ยมซีเวิงเพื่อแสดงความเห็นใจ แต่บิดาผู้ชราของซีเวิง กลับทำให้พวกเขาประหลาดใจ เพราะแกยังคงเยือกเย็น มิได้มีความสะทกสะท้านแต่อย่างไร และพวกเขายิ่งพากันสงสัยมากขึ้น เมื่อผู้เฒ่าได้ถามขึ้นว่า
“ใครบอกได้ว่านี่ไม่ใช่ความโชคดีชนิดหนึ่ง”
 
อีกสอง - สามเดือนต่อมา
ม้าได้กลับมาที่คอกพร้อมกับพาเพื่อนมาด้วยตัวหนึ่ง เป็นม้าที่งดงามสายพันธุ์หู เท่ากับว่าความมั่งคั่งของซีเวิงเพิ่มขึ้นเป็นของซีเวิงเป็นสองเท่าตัวในทันที ทุกคนประหลาดใจกับม้าใหม่ และพากันแสดงความยินดี แต่ก็อีกนั่นแหละ บิดาผู้ชราของซีเวิงมิได้แสดงอารมณ์ยินดีใดๆ แกกลับกล่าวว่า
“ใครบอกว่านี่มิใช่ความโชคร้ายชนิดหนึ่ง”
 
บุตรชายของซีเวิงชอบขี่ม้า
และได้นำม้าตัวใหม่ออกมาขี่ วันหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุ เขาตกม้าและขาหัก ชาวบ้านได้พากันมาปลอบใจเหมือนเช่นเคย แต่พวกเขาก็ยังได้เห็นว่า บิดาผู้ชราของชายหนุ่มยังคงอยู่ในความสงบเหมือนเดิม แกได้บอกกับพวกเขาว่า
“ใครบอกว่านี่ไม่ใช่ความโชคดีชนิดหนึ่ง”
 
อีกปีหนึ่งต่อมา
ชนชาวหูได้รวบรวมกำลังยกข้ามชายแดนเข้ามาประเทศจีน ชายหนุ่มที่มีความสามารถทุกคนได้ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารเพื่อต่อสู้กับชาวหู ผลของการสู้รบปรากฏว่า ทหารของผู้ที่อาศัยอยู่ชายแดนได้ตายไปเก้าสิบเปอร์เซ็นต์
 
บุตรชายของซีเวิง
ไม่ได้ร่วมออกรบด้วย เนื่องจากขาที่เคยหักทำให้เขาเดินไม่สะดวก และด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ต้องประสบกับชะตากรรมที่น่าสยดสยอง และครอบครัวของเขาได้รอดพ้นจากสงคราม
 
โชคดี
อาจแสดงผลออกมาเป็นโชคร้าย และ โชคร้าย อาจแสดงผลออกมาเป็นโชคดีด้วยเหตุฉะนี้ มันเปลี่ยนจากหนึ่งไปเป็นอื่นๆได้ไม่รู้จบ ปฏิบัติการของชะตากรรมเหลือที่จะหยั่งถึง
 
ทั้งหมดนี้ เป็นนิทานจีนที่มีอยู่ในคัมภีร์ ฮวนอันซือ ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณ นับเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของจีนสมัยโบราณที่ชาวจีนรู้จักกันดี จนมีคำพูดติดปากว่า
“ซีเวิงสูญเสียม้า ใครจะรู้ว่าไม่ใช่โชคดี”
วลีนี้เหมาะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ดูเหมือน ต่อต้าน ท่านอย่างเต็มที่ เมื่อท่านรู้สึกจนตรอก ท้อใจ หรือสิ้นหวัง วลีนี้จะเตือนใจท่านว่า สรรพสิ่งเหล่านั้นอาจไม่เป็นอย่างที่มันปรากฏในแต่แรก
 
ปราชญ์สอนว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏขึ้นเพราะมูลเหตุ ความล้มเหลวและความผิดหวังนั้นไม่ถาวร ทั้งหมดบรรจุอนาคตอันสดใสเอาไว้ด้วย เช่นเดียวกับการที่ท่านต้องย่อตัวลงก่อนที่จะกระโดดให้สูงขึ้น การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยให้ท่านมีพลังพิเศษที่จำเป็นต้องใช้ในการเอาชนะอุปสรรคเบื้องหน้า และเมื่อท่านพิจารณาในทำนองนี้...ใครจะกล้าบอกว่า
“ภายในส่วนที่ไม่ดี มิได้มีข่าวที่ค่อนข้างดีซ่อนเร้นอยู่”
 
เต๋า
เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสมดุล อีกแง่หนึ่งเป็นการสอนเพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการ และเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์มาก ทำให้เรารู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ตกอยู่ใต้ภาวะแห่งความกดดันและภาวะที่น่าท้อใจ ซึ่งภายใต้ภาวะเหล่านี้จะทำให้เราสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ไป
 
ทั้งนี้
สามารถทำได้ง่ายๆเหมือนกับการพลิกหน้าของเหรียญ นั่นคือเมื่อเราเผชิญกับบางสิ่งบางอย่างที่พบว่า เป็นการได้ประโยชน์ เราไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นดีใจจนเหลือล้น เพราะจะทำให้เรามืดบอดต่อเมล็ดของภัยพิบัติ ซึ่งซ่อนอยู่ภายในความก้าวหน้านั้น
 
เมฆดำทุกก้อน
ย่อมมีข้างในเป็นแสงเงิน หรือในทางกลับกัน ภายนอกแสงสีเงินย่อมมีก้อนเมฆดำ ในคัมภีร์ เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 58 กล่าวว่า
“โชคร้ายเป็นที่อาศัยของโชคดี”
“โชคดีเป็นที่อาศัยของโชคร้าย”
หยินควบคุมหยาง หยางควบคุมหยิน ทุกๆความล้มเหลวจะเป็นที่ซ่อนเร้นของเมล็ดแห่งความสำเร็จในอนาคต ทุกๆชัยชนะจะบรรจุไว้ด้วยมูลเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในอนาคต
ดังนั้นบิดาของซีเวิงจึงมิได้ลบหลู่ข่าวร้าย อีกทั้งไม่ยินดีจนเกินไปกับสิ่งที่ผู้อื่นเห็นว่าเป็นข่าวดี
 
ทุกสิ่งทุกอย่าง
ย่อมลดลงสู่วิถีแห่งความพอดี ถ้าปราศจากความพอดี การดำเนินชีวิตก็จะเหมือนกับการขับรถลงจากภูเขา ตอนแรกอาจดูตื่นเต้นเร้าใจ ต่อมาจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และพบภัยพิบัติในที่สุด
 
การดำเนินชีวิตด้วยความพอดี
จะทำให้เข้าใกล้ “อู๋เหวย” (Wu Wei) อันสูงส่ง ที่ทั้งงดงามและไม่เปลืองแรง ท่านจะยังได้พบกับความยินดีและความเสียใจตามปรกติ แต่ไม่ใช่ด้วยอารมณ์สุดขีดที่ทำให้อ่อนเพลีย
ท่านเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่ในงานรื่นเริงและงานศพ
แต่มิใช่การกระทำจนเลยเถิด
การดำเนินชีวิต
ควรเป็นไปตามขั้นตอนอย่างนุ่มนวลและราบรื่น
การขึ้นลงอย่างพรวดพราด เป็นข้อยกเว้น
มิใช่ความพอดี
 
ทั้งนี้มิได้หมายความว่า
เราจะต้องกลายเป็นท่อนไม้ หรือไม่มีอารมณ์อีก ทั้งนี้มิได้หมายความว่าชีวิตจะต้องจืดชืด ต้องยอมรับทุกสิ่งที่พบ หรือต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำอะไร
 
สิ่งที่หมายถึงก็คือ
เราไม่ติดยึดกับอารมณ์อีกต่อไป การกระทำใดๆ ที่ไม่ยึดติดกับอารมณ์ จะทำให้เราสังเกตเห็นการดำเนินชีวิตของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อว่าเมื่อ โชคดี เปลี่ยนเป็น โชคร้าย หรือในทางกลับกัน มันจะได้ทำให้เราไม่ประหลาดใจ ทำให้เราพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยความแจ่มใส และตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนรูปนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ที่ซับซ้อนของเต๋า ซึ่งไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรเกิน
 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สรรพสิ่งเกิดขึ้นมาเป็นธรรมดาในชีวิต ไม่ใช่ดีหรือเลว มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเกิดขึ้นเพื่อให้บทเรียนชีวิต ถ้าเราด่วนตัดสินใจว่าดีหรือเลว ด้วยพื้นฐานของความประทับใจดั้งเดิม จะทำให้เราเสี่ยงต่อการมองข้ามบทเรียนที่แท้จริง
 
ดังนั้น
ในโอกาสต่อไป ถ้า “สิ่งเลว” บังเกิดขึ้นกับท่าน และทำให้ท่านปราชัยอย่างคาดไม่ถึง จงรำลึกถึงวลีที่ว่า
“ซีเวิงสูญเสียม้า ใครจะรู้ว่าไม่ใช่โชคดี”
 
 
หมายเหตุ ; ครับ เรื่องราวทั้งหมดนี้ คือ ความเรียงบทหนึ่งที่ชื่อว่า “โชคดี - โชคร้าย” ที่ผมนำมาจากหนังสือดีเล่มที่มีชื่อว่า “อยู่อย่างเต๋า” ที่เขียนโดย เกรียงไกร เจริญโท ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือชุดธรรมะสว่างใจ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2548 โดยสำนักพิมพ์แม่โสภพ บริษัท โภสพศุภการ จำกัด 737 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 46 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัดกรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0 2883 5340 โทรสาร 0 2883 5341 ทองแถม นาถ จำนง ผู้อำนวยการ (ข้อมูลจากหน้าเครดิต)
 
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกรียงไกร เจริญโท จบเภสัชจากมหิดล แล้วรับราชการ พร้อมกับโยกย้ายไปหลายจังหวัด ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและผู้คนมากขึ้น เมื่อผนวกเข้ากับเรื่องราวของเต๋า หลักคำสอนที่มีมา 2,500 ปี จนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรได้อย่างเรียบง่าย และน่าติดตามยิ่ง
ปัจจุบัน
เป็นข้าราชการบำนาญ อยู่อย่างสงบแบบเต๋า เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติที่บ้านริมแม่น้ำในอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีความสุขและเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ (ข้อมูลจากท้ายเล่ม)
 
ส่วนท่านที่ได้อ่านเรื่องนี้ และอยากได้หนังสือเล่มนี้ ผมเข้าใจว่าคงหาได้ยาก ตอนผมไปรับรางวัลนักกลอนตัวอย่างจากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ร่วมกับอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และแพร จารุ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2553 โดยการต้อนรับและอำนวยความสะดวกจากคุณทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการสยามรับรายวัน ตอนไปแวะที่ทำงานที่บ้านของคุณทองแถมละแวกถนนจรัญสนิทวงศ์ คุณทองแถมได้ออกปากอนุญาตให้เราหยิบเอาหนังสือของสำนักพิมพ์ แทบทุกเล่มที่มีอยู่ในห้องเก็บหนังสือที่ติดกับห้องทำงานของคุณทองแถม เก็บใส่กระเป๋ากลับไปอ่านที่บ้านได้  
 
ผมเป็นคนที่โลภในการอ่านมาแต่ไหนแต่ไร หยิบมาตั้ง 10 กว่าเล่ม (โดยไม่รู้สึกละอาย...แฮ่) จำได้อย่างแม่นยำว่า หนังสือเกี่ยวกับเต๋า ทั้งที่เขียนโดย เกรียงไกร เจริญโท และ โชติช่วง นาดอน (อีกนามปากกาหนึ่งของคุณทองแถม) เป็นหนังสือที่มีเหลืออยู่จำนวนไม่กี่สิบเล่ม แต่ถ้าหากมีการพิมพ์ขึ้นใหม่ก็คงหาได้ไม่ยาก (ถ้าหนังสือไม่จำหน่ายหมดไปเสียก่อน) แต่อย่างไรถ้าคุณสนใจหนังสือที่มีคุณค่าสมกับที่ทางสำนักพิมพ์ตั้งชื่อหนังสือชุดนี้เอาไว้ว่า “ธรรมะสว่างใจ” ลองโทร.ไปเช็คกับสำนักพิมพ์ดูนะครับ
 
และสุดท้ายนี้
ผมขออนุญาตทั้งคุณ เกรียงไกรและคุณทองแถม นำงานที่ยอดเยี่ยมล้ำลึกเกี่ยวกับเต๋าชิ้นนี้มาลงใน “เรื่องเล่าเล็กๆจากกระท่อมทุ่งเสี้ยว” เพื่อเป็นกำลัง แด่ คุณจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท สื่อหนังสือพิมพ์ออนไลท์ ที่กำลัง โชคร้าย ตกเป็นจำเลยของรัฐ และกำลังอยู่ระหว่างการขึ้นศาลสถิตยุติธรรม - ขอบคุณมากๆครับ.
 
21 กุมภาพันธ์ 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
 
 
 

 

ความเห็น

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

จีรนุช ครับ ผมตั้งใจจะเขียนอะไรสักอย่างที่ดีให้คุณจีรนุชมานานแล้วตั้งแต่คุณเริ่มมีคดี แต่ก็คิดอะไรดีๆไม่ได้ พอดีได้อ่านภูมิปัญญาเก่าแก่ของจีนเรื่องนี้ ผมว่านี่แหละใช่สำหรับคุณ จึงรีบถ่ายทอดเรื่องนี้มาให้คุณ สวัสดีครับ

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

ขออภัย ข้อความในพารากราฟที่สามวรรคแรกที่ว่า
"ดังนั้นนั้นพวก...จึงถือว่า" ที่ถูกคือ "ดังนั้นพวกเขาจึงถือว่า"
ตกคำว่า "เขา" ไปครับ

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

อ้อ อีกประโยคหนึ่งในพารากราฟสุดท้ายของหมายเหตุ ที่ว่า "เพื่อเป็นกำลัง... แด่ คุณจีรนุช"
ที่ถูกคือ "เพื่อเป็นกำลังใจ แด่ คุณจีรนุช"
ตกคำว่า "ใจ" ไปครับ ขออภัย

Submitted by โสมคาน on

ผมเหมือนคนใบ้บอดกอดหนังสือ
ไม่รู้ชื่อ ซีเวิง ชั้นเชิงสอน
ไม่รู้จัก ทั้งโชติ ช่วงนาดอน
อีกนามกร เกรียงไกร เจริญโท

เพียงจำหน้าคราทัก แพร จารุ
กวีดุ ไพฑูรย์ รักล้นโหล
แต่คุ้นเคย นักเขียน หุ่นผอมโซ
ตัวไม่โต ไม่ยอมแพ้ แท้แสงดาว

แวะเยี่ยมเยือนเพื่อนแก้ว บ้างแซวเล่น
เหมือนดั่งเป็นญาติโก โห่กันฉาว
บ้างโกรธเคืองด่าแม่ แฉกันกราว
บ้างรักร้าว ใจล้น หล่นน้ำตา

บริการ ผ่านหน้า ประชาไท
มิตรอยู่ไกล เหมือนคล้าย ใกล้ดวงหน้า
เธอมีคุณ เราไม่รู้ สู้กันมา
ส่งใจข้า...จีรนุช เปรมชัยพร

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

คุณโสมคานครับ กฤษณะ มูรติ พูดว่าความไม่รู้ที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์ คือความไม่รู้จักความคิดจิตใจของตัวเอง เต๋าพูดว่า ผู้ที่รู้ว่าตัวเองว่าไม่รู้ คือ ผู้รู้ เป็นความจริงหรือเปล่า ผมก็ไม่กล้าฟันธง เพราะอ่านเขามาแล้วก็จำเขามาพูดเท่ๆให้ฟังกันอีกทีครับ (ฮา) ขอบคุณแทนคุณจีรนุช สำหรับกำลังใจจากคุณโสมคานจ้า

Submitted by หลานลุงโฮ on

ชอบครับ

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

ลุงโฮ ดีใจครับที่ลุงโฮชอบ ตอนนี้ผมกำลังเตรียมงานในแนวนี้อีกชิ้นหนึ่งที่มีอะไรๆดีๆไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันมานำเสนอ อย่าลืมติดตามนะครับ ขอบคุณมากครับ ที่อุตส่าห์โพสต์เข้ามาบอกถึงความรู้สึกที่ได้อ่าน

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

Gap ขอบคุณคุณ Gap มากครับที่เข้ามาเยี่ยมชม

Submitted by ืแสงดาว ศรัทธามั่น on

ชอบคำที่ว่า " สิ่งที่หมายถถึงก็คือ เราไม่ยึดติดกับอาารมณ์ การกระทำใดๆที่ไม่ยึดติดกับอารมณ์ จะทำให้เราสังเกตุเห็นการดำเนินชีวิตของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ฯลฯ "

ทุกวันนี้คนใช้อารมณ์ กันมาก ไม่เฉพาะในประเทศไทยสมมุตติ คนทั่วโลกด้วย ใครไม่เห็นด้วยก็ตัดสินว่าเขาโง่ ไม่รู้ ... ถ้าตอบกลับก็ต้องบอกว่าคุณนั่นแหละที่โคตรโง่ อวิชชา แล้วมาอ้างวาทกรรมเรื่อง"ประชาธิปไตย" ทำไม? มันน่าขำ ก็ต้องปล่อยให้เขา ผู้เป็น มหากูรู้ เหล่านั้น ได้เติบโตทางวัฒิภาวะ ได้เรียนรู้โลกชีวิต เติบโตด้วยวัยไปก่อน เขาก็คงจะสรุปตัวเองว่า เออกูนี่โคตรงี่เง่ามานาน(แต่ว่าถ้าตันทุรังโง่ อวิชชา ไปจนตาย ก้บ่ฮู้จักทำฉันใด ก็ปล่อยตามกรรมตามเวรของใคร ของมันก้แล้วกัน)

Submitted by ืแสงดาว ศรัทธามั่น on

อ้อขอให้กำลังใจ คุณ จีรนุช เปรมชัยพร ด้วยคับ ... กม มาตรา 112 ฯลฯ สมควรยกเลิกได้แล้ว มันไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งน่าขำกลิ้ง ต่าสงประเทศที่มี คิง เขาคง " มันก้อเป็นงงงงงงงง"