Skip to main content
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทย

แม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว


สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่พลาดก็คือ   การเข้าชมหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวห้วยเสือเฒ่าที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงเจ็ดกิโลเมตร
 

นับเป็นความน่าอัศจรรย์ใจในขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า  สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมากมาย

หญิงกระยันที่ถูกเรียกขานว่า
"กระเหรี่ยงคอยาว"  ด้วยเพราะการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่ลำคอจนดูเหมือนว่าลำคอนั้นยืดยาวกว่าคนปกติ  โดยที่พวกเธอจะเริ่มสวมห่วงแรกๆตั้งแต่อายุประมาณห้าขวบโดยชั่งนำหนักขดทองเหลืองให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมแล้วนำมาขดไว้รอบๆคอ

โดยปกติจะเพิ่มน้ำหนักทองเหลืองทุกๆ ห้าปี  เพื่อให้ได้รอบวงมากขึ้นและอาจจะเปลี่ยนขนาดเส้นทองเหลืองให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย

แม่เฒ่าวัย 50-60 ปี จะใช้เส้นทองเหลืองขนาดใหญ่สุดและมีน้ำหนักมากถึงห้ากิโลกรัม บางคนจะแบ่งเป็นสองขด   ขดข้างล่างจะรอบวงกว้างกว่าจะมีห่วงเล็กๆคล้องแยกออกจากขดบน

การสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอมีความหมายที่แท้จริงอย่างไรไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัดเพราะไม่ทราบถึงประวัติที่แท้จริงของจุดเริ่มต้นของการสวมห่วงในลักษณะดังกล่าว

หากแต่ปัจจุบันเมื่อถามแม่เฒ่าที่อายุมากที่สุดก็จะได้คำตอบเดียวกันคือเพื่อความสวยงามโดยอ้างอิงจากตำนานว่าสมัยก่อนเมื่อนานมาแล้วมีการประกวดความงามกันระหว่างชนเผ่ากระยันสี่เผ่าคือกระยันละหุ่วย, กระยันละทะ,กระยันกะง่างและกระยันกะเคาะ

กระยันละห่วยได้นำเส้นโลหะมาคล้องขดไว้ที่คอ ทำให้ชนะการประกวด จึงเป็นความเชื่อขอองชาวกระยันละห่วยตั้งแต่นั้นมาว่าเมื่อใส่ห่วงสีทองไว้ที่คอจะเพิ่มความสวยงามในการแต่งกาย

แม้ว่าก่อนนั้นห่วงโลหะดังกล่าวจะทำมาจากทองจริงๆ  ปัจจุบันเห็นเพียงห่วงทองเหลืองที่เปรียบเสมือนเครื่องประดับชนิดหนึ่งของร่างกาย ซึ่งการแต่งกายที่ครบชุดของหญิงกระยันจะต้องประกอบไปด้วยสามส่วนใหญ่ๆคือส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนขา

ส่วนหัวก็จะเริ่มตั้งแต่การมวยผมเรียกว่ากระลู ผ้ามัดชิ้นบนเรียกว่ากระเก้า ผ้ามัดชิ้นที่ปล่อยชายเรียกว่ากระแขะ กระแขะนี้อาจใช้มากกว่าสามชิ้นก็ได้ 

ส่วนสีสันก็แล้วแต่ความชอบส่วนตัว ถัดลงมาที่คอห่วงทองเหลืองเรียกว่าซือกะโบ และซือบอทึ มีผ้ารองที่คางเรียกว่า กระบอซือ

ส่วนหัวประกอบไปด้วยเสื้อเรียกว่าฮ้วงเจ ผ้านุ่งเรียกว่าหงึ มีกำไลที่แขนข้างละหกวงเรียกว่าล้วงโบ้
ส่วนขามีเส้นทองเหลืองขดไว้ที่เข่าเรียกว่าแบะละโบ๊และกำไลข้อเท้าเรียกว่าห่างกุย
การแต่งกายที่ดั้งเดิมนี้เองที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านอยู่ไม่ขาดสาย    แม่เฒ่ากระยันส่วนใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมนี้ไว้อย่างเคร่งครัดยังคงทอเสื้อกระสอบและผ้าถุงสวมใส่อยู่เช่นเดิม

เมื่อถามถึงการแต่งกายของชาวกระยัน เราจะได้รับคำตอบที่แสนจะภาคภูมิใจ
"ใครเห็นก็จะบอกว่าสวย เพราะถ้าสวมห่วงที่คอ ก็ต้องสวมห่วงที่ขา และก็เกล้าผม ใส่เสื้อและผ้าถุงที่ทอเองแบบแม่เฒ่าใส่อยู่นี้"

มะโน แม่เฒ่าผู้ที่ยังมีความเชื่อเรื่องความงามจากการแต่งกายด้วยการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ ยังหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งกายแบบชาวกระยันต่อไป    สำหรับแม่เฒ่าแล้วยินดีฝังร่างไว้กับห่วงสีทองที่ใส่มาตั้งแต่ห้าขวบ ปัจจุบันแม่เฒ่ามีห่วงที่คอหนักห้ากิโลกรัมมีจำนวนขดเท่ากับยี่สิบสี่วง  และที่ขาอีกข้างละหนึ่งกิโลกรัม

ปัจจุบันแม้เยาวชนในหมู่บ้านจะหันไปแต่งกายตามแฟชั่นบ้างด้วยความสำนึกเรื่องความสวยงามเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แต่เราก็คงยังเห็นพวกเธอแต่งกายชุดกระยันดั้งเดิมวันช่วงวันสำคัญทางพิธีกรรมต่างๆ เช่น วันแต่งงาน วันงานต้นที หรือช่วงเวลาที่ต้องไปโชว์ตัวในงานประจำจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

"หากวันนี้เราไม่สวมห่วงทองเหลือง และไม่สวมชุดกระยันดั้งเดิมไว้ ต่อไปก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเรา เราจะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมหมดไป"

แม่เฒ่ากระยันทิ้งท้ายให้ข้อคิดกับเด็กรุ่นใหม่ หากแต่ว่าจะสวนกระแสค่านิยมของแฟชั่นที่ทะลักทลายเข้าหมู่บ้านพร้อมกับแขกผู้มาเยือนอีกนานเพียงใดเป็นสิ่งที่ท้าทายชนเผ่าเล็กๆแห่งนี้.

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…