Skip to main content
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์ เสาร์ที่ผ่านมา มีงานประชุมชื่อ Barcamp Bangkok จัดขึ้นที่ร้าน Indus สุขุมวิท 26 งานนี้ งานนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นงานที่มีผู้จัดมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะผู้ร่วมงานหลายคนมากันแต่เช้าเพื่อช่วยจัดโต๊ะเก้าอี้ แปะป้าย บางคนทำสมุดทำมือมาแจก หลายคนเตรียมหัวข้อพร้อมสไลด์มาพูดในงาน ------------------------------------- http://www.flickr.com/photos/poakpong http://www.flickr.com/photos/plynoi ทันทีที่งานเริ่ม กระดาษแผ่นแล้วแผ่นแล้ว ถูกทยอยนำไปแปะบนกระจกของร้าน ว่ากันว่า หัวข้อที่พูดกันในงาน มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเว็บแอพพลิเคชันใหม่ๆ เทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ความสัมพันธ์ภายในชุมชนออนไลน์ และการเก็บข้อมูลแบบมาตรฐานเปิด[1] แต่แน่นอนว่า การที่ถูกนิยามว่า เป็นงานสัมมนานอกกรอบ[2] คงต้องมีอะไรมากกว่านั้น นั่นคือการที่งานนี้ไม่ได้จำกัดหัวข้อเรื่องที่พูดว่าต้องเป็นเรื่องอะไร ใครจะพูด หรือควรพูดอย่างไร ดังนั้น เราจึงได้เห็นหัวข้อตั้งแต่ที่เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ เว็บแอพพลิเคชั่น จนไปถึงเรื่องเฉพาะทาง (จริงๆ ทุกเรื่องก็เฉพาะทางหมดน่ะแหละ) อย่างคอมพิวเตอร์เพื่อการวิจัยเรื่องชีววิทยา การปีนเขา การขี่จักรยานเสือภูเขา หรือวัฒนธรรมของภาพยนต์ น่าเสียดาย ที่เวลามีจำกัด ประกอบกับหัวข้อที่มีเยอะเอามากๆ ทำให้ต้องมีการโหวตกัน หลังจากนั้นจึงมีการนำหัวข้อที่มีผู้โหวตจำนวนมาก มาจัดเรียงเข้าไปในตารางเวลา หัวข้อที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากคือ เรื่อง AV Development Life Cycle ที่เจ้าตัวย่อ AV ที่ว่า คือ adult video ซึ่งมีผู้เข้าฟังและร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างล้นหลาม เนื้อหาเป็นอย่างไร ต้องยอมรับตามตรงว่า ผู้เขียนเข้าไปไม่ทันฟัง เพราะมัวแต่เดินเข้าห้องนั้นออกห้องนี้ จึงขอข้ามเรื่องนี้ไป ;P ที่น่าสนใจอีกห้อง เรียกกันว่า “ห้องคนอกหัก” ซึ่งรวมคนที่หัวข้อที่เสนอได้รับคะแนนน้อย แต่ก็เตรียมตัวมาแล้ว และห้องก็ว่าง จึงช่วยกันจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อนำเสนอสิ่งที่แต่ละคนเตรียมมา[3] หัวข้อในห้องนี้ อาทิ FON ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายที่ช่วยกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยคุณกานต์และคุณโดม ซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่ถูกปิดกั้น ทำให้ต้องมีการสร้างเครือข่ายขึ้น เพื่อช่วยกระจายสัญญาณไวเลส เพื่อให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรืออีกหัวข้อหนึ่งที่ทำให้จากคนฟังไม่กี่คนในตอนแรก เพิ่มมากขึ้นในตอนท้าย นั่นคือ เรื่องที่ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมโดจินชิของญี่ปุ่น ซึ่งอาจารย์ประมุข ขันเงินแห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บรรยาย ได้เล่าถึง วัฒนธรรมเสรีอันเกิดจากโดจินชิ ซึ่งคือ การที่คนอ่านหรือดูการ์ตูน นำเอาตัวการ์ตูนที่ตัวเองชอบ มาทำใหม่ในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะวาดใหม่ เล่าเรื่องใหม่ ใส่เสียงใหม่ ทำซับใหม่ หรือสร้างเป็นเกมใหม่ขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่ญี่ปุ่นไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ กลับเป็นการพึ่งพิงกันระหว่างเจ้าของและคนทางบ้านมากกว่า http://www.flickr.com/photos/pigtheday นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงเว็บ nico nico dougu http://www.nicovideo.jp ซึ่งคล้ายกับ http://youtube.com ที่ช่วยเผยแพร่งาน แต่ความต่างอยู่ที่ความเห็นที่ผู้ดูคลิปโพสต์เข้าไป จะปรากฎอยู่บนคลิปที่ดูทันที ทำให้มีการแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างไวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื้อหาน่าสนใจแบบนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้ ... ถ้าไม่มีพื้นที่ว่าง ถ้าปล่อยห้องว่างนั้นให้ว่างต่อไป ถ้าไม่มีคนแปะกระดาษเพื่อวางคิวพูด ถ้าคนที่อกหักถอดใจไปซะก่อน ถ้าไม่มีคนพูด ถ้าไม่มีคนฟัง ถ้าไม่มีคนเติมหัวข้อลงไป ถ้าไม่มีคนยกเก้าอี้มา ถ้าไม่มีคนที่ปีนขึ้นไปบนเก้าอี้เพื่อเช็คเครื่องโปรเจ็คเตอร์ ถ้าไม่มีคนช่วยจับยึดเก้าอี้ไว้ ถ้าไม่มีคนเดินไปหารีโมท   ดูเพิ่มเติม blog tag สไลด์ รูป [1] press release http://www.barcampbangkok.org/event/1/press [2] http://www.barcampbangkok.org/what-is-barcamp [3] ตอนหลังเพิ่งทราบว่า ดูเหมือนทางผู้จัดคาดการณ์ไว้ว่า ต้องได้ใช้ จึงเผื่อห้องเอาไว้ --ดูความเห็นที่ 1 http://www.pittaya.com/2008/01/27/barcamp-bangkok-2008/#comments 
สุมาตร ภูลายยาว
  ผมได้รู้ข่าวว่าไฟฟ้าที่บ้านดับก็ตอนอยู่บนดอยบ้านห้วยคุ ข่าวสารที่ส่งมาบอกเพียงว่า หลังจากผมและเธอออกจากบ้านมาได้ ๒ วันหลอดไฟที่อยู่ข้างนอกก็ดับลง ทั้งที่มันเพิ่งได้รับการติดตั้ง คนส่งสารยังบอกอีกว่า เขาได้ไปดูที่มิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านแล้วปรากฏว่า สายไฟที่ต่อกับมิเตอร์ถูกดึงออกด้วยมือนิรนาม เมื่อสนทนากันอยู่นานสองนาน คนส่งสารผู้ใจดีก็บอกหมายเลขโทรศัพท์ของการไฟฟ้า หลังผู้แจ้งสารหมดสิ้นหน้าที่ ต่อไปจากนี้คงเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องดำเนินการต่อ ผมและเธอเรามองหน้ากัน ต่างคนต่างตั้งคำถามในใจ เกิดอะไรขึ้นกับบ้านที่เราเช่าอยู่มาเกือบครึ่งปี? ผมถามเธอก่อนหลังความเงียบมาเยือนเราสองคนได้ไม่นาน"นั่นสิ มันเกิดอะไรขึ้น เราก็อยู่กันมานานไม่เห็นมีอะไร พอไม่อยู่บ้านไม่กี่วัน ไฟฟ้าก็มาดับ""แต่ก่อนเราก็ไม่อยู่ไม่เห็นมันจะมีอะไร""หรือว่าจะเป็นเพราะ..."แล้วเราทั้งสองก็หาเหตุผลนานมาอธิบายความเชื่อของตัวเอง จริงแล้วจะบอกว่ามันเป็นความเชื่อก็คงไม่ได้เท่าใดนัก แต่ถ้าหากเรียกมันว่าการสันนิษฐานยังจะดูดีกว่า เราสันนิษฐานเอาเองต่างๆ นานา"หรือว่าเรายังไม่ได้ไปจ่ายค่าไฟ เขาก็เลยมาตัด--เขาในที่นี้หมายถึงเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้า""ไม่ใช่หรอกก็เราเพิ่งไปจ่ายมา มันจะมาตัดได้ยังไง""หรือว่าจะเป็นเพราะบ้านที่เขาทะเลาะกันแล้วมาดึงสายไฟบ้านเรา เพราะคิดว่าเป็นของคู่อริ""ไม่แน่อาจจะมีส่วน"เราต่างหาข้อสันนิษฐานขึ้นมารองรับเหตุผลความเชื่อของตัวเอง แต่ก็นั้นแหละ มันเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่เราตั้งขึ้น ผมพยายามกดเบอร์โทรศัพท์ที่คนส่งสารให้มาอยู่หลายครั้ง จากนี้ไปเราคงได้ทราบความจริงกันเสียทีว่า ทำไมไฟฟ้าที่บ้านดับ "ผมมีเรื่องอยากสอบถามครับ""เรื่องอะหยั่งเจ้า""คือว่าไฟฟ้าที่บ้านผมดับนะครับ ตอนนี้ผมไม่ได้อยู่ที่บ้าน ผมอยู่เชียงรายครับ""ดับมากี่วันแล้วเจ้า""เห็นเพื่อน--บ้าน (อันนี้ไม่ได้เขียนผิด แต่เพราะบ้านเช่าข้างๆ บ้านเช่าของผม เขาเป็นเพื่อนผม-ผมจึงเรียกเขาว่า เพื่อน--บ้านข้างๆ) ข้างๆ บอกว่า ประมาณ ๒ วันครับ เขาบอกว่าสายไฟถูกดึงออกจากมิเตอร์ด้วยครับ""อ้ายมีหมายเลขผู้ใจ้ไฟก่อเจ้า""ไม่มีครับ มีแต่เลขที่บ้าน...""รอคำเจ้า เดียวน้องจะผ่อหื้อ..............น้องผ่อแล้วเจ้า ค่าไฟอ้ายไปจ่ายแล้ว รายการตัดไฟก็บ่มีนะเจ้า""แล้วผมต้องทำยังไงครับ""เดียวพอวันจันทร์อ้ายก่อโทรมาแจ้งตี้ช่าง แล้วช่างเพิ่นจะไปผ่อหื้อเจ้า""ขอบคุณครับ""ยินดีเจ้า"เมื่อไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุแห่งไฟดับ ผมก็ครุ่นคิดอะไรหลายอย่าง ขณะที่ไฟฟ้าดับอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น อาหารในตู้เย็นคงเริ่มเสียเป็นอย่างแรง อย่างต่อมาคือน้ำไม่ไหล สาเหตุที่ร้ำไม่ไหลก็คงไม่ใช่อย่างอื่น เนื่องมาแต่บ้านที่ผมเช่าอยู่ยังใช้น้ำบ่อ เวลาที่เราจะใช้น้ำต้องเปิดไดน์เพื่อดึงน้ำขึ้นมาใช้ พอไฟฟ้าดับน้ำก็เลยไม่ไหลไปด้วย หากว่าน้ำไม่ไหลอะไรจะเกิดขึ้น แน่ละอย่างน้อยเราก็คงไม่ได้อาบน้ำ แต่สำหรับผมการไม่ได้อาบน้ำดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเธอมันคือเรื่องใหญ่ เมื่อไม่มีน้ำอาบถ้วยจานใส่อาหารจะล้างยังไง ผ้าที่กองเลยหัวเข่าจะซักยังไง เครื่องซักผ้าก็กลายเป็นเพียงกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ไร้ประโยชน์บางคนอาจจะบอกให้เราหวนคืนสู่อดีตด้วยการใช้ถังตักเอาน้ำขึ้นมาใช้จนกว่าไฟฟ้าจะกลับสู่สภาพเดิม แต่ความจริงเงื่อนไขหลายอย่างที่เราสร้างขึ้นไม่สามารถให้เราทำอย่างนั้นได้ ทั้งเราไม่มีเชือก ไม่มีถัง และน้ำที่เราใช้ก็ต้องผ่านตัวกรองน้ำ เพื่อให้น้ำสะอาดขึ้นมาหน่อย แต่นี่น้ำไมได้กรองเวลาอมไว้ในปากคงเหมือนอมเชื้อโรคนับร้อยเอาไว้ผมและเธอ เราต่างถกเถียงกันเพิ่มขึ้นถึงเหตุผลของไฟฟ้าดับ แลการถกเถียงของเราก็ใช่ว่าจะยุติลงได้ง่ายๆ นานแสนนานของการโต้เถียง เราต่างไม่ได้ข้อยุติอันใดเลย ในที่สุดเราก็ตกลงกันว่า พอเสียทีกับเรื่องไฟฟ้าดับ เราจะไม่พูดถึงมันอีกจนกว่าจะได้กลับบ้านไปดูด้วยตา แล้วจะพูดถึงมันอีกครั้งหลังกลับมาถึงบ้าน ความรู้สึกแรกเมื่อเปิดประตูเข้าไปในบ้านคือความหวาดกลัว เราต่างกลัวว่าตัวเองจะได้อยู่ในความมืด ไม่ได้อาบน้ำ ไม่มีตู้เย็นใช้ ไม่ได้ซักผ้า แม้ว่าบ้านหลังไม่ใหญ่มาก แต่ไฟจากเทียนไม่กี่แรงเทียนจะทำให้บ้านสว่างไสวได้เพียงใด เมื่อเก็บข้าวของเข้าที่เข้าทางเรียบร้อย สิ่งแรกที่ทำคือเดินไปดูสายไฟ แล้วเราก็พบว่า สายไฟไม่ถูกดึงออก สายไฟที่ถูกดึงออกเป็นของใครก็ไม่รู้ จากนั้นก็ค่อยๆ ไล่เรียงหาสาเหตุแห่งไฟฟ้าดับ และที่สุดมันก็มืดแปดด้าน เมื่อน้ำไม่ไหลอันเนื่องมาแต่ไฟฟ้าดับ แสงเทียนได้คืบคลานเข้ามาหลังพระอาทิตย์ตกดิน ขณะนั่งกินข้าว เราตกลงกันว่า เราจะเข้าห้องน้ำให้น้อย เพราะน้ำในห้องน้ำมีจำนวนจำกัด เรื่องอาบน้ำถ้าทนไม่ไหวจริงๆ เราจะไปขออาบน้ำที่บ้านเพื่อน-ข้างๆ และข้อตกลงหลายอย่างก็เริ่มขึ้น หลังกินข้าวเสร็จ เรานั่งพูดคุยกันถึงเรื่องไฟฟ้าดับอย่างเป็นจริงเป็นจังอีกครั้งไฟฟ้าดับอาจมาจากหลายสาเหตุ และที่สำคัญน้ำไม่ไหลก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย เพราะบ้านเรายังใช้ไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนที่ต้องปั่นไฟด้วยระบบน้ำไหลผ่านเครื่องให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าอยู่ หากว่าน้ำในแม่น้ำไม่มีให้ไหล เราจะเป็นอย่างไร ผมยังไม่อยากคิดในตอนนี้ แต่เอาเป็นว่าน้ำไม่ไหลเพราะไฟฟ้าดับในครานั้นทำให้ผมได้เข้าใจเพิ่มขึ้นมาว่า น้ำสำคัญกับเราไม่น้อย แม้แต่ไฟที่เราใช้อยู่ก็มาจากน้ำ แปลกแต่จริงน้ำมาเป็นไฟ และไฟมาจากน้ำ พอไฟไม่มาน้ำก็ไม่มา อันไหนสำคัญกว่าอันไหนยากที่จะตอบจริงๆ  
Hit & Run
มุทิตา เชื้อชั่งด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ขนาบไปด้วยทะเลยาวเหยียด เหมาะเป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบสารพัด ประจวบฯ จึงเป็นที่หมายตาของโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้ ก็นับเป็นความอาภัพของชีวิต เพราะภูมิศาสตร์แบบนี้เองที่ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้คัดค้านกับรัฐหรือทุนขนาดใหญ่กันไม่หยุดหย่อน ไม่โครงการนั้น ก็โครงการนี้ และไม่รู้ว่าด้วยความอาภัพนี้หรือไม่ที่ทำให้ขบวนการประชาชนที่นี่ ‘แข็งแกร่ง' จะว่าที่สุดในประเทศก็คงไม่ผิดนัก ล่าสุด มีการต่อสู้คัดค้านโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา ซึ่งเป็นโครงการขนาดมหึมา ที่จะไปลงในพื้นที่แม่รำพึง อำเภอบางสะพาน ขยายต่อจากโรงรีดเหล็กเดิมที่มีอยู่แล้วกระทั่งเมื่อสองวันก่อนมีการสูญเสียชีวิต จากเหตุการณ์ปะทะกันของชาวบ้าน ‘เสื้อแดง' ฝ่ายสนับสนุน และ ‘เสื้อเขียว' ฝ่ายคัดค้าน โดยผู้เสียชีวิตเป็นวัยรุ่นเสื้อแดงคนหนึ่งที่ถูกกระสุนปืน หลายคนตั้งคำถามกับกลุ่มเสื้อเขียว ขณะที่พวกเขาก็ยืนยันชัดเจนว่าเขาไม่มีอาวุธปืนในที่เกิดเหตุ แต่เป็นกลุ่มเสื้อแดงนั้นเองที่พกพาอาวุธปืนและมีการยิงข่มขู่ ข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตนี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยไม่ต้องนับว่าเขาใส่เสื้อสีอะไร และไม่มีข้อยกเว้นใดๆเหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง นี่ไม่ใช่การลอบยิงด้วยซ้ำ แต่เป็นการเสียชีวิตจากการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้านสองฝ่ายราวกับเป็นการจลาจล...ในพื้นที่กฎอัยการศึก! ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ มาไม่ทันการณ์บ้าง มาน้อยเกินไปบ้าง มาแล้วกลับก่อนบ้าง แต่โดยสรุปก็คือ ‘ไม่สามารถจัดการอะไรได้' ทั้งที่มันไม่ใช่ความรุนแรงครั้งแรก มีสัญญาณและความรุนแรงย่อยๆ เกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหลังเมื่อความขัดแย้งเริ่มเปลี่ยนจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์กับบริษัทโดยตรง มาเป็นชาวบ้านกับกลุ่มนักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหรือได้ประโยชน์จากโครงการนี้ แต่ ตำรวจ ทหาร ไม่ใช่จำเลยผู้เดียวสำหรับเรื่องนี้....ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านบางสะพานกับบริษัทสหวิริยานั้นมีมานานร่วม 2 ปี และเริ่มเข้มข้นขึ้นทุกที ขณะที่มันไม่เคยไปสู่การรับรู้ของสังคมวงกว้าง มีเพียงรายงานข่าวเล็กๆ ประปราย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ดูจะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจังในการช่วยคลี่คลายปัญหา หลายปัจจัยร่วมทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ที่นี่ก็เข้มแข็งมาก ไม่ประนีประนอม และมีประสบการณ์การต่อสู้กับโครงการอื่นๆ มายาวนาน นอกจากนี้ที่นี่เป็นเมืองแห่งอิทธิพลมืด ซึ่งบทเรียนการต่อสู้ในอดีตก็มีการ ‘สังหาร' ผู้นำชาวบ้าน กรณีสะเทือนขวัญที่เป็นที่รู้จักคือ การลอบยิง ‘เจริญ วัดอักษร' เมื่อครั้งที่เขาคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด และคดียังไม่คืบหน้าจนปัจจุบัน 000สำหรับกรณีนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง เริ่มรวมตัวกันคัดค้านโครงการขนาดพันล้านนี้ ด้วยความกังวลว่าโครงการผลิตเหล็กต้นน้ำนี้จะสร้างมลพิษอย่างมากมาย นอกเหนือจากนั้นประเด็นหลักที่หยิบยกมาต่อสู้กันคือ โครงการนี้กำลังจะก่อสร้างทับพื้นที่ป่าพรุนับพันไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนทำหน้าที่รองรับน้ำตามธรรมชาติของจังหวัดประจวบก่อนลงสู่ทะเล อีกทั้งกำลังถูกเสนอชื่อให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก การก่อสร้างนี้จะทำให้ประจวบไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ และปัญหาน้ำท่วมยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้โครงการยังทับพื้นที่ป่าช้าเดิมซึ่งเป็นที่สาธารณะและทางสาธารณะ มีการต่อสู้ ถกเถียงกัน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมเข้ามาตรวจสอบเอกสารสิทธิต่างๆ ทำให้พบว่าเอกสารสิทธิบางส่วนได้มาไม่ถูกต้อง กระทั่งนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิและส่งผลให้บริษัทต้องถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สผ.แล้วเหลือเพียงการลงนามอย่างเป็นทางการ ในภายหลังทางบริษัทประกาศจะขยับพื้นที่โครงการไปด้านบนไม่ให้ทับป่าพรุและป่าช้าสาธารณะ แต่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ยังคงยืนยันถึงผลกระทบที่จะปิดร่องน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเมืองหนักขึ้น ขณะที่ป่าพรุก็จะกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ท่างกลางความขัดแย้งนี้ ท่ามกลางรายงานอีไอเอที่ยังไม่ผ่าน มีความพยายามถมพื้นที่เดินหน้าก่อสร้างโครงการแต่ก็มีการคัดค้านจากชาวบ้านอย่างหัวชนฝาถึงกับมีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังพื้นที่ป่าพรุโดยมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สลับสับเปลี่ยนกันไปนอนเฝ้าป่าพรุทุกคืน หลังจากนั้นมีความพยายามครั้งใหม่ในการขุดร่องระบายน้ำและมีการคัดค้านเช่นเคย โดยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ต้องการให้รอให้อีไอเอผ่านการพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อน ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ ดูเหมือนเป็นหน่วยงานเดียวที่พยายามลงไปไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยพยายามจะตั้งคณะกรรมการหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทางโครงการไม่พอใจรูปแบบที่กำหนดและไม่เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อมองเห็นเค้าความรุนแรงในพื้นที่ หลายส่วนพยายามหาความชัดเจนในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอีไอเอ การถมดิน แต่ก็ไม่มีใครออกมาบอกชัดๆ ด้วยเสียงดังๆ ว่าทำได้ ไม่ได้ แค่ไหน อย่างไร  คณะกรรมการสิทธิฯ พยายามจะบอกให้หยุดไว้ก่อนเพื่อรอความชัดเจนของอีไอเอ แต่ก็ดูไร้ผล จนกระทั่งความขัดแย้งลุกลามบานปลาย คำตอบสุดท้ายเฉพาะหน้าตอนนี้จึงพุ่งไปเรื่องอีไอเอ ซึ่งก็น่าห่วง เพราะที่ผ่านมากระบวนการพิจารณาอีไอเอก็มีปัญหา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในหลายเรื่อง จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นกลไกแห่งความหวังที่จะทำให้การลงทุนมีความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ผลักภาระทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และต้นทุนอื่นๆ ไปให้สังคมหรือชาวบ้านแบกรับได้มากเพียงไหนว่ากันให้ถึงที่สุด นี่คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ ระหว่างสิทธิชุมชนและการค้า การลงทุน โดยที่เรายังหาเส้นแห่งความสมดุลไม่ได้ ที่ยากลำบากคือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นการเผชิญหน้ากันของ ‘ชาวบ้าน' ที่ทำให้ไม่สามารถขีดเส้นแบ่ง เขา - เรา เพื่อแบ่งแยกกันเองได้ชัดเจน ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะถูกนายทุนจ้างมาหรือไม่ เพราะ ‘เรา' จะรู้ได้อย่างไรว่า ‘เขา' ก็ไม่ใช่ ‘เหยื่อ' ในอีกด้านหนึ่ง หากยังมีผู้ไร้ที่ทำกิน ไร้โอกาส ซึ่งมีความหวังกับอุตสาหกรรม เรื่อง ‘การอนุรักษ์' จะถูกจัดวางตรงไหน ? ขณะที่ภาครัฐ หรือกลไกต่างๆ ก็ยังบิดเบี้ยว และไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับคนเล็กคนน้อยได้ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรและต้นทุนสารพัดของท้องถิ่นก็กระจุก ไม่เคยกระจายให้ผู้คนอย่างเหมาะสม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมหันมามองและคิดกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อหาทางออกในหลายๆ ระดับ เพราะแนวโน้มปัญหาแบบนี้จะมากขึ้นและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ     
สุมาตร ภูลายยาว
บนเทือกเขาสูงอันไกลโพ้นในดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหลังคาโลก บนเทือกเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเลถูกปกคลุมด้วยหิมะเย็นจัด หลังการปกคลุมของหิมะ หลายร้อยหลายพันปี เมื่อความร้อนชื้นของอากาศมาเยือน หิมะจึงถูกหลอมละลายจนก่อเกิดเป็นต้นธารของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก ในตอนบน แม่น้ำสีเขียวมรกตอันเกิดจากการละลายของหิมะสายนี้อุดมไปด้วยความหนาวเย็น แม่น้ำได้ไหลจากต้นกำเนิดบนที่สูงลงสู่ด้านต่ำตามกฏแรงโน้นถ่วงของโลกผ่านซอกหุบเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และลัทธิการเมืองการปกครอง ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ในแถบชายแดนธิเบต-จีนอันเป็นต้นธารของแม่น้ำ ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำถือเอาแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงใช้แม่น้ำอันเนื่องด้วยการดำเนินวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่หากว่าเมื่อแม่น้ำไหลลงมาจนถึงเขตที่ราบลุ่มในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา ผู้คนกลับได้พึ่งพาประโชยน์จากแม่น้ำในด้านของการดำรงอยู่ของชีวิต แม่น้ำจึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นทางคมนาคมนอกจากแม่น้ำได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตอันหลากหลายแล้ว แม่น้ำยังได้ให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติ ขณะเดียวกันนอกจากแม่น้ำจะให้ประโยชน์กับผู้คนแล้ว แม่น้ำยังสอนให้เรารู้จักการอยู่กับธรรมชาติอย่างนอบน้อม ในฤดูฝนกลางสายน้ำเชี่ยวกราก แม่น้ำได้สอนให้เราคารวะความยิ่งใหญ่ของสายน้ำด้วยความหวาดกลัวอันเดินทางสู่เบื้องลึกของหัวใจว่ากันว่าแม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นี้มีความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำรวม ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ มีผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้ประโชยน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป และแม่น้ำก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ผู้คนในมณฑลยูนนานเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘หลานชางเจียง’ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาผู้คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ เมื่อแม่น้ำไหลผ่านทางตอนใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่ชายแดนลาว-ไทย คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำของ-โขง’ อยากยิ่งนักที่มนุยษ์เช่นเราๆ จะเรียนรู้แม่น้ำได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีบันทึกหลายหลายเกี่ยวกับแม่น้ำ เราก็ไม่อาจรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ทั้งหมด แต่ในวันนี้เรื่องราวบางเรื่องราว เราได้รู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเจตนาของการใช้แม่น้ำสายนี้ของหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนมุ่งสู่การตอบสนองระบบทุนนิยมเป็นหลัก โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำสายนี้อย่างต่อเนื่องย้อนหลังไปในปี พ.ศ ๒๕๓๓ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาพลังน้ำในแม่น้ำโขง และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญหลายโครงการสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นปี พ.ศ ๒๕๓๖ จีนเริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมโดยการเสนอแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เริ่มด้วยการเปิดเส้นทางเดินเรือขาดใหญ่ในแม่น้ำโขงพร้อมกับการแต่งตั้งคณะสำรวจร่วมระหว่าง จีน พม่า ไทย ลาว เป็นที่มาของโครงการระเบิดแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง ภายหลังการลงนามข้อตกลงใหม่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission) แทนคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong committee) ในปี ๒๕๓๘ จากการพลักดันโดยธนาคารพัฒนาเอเชียโดยมีแนวคิดสำคัญคือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งประมาณกันว่าตลอดแม่น้ำโขงทั้งสายหากมีการสร้างเขื่อนสามารถมีมีกำลังผลิตได้ถึง ๓๗,๐๐๐ เมกวัตต์ และภายหลังการก่อตัวของโครงการนี้เริ่มขึ้น ประเทศจีนจึงลงมือก่อสร้างเขื่อนในปีต่อมา โดยเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงคือเขื่อนมันวานในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน เมื่อเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้น เขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ตามมา หลังการสร้างเขื่อนกระแสการไหลของน้ำได้เปลี่ยนไป น้ำที่เคยท่วมหลากในฤดูฝนก็กลายเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามอิทธิพลของการเปิดประตูเขื่อน ผลกระทบที่ตามมาคือระบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป จำนวนปลาที่คนหาปลาเคยหาได้ก็ลดน้อยลง คนหาปลาหลายคนต้องเลิกหาปลา เพราะปลาลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยของปลา เช่น คก บางแห่งก็ตื้นเขิน บางแห่งก็เกิดตะกอนทรายทับถมจมไม่เหลือร่องลอยอีกต่อไปบทเรียนจากเขื่อนปากมูนได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างเขื่อนคือการปิดกั้นการอพยพของปลาที่ต้องขึ้นไปหาแหล่งเพาะพันธุ์ยังบริเวณแก่งหินต่างๆ รวมทั้งยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมรวมทั้งแก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาเขื่อนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเพียงด้านเดียว แต่หากว่าเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกันวันนี้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ บางครั้งก็ไหลหลากเกรี้ยวกราด กระชากกระชั้น บางครั้งเรียบเรื่อยนิ่งสงบ แต่ทว่าความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำเป็นแค่เพียงภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ต่างจากความกราดเกรี้ยวในจิตใจของมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ และยึดครองธรรมชาติให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเองแท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและชีวิตของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้ระบอบสังคมของมนุษย์ เราก็ควรเคารพในธรรมชาติ และเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกันแม่น้ำโขงภายใต้แท่งปูนซีเมนต์มหึมายังคงหลากไหล เพื่อต่อลมหายใจแห่งแม่น้ำได้เดินทางต่อ แต่หากว่าลมหายใจของแม่น้ำในตอนนี้กำลังขาดห้วงลง เสียงของการหายใจไม่สม่ำเสมอเช่นก่อนมา และที่แม่น้ำเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการคาดเดาได้อย่างยิ่งว่า ลมหายใจสุดท้ายของแม่น้ำจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ และก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ เราผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้ถามตัวเองแล้วหรือยังว่า ‘วันนี้เราดูแลแม่น้ำที่ให้ประโยชน์กับเรากันแล้วหรือยัง ถ้ายังเราควรทำเช่นไร ตัดสินใจลงมือทำเสียแต่วันนี้ก่อนที่เราจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ’ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในแท็บลอยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑)
สุมาตร ภูลายยาว
[๑]เมษายน ๒๕๔๗...แสงแดดใกล้ลับขอบฟ้า คนหาปลาบางกลุ่มกำลังเตรียมตัวเอาเรือเข้าฝั่ง เพื่อกลับคืนสู่บ้านผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการหาปลามาตลอดทั้งวัน การหาปลาเป็นกิจวัตรปกติของคนริมฝั่งแม่น้ำโขงมาเนิ่นนาน แต่ในยามเย็นวันนี้ไม่เป็นเหมือนยามเย็นของวันอื่นๆ ที่ผ่านมา ช่วงนี้ริมฝั่งแม่น้ำโขงคึกคักเป็นพิเศษ เพราะข่าวการเดินทางมาของปลาบึก ปลาใหญ่ที่คนหาปลาขนานนามให้ว่า ‘ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขง’ พี่รงค์ จินะราช คนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เอาเรือออกไปไหลมองในแม่น้ำโขงบริเวณดอนแวงตามปกติ มองที่ไหลไปตามกระแสน้ำเป็นมองขนาดเล็ก พอมองไหลไปปะทะกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ชั่วพริบตานั้นฟองอากาศขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นบนผิวน้ำ แล้วมองผืนเล็กก็ขาดเป็นช่องขนาดใหญ่‘ตอนนั้นผมคิดว่าต้องเป็นปลาบึกแน่ เพราะเมื่อ ๒-๓ วันก่อนมีคนเห็นนกนางนวลสัญลักษณ์คู่กันกับปลาบึกบินขึ้นมาสามตัว หลังจากนกนางนวลบินขึ้นมา พวกนกกระยางก็บินตามมา นอกจากนกแล้วยังมีปลาปลาที่ขึ้นมาก่อนปลาบึกก็มีพวกปลาเลิม, ปลาค้าว, และปลาอีกหลายชนิด’ พี่รงค์ เล่าย้อนไปถึงการขึ้นมาของปลาบึกเมื่อปีที่ผ่านมาให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ว่ากันว่าปลาบึกคือ ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกร็ด ปลาบึกธรรมชาติสามารถพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขง (ปัจจุบันปลาบึกสามารถพบได้ตามบ่อเลี้ยงทั่วไป) จากสถิติที่คนหาปลาบ้านหาดไคร้ซึ่งรวมตัวกันเป็นชมรมปลาบึกได้เคยบันทึกไว้ ปลาบึกตัวที่มีน้ำหนักสูงสุดคือ ๒๘๒ กิโลกรัม!, คนหาปลาบ้านหาดไคร้จับได้เมื่อปี ๒๕๓๒ รูปร่างของปลาบึกจะคล้ายกับปลาสวายและปลาเทโพคือ ลักษณะของลำตัวจะแบน ข้างจะงอยปากจะมีป้านใหญ่ปลายกลมมน, หัวยาวใหญ่, นัยน์ตาเล็กอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่ามุมปาก ในปากไม่มีฟัน ตอนที่ยังเล็กปลาบึกจะกินสัตว์เป็นอาหาร แต่พอโตขึ้นมา ปลาบึกจะกลายเป็นปลากินพืชน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่เกิดตามหินผาในแม่น้ำโขง นอกจากไกจะเป็นอาหารของปลาบึกแล้ว ไกยังเป็นอาหารของคนอีกด้วย [๒]เมษายน ๒๕๔๘เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวครางกระหึ่มมาจากตรงหัวดอนแวง และค่อยๆ เบาเสียงลงเมื่อเข้าใกล้ถึงฝั่ง เรียวระลอกคลื่นจากเรือพุ่งเข้ากระทบฝั่งแล้วลับหายไปในความมืด ยามเช้ามืดอย่างนี้สายน้ำทั้งสายคล้ายไหลไปสู่ความเงียบ แต่หากว่าความจริงไม่ได้เป้นอย่างนั้น เพราะตอนนี้เรือหาปลา ๓-๔ ลำสลับกันวิ่งขึ้น-ลงทุกๆ สิบนาที ขณะที่เรือบางลำกำลังเดินทางไปบนสายน้ำ แต่เรืออีกบางลำบนกำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่ง เรือลำหนึ่งที่กำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่งในตอนนี้ บนเรือมีคนหาปลา ๕ คน และปลาใหญ่น้ำหนัก ๑๐๐ กว่ากิโลกรัมอีกหนึ่งตัว….๕.๓๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๘ หากเป็นตอนกลางวัน ผู้คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งน้ำคงเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปใกล้ปลาตัวใหญ่ที่นอนทอดร่างอยู่ในลำเรือ เพื่อเฝ้าดูความยิ่งใหญ่ของมัน แต่เพราะยังเช้าอยู่ผู้คนที่ได้ยลโฉมปลาตัวนี้จึงมีเพียงคนหาปลาไม่กี่สิบคนเท่านั้นแสงอาทิตย์ยามเช้าโผล่พ้นขอบฟ้าด้านตะวันออกขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับข่าวการจับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้โดยคนหาปลาบ้านหาดไคร้แผ่กระจายออกไป  สำหรับคนหาปลาที่โชคดีเป็นกลุ่มแรกในปีนี้ เป็นกลุ่มคนหาปลาบ้านหาดไคร้ภายใต้การนำของพี่สนั่น สุวรรณทา อายุ ๔๕ ปี ปลาบึกตัวแรกของปีถูกจับได้เมื่อเวลา ๕.๓๐ น. เป็นปลาบึกเพศผู้ น้ำหนัก ๑๘๔ กิโลกรัม ความยาว ๒.๔๐ เมตร ‘ดีใจอยู่ที่เป็นกลุ่มแรกที่จับปลาได้ ถือว่าเป็นโชคดีนะ เพราะปลามันอยู่ในน้ำไม่รู้ว่าใครจะจับได้’ พี่สนั่น สุวรรณทา เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนที่จะพาลูกทีมเอาเรือตัดผ่านท้องน้ำกลับไปสู่ดอนแวงอีกครั้ง[๓]แดดเดือนเมษายนร้อนปานจะผ่าศีรษะออกเป็นเสี่ยงๆ สายน้ำโขงที่เคยไหลรินมาชั่วนาตาปีค่อยๆ แห้งลงเรื่อยๆ เกาะแก่งน้อยใหญ่รวมทั้งดอนทรายต่างๆ ได้โผล่พ้นน้ำ โดยเฉพาะดอนแวงดอนทรายขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในความหมายของคนท้องถิ่นแล้ว คำว่า ‘ดอน’ เป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำโขง หมายถึงเกาะกลางน้ำซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่น้ำได้พัดพามากองมาทับถมกันเอาไว้ในช่วงหน้าน้ำหลาก ดอนเป็นตัวบังคับน้ำตามธรรมชาติให้น้ำไหลไปตามร่องน้ำ ในฤดูแล้งบริเวณดอนจะมีทั้งที่เป็นหาดหินและหาดทรายโผล่พ้นน้ำ หากมองจากริมแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดบ้านหาดไคร้ไปทางด้านทิศตะวันออกจะเห็นดอนแวงและหาดทรายทอดยาวไปตามลำน้ำสวยงาม ในมุมมองที่สูงขึ้นไปจะเห็นแม่น้ำโขงไหลคดเคี้ยวผ่านหัวดอนแวงวกเข้าไปในแผ่นดินของประเทศลาว ในช่วงฤดูกาลจับปลาบึก คนหาปลาทั้งสองฝั่งจะมาตั้งเพิงพัก เพื่อร่วมกันหาปลาอยู่บนดอนแวง การจับปลาบึกของชุมชนริมน้ำโขงจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนพอดี และน้ำในแม่น้ำโขงตรงบริเวณดอนแวงก็จะมีลักษณะกว้าง ไม่ลึกมาก ใต้น้ำเป็นพื้นทรายผสมกรวดจึงทำให้เหมาะที่จะปล่อยมองปลาบึก จึงทำให้อำเภอเชียงของเป็นเพียงอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีพื้นที่เหมาะสมในการจับปลาบึกธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง        [๔]สำหรับวงจรชีวิตของปลาบึก ชีวิตที่ลึกลับแห่งสายน้ำโบราณสายนี้ยังเป็นปริศนาที่ไม่เคยมีใครให้ความกระจ่างได้ คนหาปลาริมฝั่งโขงเชื่อกันว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ใต้น้ำลึก ในแก่งที่จมหลับอยู่ใต้น้ำที่เต็มไปด้วยโพรงหินขนาดใหญ่ บางคนเรียกว่า ‘วังปลาบึก’ พ่อผุย บุปผา พรานปลารุ่นลายครามแห่งบ้านปากอิงใต้บอกว่า ‘ปลาบึกที่ขึ้นมาในช่วงนี้ น่าจะอยู่ตามแก่งหินลึกใต้น้ำแถวก่อนถึงเมืองหลวงพระบาง เพราะแถวนั้นมีแก่งเยอะ น้ำมันลึกด้วย พ่อเคยเห็นคนลาวเขาบวงสรวงจับปลาบึกเหมือนกันกับทางประเทศไทย ในช่วงก่อนวันปีใหม่ลาว’แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจนว่า ปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขงขึ้นไปวางไข่บริเวณไหนหรืออาศัยอยู่ที่ใดของแม่น้ำโขง และปลาบึกธรรมชาติตัวโตเต็มที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่มีอายุเท่าใด แต่ความทรงจำของคนริมน้ำที่เคยพบเห็นปลาบึกตามที่ต่างๆ ก็พอร้อยเรียงให้เห็นถึงเส้นทางของปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ลางๆพ่อหนานตา คนหาปลาวัย ๖๕ ปี แห่งบ้านแซวเล่าให้พวกเราฟังหลังจากนั่งครุ่นคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปลาบึกอยู่ไม่นาน ‘สมัยก่อนสักเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปี ที่บ้านแซวก็มีคนจับปลาบึกอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว คนหาปลาเคยเห็นปลาบึกผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ตรงกว๊านบ้านแซวช่วงเดือนพฤษภาคม ปลาบึกมันน่าจะอยู่ที่นี้นะ หรือไม่อย่างนั้นมันก็มาหื่น (ผสมพันธุ์) กันตรงนี้แล้วก็ขึ้นเหนือไปวางไข่’บริเวณกว๊านบ้านแซวที่พ่อหนานตากล่าวถึงมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำใหญ่คล้ายกับคกอยู่ด้านในของแม่น้ำโขง กระแสน้ำในบริเวณกว๊านจะหมุนวนเป็นวงกว้าง กว๊านจะเป็นที่อยู่อาศัย, แหล่งหากิน และแหล่งวางไข่ของปลาหลายชนิดนอกเหนือจากแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงของแล้ว จากงานวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดนครพนมพบว่า ปลาบึกจะอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำสงครามและห้วยสาขาในฤดูน้ำหลาก ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และจะอพยพกลับลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ปลาบึกอพยพเข้าไปสู่แม่น้ำสงคราม เนื่องจากป่าทามของลุ่มแม่น้ำสงครามมีระบบนิเวศที่หลากหลายเหมาะต่อการหากิน และในป่าทามยังมีพืชน้ำที่เป็นอาหารของปลาบึกโดยเฉพาะ ‘เทา’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง (ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘เตา’ )พ่อประพงค์ รัตนะ นักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงครามเล่าว่า ‘เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว เคยเห็นปลาบึกขนาดใหญ่มาบ้อน--โผล่พ้นผิวน้ำ และหากินอยู่แถวห้วยซิง มีหลายคนจับปลาบึกได้จากห้วยซิงทุกปี แต่ตอนนี้ไม่เห็นปลาบึกในน้ำสงครามาหลายปีแล้ว’เช่นเดียวกันกับหนังสือแม่มูนการกลับมาของคนหาปลาได้บันทึกเรื่องราวของปลาบึกไว้ว่า ช่วงที่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูนตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา ๑ ปี ในช่วงปี ๒๕๔๕ นั้นทำให้มีปลาบึกขึ้นจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำมูน มีคนหาปลาหลายคนบังเอิญจับปลาบึกได้หลายตัว บริเวณปากแม่น้ำมูนไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง มีบริเวณที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีปลาบึกอาศัยอยู่คือ ‘บริเวณเวินบึก’ แม่น้ำโขงตรงบริเวณเวินบึกนั้นมีลักษณะเป็นเหมือนกว๊านในแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของประเทศไทยน่าแปลกที่เราต่างก็เคยเห็นปลาบึกธรรมชาติตัวใหญ่ในแม่น้ำโขง แต่สำหรับลูกปลาบึกตัวเล็กแล้วกลับไม่เคยมีใครเห็น! หลังจากพ่อแม่ผสมพันธุ์กันแล้ว, ลูกปลาบึกอพยพกลับลงมาจากด้านตอนเหนือของแม่น้ำโขงในช่วงระยะเวลาใด และมันอพยพไปอยู่ในที่ใด เพื่อเป็นปลาใหญ่ในแม่น้ำโขงต่อไป เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาที่เฝ้ารอให้เกิดการค้นพบ![๕] นอกจากเรื่องราวของถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาบึกจะเป็นเรื่องราวปริศนาแล้ว คนหาปลาในแต่ละพื้นที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาบึกแตกต่างกันออกไปด้วย คนหาปลาบ้านหาดไคร้เชื่อว่า เมื่อนกนางนวลโผบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงยามใด ยามนั้นปลาบึกก็จะขึ้นมา และคนหาปลาก็จะลงมือทำการบวงสรวง เพราะคนหาปลาที่บ้านหาดไคร้เชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีภูตผีคุ้มครอง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีเลี้ยงภูตผีเสียก่อนที่จะมีการจับปลาบึก โดยนอกจากจะเลี้ยงภูตผีแล้ว คนหาปลายังได้เลี้ยงเรือที่ใช้ในการหาปลาของตนเองด้วย  ลุงเรียน จินะราช เล่าให้ฟังว่า ‘การเลี้ยงผีลวงก็ทำก่อนช่วงที่จะมีการจับปลาบึกของทุกปี คนจับปลาบึก ลวงนี่แปลว่า ‘ฟ้า’ หรือ ‘ใหญ่’ การเลี้ยงผีลวงก็เลยหมายถึงการเลี้ยงผีที่อยู่บนฟ้า การเลี้ยงผีลวงคนหาปลาก็จะเตรียมเครื่องเซ่น เช่น เหล้าขาว,ไก่,สรวยดอกไม้,สรวยหมาก และสวยพลู วันเลี้ยงนี่คนหา-ปลาจะไปเลี้ยงกันเองเขาไม่บอกใครหรอก พอไปถึงก็ตั้งศาลเพียงตาขึ้น ให้ผู้เฒ่าผู้แก่บอกกล่าวบนบานให้จับปลาบึกได้ แต่ตอนนี้ที่เลี้ยงกันในช่วงวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี เพราะการท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมให้ทำ ตั้งแต่ปี ๓๐ มาก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา แต่ก็มีบางคนไปทำแบบดั้งเดิมอยู่’ภายหลังที่คนหาปลาจับปลาบึกได้แล้ว พวกเขาก็จะทำการแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ คนหาปลาที่จับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้จึงได้ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี ซึ่งคนหาปลาเรียกว่า การเลี้ยงผีโพ้ง, การเลี้ยงผีแม่ย่างนางเรือ, การเลี้ยงผีเจ้าที่ หากจะดูว่าเรือหาปลาลำใดจับปลาบึกได้ก็ให้สังเกตดอกซอมพอสีแดงที่ห้อยพาดอยู่บนหัวเรือ เพราะว่ากันว่าแม่ย่านางเรือชอบดอกไม้แดง เมื่อเรือลำที่ออกสู่แม่น้ำโขงกลับมาพร้อมกับปลาบึก หัวเรือจึงมีดอกไม้แดงห้อยอยู่ใช่ว่าเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับปลาบึกจะมีแต่ที่บ้านหาดไคร้ที่เดียว ตามชุมชนริมแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงยังมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับปลาบึกรวมอยู่ด้วย คนหาปลาที่แม่น้ำมูนมีความเชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาศีลธรรม ถ้าบังเอิญปลาบึกไปติดเครื่องมือประมงของใคร คนนั้นต้องปล่อยปลาบึกไปหรือถ้าปลาบึกตายก็ต้องทำบุญทำทานสะเดาะเคราะห์ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นเชื่อกันว่าจะต้องมีอันเป็นไปในชีวิตและทรัพย์สินช่วงหลังเมื่อมีปลาบึกว่ายทวนน้ำเข้าสู่แม่มูนมาติดเครื่องมือหาปลา เพราะความที่ปลาบึกถูกกระทำให้เป็นปลามีราคา คนหาปลาจึงเอาปลาบึกไปขาย แต่พอขายได้เงินมาแล้ว คนหาปลาก็จะทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้กับปลาบึกตัวนั้นๆ พิธีกรรมดังกล่าวคนหาปลาต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อกันว่าถ้าหากทำล่าช้าจะเกิดอันตรายกับครอบครัวการทำบุญให้ปลาบึกนั้นก็ทำเหมือนกับงานศพของคนทุกประการ โดยคนหาปลาที่จับปลาบึกได้ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน เพื่อสวดชักอนิจจาในตอนค่ำและกรวดน้ำหาดวงวิญญาณของปลาบึก เพื่อไม่ให้มีกรรมมีเวรต่อกัน เช้าวันต่อมาเจ้าภาพก็จะจัดให้มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จากนั้นก็จะจุดไฟเผารูปปลาบึกที่วาดขึ้นบนกระดาษ พระสงฆ์ให้ศีลให้พรเมื่อฉันภัตตาหารเสร็จ ทางผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธีจากความเชื่อทั้งสองพื้นที่นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ปลาบึกเป็นปลาที่คนหาปลาให้ความเคารพและถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ เพราะความที่ปลาบึกเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์นี่เอง รูปเขียนโบราณที่ผาแต้มจึงมีรูปปลาใหญ่ที่พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นรูปปลาบึก ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขงรวมอยู่ด้วย[๖]แม้ว่าในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่บ้านหาดไคร้จะมีการเฝ้ารอเพื่อจับปลาบึกของคนหาปลา ซึ่งถูกระหน่ำว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ล่า--นักล่า ที่พรากชีวิตปลาบึกจากลำน้ำโขงไปนักต่อนักแล้ว แต่หากย้อนกลับไปมองให้ถ้วนถี่แล้วจะพบว่า ธรรมชาติของหน้าแล้ง ปลาในแม่น้ำก็ย่อมมีน้อย และเมื่อมีปลาใหญ่ขึ้นมาและสามารถที่จะทำรายได้ให้กับคนหาปลาได้ ก็คงไม่แปลกนักที่จะมีการจับปลาบึกอยู่ทั้งฝั่งลาวและไทยหลายปีมาแล้วที่บ้านหาดไคร้ คนที่มาเฝ้ารอปลาบึกใช่ว่าจะมีเพียงแต่คนหาปลาเท่านั้น หนึ่งในจำนวนคนที่มาเฝ้ารอนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงรวมอยู่ด้วย การมาถึงของเจ้าหน้าที่กรมประมงก็เพื่อรีดไข่และน้ำเชื้อเพื่อผสมพันธุ์ปลาบึก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัยและหาแนวทางในการอนุรักษ์ปลาบึกต่อไป ส่วนกลุ่มนักอนุรักษ์กลับมีแนวคิดในการอนุรักษ์ที่ต่างออกไป โดยหลายคนได้นำเสนอถึงแนวคิดพื้นฐานที่ว่า หากเราจะอนุรักษ์ปลาบึก เราต้องอนุรักษ์พื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของปลาบึก ที่สำคัญคือเราต้องไม่แยกคนออกจากน้ำ เพราะคนหาปลาจะต้องอยู่กับน้ำ รวมทั้งปลาบึกก็ต้องอยู่กับน้ำด้วยเช่นกันในกระแสการอนุรักษ์นั้นหากว่าหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ปีหน้าเมื่อฤดูกาลจับปลาบึกเวียนมาถึง เราคงได้เห็นปลาบึกอย่างน้อยสักหนึ่งคู่ว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือเพื่อสืบสายพันธุ์อันยิ่งใหญ่แห่งสายน้ำ ให้คงอยู่คู่สายน้ำโขงตลอดไป วันนี้เกาะแก่งในแม่น้ำโขง อันเปรียบเป็นบ้านของปลาบึกและปลาน้อยใหญ่อีก๑,๐๐๐ กว่า ชนิดในลำน้ำแห่งนี้ กำลังถูกคุกคามด้วยโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซ้ำร้ายระบบการขึ้น-ลงของระดับน้ำตามวัฎจักรฤดูกาลของแม่น้ำก็ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเขื่อนหลายแห่งที่สร้างขึ้น เพื่อกั้นน้ำทางตอนบนในเขตจีน ความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศที่ซับซ้อนของสายน้ำแห่งนี้จะคงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงนานาชีวิตได้อีกนานแค่ไหน?วันนี้ชะตาอนาคตของปลาบึกและสรรพชีวิตแห่งลุ่มน้ำโขงเหมือนอยู่บนเส้นด้ายเส้นเล็กๆ เส้นด้าย ที่เฝ้ารอวันขาดสะบั้น เพราะทิศทางการพัฒนาที่ไม่มุ่งเน้นเพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านเดียว และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำนี้มาถึงช้าเหลือเกิน!   แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงทุกสิ่งอาจหลงเหลือแต่เพียงตำนานให้ลูกหลานลุ่มน้ำโขงได้เล่าขานกันต่อไปในอนาคตก็เป็นได้?.....[๗]๑๘ เมษายน ๒๕๔๙งานบวงสรวงก่อนการจับปลาบึกของคนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับกระแสว่าชาวบ้านหาดไคร้จะไม่จับปลาบึกอีก แต่ไม่แน่นักว่าหลังจากวันนี้ไปไม่มีใครทำนายทายทักได้ว่า ปลาบึกตัวแรกจะถูกคนหาปลาคนใดจับได้ และเรื่องราวความขัดแย้งในเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกจะยังคงมีอยู่ต่อหรือไม่? นั่นเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามและค้นหาคำตอบกันต่อไป...
สุมาตร ภูลายยาว
เสียงผู้คนส่งเสียงเชียร์เรือยาวในแม่น้ำดังไปทั่วริมฝั่ง งานแข่งเรือเริ่มขึ้นในวันสาขารล่อง--ประมาณวันที่ ๑๔ เมษายน เบื้องล่างเหนือสายน้ำ เรือ ๒ ลำกำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ไม่นานนักเรือที่มีฝีพายใส่เสื้อสีแดงก็ทะยานเข้าเส้นชัยหลังเรือลำนั้นเข้าเส้นชัยแล้ว การแข่งเรือรอบคัดเลือกจึงสิ้นสุดลง พรุ่งนี้จะเป็นวันตัดสินว่า เรือของคุ้มบ้านไหน จะได้ลอยลำเฉิดฉายเข้าเส้นชัย เสียงเพลงเฉลิมฉลองทั้งปราชัย และมีชัยดังมาเป็นระยะ เมื่อผู้คนเริ่มทยอยกลับบ้าน ชายชราก็ลุกจากเสื่อที่ปูนั่ง และเดินออกมาจากริมน้ำคืนสู่บ้าน ก่อนจะเดินมาถึงบันไดทางขึ้นวัด ชายชราก็ก็หยุดคุยกับใครบางคนตรงเชิงบันได“เด็กบ้านเรามันไม่สู้ พายเรือก็ไม่พร้อมกัน ถ้าเป็นสมัยเรานี่ได้รางวัลไปแล้ว” ชายใส่เสื้อขาวอีกคนที่อายุไล่เลี่ยกับชายชราพูดขึ้นมา“นั้นแหละ พอตอนซ้อมมันไม่มาซ้อม ตอนแข่งก็กินเหล้ากัน พอแข่งจริงแรงมันก็ไม่มี ถ้าเป็นสมัยพวกเรานี่ สู้ไม่เคยถอย แต่ก็อย่างว่านั้นแหละ ถึงคนพายถ้ามันพายดี แต่เรือไม่ดี มันก็เหมือนเดิม เรือกับคนมันต้องดีๆ พอกันถึงจะชนะบ้านอื่นเขาได้”เมื่อพูดคุยกันอยู่ครู่หนึ่ง ชายชราก็เดินจากผู้ชายอีกคนมาหากพูดถึงการแข่งเรือแล้ว นานทีปีครั้งถึงจะมี การหาฝีพายที่มือถึง และการหาเรือดีมาเข้าแข่งจึงเป็นเรื่องยากพอควร และความจริงแล้ว การแข่งเรือก็เพียงรักษาประเพณีครั้งเก่าก่อนไว้เท่านั้น หาได้หมายถึงการแข่งขันเอาถ้วยรางวัล และชื่อเสียงใหญ่โตอาฬารแต่ประการใดหลังงานแข่งเรือแล้วเสร็จอีกหลายวัน ชายชราก็เดินทางขึ้นไปหาปลาอีกครั้ง การไปหาปลาในครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ได้ว่า ชายชราจะได้กลับมาพร้อมกับปลากี่กิโล เมื่อชายชรากลับมาถึงกระท่อม แมวสองตัวที่เลี้ยงไว้ก็วิ่งมารับ มันคงดีใจที่เจ้าของผู้ใจดีกลับมา หลังเก็บสัมภาระทุกอย่างเรียบร้อย ชายชราก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เมื่อไปถึงชายชราก็พบว่า เรือลอยอยู่บนริมฝั่ง ไม่ได้ลอยอยู่ในน้ำ ชายชราหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนเดินเข้าไปใกล้กับหัวเรือแล้วใช้มือทั้งสองออกแรงดันเรือให้ลงน้ำ เมื่อเรือโดนน้ำ เสียงลั่นคล้ายกำลังปริแตกของไม้ก็ดังขึ้น หลังเสียงเงียบลง ชายชราก็ใช้ขันตักน้ำขึ้นมาสาดไปทั่วเรือ หลังเรือชุ่มไปด้วยน้ำ ชายชราก็เดินขึ้นมาริมฝั่ง และจัดเตีรยมอุปกรณ์ในการบวงสรวงเรือควันธูปลอยล่องไปตามลม หลังถูกจุดขึ้นไม่นาน ตรงหัวเรือมีขนมหลากสี ดอกไม้ และแก้วเหล้า วันนี้ชายชราตัดสินใจเลี้ยงเรือ และบนบานบอกกล่าวต่อแม่ย่านางเรือ หลังจากไม่ได้ทำมานาน แสงตะวันยามพลบใกล้เข้ามาเต็มที ชายชรายังไม่กลับมาจากหาปลา ตรงริมฝั่ง แมวสองตัวเดินวนไปวนมาเฝ้ารอเจ้าของ บนแม่น้ำหน้าแล้ง แม้น้ำไม่มาก แต่ความหน้ากลัวก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เวลาค่อยๆ ผ่านไปช้าๆ ขณะตะวันใกล้ลับเหลี่ยมเทือกเขาดอยหลวง ชายชราก็พายเรือกลับเข้ามถึงฝั่ง แมวสองตัวหลังรู้ว่าเจ้าของพวกมันกลับมาแล้ว มันก็เดินมายังริมฝั่งอีกครั้ง เมื่อมาถึงมันก็กระโดดขึ้นไปบนเรือ มันค่อยๆ ไต่ไปตามเรือ เพื่อไปหาชายชรา “เหมียว วันนี้ไม่มีอะไรกินหรอก ปลาก็ไม่ได้ กุ้งก็ไม่ได้ ไปขึ้นไปบนฝั่ง มืดค่ำแล้วเดียวตกน้ำ”ชายชราร้องไล่แมว เมื่อเห็นว่าพวกมันกำลังเล่นกันอยู่บนแคมเรือ แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันหาปลาวันแรก หลังจากไม่ได้หามาหลายวัน ผลรับที่ได้กลับมาก็ไม่ได้แตกต่างกับก่อนหน้าจะหยุดหาไปเท่าใดนัก เมื่อแมวสองตัวเดินขึ้นไปบนริมฝั่งแล้ว ชายชราก็เดินจากท่าเรือขึ้นมาบนกระท่อมบริเวณกระท่อมตอนนี้มีแสงตะเกียงมาแทนที่ของแสงตะวันยามพลบ ที่ริมระเบียง ชายชรานอนเอาเมื่อก่ายหน้าผากครุ่นคิดถึงเรื่องราวต่างๆ นานาจนเผลอหลับไปเนิ่นนานชายชราสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อแมวสองตัวหยอกล้อกันแล้ววิ่งมาชนแก เมื่อตื่นขึ้นมา ชายชราก็ย้ายเข้าไปนอนในกระท่อม หลังจากชายชราเข้าไปในกระท่อมแล้ว แมวสองตัวก็เงียบเสียงของพวกมันลง สองวันให้หลัง ชายชราก็กลับคืนสู่บ้าน ผมได้พบกับชายชราขณะแกกำลังเข็นรถผ่านหน้าบ้าน“พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”“ไม่ได้ ปลาก็ไม่ได้ เรือก็มาแตก น้ำเข้าเยอะ อุดยังไงก็เอาไม่อยู่ ก็เลยคิดว่าจะเปลี่ยนเรือใหม่ ตอนนี้กำลังไปสั่งคนลาวทำเรือให้อยู่ บอกช่างว่าจะเอาสัก ๑๔ ศอก ให้มันลำใหญ่กว่าลำเดิม”“แล้วพ่อเฒ่าจะขึ้นไปหาปลาอีกเมื่อไหร่”“ช่วงนี้ไม่ไป เอาไว้ให้เรือเสร็จก่อน ถึงไปปลามันก็ไม่มี ไปก็เสียเวลาเปล่าสู้ไม่ไปดีกว่า”ผมคุยกับชายชราอยู่ไม่นานนัก แกก็เข็นรถมุ่งหน้าคืนสู่บ้าน หลังชายชราลับตาไปแล้ว ผมกลับเข้ามาในบ้าน และเดินไปนอนเล่นบนเปลใต้ต้นกระท้อน เมื่อเอนหลังลงแนบกับเปล ผมก็หวนคิดถึงเรื่องเล่าของชายชราที่แกเล่าให้ฟังหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องราวในวันนี้ของชายชรา  จากวันที่เราพบเจอกันวันแรกจนถึงวันนี้ สิ่งที่ผมเห็นอยู่เสมอคือชายชรายังเป็นคนหาปลาอยู่เช่นเดิม แม้ว่าในตอนนี้ชายชราจะไม่ได้ขึ้นไปหาปลาที่เดิม เพราะปลาไม่ค่อยมี ก็อย่างที่ชายชราเล่าให้ฟังนั้นแหละว่าเป็นเพราะเหตุใด ปลาจึงไม่ค่อยมี ยิ่งนานวันเข้าปลาที่เคยได้ก็ลดน้อยลงทุกที รอยยิ้มเคยมีอยู่บนใบหน้าของชายชราก็เริ่มเลือนหายไปบ้างตามชั่วยามแห่งอารมณ์ที่เกิดขึ้น หากเราจะเรียกสิ่งที่กำลงเกิดขึ้นกับชายชราและคนหาปลาคนอื่นว่า ‘ชะตากรรม’ แล้ว คนหาปลาเช่นชายชราจะต้องเผชิญชะตากรรมนี้อีกนานเท่าไหร่ ผมเองก็ยังไม่รู้ ได้เพียงแต่ภาวนาว่าขอให้ชายชราเป็น ‘ชายชราแห่งสายน้ำโบราณ’ ที่ได้อาศัยพึ่งพาแม่น้ำ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตต่อไปจนกว่า...แน่ละ ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนและเป็นนิรันดร์ ชายชราก็เช่นกัน อีกไม่นานตำนานแห่งการล่องไหลบนลำเรือเหนือสายน้ำคงได้หยุดลงเป็นการถาวร เพราะร่างกาย และอายุของชายชราก็มากขึ้นทุกทีแม่น้ำก็คงเหมือนกัน วันใดในหนึ่ง แม่น้ำก็ย่อมมีวันหยุดไหล เมื่อผู้คนคิดแต่จะกอบโกยเอาผลประโยชน์จากแม่น้ำมากเท่าใด ผู้คนก็ลงมือทำลายแม่น้ำมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากจะทำลายแม่น้ำแล้วยังทำลายวิถีของผู้คนริมน้ำด้วย ในอนาคตใครจะเป็นคนมาสืบสานวิถีของคนหาปลาแห่งสายน้ำโบราณต่อจากชายชรา มันเป็นคำถามสั้นๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะลูกหลานแห่งแม่น้ำ พวกเขาต่างโดนพรากจากแม่น้ำด้วยมือนิรนามหลายร้อยหลายพันมือ มือนิรนามเหล่านั้นฉุดกระชากลูกหลานแห่งแม่น้ำให้ไหลล่องไปสู่ที่ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ และนับวันจะไปไกลขึ้นทุกทีสายน้ำยังคงไหลไปเช่นใด เรื่องราวของชายชราและแม่น้ำโบราณก็คงไม่จางหายไปเช่นกัน และมันยังจะคงมีต่อไป แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กๆ ของหาคนหาปลาคนหนึ่งบนสายน้ำอันยิ่งใหญ่สายนี้...ขณะเดินทางออกจากเชียงของสู่เชียงใหม่ ผมหวนคิดถึงคำพูดของชายชราที่ว่า ’หากเราทำร้ายแม่น้ำก็เหมือนเราฆ่าแม่’ ใช่สินะ! หากเราทำร้ายแม่น้ำก็เหมือนกับเราทำร้ายแม่ของเรา เพราะสายน้ำก็ให้กำเนิดของสรรพชีวิตไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ของเราเช่นกัน...แม้ว่าในวิถีทางของชายชราจะอยู่บนเส้นแบ่งลางๆ ระหว่างบุญ-บาป-สำนึกแห่งการไม่ฆ่า-การอยู่รอด แต่ความเป็นจริงแล้ว ชายราเคยบอกกบัผมว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เราล้วนเกิดมาชาติเดียว ปลาในแม่น้ำก็เช่นกัน มันล้วนเกิดมาเพียงชาติเดียว เพียงแต่ว่าวันสิ้นชาติของเราจะเดินมาถึงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง หากวันสิ้นชาติของปลาเดินทางมาเร็ว มันก็โดนคนหาปลาจับได้หรือไม่ก็โดนปลากินเนื้อบางชนิดกินมันเป็นอาหาร คนเราก็เช่นกัน หากเราไม่โดนคนอื่นฆ่าเสียก่อน เราก็โดนวันเวลาค่อยๆ กลืนกินเราจนกว่าวันสุดท้ายของชีวิตจะเดินทางมาถึงเมฆฝนฤดูใหม่ตั้งเค้ามาแล้ว ในที่สุดก็โปรยสายลงสู่ผืนดินและสายน้ำอีกครั้ง หลายชีวิตก่อเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ชายชราเองก็เช่นกัน เมื่อฝนแรกมาเยือน น้ำเริ่มนอง ไซลั่นที่สานไว้ตั้งแต่หน้าแล้งก็ถูกนำลงมาวางในแม่น้ำอีกครั้ง เมื่อไหร่หนอ การเดินทางบนสายน้ำของชายชราจะสิ้นสุดลง อีกกี่ปีหนอการล่องไหลของแม่น้ำจะสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าชายชรา และแม่น้ำโบราณสายนี้จะเป็นอย่างไร จะจบลงด้วยความสุขหรือว่าจบลงด้วยความทุกข์ เวลาคงเป็นเครื่องตัดสิน บางทีการจบลงของเรื่องราวชายชรา และสายน้ำโบราณอาจเป็นเหมือนเพลงที่ชายชราชอบร้องก็เป็นได้...สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไรตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตาค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้า 
ประสาท มีแต้ม
ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในประเด็นพลังงานทั้งเรื่อง ปตท. และการไฟฟ้า ทั้งการเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานหมุนเวียนมานานกว่า 10 ปีหลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (14 ธันวาคม) ในอีก 2 วันทำการต่อมารัฐบาลก็ได้ผ่านมติวิธีการจัดการรวมทั้งการคิดค่าเช่าท่อก๊าซฯให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 นาที สร้างความกังขาให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมากประเด็นที่ผมสนใจในที่นี้มี 3 เรื่องดังต่อไปนี้หนึ่ง คำพิพากษาของศาลฯที่ว่า “การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” ในกรณีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นควรจะครอบคลุมไปถึงไหน  ในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมขอสรุปคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดตามความเข้าใจของผมว่า ในขณะที่ ปตท. ยังไม่ได้แปรรูปนั้น  ปตท. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ   ได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ดำเนินกิจการวางท่อก๊าซเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ   ในการนี้ ปตท.  ได้ใช้อำนาจดังกล่าวเวนคืนที่ดินของเอกชนจำนวน 32 ไร่  (ซึ่งทางรัฐบาลชุดนี้บอกว่ามีมูลค่า 7 ล้านบาท)  เมื่อสถานะของ ปตท. เปลี่ยนไปเป็นองค์กร “นิติบุคคลเอกชน”   ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่าต้องโอนที่ดินส่วนที่เคยเป็นของเอกชน (และท่อก๊าซที่วางอยู่บนที่ดิน)   กลับไปเป็นของรัฐดังเดิม ให้เหมือนกับก่อนที่  ปตท.  จะแปรรูปผมสงสัยว่า  ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงตีความ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เฉพาะบนที่ดินของเอกชนดังกล่าวเท่านั้น ในเมื่อท่อก๊าซได้วางอยู่บนที่ดินของสาธารณะ เช่น ทะเล ป่าไม้ ทางหลวงแผ่นดิน เขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้นการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน รัฐบาลก็ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เวนคืนที่ดินของเอกชนมาเหมือนกันโดยเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ต่อมาเมื่อมีการวางท่อก๊าซ (เช่นท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย)    ทาง ปตท.  ก็ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ”  ขอวางท่อก๊าซไปตามแนวทางหลวงแผ่นดิน   เมื่อสถานะของ ปตท. เปลี่ยนไปเป็นองค์กร “นิติบุคคลเอกชน” แล้ว สิทธิการใช้ที่ดินแนวทางหลวงแผ่นดินก็น่าจะหมดไปด้วยการวางท่อก๊าซในทะเล ก็เช่นเดียว  เป็นการใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ไปรอนสิทธิ์การทำประมงและการเดินเรือของประชาชนเหมือนกัน   เอกชนรายใดก็ตามไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลหรือแม่น้ำได้ (ตามตัวบทกฎหมายนะครับ)ในกรณี ท่อก๊าซไทย-พม่า ก็เป็นการใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ”   ใช้ที่ป่าไม้ พื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นสมบัติของสาธารณะด้วยเหมือนกัน เท่าที่ผมทราบ ท่อก๊าซเกือบทุกสายในประเทศไทย ต่างก็วางอยู่บนที่ดินของสาธารณะทั้งสิ้น จะมียกเว้นบ้างก็คือท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซจะนะ ไปยังโรงไฟฟ้าสงขลาที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้  ท่อก๊าซสายนี้มีการซื้อขายที่ดินเพื่อวางท่อ ไม่ใช่การเวนคืนโดยใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” แต่อย่างใดดังนั้น ผมเข้าใจว่าระบบท่อส่งก๊าซเกือบทั้งหมดจึงควรเป็นของรัฐ  ไม่ใช่เฉพาะที่วางอยู่บนที่ดินที่ได้เวนคืนมาจากเอกชนจำนวน 32 ไร่เท่านั้น  มูลค่าท่อก๊าซที่จะต้องโอนกลับไปเป็นของรัฐไม่ใช่แค่ 14,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลสรุป แต่น่าจะเป็นท่อก๊าซเกือบทั้งหมดซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทการตีความคำพิพากษาเพียงตื้นๆ ชั้นเดียวแบบนี้ น่าจะไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่รัฐนะครับสอง ผมเห็นว่า นับจากวันแปรรูป (ตุลาคม 2544) จนถึงวันที่ศาลตัดสิน (2550) ผลประโยชน์ที่ได้จากกิจการท่อก๊าซ หรือค่าผ่านท่อทั้งหมด หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วควรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด รวมทั้งค่าเสียโอกาสและค่าดอกเบี้ยย้อนหลังด้วยไม่ใช่เป็นการคิดค่าเช่าในอัตรา 5% ของรายได้ ตามที่รัฐบาลชุดนี้มีมติทั้งนี้เพราะ ปตท. (ใหม่) ไม่ทำตามมติของคณะกรรมการนโนบายพลังงานแห่งชาติที่มีมติให้แยกกิจการท่อก๊าซออกมาก่อนการแปรรูปเรื่องรายได้เกี่ยวกับท่อก๊าซ  บริษัท ปตท. ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณะได้รับทราบ  อย่างไรก็ตามจากเอกสาร  “คู่มือการคำนวณอัตราค่าผ่านท่อ” ( 7 พฤศจิกายน 2539 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ)  ทำให้เราทราบได้ว่า(1) ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน (หรือ IRR) ในอัตรา 18% ต่อปี  นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งให้ความหมายอย่างง่าย ๆ ว่า    ถ้า ปตท. ต้องกู้เงินมาลงทุนในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี  กิจการนี้ก็จะคุ้มทุนพอดี  แต่ถ้ากู้มาในอัตราที่น้อยกว่า เช่น  ถ้ากู้เงินมาในอัตราดอกเบี้ย 8%ต่อปี ก็หมายความว่า ปตท. มีกำไร 10% โดยประมาณ แล้วในความเป็นจริง ปตท. กู้เงินมาลงทุนในอัตราเท่าใดกันแน่ และใช้เงินลงทุนของตนเองจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์  เรื่องนี้ต้องตรวจสอบได้  เท่าที่ผมทราบ ปตท. มักใช้เงินลงทุนของตนเองประมาณ 25%(2) จากคู่มือดังกล่าว ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าในปี 2539 มูลค่าก๊าซที่ผ่านท่อทั้ง 3 โซนมีจำนวน 24,003 ล้านบาท  ปตท. ได้ค่าผ่านท่อทั้งหมด 6,646 ล้านบาท หรือพอประมาณได้ว่า ปตท.คิดค่าผ่านท่อในอัตรา 28% ของมูลค่าก๊าซที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายปลายทาง(3) จากข้อมูลในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานพบว่า ในช่วงหลังการแปรรูป (ตุลาคม 2544 ถึง 2550)  มูลค่าก๊าซทั้งหมดประมาณ 3.5 แสนล้านบาท  ถ้าคิดค่าผ่านท่อในอัตรา 28% ของมูลค่าก๊าซ ค่าผ่านท่อก็ประมาณ  98,000  ล้านบาทค่าผ่านท่อจำนวนนี้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 3 ของเงินลงทุนโครงการ และค่าอื่นๆ แล้วที่เหลือควรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด ในโทษฐานที่ ปตท. เบี้ยวมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ให้แยกกิจการท่อก๊าซออกมาก่อนตั้งแต่ต้นสาม ผมเห็นว่า เมื่อระบบท่อก๊าซ (เกือบทั้งหมด) ตกเป็นของรัฐ ตามเหตุผลที่กล่าวแล้ว รัฐจึงควรจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ขึ้นมา  คราวนี้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองในการหาผู้เช่ารายใหม่และการคิดค่าเช่าด้วย คงไม่ใช่ร้อยละ 5 ตามที่ “รัฐบาลขิงแก่” ได้อนุมัติไปแล้ว ผมคิดว่ากระทรวงการคลังอาจจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (องค์กรนิติบุคคลมหาชนของรัฐ) เช่าก็ได้ เพราะเป็นผู้รับซื้อก๊าซปลายทางอยู่แล้วจากการศึกษาของกลุ่มพลังไทยพบว่า ทุกๆ หนึ่งร้อยบาทที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายไฟฟ้าได้เงินจะเข้าสู่ ปตท. ประมาณ 43 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าผ่านท่อเสียประมาณ 12 บาท (ตามข้อมูลข้างต้นที่กล่าวแล้ว)เราคงจำกันได้ในกรณีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตอนนั้นมีการเสนอแยกเขื่อนออกมาเป็นสมบัติของกระทรวงการคลัง (เหมือนกับการแยกท่อส่งก๊าซออกจากกิจการ ปตท. ในตอนนี้)  แล้วให้บริษัท กฟผ. จำกัด (ที่กำลังจะแปลงร่างเป็นองค์กรนิติบุคคลเอกชนในขณะนั้น) เป็นผู้เช่าที่น่าเศร้าแต่ไม่น่าแปลกใจก็คือ มีการเสนอค่าเช่าเขื่อนในราคาที่คิดออกมาแล้วไร่ละไม่กี่บาทต่อปีคราวนี้สังคมไทยจะต้องหาวิธีการป้องกันอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นต้องเกิดขึ้นมาอีก มาวันนี้สังคมไทยต้องตั้งคำถามบ้างแล้วละครับว่า ในปัจจุบันมีธุรกิจใดบ้างที่มีผลตอบแทนสูงถึง 18% ต่อปี เพื่อนฝูงผมคนหนึ่งที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์บอกว่า หากได้ผลตอบแทนถึง 5 % ก็นับว่าดีมากแล้วกิจการ ปตท. เป็นกิจการผูกขาดแล้วยังมากำหนดผลตอบแทนสูงถึงขนาดนี้ มันผิดทั้งหลักธรรมาภิบาลและผิดทั้งคุณธรรมอย่างน่าละอายมาก ก่อนการแปรรูป ปตท. มีกำไรปีละไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงหลังนี้ ปตท. กลับมีกำไรสูงถึงเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องซื้อพลังงานในราคาแพง  ระวังนะครับ ถ้าทุกอย่างยังเป็นเช่นนี้ต่อไป สักวันหนึ่งสังคมไทยจะทนไม่ไหว 
สุมาตร ภูลายยาว
ตะวันสายแดดส่องฟ้า เรือหาปลากับชายชรากำลังเดินทางออกจากท่า เพื่อหาปลาอีกครั้ง ในแสงแดดยามสาย ชายชรากำลังสลัดคราบไคร้ที่เกาะติดเบ็ดออก เพื่อทำความสะอาดให้มันกลับมาพร้อมใช้งานอีกครั้งสายน้ำลดระดับลงอีกครั้งหลังโถมถั่งในหน้าฝน สายน้ำเชี่ยวกรากกลับกลายเป็นแผ่วเบา และลดความเกรี้ยวกราดลง วันนี้ไม่แตกต่างจากหลายวันในช่วงเริ่มต้นฤดูหนาว ชายชรายังคงดำเนินชีวิตไปตามปกติในครรลองของคนกับเรือเหนือสายน้ำอันกล่าวได้ว่าคือสายชีวิตของชายชราด้วยสายลมแห่งเดือนมกราคมพัดมาเยือกเย็น ริมฝั่งน้ำตรงกระท่อมหาปลา ชายชรานั่งเงียบงันอยู่ข้างกองไฟ ๒ วันมาแล้วยังหาปลาไม่ได้ ช่วงนี้จึงมีเพียงกุ้งติดฟดริมฝั่งน้ำเท่านั้น กุ้งเหล่านี้แม้มันจะตัวเล็กกว่าปลา แต่ในยามหาปลาไม่ได้ นอกจากมันจะเป็นเหยื่อเบ็ดเพื่อล่อเอาปลาแล้ว มันยังกลายมาเป็นอาหารในบางมื้อสำหรับชายชราอีกด้วยคนเคยกินแต่ปลาตัวใหญ่ พอมากินกุ้งที่ตัวเองคิดเพียงว่ามันเป็นเหยื่อล่อปลา ในห้วงแห่งความรู้สึกเช่นนี้ของชายชรา แกจะรู้สึกอย่างไร เสียใจ ดีใจหรือว่าแกไม่ได้คิดอะไรเลย เรื่องราวเหล่านี้มีเพียงชายชราเท่านั้นจะเฉลยมันออกมาหลังกลับมาจากหาปลาในตอนใกล้ค่ำ วันนี้ก็เหมือนเดิมกับเมื่อวาน เมื่อลงมือทำอาหารชายชราก็มุ่งหน้าลงไปยังท่าน้ำ เพื่อเอากุ้งมาทำเป็นอาหาร หลังได้กุ้งพอกับความต้องการ ชายชราก็นำกุ้งมาคดเอาแต่ตัวขนาดนิ้วหัวแม่มือ เพราะถ้าเอากุ้งตัวใหญ่มันก็จะไม่เปลืองมาก แต่ถ้าเอากุ้งตัวเล็กมา เราก็ต้องใช้กุ้งเยอะ ชายชราเองก็ไม่แน่ใจนักว่าหลังจากไม่ได้ปลาอาจจะไม่ได้กุ้งด้วย เพราะกุ้งจะติดฟดก็ในช่วงข้างขึ้นเท่านั้น การดักฟดกุ้งก็ไม่ได้ต่างจากการลอบหมึกในทะเลเท่าใดนัก ในช่วงที่กุ้งได้เยอะก็ได้เยอะ แต่ในช่วงที่ไม่ได้เลยแม้แต่จะพอเอาให้แมวกินก็ยังยาก เมื่อกลับขึ้นมาถึงกระท่อม ชายชรามุ่งหน้าไปยังเตาไฟ ไม่นานนักไฟก็สว่างขึ้นมา หลังจากชายชราง่วนอยู่กับกองไฟ พอไฟสว่างโพลงขึ้นมา ฟืนชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ก็ถูกใส่เข้าในกองไฟ จากไฟกองเล็กก็กลายเป็นไฟกองใหญ่ ขณะไฟจากท่อมฟืนกำลังคุได้ที่ชายชราก็เดินไปยังถังน้ำแล้วกลับมาพร้อมกับหม้อหนึ่งใบที่มีกุ้งอยู่ในนั้น พอมาถึงชายชราก็จัดแจงเอาหม้อขึ้นวางบนก้อนหินที่วางอยู่ข้างกองไฟ หลังหม้อเดือด ชายชราก็หยิบเกลือมาใส่ลงไปในหม้อ หลังใส่เกลือลงไปไม่นาน ชายชราก็ยกหม้อออกมาวางไว้บนพื้น ก่อนจะเดินไปหยิบจานมาใส่กุ้งคั่วเกลือ อาหารทุกอย่างถูกจัดแจงมาวางบนพื้นระเบียงกระท่อม เมนูหลักเป็นกุ้งคั่วเกลือ เมนูรองลงมาเป็นน้ำพริกกับผักกาดลวกที่เหลือจากตอนเช้า แล้วมื้อค่ำของชายชราก็เริ่มขึ้น หลังจากมื้อค่ำผ่านไป ชายชราก็ออกมานั่งม้วนบุหรี่ดูดอยู่ตรงระเบียงกระท่อม หลังดีดก้นบุหรี่ทิ้งไป ชายชราก็นั่งเหม่อมองออกไปนอกกระท่อม ไม่มีใครรู้ว่าในห้วงเวลาเช่นนี้ชายชราคิดเรื่องใดอยู่ในใจลมหนาวพัดเข้ามาวูบหนึ่ง ชายชราก็ขัยบตัวลุกขึ้นเดินถือตะเกียงเข้าไปในกระท่อม จากนั้นก็จัดที่หลับที่นอนให้เข้าที่เข้าทาง ก่อนจะสวดมนต์ไหว้พระ เมื่อสวดมนต์ไหว้พระเสร็จสิ้น แสงตะเกียงก็ดับวูบลง ทุกอย่างในกระท่อมจึงเดินทางไปสู่ความมืดเมื่อจมลงสู่ความหลับไปเนิ่นนาน ชายชราก็สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก ในลมดึกนั้น ชายชราลุกขึ้นมานั่งทบทวนความฝันที่เพิ่งเกิดขึ้น มันเป็นความฝันที่ชายชราไม่เคยฝันเลยแม้แต่ครั้งเดียว และชายชราจึงคิดว่าความฝันที่เกิดขึ้นเป็นความฝันประหลาด ชายชราฝันไปว่า มีปลาใหญ่รูปร่างประหลาดมาติดเบ็ด ปลาใหญ่ตัวนั้นมันดิ้น เพื่อจะให้ตัวเองหลุดจากเบ็ด ทุกครั้งที่มันดิ้น น้ำจะแตกกระจายขึ้นไปในอากาศ รูปร่างของปลาตัวนี้ชายชราไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนหัวของมันสีขาวคล้ายปลาเลิม ส่วนตัวมีลายคล้ายหินอยู่เต็มตัว มีหางคล้ายปลากระทิง เมื่อลากเส้นผ่าสูญกลางผ่านมุมปากเส้นผ่าสูญกลางจะผ่ากลางดวงตาของปลาตัวนี้พอดี ในฝันนั้นชายชราเห็นตัวเองกำลังดึงปลาตัวนั้นเข้าฝั่ง ทุกครั้งที่ดึงมันเข้าฝั่ง มันก็จะดึงชายชรากลับลงไปในน้ำ ชายชรากับเจ้าปลาประหลาดตัวนั้นต่อสู้กันเนิ่นนาน แต่ไม่มีผู้ใดยอมแพ้ เมื่อตะวันสายโด่ง ความร้อนได้ทำให้ชายชราเหนื่อยหอบ เรี่ยวแรงเคยมีก็ค่อยๆ หายไป ขณะชายชรานั่งพักเหนื่อยอยู่ริมฝั่ง ปลาประหลาดตัวนั้นก็กระโดดขึ้นเหนือสายน้ำ ก่อนมันจะตกลงไปในน้ำ สีของมันได้เปลี่ยนเป็นสีทอง เมื่อมันจมลงสู่น้ำ ก็เป็นเวลาที่ชายชราหายจากการตกตะลึง เมื่อตั้งสติได้ ชายชราก็แก้เชือกสายเบ็ดและลองดึงเจ้าปลาประหลาดตัวนั้น หลังชายชราใช้มือสาวเชือก ๒-๓ ครั้ง เชือกสายเบ็ดเบาโหวง แรงดึงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เหมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นหลังสาวเชือกขึ้นมาบนฝั่งจนหมด ชายชราก็พบว่า ตรงปลายเชือกผูกเบ็ดมีเพียงเบ็ดดวงเดียว ปลาประหลาดตัวนั้นหายไปแล้ว ขณะชายชราตะลึงงันอยู่ ลมหนาววูบใหญ่ก็พัดมาอย่างแรง ลมนั้นพัดชายชราจนล้มลง เมื่อนอนกองอยู่กับพื้นความทรงจำของชายชราก็ดับวูบลง หลังคววามจำสุดท้ายดับวูบลง ชายชราก็สะดุ้งตื่น...สิ้นเสียงไก่ขันครั้งที่ ๒ ของค่ำคืน ชายชราก็ตัดสินใจลุกจากที่นอน เพราะหลังจากความฝันประหลาดผ่านพ้นไป ชายชราก็ไม่สามารถข่มตาให้หลับได้ เมื่อตื่นขึ้นมาชายชราก็นั่งเรียบเรียงความฝันประหลาดนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชายชรามึนงงกับความฝันเป็นอย่างมาก ในชีวิตแกไม่เคยฝันอะไรแปลกประหลาดอย่างนี้ แต่ยิ่งคิดก็ยิ่งมึนงงสับสน เมื่อความมึนงงสับสนไม่มีทีท่าว่าจะหาย สุดท้ายชายชราจึงหยุดคิดถึงความฝันประหลาด หลังความมึนงงสับสนหายไป ชายชราก็ลุกออกจากกระท่อมเดินไปท่าน้ำ เมื่อไปถึง ชายชราก็เดินขึ้นไปบนเรือ และพายเรือออกไปจากท่าน้ำตะวันสายโด่งแล้ว ชายชรากับเรือหาปลาได้เดินเข้ากลับเข้าฝั่ง หลังจากออกไปเก็บกู้เบ็ด สีหน้าของชายชราหม่นเศร้าลง เพราะไม่มีปลาแม้แต่ตัวเดียวติดเบ็ด เมือเรือเข้าถึงฝั่ง ชายชราก็ผูกเรือกับเสาไม้ไผ่ เมื่อผูกเรือเรียบร้อย ก็ลุกขึ้นเดินไปปลดเครื่องยนต์ตรงท้ายเรือ จากนั้นก็ยกขึ้นบนบ่า ก่อนจะค่อยๆ เดินออกจากเรือขึ้นไปบนกระท่อมหลายวันมาแล้วที่หาปลาไม่ได้ วันนี้ชายชราจึงตัดสินใจกลับบ้าน หลังจากเก็บของทุกอย่างบริเวณกระท่อมไว้อย่างดีแล้ว ชายชราก็แบกถุงปุ๋ยใส่เสื้อผ้าเดินจากกระท่อมขึ้นมาตามทางเดินแคบ และชันไปบนถนน เพื่อรอรถโดยสารกลับบ้านบรรยากาศของพลบค่ำเริ่มมาเยือน ท้องฟ้าในฤดูหนาวมืดเร็วกว่าฤดูอื่น ขณะตะวันใกล้ลับตา ผมได้รู้จากแม่เฒ่าว่าชายชรากลับมาแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไปหาชายชรา เพราะยากได้ปลาไปลาบสักตัวอยู่พอดี พอเดินไปถึงบ้าน ชายชราก็ชวนนั่งบนเตียงหน้าบ้าน ถัดมาจากผมและชายชราไป แม่เฒ่ากำลังล้างทำความสะอาดปลา เพื่อทำอาหารเย็น หลังผมนั่งลงเรียบร้อย ชายชราก็ยกน้ำใสแจ๋วออกมา ชายชราบรรจงรินมันใส่แก้วใบเล็กแล้วยื่นให้ผม หลังรับมาผมก็ยกครั้งเดียวหมด หลังน้ำใสแจ๋วผ่านลำคอ ไปสู่กระเพาะ ความร้อนจากแรงดีกรีก็เริ่มทำงาน เมื่อผลยื่นแก้วกลับไปให้ชายชราผมก็ถามชายชราว่า “วันนี้ได้ปลาอะไรบ้างพ่อเฒ่า”“ได้ปลาสะโม้ตัวเดียว ขายไปแล้ว ตอนแรกว่าจะไม่ขายแต่กลัวไม่มีค่าน้ำมันเรือขึ้นไปเก็บกู้เบ็ดก็เลยขาย ปลานี่มันใจเสาะตายเร็วถ้าได้มาต้องรีบขาย หรือไม่ก็เอาแช่น้ำไว้ ถ้าตายมันได้ราคาไม่ดี ปลาอะไรไม่รู้พอได้มาเราต้องรีบเอาไปทำอย่างอื่น จับปลาเหมือนจับไฟเลย มันคงร้อนตอนอยู่ในมือเรา มันก็เลยให้เรารีบปล่อยมัน ถ้าไม่ปล่อยมันตายเลย”“ได้เงินมาเท่าไหร่พ่อเฒ่า”เมื่อผมถามถึงจำนวนเงินจากการขายปลา ชายชราไม่ตอบ แต่ลุกเดินไปหยิบเงินในกระเป๋าเสื้อออกมาให้ดู“ได้เท่านี้แหละ ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะได้ปลาหรือเปล่าหรือจะกลับมามือเปล่าอีกก็ไม่รู้”พอพูดคำนี้ออกมา แกก็หันหน้าไปทางอื่นไม่ยอมหันมาสบตากับผม ในแววตาของชายชราหม่นเศร้าลงชั่วขณะ “พรุ่งนี้จะขึ้นไปหาปลาอยู่หรือเปล่า”“ไปอยู่ ตอนแรกว่าจะไม่ไป พอคิดไปคิดมา ถ้าเราไม่ไปใครจะเปลี่ยนเหยื่อเบ็ดให้”“แล้วไปเช้าไหมพ่อเฒ่า”“เช้าอยู่ แต่ถ้าไปครั้งนี้พรุ่งนี้ไม่ได้ปลาอีกจะไม่เอาเรือลงมาแล้ว จะมากับรถโดยสาร มันถูกกว่า เอาเรือมาจ่ายค่าน้ำมันทั้งไปและกลับแพงกว่าค่ารถโดยสารเท่าตัว”“ถ้าว่างก็ขึ้นไปเที่ยวหาสิ” เสียงของแม่เฒ่าเชิงแสดงความคิดเห็นดังเล็ดลอดออกมาจากในครัว หลังจากปลาปิ้งเริ่มส่งกลิ่นหอมเมื่อแม่เฒ่าพูดจบ ผมก็ตอบแม่เฒ่ากลับไปว่า“พรุ่งนี้ผมจะขึ้นไปเที่ยวหาพ่อเฒ่าอยู่บอกแกแล้ว”ตอนนี้เสียงทำอาหารในครัวเงียบลงแล้ว ตรงหน้าประตูห้องครัว แม่เฒ่ากำลังถือจานปลาปิ้งเดินออกมา หลังวางจานปลาปิ้งลง แม่เฒ่าก็เดินกลับไปในครัวอีกครั้ง แล้วก็กลับออกมาพร้อมด้วยกระติ๊บข้าวและถ้วยน้ำพริก มื้อเย็นสำหรับสองผู้เฒ่าในวันนี้คือ ปลาตากแห้งปิ้งกับน้ำพริกปลาร้าแม่เฒ่าชวนผมกินข้าวด้วย แต่เพราะความเกรงใจผมจึงบอกปฏิเสธ และขอตัวกลับบ้าน ก่อนจะกลับ ชายชราได้ยื่นแก้วใบเดิมมาให้ ผมรับแก้วมาจากชายชราแล้วยกขึ้นแก้วขึ้นดื่มน้ำในแก้วรวดเดียวหมด หลังน้ำในแก้วหมด ผมก็ยื่นแก้วกลับคืนไปให้ชายชรา จากนั้นก็เดินจากบ้านหลังนั้น และผู้เฒ่าทั้งสองมาตามถนนกลับไปสู่บ้านพักเมื่อวงข้าวเริ่มต้นขึ้น ผมจึงตัดสินใจร่ำลาผู้เฒ่าทั้งสอง เพื่อปล่อยให้บรรยากาศแห่งความสุขในยามค่ำคืนของผู้เฒ่าทั้งสองกลับมาอีกครั้ง เพราะวันพรุ่งนี้คนหนึ่งต้องเดินทางออกจากบ้าน เพื่อไปทำมาหากิน และไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้ ผู้เฒ่าทั้งสองจะได้ร่วมวงกินข้าวมื้อเย็นด้วยกันอีกหรือไม่ หลังผมกลับมาถึงบ้านพักก็หวนคิดถึงคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งที่บอกว่า หากเราไม่จากกัน เราคงไม่ได้พบกัน ในยามจากถึงแม้เราต้องเดินทางไปส่งกันไกลเพียงไหน สุดท้ายเราก็ต้องจากกันอยู่ดี และความจริงก็คงเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะกับผู้เฒ่าทั้งสองคน เมื่อยามเช้าเดินทางมาถึง ห้วงยามแห่งการจากลาระหว่างก็จะเดินทางมาถึง ในความจริง ยามเช้าอาจหมายถึงการเริ่มต้นในหลายๆ สิ่ง แต่ในขณะที่บางคนต้องตื่นมาพบกับยามเช้าอันจบลงด้วยการพรัดพราก หากว่ายามเช้าคือความเศร้าของชีวิต โลกยามเช้าจะเป็นโลกชนิดใด จังหวะชีวิตอันเกิดขึ้นจากโลกอันโศกเศร้าจะเป็นเช่นไรคงยากจะคาดเดาได้...
Hit & Run
   พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจใครที่ไม่ได้มาเชียงใหม่หลายปี หากมาเยือนปีนี้ คงผิดหูผิดตาเลยทีเดียวไม่ใช่แค่งานพืชสวนโลก ไม่ใช่แค่ ‘ช่วง ช่วง' หรือ ‘หลิน ฮุ่ย' ไม่ใช่แค่ร้าน ‘ไอเบอรี่' ของโน้ต อุดม ที่ทำให้ ‘หน้าตา' เมืองเชียงใหม่เปลี่ยนไปหากแต่ยังมีเจ้าสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ ที่ชื่อว่า ‘ทางลอด' ผุดขึ้นทุกมุมเมือง ซึ่งเบื้องหลังของมัน ยังมีเรื่องราวอันยาวนานของการพัฒนา ‘เมือง' อีกด้วย!หลายปีมานี้ ยวดยานใน จ.เชียงใหม่ ต้องประสบกับความทุลักทุเลในการข้ามสี่แยก เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างทางลอดแยก ผุดขึ้นบนถนนสายหลักของเมืองเชียงใหม่ เช่น การก่อสร้างทางลอด 7 แห่ง บนถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี หรือถนนวงแหวนรอบกลาง ซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2548 และทางลอดแยก บริเวณสี่แยกสันกำแพงสายเก่า (สี่แยกปอยหลวง) สี่แยกศาลเด็ก และสี่แยกข่วงสิงห์ บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างอย่างยาวนานหลายรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2546 และเพิ่งแล้วเสร็จ เปิดให้คนเชียงใหม่ใช้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยทางลอดบริเวณสี่แยกสันกำแพงสายเก่า หรือสี่แยกปอยหลวง สร้างโดยบริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่น วงเงินก่อสร้าง 379 ล้านบาท ซึ่งเริ่มสัญญาเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2548 และสร้างเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 25 มิถุนายน 2550ส่วนทางลอดบริเวณสี่แยกศาลเด็ก และสี่แยกข่วงสิงห์ ก่อสร้างโดย หจก.จิระเทพ โดยสี่แยกศาลเด็กประมูลได้ 268.8 ล้านบาท จากราคากลาง 347.6 ล้านบาท และสี่แยกข่วงสิงห์ ประมูลได้ในวงเงิน 243 ล้านบาท จากราคากลาง 310 ล้านบาทซึ่งสัญญาก่อสร้างทางลอดทั้งสองเริ่มวันที่ 26 กันยายน 2546 กำหนดสิ้นสุดวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 แต่ หจก.จิระเทพ ต้องหยุดพักการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ช่วงละหลายเดือนตั้งแต่กลางปี 2548 ให้เหตุผลว่า ต้นทุนค่าวัสดุเพิ่มขึ้นมากจากวันยื่นประมูล และขาดเงินทุน หมุนเวียนเนื่องจากสถาบันการเงินที่สนับสนุนคือธนาคารกรุงไทย ไม่ปล่อยกู้เพิ่มกรมทางหลวงให้ต่อสัญญาใหม่ถึง 2 ครั้ง และให้ก่อสร้างได้จนถึง 10 เมษายน 2550 แต่ผู้รับเหมาก็ทิ้งงาน เก็บอุปกรณ์ก่อสร้างไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ทำให้ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะสะพานที่ 2 ขอนแก่น และศูนย์ก่อสร้างและบูรณะสะพานที่ 1 พิจิตร เข้ามาดำเนินการแทนโดยนายทรงศักดิ์ แพเจริญ อธิบดีกรมทางหลวง เคยระบุว่าผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับ 50 ล้านบาท ขณะนี้ชำระค่าปรับแล้ว 8 ล้านบาท และกรมทางหลวงจะฟ้องร้องผู้รับเหมารายนี้เพื่อเรียกคืนเงินค่าส่วนต่างที่กรมทางหลวงต้องใช้เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ ค่าเสียหายที่เกิดจากการทิ้งงานด้วย และตัดออกจากบัญชีผู้รับเหมางานภาครัฐโดยทางลอดบริเวณสี่แยกข่วงสิงห์ก็แล้วเสร็จจนได้ในเดือนพฤศจิกายน และล่าสุดทางลอดบริเวณสี่แยกศาลเด็กก็แล้วเสร็จให้รถวิ่งลอด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา 000 อันที่จริงเจ้าสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ ที่ชื่อว่า ‘ทางลอด' อาจไม่มีทางเกิดขึ้นเลยในเมืองเชียงใหม่หากในปี 2543 ไม่มีการถกเถียงกันว่า ‘เห็นด้วย' หรือ ‘ไม่เห็นด้วย' กับโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้ามจุดตัดและทางแยกสี่แยก ถ.มหิดล ใกล้สนามบินเชียงใหม่ อันเป็นถนนวงแหวนรอบเมืองสายสำคัญในครั้งนั้น กรมทางหลวงทำการศึกษาพบว่า เส้นทางสาย 108 หางดง - เชียงใหม่ มีปริมาณการจราจรสูงถึง 45,232 คัน/วัน ขณะที่ถนนมหิดลซึ่งตัดผ่านกันมีปริมาณราว 25,597 คัน/วัน กรมทางหลวงจึงออกโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้ามจุดตัดและทางแยกดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัด คับคั่งและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางแยกของทางหลวงหมายเลข 108 ตัดกับถนนมหิดล รวมทั้งทางเชื่อมเข้าสู่สนามบินเชียงใหม่โดยเริ่มเซ็นสัญญาโครงการเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2543 ด้วยงบประมาณ 236 ล้านบาท และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2543 ตามกำหนดจะต้องแล้วเสร็จวันที่ 8 ธ.ค. 2544แต่อย่างที่กล่าวเอาไว้โครงการนี้มีทั้งเสียง ‘เห็นด้วย' และ ‘ไม่เห็นด้วย'ฝ่ายเห็นด้วยกับการก่อสร้างทางข้ามแยกแบบ ‘ยกระดับ' ให้เหตุผลว่าเพื่อให้เมืองเชียงใหม่ขยายตัว แก้ปัญหาจราจรติดขัด เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า ฝ่ายค้าน ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ถึงกับค้านการก่อสร้าง พวกเขาเสนอเหตุผล ของการไม่สร้างทางยกระดับ 11 ข้อ เช่น จะบดบังทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้จริง ฯลฯ ทั้งยังเสนอให้มีการปรับแผนก่อสร้างใหม่ จาก โครงการทางยกระดับ มาเป็น โครงการทางลดระดับ หรือเป็นโครงการอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด ตามโครงการเดิมก่อนที่จะประสบปัญหาเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจกระทั่งทำให้งบประมาณถูกตัดทอนแต่ที่สุดแล้ว ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น ก็เป็นไปตามฝ่ายเห็นด้วยกับการสร้างทางยกระดับ ด้วยถือคติที่ว่าอะไรที่คว้ามาไว้เชียงใหม่ได้ ขอให้คว้าไว้ก่อน ผิด ถูก ผลกระทบว่ากันทีหลัง [1]อย่างไรก็ดี แม้ว่าทางยกระดับหน้าสนามบินเชียงใหม่ และอีก 2 แห่งในถนนมหิดล คือทางยกระดับสี่แยกหนองหอย ตัดกับ ถ.เชียงใหม่-ลำพูน และ ทางยกระดับข้ามทางรถไฟ จะเกิดขึ้นจนได้ และเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานก็พบว่าทางยกระดับข้ามสี่แยกสนามบิน ไม่ได้ช่วยบรรเทาการจราจรมากอย่างที่คิด แถมยังทำให้เสียทัศนียภาพของเมืองไปอีก แต่หลังจากเสียงค้านเล็กๆ ที่สี่แยกสนามบินดังขึ้น ก็ทำให้ต่อมา กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ต่างปรับแบบการก่อสร้างจุดตัดทางแยกสำคัญในเขตเมืองเชียงใหม่ ให้กลายเป็นทางลดระดับหรือทางลอดทั้งหมด อย่างที่เห็นในปัจจุบัน000 ในแง่หนึ่งทางลอดข้ามแยก คือผลผลิตจากการถกเถียงขอพลเมืองในเมือง เป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของพลเมืองเชียงใหม่ อย่างน้อยก็ทำให้ทิศทางการพัฒนาเมืองพอจะอยู่ในการควบคุมของประชาชนได้บ้าง แต่นี่ก็มิใช่ชัยชนะสมบูรณ์ เมื่อข้าม ‘ทางลอด' นี้ไปแล้ว ใช่ว่าจะถึงจุดหมาย ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่าง ‘ยั่งยืน' ยังต้องเดินทางอีกยาวไกลแม้ว่าทางลอดข้ามแยก จะไม่บดบังทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าทางลอดข้ามแยกทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น แต่ที่สุดแล้วการแก้ปัญหาจราจรของเชียงใหม่ก็ยังไม่ตรงจุด ต้องไม่ลืมว่ายิ่งขยายถนน ก็ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น ยิ่งถนนกว้างขึ้น ติดไฟแดงน้อยครั้งลง รถยนต์ รถคันใหญ่ ก็ยิ่งเป็นเจ้าถนน เบียดขับให้มอเตอร์ไซต์ พาหนะคนยากนับล้านคันในเชียงใหม่ ตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นซึ่งทิศทางการแก้ปัญหาจราจรด้วยการขยายถนน สร้างทางข้ามแยกนี้ ยังเป็นวิธีแก้ปัญหาการจราจรไม่ถูกจุด ไม่ผิดกับประสบการณ์ของกรุงเทพมหานครในปลายทศวรรษที่ 2520 ที่เลือกสร้าง ‘ทางด่วน' ทั้งขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จนเพิ่งจะมารู้ตัวเมื่อไม่นานมานี้ ว่าการแก้ปัญหาการจราจรหัวใจอยู่ที่ระบบขนส่งมวลชน แต่บัดนี้ กรุงเทพฯ มีถนนและทางด่วนเป็นระยะทางรวมกัน 4,000 กว่ากิโลเมตร ขณะที่มีรางสำหรับรถไฟฟ้า เพื่อขนส่งมวลชนทั้งใต้ดินและลอยฟ้ามีเพียง 65 กิโลเมตร [2]ชะตากรรมของเชียงใหม่เอง ก็กำลังเดินตามกรุงเทพฯ เผลอๆ จะยิ่งหลงทางกว่าด้วยซ้ำเพราะทุกวันนี้ เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ติดอันดับของประเทศก็จริง แต่ล้มเหลวด้านการจัดระบบขนส่งมวลชน ปี พ.ศ.2538 ‘รถเมล์เหลือง' ที่วิ่งประจำทางในตัวเมืองเชียงใหม่ขาดทุนเลิกกิจการ ปล่อยให้ ‘สี่ล้อแดง' ผูกขาดวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในเมือง ไม่มีการจัดเส้นทางการเดินรถแน่นอน ผู้โดยสารกับคนขับต้องต่อรองราคากันเอง และหากเป็นเส้นทางที่ไม่มีผู้โดยสารอื่นร่วมทางมากนัก คนขับก็มักเรียกร้องราคาเกินกว่า 15 บาท ที่ขนส่งจังหวัดกำหนดล่าสุด ในปี 2548 มี ‘รถเมล์ขาว' รถปรับอากาศของเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนในเมืองเชียงใหม่ดีขึ้น เพราะรถเมล์ขาววิ่งในเส้นทางอ้อม วน และการปล่อยรถชั่วโมงละคัน-สองคัน หลังสองทุ่มรถเมล์หยุดเดิน ทำให้เชียงใหม่อยู่ในสภาพ ‘มี เหมือน ไม่มีรถเมล์'!ทางออกสำหรับคนเชียงใหม่ ใครที่พอมีปัญญาผ่อนรถก็ผ่อนทั้งรถยนต์ รถกระบะ มือหนึ่ง มือสอง แล้วแต่ทุนทรัพย์ ทำให้เมืองนี้มีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนกว่า 1 ล้านคัน ใครที่ไม่มีปัญญาผ่อนส่งก็ต้องทนต่อรองรถแดงเอาเอง เท่ากับรัฐบาลสร้างถนนให้ทุกคนแล้ว แต่ที่เหลือคือ ‘ราคา' ที่ทุกคนต้องจ่ายเอาเอง ทุกคนต้องลงไปขับขี่บนท้องถนนเอง ทุกคนต้องแบกรับความปลอดภัยในการเดินทางกันเอาเอง ทุกคนต้องแบกรับต้นทุนดูแลรักษายานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิงกันเอาเอง และทุกคนต้องดูแลชีวิตกันเอาเอง000มี ‘ทางลอด' ให้คนเชียงใหม่ลอดกันแล้ว แต่ยังไม่เจอ ‘ทางรอด' เรื่องปัญหาจราจรสักที เพราะเมืองนี้ยังแก้ปัญหาจราจรแบบเกาไม่ถูกที่คันเมื่อ 7 ปีก่อน อาจารย์ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะทำงาน ‘ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่' (ปัจจุบันคือมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง) เคยเสนอความเห็นไว้ในเวทีสาธารณะ "ทางยกระดับในเมืองเชียงใหม่" ซึ่งจัดที่ศูนย์สตรีศึกษา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2543 ว่าปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการจราจรเมืองเชียงใหม่มองแค่ความต้องการของผู้ใช้รถ แต่ไม่ได้มองว่าถนนในเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถเพิ่มได้อีก เพราะจะทำลายสภาพความเป็นเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ที่มีอายุถึง 700 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่ไม่ได้หวังมาดูสิ่งก่อสร้างที่ทันสมัย แต่มาดูความเป็นเมืองล้านนา ทางที่ดีทางการควรจะมีการพิจารณาทบทวนการแก้ปัญหาจราจรในรูปแบบเดิม  และหันมาส่งเสริมให้มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น [3]อาจารย์ดวงจันทร์พูดไว้ 7 ปี เอามาพูดอีกทีตอนนี้ก็ยังอินเทรนด์!แล้วเมื่อไหร่เชียงใหม่จะมีระบบขนส่งมวลชนดีๆ บ้างล่ะ จะต้อง ‘ขี่รถเครื่อง'/‘ขับรถยนต์' ลอดอุโมงค์เช้า-เย็น ไปอีกนานสักเท่าไหร่กัน ^_^ เล่าสู่กันฟังเพิ่มเติม[1] โศกนาฏกรรม ‘ผิด, ถูก, ขอคว้าไว้ก่อน' นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเมืองเชียงใหม่ เหมือนกับ การ ‘คว้า' โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และโครงการพืชสวนโลก ไว้ก่อน ซึ่งเมื่อ 2 เมกะโปรเจคนี้เกิดขึ้น ก็สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ให้กับคนเชียงใหม่สารพัด ส่วนผลประโยชน์ กำไร ที่จะตกแก่ปากท้องคนเชียงใหม่ ก็เป็นเพียงเศษเนื้อ หาได้มากมายอย่างที่ผู้สร้างโฆษณาเอาไว้[2] อ่านบทความที่สะท้อนความล้มเหลวของการแก้ปัญหาการจราจรที่: น้ำมันแพง ทางด่วน และระเบิดเวลา, โดย วันชัย ตัน http://www.onopen.com/2006/01/573 ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2549[3] วุฒิต้านเส้นก๋วยเตี๋ยวเชียงใหม่, ไทยโพสต์ 10 กันยายน 2543 http://www.thaipost.net/index.asp?bk=sunday&post_date=10/Sep/2543&news_id=19248&cat_id=110100
สุมาตร ภูลายยาว
หลังจากวันแรกจนถึงวันนี้ ผมลองนับเดือน นับปีดูแล้ว ผมมาอยู่เมืองชายแดนริมแม่น้ำแห่งนี้ ล่วงเข้าไป ๕ ปีแล้ว ใน ๕ ปีของการใช้ชีวิต แน่ล่ะย่อมแตกต่างจาก ๗๖ ปีของชายชราอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ผมได้เห็นไม่ต่างกับชายชราเลยแม้แต่น้อยแม้จะนานกี่ชั่วอายุคน ผู้คนริมฝั่งน้ำยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ อยู่เช่นเดิม คนหาปลายังคงหาปลา แม้ว่าจะได้ปลาน้อยลงก็ตามที คนขับเรือรับจ้างก็ยังคงขับเรืออยู่เช่นเดิม แม้ว่าจะมีข่าวการเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำก็ตามที คนแบกของตรงท่าเรือก็ยังคงทำหน้าที่แข็งขันกว่าเดิม แม้จะแบกของได้น้อยลง ชีวิตหลายชีวิตยังคงเป็นอยู่เหมือนเคยเป็นมาตราบเท่านาฬิกาชีวิตของแต่ละคนยังก้าวเดินยามเช้าของบางเช้า ผู้คนยังคงเดินทางไปสู่จุดเริ่มต้นของชีวิตแตกต่างกันออกไป ผมก็เช่นกัน เช้านี้มีนัดกับชายชราอีกครั้ง หลังจากไม่ได้พบกันหลายวัน บางทีมันอาจไม่ใช่เป็นวัน มันเป็นเดือนเสียด้วยซ้ำที่เราไม่ได้เจอกัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ทุกครั้งหากมีใครพูดถึงชายชรา ผมจะนึกถึงรอยยิ้มอันแจ่มใส และเรื่องเล่าต่างๆ ของชายชราอยู่เสมอ แต่ก็มีบ้างบางทีที่ผมได้เห็นอารมณ์อย่างอื่นปรากฏบนใบหน้าของชายชรา ในเย็นวันหนึ่ง ขณะผมเดินทางไปหาชายชราถึงกระท่อม เมื่อไปถึงผมถามถึงปลา คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ไม่ต่างจากเมื่อ ๒ วันก่อนเช่นกัน เมื่อพูดถึงเรื่องการหาปลาไม่ได้ครั้งใด อารมณ์ผิดหวังก็จะปรากฏขึ้นมา และคำพูดต่างๆ นานาก็จะพรั่งพรูออกมา คำพูดเหล่านั้นล้วนเป็นการบ่นด่าถึงเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอารมณ์ผิดหวังจะมีอยู่บ้าง แต่ชายชราก็ไม่ค่อยแสดงให้ใครได้เห็นเท่าใด บางครั้งการได้อยู่กับบางสิ่งเนิ่นนานซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงทำให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับมันได้ดี หรือบางทีการปล่อยวางกับเรื่องราวบางสิ่งตามแนวทางของศาสนาคงทำให้ชายชรายิ้มแย้มอยู่เสมอในวันที่หาปลาไม่ได้เช้าวันนี้ ลมหนาวยังคงยะเยือกอย่างเคยเป็นมา หลังขึ้นควบมอเตอร์ไซด์คู่ชีพ มันก็พาผมวิ่งไปตามถนนคดเคี้ยวของดอยหลวง ถนนสายนี้เป็นถนนเลียบแม่น้ำ ขณะถนนไต่ขึ้นภูเขา เราจึงเห็นแม่น้ำอยู่ข้างล่าง ความขาวทึบของสายหมอกทำให้ต้องเปิดไฟหน้ารถ แม้รถจะวิ่งช้า แต่ความหวาดกลัวก็เกิดขึ้นกับหัวใจได้ไม่ใช่น้อย เพราะรถที่วิ่งสวนทางมาบางคันวิ่งมาด้วยความเร็ว ไฟตัดหมอกของรถบางคันทำให้ผมต้องหลับตาหลบแสง ปีนี้เองผมรู้ว่าดวงตาไม่สามารถจะสู้แสงสว่างจ้าได้เหมือนเคย หากเปรียบกับชายชราแล้ว เราช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ชายชราร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง สายตายังดี ขับเรือฝ่าความมืดก็เคยทำมาแล้ว ออกไปหาปลาในวันที่สายหมอกหนาเหมือนสายฝนก็ทำมาแล้ว ชายชราไม่เคยมีปัญหาเรื่องสายตา แต่สำหรับผมอายุยังไม่เท่าไหร่สายตาก็เกเรเสียแล้วขณะอยู่หลังเบาะอาน ผมคิดถึงคำพูดของชายชราที่บอกว่า ตอนเอาเรือออกไปหาปลาแรกๆ ก็กลัวน้ำอยู่เหมือนกัน แต่พอนานเข้าก็ไม่กลัวแล้ว ความกลัวมีอย่างเดียวในตอนนี้คือ กลัวว่าจะไม่ได้ปลาเท่านั้น หากพูดถึงความกลัวแล้ว อันความกลัวนั้นมันวิ่งมาจู่โจมหัวใจของทุกๆ คนอยู่เสมอ แต่เราจะจัดการกับความกลัวอย่างไรต่างหากเป็นเรื่องสำคัญกว่า และเมื่อเราจัดการกับความกลัวไม่ได้ ในรอยทางบางรอยของบางชีวิต ความกลัวจึงเป็นฆาตกรทำร้ายผู้หวาดกลัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า...เมื่อรถวิ่งมาเกินครึ่งทาง ผมค่อยๆ ผ่อนเบาเครื่องยนต์ และหักรถเข้าข้างทาง หลังรถจอดนิ่ง ผมก็ยกนาฬิกาขึ้นมาดู เข็มสั้นเข็มยาวของนาฬิกาบอกเวลาว่าใกล้สิบโมงเช้า แม้ว่าจะสายเต็มที แต่สายหมอกยังไม่จางหาย อารณ์นั้นผมคิดถึงเป้าหมายในการเดินทางขึ้นมาฉับพลัน เป้าหมายข้างหน้ายังอยู่อีกไกล หากเมื่อไปถึงปลายทางแล้วเป้าหมายเราเปลี่ยนแปลงไป จิตใจของผมจะเป็นเช่นไร คงไม่ต่างอะไรกับสายหมอกที่เจอมา เพราะความทึมเทาอันบดบังความกระจ่างไว้คงหม่นเศร้าเกินกว่าจะเล่าให้คนอื่นฟังได้ขณะรถใกล้ถึงเป้าหมาย ผมก็ชะลอความเร็วของรถลงอย่างช้าๆ แดดเช้าของวันเข้ามาแทนที่สายหมอกแล้ว หลังจอดรถผมก็เข็นมันเข้าไปซุกไว้ในป่าข้างทาง คงเป็นโชคดีของผมที่ไม่ต้องห่วงว่ารถจะหาย เพราะจากถนนลงไปยังกระท่อมมีไร่ข้าวโพดกำลังขึ้นมาพองามบดบังทิวทัศน์ทั้งสองข้างทางเอาไว้ตรงทางลงไปสู่กระท่อมหาปลาของชายชราเป็นทางเดินเล็กๆ ผ่านไร่ข้าวโพดสูงซัดลดหลั่นกันไปตามก้อนหินที่ถูกนำมาเรียงแทนบันได ถ้าก้าวพลาดโอกาสจะได้ลงไปข้างล่างเร็วขึ้นมีอยู่สูงเช่นกัน เมื่อพ้นไร่ข้าวโพดมา ผมก็มาถึงกระท่อมของชายชราเมื่อลงไปถึงกระท่อมผม ไอ้แดงสุนัขพันทางที่ชายชราเก็บมาเลี้ยงก็ส่งเสียงเห่าขึ้นมา ผมตวาดให้มันเงียบ เมื่อมันได้ยินเสียง มันก็เงียบและเดินเข้ามาหา เดินวนเวียนอยู่รอบตัว ผมส่งเสียงหายใจดังฟืดฟาดออกมา ก่อนจะเดินจากไป หลังไอ้แดงจากไปแล้ว ผมก็มองหาเจ้าของกระท่อมอยู่นาน แต่ก็ไร้วี่แววผู้เป็นเจ้าของกระท่อมหลังเฝ้ามองหาอยู่นาน ผมก็ถือวิสาสะเดินขึ้นไปบนกระท่อม ตรงระเบียงด้านนอกของกระท่อมกองไฟยังไม่มอดดับดีนัก บนหิ้งเหนือกองไฟกระติ๊บข้าวถูกเก็บไว้เรียบร้อย หลังมองเห็นกระติ๊บ ผมก็ลุกขึ้นเดินไปเปิดกระติ๊บ ข้าวในกระติ๊บยังไม่มีร่องรอยที่บ่งบอกได้ว่ามีคนมากินข้าว เมื่อเก็บกระติ๊บไว้ที่เดิม ผมก็รู้ได้ว่า ตอนนี้ชายชราออกไปหาปลา และอีกนานกว่าที่ชายชราจะกลับมา เมื่อคิดดังนั้นผมก็ล้มตัวลงนอนคิดเรื่องราวเรื่อยเปื่อย และในที่สุดก็เผลอหลับไป ผมไม่รู้ว่าหลับไปนานแค่ไหน แต่ผมก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อได้ยินเสียงคุ้นเคยดังอยู่ใกล้ตัวผม“นอนหลับสบายเลย มานานหรือยัง มาคนเดียวหรือ”“ครับมาคนเดียว พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”“พอได้อยู่ แต่ไม่ได้ปลาตัวใหญ่ ได้สัก ๒ กิโลนี่แหละ”“กินข้าวมาหรือยัง”“กินมาแล้วครับ”“นึกว่ายังไม่ได้กินมา ถ้ายังไม่ได้กินก็ไปเอาปลามาปิ้งกินได้”“แล้วพ่อเฒ่ากินข้าวหรือยัง”“กินแล้ว กินตั้งแต่เช้า กินเสร็จก็ออกไปเก็บกู้เบ็ด”ขณะเราพูดคุยกันพ่อเฒ่าก็สาละวนอยู่กับการเปลี่ยนเสื้อผ้า หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ ชายชราก็เก็บกวาดตรงระเบียงกระท่อม ก่อนเที่ยงหลังจัดการภาระทุกอย่างเสร็จสิ้น ทั้งให้อาหารหมา รดน้ำผัก ชายชราก็หอบเชือก และกล่องใส่ดวงเบ็ดไปนั่งใต้ร่มข่อย เพื่อลงมือผูกขอเบ็ด ไม่นานนักเบ็ดจำนวนหลายสิบก็ถูกผูกเข้ากับเชือกเส้นใหญ่ หลังผูกเบ็ดเข้ากับเชือกเสร็จ ชายชราก็ยื่นให้ผมดู แกบอกว่ามันคือ ‘เบ็ดค่าว--เบ็ดค่าวคือ เบ็ดที่ผูกกับเชือกต่อกันยาวๆ มีเบ็ดกับสายเบ็ดหลายตัว การผูกเบ็ดแบบนี้ภาษาท้องถิ่นทางเหนือเรียกว่า ‘ผูกเบ็ดเป็นค่าว’“เบ็ดนี้เวลาเอาไปวางจะใช้ทั้งเหยื่อและไม่ใช้เหยื่อ ถ้าเราเอาไปวางจับปลาฝาไม ไม่ต้องใช้เหยื่อ เวลาวางเบ็ดเราก็เอาเบ็ดไปผูกไว้ตากคก พอปลาฝาไมมันลอยน้ำมาเห็นเบ็ด คิดว่าเหยื่อ มันก็กินเข้าไป พอมันกินเข้าไปเบ็ดจะเข้าไปติดในคอของมัน ปลาฝาไมนี้เวลามันกินเหยื่อมันชอบกลืนเข้าไปถึงคอ พอมันรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อ มันก็จะดิ้น พอดิ้นเบ็ดดวงอื่นๆ ก็จะมาพันกับตัว แต่ถ้าเราจะเอาปลาอย่างอื่น เราก็ไปวางเบ็ดใกล้กับแก่ง ผูกสายเบ็ดอีกด้านไว้กับแก่ง จากนั้นก็เอากุ้งใส่เป็นเหยื่อ แล้วปล่อยให้สายเบ็ดจมลงในน้ำ  กุ้งที่เอามาเป็นเหยื่อนี่อย่าให้ตาย ถ้าตายปลามันไม่กิน เวลาเอาเบ็ดเกี่ยวกับกุ้งต้องเกี่ยวตรงหลังของกุ้ง ถ้าเราไปเกี่ยวตรงหัวนี่กุ้งมันตาย” ชายชราเล่าพลางยกมือแสดงท่าทางที่ปลาฝาไมติดเบ็ดให้ผมดูไปด้วยผมเคยถามหลายคนที่รู้จักชายชรา พวกเขาต่างบอกคล้ายๆ กันว่า ในวัยยังมีเรี่ยวแรง ชายชราแกเคยไปหาปลาไกลถึงเขตประเทศพม่า บางครั้งก็ไปกับลูกๆ บางครั้งก็ไปกับเพื่อนหมู่บ้านอื่น ๓-๔ คน พอได้ยินเรื่องเล่าเนรื่อนี้ผมก็เลยอดถามชายชราไม่ได้ ในขณะนั่งคุยกันอยู่ใต้ร่มข่อย ผมจึงตัดสินใจถามชรา เพื่อคลายความสงสัยในใจ“พ่อเฒ่า เขาเล่ากันว่า พ่อเฒ่าเคยไปหาปลาถึงพม่าจริงไหม”“จริง ก็เอาเรือหาปลาลำใหญ่กว่าเรือหาปลาลำที่อยู่ข้างล่างนี่แหละขึ้นไป” ชายชราพูดพร้อมกับชี้มือให้ผมดูเรือหาปลาลำเล็กของแก“แล้วได้ปลาเยอะไหม”“บางครั้งก็ได้ปลาเต็มลำเรือเอากลับมาแทบไม่ไหว”“ไปอยู่กี่วัน”“๔-๕ วัน”“แล้วเอาปลาไปขายไหน”“บางทีก็เอาไปขายเชียงแสน แต่ถ้าวันไหนล่องเรือลงมาแล้วรู้ว่ามีคนเอาปลาเข้าไปขายที่เชียงแสนก่อนก็จะไม่เอาปลาเข้าไปขาย ก็จะเอาปลามาขายที่เชียงของแทน”“แล้วปลามันไม่เน่าหรือ”“บางตัวก็เน่า บางตัวก็ไม่เน่า”“แล้วตัวที่เน่าทำยังไง”“ก็เอาตากแห้ง ย่างไฟเอาไว้เป็นปลาย่าง”“แล้วช่วงนั้นขายปลาได้เงินเยอะไหม”“ก็พออยู่พอกิน พอเลี้ยงลูกได้”“แล้วตอนขึ้นไปหาปลาเขตพม่า พ่อเฒ่าอายุกี่ปี”“ประมาณ ๓๐ กว่า ตอนอายุ ๓๐ กว่า ลาวยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พม่ามันก็ไม่รบกันมากเหมือนเดี๋ยวนี้ สมัยนั้นประเทศไหนมันก็สงบ คนก็เป็นญาติพี่น้องกัน ไปไหนก็ไม้ต้องกลัวอด อย่างเราไปพม่า เราก็ไม่กลัว เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไปดี ถ้าเราไปเจอทหารหรือเจอคนตามหมู่บ้านริมน้ำ เขามาขอปลาเราก็แบ่งให้เขา แต่ช่วงที่เขายิงกันหนักๆ ช่วงนั้นจำได้ว่าก่อนลาวแตก ทั้งฝั่งพม่าก็ยิงกัน ฝั่งลาวก็ยิงกัน เราไปเราอยู่ตรงกลางพอดี หาปลาไปก็สะดุ้งไป บางทีไม่กล้านอนตามหาด ต้องอาศัยนอนตามบ้านคน เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งระเบิดตกลงมาใกล้ที่เรานอน โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร”“แล้วตอนพ่อเฒ่าไปหาปลาเขตพม่าพ่อเฒ่าไปนอนที่ไหน”“บางครั้งก็ไปนอนตามแก่งบ้าง บางครั้งก็นอนริมหาด บางครั้งก็ไปนอนบ้านเพื่อนคนพม่าที่รู้จักกัน”“แล้วไปนอนริมฝั่งน้ำพ่อเฒ่าไปนอนยังไง”“ก็ไปถางป่าตรงริมฝั่งปลูกกระท่อมเล็กๆ นอน แต่ไปหลายครั้งก็ไม่เคยได้นอนที่เดิมหรอก ย้ายที่นอนไปเรื่อยๆ”“แล้วตอนนั้นมีทหารตามชายแดนหรือยัง”“มีแล้ว แต่ถ้าขึ้นไปหาปลา บางครั้งทหารเขาก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าเขารู้เขาก็มาขอปลาไปกินแค่นั้น ถ้าเขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน แบ่งกันอยู่สู่กันกิน ปลามันหาได้เยอะหวงไว้กินคนเดียวไม่ได้หรอก บางทีกินไม่ทัน มันก็เน่าก็เสีย พอเสียก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเอาให้คนไปกินยังได้ประโยชน์กว่า”    “ช่วงนั้นสนุกไหม”“สนุก เพราะช่วงนั้นปลามันเยอะไปหาปลาไม่นานก็ได้ปลามากินแล้ว วันไหนได้ปลาเยอะ เราก็ไม่อยากหยุด แต่บางครั้งขึ้นไปหาปลามันก็เสี่ยงอยู่ แต่เสี่ยงก็ต้องทำ เพราะปลามันได้เยอะ ได้ทีก็คุ้มค่า”“แล้วชพ่อเฒ่าขึ้นไปหาปลาแถวไหน”“แถวตั้งสลัม ตั้งอ้อ ท่าล้อ ท่าอี่กุ้ย บ้านด่าน”“แล้วทำไมขึ้นไปหาปลาแถวนั้น”“ตรงนั้นน้ำมันเชี่ยว มีหินมีแก่งเยอะ ปลาก็เยอะ ปลามันก็อาศัยอยู่ตามแก่งหิน พอแก่งหินมันเยอะปลาก็เยอะ”“พ่อเฒ่าตอนนี้แก่งต้นอ้อ ตั้งสลัมไม่มีแล้ว เขาจีนระเบิดทิ้งหมดแล้ว”“เขาระเบิดได้ยังไง” ชายชราถามพร้อมมองหน้าผม ดาวในดวงตาแกไม่ส่องแสงเมื่อได้ยินข่าวนี้ “ถ้าเอาแก่งในน้ำออก ปลามันก็ไม่มี มีแก่งก็มีปลา ไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เพราะปลามันอาศัยกินไคร้น้ำตามแก่งหิน”“ถ้าให้ขึ้นไปหาปลาพม่าอีกพ่อเฒ่าจะไปไหม”“คงไม่ไปแล้ว ถึงขึ้นไปก็คงไปไม่ถึง เพราะเรือใหญ่จากจีนล่องลงมามันอันตราย ฟองน้ำจากเรือใหญ่มันแรง มันพัดเรือเล็กล่มได้ มันไม่คุ้ม แล้วตอนนี้ทางราชการพม่า-ลาว-ไทย ก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าขึ้นไปหาปลาตอนนี้ก็กลัวจะโดนจับ ช่วงที่ลาวแตกใหม่ๆ นี่คือไปอยู่หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งใกล้จะไปไม่อยู่แล้ว แต่เราก็คิดว่า ยังไงก็จะไม่ไปแล้ว ฤดูฝนหน้าขอเป็นช่วงสุดท้ายแล้วกัน ช่วงนั้นเจอเหตุการณ์หลายอย่าง ที่จำได้ก็ช่วงที่ไปนอนแถวตั้งอ้อ ตอนนั้นนอนกันทางฝั่งลาว ช่วงนั้นลาวแตกใหม่ๆ เสียงปืนยังดังอยู่เป็นระยะ ถ้าบอกว่าไม่กลัวก็ไม่ได้ แต่กลัวก็กลัว ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเราได้ไปแล้วจะกลับบ้านก็ยังไม่ได้ปลาพอขาย ก็ต้องอยู่กันต่อ พอไปถึงใกล้กับตั้งอ้อก็เอาเรือเข้าฝั่งกะว่ายังไงเสียคืนนี้ก็ต้องนอนตรงหาด พอเอาของลงเรือเสร็จ ยังไม่ได้หุงข้าวด้วยซ้ำ ทหารใส่ชุดเต็มยศเลยเดินมาหาเรา พวกเรา ๓-๔ คนแต่ละคนไม่เคยเจอ กลัวก็กลัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง พอทหารกลุ่มนั้นเดินมาถึง ก็ถามว่ามาจากไหน เราก็บอกว่าเป็นคนไทย มาหาปลา เขาก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะช่วงนั้นเรื่องพรมแดนนี่มันไม่ได้เป็นเหมือนอย่างนี้ พอเขารู้ว่าเรามาทำอะไร เขาก็บอกอยากได้ปลาไปเป็นอาหาร เราก็มองหน้ากัน แต่ก็ให้เขาไป ๒๐ กว่าตัว ปลาตัวใหญ่ทั้งนั้น เสียดายก็เสียดาย แต่ถ้าเทียบกับชีวิตแล้ว ปลาพวกนี้ไม่นานเราก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นอะไรไปคนทางบ้านไม่รู้จะเป็นยังไง พอเขาได้ปลาแล้วเขาก็ไป ไม่ใช่เขามาปล้นนะ แต่เขามาขอแบ่งเราไปกิน เราก็เข้าใจเขา ช่วงนั้นเขากำลังเปลี่ยนแปลงใหม่ ข้าวปลาอาหารก็หายาก เพราะกำลังยิงกัน เขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน”หลายครั้งชายชราขึ้นไปหาปลาไม่ได้ไปคนเดียว การไปหาปลากับเพื่อนหลายคนทำให้เกิดพรมแดนแห่งการเรียนรู้ของคนร่วมลุ่มน้ำเดียวกัน ใช่ว่าจะมีเฉพาะคนหาปลาคนไทยที่ชายชราสนิทชิดเชื้อ ในช่วงเดินทางรอนแรมขึ้นเหนือ เพื่อไปหาปลา ช่วงนั้นชายชราได้รู้จักกับคนพม่าแล้วก็เป็นเสี่ยวกันมาจนถึงปัจจุบัน ชายชราบอกว่าถึงตอนนี้ไม่ได้ขึ้นไปหาปลาแล้ว แต่ก็ยังจดจำเพื่อนที่เคยพึ่งพาอาศัยกันได้ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตามทีเส้นพรมแดนสำหรับชายชรามันอาจะเป็นเพียงเรื่องราวสมมติที่ถูกเขียนขึ้นมา เส้นพรมแดนสมมตินี้ไม่สามารถจะขีดแบ่งความรู้สึกผูกพัน คุ้นเคยของผู้คนทั้งสองฝั่งน้ำลงไปได้ เส้นพรมแดนสมมติตามสถานะของชายชราแล้วมันจึงเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงกับความลวงช่วงเวลาแห่งความทรงจำของคนเรานั้นแม้ว่ามันจะเป็นความทรงจำที่ดีและไม่ดี มนุษย์ย่อมจดจำได้เสมอ แต่การจดจำนั้นก็อยู่กับว่า ใครจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้เนิ่นนานกว่ากันเท่านั้นเอง...ถ้าถามว่าแล้วเหตุผลกลใดคนหาปลาเช่นชายชราต้องขึ้นไปหาปลาไกลถึงขนาดนั้น คำตอบที่ได้จากชายชราคือ เพราะข้างบนมันมีปลาเยอะกลับมาถึงเชียงของครั้งหนึ่งก็ได้ปลาเต็มลำเรือและหากถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้ชายชรามายึดอาชีพหาปลานั้น คำตอบคือ สมัยก่อนก็รับจ้างทั่วไปบ้าง ตัดไม้เผ่าถ่านขายบ้าง แต่พอเจ้านายเขาไม่ให้ตัดไม้ เราก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกินก็เริ่มลองหาปลา อีกอย่างรับจ้างมันก็เบื่อ ตัดไม้เผ่าถ่านขายมันก็เบื่อ เพราะเราต้องหลบซ่อนไม่ให้เจ้านายเขาเห็น เพราะถ้าเขาเห็นเขาจะจับ“เดี๋ยวนี้พ่อเฒ่าหาปลามากี่ปีแล้ว”“เริ่มหาปลาตอนอายุ ๒๔ ตอนนี้ก็อายุ ๗๖”“ถ้านับตอนนี้ด้วยก็ ๕๐ กว่าปีแล้วใช่ไหมพ่อเฒ่า แล้วอีกกี่ปีถึงจะเลิกหาปลา”“คงไม่เลิกหรอก ถ้าแรงยังมีก็คงต้องทำกันต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไร อีกอย่างเราก็แก่แล้วไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ หาปลานี่แหละพอได้อยู่ได้กิน”ชีวิตบนสายน้ำของชายชราคงเป็นอย่างชายชรากล่าว หากจะให้ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หาปลา แกคงทำไม่ได้ และความสุขจากการทำงานอื่นที่ไม่ใช่การหาปลาสำหรับชายชราแล้วคงไม่มี เพราะงานหลายอย่างชายชราเคยทดลองทำมาแล้ว สุดท้ายก็มาจบลงตรงการหาปลา ๕๐ กว่าปีที่ชายชราออกเรือหาปลา ประสบการณ์ได้มาแม้จะไม่มาก แต่ก็คงไม่น้อยสำหรับคนๆ หนึ่งสายน้ำอันเกี่ยวเนื่องอยู่กับสายชีวิตของผู้คนได้สอนให้ชายชราเข้าใจหลายสิ่งอย่างมากขึ้น ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ผมขาวโพลนบนศีรษะเหล่านี้ล้วนบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนย่อมสูญหายไปตามเวลาอันสมควร เมื่อเราเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นนัก และมีที่สิ้นสุด เราก็ต้องเชื่อด้วยว่า การเดินทางของแม่น้ำจากตั้นกำเนิดครั้งแรกจนถึงวันนี้ แม่น้ำช่างยาวไกลจนสิ้นสุดได้ยากยิ่ง และวันหนึ่งแม่น้ำก็คงหยุดไหลเช่นกัน
ประสาท มีแต้ม
เรื่องราวที่ผมจะนำมาเล่าในที่นี้  ไม่ใช่เรื่องเทคนิคทางไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงานเชิงสังคมที่น่าสนใจของตัวผมเอง  ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคุณค่าพอที่ผู้อ่านทั่วไปตลอดจนกลุ่มเพื่อนพ้องที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อนสันติภาพของโลก  จริงๆนะครับ ผมไม่ได้โม้ผมขอเริ่มเลยนะครับเราเคยสังเกตไหมครับว่า สวิทซ์ไฟฟ้าในที่ทำงานของเรา โดยเฉพาะที่เป็นสถานที่ราชการ เวลาเราเปิดสวิทซ์ ไฟฟ้าจะสว่างไปหลายดวง หลายจุดเป็นแถบๆ  ยิ่งเป็นที่สาธารณะ เช่น สำนักงาน หรือห้องสมุด เราเปิดสวิทซ์ครั้งเดียวหลอดไฟสว่างไป 20-30 หลอด  แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้จริงเพียง 1-2 หลอดเท่านั้นปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรือนของตนเอง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะสถานที่ราชการมักจะเน้นการประหยัดในการก่อสร้าง หรืออาจจะขาดการใส่ใจเท่าที่ควร  การแยกติดสวิทซ์ไฟฟ้าเป็นจุดต้องเสียค่าแรง และค่าอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก  ผู้ออกแบบจึงนิยมประหยัดในตอนแรก โดยไม่คิดถึงค่าไฟฟ้าตลอดอายุของอาคารเอ็นจีโอเยอรมันเล่าให้ผมฟังว่า  ที่โน่นเขาเน้นการประหยัดพลังงานตั้งแต่ตอนออกแบบแล้ว  เช่น หน้าต่างจะต้องติดกระจก 2 ชั้นเพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อน  ใครไม่ทำถือว่าผิดกฎหมายนะครับในสเปน กฎหมายใหม่ออกมาว่า บ้านทุกหลัง ศูนย์การค้าทุกแห่งที่จะสร้างใหม่จะต้องติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนพลังแสงอาทิตย์ให้เพียงพอ มาตรการทางกฎหมายที่ว่านี้คงต้องกลั่นกรองมาจากประสบการณ์อันยาวนานของแต่ละประเทศ  สำหรับประเทศไทยเอง คงต้องเริ่มกันได้แล้วครับ  ดังหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเขียนคือ “พลังยกกำลังสาม” นั่นคือมีพลังใจ ในการขับเคลื่อน มีพลังพลเมืองที่เข้าใจ แล้วร่วมกันผลักดันนโยบายพลังงาน เพื่อความยั่งยืนสรรพสิ่งทั้งหลายสถานที่ราชการที่ผมทำงานอยู่ได้ขึ้นแผ่นป้ายประกาศว่า “ช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ปิดดวงที่ไม่ได้ใช้” แต่เอาเข้าจริงจะให้ปิดอย่างไรในเมื่อสวิทซ์มันเป็นแบบที่ว่าแล้วผมเองที่สนใจเรื่องนี้มานานก็คิดไม่ออก จนกระทั่งเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง (อ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ –ขอเอ่ยนามเพื่อให้เกียรติ)  บอกว่าเขาใช้สวิทซ์กระตุกกันแล้ว จากนั้นเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องของผมก็พาผมไปดูห้องทำงานด้วยความตื่นเต้น  แล้วผมเองก็กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ในบัดดล    ดังรูปข้างล่างนี้ครับ ผมลองทดสอบแสงว่างที่โต๊ะทำงานหลังจากที่ได้กระตุกให้ไฟฟ้าดับไปแล้วครึ่งหนึ่ง  พบว่าแสงสว่างที่โต๊ะทำงานก็ยังคงเท่าเดิมสำหรับราคาสวิทซ์กระตุกอยู่ที่ตัวละประมาณ 40 บาท สามารถหาซื้อได้ตามศูนย์การค้าครับหลังจากนั้น อ.วรวิทย์ได้นำผมไปดูไฟฟ้าที่ลานจอดรถ  พบว่าการออกแบบยังเป็นแบบเดิมครับ คือเปิดครั้งเดียวสว่างไสวไปทั้งลาน  เป็นไฟสปอร์ตไลท์ประมาณ 8 เสา  ในฐานะที่ อ. วริทย์มีตำแหน่งบริหารในคณะ ท่านก็สั่งการเปลี่ยนแปลงทันทีได้ระดับหนึ่ง  ผมเชื่อว่าสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เยอะเลยครับผมได้นำเรื่องราวของ อ. วรวิทย์ไปเขียนเล่าให้กับคนในมหาวิทยาลัย โดยผ่านทางเมล์รวม (ผมเชื่อว่ามีหลายพันรายชื่อ)  ผมได้รับคำตอบที่ว่าดีจำนวนหนึ่ง (ซึ่งมีผลดีต่อจิตใจผมมาก)  แต่ผมไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงผมพิมพ์เรื่องนี้มาติดบอร์ดประกาศที่ภาควิชาอยู่นานเป็นเดือน  ก็ไม่มีใครจะทำตาม  ทั้งๆที่มีบางคนเห็นด้วย  อาจเพราะว่าไม่มีใครจัดการไปซื้อมาติดอาจารย์อีกท่านหนึ่งเจอกับผมโดยบังเอิญ(ปกติเราแทบไม่ได้คุยกันเลย) บอกผมว่า  “เรื่องที่อาจารย์เล่านั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้ผลหรอก อาจารย์(หมายถึงตัวผม) ต้องมี authority (ท่านใช้คำนี้) อาจารย์ไปบอกท่านอธิการเลยว่า ขอทำงานนี้ ในปีแรกจะลดค่าไฟฟ้าให้ได้ 5% เรื่องนี้นะบางสำนักงานที่อื่นเขาทำกันแล้ว”ผมนำคำพูดของอาจารย์ท่านหลังสุดมาคิดอยู่นานครับ  ผมเองไม่มีอำนาจในเชิงการบริหาร  ผมไม่ชอบและปฏิเสธเรื่องทำนองนี้มา  20 กว่าปีแล้วล่าสุด ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชุดเล็กๆ ชุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย เรียกชื่อสั้นๆว่า คณะกรรมการ  Green Campus   ผมจึงได้นำเรื่องนี้ไปเสนอปรากฏว่า ท่านผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยรับปากทันทีว่า จะเสนอขอใช้งบประมาณเพื่อติดตั้งสวิทซ์กระตุกจำนวน 1,000 ตัวขอเรียนตามตรงว่า ผมดีใจมาก ผมบอกในที่ประชุมว่า “วันนี้ผมมีความสุขมาก”ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะยืนยันว่า “สิ่งเล็กๆ ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้” หรือที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกเขาเรียกเป็นศัพท์แสงว่า  Law of the Few นั่นเอง
สุมาตร ภูลายยาว
ในยามเย็น หลังแสงตะเกียงสว่างขึ้น ความสว่างของแสงไฟตะเกียงก็ตัดกับท้องฟ้ามืดครึ้มไร้ดวงดาวแต้มขอบฟ้า ดูเหมือนว่ายามนี้สายฝนต้นฤดูมาถึงแล้ว ในที่ไกลออกไปฟ้าแลบแปลบปลาบ ทุกครั้งที่ฟ้าแลบ ความสว่างที่เกิดขึ้นเพียงสั้นๆ ทำให้ฟ้าสีดำดูน่ากลัว ไม่นานนักหลังฟ้าร้องเข้ามาใกล้ สายฝนปานฟ้ารั่วก็โถมถั่งลงมายามนี้ปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือ เพื่อวางไข่ จะเหลือเพียงปลาบางชนิดเท่านั้นอพยพขึ้นมาช่วงน้ำลด ในช่วงนี้ คนหาปลาไหลมองก็จะเริ่มยุติการหาปลาลง เพราะน้ำในแม่น้ำเป็นน้ำใหญ่หาปลาลำบาก ช่วงน้ำใหญ่นี่เองถือว่าธรรมชาติได้จัดการมนุษย์ และดูแลรักษาตัวเองไปด้วยพร้อมกันในแต่ละฤดูธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบอกคนหาปลาให้เฝ้าสังเกตฤดูการอพยพของปลา เพื่อให้คนหาปลาได้ใช้เครื่องมืออันเหมาะสมกับการหาปลาของพวกเขา นอกจากคนหาปลาจะสังเกตธรรมชาติรอบตัวแล้ว คนหาปลายังสังเกตการอพยพของปลาแต่ละชนิด เพื่อจะได้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องว่า เมื่อปลาชนิดไหนอพยพขึ้นมาแล้ว ต่อไปปลาชนิดไหนจะอพยพตามขึ้นมาบ้างชายชราบอกว่า “ในช่วงเดือน ๕ (เดือนเมืองทางภาคเหนือหมายถึงเดือนมีนาคม) ปลาแกงจะขึ้นมาแล้ว พอปลาแกงขึ้นมา ปลาเพี้ย ปลาโมง ก็จะขึ้นตามมา บางทีในช่วงปลาขึ้นถ้าหาปลาได้ก็จะได้ปลาเป็นฝูงเลยทีเดียว มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปลาสะโม้ติดมองรอบเดียวได้เกือบร้อย แต่ตัวไม่ใหญ่ประมาณ ๓ นิ้ว นอกจากคนหาปลาจะรู้เรื่องการอพยพของปลาแล้ว คนหาปลาก็ยังต้องรู้พฤติกรรมของปลาในช่วงต่างๆ อีกด้วย ปลาฝาไม--ตะพาบน้ำ มันจะดุร้ายในช่วงเดือน ๘ ถ้ากินเบ็ดแล้วเวลาเราไปดู ถ้าไปเหยียบโดนสายเบ็ดหรือไปจับสายเบ็ด มันจะแกว่งไปมาใส่เรา ไมของปลาฝาไมจะมีลักษณะเหมือนหับหางของแลนหรือตัวตะกวด เวลามีคนเข้าใกล้ มันจะแกว่งหางของมันใส่เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดกับมัน ไมของปลาฝาไมยาวราวครึ่งวาจะมีโคนใหญ่และเรียวแหลมด้านปลาย ถ้ามันฟาดโดนเราจะปวด”“แล้วพ่อเฒ่าเคยโดนมันฟาดหรือเปล่า”“เคยโดนหลายครั้งอยู่ เวลาโดนมันฟาดแล้วจะเจ็บตรงจุดที่มันฟาด”“แล้วพ่อเฒ่าทำอย่างไรถึงหาย”“ก็เอายาขี้ผึ้งใส่ ถ้าไม่หายกินยาปวดหาย อย่างยาปวดหายนี่กินก่อนครึ่งหนึ่งแล้วเอาอีกครึ่งหนึ่งมาผสมกับยาผึ้งแล้วเอาโปะไว้ตรงไมมันปัก จากนั้นก็เอาไปอิงไฟ สักพักก็ไม่ปวดแล้ว”“แล้วพ่อเฒ่าเคยเล่าเรื่องการรักษาแบบนี้ให้ใครฟังหรือเปล่า”“เล่าให้ฟังหมดแหล่ะ โดยเฉพาะลูกๆ ที่ไปหาปลาด้วยกัน เล่าให้มันฟังหมด เล่าไปก็สอนมันไปด้วย มันจะได้รู้เวลาเราไม่อยู่จะได้เอาตัวรอดได้”“พ่อเฒ่า ผมเคยได้ยินมาว่าคนโบราณสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมตากแห้งไว้ไล่ผีปอบใช่ไหม”“ใช่ คนสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมไว้ไล่ผีปอบจริง แต่ก่อนบ้านนี้เคยมี ตอนนี้ไม่มีแล้วเอาให้ลูกไปหมด”ในความคิดของผม ชายชราเป็นคนไม่หวงความรู้ หากรู้มากก็บอกมาก รู้น้อยก็บอกน้อย ไม่เคยหวงวิชาความรู้ ชายชราช่างแตกต่างกับหลายๆ คน บางคนที่ผมรู้จัก ความรู้ของพวกเขาไม่เคยแจกจ่ายไปยังคนอื่น ซ้ำร้ายบางคนยังอาศัยความรู้ที่มีมากกว่าคนอื่นมากอบโกยเอาผลประโยชน์เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว ในสังคมของเมืองใหญ่แล้ว หลายคนยิ่งใช้ความรู้ที่ตัวเองมีมากกว่าคนอื่น เพื่อตักตวงเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด น้อยนักหนาที่เราจะได้พบเห็นการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นอย่างเต็มใจ...ครั้งหนึ่งมีคนหนุ่มอายุคราวลูกอยากรู้วิธีการสานตุ้มปลาเอี่ยน ชายชราก็สอนคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้น ในขณะสอน ชายชราไม่ได้สอนเพียงวิธีการทำตุ้มอย่างเดียว ชายชรายังสอนวิธีการใส่ ลักษณะพื้นที่ใช้เครื่องมือ รวมทั้งการใช้เหยื่อล่อปลาไหลให้เข้ามาในตุ้ม หลังจากคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้นได้วิชาความรู้จากชายชราไป เขาก็นำไปใช้ ต่อมาเมื่อถึงฤดูฝนชายชราก็มีปลาไหลกินไม่ได้ขาด เพราะคนหนุ่มคราวลูกนำมาให้ สำหรับคนร่วมสายน้ำ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในด้านต่างๆ ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว บางครั้งชายชราวางเบ็ดแล้วไม่ได้กลับไปดู ชายชราก็ฝากให้คนหาปลาอีกที่หาปลาอยู่ใกล้ๆ ดูให้ บ่อยครั้งที่ได้ปลาในรูปแบบนี้ เมื่อได้ปลาในแต่ละครั้งชายชราเองก็จะแบ่งให้กับคนหาปลาคนนั้นด้วย ถ้าครั้งไหนไม่ได้แบ่งเป็นปลาไปให้ ชายชราก็ชักชวนคนหาปลาคนนั้นมาทำลาบปลากินที่กระท่อมของแกแทนพูดถึงคนหาปลาอีกคนที่หาปลาอยู่ใกล้กับชายชรา ในความเป็นจริง คนหาปลาคนนี้อายุอ่อนกว่าชายชราไม่มากนัก คนหาปลาคนนี้สร้างกระท่อมขึ้นมาไม่ไกลจากกระท่อมของชายชรา บ่อยครั้งคนหาปลาคนนี้มักจะมายังกระท่อมของชายชรา ในวันที่คนหาปลาคนนี้มาถึงกระท่อมของชายชรา วงข้าวจะลากยาวตั้งแต่หัวค่ำไปจนเหล้าหยดสุดท้ายหมด ห้วงยามเช่นนี้แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่า คนหาปลาทั้งสองจะมีความสุขกับมันเป็นพิเศษบ่อยครั้งเช่นกันวงข้าวลากยาวไปจนดึกดื่น ในการดื่มกินแต่ละครั้ง ชายชรามักเล่าเรื่องราวต่างๆ  ในแม่น้ำสายนี้ให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ ทุกเรื่องที่ชายชรานำมาเล่า ชายชราบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้บนสมุดอันเขียนด้วยดินสอคือชีวิตทั้งชีวิตวิถีทางที่เป็นอยู่ของชายชรา บางครั้งการได้อยู่กับธรรมชาติ และเห็นความงามการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้คงได้กล่อมเกลาให้ชายชราเป็นคนอ่อนโยน และคิดถึงคนอื่นพอๆ กับการคิดถึงตัวเอง...แสงแดดของยามเช้าในฤดูฝนหลบหายเข้าไปในเฆมสีดำ ไม่ยอมออกมาทำหน้าที่เหมือนเดิม แม้ว่าตอนนี้จะสายแล้วก็ตามที ปีนี้ฝนตกมามากกว่าทุกปี น้ำขึ้นเร็ว บางคนปลูกข้าวโพดไว้ตามริมฝั่งน้ำเก็บข้าวโพดไม่ทันน้ำก็เอ่อท่วม พอถึงวันเก็บข้าวโพดต้องพายเรือเก็บกันเลยทีเดียวหากจะพูดตามความจริงแล้ว ถึงฝนจะตกมากเพียงใด น้ำในแม่น้ำก็คงไม่ขึ้นเร็ว แต่ ๔-๕ ปีที่ผ่านหลังจากมีข่าวการสร้างเขื่อนในตอนบนของแม่น้ำ ผู้คนริมฝั่งน้ำรวมทั้งคนหาปลา ทุกคนต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ บ่อยครั้งที่น้ำขึ้นมา ๓ วัน พอวันที่ ๔ น้ำลง ในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำสายนี้ตั้งแต่อดีตมาไม่เคยเป็นอย่างนี้ พอถึงช่วงหน้าฝนน้ำก็จะเอ่อและท่วมนองไปจนถึงออกพรรษา พอออกพรรษาแล้วหลังลอยกระทงน้ำก็จะลดลง แม่น้ำเป็นอยู่เช่นนี้มาชั่วนาตาปี แต่พอการก่อสร้างเขื่อนเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ก็เดินทางมาอย่างไม่บอกกล่าวหลังการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ ชายชราก็หาปลาได้น้อยลง บางวันหาปลาทั้งเช้า-เย็น ปลาตัวเดียวก็ไม่ได้ บ่อยครั้งที่หาปลาไม่ได้ ชายชราก็กลับมาครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีตมากขึ้น ลึกลงไปในแววตาของชายชรา ทุกครั้งที่แกนึกถึงเรื่องราวในหนหลัง น้ำตาจะเอ่อท่วมดวงตาของชายชราอยู่เสมอนอกจากในตอนบนของแม่น้ำจะถูกกั้นด้วยเขื่อนแล้ว ชายชราก็ได้ข่าวมาอีกว่ามีเรือใหญ่เดินทางมาถึงเชียงแสน เรือใหญ่เดินทางมาพร้อมกับการระเบิดแก่งหิน เมื่อระเบิดแก่งหินออก ปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่งก็ไม่มี เพราะแก่งหินในแม่น้ำคือบ้านของปลา เมื่อไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เมื่อไม่มีปลาคนหาปลาก็หาปลาไม่ได้ภายใต้ความคิดของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์จึงจัดการธรรมชาติให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอง อย่างเรื่องราวที่ชายชราเล่าให้ผมฟังนั้นก็เช่นกัน ในความคิดของคนหาปลาคนหนึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า พวกเขาคิดเรื่องราวใด เมื่อพวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำอันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของพวกเขาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกชายชราไม่อาจทำความคุ้นเคยกับมันได้ แต่พอหลายปีผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นความปกติในสายตาของชายชรา แต่ทุกครั้งที่มีคนถามถึงความเปลี่ยนแปลง ชายชราก็จะเล่าให้ฟังด้วยความคับแค้นในใจ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนถามชายชราว่า ถ้าเขามาระเบิดหินตรงที่ใช้หาปลาจะทำยังไงชายชราได้บอกกับคนที่ถามว่า หากทำจริงก็จะบอกคนที่มาทำว่า “จะเอามันออกทำไม ถ้าเอาออกแล้วมันเกิดไม่ดีขึ้นมา มันต่อกลับมาไม่ได้ หินมันไม่ใช่กระดาษ ถ้าเป็นกระดาษเราฉีกแล้วเอากาวมาต่อกลับไปใหม่ได้ แต่หินเอากาวมาต่อใหม่ไม่ได้ อย่าทำเลยปล่อยมันไว้อย่างนั้นแหละ ถ้าเรือมันมาไม่ได้ทำไมเราไม่ทำเรือให้เหมาะสมกับแม่น้ำ ถ้าหน้าแล้งก็ใช้เรือลำเล็ก มันก็มาได้ ไม่ใช่ว่าทำแม่น้ำให้เหมาะสมกับเรือ แค่เขาคิดว่าสิ่งที่อยู่ในน้ำคือตัวขัดขวางการเดินเรือ เขาก็คิดผิดแล้ว คนจีนนี่ก็แปลกนะ เหมาเจ๋อตงยังเคยบอกเลยว่า ถ้าเราจะทำรองเท้า เราต้องตัดเกือกใส่เท้า ไม่ใช่ตัดเท้าไปใส่เกือก แก่งหินที่อยู่ในน้ำมันเป็นบ้านของปลา ถ้าระเบิดแล้วปลาก็ไม่มีที่อยู่ เอาแก่งหินออกก็เหมือนเรากำลังฆ่าแม่ของเรา”ผมเองก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า คำว่า ‘แม่’ ที่ชายชรากล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร แต่ผมรับรู้ได้ว่า ชายชราก็เป็นห่วงสายน้ำสายนี้ไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ‘แม่’ ในความหมายของชายชราอาจหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ให้ชีวิตกับเรา และเราพึ่งพาอาศัยมีชีวิตอยู่มาได้ สิ่งนั้นย่อมได้รับการเรียกว่า แม่ ไม่ได้แตกต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิดของเรา เพราะแม่ผู้ให้กำเนิดของเราก็ดูแลเราและให้เราพึ่งพาอาศัยอยู่ได้ตลอดเวลา แม้ว่าความคิดของชายชราอาจจะเป็นความคิดจากคนตัวเล็กๆ ในมุมมองของใครหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว ผมถือว่านี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ยินดีจะเข้าร่วมเพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองเคยได้พึ่งพาอาศัย แม้ว่าการปกป้องอาจบรรลุเป้าหมายช้าก็ตามทีจากความรักที่ชายชรามีต่อสายน้ำสายนี้ จึงไม่แปลกนัก คำที่กลั่นออกมาจากดวงใจของชายชราและออกมาเป็นคำพูดว่า ‘ถ้าเราเอาแก่งหินในสายน้ำโขงออกก็เหมือนกับว่าเรากำลังฆ่าแม่’ ในวันนี้แม่น้ำกำลังเปลี่ยนไป แต่จิตใจของคนบางคนกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชายชราแห่งคนนี้ ชายชรารักสายน้ำสายนี้เท่าๆ กับชีวิตของแก เพราะสายน้ำได้ให้ชีวิต และให้เรื่องราวมากมายโดยมิคาดหวังว่าคนเช่นชายชราจะรักและเทิดทูนแม่น้ำสายนี้เพียงใด แม่น้ำได้ให้ประโยชน์กับมนุษย์มากมาย และแม่น้ำก็ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้คนผู้ได้รับประโยชน์หันกลับมาห่วงใยแม่น้ำ แต่การที่คนจะตระหนักถึงความรักต่อสายน้ำนั้น ล้วนเกิดมาจากบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำถ่ายเทออกมาจากจิตใจของคนเราอย่างแท้จริง และบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำของใครจะได้รับการถ่ายเทออกมาจิตใจก่อนกันเท่านั้นเอง สำหรับชายชรา บ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำสายน้ำนี้ของแกได้เกิดขึ้นแล้ว และมันจะยังคงอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าชีวิตของแกจะเดินทางจากโลกนี้ไปสู่เชิงตะกอนอันเป็นฉากจบของชีวิตคนหนึ่งคน