Skip to main content

     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริงแล้ว คำว่า Metrosexual มีนิยามเหมือนกับคำขวัญของโฆษณาที่ว่า “ผู้ชายก็รักหน้าสวยเหมือนกัน” นั่นคือ ผู้ชายที่รักสวยรักงาม เช่นมีเครื่องสำอางมาประทินโฉม หรือ พิถีพิถันในเรื่องการแต่งกายมากกว่าชายปกติทั่วไป เป็นคำที่ถูกค้นคิดโดยนายมาร์ก  ซิมสัน นักเขียนประจำสำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษในปี 1994 จากหนังสือของเขาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเพศชายในยุคปัจจุบัน มีชื่อเต็ม ๆ ว่า The Male Impersonator : Men Performing Masculinity  กล่าวสั้นๆ ว่าพวกเมโทรเป็นผู้ชายที่หมกมุ่นกับหน้าตาและภาพลักษณ์ของตัวเองอย่างมหาศาล

    ซิมสันยังใช้แนวคิดแบบซิกมันด์ ฟรอยด์ ศาสดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือ Narcissism นั่นคือ คนเป็นเมโทรจะหลงรักตัวเองโดยการต้องการให้ภาพลักษณ์อันสวยงามของตนไปปรากฏตัวบนนิตยสารหรือหนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้เงินไปมากน้อยแค่ไหน  คำว่า Narcissim นี่มาจาก ชื่อจากเทพบุตรรูปงามนามว่านาซีซัส ในเทพนิยายกรีกที่มีนางไม้ไปหลงรัก แต่เขาไม่สนใจ เลยมีพรรคพวกของนางไม้มาช่วยล้างแค้นแปลงร่างเป็นแม่น้ำ เมื่อนาซีซัสเดินข้ามเห็นเงาตัวเองก็เกิดหลงรักตัวเองจนหัวใจสลายตาย สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นความเป็นเมโทรก็คือ ระบบทุนนิยมที่ต้องการขายภาพความสวยความงามของผู้ชาย เช่นโฆษณาเครื่องสำอางสำหรับท่านชาย และ พวกรักร่วมเพศซึ่งเป็นเจ้าตำรับแห่งการรักสวยรักงามมาแต่ไหนแต่ไร อาจเพราะเห็นว่ามีโอกาสได้กำไรอยู่มากหากก้าวพ้นจากการมุ่งแต่กลุ่มผู้หญิงซึ่งเป็นผู้บริโภคเครื่องสำอางส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบัน ผู้ชายที่ไม่ใช่พวกรักร่วมเพศก็สามารถเป็นเมโทรได้ โดยเฉพาะผู้ชายชนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ มากกว่าแถวชนบทอาจนอกจากจะมีรายได้มากกว่าแล้วยังเปิดรับต่อระบบบริโภคนิยมจนมีแนวโน้มที่จะทำตามการกำหนดของแฟชั่นมากกว่า จะว่าตามจริงแล้วระบบทุนนิยมเป็นการสร้างมายาคติให้ผู้บริโภคหมกมุ่นกับตัวเอง แบบ Narcissism ทั้งนั้น ดังสังเกตได้ว่า โฆษณาทีวีมันจะพูดแต่ว่า "คุณๆๆ" ทั้งนั้น แน่นอนในหัวของผู้บริโภคท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมก็มีแต่ "ฉันๆๆ" ด้วยในเมืองใหญ่ ๆ ความเป็นปัจเจกประเภท "เรื่องของฉัน"ย่อมมีมากว่าชนบทที่ยังอิงอยู่กับสังคมแบบเก่าอยู่มาก จะว่าอย่างนี้ก็ไม่เชิง เพราะปัจจุบัน ระบบทุนนิยมและการสื่อสารเช่นทีวี อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ มันทันสมัย ไปได้ถึงที่ ชาวบ้านก็หมกมุ่นกับ "เรื่องของฉัน" ไม่แพ้กัน อันเป็นการทำให้พรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทหรือ ชนชั้นกลางกับชนชั้นรากหญ้ามีความไม่ชัดเจนนัก

      หากมองไปในเชิงการศึกษาด้านเพศสภาพ (Gender study) พวกเมโทรได้เปลี่ยนแปลง Gender role หรือบทบาททางเพศเสียใหม่จากเดิมที่สังคมมองว่าผู้ชายแท้ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงาม พวกเมโทรคือพวกผู้ชายที่กล้าแสดงออกว่าตัวเองสามารถสัมผัสกับด้านที่เป็นผู้หญิงของตัวเอง โดยที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรสนิยมทางเพศเลย เพราะยังคงเป็นพวกรักต่างเพศ หรือ Heterosexual ยังเนียวแน่น กระนั้นหากมีใครลามไปแต่งกายเป็นผู้หญิง ก็จะกลายเป็นดังคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่ว่า Transvestism คือพวกที่ชอบแต่งกายเป็นเพศตรงกันข้าม คนแบบนี้ใช่ว่าจะเป็นเกย์นะครับ ผู้ชายรักต่างเพศก็มีอยู่ไม่น้อย ที่เมืองนอกถึงกลับประท้วงขอสิทธิในการใส่กระโปรง (ในเมื่อผู้หญิงใส่กางเกงได้ ทำไมผู้ชายถึงใส่กระโปรงไม่ได้ ?)  อันนี้คงคล้าย ๆ กับภาพยนตร์ Tootsie (1982)  ที่ดัสติน ฮอฟฟ์แมนแสดงเป็นดาราหนังตกกระป๋องจนต้องปลอมตัวเป็นดาราหญิงและประสบความสำเร็จ ทั้งที่เขายังคงเป็นผู้ชายธรรมดา แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ชอบการแต่งกายแบบผู้หญิงไปแม้ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับนางเอกในตอนจบก็ตาม

      แน่นอนว่าพวกเมโทรที่เป็นดาราจะใช้ภาพพจน์เช่นนี้เป็นจุดขายให้พวกคนดูสาวๆ ติดกันมากขึ้น ปัจจุบันกระแสวายหรือคู่จิ้นเริ่มมาแรงแม้จะเป็นแค่หนังหรือเรื่องสมมติก็ตาม วงการบันเทิงเริ่มนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศมากขึ้นโดยเลื่อนพวกรักร่วมเพศจากตัวประกอบหรือตัวตลกหรือตัวร้ายมาเป็นตัวเอก ผู้ชายแบบเมโทรหลายคนก็ไม่แคร์สังคมอาจจะแสดงหนัง รับบทบาทเป็นเกย์ในบางเรื่อง นัยว่าเพื่อสร้างกระแสความสนใจหรือปรับปรุงฝีมือการแสดง อันนี้ก็แล้วแต่กรณี ภาพที่จะทำให้คนตกตะลึงได้ก็คือการจูบปากเพศเดียวกันไม่ว่าหญิงกับหญิงหรือชายกับชาย ถึงแม้จะเป็นแค่การโพสท่า คนโดยมากจะเข้าใจว่าเป็นแค่เรื่องสมมติ (ถึงแม้จะสงสัยรสนิยมของคน ๆนั้นอยู่บ้าง) ทว่ายิ่งสร้างความชอบให้กับสาวๆ ที่นิยมหนังเกย์มากขึ้น

    กระนั้นแนวคิดที่ว่า "ชายแท้ย่อมไม่รักสวยรักงาม" นี้ไม่ทราบว่ามาจากไหนหรือว่าเป็นคติที่ได้จากตะวันตกเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะตามความจริงแล้วในสังคมหลาย ๆ สังคมหรือหลายยุคในอดีต ผู้ชายกับความงามเป็นของคู่กัน ดังการแสดงละครของชาติต่างๆ เช่นของญี่ปุ่นที่ไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเวทีก็เน้นการแต่งหน้าและการแต่งตัวของผู้ชาย การแสดงละครเวทีหรืออุปรากรของยุโรปในสมัยก่อนก็ไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเวทีก็ให้เด็กหนุ่มที่ถูกตอนอวัยวะเพศให้มาแสดงเป็นผู้หญิง (Castrato) เพราะมีเสียงที่แหลม เช่นเดียวกับสังคมหลายยุคเช่นพุทธกาล ผู้ชายก็นิยมไว้ผมยาว แต่ปัจจุบันเรากลับคิดว่าผู้ชายมีแต่ไว้ผมสั้นอย่างเดียว (หรือคิดว่าผู้หญิงไว้แต่ผมยาว ความจริงผู้หญิงยุคก่อนอย่างน้อยๆ ก็ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ไว้ผมสั้นกัน) หรือแม้แต่บ้านเรา พวกเมโทรยุคแรก ๆ ก็ได้แก่พระเอกลิเก ที่เอวบางร่างน้อยเหมือนคนสูบฝิ่น ออกโรงทีไร พวกแม่ยกที่อยู่ข้างล่างเวทีก็แทบจะลมจับเพราะพิษสิเน่หา ดังนั้น พวกเมโทรจึงไม่ใช่ของใหม่เพียงแต่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเป็น “ลิเกหลงโรง”เท่านั้น หรืออย่าง นวนิยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ที่ ป. อินทรปาลิตให้ พล กับนิกร รูปอ้อนแอ่น ชอบแต่งตัวหล่อ ทำให้สาวติดกันกรอโดยเฉพาะพล (ส่วนกิมหงวน เป็นแค่ตลกตามพระ) กระนั้น คุณ ป. ยังมีการแบ่งบทบาททางเพศอย่างชัดเจน เช่นเห็นว่างานบ้านงานเรือนยังเหมาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ส่วนผู้ชายก็เหมาะกับการกินเหล้า จึงถือได้ว่า พลเป็นหนุ่มเมโทรยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามเลยล่ะ   นอกจากนี้พวกเมโทรก็สามารถเป็นชายธรรมดาที่บึกบึนแต่ชอบแต่งหล่อได้เหมือนกัน หากเรามองไปที่นักรบของชนเผ่าต่างๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตก เช่นชนเผ่าอินเดียนแดงที่เน้นการแต่งหน้าของชายชาตรี มีเครื่องประดับกันดังที่พวกเราดูในหนังคาวบอย ดูงามสง่ายิ่งกว่าผู้หญิงเสียอีก หรือปัจจุบันเดวิด เบคแคม หรือแบรด พิตต์ ดาราหนังที่แสดงบทบาทเป็นชายจ๋าในหนังบู๊ในอดีตก็เป็นตัวอย่างของชายห้าวที่ชอบแต่งหล่อ

        สำหรับงานอดิเรกนอกจากการแต่งตัว แต่งหน้า ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเมโทรจะชอบอะไรเพราะตัวเองอยู่ห่างไกลไปหลายชั่วโคตร จะชอบไปตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส เล่นรถราคาแพง ฯลฯ เหมือนกับพวกยัปปี สิ่งเหล่านี้คงจะเป็นแล้วแต่คน พวกเมโทรที่เป็นดาราหรือไฮโซมักจะมีงานอดิเรกที่เอาจากฝรั่งที่คนไทยทั่วไปไม่นิยม ก่อนจะออกทีวีเพื่อสร้างภาพ ส่วนหนังสือสำหรับพวกเมโทร ตลาดปัจจุบันก็จะมีนิตยสารแบบนี้มากขึ้นคือเรื่องของความสำอางเช่น เสื้อผ้า ของใช้ราคาแพง ของผู้ชาย บางเล่มก็จะเน้นนำเสนอรูปผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย (แต่ไม่โป๊มาก) ส่วนคนที่นิยมอ่านหนังสือประเภท แพรว ดิฉันหรือคอสโมโปลิแทนของไทย (ที่เพิ่งปิดตัวไปในเวลาเดียวกับนิตยสารอิมเมจ) นั้นจะถือว่าเป็นเมโทรหรือไม่ ก็ไปหาคำตอบกันเอาเอง ที่สำคัญพวกเมโทรน่าจะเป็น ladies' man ก็คือผู้ชายที่สาวๆ กรี๊ดและมักจะตัวติดอยู่กับแต่แฟนสาวหรือกิ๊ก พวกชายเมโทรโดยมากน่าจะมีกิ๊กมาก ๆ เพื่อเป็นการยืนยันต่อเสน่ห์ของเขาที่มีต่อเพศตรงกันข้าม

      เมโทรเหมาะกับแนวโน้มปัจจุบันของผู้ชายตามความนิยมของผู้หญิง ดังจะดูได้จากหนังที่ยุคก่อน หญิงจะกรี๊ดกับหนุ่มแมน ๆ แบบ สมบัติ เมทะนี สรพงษ์ ชาตรี กรุง ศรีวิไล ฯล ฯ ที่มีวิถีชีวิตแบบหนุ่มมั่น คือ ทั้งกินเหล้า เคล้านารี แต่ปัจจุบัน ผู้ชายที่พึงปรารถนา คือ Family Man รักลูกรักเมีย ทำกับข้าว เลี้ยงลูกก็ได้ บางทีอาจจะร้องไห้ได้บ้าง (แต่ไม่น่าจะถึงกับบ่อยนัก) เคยอ่านเจอจดหมายจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เธอกับคู่รักหนุ่มมีอะไรกันแล้ว เขาก็มาช่วยเธอแต่งตัว ทำให้เธอรู้สึกชื่นชมเขามาก อันแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงน่าจะชอบผู้ชายที่สามารถเข้าถึงความเป็นหญิงได้ กระนั้นเราจะไปเหมาไปว่าพวกเมโทรถ้าแต่งงานจะเป็น Family man ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะเขาคงนิยมเป็นโสดแบบไม่สดนั่นคืออยู่กับหญิงที่รักแบบไม่แต่งงานไม่มีพันธะมาก หากแต่งงานมีลูก จะเอาเวลาไหนมาแต่งหล่อกัน (แต่อย่างเบ็คแคมหรือแบรด พิตต์ คงเป็นกรณียกเว้น เพราะเป็นคนดัง ฐานะร่ำรวย มีพี่เลี้ยงช่วยลูกได้ แถมเอาเมียกับลูกมาช่วยเสริมสร้างภาพได้อีกด้วย) ดังนั้นอายุของการเป็นหนุ่มเมโทรน่าจะมีจำกัดอย่างน้อยก็ช่วงชีวิตหนึ่ง พออายุมากเข้าและยังไม่แต่งงานก็จะกลายเป็นเพลย์บอยเฒ่าๆ ที่เลี้ยงเด็กสาวๆ ไว้หรือไม่ก็เสรีชนที่นิยมอยู่กับผู้หญิงแบบไม่แต่งงานเหมือนกับนักปรัชญาชื่อดังของฝรั่งเศสเช่นญอง ปอล ซาร์ตร์ กับเจ้าแม่แห่งลัทธิสตรีนิยมคือซีโมน เดอ โบวัว

      ทั้งหมดนี้คงสอดคล้องกับแนวคิดทางสังคมวิทยาโดยเฉพาะแบบโพสโมเดิร์นที่ว่า “ความเป็นเพศ” มันไม่ได้ถูกกำหนดโดยลักษณะทางกายภาพโดยเฉพาะอวัยะเพศอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรมอันเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล จนอันหาตัวตนที่แน่นอนไม่ได้อีกด้วย

 

                               

                            

 

                                                                   ภาพจาก  havaspr.com

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
My Moment with the Romanov It is based on some historical facts and persons , but it is still fictitious anyways.   Chapter 1 St.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This is the second play I have written in my entire life. Now I hope some of my styles of language , cheekily imitating the Elizabethan writer I didn't mention the name here before : William Shakespeare, won't disturb you much.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนประมาณ ปี 2005 หรือ 2006  ผู้เขียนเองก็จำไม่ค่อยได้ ตัวเอกหรือผู้บรรยายเป็นคนไทยแต่ไปสอนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินในเยอรมันช่วงที่นาซีกำลังเรืองอำนาจ อนึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบภาษาไทยเท่าไรนัก จึงต้อขออภัยหากมีความผิดพลาดทางภาษาเกิดขึ้น&nbs
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(newly compiled and edited)  This is the first play I have ever written in my entire life.It is a sublime story about ghost, inspired by The Shock , the popular radio program of horror story telling from fan clubs via telephone.  I am also truly impressed wi
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม เกาหลีเหนือได้จัดพิธีเดินสวนสนามของกองทัพเพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งพรรคแรงงานหรือ Worker's Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีเหนือ (ความจริงยัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยเพราะเผลอไปเรียก Thailand เป็น Thighland หรือดินแดนแห่ง "ต้นขา" โดยคนไทยทั่วไปไม่ซีเรียส เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานไป เพราะรู้มานาน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
I remember reading the interview by the last promoter of คณะราษฏร (People's Party or PP) from the Sarakandee magazine ,probably a decade ago.At that time he was ageing , frail ,but still p