Skip to main content

นายยืนยง

20080430

ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)
ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกี
ประเภท             :      นวนิยายรัสเซีย
ผู้แปล               :      สดใส
จัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓

การที่เฒ่าคารามาซอฟถูกทุบหัวตายนั้น แม้ฆาตกรตัวจริงที่ลงมือจะคิดวางแผนและสามารถโยนความผิดให้มิตยาได้ แต่เขาก็ไม่อาจทนที่จะมีชีวิตต่อไปอย่างเจ็บปวดได้ เมื่อเขายอมสารภาพกับอีวาน นายที่เขานับถือบูชาเรียบร้อย เขาก็ตายจากไปเพราะโรคลมชัก โรคที่เป็นทั้งกลไกหนึ่งในการวางแผนฆาตกรรม ปัญหาอยู่ตรงที่มิตยาซึ่งถูกขังอยู่ในคุกและอีวานผู้รู้ความจริง ลูกชายทั้งสองต่างรู้ตัวดีว่า เขาก็มีส่วนในฆาตกรรมแม้มือจะไม่ได้เปื้อนเลือด ความรู้สึกดังกล่าวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเริ่มเชื่อว่าเขาเป็นฆาตกร อีวานถึงกับป่วยหนักเลยทีเดียว

ความซับซ้อนของเรื่องไม่ได้อยู่ที่การวางแผนฆาตกรรมอันแยบยล หากแต่อยู่ที่สังคม... จากเรื่องในครอบครัวก้าวมาเป็นปัญหาใหญ่โตของสังคมและจิตวิญญาณ สำคัญตรงที่จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก

เฒ่าคารามาซอฟ เป็นคนถ่อยชั่วร้าย มิตยาเองก็ไม่ต่างกันกับพ่อ แต่เขายังมีเกียรติแบบลูกผู้ชาย เมื่อสองคนนี้เป็นคนชั่วร้ายในสายตาของสังคม การตายหรือถูกลงโทษอย่างสาสมคนในสังคมจึงรู้สึกเสมือนว่าความชั่วถูกกำจัดไป  รู้สึกลึก ๆ ว่าเป็นการสาสมแล้ว อีวานถึงกับหลุดปากออกมาว่า “เหี้ยก็ต้องกินเหี้ยด้วยกัน”  

ในภาษากระชับเรียบง่ายของดอสโตเยสกี สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาได้ทุกเหลี่ยมมุม ซึ่งผมเองยังหลงเชื่อไปว่า ดอสโตเยสกีเป็นผู้สร้างตัวละครขึ้นมาจากชีวิตของเขาด้วยอัจฉริยภาพของนักประพันธ์ที่แท้ นี่เองที่คำกล่าวว่านักประพันธ์เป็นผู้สร้างโลก เป็นคำกล่าวที่จริงจังยิ่ง

กลับมาที่ตอน ตุลาการศาลศาสนา อีกครั้ง
เมื่อดอสโตเยสกีปลดปล่อยทัศนะของตัวเองไว้กับโคลงของอีวาน ขณะที่อโลชา ผู้ศรัทธาในพระเจ้าเป็นผู้ฟังอยู่ตลอดเวลา อีวานก็เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นการเกริ่นนำ หรือทดสอบอโลชาไปด้วย
เขาเล่าถึงชะตากรรมของเด็ก ที่ถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด ไร้เหตุผล เขาถามเป็นเชิงว่าอโลชาจะยอมให้อภัยผู้ที่กระทำต่อเด็กนั้นได้หรือไม่...

ยกตัวอย่าง ในตอนสนับสนุนหรือคัดค้าน
นายพลคนนี้ตั้งหลักปักฐานอยู่บนผืนดินของตัวเอง มีทาสติดที่ดินสองพันคน เขาคิดว่าตัวเองสูงส่งมีอำนาจมาก ใช้อำนาจข่มขู่เพื่อนบ้านที่ยากจนกว่า ยังกะพวกนี้เป็นกาฝาก มีชีวิตอยู่เพื่อทำให้เขาได้หัวเราะเท่านั้น เขาเลี้ยงหมาล่าเนื้อไว้เป็นร้อย ๆ ตัว มีแส้เกือบร้อยอัน แต่งด้ามอย่างดี ทำเหมือน ๆ กัน วันหนึ่งทาสตัวเล็ก ๆ ในบ้าน เด็กชายอายุแปดขวบกำลังเล่นเพลินๆ เกิดขว้างก้อนหินไปโดนตีนหมาไล่เนื้อตัวโปรดของท่านนายพล “ทำไมหมาตัวโปรดของข้าเดินกะเผลกอย่างนั้น หา” ท่านนายพลถาม ได้คำตอบว่าเด็กชายขว้างก้อนหินไปโดนตีนมัน “เอ็ง ใช่มั้ย ฮะ” เขาตะคอก มองเด็กตั้งแต่หัวจรดเท้า “เอามันไปขังไว้” เด็กถูกพรากไปจากแม่ ถูกขังไว้ตลอดคืน

เช้ารุ่งขึ้นเขาเรียกข้าทาสในบ้านมาชุมนุมกันฟังคำสั่ง แม่ของเด็กยืนหน้าสุด เด็กถูกนำตัวออกมาจากที่กักขัง วันนั้น หมอกลงจัด อากาศเย็น นายพลสั่งให้ถอดเสื้อผ้าเด็ก พ่อหนูหนาวสั่น กลัวจนตัวชา “ให้มันวิ่งไป” นายพลสั่ง เด็กชายออกวิ่ง นายพลตะโกนยุหมาทั้งฝูงให้ไล่ล่าเด็ก หมาต้อนเด็กชายล้มลง รุมกันทึ้ง ฉีกเนื้อต่อ่หน้าต่อตาแม่ พี่เชื่อว่าตอนหลังท่านนายพลถูกถอนสิทธิ์การจัดการที่ดินและทรัพย์สินที่มีอยู่ แต่พ้นจากนี้ใครทำอะไรเขาได้ล่ะ ยิงเขารึ ยิงเขาเพื่อสนองสำนึกทางศีลธรรมของเรารึ อโลชา ตอบพี่หน่อย
¡°ยิงมัน”   อโลชาตอบเสียงเบา เหลือบตามองหน้าพี่ชาย แค่นยิ้ม
¡°เยี่ยม!” อีวานร้องอย่างปลื้ม

เรื่องเล่าของอีวานสะท้อนให้เห็นทัศนะของดอสโตเยสกีว่า เขาไม่ยอมรับโลกของพระเจ้า เหตุใดพระเจ้าจึงสร้างโลกเช่นนี้  หรือในตอนตุลาการศาลศาสนา ที่ตุลาการศาลศาสนากล่าวบริภาษพระเยซูว่า

การยอมรับ ก้อนขนมปัง เท่ากับเจ้าได้สนองกิเลสอันเป็นสากลและมีอยู่นิรันดร์ของมนุษย์ ... ตราบใดที่มนุษย์เป็นอิสระ เขาจะรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้มนุษย์วุ่นวายใจไม่จบสิ้น เท่ากับการไขว่คว้าหาสิ่งที่จะบูชาได้เร็วที่สุด แต่มนุษย์จะบูชาเฉพาะแต่สิ่งที่ไม่มีอะไรให้โต้แย้งอีกแล้ว  

ไม่มีความกังวลใดของมนุษย์จะเจ็บปวดยิ่งไปกว่าการไขว่คว้าหาใครบางคน เพื่อจะส่งผ่านเสรีภาพที่เขาเคราะห์ร้ายได้มาแต่กำเนิดให้พ้นตัวไปเร็วที่สุด แต่ผู้ที่จะครอบครองเสรีภาพของมนุษย์ได้นั้นจะต้องเป็นคนที่สามารถทำให้มนุษย์รู้สึกสบายต่อจิตสำนึกของเขาเอง

ไม่มีอะไรที่จะเย้ายวนใจมนุษย์ยิ่งกว่าจิตสำนึกที่อิสระ แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานได้มากกว่านี้อีกเหมือนกัน

เสกสรรค์เขียนไว้ในบทนำว่า ดอสโตเยสกีวิจารณ์ทั้งพระเจ้าและมนุษย์ไปในเวลาเดียวกัน เขาเห็นว่าสวรรค์เรียกร้องสูง ในขณะที่มนุษย์ก็อ่อนแอเกินไป

ดังที่ได้กล่าวมายืดยาว.. ผมจึงรู้สึกอย่างมากมายกับประโยคนั้น
¡°วันนี้ ไม่มีสัญญาณรักจากสวรรค์”
¡°ที่หัวใจบอกนั้น อย่าสงสัย”

แม้การดำรงอยู่ของพระเจ้าจะจำเป็นอย่างไร แต่ผมก็บอกตัวเองว่า ผมไม่จำเป็นต้องเชื่อในพระองค์อีกต่อไปแล้ว หัวใจผมก็อ่อนแอไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่น ผมเรียนรู้ที่จะไม่รอคอยพรประเสริฐจากพระเจ้า ไม่เฝ้าอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้องขอ หรือดึงสวรรค์สันติสุขมาสู่โลกมนุษย์ ผมต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง แต่สิ่งที่เป็นอยู่...

เสกสรรค์วิเคราะห์ตัวละครในพี่น้องคารามาซอฟว่า
เป็นการแบ่งประเภทมนุษย์โดยตัวดอสโตเยฟสกีเอง มิตยาผู้เป็นพี่ใหญ่ถอดแบบมาจากบิดาโดยตรง เป็นมนุษย์ที่ติดหลงอยู่ในกามราคะ เราเรียกคนแบบนี้ได้ว่า โลกียะชน (Sensualist)  เป็นคนที่ประพฤติตนตามแรงเร้าของอายตนะทั้งหลายโดยแท้ สำหรับอีวาน พี่คนรองเป็นตัวแทนของนักเหตุผลนิยม (Rationalist) ในทรรศนะของเขา ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องอธิบายได้ จึงจะมีค่าควรเชื่อถือ เขารักเหตุผลเสียยิ่งกว่ามนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ส่วนน้องคนสุดท้อง อโลชา แตกต่างจากพี่สองคนไปอีก เขามีจิตใจเมตตากรุณาโดยกำเนิด เป็นผู้แสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณ (Spiritualist) รักเพื่อนมนุษย์และพร้อมที่จะให้อภัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

ครั้นเมื่อผมได้อ่านเค้าขวัญวรรณกรรม ของท่านเขมานันทะ  ที่ท่านเขียนถึงสัญลักษณ์อุปมาธรรมในไซอิ๋ว เคยเข้าใจว่า เห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง คือ ราคะ โทสะ โมหะ แต่ต่อมาครูของท่านได้ชี้ชัดขึ้นว่า ที่แท้สัตว์ทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่

โดย เห้งเจีย เป็น ปัญญา โป๊ยก่าย เป็น ศีล ซัวเจ๋ง เป็น สมาธิ  เมื่อทั้งสามมาประชุมพร้อมกันแล้ว ถึงเขตโลกุตระทั้งสามตัวเริ่มเข้าร่องเข้ารอยกันได้ หากจะถือว่าทั้งสามเป็นราคะ โทสะ โมหะ แล้วพระถังซัมจั๋งจะอาศัยไปไซที (นิพพาน) ได้อย่างไร

ครั้นเมื่อเปรียบกับพี่น้องคารามาซอฟคนเราประกอบด้วยสามด้าน ด้านที่หนึ่งเป็นอย่างมิตยา ถูกกระตุ้นเร้าจากกามราคะ เป็นด้านของอารมณ์ ด้านที่นิยมเหตุผลอย่างอีวาน และอีกด้านอย่างอโลชา คือเชื่อมั่นในความดีงาม ความสงบเช่นเดียวกัน จะได้หรือไม่... ซึ่งต่างแต่ว่าใครจะถูกครอบงำด้วยด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าด้านอื่นเท่านั้น

จากพี่น้องคารามาซอฟจะเห็นได้ว่า ทั้งคารามาซอฟผู้พ่อ คนบาปหนา,มิตยา ชายหนุ่มผู้มุทะลุ หรืออีวานผู้ไม่ยอมรับในตัวตนของพระเจ้า แต่ทุกคนต่างรัก นับถือ ไว้ใจในตัวอโลชามากที่สุด ในยามทุกข์ร้อนก็มักร้องหาอโลชาทั้งนั้น รวมถึงตัวละครอื่นที่กำลังเผชิญทุกข์ร้อนด้วย ทุกคนจะเรียกหาแต่อโลชา คล้ายกับเขาเป็นตัวแทนของพระเจ้านั่นทีเดียว

ดูจากปฏิกิริยาของเฒ่าคารามาซอฟ ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระเจ้า กลับรักและชื่นชมในตัวอโลชามากกว่าท่านผู้อาวุโส ซอสสิมา พระผู้ดีงามที่สุด (ตัวละครที่เป็นคนดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะดีได้) อาจเพราะเป็นสายโลหิตกัน แต่หากคิดอีกแง่หนึ่ง เฒ่าคารามาซอฟก็อาจหวาดระแวงในความดีงามสูงส่งเกินมนุษย์ปกติ (หรือในนามของพระเจ้า) ก็เป็นได้ แต่นี่เป็นเพียงข้อสังเกตที่เล็กน้อยมากๆ  

ผมลองคิดดูอีกทีก็ยังยืนยันว่า ดอสโตเยสกีเองก็ศรัทธาในพระเจ้าอยู่บ้างเช่นเดียวกัน แต่สัมพันธภาพระหว่างเขากับพระเจ้านั้น ถูกถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกที่เจ็บปวด สิ้นหวัง แต่เจืออยู่ด้วยความรัก การนับถือในพระเจ้าของดอสโตเยสกี เป็นความรู้สึกที่ระคนกันอย่างร้ายกาจทีเดียว ที่สำคัญดอสโตเยสกีสามารถถ่ายทอดมวลละอองความรู้สึก นึก คิด เหล่านั้นออกมาเป็นรูปแบบของนวนิยาย ดังเช่นนักประพันธ์ชาวรัสเซียในยุคสมัยที่อุดมด้วยทรรศนะคติเกี่ยวกับความหมายของชีวิต การดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

แม้ผมจะอ่านจบแล้ว พี่น้องคารามาซอฟ กลับไม่เคยหายไปจากใจ... สัญญาณรักจากสวรรค์ ที่ผมยอมรับว่ามันได้หมดสิ้นไปแล้ว ก็ยังเข้ามาวูบไหวอยู่ในบางขณะ... พี่น้องคารามาซอฟ จะเป็นวรรณกรรมที่ยาวยืดเยื้อที่ดกอุดมไปด้วยข้อคิด ทัศนคติที่มีต่อโลก มนุษย์ และพระเจ้า ประโยคนี้อาจมีนัยยะนิดน้อยเกินไป เพราะเมื่อคุณได้อ่านแล้ว คุณเท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายถาม?.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …