Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
สายวันหนึ่งขณะที่เดินทางออกไปนอกบ้าน ท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งจอแจเช่นเคย สายตาเหลือบไปเห็นข้อความด้านหลังของรถแท็กซี่มิเตอร์สีเขียวเหลืองคันที่อยู่ข้างหน้า “กล้าที่จะไปให้ถึงฝัน”...แม้จะเป็นข้อความเรียบง่ายธรรมดาๆ แต่ก็เป็นข้อความที่มีความหมาย และให้ความรู้สึกแปลกตาโดยเฉพาะเมื่อมาปรากฏอยู่บนกระจกหลังของแท็กซี่เช่นนี้ ทำให้พาลอยากรู้ว่าเจ้าของข้อความซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะไม่ใช่ผู้ที่กำลังทำหน้าที่หลังพวงมาลัยของแท็กซี่คันนี้ก็เป็นได้ มีฝันอะไรแล้วได้ใช้ความพยายามหรือความกล้าไปแลกมาซึ่งความฝันของตัวเองบ้างแล้วหรือยังแม้จะได้ผ่านตาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีแต่ข้อความนั้นก็ได้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในหัวและก่อเกิดเป็นท่วงทำนองของความคิดในห้วงถัดมาความคิดที่ว่าเกาะเกี่ยวอยู่กับคำว่า “ความฝัน” และการเข้าไปหาสิ่งที่ตัวเองฝันของคนเรา ไม่ว่าจะด้วยอาการกล้าหรือกล้าๆ กลัวๆ ขัดเขินหรือค่อยเป็นค่อยไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาระหรือเป็นเสมือนเข็มทิศให้กับการค้นหาเส้นทางในการดำเนินชีวิตของคนเราทุกคนความฝันแม้โดยถ้อยคำอาจจะดูเหมือนล่องลอย เป็นนามธรรมหรือจับต้องไม่ได้ แต่เมื่อมองดูอย่างพินิจพิเคราะห์และนำมาวางเทียบเคียงกับสิ่งต่างๆ ที่ดำเนินไปของคนเรา ความฝันมักจะเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักหนักแน่น และสามารถบงการชีวิตของคนเราให้ก้าวไปในทางใดทางหนึ่งอยู่เสมอ ฉะนั้นแค่เพียงมองดูความหมายของถ้อยคำกับสิ่งที่มีผลจริงๆ ต่อชีวิต ความฝันที่เบาบางล่องลอยแท้จริงแล้วกลับมีพลังและดลดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นในชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักจะได้ยินได้ฟังประโยคทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ว่า “คุณมีความฝันหรือไม่ ทำความฝันให้เป็นจริง เดินไปหาความฝัน กล้าที่จะไปให้ถึงฝัน…” ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวในเชิงปลุกเร้าหรือกล่าวขึ้นมาลอยๆ ก็ตาม แต่คำว่าความฝันก็ไม่เคยอยู่ห่างไกลไปจากความเป็นจริงของชีวิตที่เป็นไปเมื่อมาคิดต่อถึงที่ทางของความฝันที่คนเราเก็บเอาไว้ ไม่ว่าจะในร่างกายหรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ที่แห่งนั้นย่อมจะต้องทำหน้าที่ได้ดีกว่าส่วนของการจดจำ จดจำว่าคนเราฝันอะไร เพราะอะไรจึงฝันเช่นนั้น แม้จริงๆ แล้วความฝันอาจจะไม่ต้องการเหตุผลมากก็ได้ แต่ความฝันที่ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ย่อมไม่ต่างไปจากสายป่านของลูกโป่งสวรรค์ที่ถูกปล่อยลอยให้หลุดจากมือแล้วเราเองก็มองเห็นได้แต่สีสันที่ค่อยๆ ลอยลิบหายไปจากสายตานอกจากคำกล่าวเปรียบเปรยและทักทายถึงความฝันของคนเราที่มักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอไม่ว่าจะโดยคนรอบข้างหรือจากเสียงภายในของเราเองที่ปลุกเร้าตัวเองด้วยการเชิดชูความฝันใดความฝันหนึ่งขึ้นมา ในทำนอง “กล้าที่จะไปให้ถึงฝัน” หรือไม่ คนเราควรจะหันกลับมามองและตรวจสอบความรู้สึกนึกคิด พลังในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจหรือความพยายามในรูปแบบต่างๆ ถามตัวเองด้วยความรู้สึกที่แท้จริงว่า เรามีความฝันหรือไม่และจำเป็นหรือไม่ที่คนเราจะต้องจัดวางที่ทางในชีวิตไว้ให้สำหรับความฝันหรือว่าที่ความฝันปรากฏและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา แท้จริงแล้วก็เป็นเหมือน “วาทกรรม” ทางสังคม ที่เรามักจะผ่านหูผ่านตาไปพบเข้าแล้วเก็บกลับสิ่งที่เรียกกันว่าความฝันเข้ามาเติมไว้ในชีวิตของเราเอง เพื่อไม่ให้เป็นชีวิตที่ว่างเปล่าจนเกินไปหรือขาดไร้ซึ่งทิศทางจนไม่รู้ว่าวันต่อวันจะเดินหน้าไปทางไหนหรือเอาความคิดความจริง สิ่งที่ลงมือกระทำไปฝากไว้กับสิ่งใดหรือผู้คนใดถ้าเราตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่ฝันมีเป้าหมาย มีเส้นทางของการดำเนินไปและมีจุดหมายเพื่อที่จะบรรลุ ความฝันเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นความฝันเกี่ยวกับเรื่องใดก็น่าที่จะมีน้ำหนักและไม่ล่องลอยหรือว่างเปล่าจนยากจะเติมเต็มหรือทำให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งต่างๆ จากความฝันของใครหลายคนที่แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ แต่ก็ยังอุตส่าห์ดึงเข้ามาประดับไว้เพื่อให้ชีวิตของตัวเองเป็นชีวิตที่มีความฝัน แม้จะไม่มีทางเป็นไปได้จริง นอกเสียจากมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเท่านั้นเป็นการยากที่จะตัดสินหรือมองลงไปให้ชัดว่าฝันของใครเป็นฝันที่มีน้ำหนักหรือฝันแบบไหนที่ว่ายากจะไปถึง กระทั่งไม่มีวันที่ฝันจะเป็นจริงหรือเป็นความฝันที่ลมๆ แล้งๆ เพราะฝันของคนแต่ละคนมีที่มาที่ต่างกันและมีส่วนที่เก็บงำเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ลึกล้ำแตกต่างกัน ยากที่คนหนึ่งคนใดจะมองเห็นหรือเข้าถึงความฝันที่อีกคนหนึ่งเตรียมเอาไว้เป็นเสบียงแบกหามเพื่อให้การเดินทางในชีวิตแต่ละวันของตัวเองไม่ว่างเปล่าจนเกินไปแต่ถ้าหากเราถามตัวเองแล้วว่าฝันถึงสิ่งใดอยู่ และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ฝันจะเป็นฝันที่ดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและหากทุ่มเทเรี่ยวแรงพลังลงไปเพื่อผลักดันทำสิ่งนั้นให้บรรลุเกิดขึ้นเป็นจริงได้แล้วจะทำให้ชีวิตมีด้านที่หลากหลายสมบูรณ์ขึ้น ก็ขอให้ก้าวเข้าไปหาสิ่งนั้นด้วยความกล้า และลงมือทำด้วยความเชื่อมั่นและเต็มใจ ฝันจะเกิดขึ้นหรือเป็นจริงได้หรือไม่ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นมากกว่าผู้ที่แบกเอาไว้ซึ่งความฝัน
วาดวลี
ระหว่างทุ่งนาเขียวขจีของฤดูฝน หรือ ถนนดินแดงเต็มไปด้วยผงฝุ่นฤดูแล้ง ยามหนึ่งในอดีตกาล ในความนึกคิดวัยเยาว์จำความได้ว่า ถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ฉันและเพื่อนต่างจ้ำอ้าวออกจากประตูโรงเรียนแทบไม่คิดชีวิต เปล่าหรอก เราไม่ได้เกลียดโรงเรียนขนาดนั้น ไม่ได้เบื่อคุณครู เพียงแต่เราคิดถึงพื้นที่อิสระ ที่เราไม่ต้องใส่ชุดกระโปรงแล้วกลัวเปื้อน มีที่วิ่งเล่น ได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีขนมกิน  มีคนดูแล และมีหนังสืออ่าน และพื้นที่ที่ว่านั้น ก็คือบ้านของเราเองบ้านของฉันห่างจากโรงเรียนไม่ถึงกิโลเมตร แค่ออกจากบ้านมาสัก 10 ก้าว ก็เห็นเสาธงตั้งโด่เด่ติดกับวัดของหมู่บ้าน ดังนั้น การกลับบ้านในแต่ละเย็นจึงเป็นเพียงระยะทางสั้นๆ และเวลาอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ อีกหลายคน จวบจนเมื่อเราเติบโตขึ้น ฉันเข้าเรียนต่อมัธยมต้นในโรงเรียนประจำอำเภอ ระยะทางในการกลับบ้านแต่ละวันก็ยาวมากขึ้น ระหว่างทางนั้น มีเพียงร้านหนังสือเช่าของคนจีนในตลาด ที่จะต้องแวะทุกวัน นอกนั้นเป็นบางโอกาส ที่จะไปเดินเล่นตลาดบ้าง เล่นกีฬา หรือไปเที่ยวบ้านเพื่อน การกลับบ้านเป็นกิจวัตรที่คงเดิม เวลาเดิม เส้นทางเดิม เพียงแต่เวลาเดินทางที่มากขึ้น ก็ทำให้ได้อยู่กับตัวเองและพิจารณาหลายๆ อย่างมากขึ้นไปด้วยจวบจนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อฉันไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ คำว่าบ้านนั้นห่างไปมากกว่าที่เคยห่าง เพิ่งรับรู้ว่าในวัยที่ต่างขึ้น ในเวลาที่เราโตพอจะกลับบ้านได้เองโดยไม่ต้องมีใครไปรับไปส่ง  เรากลับมีระยะทางกลับบ้านที่ไกลมากขึ้น คำว่า “กลับบ้าน” ในไดอารี่ของฉัน มีความห่างของระยะเวลาด้วยเช่นกัน จาก 6 เดือน เป็น 1 ปี จาก  1 ปี เป็น 3 ปี สิ่งพันธนาการมากมายในวัยที่เริ่มทำงาน ยิ่งทำให้คำว่า “กลับบ้านของฉัน” มีมูลค่าที่ดูจะยิ่งใหญ่ไปมากขึ้นทุกขณะ คืนหนึ่งในเดือนธันวาคม ของ 7 ปีก่อน ฉันนั่งพิงไหล่กับพี่สาว กอดแขนเขาเอาไว้แน่น อยู่บนรถไฟขบวนหนึ่งซึ่งมุ่งหน้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ ฉันใจเต้นตุบตับ เมื่อเสียงหวูดรถไฟดังขึ้นบริเวณชานชาลา  รถไฟจอดเทียบท่า อากาศยามเช้าหนาวเหน็บและสายลมพัดอ้อยอิ่ง หมอกปกคลุมเมืองจนแทบไม่เห็นภูเขา พี่สาวสะกิดให้ฉันเตรียมตัว เธอหันมาถามว่า “ตื่นเต้นไหม”“ใช่ ตื่นเต้น”ฉันตอบไปแบบนั้น ตามที่รู้สึก ทั้งที่เรายังไม่ถึงบ้านของเราหรอก เรายังจะต้องเดินทางต่อรถโดยสารอีกมากกว่าชั่วโมง และเรียกรถเข้าไปยังหมู่บ้านอีก ระหว่างทางที่นั่งอยู่บนรถสีแดง มีกลิ่นอับของเบาะที่ผ่านการใช้งานมานานนับสิบปี ฉันไม่มีความง่วง ไม่มีความเหนื่อยล้า มีเพียงความคาดเดามากมาย ว่าใครที่หมู่บ้านจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว พ่อจะแก่ลงไปมากไหม เขาจะเห็นฉันแปลกไปหรือเปล่า เราจะยังคงหยอกเล่นกันได้ไหม ครอบครัวใหม่ของเขา จะยินดีต้อนรับฉันหรือเปล่า คำถามมากมาย เกิดก่อเวียนว่ายตายดับอยู่ในรถคันนั้น บางคำถามก็โปรยเล่นออกไปนอกกระจกรถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฉันยื่นมือออกไปยังนอกหน้าต่าง มองไปยังภูเขา ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกไม้ป่า และกลุ่มหมอกควันที่ดำรงอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ด้วยใจที่มีความสุข ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ อย่างไรเสีย ฉันก็กำลังจะกลับถึงบ้านไม่กี่ชั่วโมงนี้แล้ว หลายครั้งในลำดับต่อมา สมุดไดอารี่ของฉันที่มีหัวข้อว่ากลับบ้าน นั้นมีทั้งคราบน้ำตาและรอยยิ้ม รายละเอียดในชีวิตของคนเราคงไม่เท่ากัน น่าแปลกที่บางครั้ง ฉันคิดถึงบ้านจนจับหัวใจ แต่กลับไม่ใช่เวลาที่ควรจะต้องกลับ บางครั้งก็จำเป็นต้องเดินทางเร่งด่วน ทั้งที่มีภาระมากมายรั้งท้ายไว้ บางเรื่องที่คิดว่าต้องใช้การอธิบายมากมายเพื่อให้คนที่บ้านเข้าใจ เราก็จึงนิ่งงันเสีย กาลเวลาทำให้การกลับบ้านเป็นเรื่องแปลกออกไป เราไม่ได้คิดแต่เพียงตัวเองเท่านั้น คนที่อยู่ในชีวิตเราและอยากพาเขาไปด้วย?  บางสิ่งในที่เราไม่พร้อมจะให้ใครรับรู้ ? หรือ ความฝันที่ลึกที่สุด สักวันหนึ่งฉันจะกลับมาอยู่ที่บ้าน?แล้วกาลเวลาก็พัดผ่านไป จนกระทั่งวันนี้ ฉันพาตัวเองกลับมาแล้ว แต่ก็พบว่าฉันยังไม่ได้กลับบ้านอยู่ดี พ่อของฉันแก่ลงไปมากแล้ว เขายังมีฝัน ตัวตน และความนึกคิดในแบบของเขาเอง เราพบเจอกันบ่อยขึ้น ได้มีเวลาพูดคุย ถามไถ่ทุกข์สุขกันมากขึ้น ภายใต้ร่างกายแก่ชราของเขา ทุกครั้งที่ยืนอยู่ตรงหน้าฉัน ฉันจะมองให้นานที่สุดเท่าที่มีโอกาส มองเข้าไปยังหัวใจที่ไม่เคยทะลุปรุโปร่ง จิตใจของเขาซ่อนสิ่งใดเอาไว้ คำถามเร้นลับถามฉันว่า เราเป็นคนแปลกหน้าต่อกันเพราะระยะทางห่างไกล  หรือแท้จริงแล้ว มนุษย์เราล้วนมีชีวิตอิสระต่อกัน ไม่มีสายสัมพันธ์ที่แท้จริงจะทำให้เราเข้าใจกันได้ทั้งหมด บางทีอาจจะเป็นเช่นนั้น ฉันจึงเลือกที่จะหาบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งเอาไว้อาศัย เช่นเดียวกับพี่สาว เราต่างอยู่บ้านคนละหลัง มีระยะเวลากลับบ้านที่ไม่เท่ากัน มีไดอารี่คนละเล่ม เราเขียนอะไรไว้มากมาย ภายใต้การใช้ชีวิตของตัวเอง การกลับบ้านของฉันเป็นอย่างที่ฝันเอาไว้แล้ว ระยะทางสั้นลง ได้กลับบ่อยมากขึ้น แม้จะไม่เทียบเท่ากับตอนเป็นเด็กๆ แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ว่า บางที การกลับบ้านอาจจะมีระยะทางที่เท่าเดิมอยู่เสมอ“พ่อส่งข่าวมาว่าปลาในกระชังกำลังโต และหมู่บ้านจะมีงานบุญเดือนถัดไป”ใครคนหนึ่งมากระซิบบอกข่าว เขาเพิ่งกลับบ้านมา แถมมีน้ำใจหยิบหน่อไม้ อาหารหลายอย่างมาฝากด้วย ฉันอมยิ้ม ไม่ใช่ความหิวหรือดีใจ แต่เป็นความอบอุ่นข้างในลึกๆ เมื่อคิดถึงว่า “ระยะทาง” นั้นใกล้พอที่คนจะฝากอาหารแก่กันได้ พ่อก็คงยังเหมือนเดิม ไม่มีการบอกว่าอยากให้กลับบ้านเมื่อไหร่ บางครั้งเขาเองก็เป็นฝ่ายเริ่มต้นเล่า ว่าบ้านของเขาอยู่ไกลแสนไกล มาปักหลักยังหมู่บ้านปัจจุบันก็ยังไม่มีโอกาสได้กลับบ้านจริงๆ “บ้านและครอบครัว อาจจะไม่ได้อยู่ที่เดิมไปตลอด แต่อยู่ในความหมายของสิ่งเหล่านั้น”คำพูดใครบางคนลอยมา ขณะฉันหิ้วถุงหน่อไม้กลับเข้าไปในครัว ทำอาหารง่ายๆ ในบ้านเช่าที่ดูแลอย่างดี เพียงพอจะใช้คำว่า “กลับบ้าน” ได้เสมอเมื่อจากไปไหน ถึงแม้อีกสักวัน ก็อาจจะต้องไปจากที่นี่ แสวงหาคำว่า “บ้าน” หลังใหม่ ระยะทางไกลกว่าเดิม แต่ฉันก็คงไม่เคยลืมบ้านหลังนั้นบ้านที่มีพ่อ และแม่ในอดีต บ้านไม้สีน้ำตาลที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว ต้นไม้ที่เคยวิ่งเล่นในตอนเด็กๆ ที่ถูกโค่นและถมที่ใหม่ สวนกุหลาบของแม่ที่กลายเป็นลานซักผ้า ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว คนในครอบครัวใหม่ของพ่อที่ไม่สนิทสนมกัน จะอย่างไรเสียฉันก็ยังคิดถึง และยังอยากกลับบ้านเสมอการกลับบ้านที่อาจไม่ใช่การไปยืนอยู่ ณ ที่นั้นเสมอไป แต่เป็นเคารพและคิดถึงความเป็นบ้านในวัยเยาว์ ที่หล่อหลอมให้เติบโตมาถึงวันนี้ การค้นพบว่าลึกๆ แล้ว ระยะทางก็ยังเท่าเดิมอยู่เสมอ  โดยเฉพาะระยะทางในหัวใจ ณ ที่ซึ่งเรายังเดินทางกลับไปได้เสมอ ทุกครั้ง ทุกเวลา ที่อยากกลับ.
ปรเมศวร์ กาแก้ว
“สาวไปไหน”พ่อหมายถึงอาของผม  ก็น้องสาวของพ่อนั่นเอง  คนปักษ์ใต้นิยมเรียกพี่หรือน้องสาวของตัวเองว่าสาว  อาของผมจึงมีชื่อว่าสาวตั้งแต่นั้นย่าบอกว่าอาสาวออกไปนาตั้งแต่เช้ายังไม่กลับมาหรอก  ส่วนเจ้าบอยก็ตามไปด้วย“เดี๋ยวก็ขึ้นเที่ยง”ย่าหมายความว่าสักครู่ตะวันตรงหัว  อาสาวก็กลับมาพักเที่ยง  กินข้าวกินปลาที่บ้าน  แล้วก็ลงนาต่อในตอนบ่าย   บางวันที่อาสาวนำข้าวห่อไปด้วย  ขนำกลางทุ่งข้างต้นม่วงก็เป็นที่พักหลบแดดเที่ยงได้อย่างดีไอ้หมีกับไอ้ตาลเห่าลั่นดังไปรอบบ้าน  มันกระดิกหางเล่นอยู่วุ่นวาย  ผมเห็นหญิงวัยกลางคนเดินนำเด็กชายตัวเล็กมาแต่ไกล  หญิงกลางคนอยู่ในชุดเสื้อแขนยาวผ้าถุงและสวมงอบบังแดดไว้  ส่วนเด็กชายผิวกร้านแดดอยู่ในชุดเสื้อแขนกร้ามและกางเกงขาสั้นพวกเขาเดินเข้ามาใกล้มากแล้ว  ไอ้ตาลกับไอ้หมีดีใจกันยกใหญ่มันวิ่งเข้าหาและกระดิกหางวนรอบทั้งสองคนอยู่พัลวัน“นั่นไง....สาวมาแล้ว”ย่าหมายถึงหญิงวัยกลางคนคนนั้น  ซึ่งเป็นอาของผมเองแว็บเดียวที่ผมละสายตาทิ้งจากสองคนนั่น  หันกลับมาผมไม่เห็นเด็กชายคนนั้นเสียแล้ว  เขาอยู่ในความสงสัยของผมมากขึ้นไปอีกเมื่อเขาหายตัวไป  ไม่มีใครพูดถึงเขาว่าเป็นใครให้ผมคลายความสงสัย  เสียง  “อี้อ้อ...อี้อ้อ..”  ดังมาจากบ้านหลังเล็กผมนั่งอยู่ข้างย่าส่วนบ่าวนั่งอยู่ในเปลตรงข้ามกัน    บ่าวมองผมแล้วยิ้มทำตาชวนสงสัยถึงต้นกำเนิดของเสียงนั่น  ย่ายิ้มตอบเราแล้วลูบหัวผมเบา  ๆ  “เรียนอยู่ปอไหนแล้วล่ะ  ?”หญิงชราซักถามผมขึ้นก่อน  เป็นประโยคเริ่มต้นของบทสนทนาใต้ถุนบ้าน“ป.4  ครับ  ?”“บ่าวล่ะ  ?”ผมเดาไม่ผิดว่าย่าจะถามอะไร  แม่หันมายิ้มที่มุมปากพร้อมกับที่บ่าวก็หันมายิ้มด้วย“ย่าจำไม่ได้หรอก  พวกเอ็งโตขึ้นจนย่าจำไม่ได้แล้ว”ย่าปั้นเสียงหัวเราะดังเมื่อพูดจบ“ทำไมบ้านย่าอยู่ไกลจังเลยครับ ?”ทุกคนหัวเราะแล้วก็หันหน้ามาทางผมย่าฉวยเชี่ยนหมากข้างตัว  หยิบหมากและพลูขึ้นมาจัดแต่งทาปูนสีแดงเล็กน้อยพอเป็นพิธี  แล้วยัดเข้าปากเคี้ยวหยับ  ๆ  อยู่นานสองนาน  เด็กชายทั้งสองเริ่มคุ้นเคยกับย่ามากขึ้นในขณะที่ไม่รู้ว่าปู่หายไปไหนกับพ่อตั้งแต่มาถึง  เด็กชายคนโตกว่านั่งมองดูย่านิ่งนานไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา  ส่วนผมก็จ้อไปตามเรื่องตามราวของเด็ก  ๆ  ใต้ถุนบ้านโล่งโปร่งเพดานสูงชวนลมพัดมาแผ่ว  ๆ  หยอกเราอยู่เป็นระยะ  ๆ  “บ้านย่าอยู่ไม่ไกลหรอก  แต่บ้านน้องอยู่ไกลจากบ้านย่าต่างหาก”ผมก็เขินย่าแล้วเราหัวเราะกันลั่นเอาตัวแม่บังย่าไว้  ย่าของเรามักเป็นเช่นนี้  พูดจาสนุกสนานชวนให้เราหัวเราะได้เสมอ“นั่นบอยมาแล้ว”ย่าบ้วนน้ำหมากทิ้งแล้วชี้นิ้วให้ผมดูเด็กชายที่เดินเข้ามาใต้ถุนบ้านแม่บอกว่าเราสองคนเป็นพี่น้องคุ้นเคยมาตั่งแต่เด็ก  ๆ    แต่ห่างกันตอนที่พ่อกับแม่แยกไปซื้อบ้านอยู่ในเมืองเมื่อ  4 – 5  ปีก่อน  บอยเป็นลูกของอาสาว  น้องคนสุดท้องของพ่อ...ผมเริ่มจำได้แล้วบอยมีศักดิ์เป็นน้องของผมแต่แก่กว่าผมปีนึง  ตัวดำเป็นเมี่ยงเพราะเป็นลูกชาวนาตากแดดวิ่งกลางทุ่งมาตั้งแต่เด็ก  ไม่เหมือนเราที่นั่งเล่นอยู่แต่ในบ้านตึกแถวของสังคมเมือง“ทำไมบ้านย่าถึงมาอยู่ไกลถึงที่นี่”คราวนี้พี่ชายของผมที่เป็นคนป้อนคำถามให้ย่าบ้าง“ทวดของน้อง  พ่อของย่าเองนี้แหละเล่าให้ย่าฟังว่าเราอยู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว”ย่าทำหน้ายิ้ม  ๆ  พลางเอามือหย่นเหี่ยวลูบหัวผมเบา  ๆ  “เมื่อก่อนแถวนี้เป็นป่าทึบ  เล่ากันว่าเป็นป่ารกไปถึงบึงน้ำหลังหมู่บ้านโน่น  ที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์หลายชนิด  มีทั้งเสือ  ช้าง  หมี  กวาง   จระเข้ก็มีนะ”“จริงหรือยาย!”บอยที่เพิ่งเข้ามาร่วมวงสนใจขึ้นทันทีเมื่อได้ยินว่าช้าง  ว่าเสือหญิงชราคว้ากรรไกรปอกหมากกำไว้ในมือทำทีจะปอกหมากเป็นการคั่นเวลา  เรียกความสนใจจากเด็ก  ๆ  “เร็วสิย่า ...  แล้วไงต่อ”ผมทนไม่ไหวที่จะรอฟังคำจากย่าด้วยใจจดใจจ่อ“เดี๋ยวสิวะ  ถ้าอยากฟังต่อก็เงียบ”บ่าวทำตาขลุกขลิกไปมาให้ย่าเอ็นดู  แล้วจ้องย่าด้วยแววตาจ้องมอง“บึงน้ำนั่นเมื่อก่อนก็มีสองบึง  เรียกว่า  พอยน้อย  กับ  พอยใหญ่  เป็นแหล่งของสัตว์ป่าแถวนั้นเล่ากันว่ามีชายในหมู่บ้านคนหนึ่งเข้าไปบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ที่นั่น  แล้ววันหนึ่งกายท่านก็กลับกลายเป็นพญางูตัวใหญ่สีขาวคอยดูแลปกปักษ์รักษาบึงน้ำอยู่  ไม่คอยมีใครกล้าเข้าไปเท่าไรหรอก  อีกทั้งยังกลัวหลงเพราะป่ารกทึบมากแดดยังส่องลงไปไม่ถึงพื้นดินเลย”ย่ายึกยักเหมือนหยั่งดูท่าที่อยู่พักหนึ่งเพื่อเรียกความสนใจให้ทวีขึ้นเด็กทั้งสามคนมองตากันเขม็ง ผมและบ่าวกำมือย่าไว้แน่นเพราะกลัวเรื่องเล่าของย่า“แล้วตอนนี้อีกบึงไปไหนแล้วละยาย”บอยถามขึ้นด้วยความใคร่รู้“เดี๋ยวสิยายกำลังจะเล่าต่ออยู่นี่แหละ”“เอ็งจะฟังมั้ย!”เด็กชายทั้งสามตั้งใจฟังอยู่ใต้ถุนบ้านกันต่อ  เมื่อตะวันใกล้เที่ยงเต็มทีเสียงกุกกังอยู่ในครัว  แม่กับอาสาวทำกับข้าวกันอยู่  กลิ่นหอมโชยลงมาถึงข้างล่างแล้วเด็ก  ๆทั้งสามก็มองหน้ากันเหมือนจะบอกเล่าซึ่งกันเรื่องความหิว  แต่ในใจก็อยากฟังเรื่องของย่าต่อให้จบลงเสียก่อน“ต่อมาชาวบ้านที่อยู่หมู่บ้านอื่นก็เข้ามาอยู่ด้วย  เพราะเห็นว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์  พวกเขาบุกที่ถางป่าเข้าใกล้บึงมาเรื่อย  ๆ  จนป่าหมด  บ้านคนปลูกกันอยู่เต็มไปหมดจนไม่มีใครกลัวหลงกันแล้ว”“เคยรู้เรื่องนี้ไหมเจ้าบอย ?”“ไม่ครับ...ครูไม่เคยบอก”บอยตอบคำถามยาย“แล้วบึงน้ำล่ะย่า”คราวนี้ผมบ้างที่สงสัย“ถนนกั้นกลางระหว่างบึงสองบึงมันแคบ  แคบพอ  ๆ  กับหัวคันนานั่นแหละ  ฤดูน้ำท่วมก็ท่วมมิดชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าให้ขุดออก  บึงน้ำที่นี่จึงเหลือเพียงบึงเดียวนั่นแหละ”หญิงชราทอดเสียงช้าลงเมื่อจบคำอธิบาย“จริงหรือย่า  เขาขุดถนนออกเลยหรือ”“จริงสิ..ชาวบ้านเขาช่วยกัน”ย่าทิ้งระยะหนึ่งให้หลานชายได้ผ่อนคลายอิริยาบถตามสบายก่อนเล่าต่อ“ทวดของทวดก็อยู่ที่นี่”“งั้นที่นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์สิ  ครูบอกว่า  ถ้าที่ใดมีเรื่องราวเกิดขึ้นในอดีตมาก่อน  ที่นั่นก็เป็นประวัติศาสตร์ใช่ไหม?”เจ้าตัวขี้สงสัยไม่เข้าท่าอย่างผมผุดคำถามขึ้น“ใช่แล้วน้อง..ทุกที่มีประวัติศาสตร์  ผิดที่ยาวนานต่างกัน  เรื่องราวต่างกัน  ที่เหมือนกันก็คือ  ทุกเรื่องมันเป็นอดีต”ผมทำตาโตมองไปทางบอยที่ทำตาโตอยู่เช่นกัน  วันนี้ผมรู้แล้วว่าตระกูลของผมเกิดและเติบโตมาจากที่นี่ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว  ตั้งแต่ย่ายังไม่เกิดบ้านย่ามีประวัติศาสตร์  และต่อไปวันนี้ก็จะเป็นประวัติศาสตร์“กินข้าวกันได้แล้วเด็ก ๆ”แม่ตะโกนลงมาจากครัวหลังบ้าน  มื้อแรกที่บ้านย่า เราได้กินข้าวกับต้มส้มปลาที่ปู่กับบอยจับมาได้จากห้วยข้างโรงเรียนผมชอบต้มส้มปลา...มันเปรี้ยวดี“อี้อ้อ..อี้อ้อ..” ดังขึ้นหลังมื้อกลางวันเสร็จบอยหยิบต้นข้าวที่ตัดท่อนไว้อวดผมกับบ่าวยิ้มหวานนึกถึงเสียงที่ดังจากบ้านเล็กหลังบ้านย่า“มันเป็นอะไรหรือบอย”“ปี่ซังข้าว”บอยไขข้อข้องใจของเรา  “ลองเป่าดูมั้ย”  ผมรับปี่ซังข้าวมาจากบอยแล้วลองเป่าดู  บทสรุปผมเป่าไม่ดัง  เราหัวเราะกันลั่นพรุ่งนี้บอยจะพาเราไปเที่ยวตลาดนัด
แพ็ท โรเจ้อร์
สองวันก่อนคนสนิทคราวลูกฉุดลากไปดูหนังในโรง อันเป็นพฤติกรรมที่ผู้เขียนไม่ได้ทำมาเป็นสิบปี เข้าไปก็เด๋อๆ ด๋าๆ ต้องแบบเหมือนจะจูงเข้าไป ก็น่าสนุกดี รู้สึกว่าเหมือนเมืองนอกมากขึ้นที่มีอะไรเป็นคอมพิวเตอร์หมด และค่าดูค่อนข้างถูก นอกจากว่าเมื่อเปรียบกับรายได้จริงของคนไทยแล้ว นับว่าแพงมาก ผู้เขียนเสียเงินค่าดูแบบแพงเพราะอยากรู้ว่าอย่างที่แพงเป็นอย่างไร ก็น่าสนใจดี มีที่นั่งกว้างขวางอย่างดี มีคนมาเอาใจ เอาน้ำ เอาข้าวโพดคั่วมาให้ เรียกว่าเหมือนอยู่บ้านในห้องโฮมเธียเตอร์ หากลงทุนสร้างแบบนี้ในบ้านคงไม่คุ้มสำหรับบางคน เรียกว่าถอยห่างจากโลกความจริงไปชั่วคราวเพื่อให้เป็นโลกส่วนตัวตามลำพังเท่านั้นเอง ผู้เขียนชอบเพราะนั่งสบายและมีความเป็นส่วนตัวพอควรผุ้เขียนปล่อยไก่ไปตัวเบ้อเร่อตอนที่มีเพลงสรรเสริญฯ ขึ้น ก็ไม่รู้ได้แต่นั่งเพลิน คนข้างตัวลุกขึ้นยืนจึงนึกขึ้นได้แต่ก็แทบไม่ทันเหมือนกัน เพราะตัวใหญ่ ลุกยาก ได้แต่ขำตัวเองว่า ไม่ได้ดูหนังในโรงมานานจนลืมบรรยากาศหลายๆ อย่างไปหนังที่ไปดูเป็นหนังฝรั่งอเมริกัน ที่พัฒนามาจากวิดีโอเกม มีความรุนแรงสูง คนสนิทที่ไปดูด้วยนั่งลุ้นระทึกไปตลอด บอกว่าชอบอยากดู ผู้เขียนไม่สนุกแต่ได้เรียนรู้ชีวิตเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น รู้ว่าคนรุ่นใหม่เรียนรู้ความรุนแรงแบบสุดโต่งอย่างที่เราๆ (ที่เป็นป้าๆ น้าๆ อาๆ) นึกไม่ถึง ออกจากวิดีโอเกมก็มาเจอหนัง  ในสหรัฐฯ เองมีคนพูดถึงพวกนี้ออกบ่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งเรทของหนัง หลายครั้งก็ช่วยอะไรไม่ได้ ความรุนแรง ความตัดกันแบบความกับดำ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่แรง และขายได้ในเมืองไทย ผู้เขียนเห็นเด็กๆวัยเรียนเดินไปมาตามห้าง และใช้เวลากับเรื่องความรุนแรง หลายคนบอกว่า สื่อมวลชนไม่ได้มีผลมากนักกับระบบความคิดและพฤติกรรมเด็ก เพราะมีระบบทางสังคมอื่นๆ ช่วยกล่อมเกลา ผู้เขียนไม่แน่ใจนัก ไม่ว่าไทยหรือไม่ไทย เพราะเด็กจะมีจินตนาการสูงส่ง การสร้างโลกของตัวเองในตัวเด็กมีสูงกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น ข้อมูลที่เขาได้รับเป็นฐานแต่ความสามารถในการเลือกใช้สารที่ได้จากที่ต่างๆนั้นเป็นเรื่องที่จำกัดมาก ขนาดผู้ใหญ่หลายคนเองยังเลือกใช้สาร หรือบริโภคสารยังไม่เป็นเลยน่าเสียดายที่สังคมไทยนั้น มีกลลวงทับซ้อนกันมาก ความไม่จริงถูกทำให้เป็นเรื่องจริง จนคนแยกไม่ได้ว่าอะไรคือจริง อะไรคือไม่จริง  จึงมีการพัฒนาระบบการคิดที่เป็นระบบและมีการเลือกสรรที่ดีได้ยากไม่ว่าในเด็กหรือไม่เด็ก  หลายครั้งที่ผ่านมามีผู้เรียนระดับสูงๆ หรือแม้แต่ระดับอาจารย์บางคนก็ยังไม่สามารถเข้าใจและตีความเนื้อสารระดับพื้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เพราะไม่ได้มีการฝึกฝนมาให้คิดได้อย่างเป็นระบบและซับซ้อนพอ หลายคนอ่านหนังสือก็ไม่แตก เวลาเขียนงานส่งมา ก็เป็นที่น่าปวดหัวเพราะต้องแก้ไขแทบทุกคำ แต่เพราะสังคมนี้ไม่ได้สอนคน ปัญหานี้จึงเกิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ผู้เขียนอดหนักใจกับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ การสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องเซ็นเซ่อร์เนื้อสารส่วนที่มีความรุนแรงก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไรนัก ถ้าหากว่าเราไม่ได้สอนให้เราๆท่านๆรู้ว่า หนังนั้นไม่ใช่ความจริง และหนังนั้นสร้างจินตนาการให้คน และมีผลเกิดได้ทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดการใช้อย่างไรวันนี้ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงมีการรับน้องแบบรุนแรง การทะเลาะกันแบบสาดมาม่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าในหนังในวิดีโอเกมเป็นภาพเสมือนจริง ไม่ใช่ความจริง ผลที่เกิดตามมาจากพฤติกรรมต่างๆจบในจอ แต่เรื่องจริงไม่ใช่เช่นนั้น  เพราะคนส่วนใหญ่แยกไม่ได้ ปัญหาความรุนแรงในสังคมจึงเกิดขึ้นเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าที่มาควบคุมความเป็นไปของความรุนแรงในจอ   คงเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการควบคุมได้ในโลกของพาณิชย์นิยม  อย่างไรก็ตาม อะไรที่มันดี ทำได้ยาก อะไรที่มันไม่ดี ทำได้ยาก เหมือนกับน้ำที่มักไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ  คำถามคือจะต้องทำอย่างไรที่จะบอกว่าการทำดีไม่ใช่ของยากเสมอไป และส่งเสริมให้คนรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์  แม้จะเหนื่อยแต่มันก็คุ้มค่า คงได้ดูกันต่อไป
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888 นั้นสามารถทนอยู่ในสภาพ ที่เสรีภาพถูกปิดกั้นมาได้อย่างยาวนาน รวมถึงการยินยอมให้รัฐบาลทหารใช้อำนาจในทางมิชอบ และทนอยู่ในสภาวะหวาดกลัวมาได้นานถึงเกือบ 20 ปี แล้วทำไม มาถึงตอนนี้ชาวพม่าถึงกล้าออกมา กระทำการต่อต้านรัฐบาล  ประเด็นที่น่าสนใจถัดไปคือบทบาทของพระสงฆ์ และประเด็นสุดท้ายคือบทบาทของไทยต่อเหตุการณ์นี้ ก่อนอื่นก็ต้องขอย้อนกลับมาดูที่มาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันก่อน การชุมนุมในครั้งนี้นับว่า เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เริ่มต้นมาจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ปกติเป็นประเด็นหลักในการเรียกร้องของชาวพม่า และมักจะเกิดขึ้นนอกประเทศ เพราะยากที่จะมีการรวมตัวกันได้ในประเทศ  แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะมีเหตุจากความไม่พอใจที่รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันทำไมแค่ขึ้นราคาน้ำมัน ผู้คนต้องออกมาประท้วงกันขนาดนี้เชียวหรือ คำตอบก็คือใช่ การขึ้นราคาน้ำมันสูง ขึ้นถึง 3 เท่า เท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน  ปกติประชาชนก็ยากจนอยู่แล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายค่ารถเมล์ หรือค่าพาหนะต่างๆ ที่ราคาสูงขึ้นเพื่อสัญจรไปมาหรือเพื่อไปทำงานได้ ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหารมานานเกือบสองทศวรรษ ประชาชนชาวพม่ามีแต่จะจนลงทุกวันๆ ความขัดสนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย เดิมที่ต้องทนอยู่กับความกลัว ความกดดันและขาดสิทธิในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในเรื่องข่าวสารข้อมูลและการแสดงความเห็นก็ทำให้อึดอัดมากพออยู่แล้ว  แต่นี่ยังมีเรื่องปากท้องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเพื่อการดำรงอยู่ของผู้คนเพิ่มเข้าไปอีกด้วยสาเหตุนี้ ทำให้มองเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ของการปกครองประเทศ จะเป็นการปกครองระบอบใดก็ได้หากประชาชนยังมีกินมีใช้ การออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิอื่นๆ นั้นยังมีได้น้อยกว่ามาก อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ  ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก็รู้กันดีอยู่ว่า มีการเลือกตั้งกันแต่ในนามเท่านั้น ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเลย เห็นได้ชัดว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ เสรีภาพของสื่อมวลชนแทบจะไม่มีเลยในสิงคโปร์ แต่ประชาชน สิงคโปร์กลับยินดีที่จะเป็นอย่างนั้น พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลสิงคโปร์นั้นดีมากๆ เพราะว่าทำให้ฐานะ ทางเศรษฐกิจของชาวสิงคโปร์นั้นดี มีอยู่มีกินถึงขั้นกินดีอยู่ดี ผู้คนจึงไม่ได้เดือดร้อนที่จะออกมาเรียกร้อง หาเสรีภาพอื่นๆ อีก  กรณีพม่าก็เช่นเดียวกัน ผู้คนยอมตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ อย่างยาวนาน แต่เรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องกินอยู่นั่นเองที่ทำให้คนทนไม่ได้อีกต่อไป  ต้องลุกขึ้นสู้2ประเด็นต่อมา เรื่องบทบาทของพระสงฆ์ในพม่า หากเทียบกับความคาดหวังของคนไทยจำนวนหนึ่งแล้ว ก็อาจคิดว่าคงไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะมาข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่หากดูในบริบทหน้าที่ของพระสงฆ์ในพม่า ซึ่งมีส่วนร่วมกับกิจการสังคมอยู่มาก  พระสงฆ์มีบทบาทในการร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจาก รัฐบาลให้กับประชาชนมานานพอสมควร   จึงไม่แปลกที่ครั้งนี้ พระสงฆ์จะมาเป็นผู้นำเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญประชาชนเองก็อุ่นใจที่พระสงฆ์ออกมาเป็นแกนนำ  ชาวพม่านั้นได้ชื่อว่า ให้ความเคารพและให้ความสำคัญกับพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องที่อาจคาดการณ์กันไว้ว่า  รัฐบาลคงไม่โหดร้ายที่จะใช้ความรุนแรงทำร้ายพระได้การชุมนุมโดยมีพระสงฆ์ร่วมด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่  ในเหตุการณ์ 8888 พระสงฆ์ก็มีส่วนร่วม และรัฐบาลทหารก็เคยสังหารพระสงฆ์ จับเข้าคุก หรือปราบปรามตามวัดต่างๆ มาแล้ว แต่การปราบปรามพระสงฆ์ในครั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลอาจหาความชอบธรรม ด้วยการอ้างว่าพระสงฆ์เหล่านี้ อาจจะมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนของพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี ที่แฝงตัวบวชอยู่ด้วย   ซึ่งนั่นก็เป็นการแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า สิ่งที่อยู่คู่กับรัฐบาลทหารคืออำนาจนิยมเท่านั้น หาใช่ธรรมนิยมไม่ สิ่งที่ต้องมองกันต่อไปคือ การใช้ความรุนแรงของรัฐบาลนั้นมีแต่ทำให้เรื่องบานปลายมากขึ้น  เพราะประชาชนก็คงถอยไม่ได้แล้ว การรับมือกับเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กทั้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายประชาชน 3หันกลับมามองที่ไทย ขณะที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้กับเพื่อนบ้านของเรา   ปฎิกิริยาจากทั่วโลกส่งไปยัง ประเทศพม่ากันแล้ว  ประเทศไทยในยุคที่มีรัฐบาลทหารเป็นผู้นำเช่นกันกลับเฉยๆ  ยังมิได้ริเริ่มปฎิกิริยาใดๆ ต่อพม่าเลย ด้วยสาเหตุสะท้อนใจว่า “ช่างเหมือนกันกับเราเหลือเกิน” หรืออย่างไรในภาคประชาชน คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรร่วมกับกลุ่มต่างๆ ทั้งนักศึกษา กลุ่มแรงงานพม่า ในประเทศไทย ออกมาเดินขบวนกันที่สถานทูตพม่า มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ยุติการกระทำที่รุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม  ซึ่งก็มีเสียงจากประชาชนบางคนที่ค่อนขอดกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องนี้ในทำนองว่า “ทำบ้านตัวเองให้ดีเสียก่อนเถอะ แล้วค่อยยุ่งเรื่องชาวบ้าน”  ซึ่งแม้จะเป็นการมองที่คับแคบ ไปหน่อย แต่ก็มีส่วนถูกอยู่บ้างนอกจากนี้ มีพระสงฆ์ไทยออกมาเจริญภาวนาให้แก่บรรดาพระสงฆ์ในพม่า เพื่อให้ประเทศพม่า เกิดความสงบสุขโดยเร็วด้วย  การแสดงออกต่อสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน แต่ยังไม่มีการ ริเริ่มปฏิบัติการใดๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลไทย ในฐานะเพื่อนใกล้ชิดและในฐานะสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งในปีหน้านี้ไทยก็จะเป็นประธานด้วย นอกจากที่ไทยจะไม่ได้แสดงท่าทีหรือจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้แล้ว ในวันที่เริ่มมีการปราบปรามโดยใช้กำลังและมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นแล้วนั้น  ท่านประธาน คมช. ก็ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในทำนองว่า สถานการณ์คงไม่รุนแรงมากหรอก ภาพที่เห็นว่ามีการทำร้ายผู้ประท้วง นั้นอาจเป็นเพราะผู้ประท้วงนั้นยั่วยุเจ้าหน้าที่ก็เป็นได้   ซึ่งก็เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่ได้สร้างความ ประหลาดใจให้แม้แต่น้อย แต่ยิ่งเป็นการยืนยันว่า นี่คือวิธีคิดของคนพันธุ์เดียวกัน ถึงแม้ว่าได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นว่า ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับบางประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ตอนนี้อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ  เสียจริง เพราะอย่างน้อยเราคงจะไม่ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว และประเทศไทยคงจะกล้าหาญที่จะริเริ่มทำอะไรได้มากกว่านี้ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำมากกว่านี้ในการร่วมเรียกร้องให้เพื่อนบ้านของเรามีประชาธิปไตย หรือไม่ใช้ความรุนแ แต่ตอนนี้คงได้แต่เพียง ก้มหน้าหลบๆ เลี่ยงๆ และพูดอะไรออกไปก็คงทำได้เพียงพอเป็นพิธีเท่านั้น... ภาพประกอบบทความนำมาจาก: ข่าว-ชมภาพพระพม่านำประชาชนนับแสนเดินขบวนใหญ่ต้านรัฐบาลทหาร (ประชาไท)  
ภู เชียงดาว
  “การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิตทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่าจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”จากหนังสือ “ความเงียบ”จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปลผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง แล้วก็รอการผลิบานของต้นไม้มาถึงตอนนี้ สวนบนเนินเขาของผมมีต้นไม้ในสวนไม่ต่ำกว่ายี่สิบชนิดในเนื้อที่ไม่กี่ไร่เมื่อยามตะวันเริ่มอ่อนแสงค่อยหย่อนตัวลับดอยหลวงเชียงดาวทางทิศตะวันตก ผมชอบเดินย่ำไปในสวนยามเย็น สัมผัส ลูบคลำต้นไม้ในสวนไปช้าๆ ทีละต้นๆ พบว่ามีต้นไม้อยู่หลากหลายไล่มาตั้งแต่มะม่วง ลำไย มะพร้าว กะท้อน ขนุน มะยงชิด ฝรั่ง  พุทรา ไผ่ กล้วย มังคุด เงาะ อะโวคาโด มะไฟ มะเฟือง ชมพู่ มะละกอ มะเกี๋ยง มะม่วงหิมพานต์ สะตอ แค ชะอม ฯลฯเป็นภาพที่งดงามและเป็นสุข เมื่อมองเห็นทุกๆ เนื้อที่ของสวนเล็กๆ ถูกเบียดเสียดด้วยกล้าไม้ ปลูกแทรกกันไปมาอยู่อย่างนั้น ยิ่งยามมองเห็นกล้าถั่วแป๋ที่พ่ออนุญาตให้คนชนเผ่าลาหู่เข้ามาปลูก เริ่มงอกงามชูช่อสดเขียว รอการเลื้อยคลุมไปทั่วผืนดินและสวน ยิ่งดูว่าทุกอย่างช่างกลมกลืนกันไปหมด     ในขณะที่สวนของชาวบ้านส่วนใหญ่ จะพากันลงไม้ผลเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปจนเต็มสวนของพวกเขา เมื่อนั่งอยู่บนเนินเขา ทอดสายตามองออกไปยังอีกเนินเขาอีกฟากฝั่งหนึ่ง จะมองเห็นสวนส้ม สวนลำไย สวนส้มโอ ยืนต้น เข้าแถว เรียงรายเป็นแถวลึกจากตีนดอยเข้าไปจนจรดแนวป่าใช่ ดินแถวหมู่บ้านของผม เป็นดินร่วนปนหิน จึงเหมาะกับการปลูกไม้ผล ปลูกอะไรก็ขึ้นงามไปหมด โดยเฉพาะพื้นที่บนเนินเขา คนแถวนี้มักจะปลูกลำไยกันเยอะ กระทั่งเริ่มมีการปลูกส้มเขียวหวาน กันเป็นทิวแถวแต่ก็นั่นแหละ ดินดำ น้ำชุ่ม ปลูกแล้วได้ผลมากเพียงใด หากชาวบ้านมุ่งหวังปลูกไว้เพื่อขาย ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เมื่อราคาลำไย ส้มเขียวหวาน ต่ำลงๆ อย่างเห็นได้ชัดยกตัวอย่าง ราคาลำไย ตอนนี้ เกรด AA ราคาอยู่ที่ 8-10 บาทต่อกิโล ต่ำสุดอยู่ที่ 4- 5 บาทต่อกิโลเห็นชาวสวนก้มหน้าก้มตาเก็บลำไย เด็ดเคว็ดลำไยใส่ลังทีละเม็ดๆ แล้ว รู้สึกเศร้า“ราคาร่วงลงมาขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกำไร และไม่ต้องพูดเรื่องค่าแรงตัวเองที่ลงทุนลงแรงไปในแต่ละวันหรอก” เสียงชาวสวนลำไยบ่นครวญทำให้นึกไปถึงคำแนะนำของ อ.ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ที่เขียนบทความเกี่ยวกับลำไย ไว้ใน นสพ.เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา“...ลำไยเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตล้นตลาดตามฤดูกาล ไทยขาดผู้บริหารจัดการที่จะทำให้ชาวสวนขายผลลำไยออกจากสวนในราคาที่ดีได้  เป็นอย่างนี้มาหลายปีต่อเนื่องกัน  ชาวสวนจึงยากจนลง  สมควรคิดหารายได้ทางอื่นมาเสริมรายได้จากการผลลำไย เช่น การเพาะเห็ดห้าและการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนสวนลำไยให้เป็นไร่นาสวนผสม หรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง  ซึ่งทำได้หลายทาง เช่น  ปลูกไผ่  กล้วย  พืชสวนครัว ทดแทนลำไย ปีละ 5-10%  ทำไปเรื่อยๆ ทุกปี จนกว่าราคาลำไยที่ขายออกจากสวนจะดีขึ้น...”และทำให้นึกถึงแฟนผู้อ่านคอลัมน์ของผมอีกท่านหนึ่ง...ชื่อคุณพิชญ์ตะวัน ที่ส่งข่าวเรื่องพืชเรื่องสวนมาให้ผมเมื่อสัปดาห์ก่อน“...มีข่าวดีจะบอก หากคุณภูอยากปลูกพืชหลายเชิง ไม่ใช่เชิงเดี่ยวที่ไร่ ขอให้พิจารณา มะละกอ(ตระกูลแขกทั้งหลายราคาดีม๊าก มาก) ช่วงก่อนที่สวนตัดขายราคามะละกอดิบ อยู่ที่ 6 บาท/ กิโล หากสุก แม่ค้ารับ 12-14 บาท/กิโล ตอนนี้ราคาลงมาบ้างอยู่ที่ 4 บาท/กิโลแต่สุกรับที่ราคาม 8-10 บาท/กิโล” “แต่บ่ต้องกังวล เพราะมะละกอ ทิ้งไว้อยู่กับต้นได้นาน รอราคาขึ้นมาค่อยดัดขายก็ได้แหล่งขายเมล์สอบถามได้เน้อ...”คุณพิชญ์ตะวัน ยังแนะนำอีกว่า หากอยากปลูกพืชยืนต้นที่อยู่โยงคงกระพันให้ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์..มีแหล่งรับซื้อไม่อั้น ราคาประกันอยู่ที่ 12บาท/กิโล “ฝากข่าวมาบอก เล่าสู่กันฟังเผื่อสนใจ๋...”เออสินะ...น่าสนใจดีครับ และไม่น่าเชื่อว่า พืชสวนอย่างมะละกอ มะขาม ที่หลายคนไม่ค่อยสนใจหรือมักมองข้ามไป กลับมีราคาดีกว่าราคาลำไยที่ต้องคอยประคบประหงม ลงทุนลงแรงดูแลอยู่ตลอดเวลาผมกลับไปสวนครั้งล่าสุด, หลานชายที่ทำงานโครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน ขนกล้ามะขามเปรี้ยวเกือบสองร้อยต้น มาให้ถึงในสวน บอกว่า เพิ่งไปติดต่อขอรับกล้ามะขามที่เจ้าหน้าที่เพาะเอาไว้ที่อำเภอพร้าว ผมตั้งใจไว้ว่า วันใดฝนตกซึงติดต่อกันอีกหน จะรีบกลับไปปลูกมะขาม กับไผ่ตง ตามแนวรั้วรอบๆ สวนมาถึงตอนนี้ ผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...แต่ผมรู้และเริ่มเห็นอะไรบางอย่างชัดเจนมากขึ้นในชีวิต เมื่อพลิกกลับไปอ่านถ้อยคำของ จอห์น เลน อีกครั้ง... “การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิต ทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์ คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่า จะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”    หมายเหตุ : งานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ใน “พลเมืองเหนือรายสัปดาห์” ผู้เขียนขออนุญาตนำมาลงในประชาไท,อีกครั้ง.
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ เริ่มอพยพลงไปยังดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำตามริมน้ำของเพื่อขุดรูหลบลมหนาวและวางไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปถึงเดือนเมษายน นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมฝั่งของของคนทำการเกษตรริมของก็เริ่มขึ้นในระหว่างที่น้ำเริ่มลดลงเรื่อย ๆ นั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่งก็เริ่มลงมือจับจองพื้นที่ในการปลูกพืชผักตามดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำและริมตลิ่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การทำการเกษตร เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมตลอดฤดูฝนแล้วมีการสะสมของตะกอนต่าง ๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ เมื่อน้ำลด พื้นดินที่โผล่พ้นน้ำซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายมีความร่วนซุย และอุดมไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะการพืชผักสวนครัวทำให้พืชผักริมแม่น้ำของงอกงามและโตเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและดูแลรักษา การใช้ประโยชน์จากที่ดินริมของของชุมชนที่อยู่ริมน้ำ จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีการผูกขาด การยึดครองเป็นของตัวเองด้วยระบบเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่ว่าการจะใช้ประโยชน์จากที่ดินริมน้ำที่โผล่พ้นน้ำนั้นต้องทำการบุกเบิกเอง และถ้าใครบุกเบิกที่บริเวณใด ผู้นั้นก็มีสิทธิที่ใช้ประโยชน์ และสามารถสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ไม่มีการซื้อขายกัน หากใครไม่มีที่ดินที่บรรพบุรุษบุกเบิกไว้ให้ก็สามารถขอแบ่งพื้นที่จากคนอื่นได้ หรือถ้าหากครอบครัวใดไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่บุกเบิกซึ่งได้รับการสืบทอดกันมา คนอื่นก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่บอกกล่าวเป็นการขออนุญาตจากคนที่เขาเคยใช้ประโยชน์มาก่อนหน้านั้น ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติและเคารพต่อกัน คนในชุมชนริมฝั่งของจะรับรู้กันโดยปริยายว่าที่ดินริมตลิ่งบริเวณไหนเป็นของครอบครัวใด โดยไม่ต้องมีเส้นแบ่งหรือเอกสารสิทธิ์ใด ๆ คงไม่แปลกนักถ้าเราจะเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า "พื้นที่หน้าหมู่" พื้นที่หนึ่งที่คนปลูกผักริมน้ำของได้ใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่สันดอนทรายกลางแม่น้ำของ การทำเกษตรบนดอนทรายนี้ผู้ที่ทำต้องมีการแบ่งพื้นที่ในการทำให้แก่กันและกัน เมื่อถึงเวลาน้ำเริ่มลดลงคือในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ดอนทรายจะโผล่พ้นน้ำชาวบ้านก็จะชักชวนกันไปแบ่งที่ดิน ใครที่ได้มากและมาก่อนก็จะแบ่งพื้นที่ๆ ตัวเองได้ให้กับญาติๆ ของตัวเอง คนที่ต้องการผักจะไดกันทุกคน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้แต่มีความต้องการที่จะทำการเพาะปลูกเมื่อน้ำลดลงมากดอนทรายโผล่ขึ้นมาอีกก็จะมีการไปจับจองในภายหลัง“การแบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนมากการแบ่งจะใช้การขีดเส้นลงไปบนดินหรือใช้ไม้ปักเป็นหมุดหมายเท่านั้นเอง” แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านหาดบ้าย ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทลื้อมีวิธีการจัดสรรที่ดินบนดอนทรายไม่แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น โดยที่ยังคงยึดหลักว่าพื้นที่เหล่านี้เป็น “พื้นที่หน้าหมู่” ในการแบ่งพื้นที่นั้น ชาวบ้านมีวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน ชาวบ้านที่นี่ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรบนดอนทรายทุกปี โดยเมื่อน้ำลด คนที่ต้องการทำการเพาะปลูกก็มาขีดเส้นแบ่งสรรที่ดินกัน ในแต่ละปีใครที่จะทำก็จะมาร่วมกันแบ่งสรรและแผ้วถาง ไม่มีการแบ่งสรรไว้ตายตัว เมื่อถึงฤดูน้ำลดการขีดเส้นแบ่งที่ดินก็จะทำกันใหม่ทุกปีผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกบนที่ดินริมของส่วนมากเป็นพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วลิสงผักกาด คะน้า สลัด คื่นช่าย ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ บริเวณเกาะแสนตอที่บ้านหาดบ้าย ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกถั่วลิสงและถั่วแขก ที่นิยมปลูกถั่วลิสง เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นหาดทรายกว้างขวางเหมาะสำหรับการปลูกถั่วลิสง และถั่วลิสงยังเป็นพืชที่ดูแลค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีในการดูแลรักษา ทำให้ต้นทุนการปลูกถั่วลิสงไม่สูงนัก ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ามากกว่าการปลูกอย่างอื่น ส่วนมากคนที่ปลูกถั่วลิสงบริเวณเกาะแสนตอนี้จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ และเวลาขายผลผลิตแล้วเงินที่ได้คนแก่ก็จะเก็บเอาไว้ใช้เอง ซึ่งถือว่า หาดทรายบริเวณเกาะแสนตอที่โผล่พ้นน้ำหลังน้ำลดเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกแห่งหนึ่งสำหรับคนแก่บ้านหาดบ้าย แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์ ชาวบ้านหาดบ้ายกล่าวว่า “ส่วนมากจะปลูกถั่วดินบนดอน ปลูกถั่วก็ปลูกเอาไว้กินบ้าง ขายไปบ้าง ขายก็ไม่ได้เงินมากหรอกก็พอได้ใช้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ที่ปลูกถั่วเพราะมันรักษาง่ายไม่ต้องใส่ยาปลูกไว้ก็รอเวลาเก็บอย่างเดียวเลย”ระหว่างที่ปลูกถั่วดูแลรักษาถอนหญ้า คนปลูกผักก็จะหาปลาไปด้วย แต่เครื่องมือหาปลาที่ใช้ในการหาปลานั้นเป็นชนิดที่หาอยู่ริมฝั่งน้ำและไม่หนักมาก เช่น ตกจ๋ำ (ยกยอ) ช้อนกุ้ง ปลาสร้อย ปลาตัวเล็ก จากร่องน้ำขนาดเล็กที่ไหลเซาะตามดอนทราย ห่างจากฝั่งไม่มากตรงน้ำตื้น หรืออยู่ริมตลิ่ง ช่วงหลังออกพรรษาเป็นต้นไป เป็นช่วงที่ปลาเล็กว่ายขึ้นมาตามลำแม่น้ำของเป็นช่วงน้ำลด ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและคนแก่จะใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ ชาวบ้านเล่าว่า “เมื่อ ๑๐ ปีก่อนด้วยวิธีการนี้สามารถหาปลาได้ประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลกรัมในแต่ละวัน”นอกจากบริเวณบ้านหาดบ้ายแล้วที่บ้านเมืองกาญจน์ ก็ยังมีคนปลูกพืชบนดอนทรายริมฝั่งของเช่นกัน แต่พืชที่นิยมปลูกจะเป็นพืชจำพวกกะหล่ำปลี ผักกาด พืชผักสวนครัว โดยส่วนใหญ่เจาะจงปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งในแปลงเดียวกันเป็นบริเวณกว้างมากกว่าการปลูกแบบผสมผสาน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีที่ให้ผลผลิตดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจึงปลูกกันเป็นบริเวณกว้าง บางครัวเรือนปลูกเฉพาะกะหล่ำปลีเพียงอย่างเดียวผลผลิตที่ได้จากสวนผักริมน้ำในแถบตำบลริมของและตำบลเวียง อำเภอเชียงของส่วนหนึ่งจะถูกนำไปขายยังตลาดเช้าของเทศบาลเชียงของ และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งคนปลูกผักต้องตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งนำผักออกไปวางขายที่ต้องนำผักไปขายแต่เช้าขนาดนั้น เป็นเพราะแม่ค้ารายย่อยที่มารับซื้อต้องนำผักไปขายต่อยังชุมชนต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งต้องให้ทันขายในตอนเช้า นอกจากแม่ค้ารายย่อยที่นำไปขายต่อแล้ว ยังมีผู้ที่ซื้อไปทำอาหารขายอีกทอดหนึ่งด้วยเช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ผักบางส่วนคนปลูกผักจะนำไปขายยังตลาดเล็กๆ ในชุมชน เช่น ตลาดเย็นบ้านหาดไคร้ เป็นต้น คนปลูกผักบางส่วนได้ขายผักให้กับแม่ค้าในชุมชนที่รับซื้อตามสวนผัก ไม่ได้นำไปขายเองที่ตลาด ซึ่งแม่ค้าอาจรับซื้อผักจากคนปลูกผักหลายๆ คนรวมกันแล้วนำไปขายต่อ ในตลาดสดยามเช้ามืดของเทศบาลเชียงของจึงคราคร่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ขายถือได้ว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดกลางสำหรับพืชผักก็ว่าได้ เพราะสินค้าที่โดดเด่นและมีปริมาณมากที่สุดในตลาดในช่วงหน้าหนาวจะเป็นสินค้าประเภทพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะผักที่ปลูกริมของและริมแม่น้ำสาขาของแม่น้ำของ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อเป็นอย่างมากถึงขนาดต้องมีการจองไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากเป็นผักที่งาม มีความสดใหม่และปลอดภัยจากสารเคมีด้วยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าผักจากที่อื่นๆ แม่ไหว บุญหนักชาวบ้านหาดไคร้กล่าวว่า “ส่วนมากผักที่ปลูกก็เอาไปขายเองที่ตลาดเชียงของ แต่บางทีก็มีคนมาซื้อถึงสวน บางวันก็ขายแทบไม่ทันเพราะมีคนซื้อมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าผักที่ตัวเองปลูกจะเป็นที่ต้องการของคนมากมาย คงเป็นเพราะผักที่ปลูกไม่ใส่ยาคนจึงมาซื้อไปกินกันมาก”เศรษฐกิจของการทำเกษตรริมของการปลูกผักริมของจึงถือว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนชุมชนริมของได้เป็นอย่างดี รายได้ต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ บาท หากวันไหนมีผักมากก็ขายได้ ๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ บาท ส่วนแม่ค้าคนกลางที่รับซื้อผักจากคนปลูกมาขายก็ได้กำไรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ดังเช่น แม่อุ้ยเฮือนแก้ว อายุ ๗๐ ปี ชาวบ้านวัดหลวง แม่ใหญ่จะรับซื้อถั่วลิสงและมันมาต้มขาย บวกกับพืชผลที่แม่อุ้ยปลูกเอง เช่น กล้วยที่นำมาขาย ก็สร้างรายได้ประจำให้กับแม่อุ้ยเฮือนแก้ว คนแก่ซึ่งอยู่กันสองคนกับพ่ออุ้ยไม่สามารถไปประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงตนได้แล้วจึงอาศัยการซื้อผักและปลูกผักขายเลี้ยงชีพ การขายถั่วลิสงจะมีด้วยกัน ๒ แบบ คือ แบบที่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อหรือมาสั่งไว้ก่อนล่วงหน้าเมื่อถึงช่วงที่เก็บถั่ว ราคาขายจะตกอยู่ที่ถังละ ๗๐ ถึง ๘๐ บาท (ราคาขายในปี ๔๖) โดยราคาขายนี้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดพ่อพรมมา ศักดิ์สิทธ์ชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟังว่า “ผักที่ปลูกนี้ก็ขายได้หลายบาทอยู่มันดีตรงที่เราไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ปลูกนี้แหละจึงพอลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่ถ้าเสียค่าเช่าที่คงไม่มีกำไร แต่ไม่รู้เหมือนกันว่า ๓-๔ ปีข้างหน้าจะได้ปลูกหรือเปล่า เพราะเขาจะเอาที่ริมของไปทำทางเดินหมดแล้ว”แบบที่ ๒ คือคนปลูกเก็บถั่วลิสงเอาไปขายเอง บางคนอาจจะแกะเปลือกถั่วออกแล้วตากถั่วจนแห้งค่อยเอาไปขายก็มี การปลูกถั่วลิสงบนดอนทรายในแต่ละปีจึงทำรายได้ให้กับคนปลูกได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาทุนที่ต้องซื้อเชื้อถัวมาปลูกแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า แต่สำหรับคนที่มีเชื้อถั่วอยู่แล้วบางคนก็ลงทุนไม่ถึง ๑,๐๐๐ บาทก็มี รายได้ขนาดนี้ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับคนที่รู้จักการพึ่งพาแม่น้ำแบบไม่เบียดเบียนแม่น้ำ“ในปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมาที่ดินริมน้ำของเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนก็อยากปลูกมากขึ้นทั้งยังมีการแปลงถนนให้คนเดินบนตลิ่งอีกด้วยที่ดินจึงน้อยลง ปีที่ผ่านมาก็ลงทุนในการปลูกผักไปหลายพันบาท ไม่ได้คิดว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ แต่คิดเพียงว่าคงได้ทุนคืนแน่นอน” ป้าบัวจันทร์ จำปาใจชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟัง การเกษตรริมแม่น้ำของถือว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตให้กับหลายครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่ปลูกผักเท่านั้น คนอื่นๆ ในชุมชน ทั้งคนขาย และคนซื้อผักก็ได้รับประโยชน์จากการทำการเกษตรแบบนี้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก็จะพบว่ามีคนในแขนงอาชีพอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์ด้วยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมเช่นกันการทำเกษตรริมแม่น้ำของเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในอำเภอเชียงของมาช้านานแล้ว แต่ ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาสวนผักริมน้ำของก็เริ่มหายไป เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมานั้นชาวบ้านรู้ดีว่าในฤดูแล้งโดยธรรมชาติของแม่น้ำของ น้ำจะลดลงและรักษาระดับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฤดูฝนในปีถัดไป เมื่อน้ำในแม่น้ำของขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ กระแสน้ำและทิศทางน้ำก็เปลี่ยนไป ภายหลังจากมีการระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อนในประเทศจีนก็ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ ของแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรในแม่น้ำของที่ชาวบ้านได้เคยพึ่งพาก็ค่อยๆ ถูกทำลายหายไป เช่น ไก ปลา พืชผักธรรมชาติ และที่ดินริมตลิ่ง ในขณะที่ชาวบ้านปลูกพืชผักไว้ตามริมตลิ่ง บางแห่งตลิ่งก็พังลง เพราะตลิ่งริมแม่น้ำของนั้นเป็นดินร่วนปนทราย เมื่อตลิ่งพังพืชผักที่ปลูกไว้ก็ร่วงลงน้ำตามไปด้วย หรือบางพื้นที่ก็เกิดหาดทรายงอกขึ้นมาใหม่แทนของเก่า ซึ่งโดยเงื่อนไขทางกฎหมายในอดีตแล้ว เกาะแก่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นคนไทยไม่สามารถที่จะมีสิทธิในการลงไปทำอะไรในพื้นที่นั้นได้เลย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านบริเวณนี้เป็นไปด้วยความอยากลำบากเป็นอย่างมาก อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปลูกพืชผักริมของลดลงไปมากคือ มีการพัฒนาพื้นที่ริมตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณบ้านหาดไคร้ มีการเทคอนกรีตทับตลิ่งเพื่อสร้างถนน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งใน ๒-๓ ปีนี้กระแสน้ำของเปลี่ยนแปลง ขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตลิ่งบางแห่งทรุดตัวลงมา โครงการพัฒนาดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไป ไม่มีใครจะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตจะเหลือพื้นที่สำหรับการทำเกษตรริมของอันเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนริมฝั่งของอีกหรือเปล่าการปลูกพืชผักริมของในบริเวณอำเภอเชียงของปัจจุบันนี้แม้ว่าจะเหลือน้อยลงก็ตามที แต่หลายครอบครัวที่แม้ว่าที่ดินที่ตนเคยใช้ประโยชน์ได้ถูกโครงการพัฒนาเข้ามาแทนที่ ก็ยังพยายามย้ายไปบุกเบิกที่ดินริมของในที่ใหม่เพื่อเพาะปลูกสำหรับยังชีพ หลายครอบครัวย้ายมาหลายที่แล้ว เช่น ครอบครัวของ แม่อุไร ชาวบ้านหาดไคร้ ได้ย้ายที่ปลูกผักจากบริเวณหน้าสถานีตำรวจน้ำมาปลูกผักอยู่ในบริเวณถัดมาอีก และต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องย้ายไปอีกกี่ครั้ง และที่สำคัญจะมีที่เหลือให้ย้ายไปได้อีกหรือไม่ก็ไม่รู้ หากไม่มีที่ดินตรงนี้รายได้ของหลายครอบครัวย่อมต้องขาดหายไปด้วย และแน่นอนบางคนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาอาชีพใหม่เพื่อดิ้นรนแสวงหาช่องทางของการทำมาหากิน “ช่องทางของการทำมาหากินอย่างอื่นหากใครมีเงินทุนก็สามารถที่จะทำได้ง่าย แต่คนที่เคยหาอยู่หากินอย่างนี้มานานให้พวกเขาเปลี่ยนอาชีพไปลงทุนทำอย่างอื่นก็คงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะทุนมันไม่มี” แม่อุไรกล่าวเพิ่มเติม หากธรรมชาติและระบบนิเวศน์ของแม่น้ำของไม่ได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่นนี้แล้วคนในชุมชนริมฝั่งน้ำก็คงได้มีที่ดินในการปลูกพืชผักของตนเองต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำของก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาเหล่านั้นทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้คนทุกคนได้มากที่สุดและการพัฒนานั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ว่าปีนี้ทำเสร็จแล้วปีหน้างบมาใหม่ก็รื้อทำกันใหม่อย่างที่เป็นอยู่ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำย่อมรู้จักการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเป็นอย่างดี การทำเกษตรริมของก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน แม้จะต้องเฝ้ารอให้น้ำลดลงเพื่อว่า หาดทรายจะได้โผล่พ้นน้ำ แต่การเฝ้ารอของคนริมน้ำก็เป็นการเฝ้ารอที่ไม่สูญเปล่า ในอนาคตข้างหน้าใครเล่าจะตอบได้ว่า การเฝ้ารอเพื่อทำการเกษตรของผู้คนริมฝั่งน้ำของจะคงอยู่ หรือว่าเป็นเพียงการเฝ้ารอที่สูญเปล่า ขณะที่กระแสการพัฒนาถาโถมเข้ามาสู่แม่น้ำของอย่างรวดเร็ว และมันได้กลายมาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำของไปเสียแล้ว บางทีในอนาคตคนริมน้ำของอาจไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ หรืออาจไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาที่ดินริมตลิ่งของแม่น้ำของอีกก็เป็นได้ เมื่อเวลานั้นมาถึงต่อให้จิกุ่งจะลงดอนมากมายขนานไหนมันก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมของเดินทางมาถึงแล้ว
สุเจน กรรพฤทธิ์
“See Ankor and die”อาร์โนลด์ ทอยน์บีนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ- 1 -มิถุนายน 2550 , เมืองเสียมเรียบ"บรมวิษณุโลก" หรือ "นครวัด"ที่ชั้นบนสุดของปราสาทนครวัด ผมพบว่ารูปอัปสรายามต้องแสงอาทิตย์ที่สาดมาทางทิศอัสดงคตนั้นงดงามอย่างน่าตื่นตะลึง แต่พอตัดสินใจยกกล้องดิจิตอลขึ้นบันทึกภาพ ก็จะพบว่าเลข “0” สว่างวาบอยู่บนหน้าปัด - - บอกสถานะกล้องว่าไม่สามารถบันทึกภาพได้อีกต่อไปเว้นแต่จะลบภาพเก่าที่บันทึกในช่วงตลอด 3 วันที่ผมสัญจรอยู่ในแถบภาคเหนือของภาคเหนือของกัมพูชาออกสัก 7-10 ภาพ ยืนอึ้งอยู่พักใหญ่ ผมก็ยอมจำนน ด้วยครั้นจะหันไปพึ่งกล้องฟิล์มติดเลนส์เอนกประสงค์ 24-120 มม. ที่เอามาด้วยก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะฟิล์ม 20 ม้วนที่เตรียมมาก็ใช้ไปจนหมดตั้งแต่วันวาน ทั้งประเมินแล้วว่าตนเองใจไม่แข็งพอที่จะลบภาพปราสาทต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสสัญจรมาเยือนอีกเมื่อใดออกจากหน่วยความจำได้ลงคอตัดใจยืนนิ่งซึมซับบรรยากาศยามเย็นที่ค่อยๆ ทิ้งตัวลงโอบคลุมปราสาทอันขรึมขลัง สังเกตความเคลื่อนไหวรอบตัว ตั้งใจจดจำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้มากที่สุด เสน่ห์ของนครวัดยังคงมีให้ค้นหาแม้อดีตอันเรืองโรจน์จะเลยมาแล้วเกือบพันปีห่างไปไม่ถึง 50 เมตร นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ทยอยลงจากปรางค์ประธานปราสาทนครวัดอย่างช้าๆ แต่ละคนมีสีหน้าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อยเพราะต้องไต่บันไดที่ลาดชันเกือบ 70 องศาผ่านความสูงราวตึก 5 ชั้น แขวนชีวิตเอาไว้กับลวดสลิงที่ทางการขึงเอาไว้ให้พยุงตัวระหว่างลงไปสู่ชั้นล่างบางที ภาพตรงหน้าผมนี้ อาจเป็นสิ่งเดียวที่คอยย้ำเตือนว่ากำลังอยู่ในปราสาทหินอายุเกือบพันปีในพุทธศักราช 2550 มิใช่ในช่วงที่มันถูกสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1656-1695 โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 การที่ผมต้องรอคิวเพื่อที่จะไต่ลงจากชั้นบนสุดของปราสาทก็เป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนมโนสำนึกว่าในอดีต สถานที่นี้สร้างขึ้นสำหรับเทพเจ้าเท่านั้น มิได้สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เดินดินอย่างผมปีนป่ายขึ้นมาชื่นชมความงามด้วยดินแดนขอมสมัยโบราณ ได้อิทธิพลทางศาสนาจากอินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อตามคติพราหมณ์-ฮินดู อันเป็นบ่อเกิดลัทธิ “เทวราชา” ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าที่อวตาร (แบ่งภาค) ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ทั้งยังเป็นที่มาของประเพณีที่กษัตริย์ขอมทุกพระองค์ต้องสร้างเทวาลัยถวายเทพเจ้าหรือนัยหนึ่งคือสร้างให้ตนเอง เพื่อที่เวลาที่จากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปหลอมรวมกับเทพเจ้าที่ตนนับถือไม่ว่าจะเป็น พระศิวะ หรือ พระวิษณุ อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เทวาลัยหรือปราสาทเหล่านี้จึงเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ ต้องสร้างให้มีลักษณะเป็นศาสนาสถานที่โดยวางผังตามคติฮินดูเรื่องเขาพระสุเมรุซึ่งเชื่อว่าที่ประทับของเทพอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร โดยสถานที่นี้นั้นถือเป็นศูนย์กลางของจักรวาลความเชื่อเช่นนี้เอง ที่มีพลังถึงขั้นทำให้พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สั่งประชากรในอาณาจักรให้เคลื่อนย้ายก้อนหินนับหมื่นก้อนที่นักโบราณคดีคาดการณ์ว่ามีปริมาตรกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตรจากแหล่งตัดหินที่ภูเขาพนมกุเลนซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตร แล้วสร้างมหาปราสาทที่กว้าง 850 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร มีปรางค์ประธานสูง 65 เมตร ยังไม่นับปรางค์องค์รองอีก 4 ยอดที่มีความสูงลดหลั่นกันไป ทั่วปราสาท มีเสาหินหนักกว่า 10 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ไม่ต่ำกว่า 1,800 ต้น ระเบียงโดยรอบมีภาพสลักหินเล่าเรื่องราวคติฮินดู อาทิ รามายณะ มหาภารตะ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ยาวหลายกิโลเมตร โดยภาพสลักนี้ปรากฏอยู่ทุกตารางนิ้วของกำแพงจนแทบไม่เหลือที่ว่าง ซึ่งความอัศจรรย์นี้เอง ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่านี่เป็นผลงานของมนุษย์ แต่น่าเป็นการนิรมิตของเทพมากกว่า !ดังเช่นความเชื่อของชาวเขมรต่อนิทานเรื่อง “นางนาคกับพระทอง” ที่เล่าถึง “พระทอง” โอรสกษัตริย์เมืองหนึ่งซึ่งคิดขบถแล้วถูกลงโทษโดยการเนรเทศ จากนั้นพระองค์ได้ไปทำสงครามแย่งดินแเดนจามแล้วพบกับนางนาคจนแต่งงานกัน เป็นผลให้พญานาคซึ่งเป็นพ่อเขยเนรมิตเมืองให้อยู่ พร้อมปกป้องคุ้มครองให้เกิดความมั่งคั่งและมั่นคง ต่อมาพระองค์มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า “เกตุมาลา” ที่พระอินทร์ถือว่าเป็นลูก จึงมีการส่ง “เวศุกรรมเทวบุตร” ลงมาสร้างปราสาทหินถวาย ไม่เฉพาะชาวเขมรเท่านั้น ในหมู่ชาวต่างชาติก็มีลักษณะความเชื่อดังกล่าวอยู่เช่นกัน เพราะเมื่อ 400 ปีก่อน นักบวชชาวสเปนรูปหนึ่งที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์เขียนบทความกล่าวถึงนครวัดว่า “…นี่เป็นเมืองที่ชาวโรมันสร้างขึ้น…”ก่อนที่การค้นคว้าทางโบราณคดีในชั้นหลังจะทำให้เราทราบว่าผู้สร้างคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แล้ว โดยยังทราบถึงฟังก์ชั่นของนครวัดด้วยว่าเป็น “วัด” ในศาสนาฮินดู นอกจากนี้ยังเป็น “สุสาน” สำหรับฝังศพกษัตริย์อีกด้วย ดังที่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งผูกคำศัพท์แล้วเรียกว่า “มฤตกเทวาลัย” นั่นเอง ภาพสลักพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในกระบวนทัพบนระเบียงปราสาทนครวัด ภาพสลักทหารสวมเกราะในกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 - 2 -ความจริง “นครวัด” มิใช่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทหินแห่งนี้ หลักฐานต่างๆ ชี้ว่าเดิมนครวัดชื่อ “บรมวิษณุโลก” อันหมายถึงพระวิษณุเป็นเจ้า - - เทพเจ้าที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นับถือ ไม่ใช่ “นครวัด” เพียงแต่ชื่อ “บรมวิษณุโลก” ถูกสลักในจารึกซึ่งพบในภายหลังถูกลืมเสียสนิทจากความรับรู้ของชาวเขมรรุ่นตั้งแต่พุทธศักราช 1974 ลงมา เพราะกองทัพสยามสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยาได้บุกโจมตีเมืองพระนครหลวงจนแตกแล้วทำลายเสียราบคาบ ทำให้กษัตริย์ขอมองค์หลังๆ ต้องย้ายราชธานไปให้ไกลจากกรุงศรีอยุธยาที่กำลังทวีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทิ้งปราสาทสำคัญอย่างบรมวิษณุโลกไว้ให้รกร้างอยู่กลางป่าทึบนานวันเข้า คนเขมรรุ่นต่อมาก็ไม่รู้ว่าเมืองพระนครหลวงอันเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัดอยู่ที่ใด พอเจอเข้ากับบรมวิษณุโลกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งใหญ่โตโอฬารก็เข้าใจผิดว่านี่คือเมืองพระนครหลวง เลยไพล่เรียกไปว่า “นอกอร” หรือ “อังกอร์” อันหมายถึง “นคร”ส่วน “นครวัด” น่าจะมีที่มาจากการที่ปราสาทแห่งนี้ถูกเปลี่ยนรูปแบบใช้งานมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในภายหลัง โดยมีการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานและดัดแปลงบางส่วนของปราสาทเป็นพระอุโบสถเช่นบริเวณ “ห้องพระพัน” ที่คนเขมรออกเสียงว่า “ห้องเปรียะเปือน” โถงด้านทิศตะวันตกอยู่ระหว่างชั้นสองกับชั้นสามของตัวปราสาทที่สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพระพุทธรูปนับพันองค์ประดิษฐานอยู่และส่วนหนึ่งก็น่าจะถูกย้ายขึ้นมายังชั้นบนสุดของปราสาทที่ผมยืนรอคิวลงสู่พื้นดินในเวลานี้ระหว่างรอ เพื่อนร่วมทางท่านหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะเปลี่ยนฟังก์ชั่นใช้งานไปเพียงใด แต่นครวัดก็ยังหลงเหลือร่องรอยของคติฮินดูอยู่อย่างชัดเจน “อย่างอุบายในการให้ผู้ที่มากระทำการสักการะบูชาเทพเจ้า ต้องค้อมตัวคารวะเทพเจ้าในขณะที่ขึ้นสู่ชั้นยอดปราสาทโดยสร้างบันไดที่สูงชันซึ่งไม่ได้ออกแบบมาสำหรับมนุษย์ที่พวกเรากำลังไต่ขึ้นลงอยู่นี้” ซึ่งก็คงจริง เพราะด้วยความสูงของมัน ผมก็ไม่คิดว่ามนุษย์ยุคก่อนจะมีธุระอะไรบนนี้เว้นแต่กษัตริย์ที่ต้องกระทำการสักการะบูชาเทพเจ้า เพียงแต่ในยุคที่กระแสการท่องเที่ยวครอบคลุมไปทั่วโลก ตรรกะนี้ดูจะเลือนลางไปเสียแล้ว นี่คาดว่าน่าจะเป็นแม่ทัพของละโว้ นัโบราณคดีสนใจภาพนี้มากในประเด็นเรื่อง "จำนวนร่ม" (ฉัตร) ที่มีมากกว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 - 3 -สำหรับคนไทย ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของนครวัดคือภาพสลักส่วนหนึ่งบนกำแพงระเบียงทิศใต้ฝั่งตะวันตก ณ ชั้นแรกสุดของปราสาท ที่เล่าเรื่องการยกทัพไปตีอาณาจักรจามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ยาวเกือบ 1 กิโลเมตร โดยจัดแบ่งเป็นกองทัพจากเมืองต่างๆ อย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งของกระบวนทัพ มีจุดเด่นตรงที่ทหาร ๓ คนหันหลังคุยกันอย่างสนุกสนานในระหว่างเดินทัพ และที่นั้น ในอดีต เคยมีอักษรขอมโบราณซึ่งแปลได้ว่า “นี่ เสียมกุก” จารึกอยู่ อันทำให้ผู้พบเห็นคิดไปว่าเป็นกองทัพสยามจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันจากรึกนั้นสูญหายไปแล้ว) "นี่ เสียมกุก" นี่เอง ทำให้ชาวสยามยุค 2007 อย่างผมอุทานในใจด้วยความสนเท่ห์ว่า โอ ! ช่างแกะสลักชาวขอมโบราณช่างสื่อลักษณะชนชาติสยามที่รักสนุกแม้แต่ในยามสงครามได้อย่างยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร แต่ข้อมูลทางวิชาการก็บอกผมว่ามีการตีความภาพนี้แตกต่างกันไปจิตร ภูมิศักดิ์ ตีความภาพนี้ว่าเป็น “ชาวสยามจากลุ่มน้ำกก” โดยยกหลักฐานด้านนิรุกติศาสตร์ (อักษรศาสตร์) ว่า กุก ในภาษาไทยอ่านว่า กก โดยระหว่างที่อาณาจักรขอมของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 รุ่งเรืองนั้น ชาวสยามแห่งลุ่มน้ำกกที่นำโดยขุนเจื่องซึ่งพงศาวดารล้านนาระบุว่าเป็นผู้ครองอาณาจักรเชียงแสน และเป็นบรรพบุรุษของพ่อขุนเม็งรายมหาราชก็กำลังรุ่งเรืองและทำการรบอยู่กับเมืองแถง ซึ่งชาวแถงเอง ก็มักส่งทหารไปช่วยจามรบขอมอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการช่วยเหลือกันทางทหารระหว่างสองอาณาจักรขณะที่ ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีความว่านี่เป็นกองทหารจากสุโขทัย เพราะเอกสารจีนเรียกคนไทยว่า “เสียม” มานานแล้ว ทั้งยังพิจารณาว่า ทหารแต่งตัวแบบคนป่าที่สลักอยู่นั้นมีใบหน้าที่คล้ายกับคนไทยคือหน้ารูปไข่ คิ้วโก่ง ดังนั้นนี่จึงน่าเป็นกองระวังหน้าจากสุโขทัยที่ส่งมาช่วยเมืองแม่ในฐานะประเทศราชส่วนนักวิชาการฝรั่งเศสตีความว่านี่เป็นทหารรับจ้างชาวสยามส่วนประเด็นเรื่องการไร้ระเบียบวินัยของทหารนั้น ถ้าเราพินิจภาพนี้ให้ละเอียดโดยเปรียบเทียบกับภาพอื่นก็จะพบว่า ในภาพสลักของพลทหารของละโว้ก็มีบางคนหันหน้าหันหลังคุยกันอยู่เช่นกัน เพียงแต่ไม่เด่นชัดเท่าทหารสยามเท่านั้นขณะที่ปัญหาการตีความนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน วันที่ผมสัญจรไปเยี่ยมๆ มองๆ ดูกองทหารเสียมกุก ก็พบเสียงเซ็งแซ่ของทัวร์ไทยปี 2007 ที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 คณะ ซึ่งทุกคณะเมื่อผ่านมาตรงนี้ก็จะมีการหยุดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ไม่ว่าจะเป็น “นี่ทหารไทย” - - “เอนี่มันนิสัยคนไทย” - - หรือแม้แต่กระทั่ง “เสียดายถ้านครวัดยังเป็นของไทยคงมีการศึกษาได้มากกว่านี้” ซึ่งทัศนะหลังสุดนั้น อันตรายอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ด้วยถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการก่อสร้างนครวัดให้ดีแล้ว ช่วงนั้นเป็นเวลาก่อนเกิดสิ่งที่เรียกว่าอาณาจักรของคนไทยนานหลายร้อยปีถ้ามองแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยม นครวัดก็จะเกิดก่อนอาณาจักรแรกของคนไทยคือสุโขทัย (พ.ศ. 1781-1981) ราว 86 ปี (พ.ศ.1656-1695) ทั้งยังเกิดก่อนอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) เกือบ 2 ศตวรรษ ดังนั้นการเหมาว่านครวัดในจังหวัดเสียมราฐที่สยามเคยยึดมาเป็นเมืองขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่อยุธยาจะเกี่ยวข้องกับรัฐชาติไทยสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดเมื่อปี 2475 จึงเป็นเรื่องที่หาคำอธิบายไม่ได้อย่างสิ้นเชิง และเป็นการสร้างความรับรู้ที่ก่อปัญหาอย่างยิ่ง ฟังก์ชั่น "วัด" แบบพุทธเถรวาทของนครวัดปรากฎเด่นชัดในปัจจุบัน ในภาพเป็นพระที่อยู่ภายในปรางค์ประธานของนครวัด- 4 -เย็นวันนั้น ผมเดินลงจากชั้นบนสุดของปราสาทด้วยความหวาดเสียวปนเสียดายจะว่าไปแล้ว นี่เป็นความไม่ประสาอีกประการหนึ่งในการเตรียมตัวเดินทางมาที่นี่ ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับนครวัดที่จินตนาการเอาไว้ผิดไปเสียหมดเมื่อมาถึงสถานที่จริงไม่ว่าความงาม ความขรึมขลัง ที่อัศจรรย์ที่สุดคือ ขนาดปราสาทซึ่งนักโบราณคดีท่านหนึ่งเปรียบไว้อย่างเห็นภาพว่า ถ้านำปราสาทหินพนมรุ้งหรือปราสาทหินพิมายไปเทียบ มันจะมีขนาดเพียงแค่ซุ้มประตูหนึ่งของนครวัดเท่านั้น !ยังไม่รวมความวิจิตรพิสดารของลวดลายถูกสลักเสลาเอาไว้บนทับหลัง กำแพง ฯลฯและความอัศจรรย์ ความงาม และความวิจิตรของปราสาทหินแห่งนี้เอง เป็นเหตุให้หน่วยความจำและฟิล์มทั้งหมดที่เตรียมไปไม่พอ และทั้งหมดนี้หากตั้งใจเดินดูอย่างพินิจพิจารณา 3 วันก็ไม่น่าพอ ถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับผมนครวัดก็เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่ดี แม้ในปี 2007 นี้ จะมีฝรั่งหัวใสในนามองค์กร The New Open World Corporation (NOWC) จัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่แทนที่ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันที่เคยจัดอันดับไปแล้วด้วยคะแนนโหวตผ่านอินเทอร์เน็ต ในลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ในรายการอคาเดมี่แฟนเทเชียโดยนครวัดถูกเขี่ยออกจากลิสต์ไปตามระเบียบเพราะคุณค่าของบางอย่างมันวัดไม่ได้จากการโหวตที่ไม่มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์กำกับต้องไม่ลืมว่าการโหวตทางอินเตอร์เน็ตนั้น ปัจจัยสำคัญก็คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรแต่ละประเทศที่มีการส่งสถานที่ของตนเองเข้าแข่งขัน ลองคิดดูว่า กัมพูชาจะมีประชากรสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับประเทศอย่างจีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา เปรู จอร์แดน อินเดีย เม็กซิโก กรีซ สเปน ชิลี ฝรั่งเศส ตุรกี ญี่ปุ่น รัสเซีย เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งรายได้ต่อหัวประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้ำหน้ากว่ากันมาก แน่นอน วันหนึ่งผมจะต้องกลับไปอีกครั้ง กลับไปเพื่อศึกษานครวัด และไปซึมซับความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมอันเป็นต้นรากทางวัฒนธรรมหลายอย่างของคนไทยปัจจุบัน ถึงตรงนี้ บางทีคงต้องยืมคำของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เอ่ยแก้คำของอาร์โนลด์ ทอยน์บี ที่ว่า See Ankor and again and again… etc.ดูกันใกล้ๆ กับ “นี่เสียมกุก” อารมณ์ขันแฝงปริศนาของช่างแกะสลักขอมโบราณที่คนไทยชอบตั้งคำถามว่า นี่เป็นบรรพบุรุษของเราหรือเปล่า
ชนกลุ่มน้อย
ขณะผมนั่งเขียนต้นฉบับ พระสงฆ์ในพม่าออกมาเดินบนท้องถนนเป็นวันที่แปด คนออกมาร่วมเดินไปตามถนนด้วยนับแสนคน ถนนกลางกรุงร่างกุ้งเชิญชวนให้คนออกมาเดิน ดูท่าคนจะเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆผมเห็นทิวแถวพระสงฆ์เหมือนแม่น้ำใหญ่สาละวินหน้าฝน พร้อมถั่งโถมใส่สิ่งกีดขวางทุกอย่าง หอบลงอันดามันสายตานักรบมองจ้องนักบวช ราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ สะท้อนถึงเรื่องใด รัฐบาลเผด็จการทหารจะใช้วิธีสลายผู้ชุมนุมด้วยกระสุนปืนอีกหรือไม่ ล้วนเป็นที่จับตามองจากชาวโลกเย็นนี นักศึกษาพม่ากำลังขมักเขม้นทำเพลง ว่าด้วยโศกนาฏกรรมฆ่าประชาชนกลางกรุงร่างกุ้งเมื่อปี 1988 เกือบยี่สิบปีก่อน เขาเลือกเอาเชียงใหม่เป็นสถานที่ทำเพลง ผมสวนกับเขาตรงประตูห้องบันทึกเสียงหลายครั้งสีหน้าแววตาเขาเป็นบทกวี ผสานกับแววตาขบถ ผมถามถึงความหมายของเพลง เขาบอกยังไม่เสร็จ… เสรีภาพยังต้องพูดถึงกันต่อไป หากเพลงเขาเสร็จ เขาคงมั่นใจว่า เขากำลังจะบอกอะไรให้เพื่อนร่วมชาติของเขารับฟัง ผมรู้มาว่าเพลงหนึ่ง ว่าด้วยแจ๊ซแห่งอิระวดี วันแม่น้ำไหลเป็นเลือด ในคืนจันทร์ส่องแสง เต้นรำบนสายน้ำตาและโลหิตประชาชนเย็นนี เรา--เหล่าคนเดินสวนทางกับเขา พูดถึงชื่อเขาในนาม เย็นนี้ ..วันดีคืนดี วีดีโอลึกลับมาถึงบ้านผม แทบไม่เชื่อในสายตา ว่าริมขอบชายแดนจะมีการกระทำย่ำยีต่อกันมากมายถึงเพียงนั้น ระเบิดบอมส์หมู่บ้าน เด็กหนุ่มในเปลซึ่งแข้งขาเหลือแต่กระดูก ตัดกันสดๆ เพื่อรักษาชีวิตมีข้อความไล่ตามภาพ "..ประมาณ 530,000 หมู่บ้าน โดนกระทำโดยทหารพม่า .. we never know how many days we will have to be on the run. we can only take enough food for one or two days…"ภาพหมู่บ้านโดนเผา ไหม้ไฟ ควันโขมง ศพคนนอนตายเรียงรายคนหลายร้อยคน เดินตามหลังไปตามป่า ข้ามน้ำ ไปแออัดจับกลุ่มเหมือนมดหนีน้ำ".. we ate rice and salt. we can't sleep at night, …everything is wet so our children can't sleep, but when they cry, we get angry and we tell them to shut up…"เพลงของ เย็นนี อาจได้เริ่มต้นความหวังใหม่ บนแผ่นดินพม่านับจากนี้เป็นต้นไป แรงต่อต้านที่ลุกขึ้นนำโดยพระสงฆ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปากกระบอกปืน จะจ่อยิงร่างผู้นำทางจิตวิญญาณกันง่ายๆ หากเพลงสังหารดังขึ้น เลือดคงท่วมนองแผ่นดินเลือดพระสงฆ์สาวกพระศาสดาพระพุทธเจ้า ..เพลงของเย็นนี เร่งวันเร่งคืน เพื่อจะข้ามน้ำสาละวิน ไปกู่ตะโกนตามหัวเมืองต่างๆ มุ่งไปปลดปล่อยเสรีภาพให้ผู้คนทุกกลุ่ม
แสงดาว ศรัทธามั่น
(1)จักรวาลอวยพรชัยณ ยามราตรีกาลดวงดาวเดือนพราวพร่างบนทุ่งฟ้าวิบ วิบ วับ วับ เปล่งประกายทอแสงเจิดจ้าอวยพรชัยแด่โลก ชีวิต!แล ณ ยามอรุณรุ่งดวงตะวันสาดแสงสีทองส่องโลกหล้าวิหคนกกามวลสรรพสิ่ง – สรรพชีวี...เริงระบำรำร่ายฟ้อนอวยพรชัยแด่ผองเพื่อนมนุษยชาติ!ณ คืนวันแห่งการสัปประยุทธ ต่อสู้ด้วยอหิงสา ศานติวิธีพี่น้องม่าน พี่น้องชนเผ่าทั้งผอง...แล สตรีเหล็ก “ออง ซาน ซูคยี”รวมทั้งผองเพื่อนพี่น้องร่วมโลกร่วมแผ่นดินแห่งดาวโลกดวงนี้ต่างคล้องแขนร่วมเดินทางเปล่งร้องขับขานบทเพลงแห่งชัย...ชัย...ชัย...ชัย ! ดูรา...ภราดา...ภราดายลดูด้วยประกายดวงตาปลื้มปิติ...ดูซี...ดูซี...“มองดูความจริงซี”พระคุณท่าน แม่ชี...พระสงฆ์องคเจ้าเดินจงกรม สวดมนต์ให้ประชาชนแลร่วมขับขานบทเพลงสวดแห่งเสรี!ท่านเป็นทัพหน้าพร้อมประจญประจัญบาน กับหมู่มาร อสูร ทุกผู้ !สาเหตุ เป็นด้วย เพราะ...“สุดแสนที่จักทนทานได้”ท่านจึ่งพร้อมประจญประจัญบานกับมารปีศาจ อสูรด้วยอหิงสา ศานติวิธี เมตตาธรรมกรุณา ปราณี แลยืนหยัดมั่นเถิดเหล่าพี่น้องเผด็จการฟัสซิสต์สลอร์คแห่งมิยันม่าคุณจงลงจากเวทีที่คุณเล่นละครจอมปลอมมานานแสนนานแล้ว !จงลงจากเวทีอันแสนทุเรศซะดีๆ หมดเวลาของเธอแล้ว !หมดเวลาของเธอแล้ว !โลก เอกภพ จักรวาล อวยพรชัยให้ประชาชน...มหาประชาชน จงเจริญ ! (2) หัวใจจิตวิญญาณมนุษยชาติมิเคยตาย !เผด็จการท็อปบูททมิฬมิยันม่าร์ถ้าเธอจักเข่นฆ่าทำร้ายจับกุมคุมขังประชาชน...กระทั่งเข่นฆ่าทำร้ายพระสงฆ์องคเจ้า !นั่นคือ บาปหนาที่เธอกระทำด้วยความโลภ โกรธ หลง ผลประโยชน์ของเธอเอง...Hello...เผด็จการฟัสซิสต์การท็อปบูททมิฬจงจำใส่ใจเอาไว้จนตาย...หัวใจจิตวิญญาณอันบริสุทธ์ของประชาชนมนุษยชาติมิเคยตายเธอผองนั่นแหละจักตายเอง !จงจดจำเอาไว้...หมู่มารทั้งผองจักตายเอง !มหาประชาชนจงเจริญ !เผด็จการจงพินาศ ! ด้วยพลังใจจากประชาชนชาวไทย แสงดาว ศรัทธามั่นหมายเหตุ : บทกวีชิ้นนี้เขียนขึ้นอ่านในงานชุมนุมภาวนาส่งกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวพม่าที่กำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ลานหน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่“สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทองหรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240 สำหรับคนที่อยากขอคำพยากรณ์จากไพ่เป็นการส่วนตัว ตอนนี้มีรับพยากรณ์ทางอีเมล์นะคะ ติดต่อที่ parinyasin@hotmail.com ได้ค่ะ แต่บอกก่อนนิดนึงว่ามีค่าบำรุงเด้อค่า

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม