Skip to main content

 

เสียงปี่ผสมเสียงซึงดังขึ้น 
รับกับเสียงผู้ขับซอ   เสียงปีและซึงผสมกลมกลืนมีทั้งหวานแหลมและนุ่มนวล   ก่อเกิดบรรยากาศความเป็นชาวเหนือขึ้นมาทันที   ผู้ขับซอชายนั่งขัดสมาธิ มือถือไมโครโฟนไร้สาย ผู้หญิงนั่งพับเพียบเคียงกัน หันหน้าอวดผู้ชม   ยามผู้ชายขับซอ   ผู้หญิงเอียงตัวไปมา มือไม้ขยับรับเสียงดนตรี   ทำนองดนตรีนั้นเนาวรัตน์ฟังไม่ออก เป็นเพลงอะไร สมัยเด็กๆเขาเข้าใจว่า คนเป่าปี่และคนดีดซึง คงเล่นเพลงเดียวตลอดงาน เพราะฟังทีไรก็เหมือนเดิมทุกที วันนี้เนาวรัตน์ได้ชมการขับซอเป็นครั้งแรกด้วยวัยที่สูงขึ้น เนื้อหาการขับซอ คล้ายเป็นคำพูดภาษาเหนือที่ใส่ทำนองเข้าไป มีคำคล้องจองสัมผัสกัน กล่าวถึงความดีของการบวช พูดถึงวัฒนธรรม ประเพณี เรื่องเพศ ที่น่าสังเกตผู้ขับซอหญิง เสียงจะแหลมสูงมาก   คำร้องชัดเจน เสียงไม่มีตก 

เอ่ยถึงเรื่องนี้ ทำให้เนาวรัตน์อดนึกถึงการเดินทาง ไปพูดคุยกับผู้ขับซออาวุโส ผู้เป็นต้นแบบการขับซอพื้นเมือง ชื่อคุณแม่จันทร์สม สายธารา เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2553  ที่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 2 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ การพูดคุยเริ่มขึ้นหลังจากเนาวรัตน์ยกมือไหว้และแนะนำตัว ตอนแรกเขาจะนั่งที่เสื่อ
   ส่วนแม่จันทร์สมนั่งบนเก้าอี้นวม   มีพัดลมชนิดตั้งวางพื้นเป่าระบายความร้อน   ท่านไม่ยอมบอกให้ขึ้นมานั่งด้วยกัน ทั้งสองพูดคุยกันที่หน้าบ้านนั่นเอง ส่วนภรรยาเนาวรัตน์นั่งพับเพียบที่เสื่อตรงพื้นหน้าบ้าน หน้าแม่จันทร์สม ก็เหมาะสมดีสำหรับผู้หญิง

“ แม่ครับ   ผมสนใจเรื่องซอพื้นเมือง อยากมาหาความรู้กับแม่ แม่เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2539 ใช่ไหมครับ ?
“ ใช่ !   แม่ได้ศิลปินแห่งชาติ ปี 2539   ได้หลังครูคำผาย นุปิง
“ ผมค้นจากอินเตอร์เน็ต ทราบว่า พ่อครูคำผาย นุปิง ได้ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2538 ก่อนแม่ครูจันทร์สมปีหนึ่ง ใช่ไหมครับ ?”
“ ใช่ๆ !   พ่อครูคำผายบอกแม่ว่า เปิ้นได้ศิลปินแห่งชาติก่อน ต่อไปแม่ก็จะได้ศิลปินแห่งชาติ ประเภทเพลงพื้นบ้าน-ขับซอ เพราะเปิ้นจะให้เป็นคู่   เรา 2 คนเป็น “คู่ถ้อง”กัน

“ เอ่อ ! แม่ครับ “คู่ถ้อง” เป็นยังไงครับ ?”
“ หมายถึง   เราซอคู่กัน โต้ตอบกันไปมา ระหว่างแม่กับพ่อครูคำผาย...ศิลปินแห่งชาติประเภทขับซอ   เขาจะให้รางวัลทั้งสองคน ถ้าไม่มีคู่ถ้องที่เล่นด้วยกันนานๆ จะไม่ได้รับรางวัลนี้
“ ขอโทษครับแม่ ปัจจุบันแม่อายุเท่าไรครับ ?”
“ แม่อายุได้ 78 ปีแล้ว   เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475  แม่เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด.”
“ เดี๋ยวนี้   แม่รับใครเป็นลูกศิษย์ สอนการขับซอให้บ้างครับ ?
“ เดี๋ยวนี้ แม่เลิกสอนแล้ว กรรมการที่ตัดสินศิลปินแห่งชาติบอกแม่ว่า   พักผ่อนได้แล้ว ใครอยากเรียนซอ   ให้ไปเรียนกับลูกศิษย์แม่ก็แล้วกัน.
“ หมายความว่า   แม่มีลูกศิษย์หลายรุ่น   หลายคน   ทั้งหมดสักกี่คนครับ ?
“ มีหลายรุ่น   มีทั้งหมด 30 กว่าคน   มีชื่อเสียงกันหมดแล้ว เช่น   ไอ้เก๋า   อีต่อม.
“ สองคนหลังนี้ดังนะครับแม่ ผมได้ยินชื่อเสมอมา…เอ้อ ! แม่ครับ ในความเห็นของแม่ แม่จะให้ลูกหลานรุ่นต่อไป ได้สืบสานอนุรักษ์การขับซอ ให้อยู่คู่คนเหนืออย่างไร?
“ แม่จัดรายการวิทยุ “มรดกเมืองเมืองเหนือ” ที่สถานีวิทยุ สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกวันพุธ เป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน อย่างซอพื้นเมืองไว้.
 
 

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง