Skip to main content
 รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้ากับการขูดรีดทางชนชั้นหรือรัฐโดยตรง เปลี่ยนอาชีพเพราะมองเห็นโอกาสยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยากเลิกเป็นชาวนา ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย 

ผมได้ยินกิตติศัพท์บาบู Chatterjee มานานในฐานะผู้บุกเบิกก่อตั้ง Subaltern Studies (ศึกษาความทันสมัยของประเทศหลังอาณานิคมทั้งหลายจากจุดยืน/มุมมองของชนชั้นผู้ถูกกดทับ) โดยเฉพาะเมื่อแกตีพิมพ์หนังสือ Nationalist Thought and the Colonial World (1986) เพื่อวิจารณ์งานเรื่อง Imagined Communities ของครูเบ็น แอนเดอร์สัน แต่เพิ่งเจอะเจอและได้เสวนากับตัวจริงในคราวไปประชุมวิชาการที่เมืองเฟซ ประเทศโมร็อกโก เมื่อปี ๒๐๐๔ ก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่รอบรู้มาก แกอภิปรายในที่เสวนาแต่ละทียังกับขนหอจดหมายเหตุยุคอาณานิคมอังกฤษในอินเดียมาแบกางให้ดูแล้ววิเคราะห์ตีความ และบ่นอุบว่ามหาวิทยาลัยโคลัมเบียในเมกาใช้งานแกหนักมาก ให้แกดูแลวิทยานิพนธ์เด็กนับสิบ ซึ่งแกก็ใจอ่อน ไม่อยากปฏิเสธ.....

หลังเจอกันหนนั้น ผมก็ตามเก็บงานวิชาการประเภทบทความและหนังสือของแกเท่าที่หาได้มาเรื่อย ๆ รวมทั้ง "Peasant cultures of the twenty-first century" (2008 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2009/08/Chatterjee-peasant-cultures.pdf ) ด้วย แต่มาถูกระตุกกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของบทความนี้อีกทีเมื่ออ่านงานของ Andrew Walker เรื่อง Thailand's Political Peasants (2012 http://www.eastasiaforum.org/2012/08/29/thailands-political-peasants/ ) เมื่อต้นปีนี้แล้วพบว่า Walker ชี้แจงว่าเขาดึงแนวคิดพื้นฐานในการตีความเข้าใจสถานการณ์ชาวนาไทยมาจากบทความนี้ของบาบู Chatterjee

บทความนี้เป็นบทวิจารณ์ตัวเองของ Chatterjee ในฐานะตัวแทนสำนัก subaltern studies โดยรวมก็ว่าได้ กล่าวคือแกเสนอว่าแนวทางศึกษาชาวนาแบบเดิมของ subaltern studies ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์และใช้ไม่ได้แล้ว จนต้องรื้อโละเครื่องมือคิดวิเคราะห์สังคมชาวนาเอเชีย (โดยเฉพาะจีน อินเดีย เอเชียอาคเนย์ รวมทั้งไทย) ใหม่หมด ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่แกอ้างอิงถึง ได้แก่:

 

๑) รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกอีกต่อไป

 

๒) เนื่องจากเกิดการปฏิรูปโครงสร้างทรัพย์สินภาคเกษตรใหม่ บัดนี้ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้าชนชั้นขูดรีด (เช่นเจ้าที่ดินศักดินา/กึ่งศักดินา) โดยตรงในหมู่บ้านอีกต่อไป

 

๓) ในสภาพที่ภาษีที่นาลดความสำคัญลงสำหรับรัฐ รัฐจึงไม่ได้มารีดไถชาวนาโดยตรงอีกต่อไป

 

๔) การที่ชาวชนบทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าเมือง เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรม ไม่ใช่เพราะยากจน สิ้นหนทาง แต่เพราะมองเห็นโอกาสยกระดับตัวเองทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จึงอยากเสี่ยงไปเองแม้รู้ว่าจะลำบากก็ตาม

 

๕) หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยากเลิกเป็นชาวนา ต้องการเข้าเมืองเพื่อเลื่อนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและปลดปล่อยตัวเองจากเอกลักษณ์เดิม

 

ผมจะทยอยเล่าข้อวิเคราะห์ของ Chatterjee เรื่องนี้ให้ฟังต่อภายหลังนะครับ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"