thanorm's picture

<p>นาม "ถนอม ไชยวงษ์แก้ว" คนรุ่นใหม่อาจฉงนฉงาย<br /> ทว่า อีกมากมายหลายคนคงคุ้นเคยเขา ในงานกวี และเรื่องสั้น ที่ตีพิมพ์มายาวนาน<br /> จำได้ว่า “กับความอาดูรสูญสิ้น” เขาเคยรับรางวัลชมเชย งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี พ.ศ.2527<br /> และงานในชุด “เหมือนดั่งดอกหญ้า” ได้รับรางวัลชมเชยจากงานเดียวกันเมื่อปี พ.ศ.2528<br /> และยังมีงานรวมเล่มอีกหลายเล่มด้วยกัน ไม่ว่าบทกวี ความเรียง เรื่องสั้นฯลฯ</p> <p>ปัจจุบัน เขากลับคืนสู่บ้านเกิด สู่กระท่อมทุ่งเสี้ยว สันป่าตอง</p>

บล็อกของ thanorm

ระหว่างความรุ่งเรืองและตกต่ำของชีวิต

10 October, 2007 - 00:18 -- thanorm

picture

ชีวิตของผม
เป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเอง

แต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพ

แต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ เหมือนลูกโป่งสวรรค์ที่หมดลม ค่อย ๆ ร่วงลงสู่พื้นดิน และเริ่มมองดูโลกนี้ช่างเต็มไปด้วยความทุกข์ที่น่าเกลียด น่าชัง น่าเบื่อหน่าย... ไม่น่าอยู่น่าอาศัยอีกต่อไป เหมือนอย่างที่ โอมาร์ คัยยัม กวีเปอร์เชีย แสดงธรรมะกวีเอาไว้ในหนังสือ รุไบยาต อันยิ่งใหญ่และงดงามของเขาเอาไว้ว่า

ยามชื่นชมสมสมัครรักชีวิต
ยามสิ้นคิดสิ้นหวังละชังแสน…
นั่นเอง

บางทีอาจจะเป็นเพราะว่า
ผมยังไม่เคยเก็บเรื่องนี้มาคิดอย่างจริงจัง และยังไม่อาจสรุปอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ผมจึงไม่อาจทำใจได้ว่ามันเป็นเรื่องราวธรรมดาของชีวิต แถมยังไม่รู้ด้วยว่า ควรจะเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับมันอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่ชีวิตต้องตกต่ำหรือรุ่งเรือง พูดง่าย ๆ ว่า ผมยังปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของมันอยู่นั่นเอง

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านเรื่อง “ความล้มเหลวของจางฉู่เม่ย” ในหนังสือที่ชื่อว่า “เจียระไนชีวิต” ที่เขียนโดย “อู๋เหม่ยซิน” ที่ผมหยิบยืมมาจากกัลยาณมิตรรุ่นน้องคนหนึ่ง

ผมจึงได้รับคำตอบในเรื่องนี้มากเกินกว่าที่ผมคาดคิด ผมจึงขอนำเรื่องนี้มาถ่ายทอดแบ่งปันให้คนที่ยังหวั่นไหวกับประสบการณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของชีวิตเหมือนอย่างตัวผม เผื่อว่าเรื่องนี้จะได้ช่วยเตือนสติให้ใครสักคนหนึ่ง ที่ชีวิตอาจจะกำลังรุ่งเรืองเจิดจ้าหรือว่ากำลังตกต่ำอับเฉาอย่างสุดขีด จะได้เก็บไปเป็นข้อคิดและปฏิบัติกับตัวเองในสภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ในทางที่ถูกที่ควร

เพราะผมมีความเชื่อว่า สิ่งที่ดีงามที่สุดที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน มีอยู่ประการเดียวเท่านั้น นั่นคือการมอบความปรารถนาดีและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังต่อไปนี้

ความล้มเหลวของจางฉู่เม่ย
โชคชะฟ้าลิขิตยากจะคาดเดา เมื่ออยู่ในสภาพที่ราบรื่นไร้อุปสรรค์ การจะมีมารยาทต่อผู้อื่นเป็นคนรู้จักกาลเทศะนั้น ใคร ๆ  ก็ทำได้ เมื่อใดที่ความทุกข์ยากมาเยือนอย่างกะทันหันพบกับอุปสรรคมากมาย  สภาพอันยากลำบากทำให้หมดกำลังใจ บางคนท้อแท้ ทำตัวเองให้ตกต่ำ ในสภาพการณ์เช่นนี้มีแต่ผู้ที่เข้มแข็งแท้จริงที่จะยืนหยัดตระหง่านอยู่ได้โดยไม่ล้ม อุปสรรคความยุ่งยากกังวลใจในอีกแง่หนึ่งเป็นยาชูกำลัง เป็นสิ่งจำเป็นอันจะขาดไม่ได้ในชีวิตมนุษย์

คนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดของการพ่ายแพ้ล้มเหลว ก็ยากจะเข้าใจรสชาติความทุกข์ โศกนั่นได้  ภาระอยู่บ่นไหล่ใครคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ คนที่คิดว่าจะผลักภาระไปให้คนอื่น ผลสุดท้ายจะต้องเสียใจว่า ไม่น่าเลย จะแก้ไขก็ไม่มีหนทางเสียแล้ว

จางฉู่เม่ย เป็นคนสวย มีเสน่ห์ อายุยี่สิบปี ก็แต่งงานได้สามีที่ดีมีชีวิตครอบครัวมั่นคงต่างรักใคร่ปรองดองกันดี เพื่อน ๆ เห็นว่าเธอกับสามี เป็นเหมือนกิ่งทองใบหยกทีเดียว แต่แล้ววันหนึ่งเมฆหมอกสีดำก็เข้ามาเยือน สามีของเธอประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกทับตาย ฉู่เม่ยเสียใจจนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ตลอดเวลา มีอะไรเข้ามากระทบนิดหน่อยก็โมโห กลายเป็นคนขี้เหล้าเมายา ถึงเพื่อน ๆ จะคอยปลอบใจ พยายามตักเตือนเธอให้ปรับปรุงตัวเสียใหม่ แล้วยังช่วยหางานเลขานุการในบริษัทให้ทำ แต่ฉู่เม่ยก็ยังคงหมกมุ่นกับความทุกข์ เอาแต่เล่นการพนันจนติดหนี้สินไปหมด ทำตัวตกต่ำ หน้าตาก็หมองคล้ำจนดูไม่ได้

ทุกครั้งที่เพื่อนมาชี้ข้อบกพร่องให้ เธอกลับตอบว่า “เธอคิดว่าฉันอยากเป็นอย่างนี้หรือ ถ้าสวรรค์ไม่แกล้งละก็ สามีของฉันคงไม่จากไปเร็วอย่างนี้และฉันคงไม่ต้องตกอยู่ในสภาพแบบนี้หรอก”

ก็ถูกของเธอ แต่ฟ้าจะช่วยเหลือแต่คนที่รู้จักช่วยตัวเองเท่านั้น การเอาแต่นั่งรอคอยซังกะตายเป็นลักษณะของคนอ่อนแอ อย่ามัวแต่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก คนฉลาดจะรู้จักช่วยเหลือตัวเองต่อสู้กับชีวิต และขอบคุณในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

ความสะดวกสบายราบรื่นมิได้เป็นสิ่งที่คงทนถาวร การเจอกับอุปสรรค ความยากลำบากอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ใช่จะตามรังควานเราตลอดชาติได้ ขอเพียงมีความอดทนไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตาก็จะสามารถฝ่าข้ามพายุชีวิตไปได้อย่างปลอดภัย

ในคัมภีร์ ไช่เกินถาน “รากเหง้าแห่งสติปัญญา” ได้กล่าวเตือนไว้ว่า ขณะกำลังเดินทางสู่ความตกต่ำ ก็ให้เตรียมใจที่จะพบความรุ่งเรืองไว้ เพราะช่วงตกต่ำนั้นมักนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ๆ  ในขณะที่ราบรื่นรุ่งเรืองก็ให้ระวังและเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลง บอกกับตัวเองว่า เมื่อพบกับความยากลำบากให้อดทนและอย่ายอมแพ้.

หมายเหตุ : เจียระไนชีวิต อู๋เหม่ยซิน เขียน  ลีฮวง โค้วเจริญ แปลและเรียบเรียง
สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ ครั้งที่ 4 มิถุนายน 2538

6 ตุลาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

คนพิเศษ

29 September, 2007 - 02:15 -- thanorm

pic

ผมเคยรู้จักคนบางจำพวก
ที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน

ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ เหมือนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มักจะเป็นกัน จนหลาย คนกลายเป็นโรคเครียดและนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นต้นตอของโรคร้ายอีกมากมายหลายชนิด

หากจะเปรียบความพิเศษของคนพวกนี้
ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่เข้าใจ ได้ง่ายคนพวกนี้ก็เหมือนนักเดินทางที่แบกสัมภาระไว้บ่นบ่า เมื่อเดินทางไปจนเหนื่อยหนัก เขาก็สามารถสั่งให้ตัวเองหยุดพักและปลดวางสัมภาระลงจากบ่า พักผ่อนเอาแรง พอหายเหนื่อย…เรี่ยวแรงกลับคืนมา ก็ลุกขึ้นแบกสัมภาระเดินทางต่อ …สลับกันไป จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางโดยราบรื่น นี่ คือเรื่องง่าย ๆ ของชีวิตที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ และทำได้โดยง่าย

แต่การแบกสัมภาระของชีวิต
ที่เป็นนามธรรมที่มีอยู่ในความคิดจิตใจของเรา น้อยคนนักที่จะสามารถสั่งให้ตัวเองหยุดพัก และปลดสัมภาระในหัวใจของตัวเองลงได้ง่าย ๆ เหมือนปลดสัมภาระที่เป็นวัตถุข้าวของลงจากบ่า – ในเวลาที่หัวใจของตัวเองเหนื่อยหนัก เช่นอย่างตัวผมนี่…บ่อยครั้ง-ทั้ง ๆ ที่รู้แก่ใจดีว่าปัญหาชีวิตบางอย่าง ยิ่งเก็บมาคิดยิ่งทำให้เกิดความเครียดและเป็นทุกข์กังวลแทบจะบ้า แต่ก็ไม่สามารถปลดมันออกจากหัวใจลงมาปล่อยวางได้ เพราะมันเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตาจับต้องไม่ได้ด้วยมือ รู้แต่ว่ามันอยู่ในความคิดจิตใจ…รู้แต่ว่ามันทำให้เราเป็นทุกข์หนักเหมือนแบกโลกไว้ทั้งโลก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรยกมันออกไปให้พ้น ๆ จากอกได้

ผมจึงถือว่าคนที่มีลักษณะพิเศษแบบนี้
เป็นคนเกิดมาโชคดีมีบุญ ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับการกล่อมเกลาทางจิตใจในเรื่องนี้มาจากครอบครัว-ตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนเป็นนิสัย พวกเขาก็น่าจะได้รับพรจากสวรรค์มาตั้งแต่กำเนิด

ในชีวิตของผมเคยรู้จักและพบคนประเภทไม่ถึงสิบคน ผมเคยถามใครบางคนเกี่ยวกับความพิเศษของเขาว่าเป็นเพราะอะไร…ชีวิตของเขาจึงแทบไม่รู้จักความทุกข์กังวลกับปัญหาชีวิตใด ๆ เขากลับย้อนถามผมอย่างงง ๆ ง่า

“มันเป็นอย่างไรนะความทุกข์กังวล”
“ก้อ…คือการที่คนเราเก็บปัญหาโน่นปัญหานี่ของชีวิตมาคิดมากเกินไปจนเกิดความไม่สบายใจและเครียด…จนกินไม่ได้นอนไม่หลับยังล่ะ”
“อ๋อ อย่างนั้นเหรอ ไม่รู้สิ …ผมไม่เคยเป็นอะไรถึงขนาดนั้นหรอก ไม่รู้เป็นเพราะอะไรคนอย่างผมนี่…ไม่ว่าชีวิตจะมีปัญหาเรื่องอะไร พอถึงเวลานอนหลับ…มันจะเลิกคิดและนอนหลับไปเองโดยอัตโนมัติ พอตื่นขึ้นมาพบเรื่องที่ยังแก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดไหนมันก็จะเลิกคิดของมันไปเอง ชีวิตก็ควรจะเป็นอย่างนี้มิใช่หรือ ไม่เห็นมีอะไรแปลก ขืนคิดไปก็บ้าเท่านั้น”

ผมฟังแล้วอยากร้องไห้ เพราะมันเป็นคำตอบที่ผมรู้อยู่แก่ใจดี แต่ผมทำไม่ได้เท่านั้นเองแหละว่ะ

เรื่องของพวกเขามีอยู่เพียงแค่นี้

เพราะพวกเขาไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีแต่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับมันต่อไป

เรื่องนี้คนโบราณทางล้านนาได้ผูกเป็นภาษิตเตือนใจเอาไว้ว่า “หน่วยนักหักกิ่ง กิ๊ดนักหนักใจ๋”

แปลเป็นภาษากลางตรงตัวได้ใจความว่า “ผลมากหักกิ่ง คิดมากหนักใจ”

หมายความว่า คนเราไม่ควรเก็บปัญหาโน่นปัญหานี่ของชีวิตมาคิดมากเกินไป …จนเป็นทุกข์เกินเหตุ หาไม่เช่นนั้น สมองความคิดจิตใจอาจจะมีอันเป็นไปต้องเจ็บป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล เหมือนต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลมากเกินไปจนกิ่งก้านหัก เพราะทานรับน้ำหนักมากไม่ไหว

นอกจากภาษิตล้านนาแล้ว ยังมีภาษิตเก่าแก่ของอังกฤษบทหนึ่ง ที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างงดงามราวกับบทกวีว่า

ความทุกข์ยากทุกอย่างในโลกนี้
มีวิธีแก้ หรือไม่มี
ถ้ามี ขอให้พยายามหาวิธีแก้
ถ้าไม่มี ก็อย่ากังวลหา

ครับ…ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่คนพิเศษ แต่ผมเชื่อว่าภาษิตเตือนใจนี้ คงจะช่วยให้หลายท่านได้สติ…ผ่อนคลายความคิดที่ทำให้เกิดความคิดกังวลในชีวิตลงบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากท่านใดได้อ่านเรื่องนี้แล้ว เกิดรู้แจ้งเห็นจริง สามารถที่จะปล่อยวางหรือสลัดมันออกไปในทันทีทันใด ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ.

25 กันยายน 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ thanorm