Skip to main content

ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ในหลายๆ ด้านด้วยกัน 

แรกเลยคือ ผมไม่เคยไปเมืองบอสตันมาก่อน ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อย ผมยังไม่เจอเสน่ห์ของบอสตัน นอกจากความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ที่อาจจะทำให้เมืองพอจะน่าเสน่หาขึ้นมาบ้าง ตัวประชากรจึงน่าสนใจยิ่งกว่าตัวเมือง แต่ที่จริงทั้งสองส่วนกำน่าสนใจคนละแบบ ด้านประชากร ผมสังเกตว่าคนที่นั่นทั้งในตัวเมืองบอสตัน บนรถสาธารณะทั้งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน ส่วนใหญ่มีอายุน้อย คืออยู่ระหว่าง 20 กว่าๆ ถึง 30 กว่าๆ เป็นคนวัยการศึกษาระดับอุดมศึกษา แทบไม่เจอนักเรียนมัธยม เจอคนสูงวัยน้อย นั่นก็ไม่แปลก เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่างมหาวิทยาลัยบอสตัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (มฮ.) และ MIT แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกที่ตั้งอยู่ที่นั่น 

อีกด้านของประชากรคือ มีคนขาวที่พูดหลากภาษาปะปนกับคนเอเชียนมาก ซึ่งผมเดาอีกว่าน่าจะเป็นนักเรียนจากเอเชีย มากกว่าจะเป็นคนที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือในบอสตัน ดูเผินๆ ผมว่าบอสตันคงมีคนเอเชียนมากกว่าคนดำด้วยซ้ำไป ซึ่งนั่นทำให้ "ไชน่าทาวน์" ที่บอสตันค่อนข้างคึกคัก พวกเพื่อนๆ ผมติดใจร้านติ่มซำอยู่ร้านหนึ่ง ผมก็เลยให้พวกเขาพาไปชิม ก็อร่อยและมีติ่มซำจานแปลกๆ ที่ผมไม่เคยกินมาก่อน อย่างขนมกุ่ยช่ายก็ใส่ผักน้อยแล้วใส่หมูเพิ่มเข้ามา แต่ที่โดดเด่นคือติ่มซำที่มีอาหารทะเลผสม จะสด อร่อยมาก คงเพราะบอสตันติดทะเล 

สิ่งที่ดูดีในบอสตันอีกอย่างคือชานเมือง ผมมีโอกาสได้ไปพักทั้งที่โรงแรมนอกตัวเมืองบอสตัน (มีผู้รู้กระซิบมาว่า เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำจากบอสตันไป แถบ มฮ. ต้องเรียกว่าเคมบริดจ์*) และที่บ้านพักอาจารยืไทยท่านหนึ่งที่มาทำวิจัยที่ มฮ. อยู่ห่างจาก มฮ. เพียงสถานีรถใต้ดินเดียว เท่าที่เห็น บ้านเรือนอายุสักร้อยปีขึ้นไปจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนมากมีถึง 3 ชั้น แล้วมักเป็นบ้านเป็นหลังๆ ไม่เหมือนในชานเมืองชิคาโกที่มีบ้านแฝดแบบทาวน์เฮาส์บ้านเราจำนวนมาก อีกอย่างคือคงเนื่องจากมีมหาวิทยาลัยมาก บ้านเหล่านี้มักกลายเป็นห้องเช่าสำหรับนักศึกษา และในอาณาบริเวณที่พักอาศัยจึงมักมีร้านรวง คือเป็นเมืองขนาดย่อม มีร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายของชำ มีกระทั่งร้านขายของที่ระลึก เปรียบได้กับท่าพระจันทร์หรือท่าช้างสมัยรุ่งเรือง ที่มีร้านเล็กร้านน้อยเต็มไปหมด 

เมื่อไปถึงบอสตัน ผมตื่นตาตื่นใจกับจำนวนหิมะที่ตกค้างอยู่มาก ทั้งในเมืองบอสตันและนอก*เมือง มันกองกันอยู่สูงบางแห่งเกือบท่วมหัว นี่ขนาดมันละลายไปบ้างแล้วก็ยังเหลืออีกมาก ถึงสัปดาห์นี้อาจละลายไปเกือบหมดแล้วเพราะอากาศตอนนี้อุ่นขึ้นมาก การมีหิมะกองค้างอยู่ตามทางเดินริมถนนมากขนาดนี้แสดงว่าที่เขาว่าหิมะตกมากที่สุดในรอบ 100 ปีนั้นคงจะจริง จากประสบการณ์การอยู่ในเมืองหิมะอย่างแมดิสัน วิสคอนซินมาก่อน ผมเข้าใจได้เลยว่าทำไมเขาไม่กำจัดมันเสีย เพราะปัญหาใหญ่คือต้องสิ้นเปลืองพลังงานมาก และไม่รู้จะเอาไปกองไว้ไหน ลำพังขจัดหิมะจากถนนให้เกลี้ยงได้ก็เก่งแล้ว ถ้ากำจัดไม่หมดดีจริง หิมะที่ละลายจะกลายเป็นน้ำแข็ง ลื่นและอันตรายมาก 

การนำเสนอผลงานวิชาการที่ มฮ. ก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ผมไม่ได้เกร็งกับการเสนองานวิชาการแบบนี้มาค่อนข้างนานแล้ว แต่นี่ไม่เพียงต้องนำเสนอด้วยภาษาที่ไม่ถนัด แล้วยังเป็นที่ มฮ. ซึ่งมีชื่อเสียงน่าเกรงขาม ก็เลยทำให้ต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้น แม้จะรู้ว่าประเดี๋ยวแค่ 20 นาทีมันก็จะผ่านไป แต่ก็ยังมีความประหม่าและมีช่วงวินาทีเงียบงันอยู่หลายหน แม้จะเตรียมไปอ่าน แต่เมื่ออยู่ในภาวะคับขัน ก็ต้องตัดตอน อาศัยลูกเล่นเฉพาะหน้าเอาตัวรอดไปได้ หลังการนำเสนอเสร็จแล้วมีคนถามมาก ผมก็โล่งใจถือว่าเป็นผลตอบรับที่ดี เพราะหากไม่เอาไหนเลย อย่างน้อยยังพอจะก็ชวนให้คนสงสัยที่จะอยากรู้หรือคิดว่าเราอธิบายอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง 

(ขอบคุณอาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจที่เอื้อเฟื้อภาพ)

อีกสิ่งสำคัญหนึ่งที่ได้รู้คือ งาน Human Rights and Everyday Governance in Thailand: Past, Present, and Future (สิทธิมนุษยชนกับการปกครองชีวิตประจำวันในประเทศไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ที่ผมไปร่วมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกู้ชื่อเสียงของ มฮ. ที่ถูกวิจารณ์ว่ารับเงินฝ่ายอนุรักษ์นิยมจากประเทศไทยที่สนับสนุนรัฐประหารไปก่อตั้งโครงการไทยศึกษา งานนี้ถือเป็นการตอบคำถามว่า มฮ. จะถูกแหล่งทุนชักนำหรือบิดเบือนให้ละเลยเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ ผู้จัดเชิญทั้งฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน (แต่ตัวแทนจากสถานทูตไทยไม่ได้มาร่วมงาน อ้างว่าการเดินทางขัดข้อง) และฝ่ายรัฐบาลเก่า (ซึ่งมีตัวแทนจำนวนหนึ่งเดินทางมาฟังและแสดงออกทางการเมือง) และอนุญาตให้ตัวแทนนักวิชาการที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยได้อ่านแถลงการณ์ในงาน ก็นับได้ว่า มฮ. สามารถตอบโต้ข้อครหาได้ค่อนข้างดี 

ที่จริงยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก เช่น การได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา ซึ่งเป็นเพียงแห่งหนึ่งในบรรดารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วนของ มฮ. เอาไว้เมื่อกลับไปอีกจะหาโอกาสชมให้มากขึ้นแล้วจะมาเขียนเล่าอีก อย่างไรก็ดี พร้อมๆ กับประสบการณ์เหล่านั้น ผมยังได้พบเจอและสังสรรค์กับมิตรสหายที่ไม่ได้เจอกันมานานเกือบปีแล้ว นับเป็นการพบเจอกันในที่ห่างไกลบ้านเมืองของแต่ละคนอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน ซึ่งก็ยังความรื่นรมย์และพลังใจให้ทำงานกันต่อไปได้ไม่น้อยทีเดียว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม