Skip to main content

เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ

\\/--break--\>

พ่อของลูกค่อนข้างตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง สำหรับแม่ความคุ้นชินเดิมๆเริ่มคืนกลับมา เราต้องเดินทางไปขึ้นรถแดง เพื่อไปบ้านพี่สาวคนหนึ่ง แม้แท้ที่จริงเขาจะไม่ใช้พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน


แต่เมื่อครั้งที่แม่ได้ไปเช่าบ้านเธออยู่ ทำให้ได้รู้จักสนิทสนม และเธอก็ให้ความช่วยเหลือแม่หลายๆอย่างเสมือนพี่สาวคนหนึ่ง


และนี่ก็คืออีกฉากชีวิตที่แม่อยากจะเล่าให้ลูกฟังว่า แม้ว่าแม่จะเติบโตที่จังหวัดแพร่แต่เพื่อนฝูงพี่น้องของแม่ ล้วนอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ เมืองที่แม่ใช้ชีวิตโดยอิสรเสรีนานกว่าแปดปี


หากให้แม่กลับไปจังหวัดแพร่ หรือร้อยเอ็ดบ้านเกิด แม่อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องไปเจอใคร หรือต้องไปเที่ยวหาญาติคนไหน แต่ถ้ามาเมืองเชียงใหม่ แม่กลับพบว่าตัวเองร่ำรวยญาติพี่น้อง แม้จะไม่ใช่ญาติทางสายเลือด แต่ก็เป็นเพื่อนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา บางคนก็ให้ความช่วยแม่มากมายยิ่งกว่าญาติแท้ๆด้วยซ้ำไป


เราถึงบ้านพี่ขวัญในยามเช้าตรู่ เจ้าของบ้านรู้ล่วงหน้าว่าเราจะมา แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ที่บรรดา สุนัขที่เลี้ยงไว้สี่ห้าตัวไม่ส่งเสียงเห่า คงเป็นเพราะว่ามันจำแม่ได้ แม้ว่าจะจากกันไปนานกว่า 3 ปีแล้วก็ตาม


เช้านี้ลูกสดชื่นและแจ่มใส แต่พ่อออกอาการอิดโรยไม่น้อยไปกว่าแม่ เราจึงวางแผนหลับเอาแรงก่อนที่จะเดินโปรแกรม ไปเที่ยวต่อในยามบ่าย


แม่มีนัดงานชุมนุมชาวประชาไท ซึ่งเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเราสามคนพ่อแม่ลูก พ่อไปด้วยอย่างเสียไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง


ด้วยเพราะเราต้องใช้มอเตอร์ไซด์เป็นพาหนะในการเดินทาง บนถนนอันพลุกพล่านไปด้วยยวดยานพาหนะ บางครั้งพ่อก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย ที่ต้องมาเจอรถเยอะๆบนถนน


และโดยเฉพาะต้องมาเจอผู้คนที่รู้จักแม่มากมาย ต้องกลายมาเป็นจุดสนใจ แต่แม่ก็บอกพ่อว่าคนที่แม่พาไปเจอล้วนเป็นดั่งญาติของเราทั้งนั้นไม่มีใครที่ไม่ดีใจที่จะได้เห็นญาติของแม่เพิ่มอีกสองคนหรอกหรือ


งานชุมนุมชาวประชาไทในเย็นนี้ เป็นการรวมตัวกันของนักคิดนักเขียน ทั้งจากเชียงใหม่และเดินทางไกลมาจากหลายสถานที่ บ้างจากไกลถึงประเทศลาวเลยก็มี


แม่ได้รับโอกาสจากรุ่นพี่นักเขียน ให้ได้บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตผ่านคอลัมน์ที่แม่ได้บันทึกถึงลูก จึงได้รับเชิญให้ไปร่วมงานพบประกันในครั้งนี้ด้วย


ผู้คนในงานแม้จะเป็นนักคิดนักเขียนสำคัญของประเทศ เป็นบุคคลที่แม่ทั้งให้ความเคารพและเป็นแบบอย่าง บ้างก็ได้อาศัยพึ่งพามาไม่น้อย จนกลายเป็นเหมือนน้องเล็กของพี่ๆ ซึ่งบัดนี้ตีปีกหวนบินกลับสู่รังอีกครั้ง


อ้ายแสงดาว พี่ยาย พี่หนอม นั่งอยู่โต๊ะนอกถัดจากทางเข้า ต่างมาทักทายหลานตัวน้อย ป้าวิที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลยจากหลายปีก่อน นั่งบนเคาน์เตอร์คอยเป็นบริกรอาวุโสให้กับบรรดาแขกเหรื่อ ใกล้กับที่ป้าหมูเจ้าของสถานที่ “ร้านสายหมอกกับดอกไม้” นั่งพูดคุยออกรสกันอยู่


ทุกคนยังคงเหมือนเดิม สง่างาม ยิ้มแย้มและอ่อนโยนต่อกัน


แม่กลับรู้สึกว่า ทั้งสถานที่ สถานการณ์ และผู้คนที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมนั้น กลับสร้างความรู้สึกอันแตกต่างเกิดขึ้นกับจิตใจของแม่


สถานะที่เปลี่ยนแปลงไปของแม่จากเด็กนักศึกษา กลายเป็นคนวัยทำงาน เมื่อต้องมีครอบครัว ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ แม่จะทำอันใดตามใจตัวเองไม่ได้อีกแล้ว


ทุกครั้งที่เกิดสิ่งผิดพลาดท่ามกลางผู้คนที่คอยให้อภัยแม่ ยิ่งทำให้แม้นึกย้อนสู่สิ่งที่ผิดพลาดและเฆี่ยนโบยตัวเองด้วยการหลบลี้หนีหน้าผู้คนที่แม่รัก และรักแม่ ด้วยแม่ไม่เคยให้อภัยในตัวเอง


ลูกของแม่ต่างหากล่ะที่เกิดมาเพื่อให้แม่ได้ยอมรับในข้อผิดพลาด และให้อภัยตัวเองต่อสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านั้น การหนีจากสถานการณ์ สถานที่ และผู้คนที่เรารักก็กับการหนีเงาของตัวเอง


แม่จึงได้กลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง พาลูกและพ่อมาสู้อ้อมกอดของผู้คนที่รักเรา และซึมซับสิ่งที่แม่เคยเป็น แม้มันจะผิดพลาดในบางจุด


แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีในชีวิตให้แม่ได้กลับมาพร่ำสอนลูก นำสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นบทเรียน เรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขหากเรารู้จักตัวเอง ไม่ใช่หลงไปกลับสถานที่และผู้คน จนลืมไปว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหน


เราเดินทางกลับบ้านค่อนข้างเร็ว ด้วยพ่ออาจรู้สึกอึดอัดและแปลกสถานที่ตลอดจนผู้คน จนวางตัวไม่ถูก เราทิ้งอาหารค่ำที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ ออกมากินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง


สำหรับแม่เพียงแค่ได้พบปะยินดีกับผู้คนที่แม่เคารพและรักแม้จะใช้เวลาเพียงน้อยนิดก็ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจแล้ว


สำหรับลูกยังคงวัยเยาว์เกินไปที่จะรู้สึกสนุกในงานเช่นนี้ เราจึงกลับมาพักผ่อน และเตรียมตัวผจญภัยกันต่อในเช้าวันต่อไป.

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…