Skip to main content
นายกรุ้มกริ่ม
               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป                    ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้พวกเขาจะเก็บรักษามันให้เป็นอย่างดี ในฐานะความทรงจำที่แสนดีในช่วงชีวิตหนึ่ง ก่อนที่การเรียนชั่วโมงถัดไปจะเริ่มต้นขึ้นและวิถีในกรอบของสังคมเมืองก็จะกลับมาดูดกลืนชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง                   มีนาคม 2551 นักศึกษา 3 จาก 12 ชีวิต นั่งรถทัวร์สายกรุงเทพ-สตูล ครึ่งหลับครึ่งตื่นตลอดคืนเพื่อหวังให้ถึงหน้าโรงเรียนแห่งเดิมในเช้าวันใหม่ รถบขส. สายยาวหยุดลงหน้ารั้วโรงเรียนข้างกันกับบ้านคุณลุงภารโรงที่คุ้นเคย แสงอาทิตย์เริ่มส่องฟ้าให้พอมองเห็นอาคารหลังเล็ก เสาธงและสนามฟุตบอล รอยยิ้มเบิกกว้างออกอย่างไม่รู้ตัว สถานที่อันห่างไกลด้วยระยะทางแห่งนี้ แค่เพียงมองเห็นรางๆ แต่กลับรู้สึกอบอุ่นและตื้นตันเหมือนกับบ้านหลังเก่าที่จากไปนาน เด็กหนุ่มสาวย่างท้าวอย่างกล้าๆ กลัวๆ เข้าไปในเขตรั้ว เสียงรถเครื่องดังออกมาจากด้านในโรงเรียน พร้อมกับเห็นแสงไฟหนึ่งดวงกำลังตรงรี่เข้ามา คุณครูชั้นเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนมาถึงโรงเรียนแต่เช้าตรู่พร้อมต้อนรับขับสู้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มปนสงสัย ไม่นานหลังจากนั้นปิกอัพคันโตของผู้อำนวยการก็มาถึง แล้วช่วงเวลาของหน้าร้อนในปีนี้ก็มีบรรยากาศไม่ต่างจากฤดูฝนเมื่อปีกลาย คุณครูใจดีที่เคยดูแลลูกหลานจากเมืองกรุงเมื่อหลายเดือนก่อน ยังคงใจดีขนอาหารเช้า ขนม และโอวัลตินมาให้ ทักทายกันอย่างคนรู้จักสักพักใหญ่ พอหายง่วงได้ที่ก็ถึงเวลาทักทายผลงานเก่าบ้าง คุณครูเปิดห้องสมุดให้ผู้ที่เคยมาลงแรงกันไว้ได้เยี่ยมชม ปะตูหน้าต่างทาสีทองไว้ช่างคุ้นตา ชั้นหนังสือเรียงรายเป็นระเบียบ โต๊ะญี่ปุ่นและเบาะรองนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิม รูปวาดบนฝาผนังยังคงสะอาดเอี่ยมไร้รอยเปื้อน รูปที่วาดเอง สีที่ทาเอง ไม้ที่ตอกเอง หนังสือที่หามาเอง ไม่รู้ว่าจะตื่นเต้นและจะทักทายสิ่งไหนก่อนไหนหลัง แม้เวลาจะล่วงผ่านไปนานพอตัว แต่ภาพที่เห็นช่างเหมือนกับได้เปิดดูภาพถ่ายที่เก็บใส่อัลบั้มไว้อย่างน่าประหลาดใจ ชั้นหนังสือและหนังสือบนชั้นจัดวางในตำแหน่งเดิม ตุ๊กตาหุ่นมือวางไว้ครบถ้วน สื่อการเรียนรู้เก็บเข้ากล่องอย่างถูกต้อง โปสเตอร์ยังติดอยู่ด้วยกาวสองหน้า แม้แต่ดอกไม้ประดิษฐ์ก็ยังคงอวดสีสันอยู่ไม่เปลี่ยนไป เหตุไฉนเด็กประถมวัยซุกซนร่วมร้อยคนจึงรักษาของได้ดีเพียงนี้หรืออาจจะเป็นเพราะสัญญาบางอย่างมีความหมายเกินลึกซึ้งสำหรับเด็กบ้านนอกกลุ่มหนึ่ง   แปดเดือนที่แล้ว หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการจัดตกแต่ง นักเรียนทุกระดับชั้นได้เข้าใช้ห้องสมุดใหม่เป็นครั้งแรกท่ามกลางคำพร่ำบ่นของพี่ๆ ให้ดูแลหนังสืออย่างดีที่สุด พร้อมกับคำสัญญาเดิมพันอันเดียวว่า “ถ้าน้องรักษาหนังสือดีพี่จะกลับมาหา” แปดเดือนให้หลังมีพี่ๆ อย่างน้อยสามคนที่ไม่ลืมสัญญา และคนบางคนที่อิ่มเอมใจได้แต่นั่งมองไปรอบๆ ห้องแล้วคิดถึงเพื่อนๆ อีก 9 คนที่ปรารถนาให้มารับรู้ความรู้สึกและแบ่งปันร่วมกัน   คุณครูยิ้มหวานเดินเข้าออกห้องที่สามสหายนอนเล่นอยู่ “ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ เลยนะ” ครูพูดขึ้นโดยที่ยังไม่ได้ถาม เด็กน้อยคนเคยสนิทพร้อมเพื่อนรีบขี่รถเครื่องมาพบพี่ๆ ด้วยความคิดถึง พูดคุยถามไถ่ได้ความว่ามีนักเรียนมาใช้ทุกระดับชั้น เยอะมากในตอนเช้าก่อนเข้าแถว โดยมากก็อ่านหนังสือ ทั้งการ์ตูน นิทาน หนังสือภาพ วิทยาศาสตร์ และของเล่น โดยมีสมุดให้ลงชื่อเป็นหลักฐานว่ามีนักเรียนมาใช้มากขนาดไหน ครูสาวชาวใต้ยังเล่าต่ออีกว่ามีการกำหนดคาบเรียนให้นักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดนี้อาทิตย์ละหนึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งชั้น โดยมีครูคุมเด็กมาให้นั่งอ่านหนังสือและเก็บให้เป็นระเบียบ ส่วนเด็กก่อนวัยเรียนก็มาใช้เป็นที่เล่น ตลอดจนเล่นการแสดงหุ่นมือจากตู้ที่ได้สร้างไว้ เหนือกว่าคำบอกเล่าใดๆ ภาพหนังสือที่วางอยู่ตำแหน่งเดิมแต่ถูกเปิดบ่อยจนปกเผยออ้าออกหลายต่อหลายเล่ม สภาพของเล่นที่เก่าลง เบาะรองนั่งที่แบนและเปรอะเปื้อน ตลอดจนอุปกรณ์ใหม่ๆที่โรงเรียนจัดหามาเพิ่ม คงตอบคำถามที่สงสัยได้เป็นอย่างดี เหนือกว่าสิ่งอื่นใดเป็นคำตอบที่ไม่ต้องเอ่ยถาม และไม่ต้องหาเหตุผลอันลึกซึ้งมาอธิบาย   เด็กประถมจากโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นหรือไม่ โอกาสของพวกเขาจะเท่าเทียมกับเด็กกรุงเทพได้หรือไม่ การศึกษาจะพาให้พวกเขามีอนาคตที่สดใสได้หรือไม่ คงไม่ใช่คำถามที่จะต้องขบคิดในเวลานี้ และคงไม่ได้ตอบด้วยห้องสมุดน่ารักๆ เพียงหลังเดียว แต่ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งที่เกิดจากการลงไม้ลงมืออย่างเข้มแข็งของลูกหลานชนชั้นกลางที่ไม่เคยแม้แต่จะทำความสะอาดบ้านตัวเอง เหมือนมีชีวิต มีปากพูดและบอกกลับมายังพวกเขาว่าด้วยสมอง สองมือ และหัวจิตหัวใจ กับเวลาเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตนั้น พวกเขาสามารถที่จะสร้างประโยชน์ทิ้งไว้ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างมากมาย เป็นความภาคภูมิใจที่อาจจะหาไม่ได้ง่ายนักสำหรับชีวิตคนคนหนึ่งที่เกิดมา และอาจจะให้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้สำหรับบางคน...   เวลาผ่านไปค่อนวัน รถเที่ยวเดินทางกลับภูมิลำเนาจะออกในตอนเย็นวันนั้น นักแสวงหาทั้งสามคนนอนมองดูรูปถ่ายของตนที่ติดอยู่บนฝาผนังพร้อมชื่อและวันที่ที่โรงเรียนทำไว้ให้เป็นอนุสรณ์ นั่นคงเป็นสิ่งตอบแทนในทางรูปธรรมอย่างเดียวที่พวกเขาได้รับ รถของผู้อำนวยการจอดรอจะพาคนทั้งสามกลับไปส่งยังตัวเมืองอยู่แล้ว เมื่อฟ้าสว่างครั้งถัดไป พวกเขาก็จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมในเมืองหลวง โดยเก็บเรื่องราวความทรงจำ ณ แดนใต้ไว้เป็นเชื้อไฟในยามที่จิตใจสับสนไร้หนทาง และเมื่อฤดูฝนครั้งหน้ามาถึง พวกเขาหวังว่าจะพาเพื่อนรวม 12 ชีวิตกลับมารักษาสัญญาและแบ่งปันความภาคภูมิใจนี้ร่วมกัน     นายกรุ้มกริ่ม ณ แดนใต้                     เขียนขึ้นตามคำขอของเต้ หนึ่งในสามเพื่อนร่วมทาง หลังกลับจากการเดินทางวันนั้น ไม่เคยมีคนอ่าน ไม่เคยตีพิมพ์