บรรทัดทองแห่งชีวิต หมู่บ้าน วัด บอกเรื่องราวอันใด(1)


ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง

 

อาศัยอยู่บ้านทุ่งแป้ง
ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ย่างเข้าปีที่ห้า ตรงกับ พ.ศ.2555 ปลูกบ้านไม้สักใต้ถุนโล่งข้างวัดทุ่งแป้ง(วัดมงคล) ห่างวัดแค่ถนนลาดยางคั่น ชื่อหมู่บ้านน่าฉงนว่า “ทุ่งแป้ง” ทุ่งนาหน้าบ้านมีพื้นที่นาเหลือเพียง 11 ไร่เศษ ไม่พบแป้งสักกิโลเดียว ผมเกิดความสงสัยอยากรู้ ไม่มีเอกสารหลักฐานอื่นใดให้ค้นหา จึงใช้วิธีสอบถามคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้าน ถามเหตุการณ์ย้อนรอยถอยหลังจากปัจจุบันให้ไกลที่สุด ได้คำตอบ 3 แนวทาง
         
แนวทางแรก ก่อนนั้นบ้านทุ่งแป้งแห้งแล้งมาก ไม่มีร่องน้ำระบายสู่ทุ่ง ดินขาวราวกับแป้ง
จึงเรียกชื่อว่าบ้านทุ่งแป้ง บ้านทุ่งแป้งอยู่ฝั่งตะวันออกน้ำแม่ขาน เดิมมีบ้านเรือนราว 60 หลังคา บ้านสบอาวอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำแม่ขานมีราว 30 หลังคา ทั้งสองหมู่บ้านอยู่ตรงข้ามกัน โดยมีน้ำแม่ขานไหลผ่ากลาง เป็นเรื่องราวเล่าขานนานกว่า 601 ปีมาแล้ว ประมาณ พ.ศ.2495
          
แนวทางที่สอง บ้านทุ่งแป้งมีพื้นที่นาตั้งแต่หัวขัว(สะพาน)แม่ขาน เลียบขึ้นเหนือตามลำน้ำแม่ขาน ชื่อว่าทุ่งแป้งเพราะมีการปั้นแป้งเหล้าแล้วนำไปตากแดดที่กลางทุ่ง แป้งนี้จะนำมาคลุกข้าวเหนียว หมักไว้ในปี๊บหรือถังนาน 2-3 เดือน แล้วนำไปต้มในหม้อ ทำการกลั่นเป็นเหล้า
           
แนวทางที่สาม บ้านทุ่งแป้งนั้นเดิมมี 2 พี่น้อง ชื่อปู่โต้งกับย่าโต้ง มีอาชีพปั้นแป้งเหล้าขาย จึงเรียกทุ่งกว้างนี้ว่า “โต้งแป้ง” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ทุ่งแป้ง” ทั้งนี้เพราะ โต้ง” เป็นภาษาไทยพายัพ(คำเมือง) แปลเป็นภาษาไทยกลางว่า “ทุ่ง”

ปัญหาที่อยากรู้ต่อมา

เริ่มเป็นหมู่บ้านเมื่อใด ปี พ.ศ.เท่าไร ส่วนวัดนั้นสร้างเมื่อใด ระหว่างบ้านกับวัดสิ่งใดสร้างก่อน

มันน่าจะสร้างไล่เลี่ยกัน เราจะอาศัยอะไรเป็นจุดเริ่มต้นคลำหาปี พ.ศ.สร้างวัดสร้างหมู่บ้าน มองดูสิ่งก่อสร้างในวัด วิหารหลังกลางเป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่สุด สอบถามเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน(พ.ศ.2555) รวมทั้งสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ไล่เรียงลำดับเจ้าอาวาสถอยหลังจนถึงรูปที่สมญาว่า “ครูบาชมพู” ผู้เฒ่าบางคนว่า เจ้าอาวาสองค์นี้เป็นผู้สร้างวัด เจ้าอาวาสรูปถัดมาสมญา “ครูบาหย่อง”(เป็นทวดภรรยาผู้เขียน) พระดอนศักดิ์เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันกล่าวแย้งว่า เจ้าอาวาสรูปก่อนครูบาชมพูที่สร้างวัดน่าจะมีอีกหลายรูป การสืบค้นเส้นทางนี้จึงเริ่มสู่ทางตัน ผมกับเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเดินสนทนากันเข้าไปในวิหารหลังเก่าที่สุดของวัด ท่านชี้ให้ดูพระประธานและบอกว่าชื่อ “พระเจ้าเก้าตื้อ” เพียงได้ยินชื่อ แสงแห่งปัญญาเริ่มสว่างขึ้น ผมมองเห็นทางเดินทอดไปหาคำตอบ วิหารกับพระประธานน่าจะสร้างพร้อมกัน หรือไล่เลี่ยกัน หากว่าเราค้นหาประวัติการสร้างพระเจ้าเก้าตื้อในวิหารเบื้องหน้า ณ บัดนี้ได้กระจ่าง เราก็จะรู้ได้ว่า พระเจ้าเก้าตื้อสร้างโดยผู้ใด ในปี พ.ศ.เท่าใด จะทำให้เราทราบปีที่สร้างวิหารเก่าแก่ที่สุดของวัดโดยปริยาย และยังขยายความถึงปีที่สร้างวัดนี้ได้อีกด้วย.

                                    ...................................................................

 

 

 

 

 

ล้านนาในอ้อมแขนแห่งขุนเขา(7)


                                                                                                                ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง