Skip to main content

12 ตุลาคม 2550

ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียง

บางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในวันนั้นเราได้มีโอกาสพบปะกับข้าราชการชั้นสูงของจังหวัดหลายคน และฉันก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาไว้ให้กับนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

หนังสือฉบับนั้นเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าสภาพหมู่บ้านและปัญหาหลังการย้าย พวกเราได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือฉบับนี้เพื่อเร่งให้หน่วยงานราชการต่างๆเข้ามาแก้ไข  ไม่นานผลของความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ

วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ต้อนรับคณะหน่วยงานราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาที่หมู่บ้านของเราอย่างคึกคัก

ท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในนามนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการมาครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาสาธารณะภัยของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่ามาแจกของช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่อส.จ. ก็ส่งข่าวเข้ามาทางวิทยุสื่อสาร ว่าให้เตรียมตัวเข้าแถวต้อนรับคณะหน่วยงานราชการที่กำลังขึ้นเรือจากท่าของหมู่บ้านห้วยปูแกงเก่า  และกำลังเดินเท้าเข้าตรอกเล็กๆ จากห้วยปูแกงเก่าเข้าหมู่บ้านใหม่ซึ่งถูกปรับปรุงไม่ให้ชื้นแฉะเป็นหลุมบ่อเหมือนอย่างเคย เพื่อให้แขกที่เข้ามาเยือนสามารถย่ำเท้าเข้ามาได้อย่างสบาย

มะลิ หญิงสาวกระยันคนเดิม ต้องทำหน้าที่ในการกล่าวรายงานต่อท่านผู้ว่าฯ อีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องขึ้นไปยืนบนเวที มีมะหล่อเพื่อนสาวกระยันคอยถือโทรโข่งอยู่ข้างๆ

ฉันสังเกตว่าเธอประหม่ากว่าครั้งก่อนมาก จนสังเกตเห็นกระดาษที่ถือสั่นไหว แม้แต่เสียงที่พูดในท่อนแรกๆก็สั่นตามไปด้วย  เพราะคนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด แต่งตัวทะมึงขึงขัง ถือกระเป๋าใบใหญ่ เสียงพูดจาสอบถามชาวบ้านเฉ่งฉางจากทุกมุมของลานเวที

หลังจากจบการกล่าวรายงานของชาวบ้าน และพิธีการในส่วนเวที ซึ่งมีทั้งการกล่าวรายงานของส่วนราชการ การรำวงต้อนรับของชาวบ้าน ท่านผู้ว่าก็ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกเล็กน้อย

เมื่อถึงเวลาแจกสิ่งของให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าแถวเพื่อรับของที่สมาชิกเหล่ากาชาดหอบหิ้วกันมาด้วยสีหน้ายินดี แม้จะดูเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของส่วนราชการ เป็นความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะได้พึ่งพาอาศัย

janejira1

วันนั้นแดดจ้า และเหงื่อของพวกเราหยดไหลเป็นทางขณะพาท่านผู้ว่าฯและคณะเดินชมบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน คำขอของชาวบ้านพรั่งพรูออกมาจากตัวแทน ส่งผ่านไปถึงข้าราชการต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ให้ช่วยตัดถนนเส้นใหม่ที่ใกล้เมือง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ช่วยสร้างโรงเรียน สร้างสถานที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณมหาศาล

หลังจากที่รอยเท้าและฝุ่นควันจางหายไปคืนความสงบเงียบให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง ฉันที่เป็นเสมือนล่ามได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความในใจของชาวบ้านสู่เจ้าหน้าที่ นึกหวังในใจว่าคำขอของชาวบ้านจะสามารถเป็นจริงในเร็ววัน

แม้ว่าคำขอเหล่านั้นจะดูมากมายหากใช้สายตาคำนวณด้วยงบประมาณ แต่ว่าถ้าหากหน่วยราชการจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าคำขอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำขอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆที่ควรมีควรได้

การขอเรื่อง “ถนน” หรือ “สะพาน” ก็คือตัวเชื่อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่หมู่บ้านเพื่อให้เกิดรายได้ และรายได้ก็จะออกไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ “ถนน” หรือ “สะพาน” นั้นๆ  เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย เป็นค่าอาหารหรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องการ  

ไม่นับความจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียนและอนามัย ไฟฟ้าหรือประปา ทุกคนบนโลกนี้ก็ล้วนมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต

ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่หมู่บ้านเดิม หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าตั้งห่างจากเมืองเพียง 7 กิโลเมตร ถนนที่ตัดผ่านป่าขึ้นเขาลงห้วยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอยู่ทุกปี และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ถนนเส้นนี้มีไฟฟ้ากระแสหลักใช้ แต่แล้วเสาไฟฟ้ากับหยุดกึกห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวเพียงไม่กี่ก้าว

“หากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นหรือมีไฟฟ้าใช้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเที่ยว เพราะหมู่บ้านไม่เป็นธรรมชาติ” ฉันนึกขำในนโยบายเช่นนี้ เพราะนักท่องเที่ยวคงแปลกใจว่าเหตุไฉนชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เสาไฟฟ้าก็ยืนต้นเคียงเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์บริษัทหนึ่งอยู่หน้าหมู่บ้านแท้ๆ

janejira2

ทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านต้องจ่ายค่าชาร์ตแบตเตอร์รี่คิดเป็นเงินแล้วมากกว่าจ่ายค่าไฟฟ้ากระแสหลักเสียอีก แม้ว่าไฟที่ใช้จะเป็นเพียงค่าดูทีวีสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ค่าหลอดไฟสักดวง หรือบางบ้านอาจจะเปิดวีซีดีได้สักแผ่น

เจ้าของความคิดที่เป็นนายทุนผู้ดูแลชาวบ้านและททท. จึงไม่สามารถหยุดความเจริญที่จะเข้ามาถึงพวกเขาได้ ที่ทำอยู่จึงเป็นเพียงการหลบซ่อนความจริงจากสายตานักท่องเที่ยวเท่านั้น

ในวันที่มะลิขึ้นกล่าวรายงานต่อคณะหน่วยราชการ ทุกคนจึงตกตะลึงในวิวัฒนาการของชนเผ่าโบราญที่เรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว นักข่าวจึงเข้ามาสัมภาษณ์มะลิ ทุกคนจับจ้องไปที่เธอ หลายหน่วยงานเข้ามาถ่ายวีดีโอกระดาษเขียนรายงานที่เป็นรายมือของเธอ

ความประหม่าของเธอเกิดจากโอกาสที่เธอจะยืนอยู่บนเวที และพูดในความจริงนั้นมีน้อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกที่เธอยังไม่เคยชิน จึงทำให้มือไม้สั่นด้วยความประหม่า

แต่ก็ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนที่มาวันนั้นตื่นขึ้นยอมรับกับความจริง หลายข้อ เช่นยอมรับว่าพวกเขาสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีบัตร พวกเขารู้จักคิดและวางแผนจัดการต่ออนาคตของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงจมูก

และพวกเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกข้างนอกที่กำลังทะลักเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…