Skip to main content

 

             ระหว่างที่ผมกำลังนั่งพิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้นั้น ภาพยนตร์ซอมบี้ทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง World war Z ก็กำลังโกยเงินขึ้นหลัก 300 ล้านอยู่รอมร่อ ยิ่งช่วยยกสถานะของซอมบี้จากหนังสยองขวัญทุนต่ำกลายเป็นหนังฮอลลีวู้ดบล็อกบัสเตอรชั้นดีได้อย่างเต็มภาคภูมิเช่นเดียวกับที่ แวมไพร์ และ มนุษย์หมาป่า เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งในอดีต ที่น่าสนใจอย่างก็คือ ซอมบี้ในเรื่องนี้นอกจากออกล่าเหยื่อกันเป็นฝูงเหมือนพวกปลวก เราเห็นฉากพวกมันรวมตัวเป็นเหมือนกับก้อนเดียวกับปืนกำแพงในหนังตัวอย่างได้ด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ไม่นานที่เราได้เห็นหนังซอมบี้แปลกรสอย่าง Worm Bodies ที่เปลี่ยนซอมบี้ผู้น่ารังเกียจให้กลายเป็นหนุ่มที่พยายามจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งเข้า นี่ยิ่งทำให้เราได้มองเห็นพัฒนาการของซอมบี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาว่า มันได้เปลี่ยนไปในทางใดบ้าง ทั้งในประเด็นของหนังและพัฒนาของซอมบี้ที่จากซากศพถูกปลุกขึ้นด้วยวิชาวูดู กลายเป็นซอมบี้ที่ฟื้นขึ้นด้วยไวรัสไล่กินมนุษย์ จากซอมบี้เดินช้าเหมือนเต่า กลายเป็นซอมบี้ติดจรวดเหมือนในปัจจุบัน แน่นอนว่า ตอนนี้ซอมบี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวสยองขวัญราคาถูกอีกแล้ว แต่เป็นเหมือนภาพสะท้อนในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านหนังของพวกมันได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

          Zombie in War

          คงไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นตราบาปในจิตใจของผู้คนทั่วโลกไปได้เท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในปี 1939 จนถึงปี 1945 รวมเวลากว่า 6 ปี และมีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้หลายล้านคน นี่เองที่เป็นเสมือนภาพความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามพวกนี้อย่างไม่มีจบสิ้น แน่นอนว่า ความเจ็บปวดนี้ได้ถูกสั่งสอนใครหลายคนไว้ว่า อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ซึ่งแน่นอนว่า หนังซอมบี้ก็ได้แตะประเด็นเรื่องความเจ็บปวดของสงครามนี้ด้วยเช่นกันผ่านภาพยนตร์อย่าง Shock Waves (มันอยู่ในน้ำ) , Zombie Lake (ทะเลสาบสยอง) และ Dead Snow ที่ซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ล้วนแล้วเป็นนาซีแทบทั้งสิ้น

          ตรงนี้เองเราสามารถมองได้ว่า หนังทั้งสามเรื่องนี้เป็นตัวแทนภาพความเจ็บปวดของสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์พยายามฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง หรือกระทั่งพยายามจะแสวงหาพลังอำนาจที่จะทำให้ตัวเองชนะในสงครามจนส่งผลให้มีการทดลองอันเลวร้ายขึ้น จนละเมิดกระทั่งความตายที่ทำให้พวกเขาเป็นผีดิบที่ไล่ฆ่าคนทุกคนกระทั่งพรรคพวกตัวเอง นี่สะท้อนให้เห็นว่า พวกนาซีนั้นเป็นพวกเลวร้ายที่ไม่มีความเป็นคนเหลืออยู่ พวกนี้สนใจแค่จะฆ่าฆ่าและก็ฆ่าเท่านั้นเอง

          ตรงนี้ไปย่ำเตือนข้อสนับสนุนของผู้กำกับ Dead Snow ที่เล่าเรื่องพวกนักท่องเที่ยวดวงซวยที่ไปเจอการโจมตีของพวกซอมบี้นาซีที่ฝังตัวอยู่ในหิมะและคืนชีพขึ้นมาว่า “เพราะนาซีคือ วายร้ายที่ชั่วช้าที่สุดในหนัง พอเอาซอมบี้มาผสม คุณก็จะได้บางอย่างที่ไม่มีใครเห็นใจแล้ว เราต้องฆ่าพวกมันให้ได้ไม่ว่ามีวิธีใดก็ตาม”

          แน่นอนว่า คนไทยอาจจะไม่เข้าใจความแค้นฝังลึกของผู้คนในยุโรปเสียเท่าไหร่นักในเรื่องนาซี เพราะเราอยู่ห่างไกลจากความโหดร้ายของพวกเขานักในช่วงสงครามโลก ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็ไม่ต่างกับคนจีนเกลียดชังญี่ปุ่นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกหรอกนะ และสิ่งที่เราต้องรู้ก็คือ ทางตอนเหนือของนอร์เวย์เคยมีการสู้รบครั้งใหญ่กับนาซีมาก่อนและที่สำคัญนาซีก็เคยครองนอร์เวย์ในช่วงหนึ่งมาแล้ว นี่เองที่ทำให้เรารู้เลยว่า Dead Snow เป็นภาพสะท้อนความหวาดกลัวของนาซีที่เคยสร้างความเจ็บปวดให้ประเทศของพวกเขามาแล้วในอดีต ซอมบี้จึงมีค่าเพียงแค่เชื้อชั่วไม่ยอมตายที่ต้องฆ่าให้ตายเท่านั้นโดยไม่มีความเห็นใจใด ๆ เลย

          นอกจากนี้สงครามที่แทบจะเป็นตราบาปครั้งใหญ่ของผองชนชาวอเมริกันย่อมหนีไม่พ้นสงครามเวียดนาม ที่เกิดขึ้นในปี 1968 ที่ส่งผลให้มีการรับสมัครคนหนุ่มสาวจำนวนมากให้ไปตายในสงครามครั้งนี้ แน่นอนว่า ความอืมครึมของสงครามและความหวาดกลัวต่อคอมมิวนิสต์ในยุคนี้ได้ส่งผลให้เหล่าผู้กำกับบุบผาชนยุคใหม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างขึ้น นั่นก็คือ การทำหนังที่สะท้อนภาพวุ่นวายในยุคนั้นออกมากันอย่างมากมายตั้งแต่ ภาพความโหดเหี้ยมของมนุษย์ที่มีมนุษย์ด้วยกันเองใน Texas Chainsaw Massacre การล่มสลายของอเมริกันดรีมใน The Last House on the left หรือกระทั่งหนังซอมบี้อย่าง Night Of Living Dead ของผู้กำกับหน้าใหม่ในตอนนั้นอย่าง จอร์จ เอ โรเมโร่ ก็เป็นอีกเรื่องสะท้อนภาพความอืมครึมของชาวอเมริกันที่มีต่อสงครามเวียดนามและคอมมิวนิสต์

          Night of Living dead กล่าวถึงคน 7 คนที่วิ่งหนีเหล่าศพคืนชีพไปรวมตัวกันอยู่ในบ้านร้างท่ามกลางเหล่าซากศพที่ต่างล้อมบ้านหลังนี้เอาไว้และพยายามจะเข้ามาในนี้ สิ่งที่เรารู้ว่า หนังมันสะท้อนความอืมครึมของสงครามเวียดนามและสังคมยุคนั้นก็คือ ฉากที่ตัวละครในบ้านนั่งฟังวิทยุที่มีนักวิทยาศาสตร์กับเจ้าหน้าที่มานั่งโต้เถียงกันในวิทยุที่พวกผู้รอดชีวิตคุยกันอยู่ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้ข้อสรุปใด ๆ โรเมโร่กล่าวว่า ที่ให้เป็นแบบนั้นเพราะ สังคมจริง ๆ นั้น เราไม่มีทางรู้ความจริงได้ง่าย ๆ เหมือนกับในหนังหรอก

          นอกจากนี้ซอมบี้ยังเป็นภาพสะท้อนของคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ในสายตาของชาวอเมริกันได้อย่างน่าสนใจ ตามรูปแบบการเป่าหูของ สมาชิกวุฒิสภานามว่า โจเซฟ แม็คคาธีย์ ที่ชอบพูดว่า คนพวกนี้เหมือนพวกนี้เหมือนเรา คนพวกนี้ไม่นับถือพระเจ้า ไร้วิญญาณและต้องการทำลายอเมริกัน ซอมบี้ในเรื่องจึงทำกับคอมมิวนิสต์ที่เหมือนคน แต่สามารถแผ่เชื้อได้และทำให้คนอื่นกลายเป็นแบบเดียวกัน ที่สำคัญต้องฆ่าสถานเดียว

          นอกจาก Night of Living Dead แล้ว The Crazies หนังคนบ้าติดเชื้ออีกเรื่องของโรเมโร่ก็สะท้อนภาพสงครามเวียดนามออกมาได้น่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลนั้นพยายามปิดบังข่าวสารและให้เสพข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวส่งผลให้คนที่รับสารนั้นเกิดอาการที่เรียกว่า คลั่ง และไล่ล่าคนเห็นต่างอย่างอัตโนมัติ ซึ่งสะท้อนภาพความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นเพราะ รัฐบาลหรือกระทั่งกองทัพที่พยายามปลุกปั่นความกลัวของผู้คนให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการเสมอ ๆ

          ใน Day of the dead ภาพยนตร์ซอมบี้อีกเรื่อง จอร์จ เอ โรเมโร่เองก็แสดงให้เห็นภาพของความสับสนในโลกที่เต็มไปด้วยเหล่าผีดิบ เราจะมองว่า ในฐานทัพใต้ดินแห่งหนึ่งนั้น พวกทหารที่คุมอยู่ที่นี่ต่างทำท่าวางกล้าม ข่มขู่คนอื่นที่เห็นต่างสารพัด ด้วยเหตุผลว่า พวกเขามีปืน และ ปืนคือ อำนาจเดียวของพวกเขาในโลกที่ไร้ขื่อแปนี้ จะว่าไปแล้ว ทหารน่าจะเป็นหน่วยงานที่ไร้ประโยชน์ที่สุดในบรรดาหนังซอมบี้ เนื่องจากพวกเขานั้นเป็นตัวแทนของอำนาจนิยมแบบเต็มตัว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากทหารหรือกองทัพจะเป็นต้นเหตุหรือตัวร้ายที่น่ากลัวกว่าซอมบี้เสมอ ๆ

          เราลองนึกถึงทหารบ้าอำนาจใน Diary of the dead ที่บุกขึ้นปล้นเอาอาหารของพวกผู้รอดชีวิตไปจนหมด หรือกระทั่งทหารใน 28 Day later ที่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากสัตว์ป่าหื่นกระหายที่พร้อมจะกดขี่คนอื่นที่อ่อนแอกว่า และเราต้องไม่ลืมว่า เหตุการณ์ความซวยใน The Returns of the living dead (ผีลืมหลุม) นั้นก็เกิดขึ้นจากสารพิษที่ทหารดันทิ้งเอาไว้นั่นเอง

          แน่นอนว่า ประเด็นความหวาดกลัวนี้ได้กระโดดข้ามมาสู่ยุคสงครามก่อการร้ายภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 ที่ส่งผลให้เกิดสงครามต่อต้านก่อการร้ายขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ซอมบี้มีการพัฒนาไปมากโดยเฉพาะ การตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

          The Crazies ถูกนำมารีเมคอีกครั้งโดย เบรค ไอส์เนอร์ ที่ให้ความเห็นว่า “ตอนสมัยของโรเมโร่ เขาเอาประเด็นของสงครามเวียดนามมาใช้ เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในภาวะสงครามและเศรษฐกิจล้มเหลว ผมว่า ในปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เราอยู่ในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน แหม่...หนังเรื่องนี้ก็มาอยู่ในช่วงถูกเวลาอีกแล้วภายใต้ความรุนแรงทางการเมืองของบุช เกี่ยวกับอิรักและอัฟกานิสถาน ความรุนแรงของโลกใบนี้เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้”

          แน่นอนว่า หนังมันยังคงพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามเหมือนเคยเพียงแต่เปลี่ยนภาพเป็นสงครามก่อการร้ายในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็เท่านั้นเองที่หลายคนมองว่า ยุคนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากยุคสงครามเวียดนามเสียเท่าไหร่ เรายังคงอยู่ด้วยความหวาดระแวงเหมือนเช่นเคย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่เป็นการก่อการร้าย

          แน่นอนว่า ความผิดปกติในสังคมนี้ได้ทำให้จอร์จ เอ โรเมโร่สร้างหนังซอมบี้ขึ้นมาอีกเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความสำเร็จของ Resident Evil ภาคหนังและ Dawn of the dead ฉบับรีเมคด้วยก็ตาม แต่หนังของซอมบี้ของโรเมโร่เรื่องนี้ก็ไปไกลกว่าหนังสองเรื่องนี้ด้วยประเด็นที่คมคายยิ่งกว่าหนังซอมบี้หลายเรื่องจนตอนนี้กลายเป็นจุดขายในหนังซอมบี้ของเขาไปเรียบร้อยแล้ว

          โลกใน Land of the dead นั้นเป็นโลกที่ผีดิบครองโลกไปจนเกือบหมดแล้ว ยกเว้นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่หนีรอดไปได้และสร้างเมืองอยู่ร่วมกันโดยมีกำแพงสูงชะลูดขึ้นป้องกันไม่ให้ซอมบี้เข้ามา ขณะที่ภายในคนยังคงเป็นคนแบบเดิม ที่ตอนนี้มีทั้งการแบ่งชนชั้นโดนคนชนชั้นสูงจะอยู่บนตึกสูงโอ่อ่า ส่วนคนจนจะอยู่รอบนอกใกล้กับกำแพง ซึ่งยิ่งบอกว่า ในโลกที่เต็มด้วยความหวาดกลัว เราเองก็ยังไม่เลิกที่จะแบ่งชนชั้นกัน

          “ฉากหลังของ Land of the dead คือโลกที่ถูกทำลาย ไม่มีไฟฟ้าใช้ ยกเว้นเพียงบางแห่งที่พวกเขาพยายามจะใช้ชีวิตกันปกติ แต่พวกเขาคิดผิด มันสะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนอกประตูบ้าน พวกเขาคิดว่า เราจะปลอดภัยถ้าไม่สนใจซะอย่าง และพยายามใช้ชีวิตกันปกติ โดยไม่รู้ว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น มันคือ แก่นที่ผมวางเอาไว้” จอร์จ เอ โรเมโร่กล่าวถึงแก่นของ Land of the dead ที่จะว่าไปแล้วมันคือ ภาคต่อของ Day of the dead ที่พูดถึงมนุษย์ผู้รอดชีวิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความตายว่า พวกเขาจะมีชีวิตกันอย่างไร แน่นอนว่า หนังมันสะท้อนภาพให้เห็นว่า คนอเมริกันไม่ได้สนใจเรื่องสงครามอะไรนอกจากใช้ชีวิตกันปกติ เพราะคิดว่า กำแพงจะเอาอยู่ หรือ ไม่ก็นั่งสั่งสอนตัวเองว่า ซอมบี้ไม่ฉลาดหรอก โดยไม่รู้ว่า วันดีคืนดีพวกซอมบี้จะวิ่งมาอยู่ข้างกำแพงได้แบบนั้น

          จะว่าไปแล้วถ้าพูดถึงซอมบี้ในเชิงทฤษฏี Orientalism (ลัทธิบูรพานิยม) ของนักวิชาการนามว่า เอ็ดเวิร์ด ซาอิด แล้ว ซอมบี้ก็เป็นตัวแทนภาพของผู้ก่อการร้ายในสายตาคนอเมริกันที่มักจะดูแคลนว่า พวกนี้มันโง่ คิดไม่เป็น โดยไม่คิดว่า พวกนี้มันพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าย้อนไปดูในหนังภาคก่อน ๆ ของ โรเมโร่ เราจะพบว่า ซอมบี้ของเขาก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ใน Dawn of the dead ฉบับออริจิน่อลของเขาจะมีฉากซอมบี้ตัวหนึ่งหัดใช้ปืน พอมา Day of the dead เจ้า บัก ซอมบี้ที่ถูกฝึกขึ้นมาจนฉลาดก็สามารถใช้ปืนเล็งยิงใส่ศัตรูได้ ในขณะที่ Land of the dead พวกมันฉลาดขึ้นจนสามารถเดินข้ามแม่น้ำมาขึ้นอีกฝั่งของกำแพง อันเป็นสถานที่เปราะบางที่สุดของกำแพงไฟฟ้าได้ในที่สุด ส่งผลให้เมืองแห่งนี้เกิดความหายนะขึ้นจนได้

          และความที่ซอมบี้มีการพัฒนาขึ้นทำให้เราได้เห็นซอมบี้ต่อตัวกันปีนกำแพงใน World war Z ในปีนี้ที่ช่วยตอกย้ำให้เรารู้ว่า ซอมบี้ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความโง่เง่าอีกต่อไปแล้ว

          แน่นอนความสุกงอมของสงครามก่อการร้ายได้ขยายออกไปทั่วโลกส่งผลให้หนังซอมบี้ในประเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ Rec และ Rec 2 ของสเปน ที่พูดถึงการแพร่ระบาดของซอมบี้ในตึกแห่งหนึ่งที่ตอนแรกหนังพูดถึงไวรัสบางอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกับรัฐบาลที่เข้ามาดูแลไม่ให้ใครออกมาจากตึกได้ จนกระทั่งมาเฉลยให้เรารู้ไวรัสเกิดขึ้นจาก ปีศาจของศาสนจักรนั่นย่อมหมายถึงว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาด้วย นี่ทำให้เรามองได้ว่า นอกจากรัฐไม่อาจจะเป็นที่ดึ่งให้ประชาชนได้แล้ว แม้แต่ศาสนายังไม่อาจจะเป็นคำตอบให้ประชาชนด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นตัวการที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเสียอีก นี่ก็สะท้อนให้เห็นของผู้คนในสเปนที่มีต่อเหตุการณ์รถไฟระเบิดที่กรุงมาดริดนั่นเอง

          แต่ที่หนังซอมบี้อีกเรื่องที่น่าสนใจย่อมไม่พ้นหนังซอมบี้เรื่อง Homecoming (หนีหลุมไปเลือกตั้ง) หนึ่งในมินิซีรีย์ชุด Master of Horror ที่พูดถึงเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐครั้งใหม่ระหว่าง ประธานธิบดีคนเดิม (ซึ่งเราก็รู้ว่า คือใคร) กับผู้ท้าชิง ซึ่งขณะที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นนั้นเอง จู่ ๆ พวกทหารที่ตายในสงครามครั้งก่อน ๆ ก็ต่างลุกขึ้นมาจากหลุมเดินทางไปเลือกตั้งกัน ท่ามกลางความประหลาดของใครหลายคนทั้งฝ่ายรัฐบาลที่ต่างอุ้มชูการคืนชีพของเหล่าทหาร เพราะคิดว่า พวกเขาจะลุกขึ้นมาขอบคุณและลงคะแนนเสียงให้กับพวกเขา แต่เมื่อพวกผีดิบทหารต่างลุกขึ้นแสดงจุดยืนของตัวเองว่า พวกตูลุกขึ้นมาเพื่อบอกพวกรัฐบาลที่ส่งพวกเขาไปตายว่า

          พวกคุณส่งพวกเราไปตายทำไม (เวรแล้วไงล่ะ)

          แน่นอนว่า ตรงนี้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจมากและออกข่าวโจมตีพวกทหารที่ลุกขึ้นมาเหล่านี้กันรายวันว่า พวกนี้เป็นผีดิบชั่วร้าย ไม่มีสมอง เป็นแค่ศพ พวกนี้สมควรตาย ต้องกำจัดทิ้งให้หมด โดยลืมไปว่า ก่อนหน้านี้พวกคุณพูดเอาไว้ว่ายังไง

          ซึ่งตรงนี้เองหนังบอกเราว่า นี่คือภาพความไม่พอใจของผู้คนที่เกิดขึ้นหลังการชนะเลือกตั้งแบบหน้ากังขาของ จอร์จ ดับเบิล ยู บุช จนทำให้ บุช ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อย่างน่ากังขา

          ตรงนี้เองที่หนังได้เสียดสีและบอกว่า สงครามที่พวกเขาสร้างขึ้นนั้นเป็นแค่เรื่องหลอกลวง และคนตายก็ไม่ได้มีความสุข หากจะต้องมีคนไปตายเพิ่มอีกเพราะ การหลอกลวงนั้น

          ส่งผลให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการเลือกตั้ง

          ทว่าหนังก็บอกเราว่า ประธานาธิบดีคนเก่าชนะด้วยวิธีการในการคัดชื่อของพวกทหารที่ตายไปแล้วออกส่งผลให้พวกเขาโกรธแค้นและลุกขึ้นมาปฏิวัติยึดอำนาจประธานาธิบดีจนต้องหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแทน ขณะที่พวกทหารผีดิบที่ยึดรัฐบาลอยู่นั้นกลับได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนอย่างมาก

          หรือว่า นี่คือการระบายความคับข้องใจของสงครามที่ผู้กำกับเองกันม

          Marginalization in Zombie (ซอมบี้กับคนชายขอบ)

          ต้นกำเนิดจริง ๆ ของซอมบี้นั้นเอาเข้าจริงแล้ว ซอมบี้เป็นความเชื่อดั่งเดิมของทางไสยศาสตร์ของพวกอโฟร แคริเบียน โดยเชื่อว่า ซอมบี้นั้นเป็นศพที่ถูกควบคุมโดยหมอผีในลัทธิวูดูให้ฟื้นขึ้นมาเป็นสมุนรับใช้หรือข้ารับใช้ของตน ซึ่งเรื่องของซอมบี้ได้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วทั้งประเทศอเมริกาเมื่อ นักผจญภัยนามว่า วิลเลี่ยม ซีบรู๊คได้นำเรื่องราวของพ่อมดหมอผีและพวกมนต์ดำที่พวกเขาเจอในประเทศเฮติมาเขียนในชื่อว่า The Magic Island โดยเอ่ยถึงซอมบี้ หรือ คนตายที่ถูกหมอผีปลุกขึ้นมาเป็นคนงานในไร่อ้อย ส่งผลให้เกิดหนังเรื่อง White Zombie ที่แสดงนำโดย นักแสดงในตำนานอย่าง เบลล่า โลกุชี่ ที่นำเรื่องราวของซอมบี้ขึ้นจอใหญ่เป็นครั้งแรก และซอมบี้แบบวูดูก็พาเหรดขึ้นจอหนังกันเป็นว่าเล่นตั้งแต่ปี 1932 เป็นต้นมา

          แน่นอนว่า สิ่งที่น่าสนใจก็ยังคงไม่พ้นการที่หนังของอเมริกันหลายเรื่องสร้างภาพของเวทย์มนต์วูดูให้เป็นสิ่งที่น่ากลัวน่ารังเกียจและเป็นความชั่วร้ายที่จะต้องกำจัดไปให้ได้ ตรงนี้เองเราจะมองเห็นภาพของการทำลายเชิงศาสนา เมื่อเจ้าอาณานิคมเข้าไปยึดครองประเทศที่มีความแตกต่างออกไป พวกเขาจะนำทั้งวัฒนธรรมและศาสนาของตัวเองเข้าไปเผยแพร่ด้วยเพื่อเปลี่ยนคนให้มาศรัทธาสิ่งเดียวกับพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศในแทบแคริเบียนหรือแอฟริกานั้นล้วนแล้วแต่มีการนับถือศาสนาหรือความเชื่อเดิมอยู่แล้ว พวกเขามีเทพเจ้าของตัวเองกันหมด แน่นอนว่า ตรงนี้เป็นเรื่องการเมืองที่ทางรัฐอาณานิคมมิอาจจะให้ฝ่ายผู้ถูกปกครองนับถือความเชื่อเดิมของตนต่อไปได้ จึงมีการสร้างวัฒนธรรมอาทิ การดึงเอาเทพเจ้าของศาสนาอื่นเข้าไปและแปรเปลี่ยนเป็นผู้ชั่วร้าย การสร้างภาพของนอกศาสนาให้เป็นปีศาจ เพื่อทำลายความเชื่อเดิมทิ้งไปจนกระทั่งในที่สุดศาสนาเดิมก็ถูกทำลายไปในที่สุด ตรงนี้เราจึงมองเห็นว่า ครั้งหนึ่งศาสนาของเจ้าอาณานิคมทั้งหลายอย่าง ศาสนาคริสต์นั้นเคยสร้างการเข่นฆ่าที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง การล่าแม่มดในยุคกลางมาแล้วก็เพราะ ความหวาดกลัวในศาสนาหรือความเชื่ออื่นนั่นเอง

          แน่นอนด้วยเหตุนี้ วูดู ที่เป็นศาสนาของชาวเกาะจึงถูกสร้างภาพเป็นความชั่วร้ายของคนผิวขาวเสมอ ๆ

          แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะเราจะเห็นว่า พวกคนขาวทั้งหลายในเรื่องก็ต่างเป็นตัวการที่วิ่งเข้าไปหาเวทย์มนต์พวกนี้ในทันทีเพื่อหาผลประโยชน์ของตัวเองได้เหมือนกัน

          พ้นจากยุคของซอมบี้วูดู นัยยะเกี่ยวกับคนชายขอบยังคงเกาะกินอยู่กับซอมบี้ เมื่อ Night Of Living dead ของ จอร์จ เอ โรเมโร่นั้นก็มีนัยยะทางด้านคนชายขอบอยู่สูงโดยเฉพาะคนผิวสีด้วยเหตุผลในบริบทสมัยนั้นมีการเหยียดผิวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงส่งผลให้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกยิงเสียชีวิตจนส่งผลให้เกิดการจลาจลหลายแห่งในช่วงเวลานั้น แน่นอนว่า หลายคนมองว่า หนังของโรเมโร่มีนัยยะทางเรื่องนี้เพราะ ตัวเอกผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายอย่าง เบน นั้นเป็นคนผิวสีที่กล้าหาญ ฉลาด และเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของเรื่อง ทว่าเขากลับต้องถูกยิงตายด้วยฝีมือของคนขาว ซึ่งเป็นนายอำเภอและพรรคพวกนักล่าผีดิบ

          แต่แน่นอนว่า โรเมโร่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงเพราะ หนังพึ่งปรินส์ฟิลม์เสร็จและกำลังหาที่ฉายอยู่พอดี ขณะที่ข่าวเรื่องมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกสังหารเสียชีวิตแพร่ไปทั่วในตอนนั้นพอดี

          และนั่นเองที่ทำให้ซอมบี้กลายเป็นภาพตัวแทนของเหล่าคนชายขอบทั้งหลายเป็นอย่างดี แน่นอนว่าคำว่า คนชายขอบ ย่อมหมายถึง คนที่สังคมส่วนใหญ่ไม่สนใจและอาจจะมองเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในสังคมอาทิ คนผิวสี คนเอเชีย คนต่างด้าวชาวอเมริกาใต้ คนข้ามเพศ (เกย์ เลสเบี้ยน ทอม กระเทย) จนกระทั่งสามารถตีความคำว่า คนชายขอบได้ว่า กลุ่มคนชนชั้นล่างในสังคม ซึ่งนั้นหมายถึงคนจนทั้งหลายได้อีกด้วย

          ใน Land Of the dead นั้น เราจะพบว่า ศูนย์กลางของเมืองท่ามกลางกำแพงที่ล้อมเอาไว้นั้นเป็นตึกสูงชะลูดขึ้นไปจนบนฟ้า คนรวยจะอาศัยอยู่ที่นั้นท่ามกลางทรัพยากรที่ตัวเองใช้จ่ายกันอย่างฟุ่มเฟือย ขณะที่คนจนกลับต้องอาศัยอยู่นอกตึกใกล้กำแพง ใช้ชีวิตแบบแร้นแค้น ไม่มีไฟฟ้า ต้องหาอาหารกินกันตามยถากรรม ต่างจากคนในตึกสูงที่มีอาหารกิน มีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ ใช้ชีวิตกันสุขสบายและห่างไกลจากอันตราย ขณะที่พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสองที่หากซอมบี้บุกเข้ามาก็ตายสถานเดียว

          แน่นอนซอมบี้ในเรื่องนี้นอกจากเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาของคนในตอนนั้นแล้ว ยังสามารถแทนพวกเขาเป็นคนต่างด้าว หรือกระทั่งชนชั้นล่างที่ต่อสู้กับคนรวยที่เอาเปรียบได้น่าสนใจ เพราะจะเห็นว่าซอมบี้โรเมโร่ในเรื่องนั้นต่างแต่งตัวเป็นชุดทำงานอย่าง เด็กปั้มบ้าง พ่อครัวบ้าง หรือกระทั่งวัยรุ่นที่เป็นชนชั้นล่างที่สังคมไม่ค่อยสนใจและถูกเอาเปรียบ ฉากการหือในช่วงท้ายจึงเปรียบเหมือนชนชั้นล่างที่ทนไม่ไหวแล้วกับการเอาเปรียบของนายทุนแล้วทำลายมันเสีย แน่นอนเราสามารถนึกถึง บัค ใน Day of the dead ที่ใช้ปืนเป็นและลงความเห็นได้ว่า คนชนชั้นล่างไม่ได้โง่เสมอไปหรอกนะ

          และเมื่อคนชนชั้นล่างไม่ได้โง่ พวกเขาก็กลายพันธุ์ไปเป็นสิ่งที่รัฐกลัวที่สุดไปจนได้

                ซอมบี้พันธุ์ไทยอย่าง Backpacker หนังสั้นตอนหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง ห้าแพร่ง ก็มีความน่าสนใจในเชิงชายขอบ เพราะตัวละครในเรื่องก็ไม่ใช่คนในกระแสหลักตั้งแต่ คนขับรถบรรทุก และ เด็กติดตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติสองคนที่โบกมือขอติดรถไปด้วย รวมทั้ง เหล่าซอมบี้ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาคือ คนต่างด้าวที่ลับลอบเข้ามาเมืองพร้อมกับซุกยาเสพติดเอาไว้ในท้องของพวกเขาด้วย และ ยาเสพติดนี้เองที่ทำให้พวกเขากลายพันธุ์เป็นซอมบี้ไล่ฆ่าคน ซึ่งจะเห็นว่าหนังหยิบคนชายขอบทั้งสามส่วนมาเจอกันและให้ทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากัน เมื่อชายขอบหนึ่งลุกขึ้นไล่ฆ่าคนที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ด้วยยาเสพติดร้ายที่ส่งผลให้การระบาดเกิดขึ้นไปทั่วในช่วงท้าย หนังจึงตั้งคำถามว่า ความชั่วร้ายนี้กำลังครอบคลุมไปทุกส่วนหรือไม่ แม้กระทั่งพระที่ตัวแทนของศาสนายังไม่รอดไปได้เลยด้วยซ้ำ

          อย่างใน Homecoming นัยยะของหนังในเชิงคนชายขอบก็น่าสนใจ เมื่อทหารที่ลุกขึ้นมานั้นได้ถอดสถานภาพของตัวเองออกจากพวกอำนาจนิยมกลายเป็น คนชายขอบอย่างสมบูรณ์เมื่อรัฐทำท่าไม่ต้องการและรังเกียจพวกเขาส่งผลให้พวกเขาต้องลุกขึ้นต่อต้านการกระทำนี้ด้วยการเลือกตั้งที่อย่างน้อยก็ยังให้ยืนยันได้ว่า พวกเขามีสิทธิเสียงทัดเทียมคนทั่วไปที่ยังมีชีวิตอยู่หรือนัยยะหนึ่งที่บอกว่า คนชายขอบทั้งหลายก็มีสิทธิที่จะเลือกตั้งเช่นกัน แต่พวกรัฐบาลไม่ต้องการเพราะ รู้ว่า ถ้าซอมบี้ทหารพวกนี้ได้เลือกตั้ง พวกเขาจะทำให้ประธานาธิบดีแพ้แน่ เขาเลยใช้กลโกงไม่นับคะแนนของพวกเขาเสียเลย แถมยังไล่ฆ่าพวกเขาทั้ง ๆ ที่พวกเขาเพียงแค่มาเลือกตั้งเท่านั้น

          และเมื่อผลคะแนนออกมาก็ทำให้ซอมบี้ทั้งหลายไม่พอใจและลุกขึ้นปฏิวัติประเทศในที่สุด

          ดังนั้นสิ่งที่รัฐกลัวที่สุดจึงไม่ใช่ซอมบี้

          แต่เป็นคนชนชั้นล่างที่พวกเขาปรามาสไว้ว่า โง่ ดันฉลาดขึ้นต่างหาก ที่พวกเขากลัว

ดังนั้นซอมบี้จึงเป็นภาพสะท้อนของคนชายขอบที่น่าสนใจ แถมงานอย่าง Zombie L.A ของ บรูซ ลา บรูซ ผู้กำกับหนังเกย์โป้ชื่อดังก็สร้างภาพซอมบี้ใหม่ออกให้เป็นซอมบี้หุ่นล้ำที่ออกไล่ล่าหนุ่ม ๆ ไปกินอย่างหิวกระหาย ซึ่งแสดงภาพของซอมบี้ในภาพของคนชายขอบอีกนัยยะหนึ่งได้น่าสนใจอย่างยิ่ง

          Economy of Zombie (เศรษฐกิจกับซอมบี้)

          ปรากฏการณ์ซอมบี้สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจได้ด้วย แต่ถูกนำมาพูดถึงหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งที่มันถูกนำมาถกกันเป็นวงกว้างนั้นย่อมไม่พ้น Dawn of the dead ของ จอร์จ เอ โรเมโร่ ที่เขาได้ใช้หนังซอมบี้เรื่องนี้วิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) อย่างถึงพริกถึงขิง เมื่อหนังซอมบี้ภาคต่อของ Night of living dead เรื่องนี้จงใจพาผู้รอดชีวิตไปหลบซ่อนในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยมีซอมบี้จำนวนมากเดินมาที่ห้างทีล่ะตัวสองตัวจนกระทั่งมากมายมหาศาลท่ามกลางความสงสัยของคนที่รอดชีวิตว่า พวกมันมาที่นี่ทำไม ตัวละครในหนังก็บอกมาว่า พวกมันแค่มาเดินห้าง

                “เขา (ดาริโอ้ อาร์เจนโต้ ผู้กำกับชาวอิตาลีชื่อดัง) พาผมมาเดินห้าง ดูห้องไอน้ำ จนมาถึงห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยถุงยังชีพเผื่อว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ มันทำให้ผมเกิดความคิดว่า พระเจ้า นอกจากที่นี่จะเป็นโบสถ์ของพวกบริโภคนิยมแล้ว ยังเป็นที่หลบภัยในยามวิกกฤตได้ด้วย”จอร์จ เอ โรเมโร่กล่าวถึงเรื่องนี้ขณะที่เขากำลังมองหาโลเคชั่นถ่ายหนังเรื่องใหม่ของเขากับดาริโอ้ อาร์เจนโต้ ผู้กำกับหนังสยองขวัญอิตาลีชื่อดังที่ได้สร้างแรงบันดาลหนึ่งให้กับโรเมโร่โดยเฉพาะหนังซอมบี้เรื่องต่อไปของเขานี้ ที่หันวิพากษ์กัดกินสังคมอย่างเจ็บแสบยิ่ง

                ถ้าเราสังเกตหนังซอมบี้ของโรเมโร่ที่เป็นตัวออริจิน่อลดังเดิมแล้ว เราจะพบว่า ซอมบี้ของเขานั่นเดินเอื่อยเฉื่อยโซเซ เหมือนกับคนถูกสะกดจิตแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจะว่าไปแล้วซอมบี้ของเขาก็คล้ายกับคนที่ในโลกทุนนิยมที่ต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำตัวเป็นเกลียวเพื่อหาเงินมาซื้อของกินของใช้กันราวกับเป็นโปรแกรมที่ทำให้คนต้องทำเช่นนั้น และ วัตถุพวกนี้ก็ค่อย ๆ กัดกินวิญญาณของคนคนนั้นไปเรื่อยจนกระทั่งไม่ต่างอะไรกับผีดิบไปในที่สุด

                แน่นอนว่า สำหรับคำอธิบายว่า ทำไมซอมบี้พวกนี้มาเดินห้างนั้น ต้องพูดว่า เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่คนที่เป็นซอมบี้เหล่านี้ต่างมาจับจ่ายใช้สอยที่นี่กันตลอดเวลา ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในวันที่ได้หยุด พวกเขาต่างมองที่นี่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่ทำให้พวกเขาปลดเปลืองตัวเองให้พ้นไปจากภาระอันน่าเหนื่อยใจ และสำนึกในใจว่า ถ้าเกิดเรื่องขึ้น ห้างเป็นสถานที่ปลอดภัย เพราะมีทั้งอาหาร และ ของต่าง ๆ จนหลายคนคิดว่า ห้างคือสถานที่ปลอดภัยที่สุด และสำนึกของพวกผีดิบก็คือ

                ที่นี่มีอาหาร

                นั่นเองที่อธิบายการมาของซอมบี้พวกนี้ได้ดีที่สุด รวมทั้งตีแสกหน้าคนดูชนชั้นกลางทั้งหลายว่า พวกเขาเองก็ไม่ต่างกับซอมบี้ที่ถูกลัทธิบริโภคนิยมเข้ากัดกินและกร่อนจิตใจจนไม่ต่างกับซอมบี้ไปเรียบร้อย

                ถ้าซอมบี้ยังอยากจะกินไม่สิ้นสุด เราเองก็ยังมีความอยากได้อยู่ไม่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน

          ยิ่งซอมบี้ภาครีเมคของ Dawn of the dead ที่กลายเป็นซอมบี้วิ่งเร็วไปแล้วก็ยิ่งตอกย้ำสถานะภาพนักสวาปามของมนุษย์ไว้ว่า พวกเขาปรารถนาจะกิน และ กิน ต่อไปอย่างหิวโหย ผ่านภาพของผีดิบวิ่งเร็วในยุคปัจจุบันที่ทุกคนต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้ในสังคมทุนนิยมนี่น่ะเอง

          Land of the dead ผลงานเรื่องหลังของโรเมโร่เองก็ตอกย้ำเรื่องนี้ด้วยการให้คนรวยใช้ชีวิตอยู่ในตึกหรูที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด ขณะที่คนจนอยู่ด้านนอก หนังฉายภาพของคนรวยมีเงินที่ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยกับสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่สนใจว่า ใครจะเป็นใครจะตาย พวกเขาหวังแค่ว่าตัวเองจะกอบโกยความสุขนี้ไปวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่า นอกกำแพงนั้นกำลังเกิดอะไรขึ้น เราจึงเห็นภาพนรกแตกที่ตึกแห่งนี้และคนรวยถูกซอมบี้ที่เป็นภาพสะท้อนของคนชายขอบกัดกินจนตายอย่างสะใจคนดูที่รู้สึกเอียนกับพวกซากดิบที่หลงใหลในวัตถุเหล่านี้ ประเด็นเรื่องนายทุนนี้ได้ถูกขยายไปสู่ Resident Evil 2 ที่กลุ่มทหารของบริษัทยาอัมเบลล่าที่ทุกคนก็รู้กันดีว่า พวกเขาเป็นคนที่สร้างไวรัสมรณะขึ้นมาได้พบว่า การแพร่ระบาดของเชื้อในเมืองได้ลุกลามมากเกินไปจนทำให้พวกเขาต้องใช้แผนที่เลวร้ายที่สุดนั่นคือ การกราดกระสุนใส่ผู้คนที่มาขอความช่วยเหลือที่หน้าประตูพร้อมกับปิดประตูเมืองไม่ให้ใครออกไป เพียงเพราะ พวกเขาต้องปิดบังไม่ให้ข่าวสารเรื่องความผิดพลาดของพวกเขารั่วไหลออกไปพร้อมกับไวรัสก็เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทของพวกเขาล่มในตลาดหุ้นของวันต่อก็เท่านั้นเอง

                Shaun of the dead หนังซอมบี้ของผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์ ก็เป็นหนังซอมบี้อีกเรื่องที่วิพากษ์เกี่ยวกับชนชั้นและเศรษฐกิจของอังกฤษได้น่าสนใจ สิ่งที่เขาพูดในหนังก็คือ สภาพสังคมของอังกฤษเป็นสังคมที่เร่งรีบและไร้ซึ่งจิตวิญญาณยิ่ง ซึ่งตรงนี้ได้ถูกบอกเล่าภาพฉากที่พระเอกของเรื่องที่นำแสดงโดย ไซมอน เพกก์ เดินไปทำงานทุกเช้าอย่างไม่สนใจอะไรแม้กระทั่งว่า คนทั้งเมืองเป็นซอมบี้ไปหมดแล้วก็ตามที เขาก็ยังชีวิตเหมือนเดิมเหมือนปกติที่กว่าจะรู้ก็ล่อไปตั้งนานแล้ว ยิ่งทำให้เรารู้ว่า ความเร่งรีบทางสังคมและเศรษฐกิจได้แปรเปลี่ยนให้คนกลายเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว ถ้าซอมบี้คือ ผีดิบไล่กินคนแล้วล่ะก็ พวกมนุษย์ที่รอดอยู่นั้นก็เป็นพวก Living dead นั่นเอง อย่างที่เพกก์อธิบายว่า “ในลอนดอน คุณอาจจะเดินผ่านใครสักคนที่กำลังจะตายอยู่ข้างทาง แต่คุณก็เดินผ่านไป ในบางแง่ซอมบี้เป็นเช่นนี้” ตรงนี้ได้สนับสนุนให้เราเห็นว่า บางครั้งซอมบี้ก็เป็นภาพของคนที่กัดกร่อนด้วยระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมจนกระทั่งไม่หลงเหลือกระทั่งจิตใจของความเป็นคนกลายเป็นซากคนที่มีชีวิตก็แค่นั้น

                แน่นอนว่า Worm Bodies หนังซอมบี้รักโรแมนติกก็มีฉากที่วิพากษ์เรื่องลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมที่กลืนกินเราอยู่ได้น่าสนใจ นั่นก็คือ ฉากเปิดของเรื่องที่ อาร์ พระเอกของเรื่องที่เป็นซอมบี้พาเราเดินไปตามทางและเห็นเหล่าซอมบี้ทั้งหลายกำลังใช้ชีวิตประจำวันกันเหมือนมีชีวิต บางคนทำความสะอาดพื้นอยู่ตรงนั้น บางคนตรวจคนผ่านประตูบ้าง บางคนนั่งรอใครไม่รู้อยู่ที่เดิมบ้าง ในสนามบินจึงมีคนมากมายที่ทุกคนต่างไม่อาจจะหลุดพ้นไปจากทุนนิยมได้ แม้ว่าจะตายไปแล้ว แต่สำนึกของพวกเขาก็ยังสั่งอัตโนมัติว่า พวกเขาต้องทำงานนะ พวกเขาถึงจะได้กิน ดังนั้นการที่ซอมบี้บุกโจมตีหาเหยื่อนั้นก็ไม่ได้ต่างกับการทำงานแล้วเอาเงินไปซื้อของกินเสียเมื่อไหร่กัน และการที่อาร์ยังขวนขวายหาของมาสะสม โดยที่ไม่รู้ว่า มันคืออะไร ใช้ยังไงก็ไม่ต่างกับพวกคนทั่วไปที่ชอบซื้อของกลับมาแต่งบ้าน หรือมาเก็บ โดยไม่รู้ว่า ของที่ว่านั้นจำเป็นกับชีวิตหรือไม่อยู่ดี

                นั่นทำให้อนุมานได้ว่า อาร์เองก็คนที่ยังถูกสิ่งที่เรียกทุนนิยมกลืนกินจนถอนตัวไม่ขึ้นอยู่ดี

                และนั่นเองที่ทำให้เขาและคนที่อยู่ในกำแพงที่กั่นไว้อย่างมีอะไรเหมือนกันบ้าง อย่างน้อยก็ความอยากไม่สิ้นสุดในการทุนนิยมที่แหละที่ทำให้พวกเขายังคงคลิกกันได้

                Media in Zombie

          ถ้าใครได้อ่านนิยายต้นฉบับของ World War Z แล้วก็คงพบว่า ตัวหนังกับนิยายค่อนข้างแตกต่างกันมากเลยทีเดียว เพราะในขณะที่ World War Z ของภาคหนังนั้นเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ที่เน้นความยิ่งใหญ่ถล่มทลายจนแฟน ๆ หนังสือที่เคยอ่าน World War Z แล้วต่างก็งุนงงว่า ทำไมหนังถึงกลายเป็นเช่นนี้ไปได้ เพราะเอาจริงแล้ว ในฉบับนิยายนั้น World War Z เป็นนิยายที่เล่นกับสื่ออย่างชัดเจน

                อันที่จริงแล้วหนังซอมบี้ก็เล่าเรื่องสื่อมาตั้งแต่แล้วด้วยซ้ำไป ตั้งแต่ต้นกำเนิดของมันในหนังสือของวิลเลี่ยม ซีบรู๊ค จนกระทั่ง Night Of living dead ของจอร์จ เอ โรเมโร่เองก็มีฉากที่คนที่รอดชีวิตในบ้านนั่งฟังวิทยุถกเถียงกันนักวิทยาศาสตร์และคนของรัฐบาลท่ามกลางความสับสน ที่เป็นภาพตัวแทนความไม่รู้ของคนในช่วงสงครามเวียดนาม หรือ ภาพคนที่มองดู TV ใน Dawn of the dead ย่อมแสดงภาพอำนาจของสื่อที่มีต่อการรับรู้ของคนได้เป็นอย่างดียิ่งว่า มนุษย์ทุกคนย่อมต้องพึ่งพาพิงสื่อในยามที่ไม่รู้จะทำเช่นไรดี หรือ สับสนกับเหตุการณ์สักอย่าง พอขาดสื่อ พวกเขาก็เหมือนตาบอด หูหนวก คิดอะไรไม่เป็น นั่นทำให้สื่อมีสภาพเป็นเสมือนสารที่ทำให้เกิดผลบางอย่างกับคนดูได้ราวกับเชื้อไวรัสได้เลยทีเดียว

                Demons หนังซอมบี้ของแลมเบอร์โต้ บาวา เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะ การระบาดของเชื้อนั้นเกิดขึ้นในโรงหนังสยองขวัญเกรดบีแห่งหนึ่งที่กำลังฉายหนังเรื่องหนึ่งอยู่ก่อนที่จะพบว่า คนที่ดูหนังเรื่องนี้กำลังกลายพันธุ์ปีศาจร้ายไล่ฆ่าคนทั้งโรงหนังอย่างบ้าคลั่งส่งผลให้คนในเรื่องที่เหลือต้องหาทางหนีเอาตัวรอด ซึ่งแน่นอนว่า หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากจนมีภาคสองตามมาในไม่นาน โดยครั้งนี้หนังย้ายสื่อที่ทำให้ติดเชื้อไปเป็นทีวีและเกิดขึ้นในตึกระฟ้าแทน แม้ว่าจะภาคสองจะไม่ประสบความสำเร็จมาก แต่ หนังทั้งสองเรื่องก็มีประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องสื่อที่หนังบอกเราว่า ทั้งภาพยนตร์และทีวีนั้นสามารถทำให้คนกลายเป็นผีดิบได้ (ซึ่งนัยยะหนึ่งคือ การเสพความรุนแรง) แน่นอนว่า เมื่อเราเสพความรุนแรงมากเข้าไปเรื่อย จิตใจของเราก็ด้านชาและมองเห็นทุกอย่างด้วยความเย็นชา อย่างการมองเห็นความตายในหนังบ่อย ๆ เราก็จะรู้สึกว่า คนตายเป็นเรื่องธรรมดาจนไม่ตื่นกลัวใด ๆ ด้วยซ้ำ แน่นอนว่า เมื่อภาคสองเปลี่ยนมาเป็นทีวี หนังมันได้ตั้งคำถามว่า ทีวีที่แพร่ระบาดนั้นมีส่วนทำให้คนกลายพันธุ์เป็นปีศาจได้หรือไม่ และหนังก็ทำให้เห็นว่า สื่อที่เข้าถึงคนง่ายกว่าอย่างทีวีได้สร้างหายนะอะไรให้กับโลกบ้าง เราจึงเห็นซอมบี้เด็กไล่ฆ่าคนในภาคนี้เนื่องจากเด็กคนนี้มองดูทีวีรายการเกี่ยวกับหนังสยองขวัญไปนั่นเอง

                นั่นเองที่ทำให้หนังซอมบี้ของแลมเบอร์โต้ บาวา สองเรื่องนี้มีความคมคายน่าสนใจกว่าการสร้างภาพแหวะขายแบบหนังสยองขวัญอิตาลีทั่วไป เพราะมันได้ตั้งคำถามถึงความรุนแรงของสื่อที่เกิดขึ้นว่า มันเกิดเพราะอะไรกันแน่อย่างตรงไปตรงมาและ อุปมาปีศาจเป็นดั่งความรุนแรงที่สถิตอยู่ในตัวมนุษย์

                สื่อยังมีอิทธิพลต่อเรามากจนเราสังเกตได้และ Diary of the dead ก็เป็นหนังซอมบี้ที่วิพากษ์สื่อได้น่าสนใจที่สุด เพราะ ครั้งนี้โรเมโร่หยิบจับสื่อยุคปัจจุบันอย่าง กล้องวีดีโอ คลิป และ อินเตอร์เน็ตมาใช้วิพากษ์สังคมอย่างสนุกมือ ผ่านตัวละครวัยรุ่นนักทำหนังกลุ่มหนึ่งที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ในวันที่ซอมบี้กำลังอาละวาดไปทั่ว หนังจึงได้เห็นตัวละครในเรื่องถือกล้องถ่ายสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางสถานการณ์บีบอย่างแรง ทั้งคนในกลุ่มที่ค่อย ๆ ตายไปทีล่ะคนสองคน แต่ตัวละครหลักก็ไม่วางกล้องลงเลย ทั้งที่คนอื่นบอกว่า ให้วางกล้องและเลิกถ่ายได้แล้ว แต่ตัวละครที่ถือกล้องกลับตอบมาว่า

                “เพราะมีคนอยากดูเลยถ่ายไว้ไง”

          แน่นอนว่า หนังมันสอดคล้องกับฉากที่พวกเขาเอาคลิปไปลงในเว็บพร้อมกับยอดคนดูที่พุ่งถล่มทลายจนตัวคนถ่ายดีใจอย่างมากที่ในที่สุดเขาก็ดัง ทั้ง ๆ ในสถานการณ์แบบนี้เขาควรจะคิดเรื่องเอาตัวรอดมากกว่าไม่ใช่หรืออย่างไรกัน

                นี่เองที่ทำให้โรเมโร่เอาถาดมาตีหัวเราฉาดใหญ่ว่า มนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบความพินาศมากเพียงใด

                เมื่อเราเข้าไปดูในเว็บ Youtube เราจะพบว่า มีคลิปต่าง ๆ มากมายปรากฏในนี้ตั้งแต่คลิปตลก ๆ คลิปคนร้องเลพงไปจนถึงคลิปโหด ๆ อย่างภาพอุบัติเหตุไฟไหม้ จี้ตัวประกัน หรืออื่น ๆ รวมทั้งภาพการประหารหรือฆ่าคนที่ฉายสดให้ดูมากมาย

                แน่นอนว่า การที่คลิปพวกนี้มากมายย่อมหมายถึงว่า มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่นิยมชมชอบความชิบหายของชาวบ้านเป็นเนื่องนิจ และเขาตบหัวเราว่า เพราะเราอยากเห็นความพินาศเราถึงมาดูหนังเรื่องกันไงยังไงล่ะ

                มีคำเปรียบเปรยที่น่าสนใจพูดถึงเรื่องความบ้าความชิบหายของมนุษย์ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คนส่วนมากมักจะจอดรถดู แต่ไม่ใช่ดูเพราะ อยากจะเข้าไปช่วยคนที่เกิดอุบัติเหตุ แต่จอดเพราะอยากดูว่า รถชนกันหนักไหม มีคนตายไหม และ วอดวายมากขนาดไหนต่างหาก

                แน่นอนว่า หนังของโรเมโร่ในเรื่องนี้เลือดเย็นน่าขนลุก เพราะ มันไม่มีความหวังใด ๆ เหลืออยู่เลย ตัวละครในเรื่องค่อย ๆ ตายไปล่ะคนสองคน แม้กระทั่งตากล้องยังตาคอกล้องทั้งที่ยังถ่ายอยู่ นี่เองที่ทำให้หนังมีภาพฟุตเตจต่าง ๆ ยัดเข้าให้เห็นภาพการฆ่ากันของคน ของทหารในทุกมุมโลกที่ช่วยยืนยันว่า สิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวที่สุดมิใช่ซอมบี้

                แต่เป็นคนทั้งหลายต่างหาก

                และสื่อพวกนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของความเลือดเย็นและไร้ความเป็นมนุษย์ของเหล่าซากดิบมีชีวิตทั้งหลายน่ะเอง ดั่งคำพูดที่ว่า คนเราทุกคนมีเวลาดังเพียง 15 นาที

                นั่นคือ โลกแห่งสื่อที่เรากำลังนั่งอยู่ตอนนี้น่ะเอง

                Love , Comedy And Drama Zombies

                ความโด่งดังของซีรีย์ทางทีวีเรื่อง The Walking Dead นั้นช่วยทำให้โลกของซอมบี้กว้างใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม หลังจากซอมบี้เป็นสัญลักษณ์ของหนังสยองขวัญชั้นต่ำเกรด Z มานมนาน เวลาได้ผันแปรให้พวกมันได้ลุกขึ้นคืนชีพในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม แน่นอนว่า The Walking Dead เป็นภาพที่สะท้อนให้ซอมบี้ก็สามารถเล่าเรื่องดราม่าได้เช่นกัน โดยเฉพาะดราม่าความชิบหายในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับริก นายตำรวจหนุ่มที่ฟื้นหลังจากนอนโคม่ามาตั้งนานและพบว่า โลกได้ถูกยึดครองโดยผีดิบไปแล้ว เขาจึงออกเดินทางตามหาครอบครัวที่คิดว่าเขาตายไปแล้วฝ่าฝูงผีดิบนับพันในเมืองจนได้พบว่า ครอบครัวของเขาได้หนีไปอยู่ในป่าที่ห่างไกลผู้คน โดยที่เพื่อนของเขากำลังแทะโลมเมียของเขาอยู่ แต่การมาของริกกลับทำให้เพื่อนและเมียของเขาเกิดบางอย่างขึ้นในใจ ขณะที่ริกต้องพยายามจูนตัวเองให้ติดกับความสัมพันธ์ที่ทิ้งค้างเอาไว้ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยผีดิบนี้

                ความโดดเด่นของ The Walking Dead นั้นได้สะท้อนให้เราเห็นว่า หนังซอมบี้ไม่จำเป็นต้องมีฉากโหดสยองนัก เพราะ เอาจริง Theme เรื่องครอบครัวที่กำลังล่มสลายก็แทบสะท้อนนัยยะสังคมออกมาได้ ด้วยคำพูดที่ว่า ครอบครัวหน่วยเล็ก ๆ ที่สำคัญที่สุดในสังคม และหากหน่วยเล็ก ๆ สุดสำคัญนี้กำลังพินาศล่ะ มันจะเป็นอย่างไร

                ดังนั้นจุดสำคัญของซีรีย์จึงพูดถึงเรื่องมนุษย์มากกว่าซอมบี้ เพราะ ยิ่งมันลงลึกสำรวจจิตตัวละครตัวต่าง ๆ มากเท่าใด เรายิ่งรู้สึกว่า ซอมบี้ที่คิดจะกินนั้นยังน่ารักและน่าคบกว่าคนพวกนี้บางคนเป็นกอง

                การเปลี่ยนแปลงของซอมบี้เกิดขึ้นหลายครั้งอย่างซอมบี้แนวตลกอย่าง Shaun of the dead กับ ZombieLand ก็เป็นตัวตั้งในการนำซอมบี้มาใช้เสียดสีสังคม อย่าง Shaun ก็เป็นหนังตลกเสียดสีทุนนิยมและคนอังกฤษแบบเจ็บแสบ ขณะที่ Zombieland ที่ก็เป็นหนังซอมบี้ในคราบโร๊ดมูฟวี่ที่ตีแสกหน้าเรื่องความสยองจนเละเทะ เราคงไม่ต้องไปพูดถึงการ์ตูนซอมบี้จากญี่ปุ่นอย่าง HighSchool of the dead ที่นำความโมเอะมาผสมกับความสยองขวัญและแอ็คชั่นได้อย่างลงตัวจนโด่งดังไปทั่วเอเชียแล้ว

                จนกระทั่งซอมบี้พัฒนามาสู่หนังรักจากนิยายเรื่อง Worm Bodies ที่พึ่งดัดแปลงไปเป็นหนังและประสบความสำเร็จพอสมควรในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ซอมบี้จากศพเดินได้สุดแหวะเป็นหนุ่มหล่อน่ารักกระชากใจสาว ซึ่งทำให้เราและหลายคนรู้สึกว่า ซอมบี้มาไกลกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีกตอนนี้

                และต่อไปเราจะเห็นอะไรล่ะ ซอมบี้อวกาศหรือว่าจะเป็นหน่วยรบซอมบี้ แต่ที่ผมอย่างก็คือ ต่อจากนี้ไปซอมบี้คงมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวตนไปตามยุคสมัย เหมือนครั้งที่โรเมโร่เคยเปลี่ยนพวกมันจากซากศพวูดูไปเป็นซอมบี้กระหายเลือด บริบทก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

                แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนังพวกนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

                นั่นก็คือ การบอกว่า มนุษย์นั้นคือ สิ่งมีชีวิตที่เลวร้ายที่สุดยิ่งกว่าซอมบี้ก็ไม่ปาน

                คิดว่าจริงไหมล่ะครับ

…..

          ดัดแปลงและปรับปรุงจากบทความ มองโลกผ่านหนัง ตอน หนังสยองขวัญกับคนชายขอบ โดย มิสเตอร์อเมริกัน ตีพิมพ์ในนิตยสาร Crop Magazine ฉบับที่ 2 

บล็อกของ Mister American

Mister American
ถ้าเอ่ยชื่อของไมเคิ่ล ฮานาเก้ ถ้าไม่ใช่แฟนหนังจริงๆหลายคนอาจจะไม่รู้จักเขาเท่ากับผู้กำกับคนอื่นๆอย่าง ไมเคิ่ล เบย์ สปีลเบิร์กหรือคาเมร่อนก็ตาม แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่หลายคนมารู้จักผู้กำกับจากยุโรปได้ก็คงไม่พ้นนิยามหนังของเขาที่หลายให้คำว่า โหดเหี้ยม เลือดเย็น และน่าขนลุก โดยหนังที่หลายคนมักจะ
Mister American
(เนื้อหาบทความนี้อาจะเปิดเผยความลับของภาพยนตร์)  ผมเชื่อว่าทุกคนเคยมีความฝัน ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่ฮีโร่ของญี่ปุ่นอย่าง อุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ขบวนการห้าสีบุกจอโทรทัศน์ หลายคนในตอนนั้นยังเป็นเด็กตัวน้อยๆที่เฝ้ารอคอยหน้าจอที่สัปดาห์เพื่อจะได้ชมฮีโร่ของตัวเองปราบปรามเหล่าร้ายในหน้าจอที่หวังยึดครองโลก เราได้สนุกสนานกับการผจญภัยของพวกเขา บางคนอาจจะถึงขั้นอยากเป็นฮีโร่กับเขาบ้างเลยทีเดียว หรือบางคนอาจจะใฝ่ฝันที่จะได้เห็นฮีโร่ตัวจริงด้วยสายตาของตัวเอง  ซึ่งเด็กชายที่ชื่อ ฟิล โคลสัน คือหนึ่งในนั้น
Mister American
ครั้งหนึ่งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง เฉือน ของผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ ได้ลงโรงฉายชนกับภาพยนตร์รัก Feel Good อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอนั้นหลายคนที่ไปชมเรื่องนี้ต่างอึ้งกับภาพความโหดร้าย ของฆาตกรต่อเนื่องของไทยที่คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่ง และมีคำถามขึ้นมาว่า