สัตว์เลี้ยง

สุนทรียสนทนาบนรถสองแถว

26 October, 2007 - 02:07 -- moon

รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)

มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด

ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้  ถ้าเย็บแผลละก็ เท่ากับอำนวยความสะดวกให้มันเชียวละค่ะ จึงจำเป็นต้องเปิดปากแผลไว้ เพื่อให้ออกซิเจนได้เข้าไปฆ่าเชื้อโรคด้วยประการฉะนี้ 

หมอบอกว่า บางคนแผลกว้างไม่พอ หมอต้องกรีดปากแผลเพิ่มให้อีกก็มีนะ โชคดี(หรือเปล่าเนี่ย) ที่แผลฉันกว้างพอแล้ว เฮ้อ...

แหม แต่ยี่สิบกว่าวันที่แขนขวาไม่โดนน้ำเลย ขี้ไคลจับจนปั้นวัวปั้นควายให้ลูกใครๆ เล่นได้หลายตัวเชียวละ มีใครอยากได้สักตัวไหมคะ

ฉันยื่นแผลให้เสือจิ๋วดู มันไม่ยักสนใจ ตาใสแจ๋วของมันไม่มีวี่แววจดจำรำลึก ราวกับจะบอกว่า อย่ายึดติด อะไรผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป น้าน...ฉันช่างบรรลุธรรมได้ถึงขนาดนั้น

แผลที่โดนบริเวณเส้นเอ็น ทำให้ฉันยังขยับข้อมือไม่ไหว และยังขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อทองม้วน แมวน้อยอีกตัวหนึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ดูอาการแล้วไม่สมควรนิ่งนอนใจเป็นอย่างยิ่ง ฉันจึงจำต้องหิ้วตะกร้าใส่แมว ขึ้นรถสองแถวไปหาหมอ

โชคดีอีก(ทั้งที่ปกติไม่สมควรคิดว่าโชคดี)ที่ทองม้วนผอมมาก น้ำหนักเบาหวิวของมันทำให้ฉันหิ้วตะกร้ามือซ้ายได้ตลอดระยะทางกว่าสามสิบกิโลเมตร ด้วยเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจากตลาดหน้าอำเภอไปถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี
ทองม้วนนอนซมในตะกร้าไปจนถึงมือหมอ หลังจากให้น้ำเกลือ กับฉีดยาอีกสองเข็ม มันจึงค่อยมีแรง และเริ่มส่งเสียงร้องเมี้ยวม้าวแสดงอาการตื่นเต้น เพราะตั้งแต่เกิดมา ทองม้วนยังไม่เคยขึ้นรถไปไหนเลย

บนรถสองแถวขากลับที่ค่อนข้างเต็มไปด้วยผู้โดยสาร เสียงร้องของทองม้วนจึงเป็นต้นเรื่องของบทสนทนาเหล่านี้

“เอ๊ะ เสียงเหมือนเด็กอ่อน ลูกใครหว่า” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นดังๆ แล้วมองไปทั่วรถ
“ไม่ใช่ เสียงลูกแมวตะหาก” อีกคนแย้งแบบผู้สันทัดกรณี เธอหันมาสบตากับฉันพอดี แล้วจึงเห็นตะกร้าใส่แมว
“นั่นไง แมวจริงๆ ด้วย ต๊าย ผอมจัง เป็นไรจ๊ะ”

ฉันเลยได้บรรยายอาการเจ็บป่วยของทองม้วนเป็นวิทยาทาน
“แหม ตัวแค่เนี้ย ป่วยทีเสียเงินเป็นร้อยเป็นชั่ง เลี้ยงเยอะๆ คงจนแย่ ดีนะนี่แค่ตัวเดียว ไม่เท่าไหร่เนาะ” พี่ผู้หญิงแต่งตัวเหมือนสาวโรงงานคนหนึ่งพูดปลอบใจฉัน

ฉันหัวเราะแหะๆ ไม่กล้าเล่าถึงแมวหมาอีกกว่าเจ็ดสิบตัวที่บ้าน กลัวพี่เขาเป็นห่วง
“แมวฉันตัวใหญ่กว่านี้สามสี่เท่า อ้วนยังกะหมู” คุณป้าคนหนึ่งที่ขึ้นรถมาพร้อมกระบุงใบใหญ่เล่าเสียงดังแข่งกับเสียงเครื่องรถ “อุตส่าห์เลี้ยงไว้จับหนู มันก็อ้วนซะจนไล่หนูไม่ไหวแล้ว”

“นังสามสีของชั้นก็เหมือนกัน มันหลงมา ชั้นก็เลี้ยงไว้ แหม้..มันมุดมุ้งชั้นทู้กคืน มุดเข้ามานอนแล้วก็ออกไม่ได้ ร้องจะออกอีก ดึกดื่นต้องลุกมาเปิดมุ้งให้มันเข้าๆ ออกๆ เบื๊อ เบื่อ” ปากบ่น แต่หน้าตาคนพูดเอ็นดูเจ้าตัวที่เล่าถึงเป็นอย่างยิ่ง

“แมวที่ไหนไม่รู้ชอบมาออกลูกหลังบ้านฉัน” คราวนี้เป็นทีของคุณน้าเสื้อเหลืองเล่าบ้าง “ออกแล้วออกอีก ท้องมันอยู่นั่น ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไอ้เราก็เลี้ยงไปสิ จะไล่ไปรึก็สงสาร อุตส่าห์มาหาที่พึ่ง”

“แล้วเป็นไง ต๊าย แมวมิเต็มบ้านไปหมดรึ” มีเสียงถาม
“ไม่ร้อก พอมันโตก็ไปกันหมด แต่อย่าวางใจเชียว เดี๋ยวก็มาออกอีกละ แหม้ มันเห็นบ้านฉันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็ก” คุณน้าบ่นด้วยเสียงหัวเราะ

“ต้องจับทำหมันค่ะ” ฉันเสนอแนะ
“ก็เนี่ย คอยจ้องจะจับอยู่ แต่มันโผล่มาตอนจะคลอดทู้กที” คุณน้าบอก

“หลานฉันก็เลี้ยงแมว” แม่ค้าปลาที่นั่งอยู่เกือบท้ายรถเล่าบ้าง “แต่วันก่อนมันถูกรถชน หลานมันอุ้มแมวมา อู๊ย ร้องไห้ซะจนเรานึกว่าใครตาย อพิโถ แมวตาย”
“ก็เขารักของเขานี่นา เป็นฉัน ฉันก็ร้อง” อีกคนพูดอย่างเข้าอกเข้าใจ  
“แน่ะ แล้วแขนเป็นไร ปิดแผลเต็มเชียว” คุณป้ากระบุงใหญ่เริ่มเบนความสนใจมาที่ฉัน พอได้คำตอบว่าถูกแมวกัด แถมด้วยการบรรยายเหตุการณ์พอสังเขป ประเด็นการสนทนาก็เปลี่ยนไป

“ว้าย น่ากลัวจัง” สาวน้อยนักเรียนที่หิ้วถุงเทสโก้โลตัสอุทานพลางทำท่าขนลุก
“ฉันก็เคยโดนแมวกัด” คุณป้าคนเดิมว่า แล้วใครอีกคนก็บอกว่า “หลานฉันก็เคยถูกหมากัด” จากนั้น ใครๆ ที่เคยถูกตัวอะไรต่อมิอะไรกัดก็ผลัดกันเล่าเป็นการใหญ่ คุณลุงคนหนึ่งบอกว่าญาติถูกตุ๊กแกกัด

“เขาว่าตุ๊กแกกัด ต้องกินขี้สามชาม กินน้ำสามโอ่ง” แม้ค้าปลาบอก
“จะตายก็ตอนนี้แหละ ไม่ใช่เพราะตุ๊กแกกัด” เสียงใครไม่ทราบพูด เลยได้หัวเราะกันลั่นรถ
“ใครไม่เคยถูกกัดไม่รู้ร้อก” คุณป้าสรุป

หนึ่งชั่วโมงถัดมา ฉันก้าวลงจากรถสองแถวอย่างอาลัยอาวรณ์บทสนทนาน่ารักที่ยังไม่จบ

“หายเร็วๆ นะ ทั้งคนทั้งแมว” คุณน้า (เจ้าของโรงพยาบาลแม่และเด็ก) ตะโกนจากรถ

ฉันยังยืนยิ้มอยู่อีกพักใหญ่ ถึงจะยังกังวลใจในอาการของทองม้วนที่หมอบอกว่า ถ้าผ่านสามวันไปได้ก็จะรอด แต่ถ้อยสนทนาบนรถสองแถวทำให้ใจทั้งอิ่มและอุ่น

ฉันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักดาราศาสตร์ เป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่เชื่อว่า ความใส่ใจใยดีที่คนมีให้คน และเผื่อแผ่ไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นี้เอง ที่ทำให้โลกของเรายังหมุนได้

กล้วยปิ้งในหัวใจ

19 October, 2007 - 01:02 -- moon

แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ”

เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”

ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท

“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)

คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง ราดน้ำจิ้มเหนียวๆ แล้วใส่ไม้แหลมๆ ให้หนึ่งไม้
“สี่ลูกเอง แพงจัง” ฉันรำพึงกับตัวเอง แต่คงเผลอพูดดังไปหน่อย คนขายเลยขมวดคิ้วใส่
“ราคานี้มาตั้งนานแล้วพี่”
“ค่ะ ค่ะ ขอโทษที ไม่ค่อยได้มาแถวนี้” ฉันอยากยิ้มให้เธอ แต่ก็รีบหันหลังออกจากแผงกล้วยด้วยความเกรงใจคนขาย กลัวเธอเข้าใจรอยยิ้มของฉันผิด

จุดหมายอยู่ห่างออกไปอีกราวๆ สองป้ายรถเมล์ แต่ฉันกำลังอยากชิมกล้วยปิ้งคนกรุง เลยตัดสินใจไม่ขึ้นรถ จะได้เดินไปกินไปอย่างสบายอารมณ์

มาตรฐานความอร่อยเป็นรสนิยมส่วนบุคคล สำหรับฉัน กล้วยปิ้งนั้นฝาดไปหน่อย แถมน้ำจิ้มยังหวานแสบไส้ นึกถึงสีหน้าไร้อารมณ์ของคนขายแล้วเห็นใจเธอ ได้ยินว่า ธุรกิจกล้วยปิ้งปัจจุบันนี้มีการทำแฟรนไชส์แล้ว แสดงว่าคนไทยยังไม่เบื่อกล้วยปิ้ง แต่ทำไมหนอ เธอถึงมีหน้าตาเบื่อลูกค้าขนาดนั้น

แล้วฉันก็คิดถึงรอยยิ้มของยาย

ยายนั่งอยู่ในเพิงสังกะสีหน้าห้องแถวเก่าๆ ริมถนนในจังหวัดหนึ่งทางภาคอิสาน ตอนที่ฉันยังทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ฉันขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเพิงของยายเกือบทุกวัน

ยายจะมานั่งปิ้งกล้วยขายตั้งแต่ตีห้าถึงหกโมงเย็น ยกเว้นวันที่ยายปวดเมื่อยจนลุกไม่ขึ้น แต่ทุกวันที่ยายมาขาย ยายจะมียิ้มแจ่มใสมาด้วยเสมอ เหลียวมองทีไร เห็นยายยิ้มทุกที จนฉันอยากจะคิดว่ายายยิ้มให้รถทุกคันที่ผ่านหน้ายายไป

รอยยิ้มนั้นเองที่ดึงดูดให้ฉันจอดรถซื้อกล้วยปิ้ง
“หนู้...” ยายจะขึ้นต้นแบบนี้ทุกครั้ง “ไปไหน้มาจ๊า กินกล้วยปิ้งของยายไหม้ อร่อยนาจ๊ะ”

เสียงเหน่อๆ ของยายทำให้ฉันต้องยิ้ม ยายก็บอกไม่ถูกว่าตัวเองนั้นพูดด้วยสำเนียงจังหวัดไหน เพราะวัยกว่าแปดสิบของยายนั้น ย้ายตามลูกชายมาหลายจังหวัด จังหวัดละหลายๆ ปี ทั้งอุตรดิตถ์ จันทบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา

“อู๊ย มันหลายแห่งเหลือเกิ๊น ย้ายจนยายเวียนหั้ว หนู้เอ๊ย ....”

เริ่มคุ้นหน้ากัน ยายก็ถามฉันว่า “หนู้ ค้ายอะไรหรือจ๊ะ” แกชี้ไปที่ตะกร้าใบใหญ่ที่ฉันมัดไว้ท้ายรถ ฉันจึงอธิบายว่าไม่ได้ขาย ของที่เต็มตะกร้าเกือบทุกวันนั้นคือกับข้าวหมา

ยายฟังเรื่องบ้านสี่ขาแล้วก็หัวเราะตาหยี  “เหมือนยาย เหมือนยาย”

ในกระจาดกล้วยของยาย ทุกวันจะมีถุงก๊อบแก๊บหลายถุงใส่ข้าวคลุกน้ำแกงบ้าง หัวปลาบ้าง ต้มเศษเนื้อบ้าง ยายบอกว่า “เอาไว้ให้หม้า”

มีหมามอมแมมหกเจ็ดตัว แวะเวียนมาหายายที่แผงกล้วยปิ้งทุกวัน ยายจะหยิบถุงก๊อบแก๊บใส่ข้าวโยนให้มันคาบไปกิน มีตัวหนึ่งมารอยายแต่เช้า กินข้าวเสร็จแล้วก็นอนข้างๆ แผงของยายไปจนถึงเย็น พอยายกลับ มันก็กลับบ้าง ยายบอกว่ากลางคืนมันนอนไหนไม่รู้ แต่กลางวันมันมาอยู่เป็นเพื่อนคุยกับยาย

บางวันมันมีสีม่วงๆ เป็นหย่อมๆ เต็มตัว ยายเล่าว่ามันได้แผลมาจากไหนไม่รู้ ยายเลยเอายาสีม่วงใส่แผลให้ เมื่อแผลมันหาย ยายก็รีบบอกฉันให้ร่วมดีใจด้วยรอยยิ้มอิ่มสุข เงินที่ฉันซื้อกล้วย ยายบอกว่าจะเอาไว้ช่วยหมาที่อดอยาก

วันหนึ่ง ยายเห็นฉันมีพลาสเตอร์แปะอยู่ตรงหางคิ้วเนื่องจากถูกบานหน้าต่างกระแทกใส่ ยายรีบถามไถ่อาการอย่างห่วงใย แล้วหยิบกล้วยปิ้งใส่ถุงให้จนนับไม่ทัน

“ยายจ๋า หนูซื้อแค่สิบบาท ยายหยิบเกินแล้วยาย” ฉันรีบบอก
“ไม่เป็นไร้ กินกล้วยปิ้งของยาย หนู้จะได้ห้ายไวๆ” ยายยื่นกล้วยถุงใหญ่ (มีเกือบยี่สิบลูก) ให้แล้วบอกด้วยรอยยิ้มแฉ่งว่า “อ้ะ ซิบบาท”

“สิบบาทยายขาดทุนแย่ แถมให้เยอะขนาดนี้หนูกินไปสามวันก็ไม่หมด” ฉันไม่ได้บอกว่า ที่ซื้อยายเมื่อวาน (และเมื่อวานซืน) ก็ยังไม่หมด
“ขาดทุนอาไร้ กล้วยถูกจะตายไป๊ กินไม่หมดก็เอาไปค้ายต่อ” ยายแนะนำ
“โธ่ หนูจะไปขายใครเล่ายาย” ฉันยิ้มขำ นึกถึงน้องๆ ที่ทำงานที่ถูกชวนแกมบังคับให้ช่วยกินกล้วยปิ้งทุกวัน ยิ่งช่วงที่แผลยังไม่หาย ยายจะแถมกล้วยให้จนฉันแทบกินแทนข้าว

คิดถึง “เจ้าชายน้อย” ของอองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี และถ้อยคำที่ว่า
“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามก็อยู่ตรงที่ว่า มันซ่อนบ่อน้ำไว้ที่ใดที่หนึ่ง”

เจ้าชายน้อยและนักบินเดินอยู่ในทะเลทราย
“เธฮหิวน้ำเหมือนกันหรือ” นักบินถาม
เจ้าชายน้อยไม่ตอบ แต่พูดว่า น้ำอาจจะดีสำหรับหัวใจ

ทั้งสองพบบ่อน้ำเมื่อรุ่งสาง เจ้าชายน้อยขอให้นักบินตักน้ำในบ่อให้ นั่นเองคือสิ่งที่นักบินค้นพบ การเดินใต้แสงดาว การค้นพบบ่อน้ำกับเสียงเพลงของลูกรอก และแรงแขนของเพื่อนที่สาวถังน้ำขึ้นจากบ่อ ทำให้น้ำนั้นสดชื่นราวน้ำหวานในงานรื่นเริง

เจ้าชายน้อยบอกนักบินว่า
“ผู้คนในโลกของคุณ ปลูกกุหลาบห้าพันต้นในสวนเดียว แต่เขากลับไม่เคยพบสิ่งที่เขาต้องการ”
“ใช่ เขาไม่เคยพบมันหรอก” นักบินตอบ

เจ้าชายน้อยบอกว่า
“ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาค้นหา อาจจะพบได้ในกุหลาบเพียงดอกเดียว หรือในน้ำเพียงเล็กน้อย”

แล้วเขาก็เสริมว่า
“แต่ตาของคนเราบอด สิ่งนั้นต้องหาด้วยหัวใจ”

กล้วยปิ้งราคาสี่ลูกยี่สิบบาทบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษ และฉันก็ไม่ได้อยากกินกล้วยปิ้ง เพียงแต่ฉันคิดถึงรอยยิ้มของยาย และรู้สึกว่า กล้วยปิ้งนั้นดีต่อหัวใจ

Pages

Subscribe to สัตว์เลี้ยง