Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

 

ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
\\/--break--\>

ชาวบ้านที่ยังไม่ทันแม้แต่จะตื่นมาหุงข้าวหุงแกง ต้องรีบออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งรีบเข้ามาเที่ยวเพื่อจะได้รีบไปที่อื่นให้ทันตามโปรแกรม

พือพือ (ย่า) ของลูกก็รีบลงมาตามเสียงเรียกทั้งที่เพิ่งจะตื่นนอน สายตายังไม่ทันปรับกับแสงสว่างก็ต้องถูกสาดด้วยแสงจ้าจากแฟลตกล้องถ่ายรูป

ชาวบ้านหลายคนบ่นเป็นภาษากระยันที่แม่พอจะเข้าใจได้ พวกเขาพูดคุยกัน และอยากให้แม่ไปพูดให้นักท่องเที่ยวหรือไกด์เข้าใจว่าควรจะเข้าหมู่บ้านหลังหกโมงเช้า และออกก่อนหกโมงเย็น

คงไม่ใช่นักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ที่มองเห็นชาวกระยันเป็นเพียงตุ๊กตาถ่ายรูปไร้ความรู้สึก ไร้หัวจิตหัวใจ เพราะยังมีนักท่องเทียวบางกลุ่มที่นึกจะเข้ามาในหมู่บ้านตอนไหนก็มา โดยลืมไปแล้วว่า หมู่บ้านของเราเป็นที่อยู่อาศัย ย่อมมีความเป็นส่วนตัว ย่อมต้องกิน ต้องหลับ ต้องนอน บางคนเห็นเรากำลังตักข้าวเข้าปาก ก็ยังมาขอถ่ายรูป

ชาวกระยันส่วนใหญ่จะอาบน้ำแต่งตัวในยามเช้าตรู่ เพราะจะมีเวลาและแสงสว่างมากพอที่จะขัดถูห่วงให้เป็นเงางาม กว่าตอนเย็นที่มืดเร็ว และต้องทำงานบ้านหลายอย่าง

พือพือ จะรู้สึกอายที่ต้องถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ ซึ่งก็คงจะเป็นความรู้สึกของผู้หญิงธรรมดาทั่วไปที่ต้องรักสวยรักงาม รักความสะอาด แต่เมื่อนักท่องเที่ยวคะยั้นคะยอให้ถ่ายรูปด้วยให้ได้ พือพือก็จำยอม เพราะนักท่องเที่ยวมองเห็นความแปลกบนคอมากกว่าความรู้สึกของเจ้าของร่างกายที่กลายเป็นแค่หุ่นให้ถ่ายรูปด้วย

แม่หมายถึงแค่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ยังมีความเกรงใจอยู่บ้าง ซึ่งแม่เองก็เข้าใจนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดไกลๆ และยังต้องเดินทางกลับ ซึ่งพวกเขาจะต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัว

ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งพวกเรายังถูกตั้งคำถามสองแง่สองง่าม จนถึงขั้นลามกอนาจารจากแขกผู้มาเยือน อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ทำได้แค่บ่นเป็นภาษากระยัน แม่เคยถามถึงความรู้สึกของหญิงสาวชาวกระยันที่เคยถูกลวนลามทางคำพูดว่าทำไมถึงไม่ตอบโต้พวกเขา แม่ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า เพราะพวกเขามีความเกรงใจต่อแขกที่มาเที่ยว กลัวว่าหากตอบโต้ไปก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่มารู้สึกไม่ดีและไม่อยากมาเที่ยวอีก

คำตอบที่ได้ยิ่งทำให้แม่รู้สึกอดสูใจไม่น้อยเพราะนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มีอันจะกิน และได้รับการศึกษาในระดับสูง แต่กลับไร้มารยาทกับผู้ที่ด้อยการศึกษาและถูกมองว่าด้อยวัฒนธรรมกว่าตนเอง เพียงแค่เห็นว่าเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว

ทั้งๆที่ต่างประเทศ เขาก็มีหมู่บ้านที่โชว์วัฒนธรรมเช่นชุมชนของเรา เช่นหมู่บ้านชาวอินเดียแดง (Acoma pueplo –sky city) ที่อเมริกา พวกเขาไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ดวงไม่ดี โดยเฉพาะโบสถ์ที่เป็นเขตหวงห้าม หากจะถ่ายรูปก็จะต้องเสียค่าถ่ายรูปนอกเหนือไปจากค่าบัตรผ่านประตู เป็นต้น กฎเหล่านี้ล้วนถูกตั้งขึ้นโดยสิทธิของชุมชนเอง และนักท่องเที่ยวก็ต้องทำตามหากอยากจะมาเที่ยวชมในชุมชนของเขา

ชุมชนของเราก็น่าจะสามารถตั้งกฎให้กับนักท่องเที่ยวปฏิบัติได้เช่นกัน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว กฏเหล่านี้อาจไม่มีความสำคัญเลย หากคนในสังคม มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในทุกชนชั้นเผ่าพันธุ์ ก็ย่อมจะใส่ใจในมารยาท ย่อมมีความเกรงใจ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ตามแบบแผนของสังคมที่พึงปฏบัติต่อกัน

ไม่ใช่มองพวกเขาเป็นเพียงวัตถุบางอย่างที่ใช้ประกอบการถ่ายรูป โดยไม่ได้ถามสักคำเลยว่า เขาเต็มใจที่จะถ่ายรูปด้วยหรือไม่ เจ้าของร่างกายอยากให้คุณมาโอบกอดหรือเปล่า อย่าให้ถึงขั้นต้องขึ้นป้ายตั้งกฎเหมือนต่างประเทศ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้ออารี ชาวกระยันเองก็เป็นผู้มีน้ำใสใจจริง

สาละวินลูกรัก เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวลูกเลย ในวันที่แม่บันทึกถึงลูกนี้และในอนาคตอันใกล้ แม่ก็ได้แต่หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ลูกคือคลื่นลูกใหม่ของชุมชนของเรา แม่เชื่อว่าเด็กๆ รุ่นลูกหลายคนที่ได้รับการศึกษาในระบบ และจะถูกเปลี่ยนให้ได้รับสัญชาติไทยในอนาคต ก็คือผู้กุมอนาคตของชุมชนนั้นเอง

 

รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…