Skip to main content

ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว

ถึงกระนั้น ผมก็อยากเสนอความเห็นให้พิจารณาถึงจังหวะก้าวและความเข้าใจสถานะความเคลื่อนไหวของพวกคุณสักหน่อย เพื่อที่ว่าพวกคุณจะได้ไม่คิดเพียงว่าย่างก้าวของพวกคุณเป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือดำเนินตามโมเดลของขบวนการนักศึกษาในอดีต 

จริงอยู่ที่ย่างก้าวของพวกคุณในขณะนี้คือการแสดงตนเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมและไร้ความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร พร้อมกับทั้งเรียกร้องมโนธรรมสำนึกของประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงปัญหาพื้นฐานของการอยู่ใต้ระบอบเผด็จการอย่างในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของพวกคุณในขณะนี้จึงดูละม้ายคล้ายกันกับการเคลื่อนไหวของคณะนักศึกษาในอดีต  

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังหวังว่าพวกคุณจะมองเห็นความแตกต่างอย่างสำคัญของการเคลื่อนไหวในขณะนี้กับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในอดีต แม้ว่าอำนาจที่พวกคุณนำธงต่อสู้อยู่นั้นจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จดังในอดีต แต่พวกคุณก็ต้องประเมินโฉมหน้าของเผด็จการในปัจจุบันให้แหลมคมยิ่งขึ้น 

ดังที่มีผู้มากประสบการณ์และเฝ้าประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดคนหนึ่งวิเคราะห์ไว้ถึงเงื่อนไขของการต่อสู้กับเผด็จการในอดีต ผมเห็นด้วยแต่ก็จะไม่กล่าวซ้ำความเห็นนั้น ผมแค่อยากเสนอเพิ่มเติมว่า เผด็จการปัจจุบันอาจมีโฉมหน้าแตกต่างออกไปบ้าง ก็ด้วยเพราะมีผู้สนับสนุนที่มีต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูง ซึ่งก็คือเหล่า "ชนชั้นสูงระดับล่าง" (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า upper middle class) สนับสนุนอยู่อย่างหนาแน่น ผมหวังว่าคุณจะพิจารณาเงื่อนไขนี้อย่างถี่ถ้วน เพื่อที่ว่าการต่อสู้ของพวกคุณจะเห็นเงื่อนงำที่ยากเย็นเพราะไม่มีทางที่จะหาฉันทานุมัติจากสังคมได้โดยง่าย 

ในอีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่าก็ควรพิจารณาเงื่อนไขส่งเสริมใหม่ๆ คือพลังสนับสนุนและพลังความหวังต่อความก้าวหน้าของสังคมที่มีมาจากประชาชนผู้ด้อยเสียง ผู้ไม่ถูกรับรู้ในสังคม พลังในเชิงโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ของคนกลุ่มนี้ ที่ผมขอเรียกว่า "ชนชั้นใหม่" จะเป็นเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกินเลยความคาดหวังของเผด็จการ ด้วยเพราะมันสมองของเผด็จการมองข้ามพลังเหล่านี้ พวกเขาจึงประเมินพลังเหล่านี้ต่ำเกินไปกว่าแค่เดินถือปืนข่มขู่ในหมู่บ้านแล้วพวกเขาก็จะเงียบสงบลงเอง เกินไปกว่าแค่มวลชนไร้สำนึกที่ถูกชักจูงล่อหลอกโดยนักการเมือง 

อีกพลังหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขใหม่ซึ่งคณะรัฐประหารครั้งนี้เผชิญอย่างรุนแรงเหนือความคาดหมายเกินกว่าการรัฐประหารครั้งที่แล้ว เป็นพลังที่อำนาจเผด็จการในอดีตเคยได้รับการสนับสนุนคือ พลังทัดทานจาก "โลกสากล" ที่เรียกว่าโลกสากลเพราะไม่ใช่แค่ลมประชาธิปไตยตะวันตก แต่ทั้งญี่ปุ่น เหาหลีใต้ ไต้หวัน และพลังก้าวหน้าในอาเซียนเอง ก็ทั้งส่งสัญญาณและเฝ้าระวังอยู่อย่างเงียบๆ ว่าการถดถอยลงของก้าวย่างประชาธิปไตยในประเทศไทยจะนำมาซึ่งการกลับมาของพลังอนุรักษ์นิยมในภูมิภาค ที่ผ่านมาผมเห็นพวกคุณเข้าใจและเข้าหาพลังเหล่านี้ได้ดี หากแต่ผมก็ยังอยากเสนอให้พิจารณาว่า พวกคุณจะสานต่อกับพลังทัดทานใหม่ๆ ที่เผด็จการไทยไม่คุ้นเคยมาก่อนเหล่านี้อย่างไร  

แต่ถึงอย่างนั้น ก็อย่างประเมินเผด็จการคณะนี้ต่ำเกินไป อาการ "เลือดเข้าตา" "เสือลำบาก" ก็อาจจะก่อโศกนาฏกรรมโง่ๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วได้ ผมยังหวังว่าความกล้าหาญของพวกคุณจะไม่กลับกลายเป็นความดันทุรัง แม้ว่าจุดสมดุลนี้จะหาได้ยาก แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นในวิจารณญาณของพวกคุณว่าจะไม่ตัดปัจจัยความบ้าบอไร้สติของคณะรัฐประหารนี้ออกไปเสีย  

สุดท้าย ผมอยากจะบอกว่า พวกคุณได้จุดไฟของการลุกขึ้นยืนไปอีกก้าวหนึ่ง ผมคิดว่าสังคมก็ไม่ได้อยากจะวางภาระหนักอึ้งนี้ให้พวกคุณเสียสละโดยลำพัง เพียงแต่จังหวะและโอกาสที่สังคมจะสานต่อแปลงพลังนี้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องแลกด้วยความอดทนของพวกคุณบ้าง ก็หวังว่าพวกคุณจะคิดอ่านอย่างสงบนิ่งและหนักแน่นพอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม