Skip to main content

      ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

      มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับหนังระดับโลกซึ่งฝากผลงานชิ้นเอกไว้มากมายไม่ว่าในศตวรรษที่ 21 อย่าง The Wolf of Wall Street , Shutter Island ,  Gangs of New York และ Aviator หรืออย่างเมื่อหลายทศวรรษก่อนเช่น Taxi Driver, Raging Bull และ Good fellas  กระนั้นผลงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถพลาดได้เป็นอันขาดคือ The Last Temptation of Christ ซึ่งเต็มไปพลังจากปรัชญาที่ผสมผสานจิตวิทยาอันลุ่มลึก ชนิดดูแล้วรู้สึก Catalyst หรือเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของตัวเองไปอย่างมากมาย แน่นอนว่า หนังเรื่องนี้ได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากคนอเมริกันในทศวรรษที่ 80 อันถือได้ว่าเป็นยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมกลับมา โดนเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรทางศาสนาและพวกเคร่งศาสนาอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับหนังเรื่อง Da Vinci Codeในปัจจุบัน มีทั้งยอมรับ และต่อต้านอย่างรุนแรง จนไม่น่าเชื่อว่าสกอร์เซซีจะมีพลังยืนหยัดต่อแรงเสียดทานขนาดนั้น  สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักสกอร์เซซีดีแล้ว ย่อมเข้าใจว่าเขาหมกมุ่นกับความตายและความรุนแรง แต่ก็มีไม่น้อยที่รู้ดีกว่าสกอร์เซซีนั้นฝักใฝ่ในเรื่องธรรมะเช่นกัน เพราะในวัยเยาว์ เขาหมายมั่นปั้นมืออยากจะเป็นพระในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกแต่เกิดไปตกหลุมรักกับการสร้างภาพยนตร์เสียก่อน เลยย้ายจากโรงเรียนศาสนามายังคณะภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ความศรัทธาของเขาในศาสนาสะท้อนมายังหนังหลายเรื่องเช่น Raging Bull ที่มีการอ้างพระคัมภีร์ไบเบิลประกอบด้วยในตอนท้ายสุดของเรื่อง

       สำหรับ  The Last Temptation of Christ   เป็นความปรารถนาส่วนตัวอย่างแรงกล้าของสกอร์เซซีเอง เข้าใจว่าค่ายหนังจะปฏิเสธให้ทุนเพราะตกใจกับฉากหลายฉากที่เข้าค่ายการดูหมิ่นศาสนา (Blasphemy) จนจากเดิมที่สกอร์เซซีคิดจะผลิตหนังเรื่องนี้ออกมาในต้นทศวรรษที่ 80 ก็เลยต้องมาเลื่อนมาเป็นปลายทศวรรษคือปี 1988 และก็พบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงสมใจแม้แต่ยังไม่ทันฉาย The Last Temptation of Christ   ถูกสร้างมาจากนักเขียนชาวกรีกชื่อดังคือนิคอส คาซานต์ซากีส์ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แข่งกับอัลแบร์ กามูส์ เจ้าของนวนิยายเรื่องคนนอก (L'Etranger) ในปี 1957 และแพ้กามูส์ไปด้วยคะแนนจากกรรมการเพียงเสียงเดียว (ต่อมากามูส์บอกว่า คาซานต์ซากีส์สมควรได้รับรางวัลนี้มากกว่าเขาร้อยเท่า) นักเขียนชาวกรีกผู้นี้ตีพิมพ์หนังสือชื่อเดียวกับหนังออกมาในปี 1951 นำมาสู่การโจมตีอย่างมากมาย และกลายเป็นหนังสือต้องห้ามอย่างเรียบร้อย

 

                              

                                                 ภาพจาก www.amadei33.com  

 

โปรดระวังว่ามีการเปิดเผยเนื้อหาตอนจบ

      ในขณะที่ The Passion of The Christ ของเมล กิบสันซึ่งถูกสร้างเมื่อปี 2004  นำเสนอชีวิตของพระเยซูในช่วง 12 ชั่วโมงสุดท้ายจนไปถึงตอนถึงตรึงกางเขน ที่เป็นไปตามการตีความตามพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด (แต่ก็ถูกนักศาสนาโจมตีว่าผิดเพี้ยนไปจากพระคัมภีร์มากมายหลายจุด) แม้แต่ภาษาพูดของตัวละครก็เป็นภาษาอาราแม็ก ละตินและ ฮิบบูรว์ที่สมัยนั้นใช้กัน (ยกเว้นภาษา Koine Greek ที่พวกยิวใช้สื่อสารกับพวกโรมันผู้เป็นนาย) แต่ The Last Temptation of Christ   ดูเหมือนจะอาศัยการตีความและ (จงใจ) บิดเบือนเนื้อหาในพระคัมภีร์มากมาย แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งหนังไม่เคยบอกว่าอิงกับพระคัมภีร์จนเหมือนสารคดี หากแต่ถูกขับเคลื่อนโดยจินตนาการผสมกับข้อเท็จจริงที่โดดเด่นก็คือภาษาที่ตัวละครใช้เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับพวกยิวจะมีสำเนียนแบบอเมริกัน โดยเฉพาะจูดาส อิสคาเรียต สาวกของพระเยซูใช้สำเนียงบรุกลินซึ่งเป็นย่านในนครนิวยอร์คของผู้รับบทบาทนี้คือฮาร์วี ไคเทล  ส่วนพวกโรมัน โดยเฉพาะปอนเทียส ปีเลตมีสำเนียงอังกฤษเพราะรับบทโดยนักร้องชื่อดังอย่างเดวิด โบวี  นอกจากนี้ความแตกต่างที่โดดเด่นของทั้งสองเรื่องก็คือในขณะที่หนังของเมล พระเยซูจะเป็นเอกบุรุษผู้ประเสริฐ หรือเป็นบุคคลที่มีมิติอันแบนราบ เช่นเดียวกับหนังเชิดชูพระเยซูทั่วไปที่ผมเคยชมตอนเรียนหนังสือที่โรงเรียนคริสต์เช่น The Greatest Story ever told (1965)

      สำหรับหนังของสกอร์เซซี นอกจากจะย่อประวัติกับการเผยแผ่ความสอนของพระเยซูมาโดยสังเขปโดยให้หลายฉากกลับไปกลับมาแล้ว พระเยซู (แสดงโดยวิลเลียม ดาโฟที่เข้ามาแทนโรเบิร์ต เดนีโรซึ่งบอกปัดไม่ยอมแสดง) มีเลือดเนื้อ ต้องพบกับการต่อสู้กันอย่างรุนแรงระหว่างด้านมืดและด้านสว่าง มีทั้งอ่อนแอ ลังเลใจ ละอายใจ ชอบความรุนแรง มีความเกลียดชัง ความมักใหญ่ ไปพร้อมๆ กับอำนาจวิเศษ ที่ทำให้คนรอบข้างเกิดความศรัทธา ดังเห็นได้ในต้นเรื่องที่พระเยซูทรงยอมเป็นช่างไม้ที่สร้างไม้กางเขนเพื่อให้ชาวโรมันใช้ลงโทษตรึงชาวยิวด้วยกัน เพื่อปฏิเสธเสียงเรียกจากพระเจ้าในหัวของตน ฉากต่อมาที่ทำให้คนดูตกใจก็คือจูดาสเข้ามาในกระท่อมตบตีพระองค์เหมือนกับพี่ชายกับน้องชายเพื่อให้พระองค์กลับไปสู่เส้นทางที่เคยสัญญาไว้ (เขาเข้าใจว่าพระเยซูจะปลดแอกชาวยิวออกจากโรมันมากกว่า ปลดแอกทางจิตวิญญาณ) นอกจากนี้ พระเยซูต้องพบกับทางเลือกมากมายระหว่างความศรัทธาในพระเจ้ากับการชักจูงของซาตาน ที่ไม่ได้มาแบบโหด ๆ แบบหนังของเมล กิบสัน แต่เป็นบุคลาธิษฐาน เช่น งู สิงห์โต ต้นแอปเปิล และไฟขณะที่ทรงอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลทรายจนในที่สุดก็เกิดความศรัทธาต่อพระเจ้ายิ่งขึ้น

     ในขณะเดียวกัน The Last Temptation of Christ   ได้ให้จูดาสซึ่งตามความเชื่อของกระแสหลักเป็นสาวกผู้ชั่วร้าย ทรยศต่อพระองค์ โดยการรับสินบนเป็นเงิน 30 เหรียญและเข้าไปสวมกอดและจูบพระเยซูให้ทหารโรมันรู้ ให้กลายเป็นสาวกที่มีศรัทธาคงมั่น ซื่อสัตย์และกล้าหาญที่สุดในบรรดาอัครสาวกทั้ง12 คน ตรงกันข้ามกับ ความเชื่อของชาวคริสต์ทั่วไป ตอนแรกจูดาสถูกส่งมาเพื่อฆ่าพระเยซูแต่ต่อมาเกิดเปลี่ยนใจยอมเป็นสาวกคนแรกและช่วยเหลือการออกเผยแพร่ศาสนาของพระเยซูอย่างมากมาย ส่วนนางมารี แม็คดาลิน ซึ่งพระเยซูทรงช่วยให้พ้นจากการถูกชาวบ้านเอาก้อนหินขวางจนตาย เพราะเธอทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันสะบาโต หรือวันหยุดของศาสนายิว คือโสเภณีชั้นต่ำที่นอนให้แขกมานั่งเรียงคิวกัน และเธอถูกจัดว่าเป็นหนึ่งใน Temptation (สิ่งยั่วยวน)ทั้งหลายที่พระเยซูทรงประสบพบ

     นอกจากนี้ที่หนังดูเหมือนจะทำได้แตกต่างจากความเชื่อทั่วไปมากที่สุดก็คือการตรึงกางเขนที่ไม่ได้ตอกบนมือหากแต่ตอกบนข้อมือ (เพราะบนฝ่ามือจะรับน้ำหนักไม่ได้) ส่วนขาของพระเยซูจะถูกพับไว้รวมกันด้านขวา(ของคนมอง) ไม่ได้เหยียดตรงอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน ในขณะเดียวกัน พระเยซูก็ทรงเปลือยเปล่าปราศจากผ้าไม่เหมือนภาพที่เราคุ้นตา ฉากในหนังของสกอร์เซซีที่สร้างความเกลียดชังให้กับชาวคริสต์ผู้เคร่งครัดคือ ขณะที่ขณะพระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนนั้นได้พบกับนางฟ้าที่ชักจูงให้พระองค์เลิกสละชีพเพื่อไถ่บาปให้มนุษยชาติ และเสด็จออกมาจากไม้กางเขนแล้วเดินทางกลับไปใช้ชีวิตแบบคู่ผัวตัวเมียกับ เมดาลีน ฉากร่วมรักระหว่างพระเยซูกับนางคงทำให้ใครหลายคนรับไม่ได้ ที่ปารีส กลุ่มเคร่งศาสนาถึงกลับแอบวางระเบิดน้ำมันในโรงหนังจนคนดูได้รับบาดเจ็บกันระนาว อย่างไรก็ตาม นางแม็กดาเลนได้เสียชีวิตเสียก่อน แล้วพระเยซูจึงไปได้ภรรยานามว่าแมรี และพี่สาวของนางคือมาร์ธา  ทั้งสองเป็นพี่สาวของ ลาซารัส ผู้ที่พระเยซูทรงชุบชีวิตให้พื้นจากความตาย พระเยซูและนางทั้งสองได้ก็มีลูกด้วยกันหลายคน

 

                           

                                  ภาพจาก  criterioncollection.blogspot.com

         และมีอีกฉากหนึ่งที่แรงอยู่เหมือนกันก็คือฉากที่พระเยซูทรงพบกับพอล** ซึ่งเป็นสาวกผู้เผยแพร่คำสอนของพระเยซูคนสำคัญแต่ไม่เคยเจอพระเยซูอย่างจริง ๆ จังๆ มาก่อนและพระองค์ได้ประณามว่าพอลโกหก เพราะพระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์บนกางเขนและไม่ได้พื้นคืนชีพในสามวันให้หลัง แต่พอลซึ่งเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าพระองค์คือพระเยซูจริง ๆกลับยังคงเผยแพร่ศาสนาเพื่อกอบกู้โลกต่อไปด้วยยังคงยึดมั่นต่อพระเยซู บุตรของพระเจ้าที่สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ทั้งที่เขาเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้พระเยซูทรงพระโทมนัสกับทางเลือกของพระองค์ ผมคิดว่าหนังอาจจะต้องการบอกว่า "ศาสนาหรือสถาบันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวมนุษย์แม้แต่มนุษย์ผู้เริ่มต้นหรือให้กำเนิดมันเสียอีก"

      เรื่องดำเนินต่อไปจนถึงพระเยซูทรงชราภาพ (หนังตัดให้เห็นอย่างรวดเร็ว ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง 2001 A Space Odyssey ตอนใกล้จบ) และประชวรใกล้สิ้นพระชนม์ เหล่าสาวกที่รอดจากการกวาดล้างก็มาเยี่ยมพระองค์ระหว่างที่กรุงเยรูซาเล็มถูกพวกโรมันเผา รวมถึงจูดาส*** ซึ่งได้บอกว่าแท้ที่จริง เทพธิดาที่อยู่กับพระองค์เสมอเป็นซาตานปลอมแปลงมา พระเยซูจึงคลานออกไปที่เชิงเขาข้างนอกตัวบ้านเพื่ออธิษฐานต่อพระเจ้าอีกครั้งว่าขอตายบนไม้กางเขนเพื่อที่จะได้เป็นพระผู้ไถ่บาปของมวลมนุษย์และตอนจบพระองค์ก็ได้กลับมาอยู่บนไม้กางเขนอีกครั้ง ก่อนสิ้นพระชนม์ก็ได้แย้มพระโอษฐ์ (ยิ้ม) แล้วพูดว่า " สำเร็จแล้ว !! (It is Accomplished )" หลายครั้ง

     ชาวคริสต์มองภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างกัน แต่เสียงโดยมากเป็นเสียงชื่นชม ในขณะที่เสียง ก่นด่าดูเหมือนจะมาจากพวกหัวเก่าที่ใช้อารมณ์ หากมองแบบยุติธรรมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงแม้จะมีฉากดูหมิ่นศาสนาแต่ทั้งหมดโดยเฉพาะฉากตั้งแต่พระเยซูเสด็จลงมาจากไม้กางเขนมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาสเต็มตัวเป็นแค่ความฝันหรือศิลปะหรือบุคลาธิษฐาน ที่สามารถสื่อให้เราเห็นถึงจิตวิญญาณและคำสอนอันลึกซึ้งบางประการของศาสนา แนวคิดเรื่องอภิมนุษย์หรือ Superman ของนักปรัชญาชาวเยอรมันคือฟริดริก นิเช่ได้ลงรากหยั่งลงในความคิดของคาซานต์ซากิสผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ พระเยซูในภาพยนตร์เรื่องนี้และตามความคิดของนิชเช่ ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์แต่เป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ต้องพบกับความขัดแย้งระหว่างกิเลส สิ่งเย้ายวนใจ (Temptation) กับคุณธรรมหรือหน้าที่และเป็นเจตจำนงอิสระของพระองค์ที่จะเลือกเอาว่าอยู่ด้านหลัง (นิชเช่จึงเห็นว่าพระเยซูเป็นผู้มีศีลธรรมแบบนาย) ที่สำคัญภาพยนตร์อาจต้องการบอกเราว่าพระเยซูก็เปรียบได้ดังมนุษย์เดินดินเช่นพวกเรานี้เอง

 

......................................................................

 

หมายเหตุ

*ภาษาอังกฤษคือ Personification เช่นก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ต้องเผชิญกับธิดาของพระยามาร ซึ่งเป็นตัวแทนของ ราคะ โทสะ โมหะ

**ชื่อเดิมว่าซอล(Saul) แต่เดิมเป็นผู้เกลีดชังและกวาดล้างคริสเตียนแต่แล้ววันหนึ่งขณะที่เขานั่งอูฐเดินทางไปยังเมืองดามัสคัสเกิดโดนฟ้าผ่าและได้ยินพระสุระเสียงเป็นเชิงต่อว่าของพระเยซู ซอลเกิดตาบอดขึ้นมากระทันหัน ชาวคริสต์คนหนึ่งในเมืองดามัสกัสพบนิมิตรของพระเจ้าให้เดินทางไปช่วยให้ตาของซอลหายบอด ซอลจึงเปลี่ยนเป็นคริสต์เตียนและเปลี่ยนชื่อเป็นพอล (Paul) กลายเป็นคนสำคัญที่แผยแพร่คำสอนของพระเยซู จนได้รับสถาปนาจากคริสต์จักรให้เป็นนักบุญหรือ Saint

*** ตามความเชื่อกระแสหลัก จูดาสเป็นผู้ชั่วร้ายที่ทรยศพระเยซู มีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันสองแหล่งคือ แหล่งแรกบอกว่าหลังจากที่พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน จูดาสเกิดละอายใจ เลยเอาเงินไปคืนพระยิว และแขวนคอตาย อีกแหล่งหนึ่งบอกว่าจูดาสเอาเงินไปซื้อที่ดินและเกิดล้มลง ตับไตใส้พุงทะลักและตกนรกไปชั่วนิรันดร แต่ความจริงแล้ว ตัวตนจูดาสค่อนข้างคลุมเคลือมาก บางแหล่งสันนิษฐานว่าความจริงจูดาสคือวีรบุรุษผู้เสียสละ สมควรได้เป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับนักบุญปีเตอร์ เพราะพระเยซูทรงรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วพระองค์จะต้องถูกตรึงกางเขนเพื่อไถ่บาปให้กับมวลมนุษยชาติ บางแห่งถือว่าจูดาสเป็นผู้เสียสละยิ่งกว่าพระเยซูเสียอีก นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าพระองค์อาจจะรบเร้าให้จูดาสทรยศพระองค์เอง ดังนั้น The Last Temptation of Christ จึงไม่ได้ตีความหรือสร้างภาพของจูดาสเอามั่วๆ แต่ประการใด

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื