Skip to main content
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง ยามเช้าแสงแรกแห่งวันยังไม่เยี่ยมกรายมาเยือน แต่สรรพชีวิตก็ถูกปลุกให้ตื่น หลังจากรถจอดสงบนิ่งแล้ว ผู้โดยสารทยอยลงจากรถ เสียงถามไถ่จากคนขับรถรับจ้างดังมาไม่ขาดสาย บางคนลงจากรถแล้วแต่จุดหมายปลายทางของเขายังอีกไกล แต่บางคนก็ได้กลับบ้านไปพักผ่อน เพราะเหนื่อยล้ากับการเดินทางมาทั้งคืน หากนับรวมผู้โดยสารที่ต้องเดินทางต่อไป ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น  ปลายทางของฉันอยู่ที่หมู่บ้านใกล้แม่น้ำมูน ว่ากันว่าหมู่บ้านแห่งนี้ไกลออกไปจนถึงเส้นขอบแดนประเทศ และปลายทางที่ฉันจะไป ที่นั่นเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในประเทศ
หัวไม้ story
  หัวไม้ story คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต ‘สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็น ‘หัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ ‘หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ, ชลธิชา ดีแจ่ม นานๆ ทีจะเห็นคนระดับนายกรัฐมนตรีออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และระดับคุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะพูดอะไรมักต้องเป็นที่ฮือฮาป่าแตกเสมอ ดังเช่นการวิจารณ์ว่า ‘อีไอเอ' หรือ ‘รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม' ที่เจ้าของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องศึกษาแล้วส่งให้ สผ.พิจารณานั้นคล้ายๆ จะขัดขวางความเจริญ ทำให้การลงทุนล่าช้า สะดุด หยุดชะงัก....ทำนักลงทุนเดือนร้อน ใครรับผิดชอบ ฮึ !
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน ทั้ง ๒ คนเป็นล่ามแปลภาษาของกันและกัน ถัดจากพวกเราไปเป็นหญิงชราวัย ๖๓ หญิงชรามีหน้าที่พายเรือ การพายเรือของหญิงชราแปลกแปร่งไปจากที่เคยเห็น เพราะแกใช้ตีนทั้งสองข้างในการถีบไม้พายที่ผูกติดเอาไว้กับกราบเรือ คงไม่ผิดแปลกอันใดที่จะกล่าวว่า เรือมุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงเฉื่อยของตีนคน ผมเก็บความสงสัยเอาไว้ไม่อยู่จึงตัดสินใจถามผ่านล่ามว่าด้วยเหตุผลกลใด หญิงชราจึงใช้ตีนทั้งสองข้างพายเรือ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ตีนมีแรงมากกว่ามือ และมือก็ต้องเอาไว้ใช้เก็บกู้กุบ (เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) ที่จมอยู่ในน้ำขณะเราลอยเรืออยู่เหนือสายน้ำ เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบบ่าย ๒ แต่บนฟ้าเฆมยังคงมืดครึ้ม และฝนก็ยังโปรยสายลงมาบางเบา ในม่านฝน เรือบรรทุกทรายลำใหญ่หลายลำกำลังเร่งเครื่องเพื่อทวนน้ำขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำ ในเรือลำใหญ่บรรทุกทรายจนปริ่มกราบเรือ ทรายจากริมฝั่งแม่น้ำถูกนำไปใช้ในกิจการก่อสร้าง เมื่อเรือลำใหญ่วิ่งผ่าน ชายชราก็จะโยนก้อนหินลงน้ำ นัยว่าเพื่อถ่วงเรือเอาไว้
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองตั้งใจจะพักเรื่องการเมืองที่กำลังร้อนขึ้นหลังวันที่ 28 มี.ค.นี้ เลยหลบไปแถวแม่น้ำเพื่อให้ลมเย็นๆ กับสายน้ำที่ชุ่มฉ่ำๆ ไหลมาชโลมให้ชื่นจิตชื่นใจ แต่ไปจนถึงริมฟังแม่โขง กลับมาไม่วายร้อนรุ่มใจดังเดิม ไม่ใช่เพราะดื่มไปหลายกลมจนตัวร้อน แต่ได้ไปฟังข่าวแว่วๆ มาแล้วท่าทางไม่ค่อยจะดี....วันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็น ‘วันหยุดเขื่อนโลก' และตรงกับงานบุญ 100 วัน คุณมด ‘วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์' ที่ ตำบลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หลังไปร่วมงาน เลยไปอีกหน่อยเป็นอำเภอโขงเจียม ติดแม่น้ำโขง ได้ดูแม่น้ำอันกว้างใหญ่สมใจ แต่ชาวบ้านที่งานบุญคุณมดเล่าให้ฟังว่า หลังท่านสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนประเทศลาวแล้ว ดูเหมือนจะจับมือปลงใจกันเตรียมสร้างฝายห้วยกุ่มกั้นแม่น้ำโขงที่สำคัญคือ เขาบอกว่าจะสร้างฝายแต่สูงถึง 18 เมตร ดูท่าขนาดมันน่าจะใหญ่โตกว่าเขื่อนปากมูลเสียอีก !!!
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ และคิดเอาเองเป็นวรรคเป็นเวรเสียด้วยอย่างเช่นเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ลุงรัญเล่าให้ฟังว่า “หลังจากประเทศเราได้รัฐบาลใหม่ คนที่ถูกขนานนามว่า รากหญ้ามีความยินดีปรีดาเป็นอย่างมาก เพราะนโยบายเก่าๆ ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้เคยทำไว้จะถูกนำมาสานต่ออีกครั้ง อย่างโครงการเงินล้านก็จะกลับมาอีกครั้ง และนโยบายหลายส่วนคนทั้งประเทศก็จะได้รับผลประโยชน์ อย่างโครงการผันน้ำโขงให้คนในภาคอีสานที่รัฐบาลโดยท่านผู้นำที่หน้าตาไม่ค่อยหล่อแถมพูดไม่เพราะในบางครั้งกำลังตัดสินใจที่จะทำ คนอีสานก็ได้ประโยชน์ เพราะจะได้ทำนากันตลอดปี ที่สำคัญแผ่นดินอีสานที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งความแห้งแล้งก็จะได้ไม่แล้งอีกต่อไป”
ประสาท มีแต้ม
๑.คำนำเมื่อ ๗ ปีก่อน  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คิดวิชาใหม่ขึ้นมาหนึ่งรายวิชา หากคำนึงถึงแนวคิด เนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนแล้ว อาจถือว่าได้วิชานี้เป็นวิชาแรกในประเทศไทยก็น่าจะได้  ผมจึงอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้จ่ายภาษีมาตลอดได้รับทราบครับ ด้วยขั้นตอนตามระเบียบของมหาวิทยาลัย เราได้เริ่มลงมือเปิดสอนจริงเมื่อ ๓ ปีมาแล้ว รายวิชานี้ชื่อว่า “วิทยาเขตสีเขียว (Greening the Campus)”  เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่สามทุกคน เรื่องที่จะนำมาเล่าอย่างสั้นๆ นี้ ได้แก่ แนวคิด เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอน  สิ่งที่นักศึกษาค้นพบและร่วมผลักดันขยายผล รวมทั้งความรู้สึกของนักศึกษาบางคน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ สิ่งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ทำแม้ว่าอาจไม่ช่วยให้แม่น้ำที่พวกเขารู้จักกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิม แต่ทุกคนก็ยินดีจะทำ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านกระทำคือการสืบทอดความเชื่ออันมีมาแต่บรรพบุรุษตามคติความเชื่อแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาหมายถึง การต่ออายุให้ยืนยาวออกไป ในกรณีของทางภาคเหนือนั้น การต่อชะตามีหลายอย่าง และนิยมทำในหลายกรณี ชาวบ้านบางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับแม่น้ำ ในยามที่เห็นว่า แม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ แต่สำหรับบางชุมชน แม่น้ำก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ชาวบ้านก็นิยมจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ เพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับแม่น้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย
ที่ว่างและเวลา
‘ดอกเสี้ยวขาว’   การที่ต้องลำบากเดินลัดเลาะไปตามร่องเขา ไต่ขึ้นไปบนความสูงชัน นานหลายชั่วโมง เพียงเพื่อไปกวาดใบไม้บนสันดอยสูงนั้น หลายคนอาจมองเป็นเรื่องธรรมดาไม่สำคัญ แต่สำหรับผมกลับมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ที่นั่น, บนสันดอยสูง...พวกเขาช่วยกันกวาดใบไม้ ก่อนที่จะจุดไฟเผา ซึ่งไม่ได้ไปคนเดียว แต่ไปร่วมกันหมดทุกหลังคาบ้าน มีทั้งผู้เฒ่า เด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้นำทางศาสนา ฯลฯ “ตอนนี้ถ้าทางการเขาสั่งห้ามเผาป่า จะทำได้มั้ย?...” ผมลองแหย่ถามชาวบ้าน “แล้วถ้าเขาสั่งห้ามกินข้าว เราจะทำได้มั้ย...ถ้าเชื่อ เราก็ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินอะไรเลย...” ชาวบ้านชนเผ่าลาหู่คนหนึ่งเอ่ยออกมา ในขณะที่กำลังช่วยกันกวาดใบไม้บนสันดอย ก่อนจุดไฟเผาเศษไม้ใบหญ้าเพื่อทำเป็นช่องว่าง ทำแนวกันไฟ ใช่, การเผาป่า หลายคนบอกว่ามันผิด และอาจจะถูกจับกุมได้ เพราะมีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แต่การเผาของชาวบ้านที่นี่ เขาเรียกกันว่า ‘การชิงเผา’ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการจัดการไฟป่าด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่อยู่ในเขตป่าชุมชน ป่าที่ให้ชีวิตแก่พวกเขา มีตาน้ำที่ค่อยๆ หยาดหยด โดยผ่านขุนห้วยเคี้ยวคดรดรินไหลลงมาหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ ดังนั้นเขาก็ต้องรักษาด้วยชีวิตไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ผู้นำชนเผ่าลาหู่เล่าให้ฟังว่า เรามีการพูดคุยกันทุกปี ทั้งเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ จะมีการช่วยกันสอดส่องดูแล และทุกปีจะมีการทบทวนกฎระเบียบที่ตั้งไว้ ทุกคนมีหน้าที่ มีสิทธิในการดูแลรักษาป่า ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรให้แจ้งคณะกรรมการหมู่บ้าน เราทำกันเองไม่มีงบประมาณอะไร เราจะใช้วิธีชิงเผาก่อน “ทำอย่างไรหรือ ชิงเผาก่อน...” ผมถาม “ก็ช่วยกันกวาดใบไม้ที่หล่นลงมารวมกันตรงกลาง ก่อนที่จะจุดไฟเผา แต่ถ้าเรากองไว้ข้างๆ มันจะกองใหญ่ ถ้าไฟมา จะลุกไหม้และจะลามลุกข้ามไปได้ เราจึงใช้วิธีนี้มานานแล้ว”ผู้นำชนเผ่า บอกเล่าให้ฟัง             ทำให้ผมนึกไปถึงมติการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำวันที่ 8 มกราคม 2551 การเตรียมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี 2551 (สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) อีกครั้งหนึ่ง... ในมติ ครม.ฉบับนั้น บอกว่า ในห้วงฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนพฤษภาคม 2551) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะพัดปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ปริมาณฝนตกน้อย ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีความแห้งแล้ง และมีลมกระโชกแรง มีโอกาสที่จะเกิดไฟป่าและหมอกควันไฟได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าไม้และภูเขาสูงในภาคเหนือตอนบน การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้แจ้งให้จังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่และน่าน) ดำเนินการตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) ในการเตรียมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าปี 2551 โดยให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัดและระดับอำเภอ และบูรณาการการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและมาตรการที่จังหวัดจัดทำไว้ในห้วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 - เมษายน 2551 เน้นการดำเนินการทั้งมาตรการด้านการควบคุม การป้องกันและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนในการงดเว้นการเผา โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หากไม่เป็นผลให้ดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง! ในระหว่างที่ผมกลับมาเขียนงานชิ้นนี้ ผมนั่งมองผ่านหน้าต่างออกไป เห็นไฟป่าที่กำลังลุกลามเลียอยู่เหนือดอยผาแดงทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เส้นทางเดินของไฟป่า ขีดเป็นแนวคดโค้งไปมา บางแห่งมอดดับเห็นแต่แสงรำไร บางแห่งลุกโชติช่วง สว่างไสว เหมือนไม่มีวันที่จะดับมอดลง ท่ามกลางพงไพร ที่ไร้แสงจันทร์นวล พลางให้นึกถึงครูประถม ที่เคยบอกว่า การเสียดสีของต้นไม้ ทำให้เกิดไฟป่า ซึ่งผมเชื่อในตอนนั้น และตอนนี้รัฐบาลก็บอกผมอีกว่า ชาวบ้านเป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่า ที่รัฐเรียกขานว่า ชาวเขา เป็นผู้ทำลายป่า เป็นตัวบ่อนทำลายชาติ เป็นพวกค้ายาเสพติด และเป็นต้นเหตุของสิ่งเลวร้ายทั้งปวง ล่าสุดก็ได้รับข้อกล่าวหานี้เพิ่มขึ้นอีกแล้ว “จะห้ามเผาในไร่ของตัวเองเป็นไปไม่ได้ เราทำแบบนี้มานานแล้ว แต่เราก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถ้าจะดีต้องควบคุมไม่ให้ไหม้เข้าไปในป่า หรือการนำเศษวัชพืช มาทำปุ๋ยหมัก บางพื้นที่ชาวบ้านไม่ได้เผาเลย เพราะช่วงนี้ปลูกถั่วอยู่อยู่ในไร่ แต่ถ้าคนไหนปลูกข้าวโพดเพียงอย่างเดียว ไม่ปลูกถั่ว เขาก็จะเผา เพราะหญ้าจะแรง หญ้าจะงอกมาเร็ว เมื่อไม่ได้ปลูกถั่วเนื่องจากพื้นที่ได้ถูกปล่อยไว้ให้วัชพืชจะขึ้นมาก ถ้าไม่มีการดูแล ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เท่านั้นที่มีการเผา” “แล้วถ้าไม่ให้ชาวบ้านเผา จะทำอย่างไรกันดีล่ะ...” “ถ้าจะแก้ไขปัญหาไม่ให้ชาวบ้านเผาป่าช่วงนี้ ก็น่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วต่างๆ หลังจากปลูกข้าวโพด และดูแลเรื่องราคาตลาดให้ด้วย อย่างนี้ชาวบ้านจะไม่ต้องเผาไร่ เพราะการย่อยสลายของถั่วย่อยได้เร็วกว่า เราก็ไม่ต้องเผา ปลูกข้าวไร่ต่อได้เลย” นี่เป็นความคิดของชาวบ้านเผ่าลาหู่คนหนึ่ง ที่ได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนวทางการแก้ไข ทางออกของปัญหาในพื้นที่ของเขา “รัฐบาลอยากให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน” นี่คงเป็นเพียงคำพูดประโยคหนึ่งเท่านั้น ถามว่าที่ผ่านมา เคยรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านบ้างไหม เคยมาเรียนรู้วิถีชีวิตพวกเขาบ้างไหม การใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหา ไม่ประสบความสำเร็จแน่นอนถ้าปราศจากความร่วมมือของชาวบ้าน ผมเชื่ออย่างนั้น การแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้(สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช) ก็คงไม่แตกต่างกันกับชุดที่มาจากการรัฐประหาร แว่วข่าวมาว่า มีการสั่งการมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ออกข้อบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า และให้บังคับใช้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐใช้อำนาจการปกครองนั้นผ่านกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอด แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงดำเนินมาในรูปแบบที่รัฐมีอำนาจในการควบคุมดูแลการพัฒนาการเมืองไทยในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองเกิดขึ้นในระดับชาติ เท่านั้น แต่ในระดับท้องถิ่นแทบไม่มีการพัฒนาในทิศทางดังกล่าวเลย ตอนนี้ผมไม่เชื่อทั้งครู และรัฐบาล ที่คอยพร่ำบอกไว้ อย่างนั้นอย่างนี้อีกแล้ว ตราบใดที่เราไม่ได้มาสัมผัสกับความเป็นจริง อยู่กับความเป็นไป และในสังคมที่ไร้ความชอบธรรมเยี่ยงนี้ ผมเลือกที่จะเชื่อตัวผมเองและผมเชื่อในความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หลังจากที่ได้มาสัมผัสกับพี่น้องชาวบ้าน “เราเป็นคนดอย อยู่ในดอย หากินในดอย จะให้ไปอยู่ในเมือง เราก็อยู่ไม่ได้ คนในเมือง มาอยู่ในดอยก็อยู่ไม่ได้ เรามีวิถีที่แตกต่างกัน แต่ก็อยากให้ลงมาสัมผัสกับวิถีชีวิตของเรา ว่าเป็นอย่างไร…” ผู้นำชนเผ่าลาหู่ เอ่ยออกมาในวันนั้น ในวันที่พี่น้องชนเผ่าช่วยกันกวาดใบไม้บนสันดอย... ผมยังนั่งนิ่งมองไฟป่า ริมหน้าต่างบ้านสวนบนเนินเขา แสงไฟเริ่มมอดดับลง เห็นเพียงแค่จุดเล็กๆของถ่านไฟที่ยังมีเชื้อไฟติดอยู่ พระจันทร์ครึ่งดวง เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้าเหนือดอยผาแดง แสงของพระจันทร์ยังเปล่งแสงได้ไม่เต็มที่ หากยังมองเห็นเมฆลอยคว้างอยู่บนฟ้า ทำนึกถึงภาพในอดีตอีกครั้ง… ...เมื่อก่อนก็มีไฟป่า ชาวบ้านก็เผาป่า เผามากกว่าเดี๋ยวนี้ด้วยซ้ำ ไม่เห็นจะเดือนร้อนเหมือนกับตอนนี้เลย ไม่เคยมีปัญหาเรื่องหมอกควัน แล้วสาเหตุที่แท้จริงมันเกิดจากอะไรหนอ....???
ประสาท มีแต้ม
ผมว่างเว้นจากการเขียนบทความมานานกว่าสองเดือนแล้ว จนอันดับบทความของผมที่เรียงตามเวลาที่เขียนในเว็บไซต์ “ประชาไท” ตกไปอยู่เกือบสุดท้ายของตารางแล้ว สาเหตุที่ไม่ได้เขียนเพราะผมป่วยเป็นโรคที่ทันสมัยคือ “โรคคอมพิวเตอร์กัด” ครับ มันมีอาการปวดแสบปวดร้อนไปทั่วทั้งหลัง พอฝืนทนเข้าไปทำงานอีกไม่เกินห้านาทีก็ถูก “กัด” ซ้ำอีก ราวกับมันมีชีวิตแน่ะที่นำเรื่องนี้มาเล่าก่อนในที่นี้ไม่ใช่อยากจะเล่าเรื่องส่วนตัว แต่อยากนำประสบการณ์ที่ผิดๆ ของผมมาเตือนท่านผู้อ่านโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะเก็บเรื่องของผมไปเป็นบทเรียน โปรดอ่านที่หมายเหตุในตอนท้ายบทความนี้ก็แล้วกันครับเมื่อเริ่มกลับมาเขียนใหม่ จะเขียนเรื่องพลังงานตามที่สนใจก็ขาดข้อมูล เพราะไม่ได้ติดตามมานาน จึงขอนำเรื่องใกล้ๆตัวมาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันครับ คือเรื่องงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาของภาควิชาทีผมทำงานอยู่ คือภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ปีนี้เรามีว่าที่บัณฑิตประมาณ 90 คน แต่เข้าร่วมงานได้จริงเพียง 75 คน บางคนติดสอบเรียนต่อ บางคนญาติเสียชีวิต บางคนเบี้ยวเอาดื้อๆ สิ่งที่ผมจะนำมาเล่าเป็นเพียงบางส่วนของงาน ไม่ใช่ทั้งหมด
Hit & Run
  พืชผักผลไม้ในท้องตลาด เสี่ยงต่อการมีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างจากการผลิตแบบเกษตรเชิงพาณิชย์ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตดังนั้นจึงมีเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งแสวงหาทางเลือกใหม่ หนึ่งในทางเลือกนั้นคือการทำ ‘เกษตรอินทรีย์'พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) และสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) จัดกิจกรรมผู้บริโภคสัญจรไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์ ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พบกับเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักอินทรีย์ สร้างความเข้าใจร่วมกันถึงกระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่อินทรีย์ที่ได้ไปเยี่ยมเยียนกันคือ สิงห์แก้ว แสนเทชัย หรือพะตี ‘ชีแนะ' ชาวบ้านปกาเกอะญอ หมู่ 4 ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่พี่ชีแนะ เล่าให้ฟังว่า ทำสวนตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา เคยปลูกพืชผักเมืองหนาวมาหลายอย่าง ทั้งกาแฟ ถั่วแดง สตรอเบอรี่ โดยมีนายทุนจากเพชรบุรีเอาพันธุ์ เอาปุ๋ยเคมี เอายากำจัดศัตรูพืชมาให้ แต่ต้องขายพืชผลให้กับเขาเท่านั้น บางปีได้ผลผลิตมาก บางปีได้ผลผลิตน้อย บางปีเป็นโรค ขายได้ราคาดีบ้างไม่ดีบ้าง ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีมากขึ้น และอันตรายขึ้น ทำมา 20 ปี เป็นหนี้สะสมกว่า 150,000 บาทพี่ชีแนะบอกว่ากระบวนการเพาะปลูกพืชปัจจุบัน ทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภคต่างมีโอกาสได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทั้งนั้น"ถึงชาวบ้านไม่ปลูกสตรอเบอรี่เอง ก็ไปรับจ้างเก็บสตรอเบอรี่ ถางหญ้า ยังไงก็ต้องสัมผัสสารเคมี เพราะท้องร่องสวนเขาพ่นยาฆ่าหญ้าตลอด เวลาเข้าสวนต้องสวมรองเท้าบูท เดินเท้าเปล่าไม่ได้""พ่นวันนี้ พรุ่งนี้เก็บก็มี พ่นวันนี้ เย็นวันนี้เก็บก็มี อันตรายมาก"วันหนึ่ง พี่ชีแนะเจ็บป่วย ต้องผ่าท้อง หมอบอกว่าถ้ายังใช้สารเคมี หมอรักษาให้ไม่ได้แล้ว"ผมเลยอยากหาทางออกที่ยั่งยืน"วันหนึ่งหลังจากมีโอกาสอบรมเรื่องทำเกษตรอินทรีย์ที่ ต.แม่ทา กิ่ง อ.แม่ทา จ.เชียงใหม่ พี่ชีแนะจึงเริ่ม ลด ละ เลิก ใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 5 ปี จากการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี หันมาเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ด้วยวิธีโบราณแบบที่คนรุ่นพ่อทำโดยปี 2550 นี้ เป็นปีแรกของการเริ่มปลูกสตรอเบอรี่อินทรีย์เต็มรูปแบบของพี่ชีแนะ พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 1 หลัง ทำให้เป็นบ้าน 2 ครอบครัวแรก จากทั้งหมด 20 หลังคาเรือน ที่เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรใหม่ด้วยเกษตรอินทรีย์"เริ่มแรกก็มีปัญหา ก่อนหน้านี้ลูกเมียไม่เชื่อ ผมเลยบอกว่าใช้ยาแล้วไม่ดี" พี่ชีแนะพูดถึงอุปสรรคแรกของการปลูกสตรอเบอรี่แบบเกษตรอินทรีย์จาก ‘ทางบ้าน' แต่ก็ผ่านไปได้ เพราะหลังๆ มาครอบครัวเริ่มเข้าใจ000พี่ชีแนะกับไร่สตรอเบอร์รี่อินทรีย์จากบ้านพี่ชีแนะ พวกเราเดินทางขึ้นเขาลงห้วย ทั้งทางรถทางคน ก็มาถึงไร่สตรอเบอรี่ของพี่ชินะ เป็นเนินอยู่ริมลำธารเล็กๆ กลางหุบเขา พื้นที่ประมาณ 2 งาน สภาพเหมือนแปลงสตรอเบอรี่ทั่วไป ผิดกันตรงที่แทนที่จะใช้ยาฆ่าหญ้ากำจัดวัชพืชที่คลุมแปลงสตรอเบอรี่ ไร่สตรอเบอรี่แห่งนี้เลือกใช้ใบตองตึงมาเรียงๆ กันแทนเพื่อคลุมคันดินกันวัชพืช ใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมวัสดุเอง ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งดอก เร่งผล และไม่ใช้ยากำจัดศัตรูพืชใดๆพี่ชีแนะ เชิญชวนผู้บริโภคจากเมืองใหญ่ที่มาเยือนไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์ของเขา ให้หยิบชะลอม แล้วไปเลือกเก็บสตรอเบอรี่ตามอัธยาศัยหนาวนี้พี่ชีแนะ เริ่มปลูกสตรอเบอรี่ตั้งแต่เดือนตุลาคม เมื่อปลูกสตรอเบอรี่จนได้อายุ 60 วัน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคมหรืออาจถึงต้นเดือนเมษายนจึงจะหมดรุ่น โดยผลสตรอเบอรี่จะค่อยๆ ออกผลมาเรื่อยๆ ไม่พร้อมกันพี่ชีแนะจะเก็บผลสตรอเบอรี่ 1 ครั้งต่อสามวันไปเรื่อยๆ เมื่อเก็บแล้วจะฝากรถสองแถวสายสะเมิง - เชียงใหม่ ลงมาขายที่ตลาดนัดและคลังเกษตรอินทรีย์ในเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นร้านกระจายสินค้าเจ้าประจำ และก็มีบางเที่ยวของการเดินทางที่สตรอเบอรี่จากสวนพี่ชีแนะเดินทางไปถึงร้านค้าเกษตรอินทรีย์ที่กรุงเทพฯสวนของพี่ชีแนะเก็บสตรอเบอรี่ได้ครั้งละ 4-5 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าให้ผลผลิตต่อเนื้อที่น้อยลงเมื่อเทียบกับไร่สตรอเบอรี่ที่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่สตรอเบอรี่อินทรีย์ก็ให้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ผลเล็กผลใหญ่ไม่แยกเกรด กิโลกรัมละ 150 บาทเท่ากันหมด ราคาดีกว่าสตรอเบอรี่ทั่วไปถึงเท่าตัว ยิ่งกว่านั้นราคาสตรอเบอรี่สวนอื่นยังขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางกำหนด หรือกำหนดราคามาแล้วจากนายทุนที่มาจ้างปลูก ตั้งแต่ผลสตรอเบอรี่ยังไม่ออก000แขกจากเมืองใหญได้สตรอเบอรี่มาคนละชะลอม สองชะลอม ระหว่างนั้นก็ถ่ายรูปกับไร่สตรอเบอรี่ กับเจ้าของไร่สตรอเบอรี่ บ้างลองชิมสตรอเบอรี่สดที่เพิ่งเด็ดมา พี่ชีแนะให้ความเชื่อมั่นว่าสตรอเบอรี่สวนของเขาไม่มีสารเคมีแน่นอน"ถ้าเป็นสตรอเบอรี่ที่ใช้ยา กินดูก็รู้จะขมลิ้นขมปากไปหมด" พี่ชีแนะเปรียบเทียบที่จริงผลสตรอเบอรี่ของสวนพี่ชีแนะ ก็มีผลผลิตบางส่วนที่ยังไม่สวยนัก บางผลที่เด็ดมาที่ผิวมีจุดสีดำๆ ทำให้สีของผลสตรอเบอรี่คล้ำ นี่คือผลที่เป็นโรค ‘ไรดำ'"ให้น้ำน้อยจะทำให้สตรอเบอรี่เจอไรดำ แต่ถ้าให้น้ำมากไปผลสตรอเบอรี่จะเน่า นอกจากนี้หากในไร่สตรอเบอรี่ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือปลูกแต่สตรอเบอรี่ โอกาสที่จะเจอศัตรูพืชก็มีมาก ต้องปลูกพืชให้หลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกแมลงทำลายพืชผล" แสงทิพย์ เข็มราช ผู้จัดการคลังเกษตรอินทรีย์ สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) สะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาโรคพืชในสวนของพี่ชีแนะ"ไรด่าง ไรแดง ไรต่างๆ ยังแก้ไม่ได้ แต่จะใช้วิธีที่อุ๊ยสอนคือไปหาสมุนไพรในป่า" พี่ชีแนะคิดหาทางแก้ปัญหา"ลองชิมดู อร่อยดี" อาจารย์กนกวรรณ อุโฆษกิจ เจ้าหน้าที่องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) แนะนำว่าให้ลองเอาผลที่เป็นไรดำมาชิม น่าแปลกที่สตรอเบอรี่ผลนี้กลับหวานกว่าสตรอเบอรี่ผลที่ไม่เป็นโรคแสงทิพย์ เข็มราช สะท้อนอุปสรรคของการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ว่ามีสองประการ คือ ความมั่นใจของชาวบ้าน และแรงกดดันของเพื่อนบ้าน"หนึ่ง ชาวบ้านเองยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าทำเกษตรอินทรีย์จะสามารถลดหนี้ได้ไหม ผลผลิตออกมาจะสวยไหม ถ้ามันไม่สวยจะไปขายที่ไหน จะขายได้ไหมในตลาด เพราะตอนใช้สารเคมีต้องสวยๆ พ่อค้าถึงจะรับ แต่กับเกษตรอินทรีย์ คลังเกษตรอินทรีย์มีนโยบายให้ชาวบ้านทำตลาดเอง ไม่พยายามสร้างความสัมพันธ์อีกชั้นหนึ่ง พยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคให้มากที่สุดสองคือ ภาวะแรงกดดันของเพื่อนบ้าน เพราะในหมู่บ้านมีคนทำเกษตรอินทรีย์ไม่เยอะ ชาวบ้านที่หันมาทำ จะถูกหาว่าเป็นบ้าหรือเปล่า คิดอะไรไม่เหมือนคนอื่น ทำเกษตรอินทรีย์จะไหวหรือ จะรอดไหมหนอ เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จะเจอแรงกดดันของเพื่อนบ้าน พวกบริษัทขายสารเคมีก็กดดัน เพราะเขาเข้ามาในหมู่บ้านพยายามขายสารเคมีให้ได้ บอกชาวบ้านว่าเกษตรอินทรีย์มันไปไม่ได้... ร้านขายสารเคมีอยู่ใกล้เขามาก ชาวบ้านจะไปหาได้เร็ว ถ้าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม่เกาะติดพื้นที่ เราต้องใช้เวลา ส่งเสริมสารพัดวิธีให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์ไปได้มีทางรอด" แสงทิพย์ กล่าวแต่พี่ชีแนะยังมั่นอกมั่นใจว่าจะฝากชีวิตไว้กับไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์ที่กำลังให้ผลผลิตสม่ำเสมอ พี่ชีแนะคิดว่าพืชผลจากเกษตรอินทรีย์จะอยู่รอดก็ด้วย"ถ้ามีชาวหมู่มาช่วยซื้อมากๆ ผมคงทำเรื่อยๆ คนซื้อ คนกิน คนขายถ้าไม่ช่วยกัน คนปลูกก็ได้รับผลกระทบ คนกินก็ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าใครก็ไม่รอด"และ "ที่สำคัญต้องทำในระดับนโยบาย ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ต้องแนะนำชาวบ้านหาทางออกด้วยการปลูกเกษตรอินทรีย์ แต่ตอนนี้ยังไม่ตื่นตัว ยังใส่ยา ใส่ปุ๋ยกันอยู่"000แขกเหรื่อที่มาเยี่ยมสวนพี่ชีแนะ ได้สตรอเบอรี่ติดไม้ติดมือจำนวนมากแล้ว ตอนนี้ได้เวลาร่ำลากัน"เอาไว้มาเยี่ยมกันใหม่" พี่ชีแนะบอกกับคณะที่กำลังจะกลับ"ขอให้โชคดี ขอบคุณพี่มากสำหรับทางเลือกก้าวแรกๆ ที่จะทำให้สังคมได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย" ผมกล่าวในใจ ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้องรายงาน วัฒนเสวนา : เกษตรอินทรีย์ และธนาคารเมล็ดพันธุ์ ‘ของขวัญแห่งชีวิต', โดย ฐาปนา พึ่งละออ, ประชาไท, 3 พ.ค. 2550
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าในลุ่มน้ำแห่งนี้มีคนเล็กๆ อาศัยอยู่ และรักษาทรัพยากรดุจดังชีวิตของตนเองการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยศึกษาข้อมูลฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกากญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศน์ดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ งานวิจัยปกากญอสาละวินได้นำเอาวิธีการวิจัยไทบ้านที่ดำเนินการที่ปากมูนมาปรับใช้ แต่ยังคงตั้งบนฐานงานวิจัยไทบ้าน นั่นก็คือ ชาวบ้านเป็นนักวิจัยโดยใช้ความรู้พื้นบ้านในการอธิบายข้อมูลด้านต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยประสานงานและช่วยจัดทำเอกสารในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยงานวิจัยปกากญอสาละวินได้ใช้วิธีการวิจัยผสมผสานกัน ทั้งการประชุมกลุ่มนักวิจัย การสำรวจภาคสนาม การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยดำเนินการรวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๒ ปี ๗ เดือน โดยใช้ภาษาถิ่น คือภาษาปกากญอสะกอ เป็นภาษาหลักในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวินตลอดเส้นพรมแดน มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย และระบบนิเวศย่อยตามลำห้วยสาขาอีกมากมาย ความหลากหลายซับซ้อนทั้งหมดนี้ เป็นทั้งบ้านของปลานานาชนิด และแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’ หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเมยและแม่น้ำคงเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไกลปืนเที่ยงและยังอยู่ในวงล้อมของสงครามแห่งความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม  สบเมยในที่นี้หมายถึงบริเวณปากน้ำเมยบรรจบกับแม่น้ำคง หมู่บ้านริมน้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องชนเผ่าพื้นถิ่นที่เขาและใครอีกหลายคนรู้จักกันในนามของ ‘กระเหรี่ยง’ คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่บนดินแดนผืนนี้มาหลายชั่วอายุคน ดินแดนบริเวณนี้ในอดีตมันไม่เคยสงบเงียบ และในปัจจุบันก็ดูเหมือนว่ายังคุกรุ่นอยู่เช่นเดิม หลายปีมาแล้วที่ตรงนี้เคยเป็นทั้งสนามรบ และเป็นที่หลบภัยของผู้คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่แตกแตกต่างกันทางความเชื่อซึ่งถูกผลักดันเข้าสู่สนามรบ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจเขาคนแปลกถิ่นได้มีโอกาสมาเยือนที่นี่ ในบ่ายวันหนึ่งซึ่งแสงแดดของเวลากลางวันยังคงร้อนแรง เรือหางยาวลำที่เขาเดินทางมาด้วยนั้นเป็นเรือลำบรรทุกสัมภาระและผู้คนกว่า ๓๐ ชีวิตเรือจะเริ่มออกเดินทางจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบตอนบ่ายโมงกว่าๆ แล้วก็ล่องลงมาตามลำน้ำคงเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที การเดินทางในแม่น้ำนี้แทบจะไม่ได้ใช้การวัดระยะทางด้วยหลักกิโลแต่จะใช้เวลาเป็นตัวชี้ว่า ระยะทางใกล้ไกลประมาณกี่ชั่วโมงเรือออกเดินทางโดยมีคนขับเรือที่คุ้นชินกับแม่น้ำสายนี้เป็นอย่างดีเป็นผู้พาเขาและคนบนเรือออกสู่แม่น้ำ ในใจของเขานั้นหวาดกลัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแม้จะเป็นคนที่คุ้นชินกับแม่น้ำหลายสายอยู่ก็ตาม แต่กับแม่น้ำสายนี้ทำไมเขาจึงเกิดความหวาดหวั่นขึ้นมาในใจก็ไม่รู้    เสียงเครื่องยนต์เริ่มดังขึ้นพร้อมๆ กับเรือก็ค่อยๆ เลี้ยวโค้งออกจากท่าเรือแล่นเรื่อยๆ มาตามลำน้ำคงซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนอันไกลโพ้น ลำน้ำสายนี้มีความยาวตลอดลำน้ำ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร ไหลจากที่ราบสูงในธิเบต ผ่านประเทศจีนเข้าสู่ประเทศพม่าที่รัฐฉาน ไหลผ่านพรมแดนไทย-พม่า ก่อนที่จะเข้าเขตพม่าอีกครั้งที่บริเวณบ้านสบเมยแล้วสิ่งที่เชิญชวนให้เขาสัมผัสเป็นครั้งแรกก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างเลือนๆ ก่อนที่จะแจ่มชัดขึ้นมาอย่างเต็มที่ สองฝั่งของลำน้ำประติมากรรมที่ธรรมชาติสร้างขึ้นตั้งโดดเด่นท้าทายสายตาตลอดข้างทางงดงามยิ่งนัก แก่งหินรูปทรงแปลกตาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาทักทายผู้คนที่มาเยือน เพราะหน้าแล้งอย่างนี้สายน้ำที่เคยเต็มปริ่มเมื่อหน้าฝนลดระดับลงมามาก เขาผู้ไปเยือนพยายามทำตัวเป็นนักสำรวจสิ่งที่พบเห็นต่างผ่านดวงตาทั้งสองข้าง เขาซึ่งเป็นคนแปลกหน้าสำหรับผู้คนที่นี้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างเขาจึงจำเป็นต้องปกปิดสิ่งที่เขาพกพาไปด้วยให้มิดชิดที่สุด ผู้คนริมฝั่งน้ำยามบ่ายคล้อยบางคนก็กำลังต้อนควายลงกินน้ำ บางคนกำลังเพาะปลูกพืชผักบนหาดทรายริมน้ำ บางคนกำลังหาปลา เขาบันทึกภาพๆ หนึ่งที่ผ่านสายตาของเขาได้โดยบังเอิญในระหว่างการเดินทางในวันนั้น ภาพนั้นเป็นภาพที่อยู่บนริมฝั่งน้ำในประเทศพม่า มันเป็นภาพของคนหาปลากำลังปล่อยตาข่ายดักปลาลงในน้ำ โดยมีคนอีกคนหนึ่งยืนอยู่บนฝั่งแบกปืนคาร์บิ้นคุมอยู่ใกล้ๆ เพื่อนร่วมเดินทางที่นั่งเรือไปด้วยกันซึ่งคุ้นชินกับพื้นที่บอกว่า ทหารพม่ากำลังบังคับลูกหาบให้หาปลา เขาต้องถือปืนก็เพราะกลัวลูกหาบจะหนีไปได้ คนเป็นลูกหาบนั้นก็มาจากชนกลุ่มน้อยซึ่งโดนบังคับมา บ้างก็เป็นทหารซึ่งรบพ่ายแพ้แล้วโดนทหารพม่าจับมาเป็นเชลย ลูกหาบเหล่านี้มีหน้าที่แบกเสบียงอาหารบ้าง แบกลูกปืนบ้างสุดแล้วแต่ทหารพม่าจะให้ทำเขาซึ่งนั่งอยู่บนเรือครุ่นคิดอย่างเงียบงันถึงคนสองคนบนฝั่ง “ไม่มีความปลอดภัยที่แท้จริงในที่ซึ่งมีสงคราม”เรือผ่านโค้งสุดท้ายจุดหมายปลายทางจึงปรากฏอยู่เบื้องหน้า เมื่อเรือจอดเทียบท่าเป็นครั้งแรกที่ฐานทหารพรานซึ่งทำหน้าที่ดูแลความสงบและคอยตรวจตราเรือล่องขึ้น-ลงตามลำน้ำคง คนขับเรือขึ้นไปบนฝั่งเพื่อลงรายชื่อกับทหารพรานคนนั้น เขามารู้ภายหลังว่าทหารคนนั้นเป็นคนจากภูมิภาคเดียวกัน เมื่อมาเจอคนบ้านใกล้เรือนเคียงห้วงคำนึงคิดถึงบ้านจึงปรากฏขึ้นในใจของเขาอย่างเงียบๆ มันนานเท่าใดแล้วที่เขาเดินทางออกจากสายน้ำแห่งบ้านเกิด เขาต้องซัดเซพเนจรไปตามยอดดอยๆ แล้วดอยเล่าเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่อาจเปิดเผยกับใครได้ถึงภารกิจของเขา ไม่มีใครอยากจะเดินบนเส้นทางสายนี้เท่าใดนัก แต่คนอย่างเขาจะมีสิทธิเลือกหรือ  เมื่ออยู่บ้านก็ไม่รู้ว่าความตายจะมาเยือนวันไหน   แล้วภาพของพ่อที่ถูกคนกลุ่มหนึ่งทุบตาย และภาพของหญิงสาวคนรักที่ถูกฉุดคร่าไปข่มขืนเพื่อทำลายเผ่าพันธุ์ของเขาก็ผุดขึ้นมาในห้วงแห่งความคิดน้ำตาของลูกผู้ชายที่มันไหลออกมาบ่อยครั้งมันก็ไหลออกมาอีกครั้งเขาตั้งใจว่าเมื่อหมดงานนี้แล้ว เขาคงจะสบายมากขึ้นไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป แต่ก็ไม่รู้ว่าชะตากรรมที่กำหนดชีวิตของเขาจะปล่อยให้เขาได้ทำอย่างนั้นอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้เขานั่งเหม่อมองสองฝั่งริมน้ำอย่างเงียบๆ บางครั้งเขาก็แอบเช็ดน้ำตาที่มันไหลออกมาด้วยผ้าสีเขียวกระดำกระด่างผืนเดียวที่ติดตัวมาหลายปีแล้ว      เสียงเครื่องยนต์เรือดังขึ้นอีกครั้งพร้อมกับเรือค่อยๆ วิ่งออกจากท่า ก่อนที่หัวเรือจะถูกเบนเข้าหาแม่น้ำเมยตรงปากน้ำ สายน้ำสายนี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐไทยกับรัฐกระเหรี่ยง เมื่อเรือวิ่งทวนน้ำขึ้นไปสักพักแล้วเรือก็จอดสงบนิ่งลง การเดินทางในวันนั้นของเขาสิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับแสงแดดเริ่มผ่อนความร้อนแรงลงหาดทรายขาวยาวเรื่อยไปตามลำน้ำสะท้อนกับแสงแดดสีขาวอยู่เบื้องหน้าของเขา มันคือความงดงามที่เขาไม่พบเจอมันมานานแล้ว หาดทรายแห่งนี้ในยามสงบเงียบไม่มีสงครามมันเคยเป็นที่ทำมาค้าขายของผู้คนสองฝั่ง แต่ในปัจจุบันมันกลายเป็นหาดทรายร้างไม่มีการค้าขายอีกแล้ว นี่คือผลพวงหนึ่งจากการทำสงครามอันไม่สิ้นสุดของผู้คน‘กี่ชีวิตแล้วหนอที่พลีร่างลงบนสายน้ำทั้งสองสายนี้’หลังจากพักเหนื่อยจากการเดินทางและการขนของแล้ว เขาเดินลงสู่ท่าน้ำก่อนจะนั่งเฝ้ามองคนหาปลาเอาเรือลำเล็กออกไปหาปลา เรือพายขนาดเล็กหลายลำลอยลำอยู่ตามตลิ่งริมน้ำ คนหาปลากำลังใจแน่งที่ใส่ไว้ เรือบางลำและคนหาปลาบางคนกำลังกลับคืนสู่ฝั่งพร้อมปลาที่หาได้เพื่อเป็นอาหารของครอบครัว    แสงแดดแสงสุดท้ายลับเหลี่ยมเขาลงไปแล้ว นกกระยางขาวโผบินกลับรวงรังเพื่อพักผ่อน คนหาปลากลับคืนสู่บ้าน สายน้ำไหลเอื่อยเงียบสงบ แต่แผ่นดินที่ฝั่งตรงข้ามใยเต็มไปด้วยกับดักแห่งการเข่นฆ่า บนยอดดอยฝั่งโน้นครั้งหนึ่งเคยมีคนอาศัยอยู่ แต่ด้วยผลพวงแห่งสงคราม ดอยแห่งนี้จึงกลายเป็นดอยร้างและเต็มไปด้วยกับระเบิดมากมาย ซากเจดีย์เก่าสีขาวยังคงปรากฏให้เห็นในความมืดยามพลบค่ำ เหมือนเตือนย้ำให้ผู้คนคิดถึงความหลังค่ำคืนเงียบสงบลมหนาวมาเยือน ดาวบนท้องฟ้ารายระยิบมากมาย สัญญาณแห่งวันใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ขุนเขาทะมึนดำที่วันนี้เงียบสงบจากเสียงปืน สงครามแห่งเผ่าพันธุ์ยังไม่เริ่มต้นขึ้นเพราะกองกำลังของชนกลุ่มน้อยผ่ายแพ้แล้ว ฐานทัพใหญ่ในอดีตถูกตีแตกย่อยยับมานานแล้ว สบเมยยามนี้จึงไม่มีเสียงปืนและไม่มีสงคราม แต่ใครจะรู้ได้ว่า เมื่อฤดูแล้งมาถึงเสียงปืนจะดังขึ้นอีกครั้งหรือไม่ เพราะที่ใดมีการกดขี่ ย่อมมีการต่อต้าน แม่น้ำคงวันนี้ไม่มีศพของนักรบลอยมาตามน้ำ และไม่มีเสียงปืน จะมีก็เพียงแต่คนหาปลาที่ดำรงชีวิตอยู่กับลำน้ำที่เงียบสงบสายนี้เท่านั้นเอง แต่มันจะเป็นอย่างนี้อีกนานไหมก็คงไม่มีใครตอบได้  “เมื่อไหร่หนอแนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลง” มันเป็นคำถามที่เขาถามตัวเอง ก่อนจะเอนหลังลงกับพื้นดิน เพื่อนอนพักเอาแรง หลังจากที่ต้องกรำศึกหนักกับการเดินทางทั้งทางน้ำและทางบกมาทั้งวันเขาแอบหวังว่าเขาคงผ่านคืนวันแห่งฝันร้ายคืนนี้ไปได้ด้วยดี…