Skip to main content
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ


ได้เรียนฟรีกันไปแล้วล่ะเยาวชนไทยของเรา ฟรีตั้ง 4 รายการทีเดียวเชียว แต่เรียนฟรีก็ไม่ได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงคุณภาพของการศึกษา ได้แต่ภาวนาให้คุณครูทั้งหลายตั้งสติสัมปชัญญะในการสอนนักเรียนของครูด้วย อย่าให้คำว่า "ฟรี ๆ " เข้ามาชอนไชความตั้งมั่นของครูเลย และผู้ปกครองเองก็อย่าได้หลงระเริงว่า การศึกษาของเด็กไทยได้ไปโลดแล้ว เพราะรัฐบาลมองเห็นความสำคัญของการศึกษาจากนโยบายฟรี ๆ นี้ การศึกษาของลูกหลานเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำราเรียน เครื่องแบบ และอุปกรณ์การเรียน แต่ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเป็นปัจจัยสำคัญด้วย

 

ได้ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ว่ามีการเสนอให้ปรับโครงการหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นในทุกระดับชั้น ทั้งประถมและมัธยม เขาตั้งเป้าให้นักเรียนได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ใครมีลูกหลานกำลังเรียนแล้วเคยได้อ่านดูตำรับตำราเรียนของเด็ก ๆ คงแอบบ่นกันว่า จะให้เด็กเรียนอะไรนักหนา เนื้อหาเยอะขนาดนี้ ใครมันจะไปจำได้หมด โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (แค่ชื่อวิชาก็เขียนจนเมื่อยมือแล้ว) อีกหนึ่งวิชาที่ได้อ่านดูแล้วต้องบอกว่า "ยาก" คือ ภาษาไทย

 

มาดูก่อนว่าเขาปรับโครงสร้างหลักสูตรวิชาสังคมกันอย่างไร

กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ มี 5 สาระวิชา คือ

-ศีลธรรม

-หน้าที่พลเมือง

-ภูมิศาสตร์

-ประวัติศาสตร์

-เศรษฐศาสตร์


ตามหลักสูตรเดิมเรียนสังคมฯ ดังนี้

ประถม เดิมปีละ 80 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 120 ชั่วโมง แยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมง ส่วน 4 สาระวิชาที่เหลือนั้น เป็นปีละ 80 ชั่วโมง เป็นอันว่าต้องเรียนประวัติศาสตร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาทั้งหมด

 

ม.ต้น ( 3 ปี ) เดิมเรียน 360 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 120 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 480 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 160 ชั่วโมง

แยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ 3 ปี 120 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 40 ชั่วโมง สาระวิชาที่เหลือ 3 ปี 360 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 120 ชั่วโมง เป็นอันว่าต้องเรียนประวัติศาสตร์คิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาทั้งหมด

 

ม.ปลาย (3 ปี) เพิ่มเป็น 320 ชั่วโมง แยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ 3 ปี 80 ชั่วโมง เป็นอันว่าต้องเรียนประวัติศาสตร์คิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาทั้งหมด

 

โครงการนี้จะนำไปใช้กับโรงเรียนนำร่อง จำนวน 555 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2552 นี้ และเริ่มใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 งานนี้ใครเป็นไม้เบื่อไม้เมากับวิชาประวัติศาสตร์คงต้องกล้ำกลืนเรียนกัน ถ้าทำใจให้รักมันไม่ได้ ก็ต้องตกนรกไปจนกว่าจะจบม.6



หากมองในแง่ดีที่เยาวชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้นก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดี โดยเฉพาะเด็กประถมที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย ฉันอ่านดูแล้ว เด็กประถมปลายได้เรียนเรื่องพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย โดยเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ไม่เท่านั้น เนื้อหาที่ว่าด้วยแคว้นโบราณ เมืองโบราณในลุ่มน้ำต่าง ๆ ก็มีให้เรียนเยอะแยะมโหฬาร อาจถึงขั้นถ้าจะให้เด็กเรียนหมดมีหวังสมองปลิ้นแน่ เพราะนี่แค่สาระวิชาเดียว

 

เคยถามคุณครูว่าทำไมเนื้อหาในหนังสือจึงมหาศาลปานนี้ ครูทำหน้าเหมือนอยากตอบว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู จึงพยายามให้เหตุผลและอธิบายว่า การที่แบ่งระดับนักเรียนเป็นช่วงชั้น เช่น ประถม 1 - 3 เป็นช่วงชั้นที่ 1 ประถม 4 - 6 เป็นช่วงชั้นที่ 2 และตำราเรียนของเด็กป.4 กับ ป. 6 จะไม่เหลื่อมล้ำกันมากนัก เขาเน้นให้เด็กเรียนเยอะ และเน้นให้เรียนซ้ำ ๆ จะได้ผลการเรียนที่น่าพอใจกว่าเรียนจากเรื่องง่ายไปหาเรื่องยาก คือ เด็กป. 4 จะได้คล้ายป. 6 แต่จะเรียนซ้ำ ๆ ไปจนกว่าจะถึง ป. 6 พอถึงตอนนั้น ความรู้จะได้แน่นขึ้น ครูว่าอย่างงั้น... ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนชั่วโมงเรียนกับเนื้อหาในแต่ละสาระวิชานั้น จะได้เห็นว่าเนื้อหาออกจะมากเกินไป ทำให้ครูจำเป็นต้องสอนแบบย่นย่อ หรือยัดอัดเนื้อหาภายในเวลาเรียนจำกัด จนบางครั้งต้องตัดทอนเนื้อหาออกบ้าง ไม่อย่างนั้นจะสอนไม่ทัน อันนี้คิดแบบไม่นับเอาเวลาที่ครูต้องเสียไปกับการทำผลงานเสนอขอเลื่อนขั้นวิทยฐานะใดใดทั้งสิ้น ซึ่งครูทุกคนต้องหวานอมขมกลืนกันมาตลอด คนที่น่าเห็นใจไม่ใช่ครูอย่างเดียว แต่รวมถึงนักเรียนด้วย เรียนหนักกันขนาดนี้แล้ว บางคนต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก และได้โปรดอย่าพูดถึงผลการทดสอบระดับนานาชาติที่เปิดเผยกันออกมาว่า เด็กไทยไม่ฉลาดอย่างที่หวังไว้ เพราะทำคะแนนแบบทดสอบได้ไม่ดี

 

ไม่ทราบว่าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเคยเห็นปัญหาเหล่านี้หรือเปล่า ยิ่งเฉพาะจะเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ยังไม่ได้กล่าวถึงวิชาภาษาไทยด้วยซ้ำ ใครมีลูกมีหลานเรียนประถม ลองเปิดดูตำราเรียนวิชานี้ดูบ้างเถอะ วิชาเดียวมีตำรา 3 เล่ม ประกอบด้วย ภาษาพาที วรรณคดีลำนำ และแบบฝึกหัดทักษะภาษา บางโรงเรียนอยากให้นักเรียนฉลาดกว่านักเรียนโรงเรียนอื่น ก็สามารถจัดหนังสือเรียนเพิ่มได้ (กระทรวงไม่บังคับ) โดยให้เรียนอีก 2 เล่ม คือ วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์ และแบบฝึกหัดทักษะปฏิสัมพันธ์ แต่ละเล่มอย่างงี้เนื้อหาแน่นเอี้ยด อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เองยังถือว่าหนักหนาเอาการ



ตำราเรียนภาษาไทยเหล่านี้ ชื่อชุดว่า ภาษาเพื่อชีวิต ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ เป็นประธานกรรมการจัดทำ ใครที่แปลกใจกับชื่อชุดตำราเรียน พอเห็นชื่อประธานจัดทำต้องร้องอ๋อ เพราะเขาคือ ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์ จากผลงานรวมเรื่องสั้น ก่อกองทราย วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เนื้อหาจะเน้นหนักด้านวรรณกรรม มีภาพประกอบสีสันสวยงาม ดู ๆ แล้วน่าหยิบจับมาอ่านจริง ๆ

 

ในเล่ม ภาษาพาที เนื้อหาเขียนขึ้นในรูปของเรื่องเล่าบ้าง เรื่องสั้นบ้าง มีตัวละครเด็ก ผู้ใหญ่ เป็นครอบครัวคนชั้นกลางที่อบอุ่น จะเรียกว่าเป็นครอบครัวในฝันก็ได้ ตำราเขียนเป็นร้อยแก้วก็จริง แต่มีแทรกด้วยบทร้อยกรองบ้าง และที่น่าชื่นชมคือ เนื้อหาไม่ใช่วิชาภาษาไทยล้วน ๆ แต่เป็นการรวบรวมเอาสาขาวิชาอื่นมาผสมผสานด้วย

 

เช่น บทที่ 1 ขนมไทยไร้เทียมทาน ตำราเรียนประถม 4 ที่ว่าด้วยขนมไทย มีการสอนแบบแฝงให้นักเรียนได้เรียนรู้ในหลักภาษาไทย การเขียน การอ่าน และสามารถจำแนะถึงที่มาที่ไปของขนมแต่ละชนิดว่าทำมาจากแป้งอะไร มีกรรมวิธีทำอย่างไรบทที่ 4 นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เห็นคุณค่า "ของไทย ๆ " ไปในตัว บางคนอาจเห็นว่า เป็นตำราเรียนที่ไม่เข้าสมัย เพราะเด็กทุกวันนี้แทบจะไม่เหลียวหาขนมตาล ขนมเทียนอย่างไทย ๆ แต่อย่างใด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้เรียนรู้ในสิ่งที่หลงลืมไปแล้ว ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้ได้โดยธรรมชาติ



หรืออย่างในบทอื่น ๆ เช่นบทธรรมชาตินี้มีคุณ ก็ช่วยปลูกฝังให้รักธรรมชาติ บทกระดาษนี้มีที่มา ก็เพิ่มเกร็ดของวิชาประวัติศาสตร์ โดยให้เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของกระดาษ และเป็นการเตือนให้รู้จักคุณค่าของกระดาษ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อดีที่ได้จากตำราเรียนที่เขียนขึ้นในรูปแบบวรรณกรรม ติอย่างเดียวคือปริมาณเนื้อหาไม่สอดคล้องกับจำนวนเวลาเรียนเท่านั้นเอง

 

ส่วนเล่ม วรรณคดีลำนำ นี่ เน้นหนักไปทางวรรณคดีตามชื่อเล่ม แน่นอนว่าต้องเขียนในแบบวรรณกรรมด้วย แต่พิเศษตรงที่ เป็นการนำเอารูปแบบร้อยแก้วกับร้อยกรองมาผสมผสานกันได้แนบเนียน นับว่าน่าอ่านมาก เพราะใครก็ตามที่ได้ยินคำว่า วรรณคดี ย่อมรู้สึกขั้นแรกว่า ต้องเชย หรืออ่านแล้วหลับ แต่เมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่างตัวละครในปัจจุบันกับตัวละครในวรรณคดี ย่อมมีแรงดึงดูดระหว่างผู้เรียนกับตำราในขณะอ่านหรือเรียน

 

ยกตัวอย่างบท การผจญภัยของสุดสาคร ที่ตัดเอาวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ในตอนกำเนิดสุดสาคร มาบวกเข้ากับการใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของเด็กหญิงตังหวาย ซึ่งหนังสือนั้น ตังหวายได้รับรางวัลมาจากการแต่งคำกลอนประกวดในวันสุนทรภู่

 

นอกจากไม่ได้จำกัดสาระวิชาให้อยู่ในขอบข่ายภาษาไทยอย่างเดียวแล้ว ข้อดีของตำราเรียนชุด ภาษาเพื่อชีวิต นี้ ยังให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ ในทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีภาคกลางเป็นศูนย์กลางเหมือนอย่างแต่ก่อน เช่นในบทที่ 4 เรื่องเล่าจากพัทลุง ที่นำเอาบทละครเรื่องเงาะอป่า ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ หรือในบทที่ 7 เที่ยวเมืองพระร่วง ที่แทรกเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์เข้ากับวรรณคดี มีตัวละครเอกของเรื่องเป็นมัคคุเทศก์น้อย ชื่อ โอยทาน นำเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัย

 

ต้องยอมรับว่าตำราเรียนชุดนี้เขียนขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งเนื้อหาและรูปเล่ม เป็นตำราเรียนคุณภาพที่เหมาะสมกับเยาวชนไทยอย่างยิ่งก็ว่าได้ หากว่ามีเวลาเรียนที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่ต้องย้ำอีกครั้งว่ามหาศาลเหลือเกิน

 

นอกจากปัญหาเรื่องเวลาเรียนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวครูผู้สอน เพราะตำราเรียนชุดนี้ ต้องการครูที่เข้าใจเนื้อหาสามารถถ่ายทอดอรรถประโยชน์แก่ผู้เรียน เพราะตำราไม่ได้เน้นให้ท่องจำ แต่เน้นให้ปฏิบัติและคิดวิเคราะห์ให้เป็นรูปแบบ ฝึกมองให้เห็นโครงสร้าง และกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ เพราะฉะนั้นการตอบคำถามจากแบบฝึกหัด จะไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว เด็กสามารถตอบคำถามได้อย่างหลากหลายตามทัศนคติของแต่ละคน บางทีทางออกของการศึกษาไทยวันนี้ จะไม่ใช่โนบายเรียนฟรีอย่างเดียว เพราะปัญญาเดิมที่แก้ไม่ตกคือ ตัวบุคลากร ครูผู้สอน

 

ถ้าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อยากเห็นเยาวชนไทยได้ศึกษาอย่างมีคุณภาพก็อย่าละเลยปัญหาของครู อย่าได้ส่งเสริมหรือหลอกล่อให้ครูผลาญเวลาไปกับการทำผลงานทางการศึกษาที่จะกลายเป็นเศษกระดาษในอนาคตเมื่อได้เลื่อนขั้นเพิ่มเงินเดือนอีกเลย ไม่อย่างนั้น คงต้องถามกันละว่า เด็กไทยเรียนกับ "อะไร" อยู่.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …