Skip to main content

นายยืนยง

 

ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner

ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่

ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ

ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ..2548

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing


เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน


กระทั่งได้พบกับโศกนาฏกรรมอันยาวเหยียดดังคาดไว้ อะไรเล่าจะกินใจผู้คนได้เท่ากับโศกนาฏกรรม.. โดยเฉพาะกับเด็กเก็บว่าวเล่มนี้ ที่ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ได้บอกแก่เราผู้อ่านว่า โศกนาฏกรรมนั้นเยียวยาให้ดีได้แม้นมันจะไม่สามารถหวนคืนมาได้เหมือนเดิมทุกประการ แต่มันก็ “ดี” ได้ เขาว่างั้น


แล้วไอ้ส่วนที่ “ดี” นั้นหมายความว่าอย่างไรหรือ ก่อนอื่นมาดูเรื่องราวคร่าว ๆ กันสักเล็กน้อย เพื่อจะกล่าวกันถึงเค้าโครงของเรื่องที่สะท้อนออกให้เห็น “ขดเชือก” ที่ถักทอขึ้นจากสัมพันธภาพระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ว่าแท้แล้วใครเป็น “ลูกรัก” และ “ลูกรักมากกว่า” ระหว่าง “ลูกที่ศรัทธาอย่างไม่คลอนแคลน” กับ “ลูกที่ศรัทธาพระองค์เมื่อไร้ที่พึ่งอย่างแท้จริง”


ที่ปกหลังทางสำนักพิมพ์โปรยเรื่องแบบย่นย่อไว้ดังนี้ ขอยกมาเฉพาะเนื้อเรื่องย่อ

อาเมียร์ และ ฮัสซาน คือเด็กชายในเมืองคาบูลที่ได้รับการเลี้ยงดูขึ้นมาในบ้านหลังเดียวกันและดูดดื่มน้ำนมจากอกแม่นมคนเดียวกัน หากแต่เติบโตขึ้นมาด้วยโอกาสและสถานะที่แทบจะพูดได้ว่า อยู่กับคนละโลก อาเมียร์ คือบุตรชายของผู้มีอันจะกิน แต่ฮัสซาน คือลูกบ่าวชาวฮาซาราที่น่าเย้ยหยันด้วยหน้าตาและชาติกำเนิด ต่างเพียงแต่ว่าความน่าเย้นหยันที่ปรากฎเป็นร่างของฮัสซานมิอาจลดคุณค่าความสัตย์ซื่อแห่งความเป็นเพื่อนและความเป็นบ่าวที่เขามีต่อเมียร์ได้ ขณะที่ความมั่งคั่งของอาเมียร์กลับบิดเบือนคุณค่าแห่งความสัตย์ซื่อนั้นด้วยการเพิกเฉยปล่อยให้ฮัสซานเผชิญกับการถูกรังแกจากกลุ่มอันธพาลที่รุมข่มขืน พร้อมทั้งหยิบยื่นความผิดในฐานะขโมยให้กับฮัสซานกระทั่งถูกไล่ออกจากบ้านของตนไปทั้งพ่อและลูก (จริง ๆ ไม่ได้ถูกไล่ออก แต่ฮัสซานกับอาลี – ผู้เป็นพ่อ ได้ขอออกจากบ้านไปเอง แม้พ่อของอาเมียร์เจ้าของบ้านจะเหนี่ยวรั้งไว้เพียงไร)


นั่นคือจุดเริ่มเรื่อง ต่อมา เมื่อสงครามเริ่ม โซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน อาเมียร์กับพ่อได้อพยพไปอยู่อเมริกาและสร้างชีวิตใหม่ที่นั่น ขณะฮัสซานกับอาลียังคงอยู่ สุดท้ายสงครามก็พรากพวกเขาไป เหลือเพียงเด็กชายซอหรับ ลูกชายของฮัสซาน ที่ตกระกำลำบากอยู่ในคาบูลดินแดนที่กลุ่มตาลีบันสวมบทบาทพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว


ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ในใจของอาเมียร์ชนิดที่ไม่มีวันลืมเลือนไปได้ โดยให้ฮัสซาน เพื่อนผู้เปรียบเสมือนทาสผู้ซื่อสัตย์ต่อเขาดุจพระเจ้า ยังเหนี่ยวรั้งความสัตย์ซื่อของเขาจวนวาระสุดท้าย


ฮัสซานถูกทหารตาลีบันยิงทิ้งหน้าบ้านของอาเมียร์เนื่องจากเขาพยายามรักษา “บ้าน” ซึ่งก็คือ สัญลักษณ์แทนสัมพันธภาพระหว่างเขากับอาเมียร์ นั่นเอง ขณะอาเมียร์ในภาคผู้ใหญ่ได้พยายามถ่ายบาปที่เขาได้กระทำต่ออัสซานผู้ซื่อสัตย์ โดยการตามหาซอหรับลูกชายฮัสซานเพื่อนำเด็กกำพร้าคนนั้นกลับไปอุปการะที่อเมริกา อาเมียร์ชำระล้างจิตสำนึกตัวเองการยอมเจ็บตัวปางตายเพื่อให้ได้ตัวซอหรับกลับไปด้วย


นี่เป็นเค้าโครงเรื่องที่ฮาเหล็ด ผู้เขียนได้ผูกปมไว้ภายใต้บรรยากาศของสงครามและความสูญเสีย

เหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ นานาผุดขึ้นเป็นระยะตลอดเส้นทางโศกนาฏกรรมอันยาวเหยียดนี้


ความเลวร้ายไร้มนุษยธรรมในนามสงครามที่เริ่มตั้งแต่ ชาวพาชทูน มุสลิมนิกายสุหนี่ได้เข้ามากดขี่รุกรานชนพื้นเมืองชาวฮาซารา มุสลิมนิยายชีอะห์ เจ้าของเดิมแห่งอัฟกานิสถาน (อาเมียร์เป็นชาวพาชทูน ส่วนฮัสซานเป็นชาวฮาซารา) จากนั้นดินแดนนี้ก็ถูกรุกรานโดยโซเวียด ต่อด้วยกลุ่มสัมพันธมิตร ตบท้ายด้วยกลุ่มตาลีบัน ซึ่งล้วนเป็นสงครามในนามความเป็นอื่นอันเป็นฉากหลังของนวนิยายเรื่องนี้


ขณะเดียวกัน สงครามที่กินเลือดกินเนื้อพวกเขาอยู่ทุกขณะจิตคือ สงครามระหว่างพวกเดียวกันเอง และมีอาวุธชนิดเดียวนั่นคือ การทรยศ


ฮาเหล็ดได้ผูกปมเชือกไว้รอการคลี่คลายเป็นจังหวะหลายปม หากจะจัดแยกออกมาจากโครงสร้างของเรื่องจะเห็นได้ชัดเจนดังนี้


เริ่มจากอาเมียร์ เด็กชายใจน้อยที่โหยหาความรักจากพ่อ เขาเข้าใจว่าพ่อเกลียดเขาเพราะเขาเป็นผู้พรากแม่ไปจากพ่อ (เมื่อเกิดมา แม่ก็ตาย) เขาอิจฉาฮัสซานที่เก่งกว่าหลายเรื่องจนเป็นที่ชื่นชมของพ่อเสมอ จึงพยายาม “เขี่ย” ฮัสซาน ออกไปจากสัมพันธภาพระหว่างพ่อลูก ด้วยการทรยศ คือ ไม่ยอมเข้าไปช่วยฮัสซานตอนที่เขาถูกรุมข่มขืนเพราะฮัสซานต้องการรักษา “ว่าว” ที่เป็นของอาเมียร์ไว้ และได้สร้างเรื่องให้ฮัสซานเป็นขโมย เป็นอันว่าเขากำจัดฮัสซานออกไปจากชีวิตด้วยหวังว่าเขาจะลืมเรื่องทั้งหมดลงและเป็นสุขขึ้นมาได้


ขณะเดียวกันความลับหนึ่งที่เขาไม่เคยล่วงรู้คือ ฮัสซานก็เป็นลูกชายของพ่อเหมือนกับเขานั่นเอง

เรื่องมีอยู่ว่า อาลีพ่อของฮัสซานนั้นเติบโตมาพร้อมกับพ่อของอาเมียร์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนต่างวรรณะเหมือนเขากับฮัสซาน แต่พ่ออาเมียร์กลับทรยศอาลีได้ลงคอ เขาร่วมหลับนอนกับเมียของอาลี จนกระทั่งนางตั้งท้องฮัสซานขึ้น และเก็บเรื่องไว้เป็นความลับแม้กระทั่งอาเมียร์กับฮัสซาน แต่ความซื่อสัตย์ของอาลีไม่เคยเปลี่ยนแปลง สุดท้ายความทรยศได้สืบทอดมาจนถึงรุ่นลูก


ที่สำคัญกว่าปมทั้งหลายเหล่านี้ คือ เชือก ที่ฮาเหล็ดใช้ขมวดและคลี่คลายนั่นเอง เชือกที่ว่านั้นเป็นเส้นวัสดุที่ถักทอขึ้นจากสัมพันธภาพแบบพระเจ้ากับลูกของพระองค์นั่นเอง


เราสามารถแบ่งกลุ่ม “ลูกที่เชื่อมั่นในพระเจ้า” กับ “ลูกที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ”

จากตัวละครเห็นได้ชัดว่า ฮาเหล็ดจัดแบ่งให้กลุ่มคนผู้มีอันจะกินที่เป็นชาวพาชทูนได้แก่ พ่อและอาเมียร์ให้เป็นกลุ่มที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง สองพ่อลูกไม่เคยทำละหมาด ยกเว้นแต่ตอนที่อาเมียร์ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า เขาท่องบทสวดกระท่อนกระแท่น แต่พระองค์ก็ยื่นหัตถ์มาช่วยเขาจนได้


ส่วนอาลีและฮัสซาน สองพ่อลูกชาวฮาซารา กลุ่มชนชาติต่ำต้อยไร้ค่าน่ารังเกียจที่ทำละหมาดอย่างเคร่งครัด เป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น กลับถูกทรยศจากผู้ที่เขาสยบยอมด้วยความรักและศรัทธาอย่างซื่อสัตย์ นั่นคือ พ่อและอาเมียร์เจ้านายของพวกเขา และต้องจบชีวิตลงอย่างน่ารันทดท่ามกลางความร้ายกาจนานาประการ


ครั้นมาดูสัมพันธภาพระหว่างคนสองกลุ่มนี้

อาลีกับฮัสซานสองพ่อลูกที่จงรักภักดีต่อพ่อกับอาเมียร์เจ้านาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นระดับความสัมพันธ์เทียบเท่ากับที่เขามีต่อพระเจ้าก็ว่าได้ เห็นชัดจากคำของฮัสซานที่ว่า “สำหรับคุณ กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว” และจากความเสียสละ ความขมขื่นที่อาลีกับฮัสซานจำกล้ำกลืนเพื่อเจ้านายผู้ที่รักและศรัทธายิ่ง


เช่นนั้นแล้ว คำว่ามิตรภาพ ดูจะตื้นเกินไปเมื่อจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มนี้ แม้ฮาเหล็ดจะสร้างเหตุการณ์ให้ตัวละครอย่างฮัสซานกับอาลีได้แสดงอานุภาพของมันไว้ตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยอมเสียสละหลายครั้งของฮัสซานกระทั่งก่อให้เกิดบาดแผลลึกในใจของอาเมียร์


ฉะนั้นแล้วนวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเสริมสร้างสายใยแห่งมิตรภาพเท่านั้น หากแต่ ฮาเหล็ดได้กล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ที่แปรสภาพมาอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อกับลูก โดยอาศัย “ความทรยศ” เหมือนอย่างที่ อาดัมกับอีฟ เคยทรยศ คือ ไม่รักษาสัญญากับพระเจ้าว่าจะไม่แตะต้องผลไม้ในสวนอีเดน โดยกินแอ๊ปเปิลผลไม้ต้องห้าม หรืออีกนัยหนึ่ง ฮาเหล็ดอาจกำลังกล่าวว่า มิตรภาพ คือ ความงดงามที่ทรงคุณค่าเทียบเท่ากับศรัทธาในพระเจ้า


แต่เขาไม่ได้หยุดแค่นั้น ฮาเหล็ดยังพยายามสมานแผลหรือเยียวยา “หัวใจ” ของผู้ทรยศและเคยทรยศทั้งหลาย โดยการยึดหลักคำสอนทางศาสนาด้วยการ ถ่ายบาป เช่นเดียวกับที่พ่อของอาเมียร์คอยให้ความช่วยเหลือผู้คนตกทุกข์ได้ยากทั้งหลายอยู่เสมอ และเช่นเดียวกับที่อาเมียร์ต้องดั้นด้นค้นหาซอหรับลูกชายของฮัสซานเพื่อถ่ายบาปที่เขาได้ก่อไว้กับฮัสซานผู้ซื่อสัตย์ เพื่อบรรเทาความรู้สึกผิดที่ขดตัวเป็นก้อนน้ำหนักอันหาที่เปรียบไม่ได้ในจิตสำนึกของตัวเอง และเพื่ออะไรอีกเล่า...


ฉันอ่านนวนิยายเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกเรียบ ๆ แม้จะตระหนกตกใจไปกับความเลวร้ายระยำตำบอนของสงครามที่มนุษย์กระทำกับมนุษย์ด้วยกันเองอยู่บ้าง และออกจะแปลกใจที่นวนิยายเรื่องนี้ขายดีในสังคมอเมริกันเหลือเกิน แต่ก็เพียงชั่วครู่เท่านั้น เพราะหากนำบริบทแวดล้อมมาร่วมวิเคราะห์ เราอาจมองได้ชัดขึ้นว่า ในสังคมบริโภคนิยมที่ปลาใหญ่กระเดือกปลาเล็กอย่างชอบธรรม และไม่ว่าเราจะมีบาดแผลในใจ มากน้อยต่างกันหรือไม่ และไม่ว่าการถ่ายบาปจะสร้างความ “ดี” ขึ้นให้ได้ “โล่งใจ” ได้มากมายอย่างไร ฉันก็เชื่อว่า การถ่ายบาป ไม่สามารถ “ถ่าย” เวรกรรมอันเกิดจากการกระทำชั่วช้าของเรา ที่ทำต่อผู้อื่นออกมาได้เลย ในเมื่อสีดำได้ป้ายลงไปแล้ว ไม่ว่าจะพยายามล้างให้ขาวขึ้นอย่างไร คราบเข้มของมันก็ยังฝังอยู่ไม่รู้คลาย ฉันขอภาวนาว่า การถ่ายบาปอย่างตื้นเขินที่บังเกิดขึ้นในสังคมบริโภคโคตรนิยมแห่งนี้ จะไม่กลายเป็นวัฒนธรรมที่พ่วงเอาคุณค่าทางศีลธรรมไปเป็นยี่ห้อปะหน้า กระทั่งกลายเป็นความมักง่ายและข้ออ้างให้เราก่อบาปขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม เพราะบาปแก้ได้ด้วยการ “ถ่าย” ใช่หรือไม่


และแม้นอาเมียร์จะพาซอหรับมาใช้ชีวิตในดินแดนแห่งความหวังอย่างอเมริกาได้สำเร็จ และแม้นจะเป็น อาเมียร์เองที่ใช้คำพูดของฮัสซานในอดีต เพื่อแสดงออกให้ตัวเองประจักษ์ว่าบาปที่เขาได้ก่อขึ้นนั้นกำลังจะกลายเป็น “ดี” โดยการยอมเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อซอหรับ ดังเช่นฮัสซานเคยปฏิบัติต่อเขาว่า

สำหรับเธอ กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว”

แต่สำหรับฉัน กว่านี้อีกพันหรือจะเรียกให้ทุกอย่างกลับคืนมา.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …