Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080326 โลกใบเก่ากับคนเฝ้าสุสาน

 

ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวัง

ไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ ทัศนาวดีแต่แล้วกลับต้องผิดหวัง! (ในลำพัง) เพราะไม่เคยคาดคิดว่าต้องมาพบเจอกับกระบวนการที่ยังกลับย่ำวนอยู่ในหลุมบ่อโศกนาฏกรรมของศตวรรษที่แล้ว

รวม ๑๒ เรื่องสั้นที่ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงอย่างที่เรียกได้ว่าท้องถิ่นนิยม ปรนเปรอผู้อ่านด้วยคราบน้ำตาอันสุดรันทด  แต่ความผิดหวัง (ส่วนตัว) ดังกล่าวนั้นก็ถูกชดเชยด้วยภาษาของทัศนาวดี

การใช้ภาษาของทัศนาวดีเต็มไปด้วยอารมณ์ละเอียดอ่อน และช่างเปรียบเปรย ให้ภาพพจน์ สร้างชีวิตชีวาให้ตัวละคร  มีแรงดึงดูดชวนให้อยากอ่านจนจบ เพราะไม่ว่าเนื้อหาจะดีเลิศเลอเพียงใด  ถ้าขาดศิลปะการใช้ภาษาแล้ว งานเขียนนั้นย่อมไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการสื่อสาร  แต่ขณะเดียวกันเค้าโครงเรื่องและแก่นของเรื่องกลับแสดงออกให้เห็นข้อด้อยที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นแม้ในปีพ.ศ.๒๕๔๗ ปีที่จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นนี้ขึ้น

นี่ไม่ใช่ข้อเขียนที่จ้องจับผิดหรือประทุษร้ายอารมณ์ใคร หากแต่มุ่งหวังจะชี้ให้เห็นว่า วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น  ควรค่าแค่เป็น “ของเก่าหายาก”ในยุคที่คนเดือนตุลา (ต้นแบบแนวคิดอันเป็นรากฐานของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต) กลายเป็นเบี้ยให้รัฐบาลทาสทุนข้ามชาติเท่านั้นหรือ?  หรือควรจะเป็นเสียงประกาศที่แท้ของยุคสมัยดั่งที่เคยเป็นมาในอดีต

เนื่องจากสูตรสำเร็จของแนวเพื่อชีวิต คือ โศกนาฏกรรม และขั้วคู่ขัดแย้ง  ซึ่งคู่เอกคงไม่พ้น ชนบท –สังคมเมืองหลวง , อนุรักษ์นิยม –หัวสมัยใหม่, ไพร่ฟ้า –รัฐ ซึ่งประเด็นนี้จะไม่อาจก้าวถึงความเป็นสากลได้เลย หากนักเขียนยังจำกัดตัวเองให้หลับตาเขียนสนองอุดมคติของโลกใบเก่า  ยกตัวอย่างเรื่องสั้นชื่อ กำแพง

เรื่องของคู่รัก คู่ขัดแย้งในรูปแบบของ อนุรักษ์นิยม –หัวสมัยใหม่  
ฝ่ายชายเป็นครูบ้านนอก บูชาอุดมคติ บรรพบุรุษและถิ่นกำเนิด ฝ่ายหญิงเป็นพนักงานบริษัทในเมืองกรุง ฝันถึงชีวิตพรั่งพร้อมสะดวกสบาย  สองคู่ขัดแย้งนี้ปะทะกันที่จุดวิกฤตคือการตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน สุดท้ายไม่อาจยอมถอยหลังคนละก้าว ไม่อาจประนีประนอมได้ นั่นคือ การไม่อาจยอมรับในความเป็นอื่น  

ดังคำพูดของฝ่ายหญิงในหน้า ๒๑  “ ทุกสิ่งล้วนความจริง  แต่ทำไมพี่ไม่ยอมรับ  ยุคนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องวิ่งตามมัน   จะมามัวนั่งดื่มด่ำอยู่กับภาพเก่าๆ ของบรรพบุรุษไม่ได้หรอก  พี่เห็นมั้ย ล้อเกวียนพาหนะสมัยปู่ย่าตายาย เดี๋ยวนี้มีหรือที่บ้านนอกคอกนา  เปล่าเลย... มันมาเรียงรายอยู่หน้าห้องอาหาร ตามบาร์ตามเธคหมดแล้ว... ”   

คำพูดนั้นได้แสดงออกถึงการเคลื่อนย้ายของค่านิยมและรสนิยมของคนในสังคม กระแสอนุรักษ์ของเก่าที่มาพร้อมชุดความรู้สึกนึกคิดแบบ “เพื่อชีวิต” “ชาวนา” “ชนบท”ต่างเข้าไปอยู่ในแผนการตลาดตามธุรกิจหลายสาขา กลายเป็นพรีเซนเตอร์ขายสินค้าไปแล้ว  ปัจจุบันชุดความรู้สึกนึกคิดที่ถูกสร้างมาจากวรรณกรรมแนวนี้ รวมถึงบทกวี หรือเพลงเพื่อชีวิต ก็ถูกนำมาติดราคาขายอย่างแพง  นั่นมันก็เท่ากับว่ารอยไถ คราบน้ำตาชาวนา การถูกกดขี่ข่มเหง ความยากไร้รันทดของคนด้อยโอกาสที่มีชีวิตโลกแล่นในโลกวรรณกรรม เป็นสินค้าขายดีมีราคา สร้างกำไรให้กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพบนความทุกข์ยากเหล่านั้น

เมื่อสังคมเคลื่อนผ่านจากจุดเดิมที่อุดมคติของฝ่ายครูหนุ่มบ้านนอก หัวอนุรักษ์นิยมและใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนผ่านไปแล้ว แต่มุมมองของนักเขียนยังจับจ้องอยู่ที่เดิม เรื่องสั้นที่มุ่งนำเสนอปัญหาสังคม ที่กำลังถูกตัดตอนออกจากรากเหง้าบรรพบุรุษ น่าจะแสดงออกได้กว้างและลึกกว่านี้  กลับกลายเป็นเรื่องที่ราบเรียบไร้มิติให้ตีความต่อ  โดยเฉพาะตอนจบของเรื่อง ในหน้า ๒๕ ที่จบแบบโศกซื่อ เร้าให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจเท่านั้นเอง  ( เรื่องเล่าผ่านมุมมองบุรุษที่หนึ่ง คือ ผม )

ผมยืนมองสองพ่อลูกยืนอยู่บนสะพานลอยในเมืองกรุง ขณะฝนเริ่มสาดเม็ด
 “  ฝนจะตกแล้ว  กลับบ้านเราเถอะ พ่อ... ” ไอ้หนูเขย่าแขนพ่อ แววปิติเต้นระริกอยู่ในดวงตาซื่อ  สายตาสองพ่อลูกตอบโต้กัน  พ่อกลืนน้ำลายเหนียวหนืด เหม่อขึ้นมองฟ้า มือโอบลูกชายไว้

 “  พ่อขายนาแล้วลูกเอ๋ย ... เราไม่ต้องการฝนอีกแล้ว ”


เรื่องกำแพงจบลงตรงนี้เอง  จบลงตรงหน้ากำแพงอุดมคติที่ทึบทื่อ จนกระทั่งผู้เขียนไม่อาจฝ่าทะลุไปได้  ขณะที่เรื่อง  โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ( หน้า ๑๐๑ ) ที่เล่าชะตากรรมของยายเพ็ง แม่เฒ่าคนจรที่อาศัยข้างสถานีรถไฟ  นางถูกนักเขียนสร้างให้เป็นคนที่น่าเวทนาเกินกว่ามนุษย์คนใดในโลก ทั้งถูกลูกสาวเนรคุณ ขณะลูกชายสุดที่รักก็หายเข้ากรุงเทพฯ ไม่รู้ชะตากรรม ทั้งถูกกดขี่ ข่มขู่จากพนักงานสถานีรถไฟ ตกรถขนม็อบเข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้เงินค่าจ้าง สุดท้ายนางทิ้งชีวิตเฮือกสุดท้ายไว้ข้างถังขยะซึ่งเป็นเสมือนห้องครัวและบัญชีเงินฝากของนาง

ทั้งเรื่องเขียนให้เห็นแต่ความเศร้าที่ไร้ต้นสายปลายเหตุ ไม่บอกว่านางถูกอะไรกระทำนอกจากชะตากรรม  นักเขียนไม่สามารถถ่ายทอดกลไกของสังคมที่สำแดงให้เห็นว่าคนด้อยโอกาส คนไร้ คนไร้โอกาสทางการศึกษา คนบ้านนอก คนไร้สัญชาติ ถูกกระทำโดยใคร?  “ มือที่มองไม่เห็น ”หรือ? ถูกกระทำโดยกลไกทางเศรษฐศาสตร์หรืออำนาจรัฐ

หากนักเขียนแนวเพื่อชีวิตมีมุมมองที่จับจด หละหลวม เกินไป เหมือนรายการสงเคราะห์คนจนในจอโทรทัศน์  วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตคงอยู่แต่ในตู้โชว์ของบรรดากลุ่มคนที่มองเห็นลู่ทางสร้างรายได้จากวรรณกรรมแนวนี้  

ขณะนักเขียนตกเป็นจำเลยในข้อหาด้านคุณภาพของงานแล้ว  เราต้องไม่ละเลยที่จะตักเตือนแวดวงการตลาดในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย  หากกระบวนการขายยังปิดกั้น ไม่เอื้อโอกาส เปิดที่ทางให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคม ต่อนักเขียน และต่อผู้บริโภคแล้ว ก็เท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางสังคมที่กดขี่ไม่ให้ความดีงามเจริญขึ้นมาได้ ฉะนั้นแล้วธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ก็ควรเลิกยกย่องตัวเองว่าวิเศษวิโสกว่าธุรกิจการค้าอื่น เพราะสิ่งเดียวที่แสวงหามิใช่การจรรโลงสังคมแต่เป็นกำไรเพียงประการเดียว.

        

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม