Skip to main content

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

‘สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ’ นวนิยายรหัสคดีแอบอิงปรัชญา ไสยศาสตร์ ประวัติศาสตร์อันปั่นป่วน และความเชื่อของยุโรปยุคกลาง ฝีไม้ลายมือของอุมแบร์โต เอโก ศาสตราจารย์ด้านปรัชญายุคกลาง แปลโดยคุณภัควดี

กล่าวขานอึงคนึงว่า สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ถูกจัดชั้นเป็นวรรณกรรมคลาสสิกไปแล้วโดยมิต้องพึ่งพากาลเวลา และผมก็ไม่กังขาด้วยว่า นี่คืองานแปลชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของคุณภัควดี

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มานานแล้วด้วยอาการป่วยของคนเสพติดการซื้อหนังสือ เริ่มต้นอ่านด้วยความครั่นคร้ามและหวั่นเกรง ต่อให้เป็นหนอนระดับคอทองแดง แต่ความหนาขนาด 700 หน้า ตัวหนังสือค่อนข้างเล็ก เพียงเท่านี้ก็ขู่ขวัญพออยู่แล้ว มิพักต้องขู่ซ้ำด้วยเนื้อหาปรัชญาและประวัติศาสตร์ยุคกลางที่แทรกอยู่ตลอดเรื่อง

จดจำได้ว่า ตั้งต้นอ่าน แต่จบลงด้วยความล้มเหลวสองสามรอบ อ่านไปสามสิบสี่สิบหน้าก็แล้ว บนหน้าผากยังถูกเครื่องหมายคำถามแปะไว้ไม่หลุดลอก สบถในใจ “มันเขียนอะไร? (วะ)”

ความรู้สึกส่วนตัว ‘สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ’ และ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของกาเบรียล กาเซีย มาเกซ คล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า เหมือนการเดินฝ่าเข้าไปในป่ารกทึบ ไร้แสงตะวัน ซ้ำปกคลุมด้วยม่านหมอกหนาทึบ ถ้าไม่อยากนั่งมองรอยหมึกไร้ความหมาย สี่สิบห้าสิบหน้าไม่พอ ต้องกัดฟันอ่านต่อไปให้เกินร้อยหน้า ผมจึงค่อยๆ จับต้นชนปลายและถูกกระตุ้นให้อ่านต่ออย่างรื่นรมย์

..............

ยุคกลางของยุโรปถูกเรียกอย่างแดกดันอีกชื่อหนึ่งว่า ยุคมืด (Dark Age) ที่เรียกว่าแดกดัน เพราะมันเป็นยุคที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกครองอำนาจล้นฟ้า แผ่คลุมทั่วยุโรป กษัตริย์หรือเจ้าเมืองแว่นแคว้นต่างๆ ล้วนยอมศิโรราบแก่สันตะปาปาแห่งวาติกัน บารมีขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่พระเจ้าก็ใกล้เคียงเต็มที

ดังที่เป็นมา เป็นอยู่ และเป็นไป ยามที่อำนาจมหาศาลตกอยู่ในมือใคร หน้าสว่างตาใสก็เปลี่ยนเป็นหน้ามืดตามัว ศาสนจักรโรมันคาทอลิกใช้อำนาจแสวงหาทรัพย์ศฤงคารจนผิดวิสัยผู้บำเพ็ญพรต มีการขายใบล้างบาปกันเป็นล่ำเป็นสัน ถ้อยคำในพระมหาคัมภีร์ไบเบิ้ลถูกหยิบยกมาใช้อย่างแข็งทื่อ สันตะปาปาคือผู้เดียวที่ตีความได้ถูกเที่ยงที่สุด ไม่เหลือที่ว่างให้ใครตีความ หากใครเหิมเกริมจะถูกถีบให้เป็นพวกลัทธินอกรีต เป็นข้ออ้างให้กองทัพของสันตะปาปาเข้าทำลายล้าง

ยุคกลางของยุโรปจึงปั่นป่วนไปด้วยเจ้าลัทธิมากมายที่ตั้งตนเองเป็นผู้นำพาฝูงแกะสู่อาณาจักรของพระเจ้า โดยไม่พึ่งถนนของวาติกัน การปล้นชิง เข่นฆ่า ขู่บังคับให้ยอมรับลัทธิของตนระบาดทุกหย่อมหญ้า ครั้นมีกษัตริย์องค์ใดห้าวหาญ (หรือบ้าบิ่น) พอจะท้าทายอำนาจสันตะปาปา นักบวชที่ไม่เห็นด้วยกับสันตะปาปาก็จะสนับสนุนด้วยหวังว่า ร่มเงาของอาณาจักรจะช่วยยับยั้งอำนาจบาตรใหญ่ของสันตะปาปาและช่วยให้ปฏิบัติตนและเผยแพร่แนวทางตามลัทธิความเชื่อของตนได้

..............

ฉากที่ผมชอบฉากหนึ่งในสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ คือฉากที่เบอร์นาร์ด กุย อัยการศาลศาสนาผู้เหี้ยมเกรียม ไต่สวนความผิดของเรมิจิโอ พระคหบาลแห่งอารามในท้องเรื่อง ซึ่งมีอดีตเป็นสาวกคนหนึ่งของลัทธินอกรีต เบอร์นาร์ด กุย ซักไซ้โดยฟันธงแล้วว่าเรมิจิโอผิด ถ้อยคำใดที่หล่นจากปากเรมิจิโอจึงถูกเบอร์นาร์ด กุย โยงไปสู่ความผิดทั้งสิ้น ต่อให้มีทนายเก่งๆ สักสิบคน เรมิจิโอก็ไม่รอด

คดีปิดลงตามที่เบอร์นาร์ด กุย ต้องการ หมอนี่ยังพูดหลังจากให้พลธนูลากตัวเรมิจิโอออกไปแล้วว่า

“ต้นตอความชั่วร้ายของชนนอกรีตมักมีที่มาจากคำเทศนาซึ่งได้รับการยกย่องนับถือและยังไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ ความมุ่งมั่นอันแสนเข็ญและแบกรับแอกไม้กางเขตอันต่ำต้อยคือชะตากรรมของผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกใช้สอย เฉกเช่นตัวข้าผู้บาปหนา ให้ทำหน้าที่ชี้ตัวอสรพิษร้ายแห่งลัทธินอกรีต ไม่ว่ามันจะซุ่มซ่อนฟักตัวอยู่ที่ไหน แต่ในการปฏิบัติภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เราได้เรียนรู้ว่า คนที่ปฏิบัติตามลัทธินอกรีตโดยเปิดเผยไม่ใช่ชนนอกรีตจำพวกเดียวที่มีอยู่ ยังมีผุ้สนับสนุนลัทธินอกรีตที่ชี้ตัวได้จากปัจจัยห้าประการด้วยกันคือ ประการแรก พวกที่ดอดไปเยี่ยมชนนอรีตเมื่อถูกคุมขังในคุก ประการที่สอง พวกที่เศร้าเสียใจเมื่อชนนอกรีตถูกจับและเคยเป็นสหายสนิทกันมา (อันที่จริง เป็นไปไม่ได้ที่คนซึ่งได้คลุกคลีกับชนนอกรีตมานานจะไม่รู้เดียงสาถึงพฤติกรรมของมัน) ประการที่สาม พวกที่โพนทะนาว่าชนนอกรีตถูกลงโทษโดยไม่ยุติธรรม ทั้งๆ ที่ความผิดของมันได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ประการที่สี่ พวกที่ตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์คนที่กวาดล้างชนนอกรีตและโฆษณาต่อต้านพวกมันเป็นผลสำเร็จ ประการนี้ดูได้จากแววตา อาการของจมูก และสีหน้าที่พวกมันพยายามกลบเกลื่อน แสดงความจงเกลียดจงชังต่อคนที่ตนมีอคติ และแสดงความรักใคร่ใยดีต่อคนที่เคราะห์กรรมทำให้เวทนา ประการที่ห้า ประการสุดท้าย คือหลักฐานที่พวกนี้เก็บอัฐิของชนนอกรีตที่ถูกเผาและทำเป็นเครื่องรางของขลัง... แต่ข้ายังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับปัจจัยประการที่หกด้วย กล่าวคือ ข้าถือว่าคนจำพวกนี้เป็นสหายร่วมแนวทางโดยเปิดเผยกับชนนอกรีต คือไอ้พวกนักประพันธ์ตำรา (แม้ว่าพกวนี้จะไม่ได้ละเมิดสถาบันศาสนาโดยเปิดเผยก็ตาม) ที่พวกชนนอกรีตเอามาใช้เป็นมูลฐานอันนำไปสู่ข้อสรุปอันวิปริตอาเพศตามประสามัน”

.............

อ่านแล้วก็ชวนนึกถึงบ้านนี้เมืองนี้ ถูกฉีกขาดด้วยความเชื่อที่หาบหามกันเอาไว้ ไม่ยอมให้ใครแตะต้อง ใครทำอะไรที่คล้ายๆ หกข้อที่เบอร์นาร์ด กุย กล่าวไว้ หรือพูดอะไรไม่ถูกหูเล็กน้อย จะถูกถีบเป็นพวกลัทธินอกรีตทันที

เมื่อความเชื่อใดพยายามสถาปนาความถูกต้องเหนือความเชื่ออื่น มันมักนำไปสู่การต่อสู้ ขัดขืน และเข่นฆ่า จะมีคนที่ลุกขึ้นห่ำหั่นฟันฆ่าผู้อื่นอย่างเรมิจิโอด้วยเหตุผลน่าฟังว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นต่ำทราม ควรจะกำจัดทิ้ง และก็มีคนที่คลั่งไคล้สิ่งเดิม พร้อมจะฟาดฟันคนอื่นและใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วย ด้วยการกล่าวหาว่าเป็น ‘พวกนอกรีต’ ให้ตายตก

“เบอร์นาร์ด กุย เองคือผู้มีกิเลสแรงกล้า กิเลสของเขาคือความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวจนกลายเป็นความบ้าอำนาจ พระสันตะปาปาแห่งศาสนจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เหลือแล้วของเรามีกิเลสต่อโภคทรัพย์ ส่วนพระคหบาลในวัยหนุ่มมีกิเลสตรงที่อยากทดลองและเปลี่ยนแปลงและสำนึกบาป แล้วกลายเป็นกิเลสใฝ่หาความตายในบั้นปลาย...” ภราดาวิลเลียม อดีตอัยการศาลศาสนา ตัวเอกในเรื่องกล่าวไว้

ภายหลังการไต่สวนสิ้นสุด ภราดาวิลเลียมยังพูดกับแอดโซ นวกะผู้เป็นศิษย์ว่า

“ข้าจะบอกให้ว่าวันหนึ่ง เมื่อสุนัขใหญ่ทั้งสองตัว คือพระสันตะปาปากับพระจักรพรรดิ คิดจะสงบศึกกันขึ้นมา ทั้งสองจะเหยียบย่ำบนซากศพของฝูงสุนัขตัวเล็กๆ ที่กัดกันตายเพื่อรับใช้เจ้านายมัน และเมื่อนั้นไมเคิลหรืออูเบอร์ติโนย่อมถูกจัดการเยี่ยงเดียวกับที่หญิงสาวโดนในวันนี้”

หญิงสาวที่ว่า ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและถูกเผาทั้งเป็น

รู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า สถานการณ์บางประเทศในโลกอย่างกับยกเหตุการณ์ยุคกลางมาจำลองใหม่กันเลยทีเดียว ...แค่เปลี่ยนฉาก

.............

ผมเชื่อเรื่องวงล้อแห่งประวัติศาสตร์ มันหมุนวนกลับมาเสมอ หมุนกลับมาขยี้เราครั้งแล้วครั้งเล่า ชวนสลดคือมนุษย์เรียนรู้ แต่ดูเหมือนว่าเราเรียนรู้น้อยไปหน่อย และปล่อยให้ความโกรธเกลียดอันอิงกับความเชื่อที่ตนยึดถือเข้าครอบงำ

“สัจจะเพียงหนึ่งเดียวคือ การเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตัวเราเองจากความคลั่งไคล้งมงายในสัจจะ” เป็นอีกคำกล่าวของภราดาวิลเลี่ยมที่ผมรู้สึกว่าเป็นบทสรุปที่คมคาย

เราจะเห็นคนอย่างเรมิจิโอ เบอร์นาร์ด กุย กับลัทธินอกรีต ในรีต ทุกยุคสมัย  ถ้าเรมิจิโอชนะ เขาก็จะกลายเป็นเบอร์นาร์ด กุย คนต่อไป เพื่อตามฆ่าเรมิจิโอคนต่อมา ...ไม่จบสิ้น

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ขณะที่เขียนอยู่นี้ #ประเทศกูมี มียอดวิวเกือบ 7 ล้านแล้ว ผมนี่ฟังหลายรอบมาก พร้อมโยกเยกไปตามจังหวะและซึมซับเนื้อหาเข้าไปในหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นัก
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลในหนังสือ 'SUM 40 เรื่องเล่าหลังความตาย' ของ David Eagleman มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงสรวงสวรรค์ที่ดวงวิญญาณของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยังคงว่ายเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์แห่งนั้น
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รับงานเลี้ยงชีพชิ้นเล็กๆ มาชิ้นหนึ่ง เนื้องานคือการสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตบุคคล นำมาร้อยเรียงบอกกล่าวสู่คนอ่าน ปรากฏว่าบทสนทนาที่ดำเนินไป ชักพาให้เกิดความคิดคำนึงอันหลากหลาย ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองและหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ‘วัยหนุ่ม ข้าต้องการมีเพื่อนมากมายวัยกลางคน ข้าต้องการมีเพื่อนที่ดีวัยชรา ข้าเพียงต้องการเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน’
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต" วอลแตร์“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอสไตน์
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJเป็นอีกครั้งที่วัดธรรมกายออกมาธุดงค์กลางนคร แล้วก็ถูกสวดยับไปตามระเบียบ ซึ่งคงห้ามปรามกันไม่ได้
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลพนักงานบริการหญิงหรือ Sex Worker นางหนึ่งเดินจับจ่ายซื้อหากับชาวต่างประเทศ เธอพูดกับลูกค้าของเธอว่าI shop. You pay.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJมนุษย์ล้วนตั้งจุดหมายปลายทางของตนเองและพยายามฟันฝ่าไปให้ถึง โดยส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มแรงเสียจนไร้แรงยืนอีกครั้ง เป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากที่ถึงจุดหมายปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลทำให้ ‘ความฝัน’ เป็นสิ่งสูงค่าในสายตามนุษย์ยุคปัจจุบัน
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ