บรรทัดทองแห่งชีวิต หมู่บ้าน วัด บอกเรื่องราวอันใด(2)

ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง

 

ผมสืบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
ได้ความว่า ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าเมืองแก้วหรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราชหรืออีกพระนามคือพระเจ้าติลกปนัดดาธิราชกษัตริย์รัชกาลที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ที่ครองอาณาจักรล้านนา ได้โปรดให้สร้างพระเจ้าเก้าตี้อองค์นี้ขึ้น ในปี พ.ศ.2048 จึงสำเร็จบริบูรณ์ องค์พระมีที่ต่อ 8 แห่ง และในปี พ.ศ.2052 จึงได้มีการชักพระพุทธรูปปฏิมากรองค์นี้ เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบุบผาราม(วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน)


      
ศาสตราจารย์สรัสวดี  อ๋องสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ล้านนา” หน้า 170 ระบุว่า “พญาแก้วได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คือ “พระเจ้าเก้าตื้อ” ในปี พ.ศ.2059 เมื่อเปิดหนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” เขียนโดย พระยาประชากิจกรจักร ในหน้า 158 ระบุว่า พระเมืองแก้วประสูติ พ.ศ.2026 สวรรคต พ.ศ.2069 เมื่อพระชนมายุ 43 ปี และเปิดลำดับกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ในภาคผนวกหนังสือ “ประวัติศาสตร์ล้านนา” ของศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ปรากฏว่า พญาแก้ว (พระเมืองแก้ว)ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2038-2068

จึงกล่าวสรุปได้ว่า พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอกในปัจจุบัน สร้างในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว(หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แห่งราชวงศ์มังราย ระบุใน พ.ศ.2026-2069)หรือพระเมืองแก้วหรือพระติลกปนัดดาธิราชกษัตริย์รัชกาลที่ 14 โดยสร้าง พระเจ้าเก้าตื้อในปี พ.ศ.2059 ส่วนพระประธานในวิหารวัดทุ่งแป้ง(วัดมงคล)ที่เรียกนามว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ”นั้น ไม่ใช่องค์ที่พระเจ้าเมืองแก้วสร้าง เพราะหลักฐานยืนยันว่า พระองค์สร้างพระเจ้าเก้าตื้อที่ประดิษฐาน ณ วัดสวนดอก เชียงใหม่ องค์เดียวเท่านั้น จึงสันนิษฐานได้เพียงว่า องค์ที่ประดิษฐานในวิหารวัดทุ่งแป้ง(วัดมงคล)เป็นองค์จำลอง และสร้างโดยยึดพุทธลักษณะจากองค์จริงที่วัดสวนดอก จึงเป็นที่มาของการไปสู่คำตอบว่า วิหารวัดทุ่งแป้ง(วัดมงคล)คงสร้างในปี พ.ศ.เดียวกับพระเจ้าเก้าตื้อของวัดทุ่งแป้ง หรืออาจสร้างหลังเล็กน้อย จึงอนุมานว่า วิหารวัดทุ่งแป้ง(วัดมงคล)ถูกสร้างขึ้นพร้อมพระเจ้าเก้าตื้อองค์จำลอง คือใน พ.ศ.2059 จึงเป็นข้อยุติได้ว่า วิหารวัดทุ่งแป้ง(วัดมงคล)และพระเจ้าเก้าตื้อองค์จำลอง ที่เป็นพระประธานในวิหาร มีอายุ 496 ปีในปัจจุบัน(ปัจจุบันเป็น พ.ศ.2555)

มีข้อสงสัยอีกประการหนึ่ง ที่หน้าบัน(จั่ว)วิหารวัดทุ่งแป้ง มีลวดลายเป็นรูปต่างๆแทนศิลปะแห่งยุคสมัย มีลายเด่นที่สำคัญลายหนึ่งเรียกว่า “ลายเมฆไหล” มีผู้มาเยี่ยมชมวัดท่านหนึ่งบอกว่าเป็นลายของจีน มีอายุเป็นพันๆปี จึงเกิดการขัดแย้งกับข้อมูลที่สรุปไว้เบื้องต้นว่า วิหารวัดทุ่งแป้งมีอายุได้ 496 ปี ในปัจจุบัน(ปัจจุบันเป็น พ.ศ.2555)จริงหรือ ผู้ค้นคว้าได้ไปสืบค้นเกี่ยวกับ “ลายเมฆไหล” จากอินเทอร์เน็ต จากหัวเรื่องที่ค้น ศิลปะสถาปัตย์” ได้อธิบายว่า

“ลายปูนปั้นรูปชื่อดอกไม้ และก้านเปลวทำเป็นลายเมฆไหล ประดับฉากหลังของเทวดายืนประนมมือ ที่ผนังสถูปเจดีย์เจ็ดยอดแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างลวดลาย ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน ซึ่งแฝงเข้ามาในรูปเครื่องลายครามจีน ในสมัยราชวงศ์หงวน(ประมาณ พ.ศ.1803-1991)และราชวงศ์หมิงหรือเหม็ง(ประมาณ พ.ศ.1911-2187) แต่ล้านนาได้นำมาดัดแปลงจนกลายเป็นแบบอย่างเฉพาะตัว(ในภาพประกอบจะเห็นลายน้ำไหลคล้ายเชือกสีเหลืองขดตัวขึ้นลง
แถวหนึ่ง)

พิจารณาปีพุทธศักราชที่สร้างวิหารและพระประธานนามว่าพระเจ้าเก้าตื้อองค์ ที่สอง ซึ่งเป็นองค์จำลองที่สร้างในปี พ.ศ.2059 จะตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง จึงกล่าวได้ว่า “ลายเมฆไหล” ที่หน้าวิหารวัดทุ่งแป้ง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแบบล้านนา ซึ่งได้มาจากอิทธิพลราชวงศ์หมิงด้วยประการฉะนี้.
                    
                                  ..............................................................................
 

ล้านนาในอ้อมแขนแห่งขุนเขา(7)


                                                                                                                ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง