บล็อกของ bookgarden

คลื่นทะเลใต้ (๑)

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้
ประเภท : เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งคุ้นเคยกันดีในนามวรรณกรรมแนวสังคมเพื่อชีวิต
        
คลื่นทะเลใต้ เป็นหนังสือรวม ๑๒ เรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยทุกเรื่องที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มนี้ต่างก็มีดีกรีรางวัลรองรับทั้งสิ้น และมีถึง ๒ นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และไพฑูรย์ ธัญญา  ขณะที่คำจำกัดความของ “นักเขียนใต้” ดังกล่าว ได้บอกเราว่านักเขียนทุกคนที่มีผลงานอยู่ในเล่ม คลื่นทะเลใต้ นี้ เป็นคนใต้โดยถิ่นกำเนิด แต่หากเราจะพิจารณาโดยตัดเอา “ความเป็นใต้” ในความหมายนั้นออกไป และมองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำหรือบทความของ พิเชฐ แสงทอง ที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้ เหล่านี้ออกไปเสีย )แล้วพิจารณาว่า คลื่นทะเลใต้ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นชั้นเลิศของยอดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักเขียนและผู้อ่าน จัดพิมพ์เพื่อเป็นกรณีให้ศึกษาด้านวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ สามารถอ้างอิงได้นั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดียิ่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเป็นภาคพื้นถิ่นจำเพาะทั้งจากนักเขียน บรรยากาศ ทัศนคติ เหล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่เนื้อหาอันเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตดังที่เราคุ้นเคยทั้งสิ้น หากจะวกวนอยู่กับข้อจำกัดของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น ออกจะเป็นการน่าเบื่อสักหน่อย เนื่องจากเราต่างก็รู้กันว่าวรรณกรรมแนวนี้มีข้อด้อยข้อเด่นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงบางเรื่องที่น่าสนใจโดยพึ่งวิสัยอันเจ้ากี้เจ้าการของข้าพเจ้าสักนิด และหากบทความจะยาวเกินเวลาไปบ้าง จึงขออนุญาตแบ่งเป็น ๒ ตอน

๑. กรรมวิธีการปรุงสุนทรียภาพของนักเขียน
วรรณกรรมเป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์เผยแพร่ แต่วรรณกรรมโดยทั่วไปนั้นตั้งใจเขียนให้คนอ่าน แม้แต่เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย ดังนั้นวรรณกรรมทุกเรื่องจึงเขียนขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งใด ๆ

เราจะแสร้งละเลยเรื่องจำพวก วรรณกรรม “พูดเพื่อ” หรือ “พูดกับ” คนกลุ่มใด เพื่ออะไร เพราะแน่นอนว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้นมักจะพูดเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชนชั้นที่ถูกกล่าวถึง แต่เราจะมาตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ทำไมเรื่องสั้นวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงต้องมี “บางอย่าง” เช่น สัญลักษณ์  บรรยากาศ ตัวละครบางตัว หรือบทสนทนาบางคำ ที่บางครั้งก็อาจจะ “ดูเหมือน” ไม่จำเป็นต่อเอกภาพของเรื่องเลย

ขอยกเอาเรื่องสั้น สะพานขาด ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๒ ของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากล่าวถึงเป็นลำดับแรกในเล่ม คลื่นทะเลใต้

สะพานขาด พูดถึงสมรภูมิความขัดแย้งที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม เป็นเรื่องของชายสองพี่น้อง ที่คนพี่เติบโตเป็นทหารของรัฐ ส่วนคนน้องเป็นทหารของรัฐฝ่ายตรงข้าม เรื่องถูกเล่าผ่านกระแสสำนึกของพี่ชายขณะออกสู่สมรภูมิ โดยแต่ละเรื่องย่อยที่เกี่ยวร้อยเข้ากับแกนของเรื่องต่างถูกกระตุ้นจากกลิ่น เสียง บรรยากาศรอบข้างของจังหวัดชายแดนใต้

วิธีการของกนกพงศ์คือการเลือกหยิบเอาบรรยากาศและเงื่อนไขอื่นที่ลดหลั่นกันเข้ามาเชื่อมต่อ จัดเรียงเข้ากับวิธีการนำเสนอแบบจี้จุดไปที่ความขัดแย้งของ ๒ ขั้วตรงข้ามตลอดทั้งเรื่อง โดยเน้นสัญลักษณ์คือ สะพาน เพื่อเชื่อมโยง ๒ ขั้วต่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในเรื่องสะพานขาดนั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อ หากแต่ทำหน้าที่ตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ขั้ว  ทั้งนี้ตลอดเรื่องกนกพงศ์พยายามใช้อุปมาโวหาร เปรียบเทียบอะไรก็ตามให้มองเห็นเป็น ๒ ขั้วจัดเจนมาก เพื่อสนองต่อนโยบายของความเป็นเอกภาพของเรื่อง ดังหน้า ๑๓๖

เราอยู่ในหมู่บ้านอันสงบ มีทุ่งนากว้างไกลจรดขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกสำหรับพระอาทิตย์ขึ้น และจรดเทือกเขายาวเหยียดด้านทิศตะวันตกสำหรับพระอาทิตย์ลง

นั่นก็ชัดเจน หรือการเปรียบเทียบกับเกมตำรวจจับผู้ร้าย นอกจากนี้ยังเลือกหยิบความทรงจำในวัยเด็กมาเล่าเพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจ เลือกการใช้กระแสสำนึกของคนเล่า (สรรพนามบุรุษที่ ๑ ) ทำให้เกิดสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันนิด ๆ อีกด้วย             

บรรยากาศของเรื่องมีรายละเอียดย่อยที่ลดหลั่นกันอีกมาก จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับจุดขัดแย้งในเรื่องที่ล้นเหลือ แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังสารภาพออกมาตรง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความขัดแย้ง  (จากหน้า ๑๔๐ )

องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ดูหลากหลายและขัดแย้งกันจนพรุนไปหมด แต่หากขาดการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจดูเรื่องสั้นที่หละหลวมและล่มไม่เป็นท่า แต่กนกพงศ์สามารถคิดสร้างอย่างละเอียดลออและเข้มข้นยิ่ง

สำหรับเรื่องสะพานขาดนี้เมื่อกนกพงศ์ปรุงและย่อยองค์ประกอบต่าง ๆ จนเสร็จสรรพแล้วป้อนเข้าปากผู้อ่านนั้น ผู้อ่านจึงแทบไม่ต้องเคี้ยวอีกเลย ก็เหมือนกับผู้อ่านเป็นผู้รับเสพแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กนกพงศ์ได้ให้ความคาดหวังว่ารสสัมผัสจะยังติดตรึงอยู่กับผู้อ่านไปอีกนาน เพราะเขาไม่ได้ทำการพิพากษาเหตุการณ์ในเรื่องมากนักเพียงแต่ยกเอาเฉพาะเหตุการณ์มาให้ผู้อ่านทำหน้าที่พิพากษาเอง

เทียบเคียงกับเรื่อง โลกใบเล็กของซัลมาน  เรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ๒๕๓๓  เป็นเรื่องสั้นที่เล่าอย่างนุ่มนวลมากขึ้นกว่า สะพานขาด โดยต้องยอมรับว่ากนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนที่จะมองผ่านแบบปราดเดียวแล้วสามารถมองเห็นวิธีคิดของเขาได้ปรุโปร่ง เนื่องจากเขารู้จักสิ่งผิดปกติของเรื่องสั้น สามารถจับคู่ขั้วความขัดแย้งได้อยู่มือ ทั้งเขายังตระหนักได้ถึงคำว่า ฉลาด ล้ำ การจงใจ เหตุผล ยัดเยียด  รุงรัง โง่ เขลา หรือการเสแสร้ง แกล้งโง่ อารมณ์ขัน ฝัน จริง ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นวิทยาการของการเขียนเรื่องสั้นของกนกพงศ์ทั้งสิ้น  เขารู้จักตัวเองและผลงานของตัวเองดีกว่านักเขียนหลายคน นั่นจึงทำให้เขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพื่ออะไร และนั่นคือกนกพงศ์ นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เคยกล่าวว่าสำหรับเขาวรรณกรรมเป็นศาสนา  ด้วยความนับถือยิ่ง

กับนักเขียนรางวัลซีไรต์อีกคน ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน วรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ปี ๒๕๓๔ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  

ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนอีกคนที่รู้จักข้อดี ข้อเด่นของผลงานตัวเองและคนอื่น  เขารู้ว่าเรื่องสั้นจะแข้งกร้าว กระด้างไปอย่างไร และควรลด-เพิ่มอะไร ตรงไหน

ปลาตะเพียน เป็นเรื่องสั้นที่แบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมและฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธของเก่าอย่างไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย  ทั้ง ๒ ขั้วขัดแย้งนี้ยังอิงกับสัญลักษณ์จากตัวละคร คือยายช้อยและน้องสาว ซึ่งก็คือ ๒ ขั้วตรงข้ามกัน    

เนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด ๒ ขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องใช้ ปลาตะเพียน สัญลักษณ์แทนความทรงจำอันอบอุ่น ความรัก เข้ามาเป็นสื่อกลาง เป็นทั้งตัวแทนปัญหาและตัวคลายปัญหา

ลักษณะแบบมนุษยนิยมในเรื่องสั้นนี้ เน้นให้เห็นถึงพัฒนาการของทัศนะคติของตัวละครไปสู่จุดคลี่คลายในตอนจบของเรื่อง ซึ่งวิธีการของไพฑูรย์นี้เองที่ได้เปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยความต่างก็ยังคงดำรงอยู่  

ขณะที่เรื่อง แข่งหนังตะลุง ของ ภิญโญ ศรีจำลอง ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้วขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่อง โดยแข่งหนังตะลุงเป็นเรื่องของนายหนังสองคณะที่แสดงประชันกัน และนายหนังของสองคณะก็ต่างกันตรงที่คนแรกเป็นตัวแทนของนายหนังรุ่นเก่า ใจนักเลง มากเมีย และดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ตรงข้ามกันนายหนังหนุ่มรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ยอมรับในความเป็นอื่นของกัน เช่นเดียวกับเรื่องปลาตะเพียน

กับเรื่อง คือชีวิต...และเลือดเนื้อ ของไพฑูรย์ เรื่องสั้นชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นโครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖

ที่พูดถึงการยอมรับในความเป็นอื่น แต่เรื่องนี้เน้นการสร้างบรรยากาศให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแนวคิดแบบเพื่อชีวิต และไม่แบ่งขั้วขัดแย้งชัดเจน แต่สร้างให้คู่ปฏิปักษ์ต่างตกอยู่ในสภาวะดุจเดียวกัน

เรื่องเล่าถึงแม่ผู้ท้องแก่กับลูกสาวตัวน้อยที่ต้องเผชิญชะตาลำพังในหนทางที่อัตคัดแสนเข็ญ เนื่องจากพ่อ,สามีทิ้งนางไปตั้งแต่เริ่มตั้งท้องใหม่ ๆ  หากจะนับว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมก็ถูกต้อง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่มีความอิ่มเอมใจอันงดงาม เพราะจุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ มีนางหมาแก่ขี้เรื้อนเข้ามาขโมยไข่ไก่ที่นางเลี้ยงไว้เก็บไข่ให้ลูกสาวตัวน้อยกิน เรื่องดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายที่สองฝ่ายต่างเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครคือ แม่ผู้ท้องแก่นั้น เปลี่ยนจากความเกลียดชังคั่งแค้นหมายเอาชีวิตหมาแม่ลูกอ่อนมาเป็นการให้อภัยและนางก็พบสุขใจด้วย ดังในตอนจบของเรื่อง  หน้า ๘๔

นางหันไปสบตากับลูกน้อย ยิ้มอย่างมีความสุข รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.

แม้จะฟังดูห้วนและง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้เห็นแววของความสุขและรอยยิ้มเป็นครั้งแรกของเรื่อง

ในรวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เล่มนี้ แม้นจะรู้สึกได้ในแวบแรกว่าเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีประตูบานหนึ่งที่จะผลักห้องของแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกภายนอก โลกเบื้องหน้าของประตูบานนี้จะแปลกตาเท่าที่เราคาดหวังหรือไม่ หากมีจังหวะเหมาะ ๆ ก็น่าจะหามาอ่าน

แต่อย่าลืมว่า- -ยังมีเรื่องสั้นของนักเขียนยอดฝีมืออีกหลายคนที่จะนำมาบอกเล่าให้เห็น... ในตอนที่ ๒

ฉลาม : เพราะนิยายมีจุดจบ

‘พิณประภา ขันธวุธ’

20080124 ปกหนังสือ ฉลาม

ชื่อหนังสือ : ฉลาม
ผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์
สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัด

ข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้น
ไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...
ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้น

ในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน การทำสิ่งใดโดยไม่ตามใคร

“ฉลาม” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ที่โปรยปกท้าทายคนที่ไม่เชื่อมั่นในความรักว่า “เรื่องรัก ที่จะกัดกินไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ” ตัวอักษรในหนังสือ165 หน้าถ่ายทอดเรื่องราวของ หญิงสาวชาวไทยที่ไม่ปลื้มกับชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองนัก “น้ำใจ บุญบดินทร์” อายุเพียงยี่สิบปีเศษ หญิงสาวสุดเปรี้ยว แต่ในความเปรี้ยวของเธอนั้นเหมือนน้ำส้มสายชูมากกว่ามะนาวเพราะอะไรนะหรือ? ความเปรี้ยวที่เกิดในตัวเธอมันเกิดจากการแต้มแต่งชีวิตของเธอเองในขณะที่หัวใจและจิตวิญาณเธอยังสับสนกับความหมายของชีวิต เราจะรู้สึกทันที่ถึงความอ้างว่าง-เปล่าดายในลมหายใจของตัวละคร หลักๆ สองคน คือหญิงสาวกับชายหนุ่มนาม “กระถิก” ผู้อาศัยอยู่ในต่างแดน

เหล้า-บุหรี่ -โคเคน-กัญชา นำมาซึ่งคราบน้ำตาของตัวละครทั้งสอง

ฉันอ่านเรื่องนี้แล้วอดคิดตามไปด้วยไมได้ว่า ชีวิตฉัน ถึงจะข้องแวะสารเสพติดบ้างแต่ก็แค่นิดๆหน่อย พอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เหตุผลหลักของฉันคือ ...ฉันจะไม่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทาสสิ่งใดฉันจะไม่ยอมอยู่อย่าง...
คล้ายว่าต้องค่อยพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น หากไม่มีมัน ฉันจะทุรนทุราย นั่นคือ เหตุผลที่ฉันจะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นเช่นนั้น

เช่นเดียวกันกับ “น้ำใจ” และ“กระถิก” พวกเขาไม่ติดสารเสพติดเหล่านั้น แต่มีชีวิตอยู่เหมือนขาดแก่นแกนให้ยึดเหนี่ยว แม้กระทั้งความรักที่เกิดขึ้นก็ยังถูกปฎิเสธให้มันเติบโตอย่างที่มันควรจะเป็น ในความดิบ-เถื่อนและคำสบถหยาบคายต่าง ๆ ที่หลุดจากปากตัวเอกของเรื่องราวกับโลกทั้งโลกไม่มีความหมาย ภาพรูปแบบ ปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน

“ตัวกู-อย่างยุ่งเรื่องของกู”

ในสังคมที่ต้องเดินเบียดไหล่กับคนแปลกหน้าในท้องถนน เรามักโหยหาความเป็น “ส่วนตัว” แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการให้มีคน “ห่วงใย” แท้จริงแล้ว...เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้จริงหรือ?

อ่านเพียงผิวเผิน ฉลามอาจไม่ต่างจากนิยายที่ว่าด้วยเรื่องเด็กสาวใจแตก กับวังวนของชีวิต แต่สิ่งที่ทำแตกต่างกว่านิยายเกลื่อนแผงคือการถามหาความหมายของชีวิตในตัวละคร และโดยเฉพาะเมื่อ “น้ำใจ” ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากคนที่เป็นลูกมาเป็นรับบทแม่ แต่สิ่งที่บรรเทาและเยี่ยวหัวใจที่บาดเจ็บของ "น้ำใจ"คือความรัก ของ ผู้ซึ่งเธอเรียกว่า "แม่" น้ำใจ ที่กำลังจะเป็น "แม่" กับความรู้สึกสับสนว่าการเป็น "แม่" มันคืออะไร และบทบาท "แม่" ที่ต้องคอยดูแล "ลูก" ที่กำลังจะกลายเป็น "แม่"

ฉันมองเห็นช่องว่างของสังคมที่ถ่างและกว้างสุดกว้างในขณะเดียวกันมันก็ใกล้แต่ใช้มือโอบกอด และสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนที่มีในซ่อนในตัวอักษรไม่ต่างจากความอ่อนโยนของแม่ของน้ำใจที่มีให้ลูกสาวผ่านท่าทีที่เย็นชา ราวกับไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของลูก ทว่าในความเป็นจริงมันตรงข้าม เธอแทบกลายเป็นคนเสียสติเมื่อลูกสาวได้รับอุบัติเหตุ

ความรู้สึกของถิกที่มีต่อน้ำใจ ไม่ได้เด่นชัดพอให้ฉันประทับใจได้ แต่ในทางตรงข้ามทำให้ฉันเผลอยิ้มกับความอ่อนหวานของผู้ชายอ่อนโยนที่ใช้ถ้อยคำหยาบคายคนนี้ ทำให้เห็นว่า ความรัก เป็นได้มากกว่าทิ่คิด

‘ในท้องน้ำที่สงบร่มเย็น เราคิดอย่างดีแล้วว่า หนทางข้างหน้าคือปะการังที่สวยงาม ไม่มีภยันตรายใด ๆ ปลาน้อยแหวกว่ายเล่นได้ ไม่มีพิษ เราเลือกที่จะดำน้ำลงไป กับคนที่เรารัก กับรอยยิ้มที่กำลังแค่เริ่มผลิ

...แต่บางทีเราก็ลืมคิดไปว่า อะไรบางอย่างที่กำลังตามมาหรืออยู่ข้างหลังอาจจะเป็น ในสิ่งที่ไม่มีวันคาดถึง’

ข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้น
ไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้น
เพราะเราได้มองเห็นจุดเจ็บที่ปวดร้าวตอนจบและหนทาง...ก่อนที่ความผิดพลาดจะมาเยือน

วิมานในความฝัน

‘นายยืนยง’

 

20080117 ภาพปกหนังสือ วิมานมายา

 

ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beauties
ประเภท         :    วรรณกรรมแปล
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
พิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐
ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ
ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   

ความรักของชายโฉดชื่อ เปโดร

‘นายยืนยง’

ภาพประกอบสวนหนังสือ

ชื่อหนังสือ
ประเภท
จัดพิมพ์โดย
ผู้ประพันธ์
ผู้แปล

:
:
:
:
:

เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )
วรรณกรรมแปล
สำนักพิมพ์โพเอม่า
ฮวน รุลโฟ
ราอูล

 

การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น

วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์ หลักเกณฑ์นี้เป็นข้อสำคัญหนึ่งที่ทำให้วินิจฉัยว่าวรรณกรรมแต่ละเรื่องมีคุณค่าเพียงใด และข้อสังเกตนี้เองที่เทียบเคียงให้เห็นถึงความสามารถของผู้ประพันธ์

ขณะเดียวกัน การที่ผู้ประพันธ์จะนำพาผู้อ่านสัญจรไปในเรื่องราวนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญหลายประการ และในวรรณกรรมแปลเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้พบกับความเป็นเอกภาพอย่างหนักแน่นที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ละองค์ประกอบของนวนิยายไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ฉาก บรรยากาศ เนื้อหา สำนวนภาษา ทั้งหมดทั้งมวลได้ถูกหลอมรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว ไม่อาจแยกแยะออกมาอย่างโดด ๆ ได้ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

หากจะจำแนกองค์ประกอบของวรรณกรรมประเภทนวนิยายในพื้นที่จำกัดนั้น เห็นว่าไม่สมควรยิ่งที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบหลายข้ออย่างผิวเผิน จึงขอเลือกกล่าวถึงในข้อที่โดดเด่นสำคัญจะรัดกุมกว่า โดยเฉพาะนวนิยายแนวเมจิกเคิล เรียลลิสม์  เล่มกะทัดรัดจากเม็กซิโกของ ฮวน รุลโฟเล่มนี้ ซึ่งมีเนื้อหาให้กล่าวถึงอย่างไม่รู้จบ

ลักษณะพิเศษของวรรณกรรมกลุ่มนี้คือให้ภาพเหนือจริงที่ยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง เป็นความพิศวงที่ก้าวเข้ามาสู่ใจผู้อ่านด้วยน้ำเสียงปกติสม่ำเสมอ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านจะได้เผชิญมาแล้วในวรรณกรรมเล่มอื่น และผู้ประพันธ์ท่านอื่น โดยเฉพาะ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เรารู้จักกันดี

เปโดร ปาราโม เป็นเรื่องราวธรรมดาของชายผู้หนึ่งที่ตัดสินใจยอมทำตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับแม่ก่อนที่แม่จะสิ้นลมหายใจตายไป เขาต้องไปตามหาพ่อ ที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตา ในเมืองที่เขาไม่เคยเหยียบย่างเข้าไป ชายที่เป็นพ่อของเขานั่นเองที่ชื่อ เปโดร ปาราโม

ในเรื่องราวธรรมดานี่เองที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบอันซับซ้อน ลุ่มลึก ทั้งจากตัวละครที่แสนประหลาด ซึ่งแต่ละตัวละครนั้นเหมือนได้ถูกดูดกลืนรวมเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่ทารุณปานนรก  ยังเต็มไปด้วยนัยยะประหวัดที่เร้าให้ขบคิด บรรยากาศของเรื่องยิ่งชวนให้พิศวงงงงวยอย่างที่สุด โดยเฉพาะกับฉากของเรื่อง คือเมืองโกมาลา ที่ทิ้งน้ำหนักต่อเนื้อหาไว้ตลอดเรื่อง และเนื้อหาก็กล่าวถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ หลอมรวมกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และผู้คนในเมืองแห่งนี้ ได้แปรสภาพเป็นลักษณะนิสัย ทัศนคติ และท่าทีของตัวละคร ที่รุกเร้า คืบคลานเข้ามาอย่างแสนกระท่อนกระแท่น

ดูจากประโยคแรกของผู้เป็นแม่ในขณะจวนสิ้นลมทำให้ภาพพจน์ของเปโดรผุดขึ้นเป็นครั้งแรก ในหน้า ๙

“ จงอย่าขอสิ่งใดจากเขา นอกจากส่วนที่เป็นของเรา สิ่งที่เขาควรให้แม่แต่ไม่เคยหยิบ    ยื่นให้...จงให้เขาตอบแทนเจ้า ลูกชาย  เพราะตลอดเดือนปีที่ผ่านมาเขาไม่เคยมีเราอยู่    ในห้วงคำนึงเลยสักนิด ”

ภาพพจน์ดังกล่าวนี้เองที่ปลุกให้ผู้อ่านใคร่รู้ต่อไปว่า ใครคือเปโดร ปาราโมคนนั้น เขาเป็นคนประเภทไหน และเขาอยู่ที่นั่น โกมาลา ดินแดนที่ร้อนร้าว กระทั่งกลิ่นอากาศก็ยังทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในนรก

ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้อ่านจะได้รู้จัก เปโดรคนนั้น ผ่านคำบอกเล่าแบบกระท่อนกระแท่น ไม่ปะติดปะต่อ และแสนจะกระพร่องกระแพร่ง จากการเล่าแบบสลับไปมา ไม่ต่อเนื่อง จากเหล่าดวงวิญญาณผู้น่าเวทนา จากชะตากรรมของพวกเขา ผู้เรียกร้องและรอคอยให้ใครสักคนผ่านมา แล้วสวดมนตร์ให้พวกเขาพ้นทุกข์ทรมานนี้

ขณะเดียวกันกับที่ความจริงค่อย ๆ หลุดล่อนออกมาทีละแผ่นบาง ๆ ราวกับเป็นแผ่นผนังที่ทาสีไว้จนเก่าแก่ ต้องสัมผัสแรงลมและค่อยหลุดออก... ทำให้รู้สึกถึงความยากที่จะเชื่อมโยงคำบอกเล่าของแต่ละคน, แต่ละวิญญาณ เข้าเป็นภาพเต็มของเปโดรคนนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านซ้ำหลายรอบ ทำให้เกิดคำถามว่า วรรณกรรมที่ดีนั้นจำเป็นต้องอ่านยากเสมอไปหรือ?

ขณะที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ บอกว่า “ไม่มีหนังสือเล่มไหนมีค่าสำหรับการอ่าน หากตัวมันเองไม่มีค่าพอที่จะอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ”

ความยากของเรื่องราวชวนให้พิศวง ไม่ต่อเนื่องของ เปโดรฯเล่มนี้ ไม่ใช่ความยากประการเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีบรรยากาศแปลกประหลาด ตัวละครพิลึกพิสดารนับไม่ถ้วน เหนืออื่นใด ต้องถือว่า ฮวน รุลโฟผู้ประพันธ์  ย่อมมีนัยยะพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะบอกเล่าแก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะมูลเหตุของเรื่องเลวร้ายทั้งมวล อันบังเกิดจากความรักที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จัก

ความรักของชายชื่อ เปโดร ปาราโมเป็นความรักอันแสนหวานของวัยหนุ่มสาว และเขาได้ทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้เธอมา ซึ่งผู้ประพันธ์ได้เล่าผ่านเสียงกระซิบกระซาบที่ฝังอยู่ในเมืองโกมาลา เพื่อบอกแก่ ฮวน ปรีเซียโดลูกชายผู้ออกตามหาพ่อของเขา เสียงแรกที่กล่าวถึงความรักนี้ มาถึงสัมผัสรู้สึกของเขา ในยามที่เหนื่อยล้าและยอมจำนน ขณะเดียวกันที่ในเรื่องบอกเล่านั้น อารมณ์ของเปโดร ปาราโม ชายผู้มีฐานะยากจน กลับดูรุนแรง ลุกโชนเร้าอารมณ์ ด้วยการบรรยายฉากที่อาศัยสัญลักษณ์ทางเพศที่ใช้กันในงานวรรณกรรม ดังหน้า ๑๙

น้ำหยดลงมาจากหลังคามุงกระเบื้องกำลังทำให้เกิดรูบนพื้นทรายที่ลานบ้าน

ติ๋ง! ติ๋ง! แล้วก็อีกติ๋ง! ขณะที่หยดน้ำกระทบกับใบลอเริลซึ่งกำลังกระเพื่อมขึ้นลงในรอยแยก    ระหว่างกำแพงอิฐ พายุพัดผ่านไปแล้ว บัดนี้ลมอ่อน ๆ ที่พัดมาเป็นพัก ๆ ทำให้พุ่มต้นทับทิมสั่น     ปลดปล่อยละอองฝนลงมาหนาตา สาดพรมพื้นดินด้วยหยดเล็ก ๆ ซึ่งไร้ชีวิตชีวาก่อนจะดิ่งหาย   ลงไปในพื้นดิน ฯลฯ ...  เมื่อหมู่เมฆเคลื่อนหนีไป ดวงอาทิตย์สาดแสงลงมากระทบโขดหิน แผ่    รังสีสุกสว่างเหลือบคล้ายสายรุ้ง ดูดน้ำไปจากพื้นดินสะท้อนแสงวับวาวบนใบไม้ซึ่งกระเพื่อมไหว    เพราะสายลมแผ่ว..

การบรรยายถึงบรรยากาศเช่นนี้ถูกตรึงไว้ตลอดเรื่อง และสิ่งนี้เองที่ได้ผูกรัดผู้อ่านไว้กับเรื่องราวตรงหน้า จึงไม่สามารถละเลยที่จะกล่าวถึงจุดเด่นนี้ได้เลย

แต่เพียงไม่กี่นาทีที่ผู้อ่านกำลังเคลิบเคลิ้มไปกับอารมณ์ของบรรยากาศนั้น เราก็จะถูกกระชากออกไปสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง จากคำบอกเล่าของใครบางคนที่ไม่เคยมีแม้กระทั่งลางสังหรณ์ที่จะสะกิดเตือนผู้อ่านไว้ก่อนแม้แต่น้อย จากฉากข้างต้นนั่นเอง เพียงชั่วอึดใจที่ฮวน ปรีเซียโดเริ่มสัมผัสได้ถึงชีวิตของเปโดร ปาราโมพ่อที่เขาตามหานั้น เขาก็ได้รู้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ อาบุนเดียว ชายผู้นำทางเขามายังโกมาลานั้น เสียชีวิตไปนานแล้ว

การเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตอันเกี่ยวกับเปโดร ปาราโมจากเหล่าดวงวิญญาณและเสียงกระซิบกระซาบที่ฝังอยู่ในซอกกำแพงหรือใต้หลุมฝังศพ ประกอบไปด้วยโศกนาฎกรรมในวันก่อน ๆ และบอกถึงลักษณะนิสัยอันเหี้ยมโหด เย็นชาของเปโดรไปพร้อมกัน

การเล่าด้วยวิธีการนี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ใดกันเล่า หากฮวน รุลโฟจะไม่ได้ต้องการวางทัศนคติเกี่ยวกับความดี ความชั่ว ข้อเท็จจริง ผ่านจากทุกมุมมองโดยไม่ได้ก้าวเข้าไปพิพากษาการกระทำเหล่านั้นแม้แต่น้อย ด้วยทัศนคติดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้ประพันธ์สามารถหลอมรวมทุกองค์ประกอบเข้าไว้เป็นเนื้อเอกภาพอันหนักแน่นดังได้กล่าวไว้ข้างต้น  หากยกตัวอย่างการบรรยายในหน้า ๒๐ ที่พรรณนาถึงอารมณ์เปโดร

ฉันคิดถึงเธอ ซูซานา คิดถึงเนินเขาสีเขียวชอุ่ม คิดถึงตอนที่เธอเล่นว่าวในฤดูที่มีลมแรง เราแทบ   ไม่ได้ยินสรรพเสียงแห่งชีวิตจากเมืองที่อยู่เบื้องล่าง เราอยู่สูงเหนือเนินเขา กำลังปล่อยเชือกให้    ออกมาสัมผัสแรงลม “ช่วยฉันที ซูซานา ”และมือที่อ่อนนุ่มจะบีบมือฉันไว้แน่น  “คลายเชือก    ออกไปมากกว่านี้สิ ”

การบรรยายดังยกตัวอย่างมานี้ มีนัยยะในทางเพศรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันยังมีสัญลักษณ์ที่ทำให้รู้สึกร่วมไปได้หลายเรื่องกว่าความรัก  หรือในหน้า ๒๙

วันที่เธอจากไป ฉันรู้ว่าไม่มีโอกาสได้พบเธออีกแล้ว เธอถูกแต้มแต่งด้วยแสงสีแดงจากดวง    อาทิตย์ยามบ่ายแก่ ๆ จากความสลัวที่ฉาบท้องฟ้าไว้ด้วยโลหิต ฯลฯ

นี่เป็นการบรรยายที่กระชับแต่เต็มไปด้วยนัยยะอีกเช่นกัน และจะได้พบบรรยายกาศเช่นนี้ตลอดเรื่อง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในหน้า ๒๑

สูงขึ้นไปเหนือม่านเมฆหลายร้อยเมตร สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเหนือสรรพสิ่ง เธอคงกำลังซ่อนตัวอยู่    ตรงนั้นสินะ ซูซานา ซ่อนตัวในความไร้ขอบเขตของพระเจ้า เบื้องหลังการคุ้มครองของพระองค์     ที่ที่ฉันไม่สามารถแตะต้องหรือมองเห็นตัวเธอได้ และที่ที่คำพูดฉันไม่มีวันไปถึง  

ลำพังความซับซ้อนของเรื่องเล่าทั้งหลายนั้น หากขาดซึ่งมนตร์เสน่ห์แบบเมจิกเคิล เรียลลิสม์ แล้ว ไหนเลยจะตรึงผู้อ่านไว้ได้ ในเรื่องนี้ยังมีจุดสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้โวหารแบบบุคลาธิษฐาน เติมเข้ามาอีก

ตลอดเรื่องทุกสรรพสิ่งดำเนินอยู่ราวกับมีลมหายใจ มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นต้นมะลิ นกฮัมมิงเบิร์ด นกเลียนเสียง ประตู หน้าต่าง ดวงไฟ ท้องฟ้า ผืนดิน กำแพง ดวงดาว ม้า ลา  แส้ ฯลฯ ยกตัวอย่าง หน้า ๗๙

ครั้นฟ้าสางเม็ดฝนกระหน่ำลงมารดแผ่นดิน เกิดเป็นเสียงดังผลุขณะพุ่งเข้าใส่ดินที่อ่อนยวบยาบ    บนร่องดิน นกเลียนเสียงตัวหนึ่งโฉบลงมาต่ำเหนือทุ่งหญ้าและร้องเสียงโหยหวน เลียนเสียงเด็ก    ร้องด้วยความทุกข์ใจ พอไกลออกไปได้หน่อยหนึ่งมันร้องอะไรบางอย่างออกมาฟังคล้ายเสียง    สะอึกสะอื้นด้วยความเหนื่อยล้า และไกลกว่านั้น ที่ซึ่งเส้นขอบฟ้าเริ่มมองเห็นได้อย่างชัดเจน มัน    สะอึกและหัวเราะร่วน ก่อนจะร้องโอดครวญอีกครั้ง  

เป็นอีกตัวอย่างที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งบรรยากาศในท้องเรื่อง อารมณ์ผู้คน แม้แต่เด็กยังร้องด้วยความทุกข์ใจ หรือ หน้า ๘๐

ประตูบานใหญ่ในมีเดียลูนากรีดร้องเสียงแหลมลั่นขณะแกว่งเข้าออก เปียกปอนเพราะลมที่พัด    พาเอาความชุ่มชื่นมา ฯลฯ

ทั้งหมดที่ได้กล่าวแล้วนั้น เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กน้อย เพราะวรรณกรรมเล่มนี้เป็นความมหัศจรรย์อันละเอียดอ่อน ลุ่มลึก และสร้างแรงกระทบใจได้หลากหลาย ทั้งเศร้าโศก ขมขื่น เวทนาสงสาร ฉงนฉงาย สะอิดสะเอียน และอ่อนหวาน จะมีวรรณกรรมเล่มเล็กใดบ้างจะให้ความรู้สึกหลากหลายได้เช่นนี้บ้าง

 

ก้าวแรกและปลายทางของเดวิด

 ‘ นายยืนยง ’

ภาพปก เดวิด หนีสุดชีวิต

ชื่อหนังสือ
ประเภท
จัดพิมพ์โดย
พิมพ์ครั้งที่ ๑
ผู้เขียน
ผู้แปล 
:
:
:
:
:
:
:
เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )
วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีน
กันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙
Anne Holm
อัจฉรัตน์

 

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม

เดวิด หนีสุดชีวิต  ( I am David )  ก็เป็นวรรณกรรมอีกเล่มที่สะท้อนภาพสภาวะจิตใจของเดวิด เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งได้บรรจุไว้ด้วยความหวาดกลัวจนหนักอึ้ง

นวนิยายสำหรับเด็กจากประเทศเดนมาร์กเล่มนี้ ได้สารภาพทัศนคติที่มีต่อผลพวงจากสงครามของ Anne Holm ผู้เขียน ผ่านเรื่องราวของเดวิด เด็กชายผู้ได้รับโอกาสจากผู้คุมให้ใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาที หนีออกไปจากค่ายกักกันของนาซี โดยมีเข็มทิศ มีดพับ ขนมปังกระบอกน้ำ และสบู่ติดตัวไปด้วย

ในความมืดของคืนนั้น เขาต้องวิ่งสุดแรงชีวิต รู้เพียงว่าต้องมุ่งหน้าสู่ทิศใต้เพื่อไปให้ถึงเมืองซาโลนีกา ขึ้นเรือไปอิตาลี เดินขึ้นเหนือต่อไปจนถึงปลายทางคือประเทศเดนมาร์ก ขณะที่อุปสรรคในการหนีครั้งนี้ ได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วินาทีที่เขาสงสัยในโอกาสที่ได้รับครั้งนี้

เดวิด เด็กชายผู้เติบโตมาในค่ายกักกัน ผู้ไม่รู้จักเข็มทิศ ไม่รู้จักสีสันอื่นนอกจากสีเทาของเสื้อผ้า และสีฟ้าของท้องฟ้า ดำรงชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง ลมหายใจเจือกลิ่นความตายอย่างคล้ายจะชาชิน เขาต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ ขณะเดียวกันโลกภายนอกค่ายกักกันที่ไม่รู้จักเลยนั้นเป็นเพียงอุปสรรคภายนอก แต่อุปสรรคในใจที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แปลกแยก เขาต้องก้าวข้ามให้พ้น

โดยการดำเนินเรื่องเป็นการเคลื่อนไปเบื้องหน้าของสองสิ่งคือ ระยะทางในการเดินทางและการเรียนรู้โลกภายนอกค่ายกักกันของเดวิด แต่รายละเอียดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สัญลักษณ์ในวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้

แม้นแนวทางของเรื่องจะมีลักษณะของธรรมชาตินิยม Natrulism  เป็นแกน โดยเฉพาะการสร้างบุคลิกจำเพาะของตัวละคร คือ เดวิด ที่มีนิสัย ทัศนคติ มุมมองของเด็กที่แปลกแยกจากเด็กอื่น สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา ซึ่งที่นั่นสอนให้รู้จักชินกับการอย่างจำกัดจำเขี่ย ความหนาว หรือรู้จักระงับอารมณ์ฟุ้งซ่าน  และเอาชนะแม้กระทั่งความรู้สึกโหยหาอิสรภาพ  ขณะที่การหนีของเดวิดคือการไปให้พ้นจากเงื้อมมือของคนชั่วร้าย ความรุนแรง และความตาย เพื่อจะได้มีชีวิต เขารู้อย่างเดียวว่าต้องวิ่งไปเท่าที่ขาจะมีเรี่ยวแรง หนีให้พ้นจากความรู้สึกรุนแรงที่พร้อมจะกระชากเอาอิสรภาพและลมหายใจของเขาไปพร้อมกับการถูกตามจับของคนที่ให้โอกาสเขาหนีออกมา  

ลักษณะธรรมชาตินิยมนั่นเองที่ประสานให้การตีความเชิงสัญลักษณ์ได้บังเกิดขึ้นในความคิดของผู้อ่าน เนื่องจากผู้เขียนได้พยายามเว้นวรรคอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึกในการหนีของเดวิดด้วยการบรรยายถึงสภาพจิตใจของเขาในต่างเวลาและต่างสถานการณ์

สัญลักษณ์ที่สอดคล้องและเกี่ยวโยงกันนั้น อาจเลือกออกมาพิจารณาได้ ๓ ข้อใหญ่ ๆ เพราะถูกกล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นกระทั่งจบเรื่อง ได้แก่

( ๑ ) เข็มทิศ อันหมายถึง  โอกาส
( ๒ ) โยฮันเนส เพื่อนที่เคยอยู่ในค่ายกักกัน อันหมายถึง ความทรงจำอันอบอุ่น หรืออาจจะเป็นจิตสำนึก
( ๓ ) พระเจ้า อันหมายถึง ความหวัง อิสรภาพ  ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเดวิดกับพระเจ้านั้น บางครั้งก็อาจเรียกว่าเป็นมิตรภาพได้ด้วย

อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนพยายามวางทัศนคติต่อชีวิตไว้ โดยให้ความสำคัญกับ ๓ สิ่งนั้น คือ โอกาส ความทรงจำและความหวัง  โดยโอกาสนั้น ผู้อื่นอาจวางไว้ให้เราแล้วเพียงแต่สำคัญว่าเราจะเลือกใช้มันหรือไม่ ขณะที่บางครั้ง โอกาสก็มีน้อยเกินไป และไม่เคยอยู่กับเราได้ตลอดเวลา แม้จะต้องการมันมากเพียงไรก็ตาม เห็นได้จากเรื่องนี้ ในตอนที่เดวิดเผลอทำเข็มทิศตกทะเล แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ที่จะเดินไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องอาศัยเข็มทิศ

โยฮันเนส เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่คงความสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบ โดยโยฮันเนสเป็นชายชายฝรั่งเศสที่คอยให้ความรู้ มอบความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ (ผู้ใหญ่)ให้เดวิด หลายครั้งที่ความทรงจำระหว่างทั้งสองได้ช่วยเดวิดให้รอดจากภาวะฉุกเฉิน ทำให้ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม  และสัญลักษณ์นี้ก็เชื่อมโยงไปถึงพระเจ้าด้วย เห็นได้จากหน้า ๔๒  – ๔๔ หลังจากเข็มทิศตกทะเลไปแล้ว  

...ยังไม่มีเข็มทิศอีกด้วย อิสรภาพเป็นสิ่งล้ำค่า และตอนนี้เขาไม่มีอะไรที่จะมาใช้ปกป้องอิสรภาพของเขาได้เลย . ..  (น.๔๒)
... เดวิดจึงตัดสินใจว่าเขาต้องมีพระเจ้าสักองค์ที่จะช่วยเขาได้ แต่เขาจะเลือกพระเจ้าองค์ไหนกันเล่า การเลือกนับถือพระเจ้าให้ถูกองค์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ... ฯลฯ

เขาคิดถึงความทรงจำที่ผูกโยงโยฮันเนสไว้ว่า โยฮันเนสไม่ได้สอนเขาเรื่องพระเจ้าแต่เคยเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ชื่อเดวิด นึกได้ดังนั้น เขาจึงเลือกพระเจ้าองค์นี้

พระองค์ให้ข้าได้ทอดกายลงบนทุ่งหญ้าเขียวขจี พระองค์นำข้ามาสู่สายน้ำนิ่งสงบ

เดวิดรู้สึกได้ปลดปล่อยและเข้มแข็งขึ้นเหมือนกับเช้าวันที่เขารู้ว่าเขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เขายินดีที่ได้คิดถึงเรื่องพระเจ้าเพราะการนับถือพระผู้เป็นเจ้าคงจะดีกว่าการมีเข็มทิศเป็นไหน ๆ ...ถึงแม้คงจะดีกว่านี้แน่หากเขาสามารถเลือกได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน

การตีความเชิงสัญลักษณ์เป็นเสน่ห์ดึงดูดประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดมากขึ้นจากการดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม เพราะการอ่านวรรณกรรมแนวธรรมชาตินิยมนั้น หากผู้เขียนมุ่งเน้นให้ในเค้าโครงของเรื่องจนมากเกินไป แรงกระทบใจที่มีต่ออารมณ์ ทัศนคติของผู้อ่านก็คงไม่ดำเนินต่อไปโดยที่เรื่องจบลงแล้ว

ขณะเดียวกัน หากผู้เขียนจงใจมุ่งเน้นใส่สัญลักษณ์ไว้จนเลอะเทอะ ไม่ประสานกลมกลืนกับเนื้อหาของเรื่องแล้ว ก็เป็นการทำลายเสน่ห์ของเรื่องได้ แต่สำหรับ  เดวิด หนีสุดชีวิต นอกจากข้อสังเกตที่ได้กล่าวมาแล้ว วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เท่านั้น กับผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน

หากใครที่ให้ความสำคัญกับจุดหมายปลายทางของความสำเร็จเพียงประการเดียว โดยไม่ยอมเหลียวมองหรือให้ความสำคัญกับรายละเอียดระหว่างทางแล้ว บางที เดวิดอาจจะอยากบอกว่า การเรียนรู้ที่จะไปให้ถึงจุดหมาย เอาชนะปัญหากับทุกย่างก้าวที่ผ่านเผชิญ กับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง นั้นเองที่จะนำพาให้ถึงจุดหมาย.

หมายเหตุ เดวิด หนีสุดชีวิต ได้รับรางวัล  First Prize for the Best Scandinavian Children ‘s Book 1963 และ ALA Notable Book Award 1965

ภาพเหมือน

โดย ‘นายยืนยง’

book

ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait )
ประเภท    :        วรรณกรรมแปล
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง
พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔
ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล
ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง   
จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH

 

หากเคยจ้องมองเข้าไปในดวงตาที่เปล่งประกายของชีวิตจากภาพเหมือน คุณอาจจะได้สัมผัสกับบุคลิกภาพของคนในภาพนั้น แต่กับ “ภาพเหมือน” รหัสคดีเล่มบางของนิโคไล โกโกล  นอกจากจะขนพองสยองเกล้าไปกับลูกนัยน์ตาอันน่าสะอิดสะเอียดของชายแก่ร่างโทรมเซียว ที่จ้องเขม็งกลับมายังดวงตาของคุณแล้ว  มันอาจปลุกสัญชาติญาณที่ซ่อนลึกอยู่ในซอกหลืบหัวใจคุณได้อย่างง่ายดาย แม้เพียงเสี้ยวสัมผัส  ราวกับมันเป็นซาตานที่โผล่ออกมาจากขุมนรก เพื่อฉุกกระชากตัวตนของคุณออกไปจากชะตากรรมอันสามัญที่เคยเป็นอยู่...

ใครก็ตามที่ครอบครองภาพเหมือนนั้นไว้ ล้วนประสบชะตากรรมอันน่าสังเวช... เริ่มตั้งแต่ศิลปินไส้แห้งที่กำลังจะถูกตะเพิดออกจากห้องเช่าโกโรโกโส เมื่อเขานำภาพเหมือนนี้เข้ามาในห้อง  ชีวิตก็เปลี่ยนดั่งพลิกฝ่ามือ ไม่ใช่แค่สถานภาพภายนอก แต่ในส่วนลึกของจิตใจ เขาก็เป็นคนใหม่  จวบกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันน่าสมเพทเพียงใด

นิโคไล  โกโกล เขียนวรรณกรรมเล่มนี้ขึ้นราวกับเพื่อประกาศให้โลกศิลปะได้ตระหนักว่า  ผลสะท้อนจากงานศิลป์แต่ละชิ้นนั้น เป็นสิ่งที่ศิลปินควรจริงจังและรอบคอบยิ่ง เสมือนหนึ่งว่างานศิลปะนั้น เปี่ยมด้วยพลังบางอย่างของศิลปินที่ถ่ายทอด ถั่งเทออกมาจากจิตวิญญาณ ใส่ลงไปในงานศิลป์นั้น หากแต่พลังอันนั้นมิได้สิ้นสุดลง ณ จุดสมบูรณ์ของผลงานเท่านั้น เพราะพลังลึกลับดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ เมื่อมีผู้คนได้สัมผัสกับมัน พลังนั้นก็กลับสำแดงอำนาจอีกครั้ง โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นอำนาจด้านดีหรือชั่วร้ายประการใด

จากโครงสร้างของวรรณกรรมรัสเซียเรื่องนี้  องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งก็คือตัวละคร ซึ่งล้วนโดดเด่นเป็นพิเศษ ในด้านที่โกโกลได้สร้างให้เห็นถึงการพัฒนาของแต่ละตัวละครอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้น พลิกผัน และจบนิ่งลง เช่น ศิลปินหนุ่มชาร์ทคอฟผู้สะดุดตากับภาพเหมือนที่มีดวงตาลึกลับดึงดูดใจอย่างประหลาด ขณะความสับสนในชีวิตศิลปินผู้แร้นแค้น และทัศนคติเรื่องศิลปะสองขั้วที่ยื้อเขาไว้จนเลือกไม่ถูกว่าจะตัดสินใจไปทางใดแน่ กระทั่งภาพเหมือนของชายแก่เหมือนคนซมพิษไข้นั้นได้เปลี่ยนเขาเป็นศิลปินผู้รุ่มรวยรสนิยม มั่งคั่งและมีชื่อเสียงในชั่วพริบตา แต่สุดท้ายชีวิตเขาก็ต้องจบสิ้นเมื่อถูกหลอกหลอนจากคู่ดวงตาน่ากลัวในภาพนั้น  ดังหน้า ๕๒

ภาพเหมือนนี้เองที่เป็นเหตุทำให้เกิดการลอกคราบขึ้นกับตัวเขา โชคอันเขาได้รับมาอย่างน่าอัศจรรย์นั่นแหละที่ชักพาให้เขาหลงทางไปกับการไข่วคว้าอันเปล่าไร้ทั้งปวง และจึงทำลายพรสามารถของเขาจนสิ้น

อีกตัวละครคือ ศิลปินผู้สร้างภาพเหมือนนั้นขึ้นมาเมื่อถูกว่าจ้างจากชายชราประหลาด เจ้าของกิจการปล่อยเงินกู้ที่เต็มไปด้วยรัศมีแห่งความน่าประหวั่นพรั่นพรึง  เมื่อนั้นชีวิตอันเรียบง่ายของเขาก็เปลี่ยนไป ขณะที่ศิลปินหนุ่มชาร์ทคอฟไม่อาจเอาชนะอำนาจเหนือภาพเหมือนนั้นได้ แต่ศิลปินผู้สร้างมันขึ้นมาสามารถรับมือ ต่อต้านทำลายอำนาจชั่วร้ายนั้นออกไปจากตัวเขาได้สำเร็จ

ขณะพัฒนาการของแต่ละตัวละครเป็นเรื่องที่น่าศึกษายิ่ง ภาพเหมือนเต็มไปด้วยทัศนคติในด้านศิลปะอันละเอียดลึกซึ้ง และเต็มไปด้วยอารมณ์แห่งชีวิตในแบบฉบับของจิตวิญญาณชาวรัสเซีย ซึ่งจะเห็นได้จากวรรณกรรมแทบทุกเล่มของประเทศนี้ ดังหน้า ๔๕

ชื่อเสียงไม่อาจให้ความพึงใจยินดีได้กับคนผู้มาสู่มันโดยไม่สุจริต โดยไม่พึงได้รับ มันก่อความตื่นเร้าได้อย่างสืบเนื่องก็แต่กับคนผู้ควรค่ากับมัน   

สิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องกล่าวถึงคือสำนวนการถ่ายทอดของดลสิทธิ์ บางคมบาง  ที่พยายามรักษารูปประโยคความอันซับซ้อนไว้ และคงเอกลักษณ์ลีลาตามต้นฉบับเดิม ด้วยภาษาไทยที่ชัดถ้อยชัดคำ กระชับ และเต็มด้วยชีวิตชีวา หากแต่เราจะไม่อาจละสายตาจากอารมณ์ที่เกี่ยวโยงของตัวละครได้เลยแม้สักนาทีเดียว กระทั่งในจุดพลิกผันสำคัญของภาคหนึ่ง ซึ่งได้ทิ้งน้ำหนักลงอย่างเจ็บปวดแม้นในอักษรตัวสุดท้าย  

ผู้แปลยังได้เกริ่นนำไว้ว่า  “ภาพเหมือน” เป็นเสมือนงานที่โกโกลมองเข้าไปในงานของตัวเอง เขาทำมันออกมาได้ดีอย่างถึงขนาดของความเหมือน  ฯลฯ

แม้รายละเอียดที่สำคัญอื่นจะไม่ได้ถูกกล่าวถึง ณ ที่นี้  แต่สำหรับผู้ที่ทำงานศิลปะทั้งหลายน่าจะหาโอกาสหยิบภาพเหมือนเล่มนี้มาอ่าน ไม่แน่ว่าชั่วเวลาเพียงคืนเดียวที่คุณได้อยู่กับมัน ชีวิตของคุณอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็เป็นได้.

เหนืออำนาจแห่งความคิด

โดย ‘นายยืนยง’

ภาพปก ไตร่ ตรอง มอง หลัก

ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลัก
ประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     
จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยาม
พิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุง
ผู้เขียน :    เขมานันทะ
บรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว

ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง  ไม่ว่าจะลุ่มลึกหรือตื้นเขินตามกรอบทัศนคติของใคร แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาอันเป็นประตูสู่การบรรลุถึงโลกุตรธรรมนั้น ยังเป็นหลักของความสมบูรณ์แห่งทัศนะอยู่เป็นปกติ

หากเคยศึกษาหลักธรรรมะเราจะพบว่า  ความรู้สึกนึกคิดและสภาวะแห่งจิตจะเกิดปรากฏการณ์แห่งความสงสัย ใคร่จะได้คำอธิบาย  หรือเต็มไปด้วยปริศนา ด้วยหลักธรรมหรือพุทธปรัชญานั้น เป็นศาสตร์อันละเอียดลึกซึ้ง และเป็นนามธรรมยิ่ง      

บทความว่าด้วยศาสนาและปรัชญา  เล่ม ไตร่ตรองมองหลัก ที่เขียนโดย ท่านอาจารย์เขมานันทะ เล่มนี้  ได้บรรยายด้วยภาษาอันเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก  ประกอบด้วยบทความเกี่ยวกับ      

(๑) สาระสำคัญแห่งวัชรยานตันตระ       
(๒) ข้อพินิจไตร่ตรอง  ต่อความมีอยู่และไม่มีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ   
(๓) เหนือคิดคำนึง
(๔) พรหมจรรย์และฐานแห่งการภาวนา
(๕) โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะ

ในบทความแรกอันเกี่ยวกับวัชรยาน  หรือญาณสายฟ้าแลบที่เรารู้จัก  เป็นบทบรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  ซึ่งท่านอาจารย์เขมานันทะอธิบายถึงแก่นแท้ของวัชรยาน  โดยเปรียบเทียบเนื้อหาสาระกับนิกายเซน ให้ข้อสังเกตในด้านของลักษณะทางภูมิศาสตร์อันเป็นสถานที่กำเนิดความเชื่อ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงรูปลักษณะทางวัฒนธรรมในแหล่งกำเนิดความเชื่อนั้นด้วย ลักษณะการวิเคราะห์ ถอดความจากสัญลักษณ์ในเชิงปรัชญาที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมนั้น  เป็นแนวทางที่ท่านอาจารย์เขมานันทะมีความถนัดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการถอดความจากสัญลักษณ์จากวรรณคดีหรือวรรณกรรม   ดังในคำนำของ นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้  ได้กล่าวยกย่องท่านเป็น เอตทัคคะท่านหนึ่งทางด้านสามารถไขความสัญลักษณ์ ที่ปรากฎอยู่ในงาน ศาสนศิลป์ 

ท่านอาจารย์เขมานันทะ  อธิบายรากฐานของวัชรยานโดยพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งปรากฏอยู่ในศาสนศิลป์ของชาวธิเบต  โดยท่านได้ทบทวนเพื่อเชื่อมโยงถึงยุคทองของศาสนาในชมพูทวีป ว่าด้วยยุคอุปนิษัท หรือศาสนาพราหมณ์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ของโลก ชีวิต จักรวาล นั้นว่าเป็นอันเดียวกัน ตัวเรานั้นเป็นสิ่งเดียวกับจักรวาลทั้งหมด ขณะเดียวกัน ท่านได้ยกภาษิตของจางจื้อ ที่ว่า

“  ฟ้าดินกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน  สรรพสิ่งทั้งหมดกับอั๊วเป็นหนึ่งเดียว ”   (น.๑๔)     

ครั้นแล้วก็เปรียบเทียบเข้ากับวรรณคดีอย่าง  รามเกียรติ์หรือ  รามายณะ  มหาภารตะ ที่มีโครงสร้างสำคัญว่าด้วยการสู้รบของฝ่ายธรรมะคือพระราม กับฝ่ายอธรรมคือทศกัณฐ์    หรือที่ท่านว่า สัจจะซึ่งสังหารมายาภาพ  เปรียบได้กับวัชรยาน ซึ่งคือเครื่องตัดอวิชชา  ถือเป็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ ตรงกับนัยของศาสนาพราหมณ์ว่า อาตมันนั้นแท้จริงคือปรมาตมัน  กิเลสตัณหาต่าง ๆ ล้วนเป็นคุณะ(Value )ของเทพ(Divine) อันซ่อนเร้น แทนด้วยสัญลักษณ์ของรากษส (พวกยักษ์มาร) (น.๑๔)   ท่านอธิบายว่า  ชีวิตเป็นการสู้รบกันระหว่างรากษสและเทพ  เพทเป็นคุณสมบัติเบื้องสูง รากษสเป็นคุณสมบัติซ่อนเร้น  เพื่อปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจวัชรยาน

โดยภาพรวมแล้ว  บทความเล่มนี้ มีลักษณะเด่นในด้านการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ท่านอาจารย์เขมานันทะใช้ภูมิความรู้ความเข้าใจเพื่ออธิบายเชื่อมโยงองค์ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าเป็นแนวทางที่จะเข้าถึงหลักพุทธปรัชญา  นอกจากนี้การยกตัวอย่างเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน มีผลดีให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในบท เหนือคิดคำนึง (น.๔๙)  ได้ยกตัวอย่างโศลกธรรม  เพื่อการเปรียบเทียบสภาพธรรมทางใจ แสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ และไม่มีอยู่  ได้อย่างชัดเจน ดังโศลกของเว่ยหล่าง (น.๕๕)

“  ไม่มีต้นโพธิ    
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่าง
เมื่อทุกสิ่งว่างไร้
ฝุ่นจะปรากฏได้ที่ไหน  ”

กิเลสอันถูกเปรียบด้วยฝุ่นละออง  กายซึ่งเปรียบด้วยต้นโพธิอันไร้แก่น และจิตใจอันเปรียบด้วยกระจกเงาที่เจ้าของหมั่นขยันเช็ดให้สะอาด  ดังโศลกธรรมของชินเชาที่ว่า

“  กายของเราคือต้นโพธิ
และใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันอย่างระวังตั้งใจในทุก  ๆ โมงยาม
ทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฏขึ้นได้  ”

จากโศลกทั้งสองนั้น  มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  ในเมื่อชินเชายังยืนอยู่ในความมีกาย  อันเปรียบด้วยต้นโพธิ และความมีอยู่ แห่งใจอันเปรียบด้วยกระจกและความมีอยู่ของกิเลส คือฝุ่นธุลี อันตนต้องเช็ดถูอย่างระวังในทุก ๆ ชั่วโมง  แสดงถึงการปฏิบัติธรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสน ตอกย้ำความคิดรวบยอดว่ามีตัวตน และมีศูนย์กลางของการกระทำ ...  ฯลฯ 

ดังนั้น  การได้อ่านหนังสือพุทธปรัชญาเล่ม ไตร่ตรองมองหลัก นี้  เสมือนหนึ่งได้อ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่มโดยผ่านการสรุปตีความจากท่านอาจารย์เขมานันทะ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา

แต่ขณะเดียวกัน  การศึกษาโดยเลินเล่อหรือละเลยต่อแก่นแท้ของการศึกษาแล้ว (ไม่ว่าจะโน้มเอียงไปตามสัมมาทิฎฐิหรือมิจฉาทิฎฐิ)  ย่อมอาจเป็นจุดเริ่มต้นอันสับสน  ซับซ้อน ซึ่งอาจไม่มีวันเยียวยาแก้ไขได้แม้นลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ดังเช่นการศึกษาวัชรยาน ที่ท่านอาจารย์เขมานันทะได้กล่าวไว้ว่า

วัชรยานนี้เหมือนเหล้า   เหลาแรง ๆ นี่แหละครับ  ถ้าใครคอไม่แข็งก็จะหัวทิ่มแล้วก็เกิดโทษอาเจียนออกมา  (น.๑๗)  

นั่นคงบอกได้ว่าการศึกษาให้เข้าถึงนั้น  ต้องรากฐานของเราต้องพอเพียงด้วย.

โคลงกลอนของ "ณรงค์ยุทธ โคตรคำ" หนาวสะท้อนปลายมิถุนา...

โดย นายยืนยง

ปกหนังสือ สายรุ้ง รุ่งเยือน
เรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทย
ผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์

ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ 

โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์

ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น  ค่อนข้างจะมีนัยยะโน้มไปทางที่ หนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ มีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้เขียนกับผลงานกวีนิพนธ์ของเขาเอง  และเฉพาะอย่างยิ่งในบทนำจากผู้เขียน ที่ได้ลงท้ายว่า เป็นความจำเป็นสำหรับเวลาอันเป็นธรรม ด้วยความสังวรยิ่ง .เหล่านี้  ล้วนเป็นรสสัมผัสอันเปรียบได้กับลมหนาวแรกของปี ที่พัดแผ่วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน  เป็นรสสัมผัสอันประหลาดล้ำ...

ลมหนาวในแดดเทาอมฟ้า เหมือนละอองแห่งชีวิตที่ถูกล้อมโอบด้วยความรู้สึก...ในหมู่ไม้พันธุ์ ยืนต้น หรือทอดยอด ออกดอกพวงระย้า ช่างดูสงบ อ่อนหวาน อย่างมีนัยยะเกี่ยวถึงทรรศนะของสังคมมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น  ภุชงคประยาตฉันท์  ชื่อบทว่า  เด็ดยอดแม่ดอกตำลึง
ที่ณรงค์ยุทธได้ปลุกชีวิตของยอดเครือตำลึง พืชพันธุ์สามัญริมรั้ว ให้ตื่นฟื้น งามขึ้นในหัวใจของฉัน
จาก     

    สไบบางเสบียงรุด        ระรื่นดุจประมาณถึง
    ขจียอดคะเนพึง            ผะดาแดดตะวันวาย
  ฯลฯ     ( หน้า ๑๐๖ )

สำหรับ ณรงค์ยุทธ เขียนบทนี้ออกมาเหมือนจะสะท้อนทรรศนะที่จัดวางอยู่ในคำฉันท์และตัวตนของเขา  เขียนออกมาจากสภาวะของเถาเครือตำลึง ที่ทนแล้ง อิ่มฝน และรอคอยที่จะชูยอดใบแห่งชีวิต   นี่คือ ประการแรกที่ตัวตนกับผลงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน

สายรุ้ง รุ่งเยือน ไม่เพียงเขียนถึงพืชพันธุ์รูปธรรม เช่น กระถิน ตำลึง เท่านั้น ณรงค์ยุทธ ยังเขียนถึงพืชพันธุ์นามธรรมที่แตกผลิอยู่ในดวงใจของเขาด้วย และถือเป็นความโดดเด่นสำคัญของหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้  นี่คือ กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ที่พื้นหลักเป็นโคลงสี่สุภาพ

ดั่งลมหนาวในแดดสายปลายมิถุนายน แดดอุ่นและลมหนาวของยามสาย เป็นปรากฎการณ์ของลมฟ้
อากาศที่เกี่ยวเนื่องกับอนุภาคละเอียดอ่อนในวันคืน

ณรงค์ยุทธ เขียนโคลงสี่สุภาพอย่างกวีฝึกหัดพึงกระทำ และยิ่งอ่านจะยิ่งรับรู้ร่วมไปกับเขาเลยทีเดียวว่า แบบฝึกหัดการเขียนโคลงสี่สุภาพนั้น เป็นแบบฝึกเล่มหนาเทียบเท่าวงศ์อายุของผู้เขียนนั่นเทียว

ใน สายรุ้ง รุ่งเยือน จะสัมผัสรู้ถึงรอยก้าวย่างของการฝึกเพียร เคี่ยวเค้น อย่างหนักหน่วง  หากสังเกตตรงท้ายบท จะมีข้อความบอกถึงห้วงเวลาที่เขียน ทำให้มองได้ถึงพัฒนาการของผู้เขียนได้ในด้านหนึ่งด้วย  ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้

ก้าวย่างที่กินเวลายาวนาน ทำให้มองเห็นถึงกลเม็ดในคำโคลง อย่างเช่นบท มืดมิด(จิตใจ) บทนี้เป็นตัวอย่างการเขียนโคลงสี่สุภาพแบบเอกเจ็ดโทสี่  ไม่มีกลเม็ดใดมากกว่าลักษณะการบังคับคำ ตำแหน่งเสียง  แต่การจัดวางรูปคำที่ให้ความรู้สึกมากกว่าการจัดเรียงคำ ดังบาทแรกนี้

        เวลาช่างเหว่ว้า            เวลา  ฯลฯ ( หน้า ๘๐ )

ถือเป็นสำนวนโคลงที่หาได้ยากในมือของกวีฝึกหัด หรือ อีกตัวอย่าง บท  คลื่นชีวิต

        เหลียวฝีพายต่างจ้ำ        ห่างทุกข์
        สรรเสพสำราญสุข        เสกได้
        คลุกเศร้าผ่านเคล้าทุกข์        คราครอบ
        กางกรอบฝ่าคลื่นให้        เคลื่อนร้างลับหาย
    (หน้า ๘๕ )

เป็นบทอุปมาชีวิตกับการพายเรือ ซึ่งให้ได้มากกว่าความไพเราะของคำโคลง  เพราะให้ทั้งภาพจินตนาการในความคิดและมีคติธรรมแฝงอยู่

    ลองดู บท  ปัจเจกปัจจุบัน

        ปัจจุบันปัจเจกชั้น        ชนเหวย
        งกเงี่ยนงกงมเงย        งอกแง้ม 
   ฯลฯ   ( หน้า ๖๘ )

เป็นการแสดงออกถึงทักษะอีกขั้นหนึ่งที่ได้มาจากการฝึกฝน โดยอาศัยลักษณะสัมผัสพยัญชนะเดียวทั้งบาท  เป็นอีกกลเม็ดของคำโคลง  กระโดดข้ามมาถึง   บท  ห้วงฝัน, ฝั่งขวัญเอย    

        หงายเฉียบเลียบค่ายครื้น        เงียบฉาย
        ร่างสอบสั้นยาวสาย        รอบข้าง
        อาจโอ้ อก อด อาย        โอกาส
        การณ์ทื่อวางถือบ้าง        ถ่างบื้อคือฐาน
   ฯลฯ    ( หน้า ๙๔ )

ในคำที่ขีดเส้นใต้  ผู้เขียนได้ใช้การผวนคำ แล้วจัดวาง คล้ายกลบทแบบอย่างโบราณ ทำให้อ่านสนุกและดูเหมือนผู้เขียนได้ผ่านมาอีกขั้น   และล่วงไปถึงการเล่นกลบท หงษ์ทองลีลา  เช่น บท ข้าพเจ้ายังรู้จักโลกสังคมน้อยนัก

        ให้บุพกาลร่ำร้าง            ใจถึง
        โลกกระพริบดาวดึงส์        ดื่มร้อย
        ให้ผลัดส่องกระซิบพึง        พาเยี่ยม
        โลกออกตกเหนือน้อย        นิ่งหน้าทิศทาง
   ฯลฯ    ( หน้า ๔๙ )

หรือกลบทครอบจักรวาล  เช่น บท     จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก

        หวังสุญญา...ว่างแร้น        โลกหวัง
        ฟื้นตื่นเช้าสายดัง        เท่าฟื้น
        โลกจินตพลบภวังค์        กอบโลก
        ถือระยะย่ำย้ำพื้น        วาดถือ
   ฯลฯ          ( หน้า ๙๘ )

จุดเด่นของโคลงสี่สุภาพของณรงค์ยุทธนี้  สังเกตได้ชัดคือ การเลือกใช้คำโดด ซึ่งแปลกต่างจากคำโคลงที่คุ้นเคย คือนิยมใช้คำสมาส สนธิ หรือคำผสม  แต่ขณะเดียวกัน จุดเด่นที่มากเกินไป  
เป็นธรรมชาติที่ทำให้บางครั้ง ก็อาจเป็นข้อด้อยได้เช่นเดียวกัน
 
ด้วยธรรมชาติของคำโดดแล้ว   เมื่อวางเรียงกัน อาจทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก เพราะต้องมีคำเชื่อม  ต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยขึ้นใหม่ในวงการอ่าน 

แม้เสน่ห์ของการเลือกใช้คำโดดในกวีนิพนธ์ของณรงค์ยุทธ จะเป็นรสคำที่แปลกไปบ้าง แต่การเลือกใช้อุปมาโวหาร ผสมเข้ามา ก็ช่วยเสริมเนื้อหาให้เต็มแน่นด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย   เช่น  บท  จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก

    สูง – ต่ำ, ทางแอ่นเกี้ยว        กราดแกร็น
    สูง – ต่ำ, ยูงรำแพน        กรีดเยื้อง
    สูง – ต่ำ, หากหื่นแหน        แหวกเหยียบ
    สูง – ต่ำ, ผูกพลั้งเปลื้อง        ปรับหมุน
         ฯลฯ   (หน้า ๙๘)

การเทียบสัญลักษณ์ของนกยูง และท่าทางการเคลื่อนไหวของมัน จะสะท้อนให้ผู้อ่านนึกถึงสิ่งใด
โดยปกติ นกยูง จะมีนัยยะถึงความสูงส่ง สง่างาม แต่การเลือกใช้คำเกี่ยวข้อง เช่น  หากหื่นแหน นั้น
ดูขัดแย้ง แต่หากอ่านสืบเนื่องทั้งบทนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกใช้คำเพื่อต้องการจะเสียดสี
เยาะหยันนกยูง หรือนัยยะแฝงที่ผู้เขียนนั่นเอง

นอกเหนือจากสัญลักษณ์แล้ว  จุดเด่นที่ต้องกล่าวถึงคือ  วิธีการเรียงร้อยหรือ กลวิธีการประพันธ์

กวีนิพนธ์เล่มนี้  ผู้เขียนได้จารึกถึงความรู้สึก นึก คิด ของตัวผู้เขียนเอง ผ่านเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมของภาษาไทย ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย แม้กระทั่งบทกวีไร้ฉันทลักษณ์  โดยอาศัยการสร้างวลีใหม่ ที่ตรึงใจผู้อ่านได้   เช่น  บท  แลดอกมะลิพันธุ์ ข้าฯ ฝันถึง

    อารมณ์ร่วงต่อพื้น    เตรียมพาน     หรือ
    หวั่นน้อยใจพรั่นท้อ    พวงขาว           ( หน้า ๒๗ )

และยังมีอีกหลายบทหลายบาท  ที่ผู้เขียนได้เรียงร้อยไว้ต่ออารมณ์สัมผัสของผู้อ่าน  ซึ่งจะได้ทั้งความรู้สึกแปลก ร่วมสมัย และสะเทือนใจเศร้าโศกร่วมไปกับเขาด้วย 

โดยสรุปแล้ว  สายรุ้ง  รุ่งเยือน เปรียบได้ดั่งทัศนียภาพอันแปลกตาสำหรับผู้อ่านในยุคสมัย  แต่เนื้อหาที่เขาบอกเล่า  กลับเป็นเรื่องราวที่หลายคนอาจคุ้นเคย เคยรู้สึกอย่างนั้น  จนต้องกล่าวว่า  ณรงค์ยุทธ เขียนออกมาทดแทนอารมณ์ ความรู้สึก แทนใจของผู้คนในยุคแห่งปัจเจกชนอันหม่นมัว ซับซ้อน เต็มไปด้วยความหวั่นระแวง ได้อย่างละเอียดลออและประณีตทีเดียว   เนื่องด้วยถ้อยคำของเขา เรียงร้อยออกมาได้หมดจิตหมดใจ ซึ่งสะท้อนได้ว่า เขามีภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยแท้

เนื้อหาโดยหลักใหญ่ที่ถ่ายทอด หรือแฝงเร้นอยู่ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ มักมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม  ซึ่งคล้ายกับมีวิถีชีวิตที่ด้านชากับความน่ารังเกียจ อันปรากฏจนดาษดื่นในความเป็นจริง  โดยเขาไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ความน่ารังเกียจเหล่านั้น หรือ ด่าทอชนชั้นนายทุนตามแบบฉบับของกวีนิพนธ์เพื่อชีวิตทั่วไป แต่เขาจำใจกะเทาะเปลือกอันหนาเทอะทะของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในสังคม ทั้งในนามของบุคคลและกลุ่มก้อนของชนชั้นต่าง ๆ

ทั้งนี้ จุดหมายหรือความใฝ่ฝันของเขา ที่ปรากฏอยู่ในหลายบทนั้น น่ามุ่งให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกที่จะมีน้ำใจให้กัน  มองเห็นความสำคัญกับคนอื่น  ดูเขาจะเน้นเรื่องความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากทีเดียว  ดังบทไร้ฉันทลักษณ์   ชื่อ แรงโน้มถ่วงของมิตรภาพ  ( หน้า ๔๒ )

ที่กล่าวถึงความรับผิดชอบระหว่างชีวิตต่อชีวิต  อารมณ์ต่ออารมณ์  ซึ่งกันและกัน   หรือ  จากปกหลังของเล่ม  ที่เขียนว่า

    จารจรดสายเรื่อรุ้ง        รุ่งเยือน
    อาจสั่งฝนสืบเตือน        ต่อกล้า
    ยามลมแดดแกร่งเหมือน        มามอบ
    แด่มิ่งขวัญจักรวาลฟ้า        แผ่นหล้าอเนกอนันต์.

หนังสือกวีนิพนธ์ “สายรุ้ง รุ่งเยือน” ของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ ออกมาในช่วงเวลาที่หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ พยายามบอกกันว่า กวีตายแล้ว  พร้อมกับฤดูลมฝนอันแปลกต่อความรู้สึกผู้คน ไม่เท่านั้น โดยเนื้อหาของกวีนิพนธ์ โดยรูปแบบฉันทลักษณ์ในเล่ม ก็ถือได้ว่า สร้างปรากฏการณ์ให้แก่ยุคสมัยได้มาก  เนื่องจาก สำนักพิมพ์ทุกวันนี้  หาจะพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ได้ยากเหลือเกิน แต่สำหรับเขาแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์เคล็ดไทยได้ให้โอกาสอันสง่างามแก่เขา

ซึ่งเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ได้ว่า กวีนิพนธ์ที่เปี่ยมคุณภาพนั้น ไม่เคยพ้นหาย หรือ ตายไปจากสังคมมนุษย์  เท่ากับว่าเป็นการสร้างแรงกำลังใจสำหรับคนรุ่นใหม่  ที่มุ่งมั่นฝันใฝ่จะก้าวเข้ามาในถนนสายกวีนิพนธ์  เพื่อสืบต่อช่วงซึ่งกันและกัน.

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ bookgarden