เสียงซอฤาจะสูญสิ้น(4)

 

เสียงปี่ผสมเสียงซึงดังขึ้น 
รับกับเสียงผู้ขับซอ   เสียงปีและซึงผสมกลมกลืนมีทั้งหวานแหลมและนุ่มนวล   ก่อเกิดบรรยากาศความเป็นชาวเหนือขึ้นมาทันที   ผู้ขับซอชายนั่งขัดสมาธิ มือถือไมโครโฟนไร้สาย ผู้หญิงนั่งพับเพียบเคียงกัน หันหน้าอวดผู้ชม   ยามผู้ชายขับซอ   ผู้หญิงเอียงตัวไปมา มือไม้ขยับรับเสียงดนตรี   ทำนองดนตรีนั้นเนาวรัตน์ฟังไม่ออก เป็นเพลงอะไร สมัยเด็กๆเขาเข้าใจว่า คนเป่าปี่และคนดีดซึง คงเล่นเพลงเดียวตลอดงาน เพราะฟังทีไรก็เหมือนเดิมทุกที วันนี้เนาวรัตน์ได้ชมการขับซอเป็นครั้งแรกด้วยวัยที่สูงขึ้น เนื้อหาการขับซอ คล้ายเป็นคำพูดภาษาเหนือที่ใส่ทำนองเข้าไป มีคำคล้องจองสัมผัสกัน กล่าวถึงความดีของการบวช พูดถึงวัฒนธรรม ประเพณี เรื่องเพศ ที่น่าสังเกตผู้ขับซอหญิง เสียงจะแหลมสูงมาก   คำร้องชัดเจน เสียงไม่มีตก 

เอ่ยถึงเรื่องนี้ ทำให้เนาวรัตน์อดนึกถึงการเดินทาง ไปพูดคุยกับผู้ขับซออาวุโส ผู้เป็นต้นแบบการขับซอพื้นเมือง ชื่อคุณแม่จันทร์สม สายธารา เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2553  ที่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 2 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ การพูดคุยเริ่มขึ้นหลังจากเนาวรัตน์ยกมือไหว้และแนะนำตัว ตอนแรกเขาจะนั่งที่เสื่อ

   ส่วนแม่จันทร์สมนั่งบนเก้าอี้นวม   มีพัดลมชนิดตั้งวางพื้นเป่าระบายความร้อน   ท่านไม่ยอมบอกให้ขึ้นมานั่งด้วยกัน ทั้งสองพูดคุยกันที่หน้าบ้านนั่นเอง ส่วนภรรยาเนาวรัตน์นั่งพับเพียบที่เสื่อตรงพื้นหน้าบ้าน หน้าแม่จันทร์สม ก็เหมาะสมดีสำหรับผู้หญิง

“ แม่ครับ   ผมสนใจเรื่องซอพื้นเมือง อยากมาหาความรู้กับแม่ แม่เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2539 ใช่ไหมครับ ?
“ ใช่ !   แม่ได้ศิลปินแห่งชาติ ปี 2539   ได้หลังครูคำผาย นุปิง
“ ผมค้นจากอินเตอร์เน็ต ทราบว่า พ่อครูคำผาย นุปิง ได้ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2538 ก่อนแม่ครูจันทร์สมปีหนึ่ง ใช่ไหมครับ ?”
“ ใช่ๆ !   พ่อครูคำผายบอกแม่ว่า เปิ้นได้ศิลปินแห่งชาติก่อน ต่อไปแม่ก็จะได้ศิลปินแห่งชาติ ประเภทเพลงพื้นบ้าน-ขับซอ เพราะเปิ้นจะให้เป็นคู่   เรา 2 คนเป็น “คู่ถ้อง”กัน

“ เอ่อ ! แม่ครับ “คู่ถ้อง” เป็นยังไงครับ ?”
“ หมายถึง   เราซอคู่กัน โต้ตอบกันไปมา ระหว่างแม่กับพ่อครูคำผาย...ศิลปินแห่งชาติประเภทขับซอ   เขาจะให้รางวัลทั้งสองคน ถ้าไม่มีคู่ถ้องที่เล่นด้วยกันนานๆ จะไม่ได้รับรางวัลนี้
“ ขอโทษครับแม่ ปัจจุบันแม่อายุเท่าไรครับ ?”
“ แม่อายุได้ 78 ปีแล้ว   เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475  แม่เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด.”
“ เดี๋ยวนี้   แม่รับใครเป็นลูกศิษย์ สอนการขับซอให้บ้างครับ ?
“ เดี๋ยวนี้ แม่เลิกสอนแล้ว กรรมการที่ตัดสินศิลปินแห่งชาติบอกแม่ว่า   พักผ่อนได้แล้ว ใครอยากเรียนซอ   ให้ไปเรียนกับลูกศิษย์แม่ก็แล้วกัน.
“ หมายความว่า   แม่มีลูกศิษย์หลายรุ่น   หลายคน   ทั้งหมดสักกี่คนครับ ?
“ มีหลายรุ่น   มีทั้งหมด 30 กว่าคน   มีชื่อเสียงกันหมดแล้ว เช่น   ไอ้เก๋า   อีต่อม.
“ สองคนหลังนี้ดังนะครับแม่ ผมได้ยินชื่อเสมอมา…เอ้อ ! แม่ครับ ในความเห็นของแม่ แม่จะให้ลูกหลานรุ่นต่อไป ได้สืบสานอนุรักษ์การขับซอ ให้อยู่คู่คนเหนืออย่างไร?
“ แม่จัดรายการวิทยุ “มรดกเมืองเมืองเหนือ” ที่สถานีวิทยุ สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกวันพุธ เป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน อย่างซอพื้นเมืองไว้.
 
 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

คงจะเป็น "อี่ต่วม" ซึ่งเป็นคนอำเภอพร้าว
(ไม่ใช่อี่ต่อม...คงจะพิมพ์ผิดกระมังครับ)
ป่านนี้อายุท่านคงจะเลยวัยเกษียณแล้วเช่นกัน

Submitted by ถนอมรัก เดือนเต็มดวง on

คุณ น้ำลัดครับ แม่จันทร์สมบอกถูก ผมฟังผิดและพิมพ์ผิดครับ...ข้าฯผู้เฒ่าผิดไปแล้วสมควรตายร้อยครั้ง แต่ครั้งนี้ขอเว้นไว้ก่อนเถิด. ขอบคุณแต้ๆครับที่ทักท้วงครับ.

Submitted by น้ำลัด on

ขอสุมาเต๊อะครับ...ผมไม่ได้หมายถึงอายุของคุณถนอมรักนะครับ
ผมหมายถึงอายุของศิลปินซอ ท่านที่ใช้ชื่อ "อี่ต่วม" ครับ

http://www.sri.cmu.ac.th/~maeyinglanna/main2/main35.php
อ้างถึงข้อมูลจากเวปไซต์ข้างบนนี้ ก็เท่ากับว่าศิลปินท่านนี้มีอายุ 64 ปีแล้ว
...
นางสุจิตรา คำขัติย์ หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า อี่ต่วม เกิดเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ.2590 ที่บ้านทุ่งแดง ตำบลดงหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายคำ – นางสุจา คำขัติย์
มีพี่น้อง 7 คน แต่งงานแล้วมีบุตร 2 คน ปัจจุบันอยู่ที่หมู่บ้านเชียงใหม่แกรนด์วิว ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053- 805166 , 09-8541729
...

ส่วนศิลปินท่านที่ใช้ชื่อ "ไอ่เก๋า" นั้นท่านเสียชีวิตเมื่อปลายปีที่แล้วที่อำเภอหางดง
(เจอเรื่องในเวปไหนก็จำไม่ได้แล้วครับ)

ตอนคุณถนอมรักเป็นคุณครูสอนหนังสือ อาจจะไม่มีเวลามาสัมผัสการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้ จึงไม่มีโอกาสได้ยินชื่อศิลปินท่านนี้มาก่อน ผมว่าถ้าเทียบกับศิลปินระดับประเทศก็คงต้องเทียบกับ ล้อต๊อก-ชูศรี นั่นแหละครับ คือสองท่านนี้เป็นศิลปินซอแนวตลกขบขัน จึงใช้ชื่ิอแบบนั้นครับ

Submitted by แสงดาว ศรัทธามั่น on

ตอนอ้ายเป็นครูบ้านนอกสอนที่โรงเรียนบ้านสันผักหวาน อ้ายก็ได้เคยรู้จัก "อ้ายเก๋า - อี่ต่วม" เพราะบ้านเปิ้นอยู่ที่บ้านต้นงิ้ว ใกล้กับบ้านสันผักหวาน แต่ทั้งสองบ้านอยู่ตำบลเดียวกียวกัน คือตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง เชียงใหม่ อ้ายโจกดีได้ฟังเปิ้นซอม่วนตวย ซอม่วน ตลก คนฮาตรืม ... เพิ่งฮู้จากอ้ายน้ำลัดนี่แหละ ที่ว่าอ้ายเก๋ากลับคืนสู่ดินไปแล้ว ขอบคุณ ยิ๊นดีคับ ตี้บอกข่าว

Submitted by ถนอมรัก เดือนเต็มดวง on

คุณ น้ำลัดครับ ขอบคุณครับ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เป็นประโยชน์มากเลย ผมบ่ได้โกรธอะหยังคุณน้ำลัดเลย พิมพ์ข้อความาสูมา
ทำให้ผมตกใจนะ.

ล้านนาในอ้อมแขนแห่งขุนเขา(7)


                                                                                                                ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง