ALL GOOD ALL BAD จาก นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ถึง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

ผมช๊อบชอบ
บทสัมภาษณ์พิเศษที่ชื่อว่า ศาสตร์แห่งการสู้เครียดซึ่งเป็นงานสัมภาษณ์ ของ กฤษกร วงศ์กรวุฒิ ที่ไปสัมภาษณ์ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ลงในนิตยสาร ค.คน ฉบับเดือนก.พ. 55 (หน้าปกอังคาร กัลยาณพงศ์) ที่เฝ้าติดตามอาการเครียดของสังคมไทย มาตั้งแต่วิกฤตฺเศรษฐกิจปี 2540 และวิกฤติจากการเมืองรอบใหม่ รวมทั้งวิกฤติจากภัยธรรมชาติมาจนถึงปัจจุบัน
 
ที่ผมได้อ่านแล้ว
ผมพบว่ามันเป็นบทสัมภาษณ์ที่ดีมีคุณค่าและให้ประโยชน์มากๆแก่ผู้คน - ในแง่ที่ทำให้เราเข้าใจ สิ่งที่เรียกว่าความเครียดของสังคมและตัวเราที่อยู่ในสถานการณ์หรือได้รับผลกระทบในเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะในเรื่องการเมืองที่ทำให้ผู้คนเกิดอาการที่คุณหมอยงยุทธเรียกว่า all good all bad ที่ผมพยายามโจมตีและต่อต้านคนที่มีอาการแบบนี้ - ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เพราะผมเห็นอย่างชัดๆว่า มันเป็นเรื่องที่ผิดปรกติธรรมชาติความเป็นจริงของมนุษย์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มปากเต็มคำ เพราะไม่อาจหาเหตุผลที่เชื่อถือได้มาอธิบายรองรับ แต่เมื่อได้อ่านคำอธิบายจากคุณหมออย่างแจ่มแจ้ง ผมก็ไม่แปลกใจที่ผมอธิบายไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายกันด้วยหลักวิชาการทางจิตวิทยาอันซับซ้อนที่ผมไม่กระดิกนั้นเอง
 
ดังนั้น ผมจึงขอนำบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่ง - ที่เน้นความเครียดของสังคมไทยที่เกิดจากการเมืองมาลงให้ท่านผู้อ่านประชาไทได้อ่านเพื่อร่วมรับคุณค่าและประโยชน์ด้วยกัน ดังนี้
 
เรากำลังเผชิญทั้งภัยธรรมชาติและวิกฤติการเมือง ภาพรวมของภาวะความเครียด และสุขภาพจิตของคนไทยเป็นอย่างไร
สุขภาพจิตของคนไทย เรามีการเก็บข้อมูลสองระยะคือ วิกฤติปี 40 และวิกฤติปี 50 นี้ นอกจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์แล้ว ยังชนกับวิกฤติการเมืองด้วย
 
โดยหลักๆ ในปี 2540 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจ คนมีความเครียดสูงขึ้น อัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจน ตัวเลขขึ้นสูงสุดในปี 42  คนรุ่นเก่าๆคงจำได้ว่าปี 42 นั้นหนักหนาสาหัสสากรรจ์มาก บริษัททุกหลักทรัพย์ล้ม 50 แห่ง บริษัทเจ๊งไปเป็นพัน คนออกจากงานมากมายกลับชนบท เจ้าของกิจการฆ่าตัวตายกันไม่น้อย ต้องถือว่าปี 40 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเลย ที่ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน แรงที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา มันเป็นภาวะความเครียดทางเศรษฐกิจที่มีเวลายาวนานและสร้างความยากลำบากในชีวิตให้แก่คนจำนวนหนึ่ง
 
สำหรับในปี 50 มันต่างออกไป คือตั้งแต่ปี 48 - 49 - 50 - 51 ตัวเลขที่มีผลต่อความเครียดของคนมากที่สุดกลับกลายเป็นเรื่อง การเมือง อันนี้ก็เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเหมือนกัน และความเครียดที่เติมเข้ามาอีกอันก็คือ ความเครียดจากภัยพิบัติเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 ที่มี สึนามิ ต่อจากนั้นก็จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นมาเรื่อยๆทุกปี และต่อไปคงเป็นเรื่องปกติแล้ว เพราะเท่าที่ดูก็จะพบว่า มันเกิดขึ้นบ่อย จนต้องถือว่า เป็นการปรับตัวปกติที่คนไทยต้องมี
 
โดยหลักแล้ว ความเครียดของมนุษย์จะประกอบด้วย
ความเครียดส่วนบุคคล หรือ individual
และ
ความเครียดที่เป็นลักษณะทางสังคม หรือ social stress
 
ความเครียดที่เป็นลักษณะส่วนบุคคลก็คือ แต่ละคนก็จะมีปัญหาของตัวเอง ปัญหาครอบครัว ปัญหาการงานอะไรต่างๆ สำหรับความเครียดจากสังคมของคนไทยก็จะมี 3 ประเภท คือ
วิกฤติเศรษฐกิจ
การเมือง
และภัยพิบัติ
ซึ่ง (ภัยพิบัติ) ก็แบ่งออกเป็นภัยจากธรรมชาติ และภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น เช่นกรณีสามจังหวดชายแดนภาคใต้ที่ส่งผลยาวนาน
 
ที่เฝ้าติดตามกันมากคือ วิกฤติการเมือง นับตั้งแต่มีการชุมใหญ่ของ พันธมิตร สมัยรัฐบาลคุณสมัคร สมชาย ตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นมา จนมาถึงเหตุการณ์ในปี 52 53 ความจริงความเครียดทางการเมือง ตัวมันเองไม่ได้เป็นความกดดันเหมือนน้ำท่วม หรือวิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลต่อชีวิตในแง่ของความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก แต่มันเป็นเรื่องความเชื่อ เป็นวิกฤติที่มาจากความเชื่อที่ต่างกัน และมีอารมณ์รุนแรงจากความเชื่อนั้น ธรรมชาติของวิกฤติแบบนี้ จึงเป็นลักษณะที่เฉพาะมากๆ ภาษาทาวิชาการเราเรียกว่า อารมณ์ทางการเมือง อารมณ์แบบนี้จะแสดงออกโดยมีความเชื่อที่รุนแรง คิดว่าตัวเองถูก ไปที่ไหนก็จะต้องคุยเรื่องการเมือง แต่ถ้ามีความเห็นที่ต่าง ก็จะโมโห
 
ความรุนแรงทางการเมืองมีพัฒนาการอย่างไร เมื่อก่อนเราไม่เคยมีเรื่องแบบนี้
อารมณ์ความรู้สึกทางการเมือง มันจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง ถามว่าการชุมนุมมีความเครียด มีแรงกดดันทางการเมืองมากๆ มีโอกาสไหมที่จะเกิดความรุนแรง ก็มีเยอะมาก
 
เพราะธรรมชาติของความขัดแย้งทางการเมืองจะเน้นในเรื่องที่ว่า ฝ่ายหนึ่งถูก อีกฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายหนึ่งดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่ดี แล้วก็เน้นเรื่องการสร้าง ความเกลียดชัง ให้แก่อีกฝ่าย ฉะนั้น ธรรมชาติข้อมูลข่าวสารพวกนี้ นำไปสู่ความรุนแรงได้มาก และความรุนแรงทางการเมือง ก็จะเป็นเจตจำนงของผู้นำบางคนด้วย เพื่อนำไปเพิ่มความชอบธรรม หรือลดความชอบธรรมของอีกฝ่าย
 
ฉะนั้น ก็เลยผสมปนเปกัน ภาวะเครียดจากทางการเมืองเกี่ยวข้องและมีผลโดยตรงทีเดียว ที่ทำให้เกิดความรุนแรง แต่ที่ถามว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร สังคมไทยไม่เคยมีมาก่อน เป็นเพราะสังคมก็มีต้นทุนของปัญหาอยู่ มีรากฐานที่ทำให้คนรู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่นกรณีคุณทักษิณ คนที่ชอบก็มีความรู้สึกรับไม่ได้กับพฤติกรรมโกงกินของนักการเมือง มีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ส่วนอีกฝ่ายก็โกรธแค้นจากความรู้สึกว่า ถูกเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะว่ามีการรัฐประหาร
 
ความจริงเรื่องพวกนี้ทั้งหมด มันก็เป็นรากฐานของปัญหาในสังคมไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ฝ่ายใดจะยกเอาประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาใช้ ที่สำคัญก็คือกลุ่มผลประโยชน์ คือ พรรคการเมือง และผู้นำทางการเมือง ที่ต้องเสียงของประชาชนมาสนับสนุน ก็เหมือนกับมีทรัพยากรอยู่แล้ว มีเชื้อไฟอยู่แล้วที่จะหยิบมาใช้ เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรงมากที่สุด ในเยอรมันสมัยฮิตเลอร์นั้น คนเยอรมันเอง เดิมทีก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่รุนแรงต่อคนยิว แต่ทำไมปล่อยให้มีการสังหารหมู่ได้เป็นล้านคน
 
เขาอาจมีอคติกับคนยิวอยู่บ้าง เหมือนคนไทยมีอคติกับคนจีน คนเวียดนาม คนแขก แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่รุนแรง แต่พอเริ่มเข้าสู่ขบวนการข่าวสารอย่างเป็นระบบ พูดง่ายๆก็คือ มีการโฆษณาชวนเชื่อ มีการใส่ข้อมูลข้างเดียวตลอดเวลา คนเราเองพอรับรู้ข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา ก็จะเริ่มมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ที่ในทางวิชาการมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง ก็คือ การเสพติดทางการเมือง
 
คือการเสพติดของมนุษย์นั้น ไม่ใช่มีเพียงเสพยาเสพติด ยังมีการเสพติดประเภทหนึ่ง เรียกว่า การเสพติดทางพฤติกรรม เช่น ติดการพนัน ติดอินเตอร์เน็ต ติดเซ็กซ์ ติดอาหาร แล้วหนึ่งในหลายๆอย่างของการเสพติดก็คือ เสพติดทางการเมือง พวกนี้จะมีธรรมชาติเหมือนกันหมด คือเกิดจากพฤติกรรมที่มันเร้าอารมณ์ เมื่อรับรู้บ่อยๆ มันจะสร้างให้เกิดการเสพติดในพฤติกรรมนั้นๆ ลักษณะพฤติกรรมของการเสพติดก็คือ คนติดจะเอาอารมณ์เป็นใหญ่ อยู่เหนือเหตุผล เหมือนการติดบุหรี่ ติดเหล้า ...รู้ไหมว่ามันไม่ดี ก็รู้ทุกคนนั่นแหละ แต่ว่าความอยากมันอยู่เหนือเหตุผล
 
การเสพติดการเมืองก็แบบเดียวกัน เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกที่รุนแรงบ่อยๆ มันก็ติด แล้วถามว่า รู้ไหมว่าการใช้ความรุนแรงไม่ดี  มันก็รู้หรอก แต่ว่าพอถึงเวลาอารมณ์มันอยู่เหนือเหตุผล ฉะนั้นยิ่งนานไป ก็เป็นความเครียดและกลายเป็นอารมณ์รุนแรง ก็กลายเป็นเชื้อไฟของความรุนแรงในสังคมได้ดี
 
ที่เกิดขึ้น ในบ้านเราและร้ายแรงมากก็คือ การสื่อสารที่ให้คนรับไปแบบข้างเดียว ทีวี หรือ หนังสือพิมพ์ทั่วๆไป โดยระบบกฎเกณฑ์ก็ต้องให้ข้อมูลทั้งสองฟาก อาจจะเอียงบ้างนิดๆหน่อยๆ แต่ว่ามันไม่สามารถเอียงอย่างสุดโต่งสุดขั้วได้ แต่ตัวที่เป็นปัญหามาก ก็ที่เห็นๆกันอยู่
ทีวีเสื้อแดง
วิทยุเสื้อแดง
ทีวีเสื้อเหลือง
วิทยุเสื้อเหลือง
อย่างนี้มันเหมือนไฮด์ปาร์กกันได้ทุกวัน เติมอารมณ์ที่รุนแรงเข้าไปทุกวัน สร้างความเกลียดชังทุกวัน
 
ขืนฟังทุกวันจะเสพติดไม่รู้ตัว
ใช่ มันไม่จัดเป็นสาระน้ำเสียงมันเป็นเรื่องของอารมณ์
 สร้างความรู้สึกสงสารพวกเดียวกัน
แล้วสร้างความรู้สึกเกลียดชังอีกฝ่าย
 ต่างคนต่างใส่ไฟกัน
ก็จะยกเรื่องที่เร้าความรู้สึก
ยกความเลว ความไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาตลอดเวลา
ฉะนั้น สื่อที่ให้ข้อมูลด้านอารมณ์ตลอดเวลา จึงมีผลอย่างมากต่อการสร้างความตึงเครียดทางอารมณ์ขึ้น
 
ถึงไม่อยู่ในม็อบ ก็ยังตามไปปลุกกระแสถึงบ้าน
อาจเป็นสื่อท้องถิ่น แล้วก็สื่อแบบปากต่อปาก ตัวนี้ก็มีผล กรมสุขภาพจิตเคยไปศึกษาพฤติกรรมในช่วงที่มีการเผชิญหน้าทางการเมืองสูง ก็จะพบพฤติกรรมคือ
หนึ่ง
เปิดรับสื่อช่องเดียว ทีวี วิทยุ ก็เปิดอยู่ช่องเดียว
สอง
วงพูดคุย ก็จะไม่ใช่วงคุยการเมืองกัน ที่จะรับฟังข้อมูลข่าวสารรอบด้าน
และถ้าใครมีข้อมูลที่ต่างออกไป นำมาเล่าก็จะเป็นที่น่าชื่นชม ที่เอาประเด็นใหม่ๆ ข่าวใหม่ๆ มาคุยกัน คือจากจุดยืนที่ต้องการข้อมูลหลายด้าน พอถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้าทางการเมืองสูง วงมันไม่ใช่อย่างนี้ ที่เห็นได้ชัด ก็เช่นตามร้านเสริมสวย จะแบ่งแยกกันเลย ร้านนี้พวกเสื้อแดง เขาก็จะคุยข้อมูลด้านเดียว ใส่สีตีไข่กันหนักเลย ร้านก๋วยเตี๋ยว ก็มีร้านก๋วยเตี๋ยวเสื้อเหลือง เขาก็จะคุยกัน คือคนที่มีความเห็นตรงกันข้ามจะเข้าไม่ได้ มันจะไม่เหมือนกับวงน้ำชาในภาคใต้ หรือวงพูดคุยกันในภาคเหนือที่เอาข้อมูลที่แตกต่างมาแชร์กัน
 
 (แต่เดี๋ยวนี้ภาคเหนือเริ่มเปลี่ยนไปแล้วครับ วัฒนธรรมสังคมตรงนี้ไม่ได้มีลักษณะคงที่ตามข้อมูลที่คุณหมออ้างมา เปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ที่ผมรู้ๆก็คือ  บางพื้นที่ทางสังคมแม้แต่คนที่แสดงตัวไม่เอาไม่เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็เข้าไปในกลุ่มของเขาไม่ได้เหมือนกัน เพราะทำให้เขาระแวงว่าเป็นสายลับของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ก็มองเป็นตัวตลกเป็นคนไม่เอาไหน ในขณะที่คนเขาเลือกข้างกันทั้งเมือง - ถนอม ไชยวงษ์แก้ว)
 
คือไม่เหมือนสภากาแฟที่เราตั้งวงกันอยู่ทุกเช้า
ซึ่งตัวนี้ก็เป็นการสื่อสารข้างเดียวเหมือนกัน และก็ทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง
 
ในทางจิตวิทยามีลำดับขั้นหรือไม่ว่า เกินจากนี้ไปถือว่าผิดปกติแล้ว
มีสัญญาณอยู่หลายข้อ ที่เห็นชัดๆ ก็คือว่า เรารับข่าวสารด้านเดียววันละหลายๆชั่วโมง มันก็จะทำให้วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนแล้ว ไม่เป็นอันทำงานอื่น กลางคืนก็ต้องนอนหลับพักผ่อนใช่ไหม แต่มันกลายเป็นว่าจิตใจไปหมกมุ่นอยู่กับข้อมูลทางการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าเป็นมากแล้ว สอง ก็คือ ไม่สามารถฟังข้อมูลที่แตกต่างได้ พูดง่ายๆอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
เมื่อคุยกันฉันเพื่อนฝูงแล้ว
เกิดมีบางคนเห็นต่าง
ลูกเมียเห็นต่างออกไป
ก็จะโมโหโทโส หาว่าเขางี่เง่าอะไรแบบนี้
การใช้เวลากับข้อมูลข่าวสารมากเกินไป ใช้เวลากับกิจกรรมทางการเมืองมากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ นี่เป็นอาการที่บ่งว่า มันอาจจะอยู่เหนือเหตุผลแล้ว
 
ถ้ามาก กี่ชั่วโมงต่อวันถึงจะบอกว่ามาก
พฤติกรรมเสพติดที่บอกว่าแย่แล้ว ก็คือการทำติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมงขึ้นไป ติดอินเตอร์เน็ต ติดข้อมูลด้านเซ็กซ์ เล่นการพนัน หรือติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง คือไม่ใช่พอเลย 3 ชั่วโมงแล้ว คือติดเลย แต่หมายความว่าเข้าสู่พรมแดนการหมกมุ่นมากเกินไป อยู่หน้าอินเตอร์เน็ต เล่นการพนัน ช็อปปิ้ง สามสี่ชั่วโมง ไม่พักกินข้าวกินน้ำ ไม่พักผ่อน คนที่ติดแล้ว เขาจะมากกว่านั้นเยอะ คือ 5 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง ก็อยู่ได้
 
ถ้าติดขึ้นมาจริงๆ นี่พอจะมีทางรักษาไหม
มีทั้งการป้องกัน และการรักษา แต่เสพติดทางการเมือง มันไม่ได้มียา แต่เป็นเรื่องที่โยงเข้ากับเหตุการณ์ เช่นถ้าบรรยากาศทางการเมืองรุนแรง มีการชุมนุมและถ่ายทอดไฮด์ปาร์กออกไป การเสพติดมันก็จะรุนแรง พอสถานการณ์คลี่คลาย ทีวีไม่ได้ถ่ายทอดไฮปาร์ก 24 ชั่วโมง เริ่มมีรายการหลากหลาย คนก็จะสงบลง เพราะฉะนั้นสถานการณ์จึงมีผล และตัวคนเองก็ได้รับบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น คือเราอยู่ในสังคมเปิด เมื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เห็นข้อมูลหลากหลาย มันก็จะไม่เครียด ไม่เหมือนกับภาวะที่ว่า เราไม่มีทางเลือก ไม่เหมือนติดการพนัน ติดเหล้า อย่างนั้นมันไม่มีทางเลือก ติดพนันก็ต้องเล่น ติดเหล้ามันก็ต้องกินเหล้า แต่ว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนี่ มันมีโอกาสที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารอื่นๆได้
 
เราได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแล้ว ถือว่าลดความเครียดลงหรือไม่ เท่าที่เห็นมีคนรับไม่ได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาตอนน้ำท่วม มีการไประบายทางโซเชียลมีเดียอะไรต่างๆ บางคนบอกว่า แค่เห็นออกมาสัมภาษณ์ก็ปิดทีวีเลย
คือยังมีคนที่มีความรู้สึกทางการเมืองที่รุนแรงอยู่ ก็จะมีคนที่ฝังใจอยู่ในโลกของข้อมูลด้านเดียว ยังไม่เอาตัวเองออกจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ไอ้โซเชียลเน็ตเวิร์คนี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้สึกที่รุนแรงด้วย เพราะมันไม่ต้องบอกว่าเราเป็นใครมานัก หรือบอกก็บอกแบบไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ใส่กันได้เต็มที่ แต่ในการที่จะออกมาจากความเครียด หรือความรู้สึกที่รุนแรงต่อการเมือง ก็ต้องกลับมาอยู่โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น เช่นอ่านหนังสือพิมพ์ทั่วๆไป คือแม้จะมีเอียงๆหน่อย แต่ก็จะมีคอลัมนิสต์ที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ใช่ไหม ก็จะทำให้เขาได้รับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย
 
ดูเหมือนว่าในระหว่างที่เกิดวิกฤติน้ำท่วม มีคนบอกว่าทนดูข่าวไม่ได้ ทั้งๆที่อยากจะติดตามเหตุการณ์ เพราะกลัวจะไปเจอนายกฯ อย่างนี้เขากำลังมีปัญหาหรือเปล่า
แบบนี้มันคงไม่ใช่เรื่องของอารมณ์เครียดทางการเมือง แต่ว่าเป็นความรู้สึกของความผิดหวัง หรือความไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่า ซึ่งอันนี้เป็นระดับทางอารมณ์ที่ต่ำกว่าเยอะ คนที่มีความรู้สึกรุนแรงนี่ ถ้าเขาไม่พอใจแล้ว ก็จะไปแสวงหาข้อมูลอีกด้านที่ช่วยย้ำเตือนความเชื่อมั่นของเขาว่า ไอ้นี่มันแย่จริงๆ
 
 แต่ในโลกที่เป็นจริง คนเราก็มีทั้งด้านดีและด้านแย่ ไม่มีใครดีหมด หรือแย่หมดใช่ไหม เพราะฉะนั้นธรรมชาติของคนที่ฟังข้อมูลข่าวสารทั้งสองด้าน ก็จะมีส่วนทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
 
ยกตัวอย่างกรณีเรื่องบ่อนการพนัน ที่มีการเปิดประเด็นตั้งบ่อนกาสิโนที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็เกิดการถกเถียงกัน ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็บอกเองว่า ยังไม่มีนโยบาย คนทั่วไปก็อาจยอมรับได้ แต่คนที่เกลียดก็จะบอกว่า มันก็อยากจะตั้งบ่อนแน่นอน แต่พอเห็นคนคัดค้าน มันก็คงหมกเม็ดเอาไว้ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็คงตั้ง อะไรอย่างนี้
 
มันจะแตกต่างกัน คือเขาไม่มีความเห็นในแบบสามารถที่จะยอมรับได้เลย ทั้งหมดจะต้องไปทางเดียวเป็น all good all bad ถึงแม้เขาจะมีอะไรที่ good ก็ตีความว่ามัน bad ใช่ไหม ไอ้ความรู้สึก all good al bad นี่เองที่เป็นลักษณะสำคัญของความตึงเครียดทางการเมืองสูง ถึงแม้ว่าเขาจะทำอะไร good มันก็จะถูกตีความว่า bad อยู่ดี
.............
 
ครับ
ผมขอนำเสนอบทสัมภาษณ์คุณหมอยงยุทธพอหอมปากหอมคอเพียงแค่นี้ ท่านที่สนใจอยากอ่านต่อลองไปหานิตยสารค.คน ฉบับเดือนกุมภามาอ่านดู ขอบคุณ - ขอบคุณ คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่อธิบายเรื่องนี้ให้ผมได้เข้าใจอะไรๆมากมายหลายแง่มุมจนสว่างไสว เช่นเดียวกับ คุณกฤษกร วงศ์วรวุฒิ ที่สามารถตั้งคำถามแทบทุกประเด็นที่อยู่ในใจผม และผมเชื่อว่า นอกจากผมแล้ว ยังมีใครต่อใครอีกหลายคนที่มีคำถามอยู่ในใจเช่นเดียวกับผม ที่ไม่สามารถตอบตัวเองได้ และก็ไม่รู้จะไปถามหาคำตอบที่น่าพอใจจากใคร เช่นคำตอบที่ได้รับจากคุณหมอยงยุทธ
 
 และที่ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถูกคนเข้าไปดักทำร้ายถึงธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 55 ถ้าสาเหตุเป็นเรื่องเดียวกันกับความขัดแย้งความคิดทางการเมือง ที่อาจารย์เคยถูกเผาหุ่นมาก่อน มันย่อมมาจากคนที่มีอารมณ์และความคิดแบบ all good all bad ที่ผิดหวังเพราะไม่อาจใช้เหตุผลยับยั้งความเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ได้ ถ้าหากไม่ได้เกิด - จากอาการภายในของตัวเขาเอง เขาก็คงถูกใช้มาจาก all good all bad ที่รุนแรงและใหญ่โตคับฟ้าเลยทีดียว เพราะหลังจากชกอาจารย์วรเจตน์จนแว่นตาแตกและล้มลง ก่อนจะขับมอร์เตอร์ไซค์หนีออกไป ยังกล่าวคำท้าทายเยาะเย้ยเอาไว้อย่างน่าขนลุกว่า
ถ้ามึงอยากรู้ว่ากูเป็นใคร ดูเอาจากกล้องวงจรปิดก็แล้วกัน
เมืองไทยเรานี่ น่ากลัวจริงๆนะครับ.
 
1 มีนาคม 2555
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

ความเห็น

Submitted by ดงก๋ำ on

สภาพของสังคมและการเมืองไทยตอนนี้
ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ของรัสเซีย
Night Watch กับ Day Watch
ความเชื่อทางการเมืองในเมืองไทยเรานั้น
มันเหมือนกับอยู่กันคนละโลก
โลกของกลางวันและโลกของกลางคืน

อันที่จริงชีวิตคนเรานั้นต้องอยู่อย่างสลับไปมา
ระหว่างกลางคืนกับกลางวัน ระหว่างความมืดกับความสว่าง
ดีบ้างไม่ดีบ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง สลับกันไป
แต่สังคมเราเหมือนกำลังต้องการให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดไป
คนชอบกลางคืนก็ปฏิเสธกลางวัน คนชอบกลางวันก็ปฏิเสธกลางคืน
คนในสังคมยุคใหม่กำลังทำอะไรตามใจตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า

ความสุดกู่แห่งความเชื่อเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคม
คนในโลกต้องทะเลาะกัน ฆ่ากัน ทำสงครามกัน ก็เพราะความเชื่อ
ต่างศาสนากันก็ต้องฆ่ากัน เพราะเชื่อไม่เหมือนกัน อย่างสงครามครูเสดนั่นปะไร
ความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนกัน ก็ต้องทำสงครามกัน อย่างในยุคที่สังคมนิยมเฟื่องฟู
เมืองไทยเราก็คงจะต้องรบราฆ่าฟันกัน เพราะความเชื่อทางการเมืองต่างกัน

คนเรามันก็แปลกนะครับ เวลาเชื่ออะไรกันแล้ว มันยากที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อกันได้
อย่างคนไทยเรานับถือผีมาเป็นพันๆปี พอมีพระเข้ามาก็นับถือทั้งพระทั้งผีนั่นแหละ
บางคนเขาก็นับถือทุกพระ ไม่ว่าพระนั้นจะมาจากศาสนาไหน แค่มีชื่อขึ้นต้นด้วยพระก็นับถือหมด

วันดีคืนดีอาจจะมีคนไปขอตักบาตรกับท่านบาทหลวงนะครับ
ก็เพราะชื่อท่านบาทหลวงไง ก็เลยคิดว่าท่านน่าจะมีบาตรอันใหญ่ๆตามชื่อท่านนะครับ

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

ดงก๋ำ ผมนึกไม่ออก ว่าการเมืองที่ข้ดแย้งกันอย่างเ้ข็มข้นนี้ จะคลี่คลายโดยปราศจากความรุนแรงโดยไม่เสียเลือเนื้อและชีวิตของผู้คน หรือแตกหักแบบน่าเศร้าดังเช่นที่ผ่านมาหมาดๆหรือเปล่า หากความเชื่อเป็นเช่นนี้ ได้อ่านกวีท่านอาวุโสหนึ่ง เขียนกวีในเชิงปฏิเสธทั้งระบอบเผด็จการทหาร พลเรือน แลระบอบประชาธิปไตยแบบนายทุน ที่ท่านเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ (ซึ่งผมมองว่าเราปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนเขามาเล่นการเมืองเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าการเมืองท้องถิ่นหรือการเมืองระดับชาติ ต้องมีเงินถุงเงินถังกันทั้งนั้น ซึ่งก็มีแต่คนชั้นนายทุนทั้งนั้น ที่มีสิทธิ์และมีโอกาสที่จะเข้าไปนั่งในรัฐสภา) ผมยิ่งงงใหญ่ เพราะนึกไม่ออกว่าท่านจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะท่านไม่ได้บอกว่าอย่างไหนดี (หรือท่านเองก็ไม่รู้) ผมก็เลยได้แต่งง และเฝ้ารอดู ว่ากันว่าเดือนเมษายนนี้ อุณหภูมิทางการเมืองจะขึ้นถึงจุดที่น่าสะพรึงกลัว ผมจะพยายามหาดูหนังที่คุณว่า ขอบคุณครับ

Submitted by ดงก๋ำ on

ผมเห็นด้วยกับคุณถนอมนะครับ ว่าคนที่จะเล่นการเมืองได้ต้องเป็นนายทุน

บ้านเรามันมีความไม่ปรกติของการรณรงค์ ให้เกิดความเชื่อแบบแปลกๆในทางการเมือง
ถ้าถูกแบ่งเป็นแค่ชอบพรรคการเมืองนี้พรรคการเมืองนั้น มันก็ยังไม่ผิดปรกติแต่อย่างใด
แต่ไอ้ประเภทสร้างความเชื่อที่ว่า นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งเลวกันหมด...
อันนี้แหละครับที่มันดูผิดปรกติ...จุดประสงค์คืออะไร?...จะไม่ให้เลือกตั้งแล้วใช่ไหม?
...ต่อไปต้องเป็นนักการเมืองฟ้าประทานเท่านั้นถึงจะดีอย่างนั้นหรือ?

การจะหาเสียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักมันต้องใช้เงิน
แล้วถ้าไม่มีเงินจะไปหาเสียงกันวิธีไหน จะสื่อสารกับผู้คนอย่างไร
ความดีและความเลวของแต่ละคนในแผ่นดินนี้ ล้วนมาจากการโฆษณาทั้งนั้น
บางคนทำดีมาตลอดชีวิต แต่หากไม่มีการโฆษณาแล้วก็ไม่มีทางที่คนอื่นจะรับรู้ได้

แล้วเราจะหาคนเก่งและดีมาบริหารประเทศกันด้วยวิธีไหนกันละครับ?
มันเป็นปัญหาโลกแตกที่ยากมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบใด
สิ่งที่น่าจะดีที่สุด ก็คือการปกครองในลักษณะที่มีวาระของอำนาจ
มีโอกาสเปลี่ยนผู้บริหาร และเปลี่ยนองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอำนาจได้เมื่อถึงวาระ

สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคืออำนาจชั่วนิรันดร์ ที่ไม่มีวาระของอำนาจให้เลือกอีกแล้ว
ผมกลัวเป็นเหมือนเกาหลีเหนือ ตำแหน่งสูงสุดของประเทศเขามอบให้แก่คนที่ตายแล้ว
ลูกหลานของคนที่ตายแล้ว ก็จะครองอำนาจบริหารประเทศตลอดไปตราบนานเท่านาน
จนกว่าประชาชนเกาหลีเหนือจะตาสว่างแล้วลุกฮืออย่างพร้อมเพรียง
ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้...เพราะไม่มีคนกล้าเป่านกหวีด

คนที่กล้าจะเป่านกหวีด ก็คงต้องกล้าที่จะเผชิญกับชะตากรรมที่จะต้องมีอันเป็นไป

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

ดงกำ๋ ผมเข้าใจว่าวาทกรรมผลิตซ้ำที่เราได้ฟังมาตั้งแต่เป็นเด็กๆว่า นักการเมืองเลว ด้วยถ้อยคำต่างๆ มันน่าจะมาจากคนที่หวาดกลัวระบอบประชาธิปไตยจะเติบโตในบ้านเมืองของเรา นั่นเอง

ที่ผมงงๆที่ท่านกวีอาวุโสปฏิเสธระบอบทุน และเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ ผมมองว่ามันเป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ และเราต้องปรับตัวปรับใจยอมรับ อย่างน้อยก็ดีกว่าเผด็จการทหาร ที่ใครจะไปต่อรองอะไรไม่ได้เลย ผมมาคิดดูอีกที ผมเข้าใจว่าท่าน "คงอยากได้รัฐบาลจัดตั้ง" โดยคัดเลือกจากคนกลุ่มน้อยที่ถือเขาว่าเป็นคนมีคุณภาพ เพื่อกำจัดมิให้ชนชั้นนายทุนเข้ามาบริหารประเทศ นั่นเอง

ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่รู้ว่า รัฐบาลจัดตั้งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลนายทุนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไหนดีกว่ากันสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าเล่นคิดจะครองอำนาจแบบชั่วนิรันดร์ ก็คงไม่ใครเขาเอาด้วย (นอกจากพวกเขา) ขอบคุณครับ