transportation

รถโดยสารสาธารณะกับสิทธิผู้โดยสารที่ไม่ควรละเลย...

จุดเริ่มต้นของคนเดินทาง

 

ยุคที่น้ำมันแพง ราคาเบนซินกระฉูดไปแตะที่ลิตรละ 35 บาท ส่วนดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 31 บาทกว่า การเดินทางในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ รถโดยสารสาธารณะที่มีเส้นทางขนส่งประจำทางข้ามจังหวัดดูจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีงบประมาณในการเดินทางไม่มากนัก ด้วยเหตุผลเรื่องราคาที่พอจ่ายได้ ความสะดวกสบายและความปลอดภัยจากผู้ให้บริการที่มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งมีเส้นทางเดินรถจากสถานีต่างๆ ในกรุงเทพฯ กระจายไปทั่วประเทศ

 

 

การเดินทาง


1. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)" หรือ "หมอชิต" สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปภาคเหนือ สามารถซื้อตั๋วได้ที่บริเวณด้านนอกของชั้น 1 ส่วนด้านในจะเป็นของภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับชั้น 3 จะเป็นศูนย์รวมบริษัทรถสายต่างๆ ที่วิ่งสู่ภาคอีสาน


2. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย)" ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ภาคตะวันออกทั้งหมด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว

3. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้)" อยู่ที่ ถ.บรมราชชนนี จากเดิมอยู่ที่ ถ.จรัญสนิทวงศ์ บริเวณสามแยกไฟฉาย แต่ด้วยมีปริมาณจำนวนของผู้โดยสารที่ใช้บริการมากขึ้นจึงมีการย้ายไปที่ใหม่

 

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 11-17 เม.ย.จำนวนเที่ยวรถโดยสารสาธารณะของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถร่วม ถูกจัดเตรียมไว้ให้บริการเพิ่มขึ้นกว่ากว่าปรกติร้อยละ 45 โดยช่วงวันที่ 10-13 เม.ย.จากเดิม 14,976 เที่ยววิ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 21,726 เที่ยววิ่ง เพื่อให้รองรับประมาณการณ์ผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 912,492 คน[i] ซึ่งความเป็นจริงอาจมากกว่านั้น

 

ส่วนการเตรียมรับมือสำหรับการจราจรที่คับคั่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงคมนาคม กรมการขนส่ง หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมพร้อมแผนการอำนวยความสะดวก ความมั่นคง และความปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจากช่วงเทศการนี้ในปีก่อนๆ มากนัก นั่นคือมุ่งเน้นการจัดเตรียมยานพาหนะให้เพียงพอกับความต้องการ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดมีเป้าหมายในการลดยอดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ต่ำกว่าใช่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 50 ที่มีอุบัติเหตุ 4,274 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 361 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 4,805 ราย

 

 

รถโดยสารสาธารณะกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้

ข้อมูลจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ปี 2541-2549 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีรถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 3-4 พันครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด และจากข้อมูลของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่าเฉลี่ยแล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิต 0.42 ราย บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ครั้งละประมาณ 2,300,000 บาท ซึ่งในแต่ละปีมูลค่าความเสียหายจะมหาศาลถึง 8,000-9,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ปัจจัยซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสาร นั้นมาจากความผิดพลาดของคนสูงถึง 75% ยานพาหนะบกพร่อง 14% และถนนบกพร่อง 11% ดังนั้นการวางมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันในฉุกเฉินต่างๆ มาตรฐานของรถในด้านการตรวจซ่อมบำรุง รวมทั้งสวัสดิการและมาตรฐานของพนักงานขับรถ

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจคนขับ 600 คน ของ รศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ครึ่งหนึ่งของพนักงานขับรถ มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน รายได้ที่น้อยเช่นนี้คงไม่แปลกหากพนักงานขับรถจะพยายามเพิ่มรอบในการขับรถหรือหารายได้เพิ่มเติมโดยวิธีการใดก็แล้วแต่อันอาจจะกระทบถึงประสิทธิภาพในการขับขี่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 เรียนรู้การขับรถด้วยตัวเอง และ 1 ใน 5 เรียนรู้จากการเป็นเด็กรถมาก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างเสริมความมั่นใจในพนักงานขับรถแม้แต่น้อย

 

สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งผลของคดีทำให้พนักงานขับรถถูกลงโทษจำคุก และผู้ประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหลายล้านบาท ทำให้นายศิลปะชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ต้องออกมาสั่งการให้เข้มงวดในการตรวจสอบสภาพรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบกาขนส่งใส่ใจตรวจสอบสภาพรถก่อนนำมาให้บริการ รวมทั้งเข้มงวดกวดขันพนักงานขับรถให้มีจิตสำนึกและวินัยในการขับรถ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงขึ้นอีก

 

 

ความคืบหน้าของคดีอุบัติเหตุรถโดยสารครั้งร้ายแรงในปี 2550

 

1. กรณีรถโดยสารไม่ประจำทางของห้างหุ้นส่วนนาฎตะวันทรานสปอร์ต เสียหลักพุ่งชนราวคอนกรีตแล้วพลิกคว่ำลงข้างทาง ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 34 ราย ซึ่งผลของคดีได้สิ้นสุดแล้ว โดยศาลอาญาเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาจำคุกพนักงานขับรถเป็นเวลา 4 ปี และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทเสียชีวิตรายละ 500,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 32 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย

 

2.เหตุเพลิงไหม้รถโดยสารประจำทางร่วมบริการ บขส.สายที่ 25 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 31 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องพนักงานขับรถในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 29 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 ราย

 

3.กรณีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศยูโรทู (ขสมก.) สายที่ 72 สี่เสาเทเวศร์-ท่าเรือคลองเตย ระบบเบรกมีปัญหาชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟเสียหาย 19 คัน ที่แยกวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 9 รายโดยศาลได้รับฟ้องพนักงานขับรถในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีสำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย ขสมก.และบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 1,350,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 7 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย

 

4.อุบัติเหตุรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ บขส.สายที่ 590 หนองคาย-ระยอง แซงทางโค้งทำให้เสียหลักตกเขา ที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2550 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 41 ราย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้ทั้งหมด 432,101 บาท

 

5.กรณีรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ขสมก.สายที่ 149 ตลิ่งชัน-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย) เบรกแตกชนรถจอดรอสัญญาณไฟ 14 คัน ที่บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2550 มีผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตภายหลัง 1 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายกรณีผู้เสียชีวิต บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000) จำกัด ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ จำนวน 250,191 บาท โดยบิดาผู้เสียชีวิตได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประกอบการขนส่ง บริษัท กรุงเทพรถร่วมบริการ จำกัด จำนวน 4,000,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 2 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา 10 รายและติดต่อผู้เสียหายไม่ได้ 1 ราย ส่วนความเสียหายของรถยนต์จำนวน 14 คัน มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว 6 คัน อยู่ระหว่างการเจรจา 7 คัน และติดต่อผู้เสียหายไม่ได้ 1 คัน

 

6.กรณีรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ขสมก.สายที่ 6 พระประแดง-บางลำพู ขับสวนทางวันเวย์พุ่งชนรถจักรยานยนต์และร้านค้าเสียหาย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2550 มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย ศาลแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกพนักงานขับรถ 1 ปี 11 เดือน 15 วัน ส่วนค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายของทรัพย์สินผู้ประกอบการขนส่ง บริษัท ธิติวัชการขนส่ง จำกัด และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 9 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา 4 ราย

 

ข้อมูลจาก: ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ฉบับที่ 467 ประจำวันที่ 25 ก.พ. - 2 มี.ค. 2551

 

 

ช่องโหว่ของการชดเชยผู้เสียหาย

ทั้งที่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะน่าจะปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว แต่ความจริงกลับไร้หลักประกัน นอกจากนี้สาเหตุหลักๆ ของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะยังคง ซ้ำซาก' อยู่ที่สภาพรถและอุปกรณ์ในตัวรถไม่ได้มาตรฐาน คนขับไม่ชำนาญ รีบเร่งทำเวลา และที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน แต่แม้ว่าอันตรายจากการไม่ควบคุมคุณภาพรถโดยสารสาธารณะจะนับว่าหนักหนาแล้ว การพิทักษ์สิทธิผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังสาหัสกว่ามาก

 

 

ด้วยเหตุที่ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยได้รับจากกรมธรรม์ประกันภัยและกรมการขนส่งทางบกไม่มีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินติดตัวที่เสียหายหรือสูญหาย การเสียโอกาสในการเดินทาง การเสียโอกาสทำงานหารายได้ในอนาคต ตลอดจนสภาพจิตใจที่เสียไป นอกจากนั้นค่าเสียหายที่ได้รับยังแสดงถึงการไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน และเป็นการชดใช้ในเชิงสงเคราะห์' มากกว่าการ คุ้มครอง' ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้ประสบอุบัติเหตุและญาติ ด้วยจ่ายเฉพาะค่าปลงศพ และการบาดเจ็บโดยถือตามสภาพหนักเบาของการบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาล ฐานะ และรายได้ของผู้ประสบอุบัติเหตุ

"จากกรณีรถโดยสารประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 มีผู้เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 31 คน นั้น การชดใช้เยียวยาความเสียหายจะเหลือเพียงกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ตาย 4 แสนบาท บาดเจ็บมากน้อย เต็มที่ 3 แสนบาท เจ็บแล้วตายทีหลังก็ได้ 4 แสนบาท ถึงรอดก็ได้แค่นั้น ถ้ารอดแล้วอยากเรียกค่าทำขวัญ การเจรจาก็จะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยกับตัวแทนประกัน ซึ่งจะพยายามพิทักษ์สิทธิของตัวเองมากสุด ประกอบกับผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารมักไม่เข้าใจการคุ้มครอง แยกเจรจากัน และที่สำคัญต้องเดินทางมาเจรจายังสถานที่เกิดเหตุ ใช้จ่ายเงินมาก ผลสุดท้ายจึงเกิดความไม่เป็นธรรม"

 

 

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในเวทีสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจัดโดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เมื่อวันที่ 27มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้นายอิฐบูรณ์ ยังให้ข้อมูลต่อมาอีกว่า ทั้งที่กรมธรรม์ต้องจ่ายเงินแก่ผู้เสียหาย แต่หากผู้ประสบอุบัติเหตุไม่ยอมเซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็จะไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งกระบวนการนี้จะกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น เมื่อเซ็นยินยอมความไปแล้ว แม้ภายหลังผู้ประสบอุบัติเหตุจะรู้ว่าตัวเองบกพร่อง ก็ไม่สามารถไปเรียกร้องทางแพ่งได้แล้ว

 

"ในฐานะผู้บริโภค คงไม่สามารถรอมาตรฐานที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร แต่จะต้องสร้างเกราะป้องกันตนเองขึ้นมาให้ได้ การประนีประนอมยอมความไม่ได้ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุพึงพอใจได้ แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เมื่อต้องรักษาพยาบาลจากการประสบอุบัติเหตุ ค่ารักษาจากกรมธรรม์ก็จะไม่พอ ก็ต้องใช้บัตรทอง" นายอิฐบูรณ์กล่าวแสดงความคิดเห็น

 

อนึ่ง นอกจากมาตรฐานความปลอดภัยที่รัฐควรที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนที่เดินทางโดยรถสาธารณะอย่างเต็มที่แล้ว มาตรฐานการให้บริการก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ระบบขนส่งมวลชนของไทยต้องปรับปรุง เพราะการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะน่าจะเป็นสวัสดิการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้แก่ประชาชน อีกทั้งในช่วงเทศกาลเช่นนี้ยิ่งทำให้กิจการขนส่งคึกคัก เพราะจะมีผู้โดยสารจำนวนมากต้องการใช้บริการ เมื่ออุปสงค์มากเกินอุปาทานจึงเกิดเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้โดยสารในกรณีต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย

 

 

พลเมืองชั้นสอง - เรื่องจริงที่ใครก็ไม่อยากเจอ

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อถึงช่วงวันหยุดยาวอย่างปีใหม่หรือสงกรานต์ การเดินทางของผู้คนออกจากกรุงเทพฯ สู่ต่างจังหวัดจะทวีจำนวนขึ้นจากปรกติหลายเท่าตัว ผู้โดยสารหลายคนที่จองตั๋วโดยสารล่วงหน้าไม่ทันแต่ต้องการเดินทางหลายต่อหลายคนต้องมานอนรอเข้าคิวเพื่อที่จะซื้อตั๋วโดยสารแบบวันต่อวัน และก็หลายคนที่ต้องพบกับการบริการที่แย่ๆ หรือสภาพรถโดยสารที่ทรุดโทรม แต่ก็ต้องจำทนเพราะถือว่านานๆ ครั้งจะมีโอกาสกลับบ้าน จึงหวังเพียงให้การเดินทางถึงที่หมายและเป็นไปโดยปลอดภัย

 

รถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นรถทัวร์ปรับอากาศชั้น 2 (ป 2) สายอีสาน สายหนึ่ง ใช้วิธีเอาเปรียบ ล่อลวงรับผู้โดยสารในราคาเต็มปรกติ แต่ให้ผู้โดยสารลงไปนั่งเบียดเสียดกันใต้ท้องรถที่ปรกติจะเห็นว่าใช้เป็นที่เก็บกระเป๋า ซึ่งถูกดัดแปลงให้โล่ง ขนาดกว้างพอที่คนจะลงไปนั่งได้ การดัดแปลงเช่นนี้ทำให้รถโดยสารสามารบรรจุคนได้มากขึ้น แต่อาจบรรทุกเกิดน้ำหนัก และมาตรฐานความปลอดภัยที่รถคันนั่นมี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายนำมาเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต[ii] และถูกได้มีการร้องเรียนผ่านทางเว็บบอร์ดไปที่กรมการขนส่งทางบก เมื่อราวเดือนพฤษภาคมปี 2550 ซึ่งก็ได้มีคำตอบรับในการที่จะแก้ไขจากหน่วยงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยังผู้ที่เคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะสายอีสาน ได้รับการยืนยันว่ากระกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลต่างๆ

 

"เมื่อก่อน น่าจะประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว เคยต้องลงไปนั่งอยู่ที่ใต้ท้องรถของรถ ป 2 เหมือนกัน ในช่วงเทศการสงกรานต์ เพราะต้องเดินทางกลับบ้าน เลยต้องทนอึดอัดนั่งไป แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้ใช้บริการรถ ป 2 แล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่าคนแออัดและถึงที่หมายช้ามาก" ผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะคนหนึ่งกล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายที่ต่อเนื่องมายาวนาน

 

นอกจากนี้ การเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการให้นั่งเก้าอี้เสริม การให้นั่งเบียดกัน 3 คน ในเบาะ 2 ที่นั่ง ได้กลายเป็นเรื่องปรกติของการโดยสาร รถ ป 2 สายอีสาน หรืออีกหลายเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ด้วยเหตุผลจากหลายสายเป็นการเดินทางที่ไม่ไกลนักและการแบ่งปันแก่เพื่อนร่วมทาง แต่น้ำใจของคนเดินทางที่กลับกลายมาเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการรถโดยสารแสวงหาผลประโยชน์เช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งจะเข้ามาดูแลจัดการรถโดยสารสาธารณะให้มีจำนวนเพียงพอต่อความ และมีการบริการที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ บริการที่เป็นมาตรฐานทั้งในรถปรับอากาศชั้น 1 ชั้น 2 หรือรถโดยสารชั้น 3 (รถพัดลม) เป็นสิ่งที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะทุกคนอยากเห็น แม้จะยอมรับได้ว่าการจ่ายในราคาที่ต่างบริการที่ได้รับย่อมแตกต่างกับ แต่การใช้บริการรถ ป 2 และรถพัดลมก็ไม่น่าจะทำให้ผู้โดยสารต้องตกอยู่ในที่นั่งของพลเมืองชั้น 2 ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

 

จากสิทธิผู้บริโภคถึงสิทธิผู้โดยสาร

การที่เราเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถโดยสารประจำทาง ถือว่าเราได้กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าบริการเหล่านั้น และย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค[iii] รวมถึงได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน[iv] ได้ประกาศรับรองหลักความคุ้มครองผู้บริโภคใน 3 หลักใหญ่ คือ การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นความจริง การร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย และการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

 

จากกฎหมายสิทธิผู้บริโภคเมื่อนำมาประยุกต์ใช้จึงกลายมาเป็น สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการรถสาธารณะ 10 ข้อ[v] ที่ควรถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนี้

 

 

สิทธิก่อนเลือกใช้บริการ

1.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ

ข้อมูลยกตัวอย่างเช่น ประเภทและคุณภาพมาตรฐานของรถโดยสาร สิ่งที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสาร วันเวลาในการเดินทางและถึงที่หมาย ค่าบริการ รายละเอียดในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสมัครใจที่ผู้ประกอบการมีให้ รวมถึงข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบริการของรถโดยสาร คือสิ่งที่ผู้โดยสารควรได้รับรู้เพื่อตัดสินใจใช้บริการ ซึ่งหากผู้ให้บริการแสดงข้อความเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง โดยผู้โดยสารได้ตกลงจ่ายค่าโดยสารไปแล้วและมารู้ว่าตนถูกหลอกลวงในภายหลัง ผู้ให้บริการอาจมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษทั้งจำและปรับ

 

2.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และค่าบริการ

การห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าที่ทางการกำหนด

 

3.ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารได้โดยสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

การที่ผู้ให้บริการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรียกให้คนขึ้น รถด้วยการส่งเสียงดังในลักษณะที่ก่อความรำคาญให้แก่ ผู้โดยสารหรือผู้คนที่อยู่โดยรอบ หรือทำการต้อน ดึง เหนี่ยว หรือยึดยื้อผู้โดยสาร รวมทังสิ่งของเพื่อให้ไปขึ้นรถโดยสารคันใดคันหนึ่ง ถือว่าผิดกฎหมาย[vi] มีโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท

 

สิทธิขณะใช้บริการ

4.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสาร

เมื่อให้บริการรถโดยสารต้องมีคุณภาพ มาตรฐานด้านความปลอดภัยตามหลักวิชาการที่กฎหมายกำหนด มีสภาพมั่นคงแข็งแรงไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้โดยสาร และผู้ขับขี่ต้องไม่อยู่ในสภาพหย่อนยาน ไม่เมาสุราหรือเสพยาเสพติด ไม่ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ขับขี่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ

 

5.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

เมื่อให้บริการรถโดยสารต้องมีคุณภาพมาตรฐานด้านการบริการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้บริการต้องให้บริการต่อผู้โดยสารด้วยความสุภาพ ไม่เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาอื่นใดที่เป็นการไม่ให้เกียรติผู้โดยสาร ไม่สูบบุหรี่ คุยกัน หรือส่งเสียงรบกวนก่อความเดือดร้อนรำคาญในขณะให้บริการ

 

สิทธิเมื่อถูกละเมิดหรือเมื่อประสบภัย

6.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

หากเกิดปัญหาจาการใช้บริการไม่ว่าจะร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน การร้องทุกข์ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคน เพื่อจะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การร้องเรียนยังจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ และยกระดับมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะให้ดีขึ้นได้

 

7.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยด้วยความเป็นธรรม โดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ

เมื่อผู้โดยสารประสบภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ฯ และประกันภัยประเภทสมัครใจที่ผู้ให้บริการจัดให้ถือเป็นการเยียวยาเบื้องต้นที่ผู้โดยสารควรได้รับโดยทันที ไม่ควรถูกประวิงเวลา หรือถูกบังคับให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จนทำให้ผู้โดยสารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเสียหายมากยิ่งกว่าที่ได้รับ

 

8.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิด

การชดใช้ความเสียหายให้กับผู้โดยสาร ในส่วนของค่าปลงศพและค่ารักษาพยาบาลนั้นอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ควรได้รับการพิจารณาครอบคลุมถึงสิทธิอื่นๆ ที่ผู้โดยสารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้สูญเสียไปด้วย เช่น รายได้จากการประกอบอาชีพที่ต้องขาดไปขณะเจ็บป่วย หรือการชดใช้ความเสียหายให้กับทายาทที่ต้องขาดผู้อุปการะ เป็นต้น

 

9.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายตามหลักแห่งพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาค

การเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารที่ประสบภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการใช้ความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม สภาพทางการหรือสุขภาพ หรือความคิดเห็นทางการเมือง ถือเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าความเท่าเทียมกัน

 

10.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองและผู้อื่น

ข้อนี้เป็นประโยชน์ที่จะช่วย เพิ่มอำนาจการต่อรองเรียกร้อง ทำให้ข้อเรียกร้องเกิดความเข้มแข็ง มีพลัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือชดใช้เยียวยาความเสียหาได้ดีกว่าการต่อสู้เรียกร้องโดยลำพัง เหมือนดังสุภาษิตคำพังเพยที่ว่าหนึ่งคนหัวหาย สองคนเพื่อนตาย และถ้าเป็นสาม สี ห้า หก... อาจนำสู่การแก้เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าก็อาจจะเป็นได้

 

หากถูกละเมิดสิทธิ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียน รวมถึงดำเนินการฟ้องร้องหากถึงคราวจำเป็น เพื่อการแก้ไขเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยช่องทางดังนี้

 

หมายเหตุ

 

หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้โดยสารรถสาธารณะ

 

หน่วยงาน

เบอร์โทรศัพท์

การบริการความช่วยเหลือ

ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ

1584

รับเรื่องร้องเรียนหรือรับแจ้งข้อมูลในเรื่องการบริการรถขนส่งสาธารณะ

แจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของ บขส.และรถร่วม

1508

ตำรวจทางหลวง

1193

ศูนย์ร้องเรียนเรื่องขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

184

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

02-2483733-37

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และช่วยเหลือด้วยคดีของผู้บริโภค

สภาทนายความ

02-6291430

รับเรื่องร้องเรียนให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และช่วยเหลือด้วยคดีของผู้บริโภค รวมทั้งคดีความทั่วไป

สำนักงานคณะกรรมการกำกับ

และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

1186

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

1166

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาปัญหาผู้บริโภค

 

 

ค่าชดเชยตามความคุ้มครองเบื้องต้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535


๐ ค่าเสียหายเบื้องต้นคืออะไร?

ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหายดังกล่าว เรียกว่า "ค่าเสียหายเบื้องต้น" โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้

1.กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท


2.กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา)


3.กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท

 

๐ ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นคืออะไร?
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย หรือทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้

1.กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท

 

2.กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่


๐ รถ 2 คันชนกัน ผู้ประสบภัยเป็นผู้โดยสาร พ.ร.บ.คุ้มครองเท่าใด?
กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไป ชนกัน ต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด
ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย กรณีบาดเจ็บ บริษัทจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน แก่ผู้ประสบภัย กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน หรือค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) ต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี


กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หากเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท


กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และ 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย. 2546 เป็นต้นมา) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย)

 

 

 


[i] มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551

[ii] http://thaibus.50webs.com/

[iii] พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2541)

[iv] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61

[v] นำเสนอในเวทีสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม จัดโดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

[vi] ความผิดตามมาตรา 86 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522

 

Subscribe to transportation