Skip to main content
 

นายยืนยง

ชื่อหนังสือ : ประเทศใต้

ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรือง

ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้

 

ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า "ชายผู้ตามหามโนห์รา" และเรื่องก็จบลงตรงที่ "พระสุธนใช้เวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ตามหามโนห์รา ผมใช้เวลาตามหามโนห์รา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แล้วเราก็จากกัน"


นี่แสดงให้เห็น ประเทศใต้ เขียนขึ้นโดยใช้เงื่อนเวลาที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบตามแบบแผนอย่างนวนิยายทั่วไป แต่การลำดับเหตุการณ์ภายในเรื่องเป็นไปอย่างสลับกลับไปมา ฉะนั้นจึงไม่อาจตัดสินได้ว่า ประเทศใต้ เป็นนวนิยายที่เขียนอย่างแหวกขนบ ซึ่งโดยโครงสร้างของเรื่องแล้ว การสลับกลับไปมาของเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นความจงใจของผู้แต่งที่จะแปรคุณค่าของ "เวลา" ให้ก้าวพ้น "เวลา" อย่างที่เราเคยชินกัน อย่างตอนเริ่มเรื่องในตอน 1 ที่เขียนไว้ว่า

"ผมมีอายุครบ 39 ปี เมื่อสิ้นปี พ..2552

เช้าของวันใหม่ปี 2553 ผมลืมตาขึ้นมาดูโลกท่ามกลางแรงเหวี่ยงสีดำอันแปลกประหลาด"

 

นอกจากนี้ ในเรื่องยังมีการบรรยายถึงห้วงเวลาที่อดีต ปัจจุบัน เหลื่อมล้ำกันอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างให้ความสลักสำคัญด้วย ฉะนั้นแล้ว เราจะมองเห็นชัดอีกครั้งว่า ผู้แต่งต้องการสื่อเรื่องราวที่อยู่เหนือกาลเวลา หรือเรื่องที่เป็น อกาลิโก เพราะโดยโครงสร้างแล้ว มีการจัดองค์ประกอบให้สอดรับกันอยู่ตลอดเรื่อง

 

ดูเหมือนว่า โครงสร้างของประเทศใต้มีกลไกที่สอดรับต่อกันอย่างสมเหตุสมผลในทุกกรณีและแทบทุกบทตอนเลยทีเดียว เช่นนี้แล้ว เราจะนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ "ลงตัว" ในเชิงเป็นเหตุเป็นผลกันได้ถนัด แต่จะถือข้อดีแห่งความลงตัวเหล่านี้เป็นเครื่องประเมินคุณค่าวรรณกรรมเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าย่อมมีคุณสมบัติพิเศษอื่นที่มากกว่าความเป็นกลไกที่สอดรับกันอย่างแน่นอน หรือหากใครจะประเมินค่ากันตรงนี้ ฉันจะขอยกตัวอย่างข้อดีมาให้ชื่นชมกัน และขณะเดียวกันก็จะกล่าวถึงนัยยะเชิงคุณค่าของ "ปรัชญา" ที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงกลไกนั้นด้วย

 

"ผม" หรือ "สุธน" ร่วมเดินธรรมยาตรา เพื่อแสวงหาความสุขสงบหรือความหมายที่แท้จริงของชีวิต และขณะร่วมขบวนธรรมนั้น สุธนก็เฝ้าคิดถึงแต่มโนห์รา และค่อย ๆ บอกเล่าเรื่องราวการตามหามโนห์ราหลายครั้งครา ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่รักเลิกร้างอย่างยอมจำนน

 

มโนห์รา ในเล่มนี้มีการอธิบายคำโดยนิรุกติกำกับมาให้ด้วย ซึ่งคัดมาจากผลงานเขียนของเขมานันทะ

มโนห์รา หมายถึง การนำมาซึ่งใจ (มโน-ใจ, หร-นำมา)

จึงสรุปได้ชัดเจนอีกว่า การเดินเพื่อแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ที่สุธนใช้ธรรมยาตราเป็นตัวตั้งต้นนั้น แท้แล้วคือ "การเดินทางภายในใจ" นั่นเอง อีกข้อหนึ่ง สุธน กับ มโนห์รานั้น เป็นคนคนเดียวกัน อีกด้วย

 

นี่คือ "สาร" ที่ได้จากการอ่านประเทศใต้ ซึ่งผู้แต่งใช้วิธีบอกเล่าผ่านการเล่าแบบไม่ยึดอึงกับกรอบของเวลา หรือเรียกว่าเป็นการเล่าแบบไม่ยึดกรอบ จนบางครั้งคล้ายเป็นงานทดลอง แต่ก็ไม่ใช่เพราะนวนิยายเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบตามแบบแผนของนวนิยายอย่างลงตัว ฉะนั้น รูปแบบการเล่าที่ดูหวือหวา หรือไม่ว่าจะเป็นความลงตัวที่สอดรับ สมเหตุสมผล ยังไงก็ไม่ใช่ "ของใหม่" อยู่นั่นเอง

 

ยกตัวอย่างอีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่มโนห์ราในวัยเด็กถูกจับตัวไป เป็นการครั้งแรกที่สุธนรู้สึกว่าต้องออกตามหาหล่อน ตอนนั้น คนที่ตามหามโนห์ราพบเป็นคนแรก คือ ชายบ้า และชายบ้าก็คือสัญลักษณ์ของดวงตาที่มองเห็นธรรม อย่างไม่อาจเป็นอื่นได้ หรือใครจะว่านี่เป็น "ของใหม่"

 

นอกจากนั้น ความเป็นนิทานพื้นบ้านของเรื่องพระสุธนมโนห์ราก็เทียบเคียงได้กับชาดกที่สอดรับกับพุทธประวัติ และเน้นว่าเขมานันทะก็ได้เปรียบเทียบเข้ากับหลักพุทธธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย ไม่เท่านั้น สุธนกับมโนห์ราก็คือ คนเดียวกัน เพราะสิ่งที่สุธนตามหานั้น แท้แล้วไม่ใช่มโนห์รา แต่เป็นความสุขสงบภายในใจอย่างที่ค้นหาได้จากพุทธธรรมนั่นเอง


ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในกลไกของเรื่องที่ผู้แต่งเน้นย้ำเป็นพิเศษ ถึงกับกล่าวผ่าน "เสียง" ของตัวละคร (พ่อ) อยู่หลายครั้งว่า "เป็นพระสุธนมันต้องตามหามโนห์ราอยู่วันยังค่ำแหละวะ" และในตอน 62 ผู้แต่งยังใช้เสียงของตัวเองกล่าวย้ำว่า

"ฉันบอกแกว่า ความรัก! - มันไม่ใช่แค่สองคนมาอยู่ด้วยกัน หากแต่เป็นการประสานความรู้สึกส่วนที่ลึกที่สุดในใจของมนุษย์ซึ่งไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ เพราะนั่นคือการเชื่อมประสานของจิตวิญญาณ..."

 

และในตอนที่สุธนกับมโนห์รานอนด้วยกัน หน้า 90 เขียนไว้ว่า "หล่อนนำทางผมไป" นี่ก็สอดรับกับเรื่อง "จิตนำกาย" อย่างพุทธธรรมอีกด้วย หนำซ้ำยังแถมท้ายฉากรักด้วยว่า

"เราเป็นคน ๆ เดียวกันแล้วนะ" หล่อนพูด

ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำ ความเป็นคนเดียวกันของสุธนกับมโนห์รา  แล้วใครจะปฏิเสธได้ว่า นี่ไม่ใช่ความประสานกลมกลืน ความสอดรับอย่างสมเหตุสมผลอันชื่นชมอีกเล่า

 

แต่โปรดสังเกตนิดหนึ่ง โดยเฉพาะฉากรักดังกล่าวนี้ เนื่องจากมันมี "พิธีกรรม" อย่างหนึ่งด้วย

"ผมบรรจงสวมแหวนให้หล่อน สัญญาว่าจะรักและดูแลหล่อนตลอดไป.. "

เป็นพิธีกรรมก่อนการร่วมรัก กระทั่งได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขั้นตอนของพิธีกรรมนี้เองที่ขัดแย้งกับโครงสร้างของเรื่องที่ผู้แต่งมีพยายามก้าวข้ามไปให้พ้นจากขนบของนวนิยายแบบเดิม แต่กลับ "ก้าวไม่พ้น" เพราะพิธีกรรมก็คือขนบ หนำซ้ำ พิธีกรรมยังเป็นจุดสำคัญอันจะนำพาผู้อ่านไปสู่แก่นเรื่องอีกด้วย

 

นี่อาจเป็นความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจลดทอนเจตนารมของวรรณกรรมที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยสักนิดเดียว แต่มันก็ชำแรกลงมาได้อย่างไม่น่าให้อภัย

 

ซึ่งหากเรานำมันมาต่อเข้ากับ "ข้อมูลดิบที่แปรรูปมาอย่างดี ที่ปรากฏเป็นฉากเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของการเดินธรรมยาตรา ข้อมูลดิบดังกล่าวนั้นได้แก่ ปมปัญหาอันรวมถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาที่ดำรงอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิต เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่าและรุกล้ำเขตป่าสงวนของชาวบ้าน ปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหาระหว่างชาวบ้านกับรัฐ กับนายทุน เรื่องการกดทับเอกลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมของคนใต้ การบิดเบือนซ่อนเร้นข้อเท็จจริงกรณีถังแดง หรือเรื่องคอมมิวนิสต์บนขุนเขา รวมเป็นความขัดแย้งที่ฝังลึกถึงขั้นจิตวิญญาณและคอยหลอกหลอนมนุษย์เช่นเดียวกับความอลวนของป่าหิมพานต์ ที่เป็นฉากท้องเรื่องของพระสุธนมโนห์รา ข้อมูลดิบเหล่านั้นถูกแปรสภาพมาให้กระชับรัดกุม รวมทั้งเสนอทางออกของปัญหาไปในตัวบท มีการสรุปใจความสำคัญให้เสร็จสรรพด้วย

 

ช่างเป็นการแปรรูปที่น่าทึ่ง เป็นการสรุปปมปัญหาที่อย่างชัดถ้อยชัดคำเหลือเกิน ไม่ต่างจากวรรณกรรมสัจนิยมหรืออัตถนิยมที่มุ่งเน้นจะฉายภาพความเป็นจริงในสังคมโดยเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา แต่เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้แล้วก็ยังไม่เห็นว่า วรรณกรรมเล่มนี้จะก้าวไปข้างหน้าแต่อย่างใด

 

หากผู้แต่งไม่มีเจตนาจะก้าวข้าวหรือก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ "ตัวบท" วรรณกรรมบอกกล่าวแก่เราแล้ว

เหตุใดผู้แต่งจึงจงใจ "โละ" ความสำคัญของเงื่อนเวลาลง หรือจะเพื่อให้มันสอดรับกับความเป็นอกาลิโกเพียงข้อเดียว หรือจะเพื่อขยายขอบเขตของการแสวงหา "ความจริง" เพราะ "ความจริง" ที่กล่าวก็เป็นอกาลิโกด้วยเหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม ใครที่อยากเห็นว่าประเทศใต้เล่มนี้ มีลักษณะ "ภูมิประเทศ" แบบใด สมควรอย่างยิ่งที่จะอ่านอย่างไม่ควรปฏิเสธแต่แรก เนื่องจากเป็นนวนิยายขนาดทันใจ กะทัดรัดมากที่สุด สั้นอย่างน่าทึ่งว่าผู้แต่งสามารถบรรจุข้อมูลอย่างนักวิชาการหลายร้อยเล่มเกวียนลงไปได้อย่างไร และสำคัญว่า ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลดิบแบบนักวิชาการริมาเขียนวรรณกรรม ที่ถนัดจะแปรสภาพ "ข้อเท็จจริง" ให้เป็น "ความจริง" โดยผ่านกรรมวิธีอย่าง "เรื่องอ่านเล่น" หรือนวนิยายนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะไร้เสน่ห์แล้ว ยังรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกยัดเยียดให้รับรู้ปัญหาไปด้วย

 

คราวนี้มาประเมินค่า "สาร" ที่มาในรูปปรัชญาซึ่งก็คือ พุทธปรัชญา อันนี้ไม่ต้องประเมินก็ไม่ผิด เพราะใครก็รู้ซึ้งในพุทธปรัชญา แต่ปัญหาอยู่ที่เป็นความรู้ซึ้งในระดับใด  ขณะที่ประเทศใต้เทศนาธรรมด้วยภาษาทางโลกนั้น รสธรรมที่ถ่ายทอดนั้นยังเป็นรสแห่งสมัยนิยมอีกด้วย เนื่องจากเป็นธรรมที่พยายามลงลึกถึงขั้นจิตวิญญาณ ไม่ใช่พุทธปรัชญาประยุกต์ผสมควอนตัม ไม่ใช่พุทธธรรมส่งเดชที่เน้นการตลาดที่เราเห็นกันเกร่อบนแผงหนังสือขณะนี้ แต่มีกลิ่นอายของมหายานหรือวัชระยานผสานเข้ามาด้วย ฉะนั้นจึงถือว่า "สาร" ที่แฝงอยู่เป็นเรื่องพอดีสมัย ไม่ล้าและไม่ล้ำสมัย


สุดท้ายนี้ หากเรียกประเทศใต้ว่าเป็นนวนิยายที่ใช้กลไกอย่างขนบของนวนิยายมาแปรรูปข้อเท็จจริงในสังคมกับหลักการของพุทธธรรม ให้เป็นวรรณกรรม (เรื่องอ่านเล่น) แล้ว ผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปนี้อาจเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ ได้หรือไม่ หรือจะเรียกวรรณกรรมสำเร็จรูป หากเป็นเช่นนั้น ผู้แต่งจะดำรงอยู่ในฐานะอะไรได้อีก หากไม่ใช่ "เครื่องจักรวรรณกรรม" และหากผลิตภัณฑ์นี้ไม่ติดตลาด มีความเป็นไปได้ไหมว่าผู้ผลิตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และจะพัฒนาไปทางใด

 

ท้ายจริง ๆ

ผู้แต่งที่ทำงานอย่างหนัก แม้นสมควรจะได้รับผลตอบแทนที่ดีสมค่าเหนื่อย แต่หากผู้แต่งทำงานหนักแล้ว ยังขาดซึ่งเสน่ห์อย่างปุถุชนแล้ว คงถามหาผลตอบแทนได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้แต่งประเทศใต้จงภาคภูมิใจกับผลของการทำงานหนักเฉกเช่นปุถุชนธรรมดามากกว่าผลตอบแทนในฐานะ "เครื่องจักรวรรณกรรม" เหมือนอย่างที่หลายคนก้มหน้าก้มตาเพียรรออยู่.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม