Skip to main content


เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที


กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง)


ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน ที่สถิตบนสวรรค์ลงมาปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านให้มีความสงบสุข อยู่ดีกินดี ไม่มีโรคระบาด ผีร้ายหรือสัตว์ป่าเข้ามารบกวนตลอดปี


ก่อนวันงาน ทุกครอบครัวจะจัดเตรียมไม้ฟืนไว้สำหรับหุงต้มอาหาร แต่ละบ้านจะหาไม้ฟืนไว้พอใช้ทั้งปี ชายหนุ่มเข้าป่าเสาะหาไม้ล้มมาทำฟืน หญิงสาวปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนครั้งใหญ่ แม่เฒ่ากระยันหุงเหล้ากลิ่นคละคลุ้งทั่วบ้าน หมูและไก่ตระเตรียมรอการเชือดเพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อในวันรุ่งขึ้น



ในเช้าวันถัดมา “กะควางแบว่จ่า” ผู้เฒ่าหมอผีจะตีฆ้องให้สัญญาณ ผู้ชายในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่ม เด็ก หรือคนแก่ที่ยังพอมีเรี่ยวแรง ต่างเดินตามขบวนเครื่องดนตรีเข้าสู่ป่าใหญ่ เพื่อค้นหาต้นไม้ที่จะนำมาประกอบพิธี


ผู้หญิงจะทำหน้าที่หุงหาอาหารไว้คอยต้อนรับขบวน ที่กลับลงมาด้วยความเหนื่อยและหิว ด้วยต้องผลัดกันหามต้นไม้ขนาดเขื่อง มาจากป่าที่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน


ต้นรัก” จะเป็นต้นไม้ที่ถูกนำมาทำเป็นต้นทีเสียส่วนใหญ่ มีเพียงบางปีเท่านั้นที่จะใช้ต้นไม้ชนิดอื่น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงทาย


บางคนที่แพ้พิษต้นรักก็จะมีอาการคันคะเยอไปทั้งตัว บางรายที่แพ้มากอาจจะบวมและถึงกับเป็นไข้ แม้มีอาการแพ้พิษต้นไม้แต่ชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้าน ยังคงกลับบ้านมาทำหน้าที่อันสำคัญนี้ทุกปี



เมื่อเสียงฆ้องใกล้เข้ามา หญิงสาวจะตักน้ำไว้เต็มถังรอรับขบวน เมื่อขบวนแห่ต้นไม้มาถึงยังลานพิธี พวกเธอจะพรมน้ำด้วยใบไม้ให้ขบวนเต้นรำ จนเย็นชุ่มฉ่ำทั้งคนทั้งต้นไม้


ตกบ่ายหลังจากพักกินข้าวกินน้ำจนหายเหนื่อย ทุกคนจะมารวมกันที่ลานพิธี เพื่อตกแต่งต้นทีให้มีความสวยงาม โดยจะแกะเปลือกส่วนนอกออก ทาเคลือบลำต้นด้วยปูนขาว ส่วนยอดแกะสลักให้มีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ ตกแต่งด้วยไม้ไผ่สานและไม้ที่ชาวบ้านนับถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ โดยจะมีลักษณะเป็นซุ้มคล้ายฉัตรปกปิดส่วนยอด


จากนั้นต้นไม้สีขาวที่ตกแต่งอย่างสวยงาม จะถูกยกตั้งขึ้นเพื่อให้ส่วนยอดชี้ขึ้นไปบนฟ้า เสียงฆ้อง โหม่ง กลอง ประโคมระรัว ประสานพลังทั้งหมดชักดึงต้นทีที่หนักอึ้งให้ขึ้นตั้งลำด้วยความยากลำบาก เสียงโห่ร้องให้จังหวะในแต่ละครั้งดังก้องกังวานไปทั้งราวป่า


เมื่อต้นทีถูกตั้งขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ผู้ชายจะทำการสักการะโดยการเต้นไปรอบๆ ตามจังหวะดนตรีอันเก่าแก่เนิบช้าแต่ทว่าคงที่ รอบแล้วรอบเล่าเหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


การเต้นเช่นนี้ดูเหมือนจะจำกัดสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะแต่เพศชาย เพื่อเป็นแสดงออกถึงความเคารพและเสมือนปลุกฟื้นวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษอันเก่าแก่ที่มีสัญลักษณ์ในรูปแบบของต้นที



หมู่บ้านชนเผ่าที่นับถือต้นทีในทุกๆ ปี จะย่ำเท้าตามเสียงดนตรีเข้าไปในป่า เพื่อไปตัดต้นไม้หนึ่งต้นมาทำต้นที เล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ว่าปีนั้นหมู่บ้านใดเป็นเจ้าภาพใหญ่


หมู่ห้วยเสือเฒ่าในปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงา มีแขกต่างหมู่บ้านเข้ามาร่วมเฉลิมฉลองค่อนข้างน้อย เพราะจัดว่าเป็นงานเล็ก งานใหญ่ได้ถูกกำหนดไว้ที่หมู่บ้านป๊อกหกในศูนย์อพยพบ้านในสอย


ขบวนชายหนุ่มที่เต้นรำรอบๆ ต้นที ก็หดสั้นลงกว่าปีก่อนๆ เพราะบางครอบครัวได้อพยพไปอยู่บ้านใหม่ห้วยปูแกง ส่วนบางคนแม้ว่าจะลงชื่อย้ายไปแล้ว ก็ยังมาเต้นรำให้กับต้นทีของหมู่บ้านด้วยความเคารพ


ในวันสุดท้าย ขบวนแห่จากหมู่บ้านอื่นๆก็จะทยอยกันมา ผลัดกันเต้นสักการะต้นที พวกเขาจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงสีดำ ผูกศรีษะด้วยผ้าแถบสีประจำหมู่บ้านของตน บางปีอาจจะมีการแข่งขันประกวดความสวยงาม จากการแต่งกายและการเต้นด้วยท่าที่งดงามพร้อมเพรียงกัน


บรรดาสาวหนุ่ม ต่างก็ครื้นเครงเพราะมีโอกาสได้พบปะกัน เมื่อเต้นรำตามพิธีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ใกล้ชิดกัน ชักชวนกันขึ้นบ้านนี้ลงบ้านโน้น บางทีถึงกับสาดน้ำเล่นกัน เป็นที่สนุกสนาน


ตกบ่ายก็จะเริ่มจัดขบวนกันใหม่เพื่อเต้นรำ ให้กับบ้านแต่ละหลังเสมือนแทนการกล่าวคำขอบคุณและอวยพรให้กับเจ้าของบ้าน เจ้าบ้านจะยัดเหล้าให้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน


เหล้าเจมที่มีรสชาติคล้ายสาโทในภาคอีสาน ถือเป็นเหล้าที่จะต้มกันเพียงปีละครั้งเมื่อมีงานประเพณีต้นทีเท่านั้น การตระเวนขึ้นบ้านโน้นบ้านนี้ก็เพื่อชิมรสชาติของเหล้าเจม เพราะแต่ละบ้านจะปรุงออกมาไม่เหมือนกัน บางบ้านมีรสหวานเฝื่อน บางบ้านเปรี้ยว และบางบ้านก็อร่อยจับใจ


ส่วนเหล้าขาวก็ยิ่งขาดไม่ได้ เพราะหากใครเป็นคอเหล้าจริงๆ ดื่มเหล้าเจมเท่าไรก็ไม่รู้สึกเมา ต้องเอาเหล้าขาวเข้าช่วย เหล้าเจมที่มีดีกรีไม่มากไปกว่าไวท์สักเท่าไรนั้น ผู้หญิงที่ปกติไม่ดื่มเหล้า ก็จะดื่มเหล้าเจมให้พอกรุ้มๆ


งานต้นทีจะจบลงเมื่อแขกบ้านสุดท้ายลากลับ เจ้าบ้านก็จะต้องเก็บกวาดบ้านของตนเอง เหล้าเจมจะถูกนำมาแจกจ่ายให้ดื่มจนหมดภายในสามวัน เพื่อไม่ให้โชคร้ายกลับเข้ามา


แต่เทศกาลต้นทียังคงมีอยู่ วันพรุ่งนี้จะหมู่บ้านถัดไปกำลังจะเริ่มงานต้นที และเมื่อถึงวันสุดท้ายของวันงาน ชาวบ้านที่นี่ก็จะต้องตั้งขบวนแห่ เดินทางไปเต้นรำรอบต้นทีเป็นการสักการะผีบรรพบุรุษของหมู่บ้านนั้น


จนกว่าเสียงฆ้องของหมู่บ้านสุดท้ายจะดังขึ้น และจะเวียนมาให้ได้ยินอีกครั้งในปีหน้า.


บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…