The Thin Red Line "ขอบคุณ(ชั่วคราว)"

 

รู้ข่าวเสื้อแดงมุกดาหารได้รับการปล่อยตัว"ชั่วคราว"13คน ก็รู้สึกดีใจ ผมไม่ได้ดีใจกับเสรีภาพเพียงแค่ชั่วคราวของพวกเขาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเสรีภาพชั่วคราวที่ครอบคลุมถึงชีวิตคนแก่คนเฒ่าลูกเด็กเล็กแดงอีก13ครอบครัว และอาจรวมถึงกับกลุ่มคนที่ติดตามดูแลรณรงค์ช่วยเหลืออีกจำนวนมากได้กลับคืนสู่อิสรภาพ ได้คืนกลับสู่วิถีชีวิตปกติแบบ"ชั่วคราว"ด้วยเสียที

ผมหมดสิ้นความเชื่อถือใน"กระบวนการยุติธรรมไทย"ทั้งหมดหลังปี 2553 ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดวิเคราะห์ได้้ในตอนนี้ก็คือ ผลที่เกิดขึ้นครั้งนี้เกิดจาก"การเมือง"มันเกิดจากการเจรจาต่อรองทางการเมือง "เท่านั้น" มันไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันจะ"เลวระยำ"น้อยลง มันไม่ได้เป็นสัญญาณว่ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของนักกิจกรรม นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวมันจะได้ผลอะไรมากมาย มันก็คงเป็นเพียงแค่เสียงกระซิบสำหรับผู้ที่กุมอำนาจ"กองทัพและศาล"เท่านั้น

สำหรับผม ผมมองว่าการกล่าว"ขอบคุณ"ไม่ใช่สิ่งที่น่าเสียหาย การกล่าวคำว่า"ขอโทษ"ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย มันไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีของเสรีชนต้องหมองมัว มันไม่ได้ทำให้ความแหลมคมทางวิชาการต้องบิ่นทื่อ มันไม่ได้ทำให้ความกล้าหาญทางการเมืองอย่างสุดขั้วต้องกลายเป็นความโฉดเขลา  หากการยอบตัวลงของเสรีชนนั้นเป็นไปเพื่อผู้ที่ทุกข์ยากกว่า

ดังนั้นแม้ว่าอิสรภาพเพียงชั่วคราวจะเดินทางมาถึงล่าช้าเพียงใด แต่อย่างน้อยตอนนี้มันก็มาถึงแล้ว แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลงานที่ล่าช้าและอาจจะพูดว่าไม่ได้เรื่องมากนัก แต่สำหรับตอนนี้ผมอยากขอบคุณพรรคเพื่อไทย และ นปช.ครับ

--------------------------------------------------------------------

ปล.

1.หากท่านผู้มีอำนาจใน นปช.และ ครม.ได้อ่านถึงตอนนี้(ผมอาจฝันไป)แล้วกรุณาโปรดอย่าลืมนะครับ ว่ายังมีมวลชนที่สละเสรีภาพและชีวิตเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย จนเป็นฐานให้ท่านขึ้นสู่การมีอำนาจ พวกเขายังรอคอยการต่อสู้เพื่ออิสรภาพเพื่อความยุติธรรมจากพวกท่านอยู่อีกจำนวนหนึ่งนะครับ 

 2.ปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังที่ จ.มหาสารคาม อีกจำนวน 9 คน คดีเตรียมการวางเพลิง(ไม่ใช่คดีเผาสถานที่ราชการ) คดียังไม่สิ้นสุด(อยู่ในชั้นฎีกา) และกว่าสองปีที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยได้รับสิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราวเลย
 

ที่มา: เรื่อง www.facebook.com/sarayut.tangprasert /ภาพ: :www.facebook.com/Ardisto

The Thin Red Line เสื้อแดงเดือนเมษา ตอนจบ - ความคับแค้น และการกลับบ้าน

กรกช เพียงใจ

 
 
ใครบางคนบอกว่า “ข้อเท็จจริง” (fact) นั้นแตกต่างจาก “ความจริง” (truth)
บันทึกนี้จึงอาจกล่าวอ้างได้เพียงว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงอันมากมายมหาศาล
แต่ก็คือทั้งหมดที่ฉันเห็น สังเกต และรู้สึก ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
มนุษย์ผู้ไม่ได้ไปอยู่ ณ จุดปะทะสำคัญใดๆ กับเขาเลย
หากใครคาดหวังเช่นนั้น ขออภัยล่วงหน้า ....
 
- - - - - - - - - - - -
 
 
วันที่ 14 เมษายน 2552
 
 
ฉันกลับไปพักที่บ้านพี่สาวคนเดิม ได้นอนเต็มอิ่ม ตื่นอีกทีสายมากแล้วและดูข่าวทีวีเห็นว่าที่ทำเนียบฯ ประกาศยุติและสลายการชุมนุม เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม กล้องจับไปที่ใบหน้าณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งดูออกอาการกว่าคนอื่นๆ มีรอยยิ้มแบบฝืนๆ บนใบหน้า
 
ฉันรีบเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล แต่เข้าไม่ได้ และไปติดอยู่แถวสี่แยกวังแดง ซึ่งมีทั้งตำรวจ และทหารกั้น ผู้คนเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณนั้น มีรถกระบะติดลำโพงของใครไม่รู้กำลังกล่าวโจมตีทหารที่เพิ่งนั่งรถจีเอ็มซีผ่านฝูงชนที่กำลังก่อตัวไป โดยยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก พวกเขาเก็บปลอกกระสุนได้และนำมาให้นักข่าวบางส่วนที่อยู่บริเวณนั้นดู
 
จากนั้นชาวบ้านก็ผลัดกันขึ้นปราศรัย เรียกร้องให้ทหารกลับเข้ากรมกอง และนำรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้ น่าสังเกตว่าพวกเขาประกาศตัวว่าเป็นชาวบ้านธรรมดา และไม่ใช่สีอะไรทั้งนั้น แต่ทนไม่ได้กับความอยุติธรรม
 
หลายต่อหลายคนดูท่าทางเป็นคนชั้นกลางที่ทำมาค้าขายอยู่แถวนั้น ประกอบกับคนอื่นๆ ที่มาสบทบกันมากขึ้นเรื่อย กระทั่งกลายเป็นการชุมนุมย่อมๆ อีกจุดหนึ่ง
 
ฉันเดินไปที่รั้วกั้นระหว่างทหารกับชาวบ้าน พบกลุ่มผู้หญิงทั้งสูงและไม่สูงวัยกำลังโวยวายกับตำรวจซึ่งยืนอยู่ด่านหน้า และตะโกนต่อว่า (และด่าทอ) ไปถึงทหาร ซึ่งยืนอยู่ถัดไปด้านใน
 
“ยิงป้าเลยลูก ยิงเลย หนูจะได้เลื่อนขั้นเร็ว จะได้เป็นนายพล” ป้าคนหนึ่งตะโกนโบกไม้โบกมือเรียกทหารยิงตนเอง
 
“บ้านเมืองกำลังจะชิบหายหมดแล้ว เพราะพวกคุณทำสองมาตรฐานมาตลอด ประชาชนไม่โง่อย่าคิดว่าเขาไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเขาทำอะไรอยู่ เขาทนดูได้ยังไง” หญิงสาวคนหนึ่งพูดทั้งร้องไห้ตลอดเวลาด้วยความคับแค้นและเป็นห่วงแม่ เธอต่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและสื่อมวลชนจนไม่เหลือชิ้นดี ดูลักษณะก็รู้ได้ไม่ยากว่าเป็นคนชั้นกลางค่อนข้างมีเงิน
 
เธอเล่าว่าแม่เธออายุ 60 กว่า เข้าไปชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงที่ทำเนียบฯ และไม่ได้เอามือถือเข้าไปเพราะใช้ไม่เป็น และแม่เธอก็ยืนยันว่าอยู่กับเสื้อแดงไม่อันตราย ไม่ต้องห่วง และถึงตอนนี้เธอติดต่อกับแม่ไม่ได้ตั้งแต่เมื่อคืน เข้าไปในที่ชุมนุมก็ไม่ได้ จึงรู้สึกเป็นห่วงมาก
 
ท้ายที่สุด รถปราศรัยประกาศขอให้ตำรวจ ทหารเปิดทางให้รถและตัวแทนเข้าไปส่งข้าวส่งน้ำคนข้างใน เพราะรู้มาว่าอาหารและน้ำกำลังขาดแคลน เจ้าหน้าที่พยายามบอกว่าที่ทำเนียบฯ ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว แต่พวกเขาไม่เชื่อ และยืนยันว่าขอเข้าไปดูเอง
 
“เราไม่เชื่อถือข่าวจากใครอีกแล้ว” ชายคนหนึ่งตะโกน

มีการเจรจาต่อรองกันพักหนึ่ง แล้วเจ้าหน้าที่ต้องยอมให้รถกระบะพร้อมตัวแทนเข้าไปได้ โดยคนที่จะเข้าไปต้องให้เจ้าหน้าที่ค้นตัว หญิงสาวคนที่กำลังตามหาแม่ กระโดดขึ้นไปอยู่บนรถกับเขาด้วย เธอยกมือไหว้เจ้าหน้าที่ขณะที่รถกระบะเคลื่อนเข้าไปด้านใน ส่วนคนที่เหลือยังปักหลักชุมนุมอยู่ที่เดิมไม่ยอมสลายตัว
 
ฉันติดอยู่ตรงนั้นค่อนข้างนาน เพราะดูเหมือนจะเป็นจุดที่เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และไม่ยอมสลายแม้เวทีกลางจะประกาศสลายตัวนานแล้ว กว่าจะเดินเข้ามาถึงลานพระบรมรูปทรงม้าได้ ปรากฏว่าผู้ชุมนุมที่ทำเนียบฯ ทยอยกลับบ้านกันไปมากแล้ว มีเพียงบางส่วนนั่งจับกลุ่มรอขึ้นรถบัสที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้
 
ฉันเดินเข้าไปพูดคุยกับหญิงสาวคู่หนึ่งที่ยืนอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งตาแดงๆ เหมือนเพิ่งผ่านการร้องไห้ และเพียงเอ่ยปากถามถึงความรู้สึกเท่านั้น ทุกอย่างก็พรั่งพรู เธอดูคับแค้นใจกับการปิดล้อมของทหารมาก และกล้ำกลืนกับการที่ต้องต่อแถวเพื่อให้ทหารถ่ายรูปพร้อมกับชูบัตรประชาชนทีละคนๆ ก่อนจะออกจากพื้นที่ชุมนุมได้
 
“มันเจ็บใจ เราเป็นคนไทยคนนึง ทำกับเราเหมือนเป็นอาชญากร ผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่มีอะไรเลยเดินผ่านทหารเป็นร้อยคน แล้วถ่ายรูป ทำกับเราเหมือนเป็นผู้ร้าย แล้วทำไมให้ใส่ชุดทหารมายิงพวกเราได้ ไม่คิดอะไร...ที่เจ็บใจ ที่ร้องไห้ เพราะศักดิ์ของความเป็นคนของเรามันอยู่ตรงไหน” 
 
“ถ้าเค้าจะปราบเราก็ยอม เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราแค่มาปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเรา เราไม่ได้ไปปล้น ไปจี้ ไปชิงใคร พันธมิตรฯ ฆ่าคนตายไม่จัดการอะไรเลย เราไม่ได้ทำอะไรใครแถมถูกใส่ร้ายสารพัด แผ่นดินนี้เราเหยียบไม่ได้เหรอ เราทำอะไม่ได้เลยเหรอ”
 
อารมณ์ผู้คนในตอนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่เฉยๆ ทำใจได้ เสียอกเสียใจ ไปจนกระทั่งคับแค้น จากการพูดคุยกับผู้คนที่เหลืออยู่บางส่วนในเวลานั้น ประเด็นสำคัญที่พวกเขาทั้งหมดพูดกันมากคือ เรื่อง 2 มาตรฐานในสังคมไทย การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการรายงานเพียงช่วง 2 -3 วันนั้นเท่านั้น แต่เป็นความเก็บกดมานานสำหรับคนเสื้อแดงซึ่งรู้สึกเหมือนตนเองเป็นพลเมืองชั้น 2 และการรายงานเหตุการณ์ในช่วงสงกรานต์นี้ดูจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับความอดทน ... ระหว่างกัน
 
ที่สำคัญคือ ข่าวลือเรื่องผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในการสลายการชุมนุม การปะทะ ณ จุดต่างๆ โดยเฉพาะที่สามเหลี่ยมดินแดงตอนเช้ามืดวันที่ 13 เมษายน อันเป็นที่มาของคำว่า “สงกรานต์เลือด” ก็กระจายตัวและค้างคาในใจผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
 
0000
 
 
พี่ชายที่รู้จักอีกคนหนึ่งมายังที่ชุมนุมด้วย ฉันเจอเขาโดยบังเอิญและเล่าเรื่องราวให้เขาฟัง เขาพูดติดตลก แต่เป็นตลกร้ายว่า การกลับบ้านของพวกเสื้อแดงก็เหมือนหนังฮ่องกงที่ อู๋ม่งต๊ะ ชอบเล่นเป็นมาเฟีย แล้วมักมีบทที่โดนสั่งให้ลอดหว่างขาของศัตรูเพื่อเอาชีวิตรอด
 
“มันก็เหมือนกัน ถ้าคุณอยากกลับอย่างปลอดภัย ก็จงถอดเสื้อแดง ถ่ายรูป แล้วขึ้นรถศัตรูกลับบ้านไป ... ถอดศักดิ์ศรีของคุณซะ”
 
แม้ผู้คนจะทยอยกันกลับไปเยอะแล้ว แต่รถยนต์ยังต่อแถวยาวเพื่อตรวจค้นอาวุธทีละคันๆ ก่อนออกจากพื้นที่ แกนนำส่วนใหญ่ถูกคุมตัวไปไว้ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันนั้นแล้ว คงเหลือแต่หมอเหวงที่ยืนประกาศอำนวยความสะดวกกับประชาชนอยู่บนรถเครื่องเสียงจนหยดสุดท้าย พร้อมเสียงที่เริ่มแหบแห้ง
 
จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงคุมตัวหมอเหวงมาที่กองบัญชาการ โดยมีการ์ดคนหนึ่งถูกคุมตัวเดินมาด้วย ระหว่างทาง ป้าเสื้อแดงคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นเข้ามาถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับหมอเหวง “เค้าจับหมอของเราแล้ว ป้า” การ์ดร่างใหญ่ตอบด้วยน้ำเสียงเหมือนจะร้องไห้
 
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล นักข่าวรอทำข่าวที่นั่นเต็มไปหมด ฉันจึงออกจากพื้นที่นั้น มาดูสถานการณ์ที่วังแดงอีกครั้ง ที่นั่นคนเริ่มน้อยลงแต่ก็ยังคงมีเหนียวแน่นอยู่จำนวนหนึ่ง
 
พี่คนเดิมนำพาฉันไปเจอลุงไสวจากอุดรธานี ซึ่งนั่งอยู่ริมฟุตบาทแถวนั้น เจ๊ๆ ซึ่งดูเป็นชาวบ้านเจ้าถิ่นกำลังจัดแจงลงขันกันส่งค่ารถให้ลุง เมื่อฉันไปถึง ฉันควักให้เขาด้วย 100 รวมแล้วลุงได้เงินหลายร้อยบาทเป็นค่ารถกลับบ้าน
 
ลุงเล่าว่ามาชุมนุมกับกลุ่มคนรักอุดรมา 20 กว่าวันแล้ว และวันนี้เมื่อสลายการชุมนุมก็ต่างคนต่างกลับ ลุงกับลูกสาวตัวน้อยวัยไม่เกิน 6 ขวบตกค้างอยู่ที่นี่ และไม่มีค่ารถกลับบ้าน เงินที่เอามาพันกว่าบาทก็กินใช้ และซื้อเสื้อแดงจนหมดแล้ว เหลือแต่เพียงข้าวห่อติดตัวและเศษเงินอีกไม่กี่สิบบาท
 
“เราจะมากันใหม่ พวกบ้านผมเขาไม่ยอมเลย ถ้าหากไม่ได้ทักษิณกลับมาเขาไม่ยอม อยู่นี่กันหมดเพราะอะไร เพราะถ้าหากไม่น็อกกูไม่กลับบ้าน พวกแถวหมู่บ้านก็เอาข้าวมาให้ เป็นกระสอบๆ ทั้งสาด ทั้งหมอน เสื้อผมยังไม่มีซักตัวจะกลับบ้าน มีแต่เสื้อสีแดง ตัวนี้ (สีขาวที่ใส่อยู่) เขาก็ให้มา”
 
แท็กซี่คนหนึ่งที่อยู่ในวงรับอาสาจะไปส่งลุงไสวที่หมอชิต “ไปรถผมก็ได้ ผมขับแท็กซี่” ทุกคนอวยพรแก ฉันเขียนเบอร์โทรศัพท์ตัวเองยัดใส่มือแก เผื่อว่ามีปัญหาอะไรจะได้โทรบอก เราแยกย้ายกันไป และหลังจากนั้นพักใหญ่แกจึงโทรกลับมาบอกว่าได้ตั๋วรถเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณทุกคนมาก ฉันรับคำขอบคุณนั้นไว้โดยไม่รู้จะไปบอกใครต่อ เพราะทุกคนแยกย้ายกันไปนานแล้วโดยที่ยังไม่ทันได้รู้จักกันด้วยซ้ำ
 
 
0000
 
 
มันเป็นบรรยากาศที่บอกไม่ถูกในเย็นวันนั้น แม้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงเลยก็น่าจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นความเศร้าประหลาดๆ ของความไม่เท่าเทียม
 
ฉันกลับมายังโลกใบเดิมอีกครั้ง ในค่ำคืนที่ผู้คนเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน แม้เทียบกับปีก่อนแล้วจะดูเงียบเหงาไปมาก เพื่อนฝูงคนชั้นกลางบางคนพากันเงียบซึม บางคนตาแดงก่ำ ขณะที่บางคนโล่งอก กระทั่งก่นด่า สมน้ำหน้าคนเหล่านั้น
 
ฉันนึกถึงบรรดาคนต่างจังหวัดที่สละวันพบญาติปีนี้เพื่อมาเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิและเสรีภาพบางอย่าง เขาคงกำลังนั่งรถกลับบ้าน ระหว่างทางอันยาวนานสายนั้น...พวกเขากำลังครุ่นคิดถึงสิ่งใดกัน ...
 

The Thin Red Line: เสื้อแดงเดือนเมษา ตอน 5 - "ชาวบ้าน" ที่ไม่ถูกนับ

กรกช เพียงใจ

 

 
 
 
ใครบางคนบอกว่า “ข้อเท็จจริง” (fact) นั้นแตกต่างจาก “ความจริง” (truth)
บันทึกนี้จึงอาจกล่าวอ้างได้เพียงว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงอันมากมายมหาศาล
แต่ก็คือทั้งหมดที่ฉันเห็น สังเกต และรู้สึก ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
มนุษย์ผู้ไม่ได้ไปอยู่ ณ จุดปะทะสำคัญใดๆ กับเขาเลย
หากใครคาดหวังเช่นนั้น ขออภัยล่วงหน้า ....