Skip to main content

 

ชื่อหนังสือ : เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ

ผู้เขียน : ประไพ วิเศษธานี

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทะเลหญ้า พิมพ์ครั้งที่ 3 .. 2536


ไปเจอหนังสือเก่าสภาพดีเล่มหนึ่งเข้าที่ตลาดนัดหนังสือใกล้บ้าน เป็นความถูกใจที่วิเศษสุด เนื่องจากเป็นหนังสือที่คิดว่าหายากแล้ว ไม่เท่านั้นเนื้อหายังเป็นตำราทางการประพันธ์ เหมาะทั้งคนที่เป็นนักเขียนและนักอ่าน นำมาตัดทอนให้อ่านสนุก ๆ เผื่อว่าจะได้ใช้ในคราวบังเอิญ


เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการเล่มนี้ ผู้เขียนใช้นามปากกา ประไพ วิเศษธานี ซึ่งไม่เป็นที่คุ้นสักเท่าไร แต่หากบอกว่านามปากกานี้เป็นอีกสมัญญาหนึ่งของนายผี อัศนี พลจันทร ล่ะก็ ไม่ต้องขยายความให้เมื่อย อย่างไรก็ตาม ได้นำประวัติย่อจากหนังสือเล่มนี้มาบอกเล่าไว้ด้วย ก็เป็นการเผื่ออีกนั่นแหละ


ประวัติสังเขปของประไพ วิเศษธานี

ชื่อจริง อัศนี พลจันทร เกิดปี พ..2460 เรียนจบชั้นเตรียมอุดมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกและเข้ารับราชการในตำแหน่งอัยการอยู่หลายจังหวัดเช่น อยุธยา, ปัตตานี เป็นต้น เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนและลงในหนังสือพิมพ์เอกชนสยามนิกร ราวปีพ..2482-2484 ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วได้จับงานเขียนอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลงานปรากฏในอักษรสาส์น สยามสมัยและปิยมิตรวันจันทร์ ในปี พ.. 2492-2504 มีทั้งบทความ, กวีนิพนธ์, เรื่องสั้น, เรื่องแปลบทละคอน ใช้นามปากกาต่าง ๆ เช่น นายผี, นางสาวอัศนี, ศรีอินทรายุธ, อินทรายุธ, กุลิศ อินทุศักดิ์, หง เกลียวกาม, สายฟ้า, ประไพ วิเศษ-ธานี, อุทิศ ประสานสภา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีความสามารถพูดเขียนได้หลายภาษา


ชื่อหนังสือที่ดูเหมือนจะหนักไปทางตำราเฉพาะทาง ใครไม่นิยมการประพันธ์อาจรู้สึกเฉย ๆ ซึ่งก็จริงตามนั้น แต่นอกจากตำราทางฉันทลักษณ์ที่เราเข้าใจกันแล้ว ยังมีคติที่ยังคงนำมาใช้เปรียบเทียบ วิเคราะห์โลกทัศน์ทางวรรณกรรมได้จนถึงปัจจุบัน ในส่วนคำนำของสำนักพิมพ์กล่าวไว้ว่า


เสมือนคำนำ

หนังสือเคล็ดกลอนเคล็ดแห่งอหังการ เคยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตร-วันจันทร์ ฉบับ 189-192 ประจำวันที่ 9,16,27และ 30 มกราคม 2505 หนังสือเคล็ดกลอนเคล็ดแห่งอหังการนับมาจนถึงปัจจุบันนี้เกินกว่า 47 ปี อายุของหนังสือฉันเปลี่ยนให้เป็นพ..2551 เอาเอง (เพิ่มความขลังตามใจนึก) และหากใครเคยติดสะกิดใจกับคำว่า “อหังการกวี” หรือ “อหังการ์” เห็นทีต้องเสาะหาเล่มนี้มาอ่านเสียแล้ว แต่ที่นี่ตัดทอนมาบางส่วนให้ได้สมใจคนช่างอยากรู้ และสนองใจตัวเองนิด ๆ


จากเสมือนคำนำ “กวีย่อมต้องมีอหังการ นั่นคือ, อหังการที่จะไม่ก้มหัวให้แก่ความกดดันที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม...แต่นี่มิได้หมายความว่า กวีจะต้องมี “อหังการ” แก่คนทั่วไปตรงข้าม, เขากลับจะต้องก้มหัวให้แก่มวลประชาสามัญชน, ต่อสู้แทนและสะท้อนชีวิตที่ต่อสู้ของมวลเหล่านั้นอย่างไม่อาลัยแก่ตัวเอง”


เท่านี้เป็นเพียงคำนำ ยังไม่ก้าวไปถึงเนื้อหา ที่มีตั้งแต่บท เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ กลอนจะดีได้ด้วยอาศัยอะไร? เคล็ดแห่งฉันทาการ เหตุไรจึงต้องมีฉันทลักษณาวิทยา และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กวีควรอ่านยิ่ง แถมท้ายด้วยบท สุวิชาโน ภวํ โหติ, นหิ ปูตํ สฺยาทฺโคกฺษีรํ ศฺวทฤเตา ธฤตมฺ, ภูมิโต นิคคฺโต รโส, เทวา น อิสฺสยนฺติ ปุริสปรกฺกมสฺส


ขอยกบางบทที่น่าคิดมาให้อ่านก่อน เพราะบางทีอดแคลงใจกับกวีร่วมสมัยไม่ได้ว่า บทกวีแบบใดที่เรียกได้ว่าเป็นกลอนไม่อาจเอื้อมได้ขึ้นชั้นเป็นกวีนิพนธ์ หรือแบบใดเป็นของ “ขึ้นหิ้ง”


บทที่ 3 เหตุไรจึงต้องมีฉันทลักษณวิทยา

ฉันทลักษณวิทยาคือ วิชาว่าด้วยกฎเกณฑ์โดยตรงแห่งการแต่งกาพย์กลอนทั้งหลาย ฉันทลักษณวิทยาเมื่อได้ประกอบขึ้นแล้วก็เป็นลักษณะพิเศษที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของกาพย์กลอน คำประพันธ์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หากไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งฉันทลักษณวิทยาแล้วก็จะเรียกว่ากาพย์กลอนไม่ได้


การวางกฎเกณฑ์ที่จำเป็นโดยเฉพาะเป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนกฎเกณฑ์ที่นอกเหนือไปจากนั้นเป็นเรื่อง “ในทางศิลปะ” ที่กวีแต่ละคนจะต้องศึกษาค้นคว้าเอาเองในขั้นต่อไป


หน้า 26 ฉันทลักษณวิทยาก็คือการจัดกระบวนดนตรีของกาพย์กลอนนั่นเอง ด้วยเหตุนี้กาพย์กลอนซึ่งเป็นศิลปะที่มีบรรเลงแห่งดนตรี จึงจะเป็นกาพย์กลอนไปไม่ได้ถ้าไม่ประกอบด้วยฉันทลักษณวิทยา ดังนั้นการเข้าใจฉันทลักษณวิทยาจึงเป็นสิ่งที่นักกลอนทั่วไปจะขาดเสียมิได้เลย


เนื่องจากฉันทลักษณวิทยาไม่ใช่คัมภีร์แห่งฉันทลักษณ์ เพราะฉะนั้นนักลำที่ไม่เคยรู้จักคัมภีร์ฉันทลักษณ์จึงสามารถว่าลำที่ไพเราะจับใจนักหนา เขาเหล่านั้นได้ฝึกฝนฉันทลักษณวิทยาจากการสืบทอดในชนบทเป็นเวลานาน เขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่นักเรียนรู้ทั้งหลายในเมืองไม่อาจลบหลู่ได้โดยแท้


ทั้งนี้ก็เพราะกาพย์กลอนเป็นที่ประชุมแห่งถ้อยคำอันเป็นระเบียบ


น่าสังเกตว่า นายผี ใช้คำว่ากาพย์กลอนเป็นหลัก หาได้ใช้คำว่า “กวีนิพนธ์”

ครั้นแล้วก็ต่อด้วยหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ที่น่าจะนำมาใช้พิจารณากวีนิพนธ์ที่ร่ายรำเพลงรายสัปดาห์ว่าอย่างไหนที่เข้าขั้น


บทที่ 4 กฎเกณฑ์ขั้นต่ำและขั้นสูงของกาพย์กลอน

ฉันทลักษณวิทยาแบ่งกฎเกณฑ์ออกเป็นสอง คือ กฎเกณฑ์ขั้นต่ำและกฎเกณฑ์ขั้นสูง


กฎเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับของกาพย์กลอนอย่างใดอย่างหนึ่ง กาพย์กลอนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยกฎเกณฑ์ขั้นต่ำนี้ พูดอีกนัยหนึ่ง กาพย์กลอนอย่างน้อยจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์จำนวนหนึ่ง กฎเกณฑ์จำนวนนั้นเรียกว่า กฎเกณฑ์ขั้นต่ำของกาพย์กลอนเช่น โคลงสี่สุภาพมีกฎเกณฑ์ขั้นต่ำว่า บทหนึ่งมีสี่บาท (บทและบาท ใช้เรียกสำหรับโคลง, กลอนไม่เรียกเป็นบทและบาท แต่เรียกเป็นคำและวรรค) สามบาทแรกมีบาทละ 7 คำ บาทสุดท้ายมี 9 คำ ลักษณะที่สำคัญคือเอกโทซึ่งมีคำเอก 7 คำ คำโท 4 คำ ซึ่งบังคับตำแหน่งไว้ขัดเจน


กฎเกณฑ์ขั้นสูง เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่บังคับของกาพย์กลอน เพราะถึงแม้จะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นี้เลยก็ย่อมทำได้ หากว่าได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ขั้นต่ำครบถ้วนแล้วก็นับเป็นกลอนแล้ว กฎเกณฑ์ขั้นสูงมีไว้เพียงเพื่อที่จะทำให้กลอนนั้น ๆ เพิ่มความสมบูรณ์ในทางความหมายและเพิ่มความไพเราะในทางเสียงดนตรีขึ้นอีกเท่านั้น


ใครที่อ่านกวีนิพนธ์อยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะผลงานของอัจฉริยะรายสัปดาห์ (ขอยืมสำนวนของ แดนอรัญ แสงทองมาใช้ ด้วยความนิยมส่วนตัว) ที่ปรากฏตามนิตยสารนั้น จะอธิบายเรื่องสำคัญ ๆ อย่างนี้ได้น่าฟังกว่า อาจจะมากกว่า นายผี ด้วยซ้ำ เพราะการอ่านเขียนกวีนิพนธ์ในยุคนี้เป็นการเขียนถึง “แก่น” แท้ ๆ เพียว ๆ ใครจะมาพูดเรื่องกฎเกณฑ์ฉันทลักษณ์อันเป็นเพียงเปลือกนอก เห็นทีจะหลุดยุค แต่สำหรับฉันคำว่า “แก่น” กับ “เปลือก” ทุกวันนี้ถูกนำมาใช้ให้กลับกลอกสิ้นดี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเน้น “แก่น” หรือ “เปลือก” มันก็ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเอง และแทบจะไม่เป็นประเด็นอีกต่อไปแล้ว


ดังนั้นคำว่า “จรรโลงใจ” นั้น อาจมีรหัสลับบางอย่างที่กวีมีความพยายามจะสื่อสารไปถึงผู้อ่าน และบางทีมันก็เป็นรหัสที่ลับจริง ๆ ด้วย


อย่างไรก็ตาม นายผี ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเลือกใช้คำในการเขียนกาพย์กลอนไว้พอสมควร ที่ชัดเจนมีเยอะ แต่ยกหน้า 75 มาเป็นตัวเลือกหนี่ง


หน้า 75 เราเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าจะแต่งกาพย์กลอนไทยแล้วก็ใช้คำไทยธรรมดา ๆ เห็นจะดีกว่า การใช้คำศัพท์บาลีสันสกฤตนั้นไม่หรูหราอะไรดอก ถ้าท่านจะไปดูภาพยนตร์ที่ศาลาเฉลิมกรุง ท่านก็ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยตามแบบไทยตามชีวิตที่ปกติของท่าน มิใช่ว่าท่านจะแต่งสากลแล้วโพกผ้าศิโรเพฐน์อย่างอาคันตุกะชาวฮินดู เพราะฉะนั้นกาพย์กลอนที่ท่านเขียนขึ้นในสมัยนี้ก็ไม่ควรที่จะเป็นแบบในสมัยโบราณรุ่มร่ามคล้าย ๆ พระยาตรังเขียน ควรจำไว้ว่าที่นรินทรอินมีชื่อเสียงกว่าพระยาตรังนั้นนอกจากเหตุอื่น ๆ เป็นอันมากแล้ว ยังอยู่ที่นรินทรอินได้ใช้ภาษาและท่วงทำนองในสมัยของเขามาเขียนนิราศของเขา ทั้ง ๆ ที่ได้ลอกเลียนความคิดของศรีปราชญ์ไม่ใช่น้อย ส่วนพระยาตรังซึ่งก็ได้ลอกเลียนความคิดของศรีปราชญ์ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน แต่ก็ได้ลอกเลียนไปถึงภาษาและท่วงทำนองด้วย คงจะหวังให้ดู “ขลัง” และ “โบร่ำโบราณ” เหมือนศรีปราชญ์ซึ่งอยู่คนละสมัยกับเขานั้น ไม่สามารถจะทำให้โคลงนิราศของเขามีเสน่ห์อะไรเลย ... อย่างว่านั่นแหละในสมัยของเรานี้ก็มีผู้คิดอยากจะทำตัวเป็นคน “ขลัง” อยู่หลายคน ได้ทำเป็นเขียนโคลงจะให้เห็นเป็นแบบสมัย ทวาทศมาศ แต่น่าอนาถที่โคลงของเขาฟังไม่เข้าเค้า ศัพท์แสงที่ใช้หวังจะให้ขรึมก็กลับดูครึคระ ผิด ๆ ถูก ๆ ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ โบราณฟังไม่ได้สมัยใหม่ฟังไม่ดี น่าขัน ดู ๆ เหมือนสาวทึมทึกดัดผมทาเล็บสวมเกือกส้นสูง แต่กินหมากแล้วยังแถมคาดเข็มขัดนากเส้นเบ้อเริ่ม

 


ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับทัศนะนี้ของนายผี และยังนำใช้ได้จริงอยู่ในยุคปัจจุบัน เพราะอะไรน่ะหรือ เห็นจะต้องนำมายกตัวอย่างจากหนังสือกวีนิพนธ์เล่มอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ที่รสนิยม ค่านิยมอันเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ได้เปลี่ยนท่า เปลี่ยนขั้วไปจากโบราณอยู่มาก อีกอย่างหนึ่งคือ รหัสลับ ที่กวีต้องการสื่อนั้น นอกจากจะเป็นความลับที่ลึกแล้ว นายผียังเขียนไว้ราวกับได้ให้โอวาทข้ามเวลาเลยทีเดียว ลองอ่านดู


กาพย์กลอนต้องการความหมายที่แจ่มชัดเท่า ๆ กับความไพเราะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความลึกซึ้งด้วย ก็เพราะเหตุนี้แหละ บางคนจึงได้พยายามเขียนกลอนให้เข้าใจยากและกำกวม เพื่อจะให้เห็นว่าเป็นกลอนที่ลึกซึ้งหนักหนา แต่ที่จริงความกำกวมกับความลึกซึ้งนั้นเป็นคนละเรื่อง ความลึกซึ้งจะต้องมีความแจ่มชัดเข้าใจง่าย ถ้าความกำกวมไม่แจ่มชัด เข้าใจไม่ได้ว่าหมายถึงอะไร ก็ไม่อาจจะ “เข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ได้ นี่ธรรมดาเหลือเกิน ไม่เข้าใจแล้วจะว่าลึกซึ้งได้อย่างไร ที่ว่า “ลึกจนคนไม่เข้าใจ” นั้นที่แท้เป็นความเลอะมากกว่า กลอนที่มีความกำกวนนั้นก็คือความไม่แจ่มชัดนั่นเอง ... ความกำกวมของกาพย์กลอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี และก็ต่างกับความมีนัยของกาพย์กลอน บางคนเข้าใจว่าความกำกวมเป็นของดี คืออาจจะหมายความอย่างนั้นก็ได้อย่างนี้ก็ได้ จากนี้ก็เลยเห็นเป็นเรื่องลึกซึ้งไป อันที่จริงความกำกวมก็คือความหมายที่ไม่แจ่มชัดว่าเป็นอย่างไหนแน่ ไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ความมีนัยนั้นเป็นเรื่องที่จะเห็นความหมายที่ซ่อนไว้อีกอย่างหนึ่งได้เป็นนัย ๆ นั้นก็คือความหมายนั้น ๆ ไม่อาจพิสูจน์ยืนยันได้ แต่ก็สามารถทำให้ผู้อ่านผู้ฟังเห็นความแจ่มกระจะออกไป ถ้าความนั้นยิ่งคิดก็ยิ่งจะเข้าใจได้มากออกไปอีก ชัดเจนออกไปอีกก็เป็นความที่ลึกซึ้ง ตัวอย่างกลอนที่มีความกำกวมในประวัติวรรณคดีไทยก็คือ


จำจะคิดปลูกฝังเสียยังแล้ว

ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา

ที่สุนทรภู่ท้วงว่า “สมมาดอะไร” นั้นถูกทีเดียว เพราะความกำกวมไม่แจ่มชัดลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้เสียใหม่ว่า


จำจะคิดปลูกฝังเสียยังแล้ว

ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา


กวีเป็นผู้ทำการใหญ่ เพราะฉะนั้นจะต้องมีความแจ่มชัดในทางความคิด ต่อจากนั้นจะทำอะไรอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ส่งท้ายด้วยความอหังการที่นายผีใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ซึ่งถือเป็นหัวใจของเล่ม และน่าจะยกเป็นหัวใจของกวีนิพนธ์ร่วมสมัยได้ด้วย


อหังการ
แปลตามพยัญชนะก็คือความเป็นตัวของตัวเอง นั่นคือนักเขียนจะต้องยึดหลักการและทัศนะของตัวให้มั่น ไม่ทิ้งหลักการและทัศนะที่ถูกต้องของตน ไม่ว่าในกรณีเช่นไร อหังการโดยอรรถะหมายถึงความภูมิใจในการงานอันดีงามของตน และเมื่อนึกถึงหน้าที่ของนักเขียนแล้วเขาก็ควรมีอหังการตามความหมายนี้ แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งเกิดอหังการโดยมิได้เป็นตัวของตัวเอง และทั้งโดยมิได้มีอะไรน่าภาคภูมิ นี่ก็คือความเย่อหยิ่งซึ่งนักเขียนทั้งหลายพึงหลีกเลี่ยงให้ไกลแสนไกล ภาษิตหนึ่งมีว่าความถ่อมตนทำให้เจริญ ความเย่อหยิ่งลำพองใจทำให้เสื่อมเสีย บางทีจะเป็นเครื่องประกอบปราภวสูตรได้บ้างดอกกระมัง หากนักเขียนเราจะรำลึกข้อนี้เป็นนิตย์ เมื่อการเขียนเรื่องเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิอหังการเช่นนี้แล้ว การเขียนเรื่องให้ดีก็เป็นความจำเป็น ฉะนั้น, เคล็ดแห่งการเขียนเรื่องจึงมิใช่อะไรอื่น นอกจากเป็น เคล็ดแห่งอหังการ นั่นเอง


ฉะนั้น เคล็ดแห่งอหังการ คงไม่ใช่เรื่องของ “แก่น” ที่ใครพากันเอามาพูดง่าย ๆ ว่าเป็น “แก่น” เท่านั้นดอกกระมัง หรือหากว่าจะเป็นเช่นเขาว่า มันก็สุดแท้แต่ใครจะเดินรอยตาม.

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม