Skip to main content

ผมได้ยินชื่ออาจารย์ยิ้มครั้งแรก เมื่ออาจารย์ถูก “ศอฉ.” คุมตัว หลังการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะนั้นผมเป็นนิสิตปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษ แต่เริ่มรู้สึกว่าการเมืองเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที ตั้งแต่เสียงยิงกันและการชุมนุมปิดถนนใกล้มหาวิทยาลัย จนกระทั่งการคุมตัวอาจารย์ในคณะและรุ่นพี่บางคนก็ถูกเรียกตัว

            ในตอนแรก ผมเรียนเอกภาษาอังกฤษ แต่เหตุการณ์พฤษภา 53 ได้กระตุ้นให้ผมหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เมื่อกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตก้าวหน้าที่เคลื่อนไหวอยู่ในจุฬาฯ ณ ขณะนั้น จัดกลุ่มศึกษาเรื่อง “สังคมวิทยาของคนเสื้อแดง” เพื่อตอบคำถามพื้นฐานว่าคนเสื้อแดงคือใคร ผมก็เข้าไปร่วมฟัง และหลังจากนั้นก็ได้ตกลงเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยทันที หลังจากได้เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมือง รวมทั้งได้ทำกิจกรรม พบปะกับนักเคลื่อนไหวมากขึ้น ผมจึงตัดสินใจ “เปลี่ยนเอก” จากเอกภาษาอังกฤษ เป็นเอกประวัติศาสตร์ เพราะเชื่อว่าประวัติศาสตร์สามารถช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับความขัดแย้งในปัจจุบันได้ดีกว่าการเรียนวรรณคดีและภาษาศาสตร์แน่

 

เรียนกับอาจารย์ยิ้ม

            โดยไม่ได้ตั้งใจ ผมได้เรียนกับอาจารย์ยิ้มครบทุกวิชา คือวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ประวัติท้องถิ่น และปรัชญาประวัติศาสตร์ ความรู้สึกเมื่อเรียนกับอาจารย์ยิ้ม คืออาจารย์ยิ้มเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ Classic จริงๆ แบบที่เวลาคนจินตนาการถึงนักประวัติศาสตร์ จะต้องนึกถึงภาพแบบนี้ คือแม่นเรื่องวัน เดือน ปี และแม่นเรื่องชื่อคน ประวัติศาสตร์แบบอาจารย์ยิ้ม จะมีชื่อคนมากมาย และวันที่เต็มไปหมด ความแม่นของอาจารย์ยิ้มนี้ เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในระยะหลังนักประวัติศาสตร์หันมาสนใจเรื่องไอเดียและทฤษฎีมากขึ้นจนบางครั้งละเลยข้อมูลพื้นฐาน (รวมทั้งผมเองด้วย) อาจารย์ยิ้มจึงเป็นแบบอย่างของนักประวัติศาสตร์ที่ Classic และหาตัวจับได้ยาก

            อีกอย่างหนึ่งที่ทุกคนที่ได้เรียนกับอาจารย์ยิ้มจะเจอ ก็คืออาจารย์ยิ้มจะให้นิสิตอ่านวรรณกรรม 1 เล่มแล้วเขียนรายงานออกมาเสมอ อาจารย์ยิ้มเองเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรม เข้าใจว่าอ่านพวกนิยายกำลังภายในจีนจนช่ำชอง เวลาเรียนกับอาจารย์ทุกวิชา อาจารย์จะให้จับฉลาก นิสิตแต่ละคนจะได้วรรณกรรมหนึ่งเล่ม แล้วให้เขียนสรุปวิเคราะห์โดยให้เกี่ยวเนื่องกับวิชานั้น ๆ การได้อ่านวรรณกรรมเป็นการเปิดโลกทรรศอย่างมาก ไม่มีวิชาประวัติศาสตร์อื่นใดให้อ่านวรรณกรรมยกเว้นวิชาที่อาจารย์ยิ้มเป็นผู้รับผิดชอบ ประวัติศาสตร์นั้นมีความรู้สึก ชีวิต จิตใจ และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ผ่านงานวรรณกรรม

            มีวรรณกรรมเรื่องนึงที่ผมจำได้ คือเรื่อง What is to be done? ของ Chernyshevsky ซึ่งว่ากันว่าเลนินได้อ่านหลายครั้งและเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือชื่อเดียวกันออกมา อันที่จริงตอนผมจับฉลากในวิชาประวัติศาสตร์รัสเซีย ผมได้วรรณกรรมเล่มอื่น แต่อาจารย์ยิ้มคงเห็นผมเป็นพวกนักกิจกรรม เลยเสนอให้อ่านเล่มนี้ เพราะเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีใครเขาอ่านกัน และมีให้ยืมได้ที่ห้องสมุดกลาง หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษารัสเซียในปี 1863 พอมาอ่านในยุคสมัยนี้พบว่าน่าเบื่อมากทั้งในเชิงภาษาและโครงเรื่อง ผมก็เขียนรายงานไปตามความรู้สึกและสติปัญญาที่พอจะทำได้

            ต่อมาดูเหมือนว่าอาจารย์ยิ้มจะประทับใจรายงานฉบับนั้น ราวปลายปี 2559 อาจารย์ยิ้มติดต่อผมมาบอกว่าค้นเจอรายงานเรื่อง What is to be done? ที่ผมเคยเขียนเมื่อเป็นนิสิต อาจารย์อยากจะให้ผมแก้ไขบทความเล็กน้อยเพื่อเอาไปตีพิมพ์ในวารสารยุโรปศึกษา สิ่งที่ผมรู้สึกผิดมากจนถึงตอนนี้ คือในเบื้องต้นผมได้รับปากอาจารย์เอาไว้ แต่ดันมา “เบี้ยว” เอาภายหลัง เพราะขณะนั้นผมวุ่นอยู่กับการปิดเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาโท รวมทั้งกำลังเตรียมเขียน proposal ต่อในระดับปริญญาเอก จึงไม่ได้แก้ไขส่งไปให้อาจารย์ ได้แต่ส่งไฟล์เท่าที่ผมมีให้อาจารย์ไป นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ติดต่อกับอาจารย์ยิ้ม

            กลับมาสู่เรื่องสมัยเรียนกับอาจารย์ จำได้ว่าทุกปีอาจารย์ในภาควิชาสามารถจะเปิดวิชาที่ตนสนใจได้ ปีนั้นถึงตาของอาจารย์ยิ้ม เขาจึงมาถามกับนิสิตว่า อยากจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์โปรตุเกส หรือปรัชญาประวัติศาสตร์ อาจารย์ยิ้มเป็นอาจารย์ไม่กี่คนในไทย ที่ศึกษาประวัติศาสตร์โปรตุเกสจนเชี่ยวชาญ แต่ผมไม่แน่ใจว่าตั้งแต่อาจารย์ยิ้มเรียนจบมา เขาได้เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์โปรตุเกสบ้างหรือเปล่า ปีนั้นก็เช่นกัน เมื่ออาจารย์ยิ้มเสนอทางเลือกคือวิชาปรัชญาประวัติศาสตร์ ทุกคนก็เลือกที่จะเรียนวิชาปรัชญาประวัติศาสตร์ ทำให้อาจารย์ยิ้มต้องไปเตรียมสอนมาอย่างหนัก (อาจารย์ยิ้มกระซิบบอกผมว่า ให้ไป “ขโมย” syllabus ของคนชื่อสมศักดิ์ จากสำนักธรรมศาสตร์มาให้หน่อย) มีเรื่องตลกก็คือ เมื่ออาจารย์ยิ้มแจกรายชื่อหนังสืออ่านประกอบวิชาเรียบร้อยแล้ว เขาบอกว่า "ไม่ต้องไปหามาอ่านหรอก หนังสืออยู่ที่ผมหมดแล้วเพราะผมต้องใช้เตรียมสอน!"

รายชื่อ "นักประวัติศาสตร์" ที่เราต้องเรียนในวิชา "ปรัชญาประวัติศาสตร์" เพื่อนผมชื่อป่านถ่ายเอาไว้ตอนเราติวกันที่หอสมุดกลาง ป่านอัพในเฟสบุ๊คว่า "อาจารย์คะมันเยอะจังค่ะ" อาจารย์ยิ้มเขียนตอบว่า "เอาประเด็นหลักสิป่าน"

            เมื่อได้เรียนกับอาจารย์หลายวิชา ก็สนิทสนมกันมากขึ้น ทุกวิชาที่ผมเรียน อาจารย์จะมอบหน้าที่ให้ผมไปซื้อกาแฟในช่วงเวลาพักครึ่ง โดยเรียกผมว่า “หนูดิน” เช่น “เอ้า หนูดิน ไปซื้อกาแฟ” ช่วงแรกเขาจะกินแต่เนสกาแฟกระป๋องซึ่งหวานเจี๊ยบ ไม่รู้กินไปได้อย่างไร เมื่อตึกใหม่ของคณะอักษรศาสตร์เปิดให้ใช้ และมีร้านกาแฟทรูมาเปิดด้วย เขาก็หันไปกินกาแฟทรูใส่นม นอกจากนี้ หากมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยได้ ผมก็ช่วย เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง USB ของอาจารย์ยิ้มโดนไวรัส ทำให้ไฟล์เหมือนจะหายไปหมด โชคดีที่ผมก็เคยโดนและเข้าใจว่าอันที่จริงมัน “ซ่อน” ไฟล์ไว้ ไม่ได้หายไปไหน ผมเลยอาสาเอา USB อาจารย์กลับบ้านแล้วช่วยล้างไวรัสให้ อาจารย์ยิ้มตกใจแทบแย่นึกว่าเอกสารทุกอย่างที่เตรียมไว้จะหายไปหมดซะแล้ว

            มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาจารย์ยิ้มช่วยชีวิตผมเอาไว้ ด้วยความเป็นคนไม่เอาไหน ขี้เกียจ และชอบนอนเป็นชีวิตจิตใจ ผมหลับสนิทในวันที่จะต้องไปสอบวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวิชาบังคับของภาควิชา เมื่อหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ผมยังไม่โผล่ไปที่ห้องสอบ อาจารย์ยิ้มซึ่งเป็นทั้งผู้สอนและผู้คุมสอบ ก็โทรเข้าเบอร์มือถือของผม ถามว่าอยู่ไหน นี่ผ่านไปชั่วโมงนึงแล้ว ผมตกใจรีบใส่กางเกง หน้าไม่ล้าง ฟันไม่แปรง ไปถึงห้องสอบภายใน 15 นาที ก่อนที่จะหมดสิทธิสอบ ที่น่าตกใจคือมีคนมาสายกว่าผมอีก มายืนร้องไห้เพราะอาจารย์ไม่ให้เข้าสอบ แต่เข้าใจว่าตอนหลังอาจารย์ยิ้มจะอนุโลมให้สอบได้อยู่เหมือนกัน วิชานั้นผมเขียนเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง และได้เกรด A

 

          อาจารย์ยิ้มกับกิจกรรมนักศึกษา

นอกจากเรื่องการสอนแล้ว ความเป็นนักกิจกรรมของอาจารย์ยิ้มก็เป็นที่รู้กันดี อาจารย์มีบทบาทพบปะเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวช่วงหลังปี 53 อยู่เป็นประจำ ความเป็นนักกิจกรรมของอาจารย์ยิ้ม ย้อนกลับไปเมื่อครั้งอาจารย์เองเป็นนักศึกษา เมื่อผมได้สัมภาษณ์อาจารย์ยิ้มในหัวข้อขบวนการนักศึกษาหลัง 2519 เพื่อทำรายงานวิชาประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย อาจารย์เล่าเรื่องของการทำงานของนักเคลื่อนไหวในเมืองที่เรียกว่า “องค์กรผู้ปฏิบัติงาน” ผมจำได้ดีว่าอาจารย์ยิ้มพูดถึงความพ่ายแพ้ด้วยความโกรธ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นทุ่มเทของอาจารย์ในเรื่องการเคลื่อนไหว: “ปี 23 ยุบองค์กร ต่อมาปี 24 นี่พรรคก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยุบหมด บนดินก็พัง ปี 27 – 28 พวกเชียร์จะกลับมา พังเพราะพรรคก็พัง พังทั้งขบวน ผมทำงาน ผู้ปฏิบัติงานลาออกทุกวัน”

            ที่เกี่ยวข้องกับผมโดยตรง คือเมื่อผมและเพื่อนๆ พยายามจะจัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” ในช่วงปลายปี 2554 ในนามกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) โดยตั้งใจจะจัดที่คณะอักษรศาสตร์ ปรากฎว่าทางคณะบ่ายเบี่ยงพยายามไม่ให้เราใช้ตึก โดยการขอเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรของเราและให้มีอาจารย์ลงนาม พวกเราได้ไปขอให้อาจารย์ยิ้มช่วย และอาจารย์ก็ได้ลงนามให้เราอย่างรวดเร็ว แต่ทว่า สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้จัดที่คณะอักษรฯ เพราะมีจดหมายจากคณบดีตอบกลับมาว่า “เรื่องนี้เห็นจะเกินกำลังของคณะ ให้ติดต่อมหาวิทยาลัย” เราจึงย้ายไปจัดที่คณะรัฐศาสตร์แทน

            นอกจากนี้ อาจารย์ยิ้มยังได้ช่วยเหลือกลุ่ม CCP อีกหลายครั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อเราจัดเสวนา “รักลั่นสนั่นเมือง” ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2556 อาจารย์ยิ้มก็ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร (ดูรายละเอียดงานเสวนาได้ที่ https://prachatai.com/journal/2013/02/45285) พวกเราจะแซวกันว่าอาจารย์ยิ้มพูดได้ทุกเรื่อง เชิญมาร่วมงานไหนก็มา (หากไม่ติดภารกิจรับลูก) ความเป็นจริงก็คือเราประทับใจทุกครั้งที่อาจารย์ยิ้มมา เพราะอาจารย์ยิ้มรู้กว้างและลึก เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากอาจารย์ยิ้มอยู่เสมอ หากอาจารย์ยิ้มมาไม่ได้ เขาก็จะให้กำลังใจเรา เมื่อเราจัดเสวนา “เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?” อาจารย์ยิ้มซึ่งเจอผมในโถงทางเดินคณะอักษรศาสตร์ ได้ให้กำลังใจและเล่าให้ฟังว่าสมัยเขาเป็นนักศึกษานั้น เขาได้ยกเลิกไม่ให้มีงานบอลและปรับเปลี่ยนงานบอลให้มีลักษณะก้าวหน้าขึ้นในปีต่อๆ ไป

  

          อาลัยอาจารย์ยิ้ม

          มีบางช่วงสมัยที่ผมเป็นนิสิต อาจารย์ยิ้มมีปัญหาสุขภาพมาก ผมจำได้ดีว่าอาจารย์ขึ้นบันไดอย่างยากลำบาก ต้องก้าวขึ้นทีละก้าว แต่ช่วงผมใกล้จบ อาจารย์สุขภาพดีขึ้นมาก ดูแข็งแรง น้ำหนักลด อาจารย์บอกผมว่าเปลี่ยนหมอและเปลี่ยนยา ทำให้เรื่องเบาหวานนั้นดีขึ้น

            มีคนบอกผมเป็นระยะว่าอาจารย์ยิ้มป่วย เข้าโรงพยาบาล เมื่อราวเดือนกรกฎาคมปี 2560 ผมไม่ทราบรายละเอียด และไม่นึกว่าอาการจะหนัก หลังจากนั้นไม่นานอาจารย์ก็ออกจากโรงพยาบาล และกลับมาเล่นเฟสบุ๊ค ผมจึงสบายใจและดีใจว่าอาจารย์หายแล้ว จนสุดท้ายต้องมาเสียใจเป็นอย่างมาก เมื่อได้ข่าวว่าอาจารย์ได้จากเราไปแล้วเมื่อเช้าวันที่ 27 กันยายน 2560

            ในฐานะอดีตนิสิตที่ได้เรียนกับอาจารย์ และได้รับแรงบันดาลใจเรื่องการเคลื่อนไหวของอาจารย์ ผมคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในปริญญาเอก กลับมาสอนหนังสือโดยมีอาจารย์เป็นตัวอย่าง (ถ้าผมได้สอน ผมจะให้นักศึกษาอ่านวรรณกรรมบ้าง อย่างที่อาจารย์ได้เคยให้พวกเราทำ) ส่วนในเรื่องบ้านเมืองนั้น แม้อาจารย์ยิ้มจะไม่ทันได้เห็นบ้านเมืองเป็น “ประชาธิปไตย” แต่อาจารย์ยิ้มได้ทิ้งมรดกไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือและบทความหลายชิ้นที่อาจารย์เขียน สิ่งที่อาจารย์ยิ้มได้ทิ้งไว้จะกลายเป็น “ทุน” ที่สำคัญสำหรับคนรุ่นหลังที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์ได้วาดหวังเอาไว้ต่อไป

            แด่ครูและราษฎร์บัณฑิตที่รักของเราทุกคน

ภาพสุดท้ายที่ถ่ายกับอาจารย์ยิ้ม ในรูปมีผมและเหมี่ยวเพื่อนเอกประวัติศาสตร์ ถ่ายวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ไม่นานก่อนผมไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผลแพร่มาก่อน* เอกสารที่น่าทึ่งชิ้นนี้ถูกค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส เมื่อปีที่แล้ว เป็นบทสัมภาษณ์โดยหนังสือพิมพ์ Obs เมื่อปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ในบทสัมภาณ์นี้ มิเชล ฟูโกต์อธิบายความสนใจของเขาในเรื่องการปฏิวัติอิหร่าน และเรื่อง “จิตวิญญาณ” ในฐานะพลังทางการเมือง
ดิน บัวแดง
ผมได้ยินชื่ออาจารย์ยิ้มครั้งแรก เมื่ออาจารย์ถูก “ศอฉ.” คุมตัว หลังการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะนั้นผมเป็นนิสิตปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษ แต่เริ่มรู้สึกว่าการเมืองเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที ตั้งแต่เสียงยิงกันและการชุมนุมปิดถนนใกล้มหาวิทยาลัย จนกระทั่งการคุมตัวอ
ดิน บัวแดง
ลาน Place de la République ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นที่จัดชุมนุมต่าง ๆ เพราะเป็นลานใหญ่ อยู่กลางกรุงปารีส ตรงกลางของลานมีอนุสาวรีย์ la République หรือ Marianne ถือคบเพลิง เป็นสัญลักษณ์ของระบอบสาธารณรัฐ อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.
ดิน บัวแดง
ผู้เขียนโชคดีมาก ๆ ที่ไปเล่นเกมส์ตอบคำถามออนไลน์ แล้วดันเป็นผู้โชคดี ได้รับบัตรดูหนังที่โรงหนัง Louxor ฟรีตลอดปี ไปกี่ครั้ง ดูกี่เรื่องก็ได้ พาเพื่อนไปได้ฟรีอีกคนนึงอีกต่างหาก แต่แล้วก็ไม่เคยได้ยินชื่อโรงหนังนี้มาก่อนเลย วันนี้เลยไปลองดูหนังมาซักเรื่อง พอกลับบ้านก็ลองมาค้นประวัติโรงหนังดู พบว่าน่
ดิน บัวแดง
ปารีสช่วงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่เลื่องลือเรื่องอากาศแปรปรวน เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายวันก่อนแดดออกทั้งวัน อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 19 องศา ถือว่าเป็นอุณหภูมิที่พบได้ปลายเดือนเมษายน ปรากฎว่ามาวันนี้อากาศกลับเย็น เมฆครึ้ม ลมพัดแรง
ดิน บัวแดง
หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารโหด Charlie Hebdo ก็มีปฏิกิริยาตอบโต้จากสถานศึกษาต่าง ๆ ในฝรั่งเศสแทบจะทันที ในแง่หนึ่ง ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสก็กลายเป็น "แพะรับบาป" เพราะฆาตกรที่ก่อเหตุนั้น เป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นผลผลิตของความล้มเหลวในการปลูกฝัง "คุณค่าของสาธารณรัฐ" ผ่านระบบการศึกษาในฝรั่งเศสเอง หนึ่งใ
ดิน บัวแดง
ฉากหลังเห็นควันบุหรี่จากทหารนายหนึ่ง ในขณะที่ทหารอีกนายหนึ่งคาบบุหรี่อยู่ ภาพจาก ECPAD
ดิน บัวแดง
Charb นักเขียนการ์ตูนแนวเสียดสีชื่อดังของ Charlie Hebdo เพิ่งเขียนการ์ตูนแซวเหล่าผู้ก่อการร้ายในหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุด มีข้อความว่า "ยังไม่มีการก่อการร้ายในฝรั่งเศส (?) เดี๋ยว ๆ, เรายังมีเวลาถึงปลายเดือนมกราคมเพื่อที่จะ 'ให้พร' เหล่านั้น" (ประเพณีฝรั่งเศส คือการอวยพรปีใหม่สามารถยืดไปได้ถึงปลายเดื
ดิน บัวแดง
ทหารสยามมาถึงฝรั่งเศสปลายเดือนกรกฎาคมปี 1918 และบางหน่วยออกไปแนวหน้าช่วงกลาง ๆ กันยายน แต่เล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ดูไม่ลงตัว คือเรื่องของอาหาร*
ดิน บัวแดง
วิชาปรัชญาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมปลายในฝรั่งเศสมายาวนานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิที่ 1 ในปี 1808 แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปขณะนี้ที่อาจจะไม่บังคับ หรือไม่มีเลย ถ้าบังคับก็จะมีบางประเทศ เช่น สเปน แต่ก็ไม่ใช่ปรัชญาโดยตรง แต่เป็นประวัติศาสตร์ปรัชญามากกว่า
ดิน บัวแดง
วันที่ 7 พฤษภาคม 2014 Google ฝรั่งเศสนำเสนอภาพหญิงยุโรปคนหนึ่ง แต่งกายแบบชนชั้นกลางสมัยศตวรรษที่ 18 กำลังอภิปรายอยู่บนแท่นปราศรัย
ดิน บัวแดง
"Violer le droit, supprimer l’Assemblée, abolir la constitution, étrangler la république, terrasser la nation, salir le drapeau, déshonorer l’armée, prostituer le clergé et la magistrature, réussir, triompher, gouverner, administrer, exiler, bannir, dé­porter, ruiner, assassiner, régner, avec des