Skip to main content

 



ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยร่วมเคลื่อนไหวในคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่่อนๆ คงได้ข่าว ครก.112 บ้างนะครับ ผมอยากส่งจดหมายแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจเพื่อนๆ เนื่องจากผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม และก่อกรรมทำบาปกับประชาชนมาเป็นจำนวนมากแล้ว

แม้ว่าผมจะไม่ได้ลงแรงมากเท่ากับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการรณรงค์กับครก.ในระยะ 112 วันก็มากมาย ที่สำคัญได้แก่

(หนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ยุติธรรมกับผู้ต้องโทษในคดีนี้ นับตั้งแต่การกล่าวโทษว่าใครผิด ยิ่งอุดมการณ์เบื้องหลังกฎหมายมาตรานี้ยิ่งเลวร้าย ถึงขนาดบิดเบือนหลักสากลของกฎหมายสมัยใหม่ ที่จะต้องถือว่าผู้ต้องหาไม่ผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด

นอกจากนั้น ผู้ต้องหาคดีนี้ในรายที่ยากจน เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นที่ล่อแหลม เป็นคนไม่มีฐานะทางสังคม ก็มักไม่ได้รับการให้ประกันตัว เหมือนไม่เป็นคนเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

ปัญหาของ ม.112 ยังมีอีกมากมายจนอาจอภิปรายกันได้เป็นวันๆ แต่ข้อเลวร้ายที่อยากเอ่ยถึงอีกประการหนึ่งคือ ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้กลั่นแกล้งส่วนบุคคล และเลยเถิดไปถึงใช้เป็นข้ออ้างในการสังหารประชาชนกลางเมืองหลวง ดังที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553

(สอง) แต่สังคมก็ไม่ได้หูหนวกตาบอดต่อปัญหาดังกล่าว ทำให้การรณรงค์ของครก.ไม่ได้มีเพียงนักกิจกรรมทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ นั่นแสดงว่าประชาชนจำนวนมากเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม

จากการไปสัญจรในเวทีต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผมเห็นว่าการตื่นตัวที่จะเรียนรู้ถึงปัญหา ม.112 มีมากเกินกว่าที่เคยมีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาอภิปรายในที่สาธารณะในอดีต 

ที่สำคัญคือ ความตื่นตัวนี้ไม่ได้แบ่งแยกสีเสื้อ มีทั้งคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง และคนเสื้อหลากสีที่เห็นปัญหานี้ ความตื่นตัวไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ตื่นตัวทางการเมือง แต่ยังมีนิสิต นักศึกษาจำนวนมากที่เข้าใจปัญหานี้ จึงกล่าวได้ว่า สังคมทั้งสังคมกำลังเฝ้าติดตามปัญหานี้อยู่

(สาม) คงมีแต่นักการเมืองและชนชั้นนำที่กุมอำนาจอยู่ ที่ไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา ผมวิเคราะห์เอาเองว่า พวกเขากลัวว่าการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ มากกว่าที่จะเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง

คงมีก็แต่องค์กรอิสระที่ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอ ที่จะสามารถแปลงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา ให้เป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ขององค์กรที่ตนเองทำงานรับเงินเดือนอยู่ได้ จึงไม่เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ ม.112

เพราะฉะนั้น แม้ผู้มีอำนาจในสังคมนี้จะยังหน่วงรั้งการเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่คนจำนวนมากในสังคมกำลังเห็นปัญหาของม.112 นั่นแสดงด้วยว่า คนจำนวนมากเห็นอกเห็นใจเพื่อนๆ ที่ต้องขังในนามนักโทษ 112 

พวกเขาไม่ใช่ญาติพี่น้องของเพื่อนๆ ที่ต้องขังอยู่ พวกเขาไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับเพื่อนๆ ที่ต้องขังอยู่ แต่พวกเขาร่วมรณรงค์อย่างแข็งขัน และร่วมลงชื่อจำนวนมหาศาลถึงเกือบ 4 หมื่นรายชื่อ ทั้งๆ ที่กระแสต่อต้านจากกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการแก้ไข ม.112 รุนแรงยิ่งนัก

แม้ว่าวันนี้กฎหมายจะยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลง แต่สังคมย่อมก้าวหน้ากว่ากฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้ และในท้ายที่สุด พลังของสังคมจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจนได้

ขอให้นักโทษ 112 ได้รับกำลังใจจากกระแสสังคมที่ก้าวหน้าและนับวันจะทบทวีการตระหนักต่อปัญหาของม.112 มากย่ิงขึ้นนี้ 

พร้อมขอฝากไปยังผู้มีอำนาจว่า หากพวกคุณใช้ความรู้สึกสำเหนียกถึงความเป็นมนุษย์ในการบริหารประเทศมากกว่านี้ พวกคุณก็จะเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ ในระดับเดียวกับที่ปุถุชนในสังคมไทยเขาเข้าใจกัน


ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

ที่มาภาพ: รายงาน: นักโทษ112 ชวนส่ง 'อีเมล์หยดน้ำ'– โปสการ์ดฝีมือ‘หลานอากง

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก