Skip to main content

ทุ่งแสงตะวัน’ เป็นรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กและเยาวชนที่รู้จักกันดีทั้งในแง่ฝีไม้ลายมือผู้ผลิตและความคิดสร้างสรรค์ ออกเดินโลดแล่นผ่านสายตาผู้ชมทีวีมาเมื่อสิบหกปีที่แล้วและยังคงเดินหน้าทำรายการทีวีที่น่ารักและมีแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมต่อไป


แม้ไม่ได้อยู่หน้ากล้องในฐานะพิธีกรเดินเรื่อง แต่ สุริยนต์ จองลีพันธ์ หนึ่งในผู้บริหารบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่นฯ กลับมีความสำคัญในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังรายการเล็กๆ ที่งดงามนี้ด้วยการเป็นครีเอทีฟและผู้ดูแลการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

 


22_05_01


สุริยนต์ผ่านประสบการณ์ของการเป็นคนข่าวทีวีมาอย่างเข้มข้น ก่อนจะมาปลุกปั้นบริษัท ป่าใหญ่ฯ ขึ้นพร้อมกับมิตรสหายจนเป็นที่รู้จักดีผ่านรายการหลักอย่างทุ่งแสงตะวัน จากอดีตเด็กหนุ่มชาวนครพนมที่เข้ามาร่ำเรียนทางด้านนิเทศศาสตร์ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งเมื่อชีวิตและการงานผันเปลี่ยนจนเติบโตขึ้น เขากลับพึงใจที่จะปลีกวิเวกไปใช้เวลาในช่วงวันหยุดในบ้านสวนขนาดร้อยกว่าตารางวาที่นครนายกซึ่งสร้างไว้พร้อมรองรับคนได้สามสิบคนเลยทีเดียว


วันนี้สุริยนต์ไม่เพียงแบ่งเวลาให้กับการดูแลรายการทีวีหลายรายการ แต่เขากำลังจะชวนคนออกไปเที่ยวกับทุ่งแสงตะวัน ซึ่งถือว่าเป็นกิ่งก้านแห่งการงานที่ผลิงามขึ้นอีกด้านหนึ่งของบริษัท ป่าใหญ่ฯ

  • เมื่อสิบหกปีที่แล้วที่เริ่มทำรายการทุ่งแสงตะวันตั้งคอนเสปท์รายการไว้อย่างไร?

    ตอนนั้นก็วางไว้ว่าจะทำเป็นเรื่องเด็กกับสิ่งแวดล้อม แล้วเราก็ไม่ใช่บริษัททางด้านสิ่งแวดล้อม เราก็ยังเป็นคนที่ทำธุรกิจ เพียงแต่ว่าเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบสังคม แล้วก็เป็นสื่อที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมหลายๆ ประเด็น โดยที่เราก็เริ่มต้นจากประเด็นเด็กกับสิ่งแวดล้อมก่อน แต่ตอนหลังๆ มาก็มีเรื่องของวัฒนธรรรม เทคโนโลยี แต่ยังไงก็แล้วแต่ในการทำรายการของป่าใหญ่ฯ ก็ยังคงเน้นหนักเรื่องของข้อมูล เนื้อหา แล้วก็ประเด็นทางสังคมอยู่ จะสังเกตว่ารายการของป่าใหญ่ฯ ไม่ว่ามีอะไรออกมาทุกคนก็จะบอกว่ามันค่อนข้างมีเนื้อหาหนักๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กก็ยังเป็นเด็กแบบที่มีที่มาที่ไป ตอนนี้คนพอรู้จักเราก็จะจำได้แต่ว่าเราชอบอะไรที่มันจริงจัง เป็นประเด็นทางสังคมที่ซีเรียส

  • ทั้งๆ ที่ตอนแรกเริ่มไม่คิดว่าจะทำให้ซีเรียสอย่างนั้นใช่ไหม?

    มันมายังไงก็ไม่รู้...คือเราอาจจะเติบโตมาสายข่าว แล้วเราก็พยายามทำทุ่งแสงตะวันให้สนุกสนาน สดใส เล่นๆ แต่พอทำไปสักพัก ตัวตนที่แท้จริงก็ออกมา ทำยังไงก็เป็นเรื่องเนื้อหาสาระที่ค่อนข้างเข้มข้น แต่มันก็แล้วแต่รายการด้วยอย่างเช่น ‘ประทีปปริทัศน์’ ถึงแม้จะเป็นรายการสารคดี แต่เนื้อหาสาระก็เต็มที่มาก หรือ ‘คนเก่งหัวใจแกร่ง’ ถึงแม้จะเป็นรายการเกี่ยวกับเด็กยากจน ก็เป็นมองสังคมในภาพกว้างว่าสังคมมีปัญหาแบบไหนแล้วส่งผลถึงเด็กยังไงบ้าง แต่ก็ยังเป็นอะไรที่มันหนักๆ อยู่ดี


  • ที่บอกว่ามีพื้นมาทางสายข่าวมีผลต่อการทำรายการทีวีอย่างไร?

    ข่าวมันเป็นงานทางด้านข้อมูล ไม่ใช่งานทางด้านการนำเสนอ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับว่าเราเข้มข้นมาทางข้อมูล เข้มข้นมาทางเนื้อหาสาระ แต่พอมาทำรายการทีวีมันจะไม่ใช่อย่างงั้น มันจะต้องพยายามบวกเรื่องการนำเสนอที่มันหลากหลาย สนุกสนานเฮฮา คนอื่นเขาอาจจะทำที่มันสนุกสนานสักแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่มีเนื้อหาสาระยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่เราทำไม่เป็น ทำไม่ได้ เราก็พยายามจะทำให้มันสนุก แต่มันก็ ออกมาเหมือนกับยังหนักไปทางเนื้อหาอยู่ดี ก็พยายามจะบาลานซ์มัน เพียงแต่ว่าโดยความสนใจของคนทำงานอาจจะเป็นเรื่องหนักๆ ก็เลยยังมีเนื้อหาที่หนักเป็นสัดส่วนที่เยอะอยู่


  • ตอนนี้บริษัท ป่าใหญ่ฯ มีรายการกี่รายการ?

    มีรายการเมืองไทยวัยซนอยู่ที่ช่องอีทีวี มีมดคันไฟอยู่ที่ช่องทีวีสาธารณะ คือตอนนี้ที่บริษัทมีงานประเภทแบบยาวเป็นรายการประจำทั้งปี ก็คือทุ่งแสงตะวันกับความรู้คือประทีป ซึ่งเมื่อก่อนมีคนเก่งหัวใจแกร่งด้วย ตอนนี้คนเก่งหัวใจแกร่งหยุดไปแล้วก็กำลังจะกลับมาเลยยังพูดไม่ได้ว่าเป็นรายการประจำหรือเปล่า แล้วก็มีรายการประเภทรูปแบบการจัดจ้างใหม่ซึ่งเป็นแบบสามเดือนหรือหกเดือน อย่างเช่นเมืองไทยวัยซนเป็นรายการเด็กอันหนึ่งก็จะเป็นสัญญาจัดจ้างแบบหกเดือน ส่วนมดคันไฟก็จะเป็นแบบสามเดือนไม่ใช่เป็นแบบรายการยาวเหมือนเดิมอีกแล้วรูปแบบการจัดจ้างสมัยใหม่ก็เลยทำให้มีรายการหลากหลายประเภท


  • ตอนแรกที่ตั้งบริษัท ป่าใหญ่ฯ ขึ้นคิดว่าจะทำบริษัทเพื่อผลิตรายการทีวีเท่านั้นหรือเปล่า?

    ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มองอะไรไกลหรอกนะ หรือแม้แต่ว่าทำรายการทุ่งแสงตะวันก็ตาม เราก็บอกว่าเราทำกันแค่สองปีแล้วก็แยกย้ายกันไปทำไร่นาสวนผสมก็แล้วกัน (หัวเราะ) เพราะว่าเราจะไปทำอะไรได้เยอะแยะขนาดนั้น แต่พอทำๆ มาคนก็เยอะขึ้น มันก็ไปของมันเรื่อยๆ แล้วทั้งเป็นเรื่องของธุรกิจด้วย เป็นเรื่องของพนักงานหลายคนที่เข้ามาแล้วก็ต้องดูแลกันไปก็เลยยาวมาเป็นสิบกว่าปี แล้วก็ถึงแม้จะทำรายการทีวีเราก็คงจะทำเฉพาะสารคดีนะ พอมานานๆ ไปมันก็เหมือนกับว่าเราอาจจะมีพวกวาไรตี้ หรือเราไม่เคยคิดว่าจะทำละคร แต่เราก็อาจจะมีแค่สป็อตสั้นๆ เป็นเชิงละครก็ได้ แต่อาชีพเรา หลักๆ มันคงผูกพันกับการทำรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับเนื้อหาสาระมากกว่า การนำเสนอแบบสบายๆ หรือง่ายๆ ที่ค่อนข้างจะน้อย เราอยากทำนะ แต่ทำไม่เป็น (หัวเราะ)


  • แต่ผลตอบรับของทุ่งแสงตะวันคนดูก็ชอบมาตลอด?

    ทุ่งแสงตะวันผลตอบรับดีทั้งคนดูแล้วก็ทางสถานี หรือว่าสถาบันต่างๆ คือถ้าการันตีในแง่คุณภาพแล้วทุ่งแสงตะวันได้รับรางวัลเยอะมาก แต่ในแง่ของสปอนเซอร์ไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่ก็ทำให้เห็นว่าเวลาที่ทำรายการที่มีคุณภาพหรือว่าเป็นรายการที่มีเนื้อหาสาระ มันค่อนข้างสวนทางกับทางธุรกิจ ในแง่ของคุณภาพเราประสบความสำเร็จ ในแง่ของความนิยมก็ได้ คนดูก็ชอบ อาจเป็นเพราะช่วงแรกๆ ที่ทำเป็นช่วงที่สารคดียังไม่หลากหลายเท่าทุกวันนี้


  • จากตอนแรกที่บอกว่าทำไม่นานก็จะเลิก แต่ในที่สุดก็ทำทุ่งแสงตะวันยาวมาเป็นสิบกว่าปีเป็นเพราะอะไ?

    อุดมการณ์เริ่มเปลี่ยนมั้ง (หัวเราะ) เราก็อยู่กันไปมันก็มีสิ่งอื่นๆ ที่อยากทำ แล้วก็มีช่องทางอื่นที่ไปได้ คนก็ช่วยเราได้ที่จะคิดแบบนั้น มันก็เหมือนกับว่าสิ่งที่เราอยากจะทำแตกหน่อออกไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนตอนที่ทำใหม่ๆ เราก็โฟกัสสิ่งที่เราอยากทำแค่เรื่องเดียวเท่านั้น แต่พออยู่ไปนานๆ ด้วยวัยและการทำงานที่เปลี่ยนไปก็เหมือนกับได้เรียนรู้แล้วก็เห็นปัญหาที่มากมายขึ้น ทำให้เราเห็นว่ามันก็ไม่ต้องผูกอยู่กับเรื่องของเด็กอย่างเดียวก็ได้ มันมีเรื่องอื่นๆ หรือประเด็นอื่นๆ เข้ามา
    ตอนนั้นก็เลยไปเรียนปริญญาโทที่มหิดล ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ด้วยความตั้งใจว่าอยากจะไปเปิดสมองทางด้านประเด็นทางสังคม จากเดิมที่ทุ่งแสงตะวันค่อนข้างอยู่กับเรื่องเด็กกับสิ่งแวดล้อม แล้วมันจะมีเรื่องอื่นอีกไหมที่สังคมพูดคุยกัน เป็นประเด็นที่เราน่าจะศึกษาหรือนำมาเป็นประเด็นทำทีวีได้ พอไปเรียนก็ได้ไปรู้จักคนอื่นมากขึ้น ได้อ่านหนังสือเยอะๆ ก็เหมือนมีเรื่องอื่นให้เราเล่น มีมุมมองอื่นๆ


  • รู้สึกว่าในทีมก่อตั้งบริษัท ป่าใหญ่ฯ คุณจะถูกวางบทบาทไว้ให้เป็นครีเอทีฟมากกว่าคนอื่นๆ ใช่ไหม?

    ในทั้งหมดนี่ผมบ้าที่สุดแล้วในแง่ของการคิด ก็เลยได้รับมอบหมายให้อยู่ทางด้านครีเอทีฟ ส่วนคนอื่นๆก็ดูทางด้านการจัดการการตลาด หรือดูแลทางด้านข้อมูล ดูเนื้อหาหลักๆ รวมทั้งการเทรนเรื่องสคริปต์หรือวิธีการทำงานไป ผมก็เลยต้องรับผิดชอบทางด้านครีเอทีฟ นั่นแปลว่าพอมีรายการอะไรใหม่ๆ เราจะต้องกระโดดเข้าไป แล้วก็ต้องทำรายการนั้นให้อยู่ตัวแล้วค่อยถอยออกมา แล้วก็ดูรายการใหม่ต่อไป


  • ทำทุ่งแสงตะวันมาสิบหกปีแล้วคิดว่ามีพัฒนาการยังไงบ้าง?

    เราเชี่ยวชาญในการที่จะทำงานกับเด็กมากขึ้น แล้วก็มีมุมมองแบบเล็กๆ ย่อยๆ ลงไป ในช่วงแบบสองสามปีแรกมันก็จะเริ่มซ้ำ ก็จะเปลี่ยนแค่สถานที่ เปลี่ยนแค่คนในเรื่อง สถานที่ แต่พอหลังๆ มันจะมีประเด็นเล็กๆรายละเอียดเล็กๆ ที่ทีมงานคิดกันออกมา อย่างตอนหนึ่งที่น้องๆ ทำแล้วผมชอบมาก เป็นเรื่องดอกไม้ในฤดูนั้น รู้สึกว่ามันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจแล้วก็น่ารัก


  • ต้องทำรายการทุกสัปดาห์ ทำมานานๆ คิดไหมว่าในที่สุดก็จะตัน?

    นั่นแหละที่เราถึงบอกว่าทำสองปีแล้วก็เลิก เพราะเราคงจะตันแล้ว แต่พอทำไปนานๆ ก็มีเครือข่าย มีเรื่องใหม่มีอีกเยอะที่เรายังไม่ได้ทำ บางเรื่องก็เหมือนกับการไปตามก็ได้นะ พอจบตอนนี้หรือเคยไปทำเรื่องนี้มากแล้ว ตอนหลังก็ไปทำเรื่องนี้ต่อ มันก็พัฒนาไปอีก หรือแม้แต่จะกลับไปที่ทำเดิมหรือโรงเรียนเดิมก็ยังมีเรื่องต่างๆ อีกเยอะ


  • เวลาที่ทำอะไรมาสักพักหรือทำมานานๆ จะต้องมีปัญหาและอุปสรรค การทำป่าใหญ่ฯ มีปัญหาบ้างไหม?

    มีเยอะ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารคน เพราะว่าเราก็ไม่เคยทำมาก่อน พอมาตั้งบริษัท เรายังไม่มีฝ่ายบุคคล ใครมีลูกน้องกี่คนก็ต้องรับผิดชอบกันไปเอง มันเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร แล้วเราก็ต้องเรียนรู้ทุกวัน ว่าใครชอบแบบไหน อะไรถึงจะดี อย่างเช่น เมื่อก่อนเราเจ็บปวดมากกับการที่พนักงานสักคนลาออกไป แต่ตอนหลังๆ ก็เริ่มจะเข้าใจแล้วว่ามันเป็นวัฏจักรในการทำงาน เราเข้าใจว่าเด็กจบใหม่แค่ทำงานกับเราสองปีเขาก็อยากจะไปแล้ว ถ้าเขาทำอยู่ได้ถึงห้าปีนี่เราแทบจะกราบเขาเลยนะ บางคนก็ไม่ได้อยากจะออกจากบริษัท แต่ด้วยความที่มันอิ่มกับรายการ อิ่มกับบรรยากาศ ก็แค่อยากจะออกไปพักสักปีสองปีหรือไปต่างประเทศ ไปเรียนต่อ ซึ่งเราจะเริ่มไม่มายน์แล้วกับเรื่องแบบนี้ แต่จะสนับสนุนเขามากกว่า ตอนหลังที่ดีใจหรือสบายใจก็คือ คนที่ออกไปแล้วไม่ได้ไปทำที่อื่น ส่วนใหญ่ออกไปเนื่องจากอิ่มตัวหรือแต่งงานไปแต่ก็ยังทำงานสายเดิมอยู่ แล้วก็ยังเป็นพันธมิตรที่ดีกัน ไม่ใช่ออกไปด้วยความรู้สึกว่าไม่พอใจแล้วก็ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เพราะฉะนั้นเรื่องบริหารเป็นเรื่องหลักๆ ที่เราจะต้องเรียนรู้ การเป็นบริษัทจะต้องมีทุกอย่าง มีเรื่องการพัฒนาบุคลากร ต้องให้ความสำคัญ เรื่องการไปเที่ยวเรื่องการไปพักผ่อนด้วยกันก็จะต้องให้ความสำคัญ เรื่องพนักงานดีเด่นก็จะต้องมี เพียงแต่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน เราก็ต้องเรียนรู้ลักษณะขององค์กร จะต้องนำเอามาประยุกต์มากๆ


  • ทุกวันนี้มองว่าป่าใหญ่ฯ เป็นองค์กรเหมือนที่ต้องการไหม?

    ตอนนี้ก็พอใจ เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ใช้เต็มรูปแบบหรือทำเต็มรูปแบบ อย่างเช่นที่อื่นๆ ถ้าเขาจะพัฒนาบุคลากรก็จะต้องมีการเชิญวิทยากรมาอบรมสามวัน แต่เราไม่ได้ใช้รูปแบบนั้น เราพยายามที่จะใช้รูปแบบของการพัฒนาแบบที่มันเข้ากับของเรามากกว่า แต่จะเป็นในแบบไหนเท่านั้นเอง อย่างเรารู้สึกว่าปัญหาของทีมงานเป็นเรื่องของการนำเสนอ เราก็คุยกันในเรื่องของหนัง ดูหนังกันแล้ววิพากษ์วิจารณ์กัน


  • ทราบว่าโดยส่วนตัวเป็นคนชอบเดินทางและชอบกิจกรรมกลางแจ้งเช่นการขี่จักรยานเสือภูเขา ดูนก?

    ใช่ครับ ก็ยังไปอยู่เรื่อยๆ ไปตลอดทุกสัปดาห์ หาเรื่องไป ไม่ค่อยได้เกี่ยวกับงาน ตอนหลังๆ ก็มีไปดำน้ำ หรือไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ก็ไปอย่างบาหลี ไม่ใช่อะไรที่ไกลมาก ชอบไปดำน้ำก็ไปในประเทศหรือต่างประเทศก็ไปมาเลเซีย ผมดำน้ำมาเป็นสิบปีมาแล้ว แล้วก็ถ่ายภาพใต้น้ำด้วย ก็เลยก็มีเรื่องให้สนุกสนาน หลังๆ ก็เริ่มไปดำน้ำไกลขึ้นแถวอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์


  • ชอบไปดำน้ำเพราะอะไร?

    มันสบายนะ เหมือนเราเป็นนก เราไร้น้ำหนัก อยู่ในสภาวะนั้นจะรู้สึกว่าเป็นการพักผ่อนมาก มัน
    adventure มันก็จะตื่นเต้นท้าทาย ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่เราดูนก เราจะต้องค่อยๆ ย่องไปเพราะนกมันจะหนีเราไป แต่พอดำน้ำไม่ใช่แล้วเพราะปลามันไม่กลัวเรา มันเข้ามาหา มาสงสัย ตอดหน้ากากเรา เราแทบจะจับตัวมันได้เลย แล้วโลกใต้น้ำก็สวยจริงๆ เป็นอีกโลกหนึ่งจริงๆ บางที่อย่างที่สิมิลันเหมือนเป็นสวนดอกไม้ เหมือนสวนหย่อม มีต้นไม้ขึ้นเป็นกอๆ เป็นลานสนามหญ้า สวยมาก โดยเฉพาะเวลาปลามันมาเป็นฝูงๆ


  • เวลาไปดำน้ำ ชอบที่ไหน?

    ถ้าในบ้านเราที่สิมิลัน ตั้งแต่หินแดง หินม่วง เกาะสี่ เกาะหัวกะโหลก สิมิลันมันเป็นเรื่องของแลนด์สเคป ลงไปใต้น้ำแล้วมันเหมือนกับเป็นสวน แล้วก็สัตว์ใหญ่อย่างฉลามวาฬ ปลาฝูงใหญ่ๆ บ้านเราเหมือนกับนั่งมอเตอร์ไซค์ดูโน่นดูนี่ แต่ถ้าเป็นของมาเลเซีย ชอบสิปาดัน เหมือนเป็นสิ่งเล็กๆ เต็มไปหมด เหมือนกับการได้เดินดู ตอนนี้กิจกรรมการดำน้ำก็ยังดีอยู่ เพียงแต่ช่วงปีสองปีมานี้ สภาพน้ำเปลี่ยนไปเยอะ อะไรที่เคยเห็นมันก็จะไม่เห็น ปลาก็ไม่ค่อยมี บางทีหนาวขึ้นมา ซึ่งปกติสิมิลันไม่เคยหนาว มีอยู่ปลายปีที่แล้วก็เกิดหนาว แล้วก็จะมีช่วงหนึ่งที่เป็นแพลงก์ตอนบูมมิ่ง มันทำให้น้ำขุ่นไปหมดเลยดูอะไรก็ไม่เห็น


  • แล้วบริษัท ป่าใหญ่ฯ ทำรายการทีวีอยู่ดีๆ แล้วมีที่มาที่ไปยังไงถึงได้เริ่มทำเรื่องการท่องเที่ยวด้วย?

    มันก็มาจากทุ่งแสงตะวัน เริ่มมาจากที่เวลาเราไปถ่ายทำอะไร คนดูมักจะบอกว่าขอตามไปด้วย คนดูบอกว่าขอไปดู ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรก็ได้ แค่ขอขับรถตามไปดูอยู่ห่างๆ นั่นคือภาพที่คนเห็นนึกว่ามันสวย นึกว่ามันง่าย แต่ของจริงไม่ใช่อย่างนั้น ทั้งแดดร้อน ทั้งรอเด็ก สมมติถ้าตามกองถ่ายไปมันจะน่าเบื่อมาก แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือคนดูเห็นว่าน่าไปจังเลย เขาอยากไปที่อย่างงั้น ซึ่งไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว เราก็เลยคิดกันมาหลายปีว่าจะทำเรื่องการพาคนไปเที่ยว พอดีเมื่อสองปีที่ผ่านมา สวช
    . (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ) ให้เราจัดการท่องเที่ยวให้เขาโดยสนับสนุนพาคนไปแบบนี้ พอประกาศออกรายการปุ้บ คนก็สมัครเข้ามาเต็มทันทีเลยมีแล้วก็มีโครงการเป็นระยะๆ ต่อมาเรื่อยๆ พาคนไปเกาะยาวที่ภูเก็ต หรือไปพักแบบโฮมสเตย์ที่พัทลุงหรือตรัง ซึ่งก็เป็นแค่หมู่บ้านมุสลิม อยู่กับชาวบ้าน เราก็ไม่คิดว่าคนอื่นจะชอบหรือว่าอยากจะอยู่แบบนี้ แต่พอไปแล้วปรากฏว่า เขาชอบมาก ให้ไปอีกก็ได้ อยากให้ช่วยจัดพาไปหน่อย เราก็เลยลองคิดกันดูว่า ถ้าเกิดจะทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ใครอยากจะไปก็พาเขาไปให้เป็นบริษัท ก็เลยก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า เรามีการทดลองทำมาแล้ว มีองค์ความรู้ในด้านการท่องเที่ยวอยู่ส่วนหนึ่ง ถ้าเราจะมาทำเองเป็นในรูปแบบของธุรกิจ เป็นหน่วยงานที่มีพนักงาน มีคนทำงาน แล้วก็ได้พาคนไปเที่ยวสนุกๆ มันก็น่าจะไปได้


22_05_02


  • จากการที่ทำรายการโทรทัศน์มากับการทำด้านการท่องเที่ยวมันต่างกันอย่างไรในเรื่องการจัดการ?

    ต่างกันเยอะอยู่ มันมีรายละเอียดจุกจิกเยอะมาก คือเราจะต้องดูแลรับผิดชอบคนตั้งแต่เรื่องประกันภัย ประกันชีวิต เรื่องการเดินทาง ไปแล้วเขาจะชอบไหม ไปนอนบ้านนี้ กินอยู่ยังไง รวมทั้งกิจกรรมสิ่งที่เราอยากจะทำในทัวร์ของเรา พอไปแล้วจะต้องมีคืนที่เราได้คุยเสวนากันในเรื่องของชุมชน คือนอกจากไปทัวร์ไปนอนไปดูอะไรแล้วมันจะต้องมีการแลกเปลี่ยนได้คุยกันว่าปัญหาของชุมชนเป็นยังไงบ้าง คนที่ไปดูเขามีความเห็นยังไงต่อการจัดการแบบนี้ อันนี้เป็นจุดที่เราคิดว่าทัวร์ของเราจะต้องมี เป็นรูปแบบที่แตกต่างจากคนอื่นหรือจากทัวร์อื่นๆ
    เพราะไม่งั้นก็จะเป็นเหมือนทัวร์ทั่วไป ซึ่งเขามีอีโค่ทัวร์
    (Eco Tour- การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) เยอะแยะแล้ว แต่อาจจะไม่ลึกพอ ทัวร์ของเรานอกจากจะไปอยู่ไปกินนอนที่บ้านชาวบ้านแล้ว น่าจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรกันสักหน่อย


  • สไตล์การท่องเที่ยวของทุ่งแสงตะวันที่วางไว้เป็นอย่างไร?

    จะเป็นทัวร์ที่
    concern เรื่องสิ่งแวดล้อมเต็มรูปแบบ ก็คือนับตั้งแต่ก่อนไปก็จะต้องบอกให้ลูกทัวร์รู้ว่าเราจะอยู่กินกันแบบไหน เราจะไม่ใช้ภาชนะโฟมหรือพลาสติก เราจะไม่ใช้กระดาษทิชชู่ พยายามให้ใช้เป็นผ้าแทน เราจะมีการแยกขยะบนรถ แต่พยายามทำให้มันเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าทำแบบซีเรียส คือหมายความว่าอย่างน้อยลูกทัวร์ที่มาก็ได้เรียนรู้เรื่องหลักการจัดการขยะ การจัดการของเสียที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาวันสองวันที่อยู่กับเรา ซึ่งเราคิดว่าเรามีความรู้พอที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจ ให้เขาเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่าเมื่อกลับไปบ้านแล้วจะทำยังไงได้บ้าง อันนั้นคือรูปแบบของทัวร์ที่คิดว่าอยากให้มี และพื้นที่ที่จะพาคนไปก็จะเป็นพื้นที่ซึ่งรายการทุ่งแสงตะวันเคยไปแล้ว เคยลงไปถ่ายทำ รู้จักคนอยู่ที่นั่น เคยออกอากาศในรายการ แล้วคนดูก็เคยเห็นมาแล้ว


22_05_03


  • ถ้าคนสนใจจะสามารถติดตามโปรแกรมได้เลยไหมว่าเมื่อไหร่จะไปไหน?

    เราอาจจะไม่ถึงขั้นวางโปรแกรมยาวเป็นปี ตอนนี้ที่เราจะกำหนดกิจกรรมทัวร์เอาไว้ล่วงหน้าประมาณว่าฤดูฝนจะไปที่ไหน ฤดูหนาวจะไปที่ไหน แต่ถ้าโดยเฉลี่ยก็น่าจะเดือนละทริป แต่ทีนี้จะเป็นทริปสั้นทริปยาวก็แล้วแต่


  • มองว่าอีโค่ทัวร์ในเมืองไทยเป็นยังไง หรืออย่างที่กำลังจะทำถือว่าเป็นอีโค่ทัวร์ไหม?

    เป็นอีโค่ทัวร์ แต่มันเหมือนกับว่าเรื่องของอีโค่ทัวร์บางทีมันไม่มีเรื่องของชุมชน แต่จะเป็นเรื่องของป่า สัตว์ป่า แต่ทัวร์ของเรายังไงเราก็จะไปที่ที่เป็นคน เป็นบ้านคน เราไปกินนอนอยู่กับชาวบ้านจริงๆ จะไปเที่ยวก็ไปสวนทุเรียน สวนมะม่วง ซึ่งอีโค่ทัวร์จะไม่ได้ไปอย่างงั้น เขาไปเดินป่าไปศึกษาธรรมชาติกัน เป็นเรื่องเชิงศึกษาธรรมชาติมากกว่า
    อย่างเช่นจุดที่ไปเราคัดเลือกกันแล้วว่าเป็นสวนผลไม้ปลอดสารพิษ เพราะฉะนั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าว่า เราได้ไปสวนชมพู่ที่ปลอดสารฯ แล้วก็ไปกินผลไม้ได้อย่างสบายใจ กินได้ทุกลูกเลย ไม่ต้องกลัวอะไร เราก็อยากให้ลูกทัวร์มีบรรยากาศแบบนั้น คือจริงๆ ชมพู่ที่ไหนก็มี แต่ที่นี่คือสวนปลอดสารฯ นะ แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ว่าในสถานการณ์จริงๆ การทำสวนผลไม้ปลอดสารพิษมันอยู่ได้ไหม ผลไม้ลูกโต อวบ หวาน จริงไหม ในแง่ของการตลาดอยู่ได้ไหม ซึ่งมันก็อาจจะออกมาสองด้านคือประสบความสำเร็จมาก อยู่ได้ หรือมีปัญหา คนไปทัวร์ก็จะได้ช่วยกัน เราอยากให้ทุกคนมีโมเมนต์นั้นที่ได้กินชมพู่ปลอดสารฯ ที่อร่อยจริงๆ


  • ที่ทำมาจัดพาคนไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง?

    เพิ่งจัดครั้งเดียวไปที่สามชุก
    (สุพรรณบุรี) แล้วก็จะไปอีกทีจะเป็นสวนทุเรียนที่นครนายก คือตอนนี้เราก็กำลังหาจุดสมดุลว่าระหว่างใกล้ไกลแบบไหนดี กี่วันดี เราก็ยังหาอยู่ ตอนแรกอย่างเช่นเราคิดว่าเดย์ทริปไปใกล้ๆ กรุงเทพฯ น่าจะสะดวกนะ แต่เจอปัญหาเยอะมาก ก็เลยเป็นการหาความพอดีว่าแค่ไหนถึงจะพอดี สวนทุเรียนที่ว่าจะไปอยู่นครนายกก็ไปวันเดียว แต่ไกลหน่อย ไม่ต้องนอนค้าง ตอนนี้เรายังไม่กล้าถึงขั้นว่าจะค้างคืน เอาแค่ลองดูไปวันเดียวก่อน


  • ในแง่ของการตั้งราคาเพื่อเชิญชวนคนให้ไปเที่ยวกับเราคิดไว้ยังไง?

    ก็ต้องอยู่ได้ เราพบว่าลูกทัวร์เราเป็นลูกทัวร์ชั้นดีมาก แฟนทุ่งแสงตะวันเป็นคนที่เข้าใจและถือว่าเป็นระดับที่ใช้ได้ทีเดียว เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะต้องจ่ายเช่นนี้ เพราะฉะนั้นราคาก็จะสมน้ำสมน้ำ เราก็อยู่ได้ เขาก็สบายใจที่จะจ่าย


  • ย้อนกลับไปตอนที่บอกว่าพาแฟนรายการไปเที่ยว มีคนสนใจเยอะมาก มองว่าสังคมขาดอะไรจากการท่องเที่ยวแบบนี้?

    จริงๆ เขาทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าส่วนที่ของเราไม่เหมือนใครก็คือ เรายังไม่เคยเห็นใครจัดทัวร์พาคนไปเที่ยวสวนมะม่วง เรารู้ว่ามีการจัดทัวร์ แล้วที่เราไม่ชอบมากในแง่ที่พอมีรายการโทรทัศน์แล้วก็มีทัวร์ตาม เราไม่ชอบแบบนั้นแล้วก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งสิ่งที่ขาดในช่วงที่คนอื่นทำมา พอมีรายการฉายออกไปแล้วคนก็อยากไปก็พาคนไป คนที่ไปก็แฮปปี้กับการได้ไปดูวิวทิวทัศน์ แต่ของเรา ทุกที่ที่เราจะไปเป็นที่ที่ทุ่งแสงตะวันไปถ่ายทำ ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว เขาเปิดเฉพาะเราเท่านั้นที่ไปก็เลยเหมือนกับว่าเราเป็นแขกพิเศษเท่านั้นที่ได้ไป ที่สำคัญคือมันเป็นสิ่งที่ดีมาก ที่เราพาคนไปมันเป็นเรื่องของการพบปะกันระหว่างคนที่อยากจะไปกับคนที่เป็นชาวบ้านที่อยากจะขายของ เหมือนคนทำดีๆ อยู่สองคนแล้วเราชวนให้เขามาเจอกัน เราแค่อยู่ตรงกลาง ที่ที่เราไปเราคัดเลือกแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีเราถึงไปถ่ายทำรายการ ถึงอยากให้คนไป ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาที่คนอื่นทำกัน มันไม่มี และทัวร์ของเราต่างจากอีโค่ทัวร์อื่นๆ ซึ่งเขาไปศึกษาเรื่องธรรมชาติ แต่เขาไม่มีเรื่องคนหรือชุมชนเข้าไปด้วย


  • ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบในแง่ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ดีๆ สวยๆ จากการที่คนเข้าไปเที่ยวเยอะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มองจุดนี้ไว้ยังไง?

    เราก็ต้องเตรียมไว้ด้วย เราก็ไม่รู้ว่าการที่เราจัดไปแบบนี้จะมีผลกระทบอะไรตามมาบ้าง ที่ผ่านมาปัญหาของการท่องเที่ยวพอบูมขึ้นมา ชาวบ้านก็เตรียมมือรับไม่ทัน แล้วอะไรต่างๆ ที่หลั่งไหลกันมา เขาก็ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน ไม่ว่าเรื่องขยะ เรื่องคน เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องไปกันน้อยๆ แล้วเราก็จะต้องเตรียมชาวบ้านอยู่พอสมควรว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อสิ่งที่เรานำชาวบ้านมานี้ พยายามคงทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิมได้ไหม ลุงก็ไม่ต้องเตรียมข้าว จัดโต๊ะ หรือว่ากินกันบรรยากาศง่ายๆ หรือว่าเรื่องของขยะ เราก็จะต้องระวัง รวมทั้งในเรื่องชาวบ้าน ถ้าเกิดคนเข้ามาเยอะ อยู่ๆ ชาวบ้านจะขึ้นราคามะม่วง ทุเรียนมันก็ไม่ดี แต่สิ่งเหล่านี้เนื่องจากเราไว้ใจแหล่งเหล่านี้ของเรามาก ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหามากเท่าไร แต่ก็จะต้องระมัดระวังพอสมควร ก็จะต้องเตรียมพื้นที่ เตรียมคน ก็คุยกัน เราก็ไม่อยากให้เป็นปัญหาเช่นการท่องเที่ยวของเราที่ผ่านมา
    ช่วงที่ไปที่ผ่านมาได้ไปฟังนโยบายการท่องเที่ยวฯ ของเรา ทุกวันนี้การท่องเที่ยวก็เน้นการไปเที่ยวรีสอร์ต พักโรงแรม แต่ก็กำลังจะพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวแบบลึกหรือคุณภาพ ก็คือการท่องเที่ยวแบบที่เรากำลังจะทำนี่แหละ เขาเรียกว่าการท่องเที่ยวแบบคุณภาพ คือการไปแบบกลุ่มเล็กๆ ไปคุยไปพักกับชาวบ้าน ซึ่งมันยั่งยืนกว่าการท่องเที่ยวอะไรทุกอย่างเลย นักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนจากการมาดูมาชมอะไรที่มันสวยงามก็เปลี่ยนมาเที่ยวไปในบ้านคน เที่ยวไปในการรู้จักคน มันเป็นสิ่งที่การท่องเที่ยวฯ เองเขาคิดว่าเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งคิดตรงกันกับเรา แล้วก็คนไทยเราสิ่งที่ขายได้จริงๆ คือเรื่องของคน ถ้าว่าไปแล้วเรื่องของสภาพธรรมชาติเราไม่ได้หรูหรากว่าคนอื่นเขาเท่าไรนัก แต่เรื่องของคนเราชัดเจนว่าเราแตกต่างจากคนอื่น ถ้าเขาได้มารู้จักคนไทย เขาจะประทับใจเรื่องน้ำใจ การมีน้ำใจต่อกัน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องความสวยงามของสภาพแวดล้อม


22_05_04


  • ในแง่ที่เป็นคนชอบการท่องเที่ยวแล้วมาทำการท่องเที่ยวเอง เอาประสบการณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบมาทำไหม?

    ด้วยความที่เวลาไปเที่ยวไปมาหมดแล้ว มีทั้งสูงสุดแล้วก็ต่ำติดดินที่เคยไปเที่ยวคลับเมดหรือแม้กระทั่งไปแบบโฮมสเตย์ จริงๆ แล้วก็รู้สึกว่าการท่องเที่ยวมันไม่ได้อยู่ที่อะไร มันอยู่ที่บริการเลยจริงๆ ถ้าทำอะไรให้พอใจแล้วจะกินยังไง นอนยังไงก็ไม่ได้เกี่ยง ถ้าคนที่เราต้องเกี่ยวข้องกับเขาเป็นมิตร อย่างตอนไปดำน้ำที่สิมิลันก็ไปพักเป็นโฮมสเตย์ เราก็เตรียมกับข้าวปลาอาหารเราไปเอง ไปทำอาหารไทยกินกัน เจ้าของที่พัดเขาก็ตื่นเต้น ก็มาเรียนทำอาหารไทยกับเรา พอถึงวันจ่ายเงิน เขาก็ลดราคาให้เรา ตรงนี่แหละคือเสน่ห์ของการท่องเที่ยว แล้วคนก็จะจดจำ ไม่ใช่แต่เฉพาะคนไทย ฝรั่งก็ชอบแบบนี้ แต่ด้วยความที่เขาจะต้องกินนอนโรงแรมก็ไม่รู้ว่าจะเข้ามายังไง


  • เวลาเป็นลูกทัวร์ของทุ่งแสงตะวันจะมีข้อกำหนดอะไรไหม?

    ส่วนใหญ่เขาจะมาเป็นครอบครัวโดยอัตโนมัติ เนื่องจากผู้ใหญ่ไป ทุ่งแสงตะวันก็อยากให้เด็กไปด้วย เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นครอบครัว ส่วนอะไรที่ห้ามไม่ห้ามเราก็จะแจ้งกันไปตั้งแต่ตอนก่อนไปแล้วล่ะ เขาก็จะรู้สถานการณ์ เดาอนาคตตัวเองได้ว่าจะเป็นยังไง ก็จะเตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง


22_05_05


  • มีข้อห้ามอะไรแน่ๆ ที่ตั้งไว้ไหม?

    เราก็ยังไม่ถึงขั้นชัดเจนขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเราก็บอกไว้รวมๆ ว่า เราจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะมีการจัดการเรื่องแยกขยะ เราจะไม่ใช้ขวดน้ำพร่ำเพรื่อ แล้วก็ไปกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แค่ประมาณขนาดอยากมากสองรถตู้หรือบางทีก็รถบัสคันเล็กๆ ประมาณสามสิบที่นั่ง เราก็ไม่อยากให้ไปแตกตื่นชาวบ้านเขา ไม่อยากให้เป็นชนิดแบบว่าพวกทัวร์ลง


  • ตอนที่เริ่มทำทุ่งแสงตะวันแล้วคิดว่าจะทำไม่นานค่อยจะแยกย้ายกันไปทำไร่นาสวนผสม ยังคิดอย่างงั้นอยู่ไหม?

    ไม่แล้ว เมื่อก่อนก็จะคิดว่ากลับบ้านไปทำงานที่บ้าน ที่บ้านก็มีไร่มีนา แต่พอทำๆไปเราก็รู้สึกว่า ความคิดเราก็เปลี่ยน เราจะทำอะไรเป็น เอาเข้าจริงแล้วขุดดินก็เจ็บมือ เราก็คงทำอะไรที่มันยังเป็นงานที่เราถนัดอยู่ในวันนี้ เพียงแต่ว่าเราก็มีชีวีตที่เรียบง่ายด้วยก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องไปใส่กางเกงชาวเล ทำสวนอย่างจริงจัง เราอาจจะมีบ้านแบบพื้นบ้าน แต่เรามีเครื่องซักผ้า มีอินเตอร์เน็ตอยู่ในบ้าน ก็ไม่เป็นไน ความคิดเราอาจจะเรียบง่าย ชีวิตเราอาจจะเรียบง่าย แต่งานเราอาจจะเป็นงานที่ยังวุ่นวาย ลำบากอยู่ก็ได้ คนเรามันไม่จำเป็นต้องมีภาคเดียว เราอาจจะมีชีวิตส่วนหนึ่งก็เป็นส่วนของงาน อีกส่วนหนึ่งก็ส่วนตัว พักผ่อน ให้มันคงสัดส่วน จัดสัดส่วนตรงนี้ให้ได้เท่านั้นเอง เพราะว่าก็ไม่แน่ใจว่าถ้าไปอยู่อย่างเงียบๆ เขียนหนังสืออยู่คนเดียวจะอยู่ได้ไหม มันจะเหงา มันจะเงียบเกินไปไหม ก็ไม่จะให้ทำงานหนักๆ อย่างนี้อย่างเดียวก็ไม่เอา ก็ให้มันมีส่วนแบบว่าบาลานซ์กัน

บล็อกของ อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง

อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมอนุญาตให้ตัวเองมีความฝันที่ค้างคามานานอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือการเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ สักร้านและระหว่างรอให้ความฝันตกผลึกหรืออิ่มตัวจนตกตะกอนนอนก้น (เหมือนเวลาที่กินกาแฟชงแบบเวียดนามที่ไหลผ่านถ้วยกรองช้าๆ ขมหวานได้ที่)  ผมก็ใช้เวลาระหว่างรอ พักในร้านกาแฟที่ผ่านทางอยู่เสมอๆ สั่งกาแฟต่างรูปแบบมาจิบ บางเวลาเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับกาแฟดำธรรมดาๆ แต่หอมกรุ่นอย่างกาแฟสด บางเวลาเราอาจจะอยากเปลี่ยนไปสั่งกาแฟดำในแบบที่เรียกว่า “อเมริกาโน่” ดูบ้าง บางช่วงก็เป็นชั่วโมงที่ต้องย้อมความฝันด้วยกาแฟกรุ่นกลิ่นนมของลาเต้ร้อน…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ในงานนิทรรศการออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและของแต่งบ้านปีหนึ่งนานมาแล้วที่บังเอิญได้ไปเดินดูและเลือกซื้อข้าวของ ในมุมหนึ่งของงานซึ่งเป็นการออกร้านสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และต่างประเทศอื่นๆ ตะกร้าสานจากกาน่าเหมือนจะได้รับความนิยมจากผู้คนที่เดินในงานมากเป็นพิเศษ สินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้และไม้แกะสลักในร้านจากอินโดนีเซียก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ร้านของเวียดนามและกัมพูชาที่อยู่ถัดๆ มาก็มีผู้คนเข้าไปชมสินค้ากันคึกคัก แต่เหตุไฉนร้านค้าซึ่งเป็นสินค้าตัวแทนจากประเทศลาวหรือ สปป. ลาว…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางอีกครั้งหนึ่งหลังจากต้นปีผ่านมา...เป็นการเดินทางที่ไม่ยาวนานนักในสามจุดหมายคือเซินเจิ้น หนึ่งเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ แวะฮ่องกงและกลับจากมาเก๊า แต่ก็มีความเหนื่อย เหน็บหนาวจากสภาพอากาศอันไม่คุ้นเคยของจุดหมายที่ว่าแต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางอันไม่คาดหมายว่าจะผ่านเข้ามาสู่ชีวิตรวดเร็วอย่างไม่ทันจะตั้งตัว จะเป็นการเดินทางอีกครั้งที่ ‘ช่วยชีวิต’ ผมเอาไว้................................................ที่ว่าการเดินทางช่วยชีวิตเอาไว้นั้น ไม่ได้หมายความว่าผมไปผ่านพ้นหรือผจญภัยกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแล้วเอาชีวิตรอดกลับมาได้…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
คนเราล้วนประสบชะตากรรมที่หลากหลายขณะ ‘เดินทาง’…และก็เช่นกัน – ที่ยุคปัจจุบันคนเรา ‘เดินทาง’ ด้วยวัตถุประสงค์และรูปแบบที่หลากหลายมากมายกว่าแต่ก่อนเราพ้นจากยุคสมัยของการเดินทางด้วยเรือกลไฟที่ต้องอาศัยเวลาเป็นแรมเดือนกว่าจะพ้นโค้งน้ำเข้าสู่น่านน้ำบ้านอื่นเมืองอื่น เราเลิกพึ่งพารถไฟที่ต้องถาโถมเชื้อเพลิงจากท่อนฟืนและก็เช่นเดียวกันรถม้า จักรยานหรือแม้แต่เกวียนเทียมวัวควายกลายเป็นพาหนะพ้นยุคตกสมัย ไปไหนมาไหนอืดอาดไม่เท่าทันความรวดเร็วของจิตใจและยุคสมัยแต่ไม่ว่ารถจะเคลื่อนไหวได้ว่องไวขึ้นหลายร้อยเท่าจากพาหนะที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ ไม่ว่าคนเราจะเคลื่อนที่หรือย้ายถิ่นข้ามเมือง…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
“เราคิดว่ามันอาจจะเร็วเกินไปไม่ว่าจะสำหรับนักท่องเที่ยว การลงทุนหรือความช่วยเหลือ... ตราบใดที่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาในประเทศ ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อแรงจูงใจที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลง”ออง ซาน ซูจี 2538“เราหวังว่าคุณจะไม่เข้ามาเที่ยวพม่ากับการมีกล้องในมือและแค่เพื่อการเก็บรูปถ่ายเท่านั้น เราไม่ต้องการนักท่องเที่ยวแบบนั้น จงพูดคุยกับคนที่คุณอยากจะคุยด้วย ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้เงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตของคุณบ้าง”ชาวย่างกุ้งผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย 2547 สายตาที่สื่อส่งมาดูเหมือนรู้จัก รอยยิ้มที่ค่อยๆ คลี่คลายบนใบหน้าแลดูคุ้นเคย…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกันคำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้วหลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
คืนและวันที่ดูแปลกหน้า แม้สบายๆ แต่ก็เปี่ยมด้วยความมุ่งหวังบางอย่าง หลายสิ่งที่ได้พบเห็นเติมเต็มความรู้สึกที่ได้รับจากการเดินทาง จากดินแดนเหนือสุดของเวียดนามประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้เรากำลังไต่ตามแผ่นดินแคบๆ ที่เลียบท้องทะเลมาถึงเมืองมรดกโลกลือชื่ออย่าง  ‘ฮอยอัน’  และในระหว่างเส้นทางอันยา
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
สายวันหนึ่งขณะที่เดินทางออกไปนอกบ้าน ท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งจอแจเช่นเคย สายตาเหลือบไปเห็นข้อความด้านหลังของรถแท็กซี่มิเตอร์สีเขียวเหลืองคันที่อยู่ข้างหน้า “กล้าที่จะไปให้ถึงฝัน”...แม้จะเป็นข้อความเรียบง่ายธรรมดาๆ แต่ก็เป็นข้อความที่มีความหมาย และให้ความรู้สึกแปลกตาโดยเฉพาะเมื่อมาปรากฏอยู่บนกระจกหลังของแท็กซี่เช่นนี้ ทำให้พาลอยากรู้ว่าเจ้าของข้อความซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะไม่ใช่ผู้ที่กำลังทำหน้าที่หลังพวงมาลัยของแท็กซี่คันนี้ก็เป็นได้…