ยุกติ มุกดาวิจิตร: เมื่อนักต่อต้านทำการตลาด

ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้

ก็ไม่ใช่ว่าผมจะมองไม่ออกหรอกนะครับว่า การขายข้าวของ บก.ฯ จะมีนัยอย่างไร เพียงไม่นึกไม่ถึงว่าจะมีพลังมากขนาดนี้ ขอบันทึกเพื่อความเข้าใจของตัวเองว่าอย่างนี้ก็แล้วกันครับ (เพื่อความเข้าใจของตนเองนะครับ ใครเห็นว่าไม่เห็นจะมีประเด็นอะไร ไม่เห็นจะต้องมาเขียนอะไร ก็ไม่เห็นจะต้องอ่าน ผ่านเลยไปครับ)  

หนึ่ง ผมว่า บกฯ ฉลาดเรื่องปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์เสมอๆ ตั้งแต่การเป็นคนเริ่มใส่เสื้อแดงเป็นคนแรก โดยอาศัยคำขวัญ "วันอาทิตย์สีแดง" ผมยังจำคลิปที่ บกฯ ใส่เสื้อแดงพุงกลมไปเล่นละครใบ้ที่สีลมได้ สุดท้าย เสื้อแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดขบวนการหนึ่งในประเทศไทยในรอบทศวรรษ 2540-2550 (ก่อนหน้านี้มีขบวนการสมัชชาคนจน กับขบวนการพันธมิตรฯ ที่เรียกร้อง ม.7)  

สอง อีกระดับหนึ่งที่ผมว่าน่าประทับใจคือ บก.ฯ เก่งเรื่องการริเริ่มสร้างความหมายทางการเมืองจากวัฒนธรรมสามัญ อย่างการชวนคนไปกินแฮมเบอร์เกอร์ ผมถามคนสนิทกับ บก.ฯ มากคนหนึ่งว่า ตกลง บก.ฯ ชอบกินแฮมเบอร์เกอร์ จริงๆ เหรอ คนนั้นตอบว่า เท่าที่รู้ไม่เห็นเคยชอบนะ แต่ในเมื่อพื้นที่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ใจกลางสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการไปแล้วในระยะหนึ่ง ร้านแฮมเบอร์เกอร์นั้นก็เลยกลายสภาพไปเป็นที่นัดชุมนุมทางการเมืองไปด้วยในตัว วิธีทำนองเดียวกันนี้ภายหลังกลุ่มนักศึกษาก็ใช้เช่นกัน แต่ผมว่าพวกเขาคงไม่ได้เอาอย่าง บก.ฯ หรอก เพียงแต่มันคล้ายกัน 

สาม บกฯ สื่อสารกับคนด้วยภาษาง่ายๆ ได้ดี เมื่อก่อน ซึ่งไม่นานมานี้นักหรอก ผมว่า บก.ฯ เป็นคนพูดไม่เก่งนะ ผมเคยฟัง บก.ฯ พูดอภิปรายในบางเวที ผมฟังแทบไม่เข้าใจเลย หรือเป็นเพราะเวทีนั้นเป็นเวทีวิชาการก็ไม่รู้ หรือจะเพราะ บก.ฯ เคยถนัดแต่ละครใบ้ก็ไม่รู้ แต่หลังๆ มา บก.ฯ สื่อสารเก่งมาก ทักษะในการพูดของ บก.ฯ นี่ ในวงอภิปรายหรือรายการทีวีที่ไปร่วมเวทีกันทีไร (นึกๆ แล้วก็แปลกดีที่ไปร่วมเวทีเดียวกับ บก.ฯ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง) ถ้าผมต้องพูดหลัง บก.ฯ ละก็ ต้องหามุกหลบไปเป็นวิชาการจ๋าๆ เลยทุกที  

สี่ เรื่องการสื่อสาร มีรายละเอียดที่สำคัญอีกคือ ตรรกของ บก.ฯ มักจะแหวกแนว มีเวทีนึง ผมไปร่วมเวทีกับ บก.ฯ และผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ อีก 2-3 คน เป็นเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทุกคนวิจารณ์ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เป็นอยู่ โดยนัยที่ว่าจะปรับปรุงมันยังไง พอถึงคิว บก.ฯ บก.ฯ บอก "ผมว่าเราน่าจะสร้างมหาวิทยาลัยแบบใหม่" แล้ว บก.ฯ ก็หันมาชวนผมว่าให้ยกเลิกหรือลาออกจากมหาวิทยาลัยปัจจุบันไปตั้งมหาวิทยาลัยแบบใหม่กันดีกว่า บก.ฯ เก่งเรื่องการคิดแหวกแนวมาก แล้วแกคิดจริงจังด้วย ไม่ใช่แค่คิดหรือพูดลอยๆ คือจริงจังแบบมีแนวทางมีแผนงานที่ใกล้จะทำจริงได้เลย 

ห้า (ชักเยอะแล้วนี่) มุกใหม่ของ บก.ฯ เรื่องการขายข้าวนี่ ที่จริงก็ต่อเนื่องมาจากการขายนาฬิกา ผมนั่งดู บก.ฯ ขายนาฬิกา ซึ่งก็เคยเห็นอยู่เรือนหนึ่งในบ้านคนรู้จักกันดี "แถวนี้" แล้ว ผมก็ว่า บก.ฯ คงใจเย็น คือค่อยๆ ขายทั้งสินค้าและความคิดไปแบบเรื่อยๆ เรียงๆ แต่พอกระโดดมาขายข้าวนี่ ผมว่า "มันใช่เลย" ยิ่งเสธ.ไก่อู เริ่มกระแนะกระแหนในลีลาทหารดีแต่ปากนี่ ผมว่า บก.ฯ ขายของออกแล้ว ผมว่านี่เป็นการแปลงวิธีการแบบที่คนเมืองเข้าใจได้มาเป็นขบวนการทางสังคมได้อย่างชาญฉลาดอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแปลงตรรกแบบการตลาดมาเป็นพลังของผู้ด้อยอำนาจอย่างแยบคาย 

ขายของต่อไปครับ บก.ฯ ผมทำอะไรแบบ บก.ฯ ไม่เป็นสักอย่าง ทำได้แค่หาทางทำให้ตัวเองเข้าใจ บก.ฯ แบบที่ขีดๆ เขียนๆ มาเท่านั้นเอง

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด