Skip to main content

(แปล) ฟรานซิส ฟูกูยามา: เส้นทางยาวไกลสู่ประชาธิปไตยจีนโดยชนชั้นกลาง [*]

สัมภาษณ์โดย Nathan Vanderklippe

ผู้สื่อข่าว Global and Mail เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2557

เมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ได้ประกาศว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็น “จุดจบของประวัติศาสตร์” นี่ถือเป็นการจงใจพลิกปรัชญาแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งเชื่อว่าพัฒนาการของมนุษย์จะลงเอยด้วยการเป็นอุดมคติแบบคอมมิวนิสต์ ศาสตราจารย์ฟรานซิสกล่าวว่านั่นไม่ใช่เรื่องจริง ประวัติศาสตร์กำลังมุ่งสู่ไปสู่ชัยชนะที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ของเสรีนิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะนี้ เขาได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ Political Order and Political Decay: From the Industrial Revolution to the Globalization of Democracy และกล่าวว่าแม้ว่าร้อยละ 60 ของโลกเป็นประเทศประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับร้อยละ 30 ในปี 1974 แต่ “รัฐที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ” ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน สื่อจีนจึงได้นำเอาความคิดของเขามาสนับสนุนระบบของจีน

“งานวิจัยของฟูกูยาม่าเป็นการตอบสนองเชิงบวกต่อการพัฒนาการเมืองของจีน โดยชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของจีนไม่ได้มาเพราะเพียงเพราะโชคช่วย จีนกำลังมาถูกทางแล้ว” หนังสือพิมพ์ Global Time ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุไว้สัปดาห์นี้
 
การที่งานวิจัยชิ้นนี้มีผู้อ่านในประเทศจีนมากขึ้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับศาสตราจารย์ฟูกูยาม่า ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ The Globe and Mail ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ระบุว่า เขายังคงเชื่อว่าประเทศต่าง ๆ เช่น จีน จะมุ่งไปสู่ระบอบแบบตะวันตกในที่สุด เนื่องจากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นที่มาพร้อมกับความคาดหวังทางการเมืองและอำนาจทางการเงินที่สูงขึ้น จะนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวมากขึ้น แต่เขาเตือนเช่นกันว่าการรวมศูนย์อำนาจโดยประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน นายสี จิ้นผิง จะเปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของระบบการเมืองจีน
 
คุณเคยพูดว่าในที่สุดแล้ว จีนจะเป็นเหมือนประเทศตะวันตกมากกว่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับ ?
 
ปัจจัยสองสามประการทำให้ระบบของจีนไม่ยั่งยืนครับ เมื่อเทียบกับประเทศอำนาจนิยมอื่น ๆ พวกเขาทำได้ดีในการรับฟังความต้องการของประชาชน และพวกเขาพยายามตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว แต่ถึงที่สุดแล้วผมไม่คิดว่าเขาจะสามารถจัดการสังคมที่ใหญ่และซับซ้อนด้วยวิธีแบบนั้นได้ ปัญหาใหญ่อีกอย่างนึงที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือปัญหาเรื่องชนชั้นกลาง ณ ตอนนี้ ผมคิดว่าชนชั้นกลางจีนค่อนข้างมีความสุขดี เพราะว่าพวกเขาได้รับอานิสงค์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มันจะเป็นแบบนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน เพราะตัวแบบทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะค่อย ๆ ซบเซาลง และผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้แทนที่จะต้องรอดูไปนาน ๆ
 
จุดอ่อนในระบบของพวกเขาคือปัญหาว่าด้วยการมีจักรพรรดิที่แย่ ถ้าคุณมีจักรพรรดิที่ดี ระบบจะทำงานได้ดี คุณสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเน้นการบริโภคภายในประเทศแทนการส่งออก แต่ปัญหาของระบบที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล คือ ถ้าคุณมีจักรพรรดิที่แย่ คุณจะทำอะไรไม่ได้เลย นี่คือปัญหาที่แท้จริงที่พวกเขายังไม่ได้แก้ไข และปัญหานี้ที่จริงแล้วร้ายแรงมากในสมัยของสีจิ้นผิง เนื่องจากเขาสะสมอำนาจไว้กับตัวมากกว่าผู้นำจีนทุกคนในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิง หรือกระทั่งเหมา เจ๋อตุงเป็นต้นมาด้วยซ้ำ ณ ตอนนี้ เราไม่รู้ว่าเขาเป็นจักรพรรดิที่ดีหรือแย่ ถ้าผลออกมาปรากฏว่าเขาเป็นจักรพรรดิที่แย่ เขาก็สามารถสร้างความเสียหายที่ร้ายแรงให้แก่สังคมได้มาก  
 
แล้วผลต่อระบบการเมืองหละครับ ?
 
ในทางหนึ่ง เขาอาจทำสิ่งที่ทุกคนกลัวว่าป๋อ ซีไหลจะทำ คือ การทำลายกติกาที่เหล่าผู้นำมีร่วมกันมาตั้งแต่ปี 1978 และการสะสมอำนาจส่วนบุคคลไว้กับตัวอย่างมหาศาล
 
มันจะนำไปสู่อะไรครับ ?
 
มันจะนำไปสู่ทรราชครับ สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ระบบของจีนอยู่ได้เพราะทุกคนมีชีวิตผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรมมาด้วยกัน พวกเขาหวาดกลัวเหตุการณ์ดังกล่าวและไม่ต้องการให้มีการสะสมอำนาจไว้กับผู้นำเพียงคนเดียว แต่สีจิ้นผิงสามารถทำให้ทุกอย่างแย่ลงอีกรอบได้เหมือนกัน
 
คุณเห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่อันตรายไหมครับ ?
 
ผมได้ยินคนจีนพูดกันว่าเขาสามารถกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่นำเสรีภาพมาสู่จีนได้ เขาแค่ต้องรักษาฐานอำนาจส่วนบุคคลของเขาเอาไว้ก่อนเพื่อให้เขาสามารถทำสิ่งดี ๆ ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็สามารถทำสิ่งที่เป็นเรื่องตรงกันข้ามได้เหมือนกัน เขาสามารถนำพาประเทศไปสู่อะไรบางอย่างที่คล้ายกับลัทธิเหมาได้ คำถามว่าเขาจะพาประเทศไปทางไหนตอนนี้เป็นเรื่องที่ตอบยากครับ
 
ถ้าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจีนจริง คุณเห็นว่ามันจะเกิดขึ้นยังไงครับ?  
 
สิ่งที่เป็นอุดมคติสำหรับจีนและสามารถเกิดขึ้นได้จริง คล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 19 คือการที่จีนเริ่มพัฒนากฏหมายแทนที่จะเป็นประชาธิปไตย จีนมีการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เป็นไปตามกรอบกติกาอยู่ประมาณนึงแล้ว และจีนต้องทำให้มันหยั่งลึกขึ้น และปรับใช้กรอบกติกาดังกล่าวกับพรรคเองด้วย ไม่ใช่ใช้แต่กับคนอื่น ๆ ด้วยวิธีนี้จีนจะสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมจากประชาชน และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้พรรคเป็นประชาธิปไตยขึ้นด้วยตัวพรรคเอง หรือเป็นการสร้างประชาธิปไตยบางรูปแบบภายในพรรคได้
 
เส้นทางที่ควรจะเป็นนี้เกิดจากการนำโดยพรรคเอง
 
ใช่ครับ
 
ถ้าเราเห็นว่าเหตุการณ์แบบนั้นไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น เงื่อนไขแบบใดที่จะบีบให้พรรคเริ่มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวครับ ? ถ้าเหตุการณ์ในปี 1989 ยังไม่พอ เหตุการณ์แบบไหนที่อาจมีผลสะเทือนมากพอบ้างครับ ?
 
ปัญหาหลักที่รอพวกเขาอยู่คือเรื่องเศรษฐกิจ พวกเขาคาดหวังว่าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงปี 2020 เพื่อให้พวกเขาเพิ่มรายได้เป็นสองเท่าภายในปี 2010 ถึงปี 2020 ผมไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์ชาวตะวันตกคนไหนเลยที่เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำอย่างนั้นได้ ผมคิดว่าการเติบโตจะช้าลง พวกเขากำลังผลิตบัณฑิตจบใหม่ออกมา 6 ถึง 7 ล้านคนทุก ๆ ปี แต่แนวโน้มที่พวกเขาจะได้ตำแหน่งงานที่เป็นประโยชน์ และได้รายได้มากกว่าพ่อแม่ของตนมีไม่มากนัก และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง จีนจะมีฐานปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางสังคมอีกมาก
 
คุณเคยเขียนว่า “การถือกำเนิดขึ้นของระเบียบเศรษฐกิจโลกแบบตลาด และการขยายตัวของประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน” แต่กลับมีความเชื่อในหมู่ผู้สังเกตการณ์ประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไม่แน่จีนอาจทำสำเร็จก็ได้ เป็นไปได้ว่าจีนอาจสามารถสร้างทุนนิยมแบบเผด็จการที่แข็งแรงทนทานในแบบของตัวเอง คุณคิดว่าจีนเป็นข้อยกเว้นหรือเปล่าครับ ?
 
ผมมีเหตุผลหลายอย่างให้คิดว่ามันจะไม่ยั่งยืนนะครับ แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาสามารถรักษาสภาวะเช่นนี้ได้นานกว่าที่หลาย ๆ คนคิดไว้เมื่อ 10 หรือ 15 ปีที่แล้วมาก เราต้องดูกันต่อไป ผมคิดจริง ๆ นะครับว่าประเด็นเรื่องความชอบธรรมเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับพวกเขา หากตัดเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานออกไป พวกเขาไม่ได้มีเรื่องราวที่สมเหตุสมผลในการบอกประชาชนจริง ๆ ว่าทำไมพรรคจึงควรเป็นผู้ปกครองประเทศต่อไป ผมไม่เห็นว่าคุณจะปกครองประเทศต่อไปอย่างประสบความสำเร็จได้ยังไง โดยปราศจากความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับฐานทางคุณธรรมจริยธรรมที่ใช้ในการปกครองประเทศ  ผมคิดว่าพวกเขาจะละทิ้งอุดมการณ์มาร์กซิสต์ออกไปอย่างชัดเจนในอนาคตข้างหน้า เพราะไม่มีใครเชื่ออุดมการณ์แบบนั้นอีกแล้ว พวกเขาอาจจะพยายามทำอะไรบางอย่างคล้ายกับที่ปูตินกำลังทำอยู่ คือ การย้อนเวลากลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และพูดว่าพวกเขาจะคืนชีพค่านิยมจารีตแบบจีนขึ้นมาใหม่
 
มีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยบ้างไหมครับ ? จีนค่อนข้างมีประวัติศาสตร์ของการเป็นจักรวรรดิมามายาวนาน....
 
ผมคิดว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นปะทะกับการพัฒนาสมัยใหม่ และมีแนวโน้มว่าระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะปะทะสังสรรค์กันเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนใหญ่ ผมไม่คิดว่าจีนจะเหมือนสหรัฐอเมริกา จีนจะไม่มีทางมีความเป็นปัจเจกสูงขนาดนั้น และพวกเขาจะไม่มีวันมีประชาธิปไตยสไตล์อเมริกันได้ แต่คำถามคือ พวกเขาจะสามารถสร้างอะไรบางอย่างซึ่งเหมือนกับนิติรัฐที่แท้จริงได้มากขึ้นหรือเปล่า ? แล้วจะมีการพูดคุยอภิปรายอย่างเปิดกว้าง มีเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองได้หรือไม่ ? ผมไม่เห็นเหตุผลอะไรว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ผมคิดว่าคนจีนจำนวนมากก็ต้องการแบบนั้น
 
คุณเคยตั้งประเด็นว่าเราสามารถเตือนให้ผู้คนเห็นความล้มเหลวที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบในสหรัฐและระบบแบบตะวันตกในที่อื่น ๆ ได้ กรณีตัวอย่างที่กำลังย่ำแย่ในที่อื่น ๆ ทำให้จีนมีแนวโน้มยอมรับประชาธิปไตยน้อยลงไหมครับ ?
 
แน่นอนครับ ผมเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับนักศึกษาจีนที่มาเรียนกับผมในสหรัฐอเมริกานี่แหละ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เกือบทุกคนที่นี่จะพูดว่า ใช่ เราต้องการเหมือนสหรัฐอเมริกา แต่วันนี้ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะคิดแบบนั้น พวกเขาหลาย ๆ คนจริง ๆ แล้วคิดว่าระบบของพวกเขากำลังไปด้วยดีเสียอีก
 
คุณคงเห็นปูตินและวิคเตอร์ ออร์บันชวนถกเถียงอยู่ตอนนี้ว่าทั้งระบบในยุโรปและอเมริกันกำลังล้มละลาย และอำนาจนิยมทำได้ดีกว่าเห็น ๆ อันที่จริงแล้วผมคิดว่ามันเป็นความคิดที่บัดซบมาก ๆ แต่ตอนนี้พวกเขาก็สามารถทำให้ข้อเสนอของพวกเขาฟังดูสมเหตุสมผลได้มากขึ้นกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรื่องแบบนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศอื่น ๆ ยากลำบากขึ้นไหมครับ   
 
ใช่ครับ เพราะที่จริงแล้วประชาธิปไตยถูกนำเสนอและขับเคลื่อนโดยอำนาจแบบอ่อน (soft power) มันคือตัวอย่างที่ผู้คนยกย่องชื่นชม และตอนนี้ ดูเหมือนว่าระบอบอำนาจนิยมกำลังไปได้สวยในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังเจอกับปัญหา วิกฤติการเศรษฐกิจทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐ ฯ ล้วนแต่สร้างความเสียหายอย่างหนัก ผมคิดว่าเราจะออกจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ผมคิดว่าเราต้องแก้ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือให้ได้เหมือนกัน
 
มีข้อถกเถียงเก่าเสนอว่าจีนใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาธิปไตยจะทำงานได้ ข้อวิจารณ์กล่าวว่า หากให้ประชาชนได้เลือกตั้ง จีนจะขาดเสถียรภาพ คุณมีความเห็นต่อข้อเสนอเช่นนี้ยังไงบ้างครับ ?
 
ข้อถกเถียงที่อ้างเรื่องความมั่นคงมีปัญหาทั้งขึ้นทั้งล่องครับ บางที วิธีที่ดีที่สุดที่คุณจะสร้างเสถียรภาพขึ้นมาได้ คือการซื้อใจประชาชนให้ได้มากขึ้น ด้วยการยอมให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ตอนนี้ทุกคนกำลังทำได้ดี และมีความสุขดีกับรัฐบาลซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่มันจะไม่เป็นแบบนี้ตลอดไปหรอกครับ 
 
ประเทศจีนต้องการสร้างระบบกฎหมายให้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงระบบกฎหมายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของท้องถิ่นอีกต่อไป แต่ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลกลาง การทำแบบนี้จะเป็นระบบแบบผสมที่ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จได้ไหมครับ ?
 
นั่นเป็นสิ่งที่ผมเพิ่งบอกไปเมื่อครู่นี้ว่าเป็นวิธีที่ผมเห็นด้วยนะครับ พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มจากกฎหมายก่อนจริง ๆ พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มจากระบบการตัดสินใจที่ไม่อิงอยู่กับการใช้อำนาจแบบยกเว้นของพรรค และขึ้นอยู่กับระเบียบกติกาต่าง ๆ 
 
ถ้าในที่สุดจีนมุ่งสู่การเป็นประชาธิปไตยได้จริง ๆ เราควรแนะนำให้ประเทศตะวันตกมีท่าทีต่อจีนยังไงครับ ?
 
นี่เป็นประเด็นที่ตอบยากครับ การดำเนินมาตรการกดดันจีนต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน มีแนวโน้มเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องทำ แต่การซักไซร้เพื่อรบกวนระบบของพวกเขาไม่ได้ช่วยให้พวกเขาดีขึ้นหรอก เพราะพวกเขามีอำนาจมากเกินไปและมั่นใจเกินไป พวกเขาจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องน่ารำคาญและคงไม่รับฟังหรอกครับ
 
การประท้วงในฮ่องกงตอนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตขนาดใหญ่ได้ไหมครับ ?
 
ผมไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นแบบนั้นนะครับ จากที่ดูแล้วผมคิดว่ากลุ่มผู้นำอำนาจนิยมเหล่านี้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะไม่ยอมให้การปฏิบัติสีส้มเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขา และสีจิ้นผิงซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่มีศรัทธาในเรื่องนี้แรงกล้าที่สุด
 
มีประเทศไหนที่ความเป็นไปในประเทศดังกล่าวจะเป็นบทเรียนแนะนำแก่ประเทศจีนได้บ้างไหมครับ ?
 
ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันเป็นกรณีของประเทศที่เริ่มต้นจากการเป็นอำนาจนิยม แล้วจึงค่อย ๆ เป็นเสรีและประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนหนึ่งของปัญหาตอนนี้ โดยเฉพาะไต้หวัน คือ ประเทศเหล่านี้มีเรื่องอื้อฉาวภายในประเทศ และปัญหาอื่น ๆ จำนวนมาก ฉะนั้นประชาธิปไตยของพวกเขาจึงไม่ได้ดูดีในสายตาชาวเอเชียมากนัก
 
หลังจากตีพิมพ์หนังสือ คุณคิดว่าอะไรในหนังสือจะโดนสั่งห้ามเผยแพร่ในประเทศบ้างครับ ?
 
ผมควบคุมอะไรเรื่องนี้ไมได้นะครับ แต่ผมคิดว่าพวกเขาคงตัดเนื้อหาเชิงลบในหนังสือออก ผมได้ยินจากนักวิชาการคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในจีนเล่าว่า เขาคิดว่าพรรคพวกของเขาจะแปลหนังสือทั้งเล่มออกมา และแอบแจกจ่ายในหมู่นักวิชาการด้วยกันเองเป็นการส่วนตัว เพราะพวกเขาต้องการรู้ว่าสิ่งที่ผมต้องพูดคืออะไร  
 
[*]แปลจากบทสัมภาษณ์ของ Francis Fukuyama: China’s long march to democracy from the middle class ของ Global and Mail 

บล็อกของ Thammachart Kri-aksorn

Thammachart Kri-aksorn
หมายเหตุผู้เขียนวันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซี
Thammachart Kri-aksorn
รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ
Thammachart Kri-aksorn
แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
Thammachart Kri-aksorn
ซาอิด จีลานี เขียนลงวารสาร Jacobin วันที่ 8 มกราคม​ 2562 แปลโดย ธรรมชาติ​ กรีอักษร​อลิซาเบธ วอร์เรน​ใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง​ แต่​เบอร์​นีย์​จะ​เ
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล 
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวาจันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อนภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
Thammachart Kri-aksorn
บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง
Thammachart Kri-aksorn
 บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก