Skip to main content

ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ

ผมมักจำสลับกันระหว่างหนังสือ "แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ แปลโดยพจนา จันทรสันติ กับหนังสือ "แด่นักศึกษา" ของคานธี แปลโดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ที่อ่านสมัยเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง ผมว่าผมอ่านทั้งสองเล่มนั่นแหละ และความคิดหลายๆ อย่างในหนังสือสองเล่มนั้นคงมีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยทีเดียว (แล้วอย่างนี้ใครยังจะมาว่าผมบ้านักคิดฝรั่งได้ยังไง ยังเขียนเรื่อง "บ่นบนหอคอยงาช้าง" ไม่จบ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง)
 
ผมไม่เคยคิดว่า "นักศึกษา" เป็น "ลูกศิษย์" เลย แม้แต่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนกัน ศิษย์ไม่ได้เป็นแค่ศิษย์ แต่ยังเป็นครูของครูด้วยเสมอ

ยิ่งกว่านั้น ผมไม่ชอบคำว่า "ลูก" ที่มาต่อหน้าคำว่า "ศิษย์" จินตกรรม "พ่อ-แม่-ลูก" ไม่ควรก้าวก่ายอธิบายความสัมพันธ์ไปเสียทุกๆ อย่าง รัฐไทยชอบเอาจินตกรรมนี้ครอบไปเสียทุกเรื่อง จนแยกไม่ออกกันแล้วว่า ใครพ่อแม่จริง ใครพ่อแม่สมมุติกันแน่ ผมคิดกับพวกเขาเสมอเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่เกิดมาร่วมชะตาความไร้สาระเบาหวิววววของการมีชีวิต แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ละโลกเบาหวิวนี้ไปหรอก สนุกจะตายที่จะทุกข์สุขไปวันๆ

ผมชอบอุปลักษณ์ "เรือจ้าง" มากกว่า ยิ่งทุกวันนี้ระบบประกันคุณภาพ ระบบของการทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ยิ่งรู้สึกได้มากขึ้นถึงการเป็นเรือจ้าง เป็นลูกจ้างของนักศึกษา เมื่อส่งนายจ้างถึงฝั่งแล้ว ก็แล้วกัน คนเรือจ้างก็จะยังคอยรับจ้างพายเรือข้ามฟากอยู่อย่างนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะที่นายจ้างเรือข้ามฟาก ผ่านมาแล้วก็จากไป
 
เมื่อพวกคุณขึ้นฝั่งแล้ว ช่วยถีบหัวเรือแรงๆ ก็แล้วกัน คนแจวเรือจ้างจะได้ไม่มีภาระคัดท้ายเรือออกจากฝั่งให้ยากเย็นนั

เรือข้ามฟากเป็นพื้นที่ของการโคจรอย่างไม่รู้จบ น้อยคนนักที่จะข้ามเรือแล้วกลายมาเป็นคนแจวเรือข้ามฟากอย่างผมที่ถูกสาปให้กลับมาเป็นคนแจวเรือ ทั้งๆ ที่ถึงฝั่งไปแล้ว 

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะศิษย์-ครูย่อมเป็นกันชั่วครู่ชั่วคราว ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นครู เป็นอาจารย์ใครกันไปตลอดชีวิต เมื่อจบแล้ว ศิษย์ก็อาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน อาจกลายมาเป็นเพื่อนสนทนา กลายเป็นเพื่อนร่ำสุรา หรือศิษย์ก็อาจเป็นคนที่เกลียดขี้หน้าครู ชิงชังครู เป็นศัตรูกับครู ที่จริงครูผมที่ภายหลังตั้งตนเป็นศัตรูกับผมก็ยังมีเลย และถึงที่สุดแล้ว ศิษย์เป็นเพื่อนร่วมโลกกับครู

วัยอันสดใส-ร่าเริง-มุทะลุ-บ้าบิ่น-คึกคะนอง-ปราดเปรื่อง-ฝันเฟื่อง-ใช้ชีวิตเปลือง ฯลฯ ของหนุ่มสาวมักหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขา "จบการศึกษา" หนุ่มสาวจำนวนมากเข้าสู่วัยทำงาน ตั้งหน้าตั้งตาหาเมียหาผัวสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก ปลูกบ้าน เป็นหนี้ ดูแลพ่อแม่ชรา แล้วชีวิตก็จบลงด้วยการเข้าวัดฟังธรรมเลี้ยงหลาน

หลายคนที่เคยบ้าบิ่น ตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้า พอพ้นวัยเรียน ก็อธิบายตนเองว่า "เฮ่ย! โตแล้ว แก่แล้ว เริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น ออกจากโลกของความฝันแล้ว" แต่ส่วนมากไม่ทันได้สงสัยว่าชีวิตคืออะไร ก็ "ท้องป่อง" (ทั้งชายและหญิงนั่นแหละ) เข้าสู่วัฏสงสาร ทำงานใช้หนี้ให้กับสิ่งจำเป็นในชีวิตจนหัวบานแล้ว

แต่จะว่าไป มนุษย์ที่มีชีวิตรูทีนเหล่านี้แหละที่หล่อเลี้ยงสังคม หล่อเลี้ยงคนช่างฝัน หล่อเลี้ยงสังคมอีกซีกหนึ่งที่ไม่อยากโต ที่ไม่อยาก "เรียนจบ" ไม่อยากหยุดเพ้อพกฝันเฟื่อง 

เพียงแต่ว่า ผมก็ยังอยากเห็นเพื่อนร่วมศึกษา ที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันมาในห้องเรียน ที่กำลังจะถีบหัวเรือจ้างในเร็ววันนี้ จะยังไม่หยุดฝันเฟื่อง จะยังไม่ปฏิเสธความคิดฝันเพียงด้วยพันธะของคำอธิบายว่า "เราโตแล้ว เราจบแล้ว เราเข้าสู่ชีวิตจริงแล้ว" 

ผมยังอยากเห็นพวกเขาจะยังค้นหาความหมายของชีวิต จะยังหยุดคิดสักเพียงบางนาทีในแต่ละวัน เพื่อใคร่ครวญสงสัยว่าเราทำอะไรอยู่ เราเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้เองจริงหรือ เราเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม