Skip to main content

นายยืนยง

20080611 bookgarden

ประเภท          :    วรรณกรรมแปล
จัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)
ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharya
ผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์

ใครเล่าจะหลอกลวงเลือดและกระดูกของตนเองได้ตลอด?  
ถ้อยอักษรจากหน้า 424 ในอมตะนิยายเรื่อง คนขี่เสือได้กะเทาะเปลือกจิตวิญญาณมนุษย์ออกมาอย่างเข้มข้น และอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

หลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ของ คนขี่เสือมาบ้าง บางคนอาจเคยอ่าน และรู้ซึ้ง แน่นอนว่านวนิยายเรื่องนี้จะยังคงอยู่ในใจผู้ที่เคยอ่านมัน เคยสนุก เคยดื่มด่ำ เคยซาบซึ้ง กับมัน แม้ว่าเราจะไม่เคยได้สัมผัสถึงรสชาติชีวิตเยี่ยง คนขี่เสือแต่เราก็จะรักมันและมอบให้เป็นหนังสือในดวงใจเล่มหนึ่ง

คนขี่เสือ เคยถูกกล่าวขานถึงในหลายแง่มุม ในนามหนึ่ง คนขี่เสือถือเป็นวรรณกรรมปฏิวัติทางชนชั้นวรรณะของอินเดียที่ทรงอิทธิพล ขณะอีกในนามหนึ่ง ก็เป็นวรรณกรรมที่สร้างขวัญกำลังใจให้ลุกขึ้นต่อสู้ ส่วนในแง่ของอรรถรสทางวรรณศิลป์นั้น นามของจิตร ภูมิศักดิ์ผู้แปล เราก็รู้จักกันดีถึงฝีมือและศักยภาพ
 
ส่วนเค้าโครงเรื่องที่แต่งตามขนบของเรื่องแต่งนั้น มีการวางเค้าโครงเรื่อง การปูพื้นฐานตัวละคร สร้างลักษณะนิสัยจำเพาะ โศกนาฏกรรม และความสะเทือนใจ แต่คุณค่าที่แท้ของวรรณกรรมหาใช่อยู่ที่องค์ประกอบโครงสร้างเท่านั้น หากอยู่ที่จิตวิญญาณของวรรณกรรม ซึ่งได้เข้าสถิตอยู่ในใจของผู้อ่าน

ขณะที่วรรณกรรมได้สัญจรลึกเข้าถึงจิตวิญญาณของเราผ่านภาษาที่สลักร้อยอย่างประณีตนั้น เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ภาษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่เจตนารมของผู้ประพันธ์ โดยเฉพาะวรรณกรรมแปล ยิ่งต้องผ่านปราการทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมประเพณีส่งผ่านศิลปะการแปลอีกทอดหนึ่ง กว่าจะมาถึงเราผู้อ่าน สำนวนการแปลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน และควรใจใส่พิจารณาให้ถ่องแท้ ด้วยเหตุที่ว่าการเดินทางข้ามวัฒนธรรม หรือนำเอาวัฒนธรรมออกเผยแพร่สู่สายตาของวัฒนธรรมอื่นนั้น อาจจะมีเหตุผลแฝงอื่นพ่วงพันมาด้วย เราจะเห็นได้จากหนังสือแปลที่ออกสู่ตลาดการอ่านจากอเมริกาบ้าง จากอังกฤษบ้าง ญี่ปุ่นหรือเกาหลีบ้าง ซึ่งบ่อยครั้งนักวิจารณ์ได้ออกความเห็นไปทำนองที่ว่า เป็นการล่าอาณานิคมแบบใหม่ หรือเป็นการแสวงหาอำนาจซื้อใหม่ ๆ จากภายนอกประเทศ แต่กับ คนขี่เสือเราจะเข้าใจได้ว่าเป็นการแสวงหาแนวร่วมเพื่อไปสู่โลกใหม่ โลกแห่งความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ

เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ในอินเดียมีการแบ่งชนชั้นวรรณะอย่างชัดเจน และมีกฎบังคับตายตัวยิ่งเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างวรรณะ เห็นจะไม่ต้องกล่าวซ้ำไว้ ณ ที่นี้ หากมองผิวเผินด้วยวัฒนธรรมใหม่ในเชิงที่ว่า มนุษย์มีสิทธิโดยเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ชนชั้นวรรณะของอินเดียอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นการฆาตกรรมมนุษยชาติก็เป็นได้ แต่หากได้ศึกษาลึกซึ้งในหลายแง่มุม บางคนอาจมองว่าเป็นศิลปะชิ้นเอกของโลกก็ได้

คนขี่เสือ เป็นเรื่องราวชีวิตที่พลิกผันของช่างตีเหล็กชนชั้นกรรมกรกับลูกสาว
กาโล พ่อช่างตีเหล็ก เป็นการ์มา (กรรมกร)เนื้อตัวดำเมื่อม ผู้กรำงานหนัก ทั้งชีวิตเขารักลูกสาวนามจันทรเลขายิ่งกว่าชีวิตเขาเอง พยายามทุกวิถีทางจะให้เลขาได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนบาทหลวงฝรั่ง ซึ่งมีแต่เด็กวรรณะสูงได้เข้าเรียน และเลขาก็เรียนได้ดีเลิศ ขณะที่ลูกสาวเรียน กาโลผู้พ่อก็หาเวลาว่างอ่านหนังสือของลูกด้วย เลขาเองแม้จะได้เรียนสูง แต่เธอก็ชื่นชมฝีมือการตีเหล็กของพ่อมากกว่า ในทุกความรู้สึกนั้นสองพ่อลูกมั่นคงต่อรากเหง้าของชนชั้นตัวเอง

เมื่อสงครามดึงเอายุคเข็ญเข้าสู่เบงกอล เมืองชรานาที่สองพ่อลูกอาศัยอยู่เริ่มอดอยากแร้นแค้น ไม่มีใครว่าจ้างกาโลตีเหล็ก ซ่อมหม้อน้ำ ขณะผู้อดอยากต่างมุ่งหวังอาหารและอพยพเข้าสู่กัลกัตตา กาโลเองจำยอมจากเลขา โดยฝากเธอไว้กับป้าหญิงชราของเธอ

วิกฤตของสงครามที่แผ่เชื้อโรคเป็นความหิวโหยแสบไส้ให้ระบาดเข้าสู่ลำไส้ประชาชนนับล้าน มันคร่าชีวิตผู้คนไปจากอาหารเพียงให้พอประทังลมหายใจ กาโลเองก็เช่นเดียวกัน ขณะที่เขาโดยสารรถไฟสายที่บรรทุกความอดอยากไปสู่ความหวังที่จะยังชีพในกัลกัตตา ความหิวได้สั่งให้เขาขโมยกล้วยสามผล และสุดท้ายก้าวย่างแรกที่บันดาลให้เขาจำต้องก้าวขึ้นสู่หลังเสือ ที่นั่นคือ คุก สถานจองจำอิสรภาพ

ป.14 คือชื่อเรียกขานในคุกของกาโล ความรู้สึกที่ร้อนรุ่มของผู้ถูกกระทำครั้งแล้วครั้งเล่าสั่งสมอยู่ในอกของการ์มาเช่นเขาตลอดมา และที่นั่นเขาได้พบเพื่อน บ.10 นักโทษหนุ่มข้อหาปลุกเร้าให้ประชาชนผู้หิวโหยในเมืองหลวงเข้าปล้นร้านอาหาร เป็นบ.10 อีกนั่นเองที่แนะนำวิธีการหากินให้กาโลเมื่อเขาไปถึงกัลกัตตา

เมื่อพ้นโทษกาโลมุ่งหน้าเข้ากัลกัตตาด้วยความหิวโหย เขาพยายามหางานทำโดยทำหน้าที่เข็นศพคนตายตามท้องถนนเอาไปที่บ้านคุณหมอ เพื่อเลาะเอากระดูกไปขายเมืองนอก กระทั่งวันหนึ่งเขาได้ทำงานเป็นคนคุมซ่องเพื่อแบ่งเบาความหิวของเขาออกไปเสียบ้าง และขณะทำงานนั้นก็ได้พบกับเลขา ลูกสาวผู้ถูกนางแม่เล้าหลอกเอามาขายซ่อง แม้กาโลช่วยลูกสาวออกมาได้ทัน แต่บาดแผลที่กรีดรอยฝังลึกในจิตวิญญาณของหญิงสาวยังสร้างรอยทางทุกข์โศกแก่เธอเหมือนอย่างจะไม่มีวันเลือนหาย

กาโลนึกถึงบทเพลงของนักโทษ (น.198-199) และเล่าให้เลขาฟังว่า
“ลูกเข้าใจถึงความรู้สึกเบื้องหลังเพลงที่นักโทษร้องเวลาทำงานยังกะวัวกะควายไหม ? ” เขาปาดเอาเหงื่อจากใบหน้ามาไว้ในกำมือ แล้วก็สวดพร้อมกันเป็นหมู่ว่า “กินนี่สิ น้ำมันจากกระดูกของพวกกู กินซะ..เอานี่ไปทอดปลา...อี้ เอานี่ไปใส่แกงมะเขือที่พวกมึงโปรดปรานกันนัก...แล้วนี่เอาไว้ทาตัว...กินนี่สิน้ำมันกระดูกของพวกกู กินซะ !”  และคำพูดในคุกของ บ.10 ที่ว่า (น.72)

“เราเป็นคนชั้นต่ำเป็นผงคลีดิน ได้พวกที่เป็นเจ้านายมันสาปแช่งด่าทอเรา เพราะมันกลัวเรา มันชกเราตรงที่เจ็บปวดรวดร้าวมากที่สุด – ตรงท้องของเรานี่ เราต้องชกตอบ”

เมื่อถูกกระทำหยามเหยียดจนรวดร้าวถึงที่สุดแล้ว กาโลตัดสินใจก้าวขึ้นหลังเสือเพื่อแก้แค้น เป็นการตีโต้ที่หนักหน่วง เขาทำตามแผนการของ บ.10 และกลายเป็นผู้เกิดสองหน (น.201)

เขาแสดงบทบาทของพราหมณ์ได้ด้วยท่าทางอันเหมือนกับเป็นผู้เกิดสองหนที่แท้จริง เคล็ดลับในการเป็นผู้อยู่ในวรรณะสูงนั้นวางอยู่ในกำมือของเขา และเขาก็กำลังพิทักษ์รักษามันไว้เพื่อให้เป็นกำลังของเขาเอง เออ, มันได้กลายมาเป็นเกราะป้องกันภัยแม้กระทั่งจากตัวของเขาเองเข้าแล้วหรือนี่? หรือว่าสายเชือกด้ายศักดิ์สิทธิ์ที่เขาคล้องเฉวียงบ่าผ่านหน้าอกลงมานั้นมันได้รึงรัดเอาดวงใจของเขาไว้เสียด้วยแล้วหรือไฉน?

กาโลได้เกิดใหม่อีกครั้ง ในชื่อใหม่และวรรณะใหม่ เขาคือ มงคล อธิการี ฐานะของข้าช่วงใช้ของพระศิวะ เจ้าอธิการในเทวาลัยอันสง่างาม ฐานะความเป็นอยู่ของเขาและเลขาดีขึ้นเป็นลำดับด้วยเงินบริจาค แต่เลขายังคงจมอยู่ในบาดแผลอันร้าวรานนั้นอยู่ตลอดมา กาโลเองก็สังเกตเห็นมาโดยตลอด

แม้กาโลจะครองวรรณะใหม่ได้อย่างสง่างาม แต่เขาไม่อาจละทิ้งความซื่อสัตย์ต่อความเป็นกามาร์ของตัวเองได้ วันหนึ่งเขาได้พบกับ วิศวนาถ ชายชราอีดตช่างตีเหล็กผู้หิวโซ กาโลรับวิศวนาถเข้ามาช่วยงานเล็กน้อยที่เทวสถาน และวิศวนาถนี่เองที่สะกิดให้เขาตระหนักที่จะซื่อสัตย์ในรากเหง้าของตนเอง เขาแอบเอาน้ำนมจากพิธีสรงพระศิวะที่ต้องนำไปเทลงสู่แม่น้ำคงคาตามธรรมเนียม โดยนำเอาน้ำนมนั้นไปแจกจ่ายให้เด็ก ๆ ผู้หิวโหยตามท้องถนน กระทั่งถูกพราหมณ์เฒ่าผู้ดูแลเรื่องพิธีกรรมในเทวสถานจับได้ แต่กาโลออกหน้ารับแทน โดยไม่ยอมไล่วิศวนาถออกจากงาน (น.225) ทำให้วิศวนาถซาบซึ้งใจยิ่งนัก เขาพูดกับกาโลว่า

“ตราบใดที่พวกนี้ยังมีคนอย่างหลวงพ่อ, เขาก็ปลอดภัย ”
“ฉันไม่เข้าใจ”
“ตราบใดที่ยังมีพราหมณ์ที่มีดวงใจเป็นพราหมณ์อย่างแท้จริงอย่างท่านอยู่ ประชาชนก็จะไม่หมดความศรัทธาในระบบสังคมเช่นนี้”


ดวงใจเป็นพราหมณ์? เขาหรือ? กาโลอยากจะหัวเราะ ถ้าหากชายชราผู้นี้รู้ความจริงละก็...? ถ้าหากวิศวนาถเพียงแต่รู้ว่าเขาคือมหาโจรที่เลวทรามที่สุดในประวัติศาสตร์ของนครนี้... และรู้ว่าวิศวนาถกับเจ้าอธิการเทวาลัยเป็นพี่น้องร่วมวรรณะเดียวกัน ...

ในที่สุดกาโลก็เอาชนะในเรื่องน้ำนมได้ เขาฉลาดที่จะใช้อำนาจเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่าง ขณะเดียวกันเขาก็ได้แก้แค้นด้วย

เมื่อกาโลได้ก้าวขึ้นนั่นบนหลังเสือ ทรงตัวและบังคับเสือให้เดินไปตามอำนาจของตัวเองนั้น เขาต้องเผชิญหน้ากับความสับสน ความเจ็บปวดที่สาหัส บ่อยครั้งเขานึกถึงชีวิตแบบช่างตีเหล็กที่เมืองชารนาบ้านเกิด ซึ่งก็ได้แต่โหยหาเท่านั้น เขาไม่สามารถก้าวลงจากหลังเสือได้ กระทั่งเมื่อ บ.10 พ้นโทษออกจากคุกมาและได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดจากกาโลที่ไปรอรับเขาที่หน้าประตูคุกพร้อมกับเลขา

บ.10 หรือเขาบอกให้ใคร ๆ เรียกเขาว่า บีเทน เป็นวรรณะพราหมณ์โดยกำเนิด แต่เขาได้เป็นผู้เกิดสองครั้ง (ทวิชากร) โดยดึงสายเชือกศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวของวรรณะพราหมณ์ทิ้งไป

เขารู้สึกเป็นอิสระจากรากเหง้าเดิมของเขา, รากที่หยั่งความเชื่ออย่างล้ำลึกลงไปในหัวใจของพ่อและแม่ของเขา และบิดเบือนความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ของพ่อและแม่ไปเสียจนไม่หลงเหลือคงรูป (น.296)

น่าหัวเราะเยาะหยันเสียนี่กระไร ที่เขาผู้ซึ่งได้สลัดขาดแล้วจากศาสนาพราหมณ์ได้กลายกลับมาเป็นเครื่องมือในการสร้างพราหมณ์ขึ้นใหม่อีกผู้หนึ่ง ( นั่นคือ กาโล) นี่มันหมายความว่าอย่างไรกันแน่หนอ? พราหมณ์ใหม่กำลังดำเนินงานไปตามแผน เพื่อทำให้คนทั้งหลายทำลายความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์แห่งวรรณะของตน และกระทำประทุษฐกรรมต่อเทวะผู้ทรงศักดิ์ และมิใช่พราหมณ์ใหม่ผู้นี่ดอกหรือ ที่แสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อของผู้อื่นและจะพาบรรดาผู้คนไปสู่ความหายนะในท่ามกลางความขัดแย้งอันประหลาดล้ำนี้ (น.300-301)

เรื่องดำเนินมาถึงวาระที่กาโลตัดสินใจเด็ดขาด เขาไม่อยากหลอกลวงเลือดและกระดูกของตนเองได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยท่าทีที่บีเทน (บ.10)มีต่อเขา ท่ามกลางการเดินขบวนเรียกร้องอาหารที่กึกก้องกังวานราวกับเสียงครืนคำรามของสายฟ้าฟาด

เขากำลังขี่หลังเสือ และไม่สามารถจะลงมาได้ เขานั่งคร่อมอยู่ ทั้งทั้งที่อยากจะเลิกแต่ก็ช่วยไม่ได้, ในเมื่อเจ้าสัตว์หน้าขนเยื้องย่างบ้างวิ่งบ้างตามใจชอบ. แต่แม้ในขณะที่เขาขี่คร่อมมันอยู่, เขาได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีทางใดที่จะลงจากหลังของมัน นอกจากจะฆ่ามันเสีย

แต่ทว่าความปรารถนาที่จะฆ่าเสือทวีมากขึ้นเพราะพลังอันแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเขา, พลังที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย มันเป็นพลังที่ฟักตัวขึ้นจากการที่ได้เห็นประชาชนในสภาพอันเป็นจริง. ครั้งหนึ่งเขาเคยแต่จ้องมองดูใบหน้าของผู้ที่สูงเกียรติกว่า, บรรดาสมาชิกของสังคม “ชั้นสูง” ซึ่งเงาของสังคมนั้นครั้งหนึ่งได้หวดกระหน่ำเขาให้จมลงไปในความทุกข์ยากลำเค็ญ. แต่แล้วต่อมาเขาได้กลับกลายไปเป็นคนที่มีฐานะเสมอกับพวกมัน และมีราคาค่าตัวเท่ากับพวกนั้น. (น.413-414)

และ ณ บัดนี้ ท่ามกลางไฟ ยัคญะที่ได้จุดโพลงขึ้น, ท่ามกลางอากาศอันตลบอวลไปด้วยกลิ่นกำยานและเสียงสวดสาธยายมนตร์, คือเวลาอันเหมาะยิ่งแก่การฆ่า.  (น.414)

ใครเล่าจะหลอกลวงเลือดและกระดูกของตนเองได้ตลอด?

เรื่องราวของคนขี่เสือ เป็น “นิยายแห่งอิสรภาพ นิยายที่จะบันดาลใจและปลุกประชาชน”นั่นคือคำกล่าวของบีเทน (บ.10) ที่ชื่นชมในการ “ฆ่าเสือ”ครั้งนี้ของกาโล

เมื่อคนขี่เสือ อย่างกาโลได้ก้าวลงจากสถานภาพอันสูงส่งได้สำเร็จ แม้ว่าการก้าวขึ้นหลังเสือของเขาจะถูกบงการด้วยความรู้สึกอยากแก้แค้น อยากทวงคืนความเป็นธรรมมาสู่ชนชั้นวรรณะของตนเอง แต่มรรคผลที่ได้จาก คนขี่เสืออย่างกาโล ยังเป็นมรรควิถีที่ยังประโยชน์แก่คนหมู่มาก หาใช่คนขี่หลังเสือเยี่ยงนักการเมืองบางชั่ว ข้าราชการจอมทุจริต ที่อาศัยหยิบฉวยความสูงส่งของคำว่า คนขี่เสือเพื่อตีสีหน้าเย่อหยิ่งลอยตัวบนหลังเสือพลาสติกที่แต้มสีไว้เฉิดฉาย อย่าลืมแม้เสือพลาสติกจะกัดใครไม่เป็น แต่เสือพลาสติกก็พร้อมจะย่อยยับลงได้ด้วยเพียงมือหรือเท้าของคนธรรมดา ๆ .

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม