Skip to main content

กิตติพันธ์ กันจินะ

ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุมของพี่ๆ ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และ กลุ่มต้านพันธมิตรฯ คือ “อีกแล้วเหรอ”  ซึ่งเป็นความรู้สึกที่กลัวว่าเหตุการณ์จะนำพาไปสู่เหตุการณ์ “รัฐประหาร” เหมือนเมื่อครั้งปี 2549 อีกหน

ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ ถูกมองว่า เป็น “เงื่อนไข” สำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในครั้งล่าสุด แถมยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งเลยแม้แต่นิด ซึ่งมันก็ไม่แปลกที่คนอื่นๆ ทั่วไป เขาจะมองว่ากลุ่มพันธมิตร เอาดี เห็นงาม กับการทำให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนั้น

สำหรับนักประชาธิปไตยอีกฝากแล้ว ท่านเหล่านั้นคงรับไม่ได้กับที่มาและการดำรงซึ่งอำนาจของคณะรัฐบาลรัฐประหาร เพราะไม่มีทั้งความชอบธรรม และหลักการตามครรลองประชาธิปไตย ทำให้หลายๆ คนไม่ยอมรับ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับปัจจุบัน เพราะถือว่าที่มาไม่ถูกต้อง เสมือนเป็นดั่งไข่ของเผด็จการที่มอบไว้กับสังคม (คนกลุ่มนี้ อาจมีทั้งที่รักและไม่รักคุณทักษิณอยู่ด้วย)

ที่ว่ามาแบบนี้ ผมไม่ได้อยู่ในกลุ่ม “สองไม่เอา” นะครับ, คือ ผมไม่รู้ว่า “จะเอาอะไร” มากกว่า หรือ หากพูดให้ตรงๆ ก็คือใครจะทำอะไร จะชุมนุม จะแก้ ไม่แก้ อย่างไร มันก็ไม่ได้ทำให้ผมเดือดร้อนมากมาย

เพราะผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องออกมาชุมนุมคัดค้านหรือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่จำเป็นต้องแสดงท่าที แถลงการณ์ต่อกลุ่มที่ชุมนุมทั้งหลาย เรื่องเหล่านี้ “ถูกขีดบรรทัด” ว่าเป็นเรื่องของ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่เรื่องของ “เด็ก” เพราะเด็กๆ จะไปรู้อะไรล่ะ

ที่ว่าไม่รู้อะไรก็เพราะ ท่านทั้งหลายที่ออกมาชุมนุม ไม่ฟังหรือไม่ให้พื้นที่กับเสียงที่เห็นต่างเลยแม้แต่นิด ดูตัวอย่างเช่น “ปรากฏการณ์ริบบิ้นขาว” สิครับ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนออกมาสนับสนุนให้ไม่ใช่ความรุนแรง (แต่อาจพลาดตรงที่ข้อความนี้ควรไปถึงผู้เล่นในเกมนี้ทุกกลุ่ม ไม่ใช่เน้นมาที่แค่กลุ่มพันธมิตร) แต่ก็ถูกบางกลุ่มใช้ประโยชน์ หรือ วิพากษ์ว่าเป็นการกระทำอ่อนเดียงสาไปนิด

พวกท่านที่วิพากษ์เหล่านั้นคงเป็นปรมาจารย์ในการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนาน จนมองว่าการกระทำของคนอื่นนั้นไม่ดี ไม่งาม ขัดหู ขัดตา ซ้ำร้ายไปอีกที่คนกลุ่มเหล่านี้มักจะวิพากษ์คนอื่น แต่ไม่เคย “หยุด” มองตัวเองในฐานะ “ผู้ดู” บ้างเลย (ซึ่งการที่เป็นเพียง “ผู้เล่น” จนติดอยู่ในอารมณ์ก็เป็นการยากยิ่งที่จะถอนตัวออกมา “รู้” และ “ทัน” กับอารมณ์ความคิดจริตที่เกิดขึ้น)

ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่หมายถึงทุกๆ กลุ่มที่ออกมาชุมนุมกันนี่แหละครับ กลุ่มเหล่านี้ มีการขับเคลื่อนไปในแนวทางที่ตัวเองมี “ธง” ไว้ ทุกกลุ่มมี “เป้าหมาย” และมุ่งเดินก้าวไปอย่างไม่ละความพยายาม

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาทั้งคัดค้านการชุมนุม หรือกลุ่มที่สนับสนุนให้ชุมนุมโดยสันติวิธี รวมถึงกลุ่มที่มีการแถลงดักคอทหารไม่ให้ออกมาปฏิวัติ ทุกๆ กลุ่มล้วนอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคม แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นเพียง “ไม้ประดับ” หรือ “เครื่องมือ” ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม....นี้ช่างเป็นการดูถูกปัญญากันสักหน่อยนะครับ

ผมว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันกับผม มีปัญญาพอที่จะคิดและอยากให้สังคมการเมืองพัฒนาไปไกลมากกว่านี้ แต่การถูกกีดกันและสงวนพื้นที่ไม่ให้เข้ามายุ่งมากนักนี่แหละ จะเป็นตัวปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง

ยิ่งการต่อสู้ของคนสองกลุ่มความคิดและสี่ห้าวาระซ้อนเร้น ยิ่งทำให้เกมการเมืองครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวไหน จะออกมาเป็นสีอะไร ไม่ขาว ไม่ดำ ไม่เหลือง ไม่แดง ดูเหมือนจะเป็น “สีเทา” คือ ไม่ว่ายังไงก็ไม่ดี หรือ ดีน้อย ไม่มีอะไรสมบูรณ์ไปหมดจดหรอก

และการเมืองในช่วงนี้ ดูแล้ว มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น มีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องปากท้อง ความยากจน น้ำมัน และระบบเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ไม่รู้ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร (นอกจากพัง!?) และหน้าตาสังคมที่จะออกมาใหม่นี้ จะเป็นการ “รื้อสร้าง” ระบบการเมืองใหม่เลยหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันติดตาม และตามมาติดๆ ว่าเราอยากให้การเมืองออกมาอย่างไร

อย่างไรเสีย ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งวุ่นวายมากนักกับพื้นที่การต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านั้น พวกเราอาจชวนกันมาคุย มามองดู สังคมและการเมืองในระยะยาวกันดีกว่า ว่าอนาคตเราอยากเห็นแบบไหน การเมืองแบบไหนที่เป็นมิตรต่อคนรุ่นใหม่และสังคม และ ปลดแอกจากการเมืองเดิมๆ ที่วนไปเวียนมาอย่างห้วงนี้

ขอเสริมเรื่องการเมืองในอนาคตสักนิด คือเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเสนอในวงสนทนาว่า การเมืองในอนาคตควรจะมีศูนย์ข้อมูลนักการเมือง เพื่อให้เรามีสิทธิในการฟ้องร้องได้ เขาบอกว่านักการเมืองตอนนี้เหมือนผลไม้กองรวมกัน มีทั้งดีและไม่ดีรวมกันอยู่ แต่เราแยกกันไม่ออกว่าดียังไง เราไม่รู้ว่าท่อนกลางๆ ดียังไงบางคนมองภาพรวมว่าคุณค่าของตลาดการเมืองลดน้อยลง ทำยังไงให้ภาพนักการเมืองดูชัดเจน เขาจึงเสนอให้มีศูนย์ข้อมูลนักการเมือง ทำหน้าที่สังเคราะห์ข้อเท็จจริงของนักการเมือง ซึ่งมีใช้แล้วในประเทศเกาหลี

หรือแม้แต่หลักการกฎหมายการเลือกตั้ง ที่ต้องเข้มงวดและดำเนินการอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา เพื่อนอีกคนเสนอว่า “ประชาชนต้องสามารถฟ้องรัฐบาลที่ไม่ทำตามสัญญาได้ เรื่องกฎหมายที่เราจะแก้ตอนนี้คือการยุบพรรค มันไม่ได้ช่วยให้การเมืองเราดีขึ้น ต้องถามว่าพรรคฟอร์มตัวได้ยังไง มาจากทุนและอุดมการณ์เดียวกัน แต่ตอนเรายุบ ยุบเฉพาะนามธรรม มันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ถ้าอยากจะยุบพรรคต้องหาเครื่องมือที่ทำได้จริงเช่นยึดทรัพย์พรรคการเมืองด้วย เช่น การยุบพรรคต้องเลือกตั้งใหม่พรรคนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับพรีเมี่ยม ต้องนึกถึงค่าเสียโอกาสของสังคมอยู่ด้วย เวลาพูดแบบนี้คนในรัฐบาลชอบพูดว่าคำนวณยาก จริงๆ แล้วมันก็ยากซับซ้อน แต่มันคือหน้าที่ของคุณไม่งั้นในตุรกีก็ยุบอยู่นั่นแหละ แล้วก็ได้พรรคเดิมๆ”

หรือแม้แต่ว่า หากพรรคการเมืองไหนตกลงว่าจะมีนโยบายสาธารณะแบบใดแล้ว เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับไม่ทำ ก็จะต้องจ่ายค่าทดแทนให้กับประชาชน เป็นค่าธุรกรรมทางการเมืองที่ต้องจ่ายคืนประชาชน เพราะไม่ได้ทำตามสัญญา.....

พี่ๆ ที่อ่านอยู่ครับ....เมื่ออ่านมาถึงตรงจุดนี้ ผมเพียงอยากบอกว่า ในการก้าวย่างทางการเมืองท่ามกลางบรรยากาศสีเทาๆ เช่นนี้ การที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าไปยุ่งหรือร่วมกับการชุมนุมมากก็เพราะพื้นที่ของเรามีน้อย และมันเป็นเรื่องที่ละเอียด ซับซ้อนมากกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

การตั้งวงคุยกัน สนทนา ปรึกษา และหาทางออกนั้น เป็นสิ่งที่เราหลายๆ คนรวมตัว และสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยนำบรรยากาศการเมืองในห้วงเวลานี้มาคุยและวิเคราะห์ในมุมต่างๆ พร้อมทั้งมองภาพไปยังอนาคต มองออกไปในฐานะ “ผู้ดู” ไม่ใช่ “ผู้เล่น” ที่หลงอยู่ในอารมณ์การเมืองเฟื้องประสาทจนเงยหัวไม่ขึ้น

และแน่นอน ผม (หรือพวกเราบางคน) ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้เท่าใด และไม่เห็นว่าการชุมนุมจนทำให้เกิดการรัฐประหารในเบื้องปลายจะทำให้ปากท้อง หรือ ประชาธิปไตยของประเทศนี้ดีขึ้น หากเพียงผมเชื่อในการชุมนุมจนรัฐบาลหน้าด้านทนไม่ไหว ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปตามครรลองของระบบการเลือกตั้ง นี่น่าจะเป็นก้าวย่างที่เหมาะ และอย่างไรเสียการเมืองในประชาธิปไตยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้กับการเมืองภาคพลเมืองเข้ามาตรวจสอบและมีส่วนร่วมอย่างมีความสมดุล

ส่วนตอนนี้ ปัจจุบันนี้ หากใครอ่านเรื่องทั้งหมดที่ผมเขียนมาทั้งหมด “ไม่เข้าใจ” ก็ไม่ต้องกลับไปอ่านใหม่อีกรอบ เพราะ “ความไม่เข้าใจ” ในเรื่องที่ผมเขียน ก็เหมือนกับ “การเมือง” ณ เวลานี้ ที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม มากกว่าการมีเรื่องงงๆ วาระซ้อนเร้นไปๆ มาๆ อยู่เยี่ยงนี้

เรื่องที่เขียนมาจึงเขียนขึ้นด้วยความโง่เขลา เขียนแบบงงๆ ซื่อๆ เซ่อๆ เรื่อยมาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนจบ  และหวังว่าตอนจบของข้อเขียนนี้จะไม่เหมือนตอนจบของเหตุการณ์การเมืองที่จะจบลงด้วยความมึนๆ งงๆ เหมือนๆ กันนะครับ

บล็อกของ กิตติพันธ์ กันจินะ

กิตติพันธ์ กันจินะ
ในสภาวการณ์ใกล้มรสุมช่วงนี้, คนสูงวัยมากมายเหล่านั้นต่างขะมักเขม้นทั้งกายและใจ กับการหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเพื่อการเข้าร่วมหรือจัดตั้งทางการเมืองครั้งใหม่อย่างสุดกำลังตัวเสริมที่พวกเขานำมาป่าวประกาศเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นคือ “นโยบาย” ของแต่ละพรรค (ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง – ซึ่งมีมากจนไม่อาจกล่าวในที่นี่ได้) เช่นนี้แล้วเรามาดูกันที่นโยบายของพรรคการเมืองกันดีกว่าว่าได้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกหรือไม่เลือกใคร หลายนโยบายของพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการมุ่งหวังไม่ให้อำนาจเก่าได้กลับมามีอำนาจอีกและยังมีนโยบายต่างๆ…
กิตติพันธ์ กันจินะ
 ลมฟ้าอากาศเริ่มเปลี่ยนแปรไปตามสภาพ ฝนตกเพิ่งหยุดได้ไม่นาน ลมหนาวเยือนมาพัดผ่านท้องทุ่งจนต้นข้าวโยกเอียง บ้างล้ม บางตั้งตระหง่าน ตอนเช้าๆ อากาศแถวบ้านผม, จังหวัดเชียงราย อำเภอพาน ตำบลแม่อ้อ บ้านแม่แก้วเหนือ อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นทุกขณะ ชีวิตของผมทุกวันนี้ไม่เหมือนห้าเดือนก่อนที่ผ่านมา เพราะต้องย้ายสำมะโนครัวจากเชียงใหม่ กลับมาอยู่บ้านที่เชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลาสี่ปีที่อยู่เชียงใหม่ ผมได้พบเจอเรื่องราวหลายเรื่อง ทั้งการงาน ความรัก ชีวิต ความสัมพันธ์ เพื่อน ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับตอนที่อยู่บ้านที่เชียงรายอย่างมากสภาพอากาศ ความสงบ การดำเนินชีวิต…
กิตติพันธ์ กันจินะ
มาถึงเชียงใหม่แสงแดดยามเช้าตรู่ ปลุกให้ผมตื่นจากการหลับใหล – เวลาทั้งคืนที่ผ่านมา, ผมนอนไม่ค่อยหลับ กระวนกระวายใจ และไม่เป็นอันหลับอันนอน ไม่รู้ว่าพี่บัวจะเป็นอย่างไรบ้าง จะเป็นจะตายยังไง เป็นเรื่องที่คิดมาตลอดเส้นทางพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าตรงกับฝั่งที่ผมนั่งบนรถ พนักงานบริกรประจำรถพาร่างเล็กๆ ของเขาหยิบข้าวของขนมหวานนมกล่องให้ผู้โดยสารแต่ละคน “ท่านผู้โดยสารทุกท่าน เรายินดีนำท่านมาสู่จังหวัดเชียงใหม่....” พนักงานหญิงแจ้งข่าวแก่ผู้โดยสาร ด้วยท่าทีกระฉับเฉงอรชร เชียงใหม่เช้านี้ ท้องฟ้าไม่ค่อยมีเมฆมาก พระอาทิตย์สีแดงที่เส้นขอบฟ้า ปล่อยแสงแสบปวดตา ผมลงจากรถทัวร์คันใหญ่ เดินมุงหน้าไปหารถแดง…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมจะได้รู้จักชีวิตในอีกมุมหนึ่งของคนที่ถูกเรียกว่า “แก๊ง” ได้มากกว่าที่คิดไว้แม้ว่าในช่วงแรกๆ ความสัมพันธ์ของผมกับเขาจะเป็นแบบ ถามเพื่อเอาข้อมูลไปทำโครงการ แต่สิ่งที่ผมได้มากกว่าการเก็บข้อมูล นั้นคือความผูกพันธ์ มิตรไมตรี และการช่วยเหลือกันและกันของเพื่อนๆ พี่ๆ ผมได้เรียนรู้ว่า ความจริงใจ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเรา เมื่อก่อนมีเขาและมีผม แต่ตอนนี้คำว่า “เรา” มันทำให้ไม่มีเขา ไม่มีผม หลายสิ่งที่ผมได้ทำ หรือเพื่อนๆ ได้ทำไปนั้นเป็นสิ่งที่วัยอย่างพวกเราต้องเผชิญ อาจต่างกันมากน้อยคละเคล้ากันไปตั้งแต่จบมัธยมปลายมาหลายปี…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ต้นเดือนเมษายน – เทศกาลปีใหม่เมืองหรืองานสงกรานต์ใกล้เข้ามาถึงในอีกไม่กี่วัน วันหนึ่งพี่เหน่งโทรศัพท์มาหาผมเพื่อชวนผมไปเยี่ยมรุ่นน้องคนหนึ่งที่คุกแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผมไม่ปฏิเสธ และได้ตระเตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อไปเยี่ยมรุ่นน้องพี่เหน่งไม่บอกว่าใครอยู่ในคุก เพราะอยากให้ผมได้รู้ด้วยตัวเองว่ามาหาใคร ไม่กี่นานพี่เหน่งก็มารับผมที่บ้านพัก แล้วรีบบึ่งรถไปยังจุดหมายโดยเร็วแดดร้อนแผดเผาไปทั่วใบหน้า รถชอบเปอร์คันโตของพี่เหน่งพาเราสองคนมาถึงคุกในไม่กี่อึดใจ พี่เหน่งเดินบ่ายหน้าเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อขอเยี่ยมผู้ต้องขัง…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนทำงานด้านเยาวชน พบว่าวัยรุ่นชายที่อยู่ในกลุ่มมีความคึกคะนองสูง ดังนั้นในการเรียนรู้เรื่องสุขภาพ หรือการดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่ถูกละเลย หรือมองข้ามความสำคัญไป หลายคนยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ มีความประมาท ยกตัวอย่างเช่น การสวมถุงยางอนามัย สลับกับไม่ใส่ แกล้งดึงหัวจุกถุงยางอนามัยออกเพื่อแกล้งให้เพื่อนหญิงท้อง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการละเลยเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ไป ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องที่วัยรุ่น มีเรื่องชกต่อยกันทำให้เกิดการบาดเจ็บและถึงขั้นถูกดำเนินคดีและบางรายถูกตัดสินให้อยู่ในเรือนจำ เป็นต้นนอกจากในกลุ่มจะมีเด็กชายและ…
กิตติพันธ์ กันจินะ
หากวัยรุ่นคนหนึ่งจะเข้ามาร่วมในกลุ่มนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการสมัคร หรือทดสอบก่อน คือ ใครต้องการเข้าร่วมกลุ่มก็สามารถเข้ามาทำความรู้จักได้เลย เพียงแค่มีความเป็นเพื่อนและจริงใจเท่านั้นการเข้ามาในกลุ่มแก๊งของคนใหม่ๆ หรือการพยายามสร้างตัวแทนของกลุ่ม นับว่าไม่ได้เป็นไปตามกรอบเกณฑ์ เพราะการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในกลุ่มแก๊ง เกิดขึ้นโดยระบบความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับเพื่อน การเคารพผู้ที่อายุมากกว่าว่าคือรุ่นพี่ การเคารพผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือรุ่นน้อง เป็นการสร้างความสัมพันธ์แนวราบ คือ การส่งต่อเพื่อนสู่เพื่อน พี่สู่น้อง…