Skip to main content

TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 

ต้องเท้าความกลับไปนิดหนึ่งว่า บทเรียนหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของมานุษยวิทยาภาษาคือ การศึกษาว่าภาษามีส่วนกำหนดความคิด การกระทำ และวัฒนธรรมได้หรือไม่ ข้อเสนอนี้ย้อนกลับไปได้ไกลมาก ไกลถึงนักภาษาศาสตร์รุ่นคลาสสิคอย่างฮุมโบล์ดต์ (F. W. H. Alexander von Humboldt,1769-1859)  

ความคิดนี้มาโด่งดังด้วยลูกศิษย์ของฟรานซ์ โบแอส คือเอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ ที่ส่งอิทธิพลให้เบนจามิน ลี วอร์ฟคิดเรื่องนี้ต่อ กลายมาเป็นแนวคิด "สัมพัทธ์นิยมทางภาษา" (linguistic relativism) ในปัจจุบัน ความคิดนี้แพร่หลายมาก มีการศึกษากระจายออกไปมากมาย เชื่อมโยงกับเรื่อง cognitive science คำศัพท์เรียกสี ethnoscience พร้อมๆ กับมีข้อถกเถียงที่ตอบโต้กับแนวคิดนี้มากมายว่าภาษากับความคิดและการกระทำสัมพันธ์กันแค่ไหน อย่างไร เฉพาะแค่จะอ่านเรื่องนี้กันให้แตกฉาน ก็ต้องใช้เวลาทั้งภาคการศึกษาทีเดียว 

กลับมาที่คีท เชน เขาเสนอว่า ภาษากับการออมน่าจะสัมพันธ์กัน เขาสังเกตเห็นว่า ประเทศที่มีการออมสูงๆ นั้น มักเ็นประเทศที่ใช้ภาษาที่ไม่มีการระบุเวลาในอนาคตชัดเจน (เชนเรียกว่า futureless language)เช่น ภาษาเอเชียส่วนใหญ่ ภาษาเยอรมัน ฯลฯ ส่วนภาษาอย่างภาษาอังกฤษ การจะพูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคตจะต้องมีการระบุอย่างชัดเจน แล้วเขาก็เชื่อมโยงเข้าสู่พฤติกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการคิดถึงอนาคตด้วย และก็พบแบบแผนที่เขาเชื่อว่า คนพูดภาษาที่ไม่ต้องระบุอนาคตจะคำนึงถึงพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออนาคตมากกว่าคนพูดภาษาที่ระบุอนาคตชัดเจน 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมก็เลยเอาคลิปเรื่องภาษากับการออมนี้ไปเปิดให้นักศึกษาถกกันในชั้น นักศึกษาวิจารณ์คลิปนี้กันยับเยิน แถมยังช่วยอธิบายสิ่งที่เชนไม่ได้อธิบายในคลิปนี้ด้วย 

นักเรียนภาษาและวรรณคดีเอเชียที่ก็เป็นชาวจีน (เหมือนคีท เชน) อธิบายคำถามที่ผมสารภาพกับนักเรียนในชั้นว่า ผมไม่เข้าใจทำไมคนภาษาที่ไม่ระบุอนาคตจึงคิดถึงอนาคตมากกว่าคนพูดภาษาที่ระบุอนาคต นักเรียนคนนี้ตอบว่า น่าจะเพราะเมื่อคิดถึงอนาคต ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่จำเกิดในอนาคต ก็เลยยังไม่กังวลว่ามันจะมาถึงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ระบุอนาคต ก็จะไม่คิดว่าอนาคตเป็นเรื่องไกลตัว 

นักเรียนเอกภาษาศาสตร์ที่พูดภาษาฟินนิชที่บ้านบอกว่า แค่บอกว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เป็น future language ก็ผิดแล้ว เพราะการพูดถึงอนาคตในภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต่างจากภาษาที่ไม่มี future tense แท้ๆ อื่นๆ คือต้องเพิ่มคำเข้าไปในประโยคจึงจะทำให้เป็น future tense ไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยน tense ได้จากในตัวคำกิริยาเองเลยเมื่อไหร่ 

นักเรียนจีนสองคนและนักเรียนเกาหลีที่เรียนเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามว่า เกาหลีเป็นตัวอย่างหนึ่งของคีท เชน ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการออมสูง แต่ถ้าจะจัดภาษาเกาหลีแบบที่คีท เชนจัดประเภท ก็จะต้องเป็นภาษา futureless แล้วทำไมจึงมีการออมสูงมาก 

นักเรียนหลายคนจึงเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับการออมเป็น coincidence คือแค่พ้องต้องกัน หรือมี correlation กันจริง กันแน่ คือแค่ข้อมูลตรงกัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันหรือเปล่า 

นักเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสเห็นว่า ในแต่ละประเทศที่คีท เชนยกมาในแท่งกราฟว่าเป็นประเทศที่มีการออมสูงหรือต่ำนั้น ก็มีความหลากหลายของชนชั้นทางเศรษฐกิจอยู่ คนมีรายได้มากย่อมออมได้มาก ประเทศกรีซนั้นเห็นได้ชัดว่ายากจนในยุโรป ก็ย่อมมีการออมต่ำ ถ้าในประเทศเดียวกันพูดภาษาเดียวกันยังออมไม่เท่ากัน แล้วภาษาจะเกี่ยวกับการออมได้อย่างไร 

นักเรียนหลายคนยังเห็นว่า มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการออมด้วย แม้แต่ภาษาต่างกัน ก็อาจออมสูงหรือต่ำต่างกันได้ หรือถ้าภาษาเดียวกัน แต่คนมีวัฒนธรรมการบริโภคต่างกัน ก็มีการออมต่างกัน 

น่าจะส่งข้อวิจารณ์เหล่านี้กลับไปให้คีท เชนกับทีมวิจัยนะครับ จะได้ไม่เปลืองเงินทำวิจัยยืนยันความเชื่อตัวเองต่อไป 

แต่ที่สำคัญคือ การเรียนที่ดีก็ต้องเป็นแบบนี้ครับ คือหาเหตุผลและข้อมูลมาโต้เถียงกัน ไม่ใช่ท่องจำและเชื่อฟังอย่างงมงาย คงอีกนานที่การศึกษาไทยจะเจริญ เพราะเรายังท่องจำและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้นำ คนมีอำนาจ และคนที่เชื่อว่าดี กันอย่างงมงายอยู่เลย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม