Skip to main content
    หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็นคีตกวีที่คนนิยมฟังและให้ความชื่นชอบมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์
 
 
                 
                           
                               ภาพจาก wikipedia.com
 
ชูเบิร์ตเกิดที่ย่านฮิมเมลพ์ฟอร์ตกรุนด์  ซึ่งอยู่แถวชานเมืองของกรุงเวียนนาในปี 1797 บิดาเป็นครูของโรงเรียนประจำท้องถิ่น ส่วนมารดาเคยเป็นแม่ครัวมาก่อนแต่งงาน ชูเบิร์ตมีพี่น้องรวมทั้งตัวเขาเองถึง 15 คนแต่น่าเศร้าที่ว่าพี่น้องของเขาร่วม 10 คนได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก บิดาของเขายังเป็นนักดนตรีสมัครเล่นและได้ถ่ายทอดคุณสมบัตินี้ให้กับบรรดาลูกชายที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย
 
ด้วยอายุเพียง 5 ขวบ ชูเบิร์ตได้รับการถ่ายทอดเรื่องดนตรีจากบิดาและอีก 1 ปีหลังจากนั้นเข้าเรียนที่โรงเรียนที่บิดาเป็นครูสอน อายุได้ 7 ขวบก็เก่งเกินกว่าครูสอนดนตรีธรรมดาๆ จะสอนได้ เขาเลยไปเรียนกับไมเคิล โฮลเซอร์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดนตรีในโบสถ์แห่งหนึ่ง อายุ 11  ปี ได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่โรงเรียนชื่อดังในกรุงเวียนนาภายใต้การดำเนินงานของ อันโตนีโอ ซาลีเอรี เป็นเวลา 6 ปี น่าตลกที่ว่าเขาได้รับประโยชน์จากการสอนเพียงน้อยนิด หากเทียบกับการฝึกหัดกับวงของโรงเรียนและการช่วยเหลืออย่างอบอุ่นจากบรรดาเพื่อน ๆ ในการผลิตผลงานทางดนตรีอย่างมากมาย 
 
ปี 1813 ชูเบิร์ตหันมาเป็นครูสอนโรงเรียนเดียวกับบิดาของเขาเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นช่วงที่สุดแสนจะน่าเบื่อและผลงานที่ผลิตออกมาก็ไม่สู้จะสำเร็จนัก 2  ปีต่อมาชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อลูกศิษย์ที่อยู่ในตระกูลมั่งคั่งได้เสนอให้เขาลาออกจากโรงเรียนและหันมาแต่งเพลงเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาก็ต้องตกอับเพราะไม่ประสบความสำเร็จทั้งในการสอนดนตรีตามบ้านและการแสดง กระนั้นเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนๆ อีกเช่นเคย ในช่วงเวลาต้นทศวรรษที่ 20 ชูเบิร์ตยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบรรดาศิลปินและนักเรียนซึ่งมักมาชุมนุมสังสรรค์กันดังที่เรียกว่ากลุ่มชูเบิร์ตเทียเด็น ซึ่งก็ได้รับการคุกคามจากตำรวจออสเตรียซึ่งได้รับคำสั่งให้ระแวดระวังกิจกรรมที่ส่อไปทางปฏิวัติในช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส (เริ่มต้นในปี 1789) และสงครามนโปเลียน (ช่วงปี 1803-1815) เพื่อนของชูเบิร์ตคนหนึ่งถึงกลับถูกจับติดคุกไปปีกว่าๆ และถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาในกรุงเวียนนาตลอดชีวิต
 
นิสัยของชูเบิร์ตซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือเขามักจะตื่นแต่เช้าเพื่อประพันธ์เพลง ไปจนถึงเที่ยงวันก่อนจะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงในยามบ่าย แต่แล้วเหมือนกับฟ้าจะกลั่นแกล้งในปี 1822 ชูเบิร์ตพบว่าตัวเองติดเชื้อซิฟิลลิส ซึ่งสมัยนั้นคงจะร้ายแรงเหมือนกับเชื้อเอชไอวี มีคนสันนิฐานว่าเขาอาจจะติดโรคร้ายนี้มาจากสาวใช้ของบ้านที่เขาไปสอนดนตรีในฤดูร้อนฤดูหนึ่ง นายแพทย์แนะนำให้เขาไปพักกับพี่ชายที่ชานเมืองของกรุงเวียนนาอีกที่หนึ่ง (ฝรั่งไม่ได้บอกว่าทำไม เดาว่าที่นั่นอาจจะมีอากาศดีกว่า) แต่แล้วเขาก็ติดโรคไทฟอยด์ไปอีกโรค
 
ว่ากันว่า ชูเบิร์ตได้เดินทางไปเยี่ยมเบโธเฟนซึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียงนอนใน ปี 1827 และได้เอาโน้ตเพลงที่เขาแต่งให้ยอดคีตกวีดู อันส่งผลให้เบโธเฟนชื่นชอบเขามาก ส่วนชูเบิร์ตได้อุทิศงานชิ้นหนึ่งของเขาคือ Variation on a French Song (Op.10,D.624) ซึ่งถูกเขียนเป็นชุดๆให้กับเบโธเฟน เมื่อเบโธเฟนเสียชีวิตลง ชูเบิร์ตมุ่งมั่นจะช่วยแบกโลงศพของผู้ซึ่งตนเชิดชูบูชา (บางแห่งบอกว่าเป็นคนถือคบไฟนำหน้าขบวน) หลังจากงานศพได้สิ้นสุดลง เขากับเพื่อนก็ไปทานอาหารที่ภัตตาคาร มีการดื่มสำหรับผู้วายชนม์ โดยหารู้ไม่ว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าชูเบิร์ตก็เป็นผู้วายชนม์เหมือนกัน แต่ก่อนที่คีตกวีเอกของเราจะเสียชีวิต เขาได้ร้องขอให้ศพของเขาถูกฝังใกล้ๆ กับเบโธเฟน ในงาน เพื่อนคนหนึ่งของเขาได้อ่านบทกวีอันน่าซึ้งใจดังนี้
 
 
May peace at last be with you!                    ขอให้สันติจงอยู่กับท่าน
Angel-pure soul!                                            วิญญาณอันไร้มลทินดุจดังนางฟ้า
In the full bloom of Youth,                               แม้ยอดสุดของวัยเยาว์
The stroke of Death has seized you                มรณะก็ได้พรากท่านไป 
And extinguished the pure light within you!"    อีกยังดับไฟอันแสนบริสุทธิ์ในกายท่าน!
 
 
 
                  
 
หลุมฝังศพของชูเบิร์ตซึ่งถูกย้ายมายังสุสานเซนทรัลฟรีดโฮฟ  ตั้งแต่ปี 1888 พร้อมกับหลุมศพของเบโธเฟ่นและโมซาร์ท (ภาพจาก  www .depositphotos.com)
 
 
แทบไม่น่าเชื่อว่าด้วยอายุเพียง 31 ปี ชูเบิร์ตผลิตผลงานออกมากว่า 600 ชิ้น งานอันโด่งดังที่เรารู้จักกันดีก็คือซิมโฟนีหมายเลข 8  ซึ่งมีเพียงแค่ 2 กระบวน จึงได้ชื่อว่า "ยังไม่จบ" หรือ unfinished กระบวนแรกคือ Allergo Moderato ซึ่งขึ้นต้นอย่างช้าๆ เนิบนาบแต่มีพลังและซ้อนเร้นด้วยความหดหู่ใจจากตัวผู้ประพันธ์  หรือ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ซึ่งได้สมญาว่า "สุดยิ่งใหญ่" (The Great)  นอกจากนี้ยังมี String Quintet in C major, D. 956 ที่ชูเบิรต์แต่งเสร็จสองเดือนก่อนเสียชีวิต  String Quartet in A Minor ที่มีชื่อว่า Rosamunde และ Death and The Maiden (ซึ่งดัดแปลงจากเพลงของชูเบิร์ตเอง) ที่น่าสนใจคือ ชูเบิรต์ยังประพันธ์เพลงที่เรียกกันว่า Song Cycle หรือเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมีเนื้อร้องที่มีเนื้อหาติดต่อกันเป็นบทๆ เหมือนบทกวีจำนวนมาก ที่รู้จักกันได้แก่ Die schöne Müllerin (สาวจากโรงสีผู้งดงาม) รวมไปถึง Ave Maria อันแสนไพเราะ
 
 
 
                                
 
                                               ภาพจาก  www.allmusic.com
 
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื