Skip to main content

(แปล) ทำไมคนถึงเอาแต่ทำนายการล่มสลายของจีน ? [*]

รัฐพรรคเดียวของจีนกำลังประสบปัญหาผุพัง แต่ประชาธิปไตยในตะวันตกส่วนใหญ่ก็เช่นกัน

เขียนโดย Xie Tao เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553
แปลจากเว็บไซต์ thediplomat.com
 
ความพยายามในการทำนายความเป็นไปของจีนคงเป็นเรื่องหักห้ามไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดของปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยเลยก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งจึงเสี่ยงเอาความยอมรับนับถือทางวิชาชีพของตนเป็นเดิมพัน เพื่อทำตัวเป็นศาสดานำทาง บางที เรื่องที่มีชื่อเสีย(ง)มากที่สุดคงเป็นเรื่องของนาย Gordon Chang ผู้ตีพิมพ์หนังสือชื่อเรื่องว่า การล่มสลายของจีนที่กำลังมา (The Coming Collapse of China in 2001) ในปี 2001 เขายืนยันว่า “จุดจบของรัฐจีนสมัยใหม่อยู่ใกล้เข้ามาแล้ว” “สาธารณรัฐประชาชนเหลือเวลาอีกห้าปี หรือไม่ก็สิบปี ก่อนที่จะล่มสลาย”
 
จีนไม่ได้ล่มสลาย อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว “ก็ จริงนะ คำทำนายของผมผิด” เขายอมรับในบทความหนึ่ง (ชื่อว่า “การล่มสลายของจีนที่กำลังมา: ฉบับปี2012) แต่เขายังคงเชื่อว่าจีนจะถึงกาลอวสานในอีกไม่นานพร้อมกับเสนอว่า “แทนที่จะเป็นปี 2011 พรรคคอมมิวนิสต์จีนอันเข้มแข็งจะล่มสลายในปี2012 พนันกันได้เลย”
 
Gordon Chang อาจโดนดูแคลนว่าเป็นเพียงผู้ฉวยโอกาสที่พยายามเสี่ยงดวงกับโวหารอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีน แต่ข้อสรุปแบบนี้ใช้ไม่ได้กับ David Shambaugh นักวิชาการด้านประเทศจีนซึ่งได้รับความยอมรับนับถือแห่งมหาวิทยาลัย George Washington ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ระแวดระวังกับการประเมินสถานการณ์ของจีนมาโดยตลอด ในบทความของ Wall Street Journal ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม เขาฉายภาพว่ารัฐพรรคเดียวของจีนกำลังดิ้นรนจนมาถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายแล้ว เขาเขียนว่า “จุดจบของระบอบพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นแล้ว ผมเชื่อว่าอย่างนั้น และมันมาไกลกว่าที่หลายคนคิดแล้วด้วย” “เราไม่สามารถทำนายได้ว่าคอมมิวนิสต์จีนจะล่มสลายลงเมื่อไหร่ แต่มันเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่า เรากำลังเฝ้ามองอยู่กับช่วงสุดท้ายของระบอบดังกล่าวแล้ว”
 
บทความของ Shambaugh ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าข่าวเกี่ยวกับจีนที่น่าประหลาดใจอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงดูเหมือนจะยิ่งเข้มแข็งขึ้นด้วยมาตรการชุดสำคัญจำนวนมาก และมาตรการเหล่านี้ โดยเฉพาะการรณรงค์ต่อต้านคอรัปชั่นและการขับเคลื่อนด้านนิติธรรม ปรากฏว่าช่วยเสริมกำลังให้เกิดความนิยมต่อท่านผู้นำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่จริงแล้วShambaugh เคยตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งออกมาในปี 2008 พร้อมกับข้อเสนอเชิงบวกซึ่งประเมินว่า ความสามารถของรัฐพรรคเดียวจะสามารถปรับตัวกับความท้าทายแห่งทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ได้
 
ไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้ Shambaugh เปลี่ยนความคิดอย่างปุปปับ บางคนคาดการณ์ว่าเขาเพียงพยายามเข้าไปอยู่ในดำรงเก้าอี้ด้านนโยบายต่างประเทศหลังจากรัฐบาลโอบามาหมดวาระ อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าเขาเป็นเสรีนิยมอกหักที่เคยเชื่อมั่นในจีน แต่หันมาเป็นอนุรักษ์นิยมแทน เพราะShambaugh ผิดหวังอย่างหนักกับการปฏิรูประดับมูลฐานอย่างดื้อดึงไม่รู้ฟังของเหล่าผู้นำจีน (พวกเสรีนิยมในอเมริกามักต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกันและส่งเสริมกลุ่มทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ในการเมืองโลก ขณะที่อนุรักษ์นิยมสนับสนุนจักรวรรดินิยมอเมริกันและความเป็นสากลของเสรีประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมใหม่: ผู้แปล)
 
ไม่ว่าการบรรลุนิพพานของ Shambaugh จะมาจากอะไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนกำลังประสบเข้ากับความท้าทายที่น่ากังวลนานัปการ จีนกำลังป่วย แต่ก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แม้ว่าแต่ละประเทศจะป่วยด้วยอาการต่างกัน มีสาเหตุต่างกัน และระดับความป่วยไข้ต่างกันออกไปก็ตาม  ลองพิจารณาสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง คงนึกออกกันว่าประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในโลกกำลังป่วยหนักมากจนอาจถึงตาย โรคที่เป็นมีตั้งแต่ ความเหลื่อมล้ำอย่างร้ายแรง โครงสร้างสาธารณูปการผุพัง การศึกษาของภาครัฐอ่อนแอลง ยอดขาดดุลสูงเสียดฟ้า ความเสื่อมศรัทธาต่อการเมืองเพิ่มสูงขึ้น จนไปถึงรัฐบาลที่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ในหนังสือเรื่อง ระเบียบการเมืองและความเสื่อมถอยทางการเมือง (Political Order and Political Decay) นาย Francis Fukuyama พรรณนาถึงสังคมการเมืองอเมริกันว่ากำลังกลับมารวมศูนย์อำนาจและกีดกัน (repatrimonialize) อีกครั้ง เพราะถูกปกครองโดยศาล พรรคการเมือง และติดอยู่ในเงื่อนตายเนื่องจากมีช่องทางให้ใช้อำนาจในการขัดขวางยับยั้ง (veto) มากเกินไป อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ประเทศประชาธิปไตยหลายแห่งในยุโรปกำลังประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินรุงรัง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครออกมาพูดว่าการล่มสลายของประชาธิปไตยอเมริกันหรือประชาธิปไตยยุโรปกำลังมา ถามว่าทำไม ?
 
เป็นเพราะว่านักวิเคราะห์ชาวตะวันตกหลายคน (ไล่กลับไปได้ถึง Seymour Martin Lipset) สมาทานความเชื่อที่ว่า ตราบที่สถาบันทางการเมืองยังถูกมองว่าชอบธรรม วิกฤติด้านประสิทธิภาพ ( เช่น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ) จะไม่เป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของระบอบ กระทั่งในวันคืนอันมืดมิดที่สุดเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) สถาบันการเมืองประชาธิปไตยของอเมริกาก็ไม่ระแคะระคายแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากระบอบขาดความชอบธรรมเสียแล้ว วิกฤติด้านประสิทธิภาพ (เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น หรือ การทุจริตกันทั่วบ้านทั่วเมือง) รังแต่จะทำให้วิกฤติความชอบธรรมยิ่งเลวร้ายหนัก คนจำนวนมากเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าจีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าว
 
จีนอาจกำลังประสบกับวิกฤติด้านประสิทธิภาพการทำงาน แต่จีนกำลังเจออยู่กับวิกฤติความชอบธรรมหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันได้ ความงามขึ้นอยู่กับตาของคนมอง ความชอบธรรมก็เช่นกัน หากรัฐจีนพรรคเดียวสามารถรอดผ่านแรมปีอันแสนอลหม่านจากการปฏิบัติวัฒนธรรมและภัยต่อการดำรงอยู่ของระบอบเมื่อครั้งปี 1989 มาได้ ทำไมถึงจะรอดผ่านวิกฤติอีกสักครั้งไปไม่ได้ ? ที่จริงแล้ว คำถามที่สำคัญกว่าสำหรับผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตก คือ ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงสามารถอยู่ในอำนาจได้ยาวนานและสร้างยอดตัวเลขการพัฒนาเศรษฐกิจที่น่าประทับใจจนไม่อาจปฏิเสธ
 
ในปี 2003 Andrew Nathan แห่งมหาวิทยา Columbia ได้นำเสนอทฤษฎีความยืดหยุ่นปรับตัว (resilience) ของอำนาจนิยมเพื่ออธิบายว่าทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงยังไม่ล่มสลายไปตามสหภาพโซเวียต ในบทความหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2015 เขาเสนอว่าแทนที่จะส่งสัญญาณว่าระบอบประสบปัญหา ปักกิ่งกลับอยู่ในทิศทางที่อำนาจนิยมฟื้นฟูงอกงามขึ้น ทั้งยังสนับสนุนระบอบแบบเดียวกัน และพยายามย้อนกลับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ใจความสำคัญในข้อความของเขา คือ การหวนคืนของอำนาจนิยมเป็นการสะท้อนความถดถอยของประชาธิปไตย “เพราะความน่าดึงดูดของระบอบอำนาจนิยมจะเติบโตขึ้นเมื่อความยอมรับชื่นชมในประชาธิปไตยเสื่อมถอยลง คำตอบที่สำคัญที่สุดต่อความท้าทายจากจีนจึงเป็นการที่ประเทศประชาธิปไตยบริหารจัดการตัวเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
 
Francis Fukuyama เขียนไว้ว่า “ทุกสังคม ไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตย ย่อมผุพังลงไปตามกาลเวลา” “ประเด็นที่แท้จริงคือความสามารถของสังคมเหล่านั้นในการปรับตัวและซ่อมแซมตัวเองให้ได้ต่างหาก” แน่นอนว่ารัฐจีนพรรคเดียวกำลังเจอเข้ากับความเสื่อมถอยทางนโยบาย แต่คงเร็วเกินไปหากจะเรียกจีนว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย
 
[*]อ่านต้นฉบับได้ที่ http://thediplomat.com/2015/03/why-do-people-keep-predicting-chinas-collapse/ 

บล็อกของ Thammachart Kri-aksorn

Thammachart Kri-aksorn
หมายเหตุผู้เขียนวันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซี
Thammachart Kri-aksorn
รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ
Thammachart Kri-aksorn
แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
Thammachart Kri-aksorn
ซาอิด จีลานี เขียนลงวารสาร Jacobin วันที่ 8 มกราคม​ 2562 แปลโดย ธรรมชาติ​ กรีอักษร​อลิซาเบธ วอร์เรน​ใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง​ แต่​เบอร์​นีย์​จะ​เ
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล 
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวาจันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อนภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
Thammachart Kri-aksorn
บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง
Thammachart Kri-aksorn
 บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก