Skip to main content

ปารีสช่วงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่เลื่องลือเรื่องอากาศแปรปรวน เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายวันก่อนแดดออกทั้งวัน อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 19 องศา ถือว่าเป็นอุณหภูมิที่พบได้ปลายเดือนเมษายน ปรากฎว่ามาวันนี้อากาศกลับเย็น เมฆครึ้ม ลมพัดแรง

แต่อากาศเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่มีผลกระทบอะไรมากนักต่อชาวทิเบตทั่วยุโรป ที่นัดหมายกันมาเดินขบวนที่ปารีส เนื่องในโอกาสวันครบรอบการลุกฮือของชาวทิเบตเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1959 มาถึงปีนี้ก็นับเป็นปีที่ 56 แล้ว

จากการได้คุยกับผู้ลี้ภัยชาวทิเบตจากเนเธอร์แลนด์ เขาบอกว่ากิจกรรมนี้จัดทุกปีในแต่ละประเทศ สำหรับระดับยุโรปจะจัด 2-3 ปีต่อครั้ง ครั้งนี้เขานั่งรถมาถึงตอนเช้าเพื่อเข้าร่วมการเดินขบวนโดยเฉพาะ และจะกลับเนเธอร์แลนด์ในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ในเนเธอร์แลนด์มีผู้ลัยภัยอยู่ราว 500 คน มาร่วมได้เพียงส่วนน้อยเพราะติดภาระส่วนตัว

ขบวนเริ่มออกเดินจากลานสิทธิมนุษยชนไปยังลาน Champ de Mars หน้าหอไอเฟลราว 11.00 น. มีการจัดขบวนกันอย่างรู้งาน คงเป็นเพราะจัดกันเป็นประจำ มีการ์ดหรือสต๊าฟชาวทิเบตอยู่ข้างขบวนคอยดูแลความเรียบร้อยอยู่ตลอด คาดการณ์โดยสายตาคิดว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดราวพันกว่าคนได้ แบ่งออกเป็นขบวนย่อย ๆ ของหลายประเทศในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น รวมทั้งยังมีขบวนขององค์กรต่าง ๆ เช่น กลุ่มเยาวชนทิเบตในยุโรป


งานครั้งนี้ใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมีนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่นของทิเบต ชื่อ Lobsang Sangay ผู้เป็นบัณฑิตมหาวิทยาลัย Harvard มาร่วมเดินด้วย ในวันสองวันก่อนเดินขบวน เขาได้ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา และได้เข้าพบเทศมนตรีเขตที่ 2 ของปารีส นอกจากนี้ยังมีศิลปินชาวทิเบต Loten Namling และน้องสาวของดาไลลามะ Jetsun Pema มาร่วมเดินด้วย

(ภาพ Lobsang Sangay คนที่สามจากขวามือ ถือป้ายนำขบวน ถ่ายโดย Patrick Bonnassieux)

น่าสนใจว่าผู้เข้าร่วมนั้นนอกจากมาจากหลายชาติแล้ว ยังมาจากหลายรุ่นหลายวัยด้วย ทำให้เห็นว่าการเมืองของทิเบตนั้นมีความเข้มข้น เป็นการต่อสู้ที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน


คำขวัญของการเดินขบวน ดูราวกับว่ารู้กันอยู่แล้ว เพราะแทบทุกขบวนย่อยมักจะตะโกนประโยคคล้าย ๆ กันหมด เช่น Shame on China, Tibet is burning: Help Help! ส่วนบรรยากาศนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ถนนสายเล็ก ๆ เครื่องกระจายเสียงก็ดูจะมีพลังมากขึ้น เสียงจึงก้องไปเป็นบริเวณกว้าง บวกกับธงชาติทิเบตที่ต้องลมแรงชูอยู่เต็มขบวน ทำให้นักท่องเที่ยวและคนผ่านไปมาในบริเวณนั้นให้ความสนใจการประท้วงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้เขียนไม่พบเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนมากนัก

มีผู้ร่วมชุมนุมเล่าว่า ระหว่างที่ขบวนเดินไปยัง Champ de Mars นั้น ได้เข้าใกล้บริเวณสถานทูตจีน แต่ปรากฎว่าเส้นทางถูกกั้นไว้โดยเจ้าหน้าที่ทหารของฝรั่งเศส ทำให้มีการตะโกนด่าทอจีนจากไกล ๆ ก่อนจะเดินขบวนไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ต่อไป

สุดท้าย ขบวนเมื่อสิ้นสุดที่ Champs de Mars มีการกล่าวปราศรัยบนเวที และมีการแสดงคอนเสิร์ต ก่อนจะแยกย้ายกันกลับในช่วงเย็น

(ภาพจาก Patrick Bonnassieux)

ตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้อยู่ถึงตอนท้ายเพราะหิว จึงได้ไปลองทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารทิเบต เมื่อไปถึงร้านราว 14.00 น. ปรากฎว่าได้เป็นลูกค้ากลุ่มท้าย ๆ เพราะเขาจะไม่ขายแล้วในวันนี้ เหตุผลก็เพราะตัวเจ้าของร้านนั้นอยากจะไปร่วมกิจกรรมชุมนุม สามีของเจ้าของร้านนี้ไปร่วมก่อนแล้ว ทิ้งให้เขาดูแลร้านคนเดียว ผู้เขียนกับสหายรับประทานอยู่นาน จนเหลืออยู่โต๊ะสุดท้าย จึงได้คุยกับเขาบ้าง เขาบอกว่าจริง ๆ การเดินขบวนระดับยุโรปนี้มีทุกปี และเวียนกันจัดในแต่ละประเทศ เช่น ปีที่แล้วจัดที่บรัสเซล ก่อนหน้านั้นจัดที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น พวกเราแซวว่าน่าจะมาลองเดินที่ประเทศไทยดูบ้าง เขาครุ่นคิดซักพักแล้วตอบกลับมาว่า ไม่เอาดีกว่า Situation in Thailand is same-same (with Tibet)

ส่วนอาหารอาหารนั้นเป็นประเภทเกี๊ยวทอดหรือนึ่งและมีแกงกะหรี่ ที่เด็ดคือมีชา Butter tea ซึ่งมีรสเค็ม ผู้เขียนพบว่าแปลกประหลาดแต่ก็ไม่เลวเลยทีเดียว!

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม 1790 หลังจากเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์เป็นเวลา 1 ปี มีการเฉลิมฉลอง "สหพันธรัฐ" (Fête de la Fédération) คือการมารวมตัวกันของตัวแทนจากท้องถิ่น เทศบาลและภูมิภาคต่าง ๆ ที่ Champs-de-Mars (ลานหน้าหอไอเฟล) เพื่อประกาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความภักดีต่อ "ช
ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม ของปีนี้ เป็นวันครบรอบ 225 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เช่นเดียวกับการปฏิวัติหลายแห่งในโลก เมื่อมองย้อนกลับไปจากมุมมองปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายอย่างยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอย ในฝรั่งเศสเองยังถกเถียงกันว่า อุดมการณ์ของการปฏิวัติคืออะไรและการปฏิวัติสิ้นสุดลงหรือยัง?